ถึงเธอและงานศิลปะของเธอ...เด็กปีศาจ

1

“เราจะไม่เป็นเราอีก”

บ่ายวันนั้น ระหว่างรอคำสั่งเรื่องการประกันตัวอยู่ในเรือนจำใต้ถุนศาล เธอตะโกนข้ามลูกกรงออกมาบอกเพื่อนๆ หลายคน ถึงความหวั่นกลัวของตัวเองเองต่ออนาคตข้างหน้า ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างต่อจากนี้ไป

ที่คุกใต้ศาลนั้น พื้นที่ระหว่างผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขัง กับญาติๆ ที่มาเยี่ยมนั้น ถูกออกแบบให้ห่างกันไกลราวสามสี่เมตร และกั้นด้วยลูกกรงทั้งสองฝั่ง คงด้วยป้องกันไม่ให้มีการส่งข้าวของข้ามไปมา แถมไมค์และลำโพงที่ติดตั้งไว้ให้คนสองฝั่งคุยกันได้นั้นยังไม่ทำงานมานานเท่าไรแล้วก็ไม่รู้ ทำให้การพูดคุยนั้นต้องตะโกนหากันด้วยเสียงอันดัง แถมเสียงอื้ออึงที่คนอื่นๆ ก็ตะโกนคุยเหมือนกันด้วย ยิ่งทำให้การพูดคุยยากลำบากยิ่งขึ้นอีก

ในสภาวะนั้น, ช่องว่างระหว่างคนมีเสรีภาพกับคนไร้เสรีภาพดูช่างห่างไกลกันเหลือเกิน

2

จำไม่ได้ชัดนักว่าเรารู้จักกันครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่แน่นอนว่าคงเป็นจากกิจกรรมใดสักอย่างตั้งแต่สมัยยังอยู่ในวัยนักศึกษา คงด้วยเป็นคนทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม ทำให้เธอเดินเข้ามาทำกิจกรรมในแนวสังคมการเมืองรวดเร็วกว่าคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน

แม้ไม่ถึงกับสนิทสนมกับเธอมากนักและอยู่กันคนละมหาลัย แต่เราก็ได้พบเจอกันบ่อยๆ ตามค่าย ตามกิจกรรมวัฒนธรรม หรือในการลงพื้นที่ต่างๆ 

เรายังเคยลงไปร่วมค่ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกัน ตอนนั้นมีกิจกรรมที่ชวนเพื่อนนักศึกษาทั่วประเทศลงพื้นที่ไปศึกษาทำความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ และทราบต่อมาว่า เธอเองยังกลับลงไปทำกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่อยู่เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะกิจกรรมกับเด็กๆ เยาวชน จนสนิทสนมและผูกพันกับคนในพื้นที่หลายๆ คน

อีกเรื่องหนึ่งที่จำได้ดีเกี่ยวกับเธอ คือเธอชอบแอบมาเขียนข้อเขียนทิ้งไว้ในสมุดระบายใจ โดยในหมู่นักกิจกรรมหรือคนทำงานชุมนุมชมรมนั้นมีวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมาอย่างหนึ่ง คือการทำสมุดเปล่าๆ ทิ้งไว้ในห้องกิจกรรม คอยเป็นพื้นที่ว่างให้เพื่อนๆ สมาชิกกลุ่มหรือคนที่ผ่านไปผ่านมา ได้มาเขียนบ่น ระบาย บอกเล่า แสดงออก แต่งกวี หรือเขียนอะไรก็ได้ตามใจที่อยากเขียนลงไป บางที่ก็เรียกมันว่า “สมุดระบายใจ” “สมุดสีน้ำตาล” หรืออีกหลายชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่กลุ่มกิจกรรม

ช่วงนั้น บนห้องชั้น 2 ของตึกกิจกรรมที่ท่าพระจันทร์ ก็มีสมุดระบายใจวางเอาไว้เล่มหนึ่งเหมือนกัน และเธอเอง แม้จะเป็นคนนอกกลุ่มก้อนแถวๆ นั้น แต่มักได้แวะเวียนไปทำกิจกรรมหรือประชุมงานแถวนั้นบ่อยครั้ง ก็มักมาขีดเขียนบอกเล่าอะไรทิ้งไว้ในสมุดเล่มนั้น พร้อมลงชื่อ “เด็กปีศาจ” ไว้ท้ายข้อความ แถมเขี้ยวฟันแหลมๆ สองข้างไว้ประกอบเสมอ

ตอนนั้นเอง...ที่ฉันจดจำเธอในฐานะ “เด็กปีศาจ”

3

เธอเป็นศิลปิน และรักงานศิลปะ

ไม่เพียงแต่งานละครที่เธอมีส่วนร่วมกับมันอย่างจริงจังตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา เธอยังรักเสียงเพลง โดยเฉพาะเพลงค่าย ที่ดูเหมือนมันจะมีส่วนก่อร่างสร้างส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเธอขึ้นมา เข้าใจว่าเธอน่าจะร้องเพลงใน “สลึง” ที่เป็นหนังสือรวบรวมเพลงค่ายไว้จำนวนมากได้หมดเกือบๆ ทั้งเล่ม

ครั้งหนึ่งหลังเรียนจบไปกันแล้ว เรายังเคยจัดกิจกรรมทำนอง “พี่น้องร้องเพลง (ค่าย)” ด้วยกันในวันว่างๆ บางวัน โดยชวนเพื่อนๆ มาร้องเพลงค่าย และพูดคุยเกี่ยวกับเพลงเหล่านั้นด้วยกัน

เธอยังรักงานวาดภาพ ที่สำหรับฉันแล้ว ฝีมือของเธอนั้นช่างน่าทึ่ง โดยเธอมักจะมีกระดาษวาดรูปและสีน้ำติดตัวเวลาเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยเสมอ ฉันสงสัยว่าภาพวาดที่เธอทั้งวาดเก็บไว้ วาดทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ หรือวาดให้เพื่อนๆ พี่ๆ หลายคน จะมีเป็นจำนวนมากพอจะทำนิทรรศการงานศิลปะขนาดใหญ่ได้เลยทีเดียว

นอกจากวาดบนกระดาษทั่วไป เธอยังวาดภาพของเธอบนพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง จำได้ว่าราวๆ สามปีก่อน อาจด้วยอยู่ในภาวะว่างงานหรือเบื่อหน่ายเมืองหลวงอย่างไรไม่แน่ใจ เธอมาพักระยะยาวอยู่ที่บ้านพี่สาวคนหนึ่ง และใช้เวลาเป็นเดือน ลงมือวาดภาพตกแต่งผนังของบ้านหลังนั้น (โดยมีเพื่อนๆ มาช่วยทาสีบ้างนิดหน่อย แต่ทั้งหมดดูจะเป็นผลงานของเธอมากกว่า) จนผนังสีขาวถูกแต่งแต้มเต็มไปด้วยชิ้นงานศิลปะน่าอัศจรรย์จำนวนมาก

ในหมู่ภาพเหล่านั้น ฉันชอบภาพ “จักรวาลหมายเลข 8” มากที่สุด ซึ่งเธอก็อวดมันอย่างภาคภูมิใจ และบอกใครต่อใครให้อย่าลืมไปดูรูปที่เธอวาดทิ้งเอาไว้

“จักรวาลหมายเลข 8”

“ชิงช้า”

“ความสัมพันธ์”

“การรอคอย”

ในช่วงเวลานั้นเอง เธอยังมีเวลาออกเดินทางไปเที่ยวหลายที่ จนครั้งหนึ่งเธอไปเที่ยวแม่น้ำที่น่าน และได้เก็บ "ก้อนหิน" กลับมาเป็นของขวัญฝากเพื่อนหลายคน ซึ่งฉันยังเก็บมันไว้จนถึงวันนี้ ก้อนหินเหล่านี้ไม่ธรรมดา คือเมื่อมันเปียกน้ำ เราสามารถใช้หินแต่ละก้อนวาดเป็นเส้นสีต่างๆ ได้หลายสีตามแต่สีของหิน อาจด้วยมันเป็นศิลปะมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เธอจึงเก็บมันมาเป็นอุปกรณ์วาดภาพและเป็นของฝากให้เราหลายคนด้วย

เธอยังใช้ก้อนหินเหล่านั้นวาดโปสการ์ดส่งหาเพื่อนๆ และน้องๆ รวมทั้งฉันด้วย ซึ่งเธอเขียนบอกมาด้านหลังโปสการ์ดอย่างภาคภูมิใจว่า “...นี่คือรูปที่วาดจากสีที่ได้จากหินที่หนูเอามาจากปัว สวยใช่ไหมละ หึหึ พี่เอาไปลองวาดดูนะ สวยดี สีไม่จัดมากด้วย...”

เมื่อได้กลับมาค้นดูโปสการ์ดภาพดอกไม้และทุ่งหญ้าของเธอในวันนี้ ทำให้หวนนึกถึงเพลง “รักน้อง” เพลงค่ายเก่าๆ เพลงหนึ่ง ที่ท่อนหนึ่งของมันร้องเอาไว้ว่า “ดอกไม้แย้มกลีบ บานแล้วในใจฉัน จงหอมชั่วนิรันดร์ มิโรยร่วงผ่าน จากใจเราผอง”

คิดว่าเธอคงจำเพลงนี้ได้ โดยปกติมันจะถูกร้องในจังหวะเร็วๆ มีท่าเต้นประกอบในท่อนต่างๆ และคาดว่าเธอเองคงเต้นมาไม่รู้กี่ร้อยรอบแล้ว หากแต่ในวันคืนอันโหดร้ายอย่างวันนี้ ฉันอยากจะส่งเพลงนี้แบบที่ร้องในจังหวะช้าๆ ไปถึงเธอมากกว่า

บางทีจากนี้ไป มันอาจจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานราวกับไม่มีสิ้นสุด และความทุกข์แสนสาหัสคงแวดล้อมเธออยู่ แต่หวังว่าเธอคงเข้มแข็งพอจะเผชิญกับมัน หวังว่าพลังของศิลปินในแบบที่เธอเป็นจะยืนหยัด พอที่จะสร้างสรรค์ “งานศิลปะ” แห่งชีวิตของเธอต่อไป และหวังว่า “ความหวังดี จงมาปกป้อง (เธอ) ทั้งตื่นและฝัน”

4

“เราจะไม่เป็นเราอีก” บ่ายวันนั้น เธอตะโกนข้ามลูกกรงใต้ถุนศาลออกมา

“เธอจะยังเป็นเธอ ยังเป็นเด็กปีศาจเหมือนเดิม” ชายหนุ่มของเธอ ส่งเสียงตะโกนฝ่าข้ามลูกกรงและช่องว่างอันดูห่างไกลกลับไปบอกเธอเช่นนั้น...

ศศิพิมล: “วันแม่” ปีที่สองที่แม่ยังอยู่ในคุก

ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล

“ลำบากน่ะ ลำบากมาก”: เสียงจากอดีตแม่ครัว จำเลยคดีครอบครองอาวุธในศาลทหาร

ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียว

เสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่