Skip to main content


“รอบที่ 9 เชิญเข้าห้องเยี่ยมค่ะ”

 

เสียงประกาศตามสายดังไปทั่วบริเวณที่เยี่ยมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ป้ายตัวเลขด้านหน้าห้องเจ้าหน้าที่ถูกเปลี่ยนเป็นเลข 9 แจ้งรอบเยี่ยม คนรอเยี่ยมลุกไปต่อแถวรอเข้าบริเวณที่จัดไว้ให้ ด้านผู้คนที่รอคิวเยี่ยมรอบหลังๆ นั่งรออยู่ด้านนอก บ้างก็ยังกรอกเอกสารขอเยี่ยม หรือบ้างก็กำลังซื้อข้าวของจากร้านของเรือนจำให้ผู้ต้องขัง

การเยี่ยมผู้ต้องขังเริ่มตั้งแต่เช้า ในรอบที่ 1 เวลา 8.30 น. ในแต่ละรอบให้เวลาเยี่ยม 20 นาที เมื่อผ่านไป 15 นาที เจ้าหน้าที่จะประกาศให้ผู้เยี่ยมรอบต่อไปเข้าไปนั่งรอในพื้นที่เยี่ยม เมื่อครบ 20 นาทีจะมีเสียงออดดังยาวแจ้งการหมดเวลาและต้องเปลี่ยนรอบเยี่ยม คนเข้าเยี่ยมจะยิ่งขวักไขว่ในวันจันทร์และวันศุกร์ก่อนหยุดสุดสัปดาห์ซึ่งเรือนจำปิดเยี่ยมญาติ

ในพื้นที่เยี่ยมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อาจแบ่งหยาบๆ เป็นสามส่วน ส่วนแรก เป็นพื้นที่ด้านนอกห้องเยี่ยม ซึ่งให้ญาติมากรอกเอกสารเยี่ยม และยื่นกับเจ้าหน้าที่เพื่อจัดคิวรอบเยี่ยมและห้องที่เยี่ยม ส่วนนี้มีที่นั่งรอเป็นเก้าอี้สีเหลืองยาวหลายแถว มีม้าหินอ่อนอยู่ 2 ชุด มีตู้ล็อคเกอร์สำหรับฝากกระเป๋าสิ่งของก่อนเข้าเยี่ยม มีร้านขายกาแฟและขนม ร้านถ่ายเอกสารสำหรับถ่ายสำเนาบัตรประชาชน รวมทั้งมีห้องซื้อของเยี่ยมและเคาเตอร์ฝากเงินเข้าบัญชีผู้ต้องขัง  

ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ห้องเยี่ยม ซึ่งต้องเดินเข้าทางประตูที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการเข้าเยี่ยม ด้านหน้ามีป้ายห้ามถ่ายรูป ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามสูบบุหรี่ ติดอยู่ในแต่ละห้อง เจ้าหน้าที่จะคอยรับสำเนาบัตรประชาชนของญาติที่ยื่นเพิ่มเติม ตรวจการแต่งกาย (หากแต่งกายไม่เหมาะสม เช่น กางเกงสั้นๆ, สายเดี่ยว จะไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม) ตรวจระวังการพกโทรศัพท์มือถือเข้าไป   พอเข้าไปในพื้นที่เยี่ยม ด้านหน้าห้องจะมีที่นั่งแถวยาวให้นั่งรอ ห้องเยี่ยมมีภาษาอังกฤษใต้ชื่อว่า Visiting Room พร้อมตัวเลขห้องที่ประตูทางเข้า แต่ละห้องเป็นห้องเล็กๆ มีทั้งหมด 9 ห้อง โดยห้องที่ 8 และ 9 จะแยกออกมาอยู่บริเวณด้านข้างห้องเจ้าหน้าที่ดูแลการเยี่ยม  

ห้องมีแสงไฟจากหลอดนีออนสีขาวสลัวๆ บรรยากาศค่อนข้างร้อนอาจด้วยอากาศไม่ค่อยถ่ายเท และผนังต่างๆ ที่ปิดรอบด้าน กำแพงสีขาวหม่นทั้งในและนอก บางจุดก็ลอกออกและเก่าโทรม ถ้าเผลอไปพิง อาจมีรอยติดตามเสื้อ มีรอยน้ำซึมปรากฏอยู่ทั่วไปตามผนังและเพดาน บางวันที่ฝนตกน้ำก็นองในบางบริเวณ และทำให้ที่นั่งรอเปียก   แม้มีพัดลมติดเพดาน 1 ตัวในห้องก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาความอึดอัดอบอ้าว และความรู้สึกหนาหนักของเรือนจำ

มีพัดลมระบายอากาศ 2 ตัวที่เชื่อมห้องเยี่ยมกับทางเดินและเชื่อมห้องเยี่ยมกับพื้นที่ที่ผู้ต้องขังเดินออกมา แต่ส่วนใหญ่พัดลมระบายอากาศไม่ทำงาน ญาติหลายคนที่มาเยี่ยมบ่อยๆ จึงเตรียมพัดพกพาไปนั่งพัดคลายร้อนระหว่างรอเยี่ยม บรรยากาศอึดอัดอบอ้าวเช่นนี้ทำให้หลังเยี่ยมออกมา หลายคนเหงื่อแตกเต็มหลังด้วยความร้อน  

ในห้องยังมีลังขนมจำนวนมาก ซึ่งเป็นสินค้าที่ให้ญาติซื้อเยี่ยมนักโทษ แต่คงไม่มีที่เก็บ จึงนำมาวางกองเรียงอยู่หลายสิบกล่องในห้องเยี่ยมเกือบทุกห้อง ทำให้ห้องที่เล็กอยู่แล้ว แลดูเล็กลงไปอีก นอกจากนั้นแต่ละห้องยังมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ในมุมซ้ายของห้อง ไม่มีใครรู้หรอกว่ากล้องทำงานอยู่หรือไม่ แต่การเห็นตัวกล้องก็สร้างความรู้สึกเสมือนว่ามีสายตากำลังจับจ้องมองคนมาเยี่ยมอยู่แล้ว  

ส่วนที่สาม เป็นส่วนที่ผู้ต้องขังหรือนักโทษเดินออกมา ซึ้งเชื่อมต่อกับแดน 7 ภายในเรือนจำ (นักโทษจะเรียกแดน 7 ว่า “แดนเยี่ยมญาติ”) ผู้ต้องขังจะเดินเรียงแถวออกมาจากในเรือนจำในแต่ละรอบ และมานั่งพูดคุยตรงกันข้ามกับญาติ โดยมีลูกกรงและกระจกหนาที่เก็บเสียงกั้นกลางอยู่ ทำให้ผู้เยี่ยมกับผู้ต้องขังไม่สามารถสัมผัสเนื้อตัวหรือส่งสิ่งของใดๆ แก่กันได้  

การเยี่ยมในแต่ละห้องจะให้ผู้ต้องขังออกมาได้รอบละ 5 คน ส่วนญาติจะเข้าไปเยี่ยมกี่คนก็ได้ แต่ด้วยพื้นที่แคบๆ ในห้อง ขนาดที่หากมีคนนั่งเรียงกัน 5 คนก็อึดอัดแล้ว ทำให้การพูดคุยของญาติแต่ละครอบครัวก็ต้องเวียนกันเข้าไปนั่งคุยเป็นคนๆ   พื้นที่นั่งคุยในแต่ละห้องจึงมีเก้าอี้ 5 ตัวให้ญาติที่เข้ามา แต่บางห้องเก้าอี้ก็อันตรธานหายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ญาติบางคนต้องยืนและก้มลงคุยผ่านรูยาวเล็กๆ ที่ทำให้เสียงรอดผ่านออกมา

บริเวณที่พูดคุยจะมีแผ่นไม้ยาวจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ใช้ท้าวแขนและวางของได้ อีกทั้งโดยปกติจะใช้วางโทรศัพท์ตั้งโต๊ะเชื่อมต่อคนที่อยู่คนละข้างกระจกได้พูดคุยให้เสียงชัดเจนขึ้น หากแต่หลายเดือนที่ผ่านมาโทรศัพท์ส่วนมากของแทบทุกห้องก็อันตรธานหายไปหมด เหลือแต่สายโทรศัพท์เชื่อมต่อที่โผล่ออกมาเปลือยเปล่า  

ปัญหาใหญ่จึงเกิดขึ้นในการพูดคุยระหว่างเยี่ยม ทั้งด้วยการพูดคุยผ่านรูยาวเล็กๆ นั้น เสียงที่รอดผ่านมาน้ันดูจะไม่ค่อยชัดนัก ประกอบกับเสียงผู้คนเข้าเยี่ยมโหวกเหวกคุยกับญาติของตนเอง ทำให้เสียงตีกันไปหมด จนการสื่อสารระหว่างคนสองข้างลูกกรงเป็นไปอย่างยากลำบาก บ่อยครั้งที่ระหว่างการคุย หากไม่ฝั่งญาติก็ฝั่งผู้ต้องขัง ต้องถามซ้ำแก่กันว่า “ว่าอย่างไรนะ” หรือ “ไม่ค่อยได้ยินเลย พูดใหม่อีกที”  

มีคนเล่าให้ผมฟังว่าเคยมีคนเอาโทรศัพท์ตั้งโต๊ะมาบริจาคใหม่เหมือนกัน เพื่อให้การคุยสะดวกขึ้น แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่จะนำมันไปใช้ในที่อื่น อาจจะในสำนักงานราชทัณฑ์หรือภายในเรือนจำ ทำให้บริเวณที่เยี่ยมยังคงไม่มีโทรศัพท์ที่ทำให้การพูดคุยทำได้สะดวกอยู่เช่นเดิม  

ผมเคยเห็นบางครอบครัวนำเด็กตัวน้อยๆ มาเยี่ยมผู้ต้องขัง เด็กน้อยยังพูดไม่ได้ จึงไม่สามารถสื่อสารผ่านกระจกลูกกรง แต่เด็กพยายามแตะกระจกเพื่อไปสัมผัสชายที่อาจเป็นพ่อของเขาที่อยู่อีกฟากของกระจก แต่ไม่สามารถสัมผัสถึงกันได้ เป็นความสัมพันธ์ประหลาดที่ชวนหดหู่ใจ  

อาจด้วยความรู้สึกที่ไม่สามารถสัมผัสกันได้นี้ ปีๆ หนึ่งทางเรือนจำจะมีช่วงเวลาเปิดให้ญาติเข้า “เยี่ยมใกล้ชิด” ครั้งหนึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน หากแต่ผู้ต้องขังที่จะเยี่ยมใกล้ชิดได้ต้องเป็นผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว และมีสถานะนักโทษอยู่ในชั้นดีขึ้นไป ทางญาติต้องมาทำเรื่องเยี่ยมใกล้ชิดก่อนล่วงหน้าเป็นเดือน ในวันเยี่ยม ญาติจะได้เข้าไปในเรือนจำส่วนที่จัดเตรียมไว้ให้ และผ่านการตรวจค้นอย่างละเอียดก่อนเข้าไป มีเวลาได้พูดคุย กินข้าว สัมผัสกันและกัน ราวๆ 3 ชั่วโมง ก่อนออกมา  

แน่นอนว่า หากเปิดให้สัมผัสกันได้ ความกลัวของเรือนจำว่านักโทษกับญาติจะส่งของผิดกฎหมาย หรือของที่เรือนจำไม่อนุญาตแก่กันในระหว่างเยี่ยม คงเป็นปัจจัยสำคัญของการมีอยู่ของลูกกรงกระจก แต่ผู้ต้องขังที่ไม่ได้คิดทำอะไรทำนองนั้นก็มีอยู่เช่นเดียวกัน และการสัมผัสกันของครอบครัวอย่างน้อยๆ ก็น่าจะนำพาความสุขความชื่นใจมาให้แก่คนในคุกได้บ้าง

ผมสงสัยว่าเราพอจะมีทางออกในเรื่องนี้มากกว่าการเปิดโอกาสให้หนึ่งปีมีการสัมผัสกันและกันได้หนึ่งหนหรือไม่   การเยี่ยมคล้ายจะเป็นช่วงเวลาเดียวของนักโทษที่ได้หลุดจากกรอบระเบียบวินัย ความซ้ำซากจำเจจากกิจวัตรประจำวันภายในคุก หรือบางคนที่ทำงานจำพวกปั้นถ้วย ทำของต่างๆ ก็ได้หยุด ได้ออกมาเดินนอกแดนที่ตนเองอยู่

ผู้ต้องขังหลายคนดูจะดีใจมากเมื่อมีคนมาเยี่ยม แม้ไม่ใช่ญาติตนก็ตาม ญาติๆ ผู้ต้องขังในคดีการเมืองแม้ไม่ได้มาเยี่ยมเอง แต่ก็มักจะฝากคนอื่นๆ ที่ได้มาเรือนจำตีเยี่ยมญาติของตนออกมาด้วย เพื่อให้ได้มีช่วงเวลาพูดคุยกับคนอื่นๆ ภายนอกแม้จะเพียง 20 นาทีก็ตาม  

ในพื้นที่เยี่ยมดังกล่าว บางทีการหาทางระบายอากาศหรือทำพื้นที่ให้ปลอดโปร่งขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ ก็ดูจะช่วยทั้งผู้ต้องหา ญาติ และแม้แต่เจ้าหน้าที่เอง ซึ่งจำนวนมากต้องวนเวียนอยู่ประจำเป็นปีๆ ให้สามารถ “ใช้ชีวิต” ในพื้นที่เช่นนี้ได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง และอย่างน้อยๆ การกลับมาติดตั้งโทรศัพท์ที่ช่วยทำให้การสื่อสารทำได้ชัดเจนขึ้นระหว่างสองฟากลูกกรง ก็น่าจะทำให้เสียงคนข้างในและข้างนอกส่งถึงกันได้ชัดเจนมากขึ้น   

นอกจากปัญหาใหญ่ๆ อย่างการดูแลรักษาพยาบาลในเรือนจำที่นำไปสู่การเจ็บป่วยล้มตาย การคุกคามสิทธิเสรีภาพในเรือนจำ ทัศนคติต่อนักโทษของผู้คุม แล้ว เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอากาศปลอดโปร่ง, การมีโทรศัพท์, การเปิดโอกาสให้สัมผัสกันและกัน ก็ดูจะสำคัญและเริ่มต้นได้ง่ายกว่า เพื่อไปสู่การ “ปฏิรูป” เรือนจำได้เช่นกัน  

 

 

หมายเหตุ ชื่อเรื่องหยิบยืมโดยไม่ได้บอกกล่าว มาจากชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ 

 

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
1ใครๆ ก็สงสัยว่าเขา “บ้า” หรือเปล่า...บ้าในความหมายทำนองว่าไม่กลัวเกรงอันใด ไม่วิตกกังวลเหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับข้อหาในลักษณะเดียวกัน
กำลังก้าว
 กว่าศาลจะนั่งบัลลังก์ก็เป็นเวลาเลย 10.30 น.ไปแล้ว
กำลังก้าว
พรุ่งนี้.. สมยศขึ้นศาล
กำลังก้าว
 
กำลังก้าว
 ประสบการณ์และความรู้สึกบางส่วนจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ
กำลังก้าว
ผมตั้งชื่อบล็อกนี้ว่า “สนามหลังบ้าน”