Skip to main content

 

“ความเข้าใจผิดของการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จคือการเข้าใจว่าสามารถกักขังเสรีภาพไว้ได้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อคุณจองจำเสรีภาพ เสรีภาพก็จะติดปีกโบยบินไปเกาะที่ขอบหน้าต่าง”   อ้ายเว่ยเว่ย (Ai Weiwei)

มิตรสหายส่งลิงก์ที่บอกเล่าถึงงานนิทรรศการศิลปะชิ้นล่าสุดของอ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีนชื่อดังมาให้อ่าน เมื่อได้อ่านรายละเอียดของงานชิ้นนี้ จึงรู้สึกว่าน่าจะนำมาบอกเล่าสู่กันฟัง แม้จะไม่ได้ไปชมด้วยตาตนเองก็ตาม

นิทรรศการศิลปะงานนี้ชื่อว่า “@Large” จัดแสดงอยู่บนเกาะอัลคาทราซ (Alcatraz) มาตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2014 และจะเปิดให้เข้าชมไปจนถึงวันที่ 26 เมษายน ปีนี้ โดยงานเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิ FOR-SITE และองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ Golden Gate National Parks

เกาะอัลคาทราซนั้นเป็นเกาะโดดเดี่ยวบนอ่าวซานฟรานซิสโกในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เคยเป็นที่ตั้งของป้อมปราการของกองทัพ เป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมืองในสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกัน และเป็นอดีตคุกที่มีการป้องกันหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปัจจุบันเกาะแห่งนี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยอาคารที่เคยเป็นคุกเก่านั้นยังไม่ได้ถูกรื้อทิ้งทำลายลง จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉลี่ยมีผู้เข้าชม 1.4 ล้านคนต่อปี

อ้ายเว่ยเว่ยเอง แม้จะเป็นศิลปิน แต่ก็มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างเข้มข้น ทำให้เขาเคยถูกควบคุมตัวที่สนามบินปักกิ่งโดยทางการจีน และถูกจองจำถึง 81 วันในช่วงปี 2011  และจนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกภายนอกประเทศ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาจัดการงานนิทรรศการนี้ด้วยตนเองได้ แต่อ้ายใช้วิธีออกแบบงานภายในสตูดิโอของเขาในปักกิ่ง และมี Cheryl Haines ภัณฑารักษ์ และมูลนิธิ FOR-SITE คอยช่วยเหลือในการนำงานมาจัดแสดงในสหรัฐ

เขาเองได้ใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการถูกจองจำในการออกแบบนิทรรศการศิลปะชุดนี้ด้วย โดยอ้ายกล่าวถึงเป้าหมายของโครงการนี้ว่าพยายามขยายความเข้าใจในเรื่องที่ว่า “วัตถุประสงค์ศิลปะ คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ”

อ้ายเว่ยเว่ยจัดแสดงงานศิลปะทั้งหมด 7 ชิ้น ภายในอาณาบริเวณอาคารที่เคยเป็นคุก และอาคารต่างๆ บนเกาะอัลคาทราซ โดยมีธีมหลักที่กล่าวถึงประเด็นนักโทษทางความคิด ภาวะของการถูกจองจำคุมขัง และความหมายของสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งส่องสะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนทั่วทั้งโลก

ภาพถ่ายแรกที่ติดตาและถูกโพสต์เผยแพร่บนโลกออนไลน์จำนวนมากจากนิทรรศการนี้ คือภาพหัวมังกรหลายสีสรร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานที่ชื่อ “With Wind” จัดแสดงอยู่ในพื้นที่โถงที่นักโทษเคยถูกใช้ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า โดยงานชิ้นนี้ศิลปินนำว่าวหลายชิ้นมาเรียงต่อรวมกันเป็นร่างของมังกร สัตว์ในตำนานของจีน ตัวมังกรจะถูกแขวนไว้กลางโถงอาคาร และตัวว่าวหลายชิ้นที่ถูกนำมาต่อกันยังมีโค้ดถ้อยคำของนักเคลื่อนไหวที่เคยถูกคุมขังหรือต้องลี้ภัยทางการเมืองอยู่ด้วย

รอบๆ ห้องที่จัดแสดงตัวมังกร ยังถูกประดับไปด้วยว่าวที่เป็นรูปนก และกระดาษหลากสีรูปดอกไม้ ซึ่งล้วนถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในประเทศต่างๆ ที่สะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ โดยสตูดิโอของอ้ายเว่ยเว่ยร่วมมือกับศิลปินชาวจีนร่วมกันจัดทำว่าวทำมือเหล่านี้ขึ้น ภายใต้แนวคิดที่ไม่ได้มองมังกรในฐานะสัญลักษณ์อำนาจของจักรพรรดิ แต่นิยามมันในฐานะเสรีภาพส่วนบุคคล ด้วยความเชื่อว่าทุกคนมีอำนาจนี้

งานอีกชิ้นหนึ่งที่ทำเป็นประติมากรรมจัดวางเช่นกัน ชื่อว่า “Refraction” จัดแสดงอยู่บนพื้นที่อาคารชั้นล่าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่การ์ดติดอาวุธเคยใช้ควบคุมนักโทษในการทำงาน งานชิ้นนี้นำแผงโลหะมาจัดวางในลักษณะที่ใกล้เคียงกับโครงสร้างปีกของนกขนาดใหญ่ และตามบริเวณที่เป็นขนนกได้มีการจัดวางกาน้ำหรือหม้อแสงอาทิตย์จากทิเบตเอาไว้ด้วย รวมแล้วประติมากรรมชิ้นนี้หนักกว่า 5 ตัน

ในงานชิ้นนี้ ผู้ชมจะถูกบังคับให้ชมงานผ่านช่องกระจกซึ่งผู้คุมเคยใช้เป็นช่องมองนักโทษ ภาวะนี้สะท้อนไปถึงโครงสร้างของอำนาจในการเฝ้ามองและระบบการควบคุมภายในคุก งานยังพยายามสะท้อนความตึงเครียดระหว่างเสรีภาพ ทั้งในทางกายภาพ ทางการเมือง และในการสร้างสรรค์ ผ่านสัญลักษณ์ปีกของนก กับการถูกจองจำ สะท้อนผ่านน้ำหนักอันหนักอึ้งของปีกนก

งานที่ใช้ชื่อว่า “Trace” เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง โดยอ้ายได้จัดทำรูปเหมือนของนักโทษการเมือง ซึ่งถูกคุมขังเพราะความคิดความเชื่อของพวกเขา จำนวนกว่า 176 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก จัดวางเรียงยาวบนพื้น แต่ละรูปนั้นถูกสร้างขึ้นโดยใช้ตัวต่อเลโก้หลากสีต่อเป็นใบหน้าของนักโทษการเมืองแต่ละคน รวมแล้วใช้ตัวต่อกว่า 1.2 ล้านตัว โดยส่วนหนึ่งถูกออกแบบขึ้นที่สตูดิโอของอ้ายในปักกิ่ง ก่อนที่จะถูกต่อให้สมบูรณ์โดยอาสาสมัครกว่า 80 คนในซานฟรานซิสโก

อ้ายและทีมงานเลือกนักโทษการเมืองหรือผู้ลี้ภัยการเมืองเหล่านี้ จากข้อมูลขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยในจำนวนนี้มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมากที่สุด (38 คน) แต่ก็มีนักโทษหรือผู้ลี้ภัยการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์, อองซานซูจี, เนลสัน แมนเดลา, เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน, เชลซี แมนนิ่ง เป็นต้น และหนึ่งในรูปผู้ต้องขังทางการเมืองเหล่านั้น มีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ของไทยรวมอยู่ด้วย (ดูรายชื่อและใบหน้าของทั้งหมดได้ ที่นี่)

ในงานชื่อ “Stay Tuned” อ้ายได้ใช้พื้นที่ห้องคุมขังเดี่ยวขนาดเล็ก 12 ห้องของเรือนจำเดิม (หรือที่เรียกว่าเซลล์) โดยทำการติดตั้งเสียงรูปแบบต่างๆ ทั้งถ้อยคำ บทกวี และเสียงเพลง ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าไปนั่งฟังได้ในแต่ละห้อง โดยทั้งหมดล้วนเป็นเสียงของผู้คนที่เคยถูกคุมขังจากสาเหตุทางการเมือง หรือเป็นผลงานที่ถูกผลิตขึ้นขณะการถูกจองจำ

ยกตัวอย่างเช่น เสียงเพลงของนักดนตรีฝ่ายซ้ายในชิลีที่ถูกคุมขัง ทรมาน และสังหารในช่วงรัฐบาลทหาร, เสียงเพลงของนักร้องชาวทิเบต ผู้เรียกร้องอิสรภาพจากจีน แต่ถูกตัดสินขังคุกถึง 6 ปี, บทเพลงของวง Pussy Riot ที่ถูกคุมขังในรัสเซีย, บทกวีของกวีชาวเปอร์เซียที่ถูกจองจำภายใต้ระบอบชาร์ในอิหร่าน หรือบทเพลงของนักร้องที่เคยถูกคุมขังบนเกาะร็อบเบนในแอฟริกาใต้ในระหว่างยุคแบ่งแยกสีผิว เป็นต้น (ฟังเสียงที่ถูกจัดแสดงเหล่านั้นได้ ที่นี่)

อ้ายเว่ยเว่ยตั้งใจใช้เสียงเหล่านี้สะท้อนถึงความสามารถในการเป็นพาหนะเชื่อมต่อและสื่อสารความเป็นมนุษย์แม้ในภาวะที่มีขีดจำกัด และภาวะย้อนแย้งกันระหว่างถ้อยคำและเสียงเพลง กับความโดดเดี่ยวและความเงียบงันขณะถูกจำขัง

งานชื่อ “Illumination” ศิลปินจีนก็เล่นกับภาวะของเสียงเช่นเดียวกัน โดยงานชิ้นนี้ใช้พื้นที่ห้องคุมขังเดี่ยวสองห้อง ภายในอาคารโรงพยาบาลที่เคยถูกใช้คุมขังและใช้สังเกตการณ์นักโทษที่มีอาการทางจิต อ้ายใช้เสียงสวดมนต์ของพระชาวทิเบต และเสียงร้องเพลงของชนเผ่าอินเดียนอเมริกันพื้นเมือง ชื่อ “โฮปิ” (Hopi) มาเปิดแสดงอยู่ในแต่ละห้อง โดยชาวโฮปินี่เองที่มีประวัติว่าเป็นนักโทษทางมโนสำนึกกลุ่มแรกบนเกาะอัลคาทราซ เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธที่จะส่งเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ฟังเสียงได้ ที่นี่)

อ้ายตั้งใจใช้เสียงของคนสองกลุ่มนี้สะท้อนไปถึงผู้คนที่ต่อต้านการกดขี่ทางการเมืองและวัฒนธรรม โดยเปรียบเปรยกับผู้คนที่ถูกจัดแบ่งว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ทำให้คนเหล่านี้เผชิญกับภาวะที่ถูกขับไล่ ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกคุมขัง หรือถูกจับตามอง ขณะที่เสียงสวดมนต์ในสถานการณ์เหล่านี้ สามารถเป็นที่มาของความสงบทางอารมณ์ ความมั่นคงทางจิตวิญญาณ และแสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้

ภาวะขัดแย้งแต่ดำรงอยูร่วมกันนี้ ยังถูกนำมาใช้ในงานชื่อ “Blossom” ซึ่งใช้พื้นที่ห้องขังผู้ป่วย สำนักงาน และห้องน้ำในอดีตอาคารโรงพยาบาลเป็นที่จัดแสดง โดยศิลปินได้นำดอกไม้เซรามิกไปจัดวางบนอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ หรือโถส้วม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกใช้โดยผู้ต้องขังที่รักษาตัวภายในโรงพยาบาล ทำให้เกิดภาพดอกไม้สีขาวงอกงามขึ้นมาจากสุขภัณฑ์เก่าแก่เหล่านั้น

งานอีกชิ้นหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย ใช้ชื่อว่า “Yours Truly” ได้จัดโต๊ะให้ผู้ชมงานได้อ่านเรื่องราวโดยย่อของนักโทษการเมือง 176 คน ที่ถูกนำเสนอในงาน Trace ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ และร่วมกันเขียนโปสการ์ดไปถึงนักโทษการเมืองแต่ละคน โดยโปสการ์ดถูกจัดทำเป็นรูปภาพของนกหรือพืชพันธุ์ชนิดต่างๆ ที่นักโทษการเมืองจากประเทศนั้นๆ ถูกคุมขังอยู่

โปสการ์ดเหล่านี้จะถูกรวบรวมและส่งต่อให้นักโทษแต่ละคนเพื่อบอกว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะอ้ายเชื่อว่าบ่อยครั้งนักโทษการเมืองมักจะกลัวว่าตนเองหรือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต่อสู้อยู่ จะถูกลืมจากโลกภายนอกระหว่างถูกคุมขังอยู่ การส่งโปสการ์ดเหล่านี้จึงตอบสนองต่อความกังวลเหล่านี้  

ตั้งแต่เปิดแสดงงานจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ร่วมส่งโปสการ์ดแล้วกว่า 50,000 ใบ โดยในจำนวนนี้มีกว่า 1,000 ใบ ถูกเขียนส่งให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษคดีมาตรา 112 ในเมืองไทย (อ้างอิงจากที่นี่)

เมื่ออ่านรายละเอียดงานแสดงของศิลปินจีนแล้ว นอกจากจะทำให้นึกอยากไปชมงานจริงๆ ยังทำให้นึกถึงสถานการณ์ในเมืองไทย ภายใต้ความพยายามกักขังเสรีภาพอย่างเข้มข้นของรัฐบาลทหาร และการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของนักโทษทางความคิดในเรือนจำ

แม้แทบไม่มีศิลปินใหญ่คนใดลุกขึ้นมาสร้างงานและประกาศต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่บางทีถ้าเชื่ออ้ายเว่ยเว่ย ว่าเผด็จการเข้าใจผิดว่าจะสามารถกักขังเสรีภาพไว้ได้ ก็ชวนให้นึกถึง “งานศิลปะ” ชิ้นเล็กๆ จำนวนหนึ่งในช่วงนี้...

จดหมายถึงนกพิราบที่เพื่อนมิตรยังพยายามส่งโปสการ์ด ข้อความ และกำลังใจ ไปถึงหลายคนผู้ถูกริบเสรีภาพไป

เสียงเพลงบทเพลงสามัญชน และแสงดาวแห่งศรัทธาที่ถูกร้องซ้ำๆ ในหลายกิจกรรมช่วงนี้

หรือรอยยิ้มของศิลปินผู้แสดงละครทั้งสองท่านในวันพิพากษาคดีเมื่อวันก่อน

แม้ไม่ได้ช่วยให้เสรีภาพที่ถูกกักขังไว้ได้รับการปลดปล่อย แต่จดหมาย เสียงเพลง และรอยยิ้มเหล่านั้น ก็ดูจะเป็นหลายๆ ความพยายามที่จะติดปีกให้เสรีภาพสามารถโบยบินหนีการจองจำไปเกาะที่ขอบหน้าต่างได้

-------------------------------------------------------------------

ดูหน้าเว็บไซต์อย่างทางการของนิทรรศการ @Large ได้ที่ http://www.for-site.org/project/ai-weiwei-alcatraz/

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล
กำลังก้าว
ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียวเสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
กำลังก้าว
1“เราจะไม่เป็นเราอีก”
กำลังก้าว
คืนนั้น หลังจากรู้ว่ามีชื่อตัวเองอยู่ในประกาศเรียกทางโทรทัศน์ แกโพสต์สเตตัสหนึ่งในเฟซบุ๊กไว้ว่า “โจนาธาน ลิฟวิ่งสตัน ซีกัล ผมจะเป็นนางนวลตัวนั้น”
กำลังก้าว
 การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของไดโนเสาร์ยักษ์เกรี้ยวกราดสุดเรี่ยวแรงแห่งเผ่าพันธุ์ทำผืนดินสะเทือนเลือนลั่นต้นไม้ใบหญ้าล้มระเนระนาดสัตว์น้อยใหญ่หลบหนีชุลมุนวุ่นวายกระทั่งหลายชีวิตบาดเจ็บล้มตายเซ่นสังเวยการเคลื่อนตัวของสัตว์ยักษ์ 
กำลังก้าว
30 เม.ย.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจับกุมคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีมาตรา 112 และเป็นเวลาครบรอบ 3 ปีแล้วที่ชายคนนี้ยืนยันนับตั้งแต่ถูกจับกุมว่า “ผมยอมสูญเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน”
กำลังก้าว
ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกเล็กๆ น้อยๆ จากการทำรายงานข่าวเรื่อง “เปิดใจ 'สปป.ล้านนา' สาขาสันกำแพงกับข้อกล่าวหาแยกประเทศ”%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%