ไปดูพิธีเซ่นเมืองไทขาว เวียดนาม ตอน 2 : การเมืองของการเซ่นเมือง–ผี พิธีกรรม การต่อรองกับ Vietnamization ในกระบวนการ Tai-ization

เหมือนประเทศทั้งหลาย ตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ของการแปลงที่ดินเป็นสินค้า กำลังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ในเวียดนาม ในขณะนี้ เห็นได้จากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีความตึงเครียดและการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศ การประท้วงการ privatization ที่ดิน และการสร้างเขื่อนเซินลา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในหลากหลายรูปแบบทั้งแบบเงียบๆ และแบบโจ่งแจ้ง (ความขัดแย้งในเวียดนาม จึงไม่ใช่ประเด็นอคติด้านชาติพันธุ์เพียวๆ แต่เป็นเรื่องท้องถิ่น ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นตัวแสดง ฝ่ายหนึ่ง กับ รัฐและตลาด อีกฝ่ายหนึ่ง)

อำเภอมายโจว (อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม) เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศ ทำให้ที่ดินของมายโจวเป็นที่หมายปองของนายทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่ ประกอบกับเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนด้านการท่องเที่ยว และใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมายโจวในการจัดการท่องเที่ยวเอง (ต้องบอกก่อนว่าธุรกิจการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโฮมสเตย์ ตั้งแต่พัฒนาขึ้นมาในต้นทศวรรษ 1990 ก็อยู่ในมือของชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ที่มีเครือข่ายทางธุรกิจกับบริษัททัวร์เป็นของตัวเอง โดยที่ไม่มีทั้งรัฐและเอ็นจีโอใดๆ มาควบคุม กำกับ สนับสนุน แม้แต่ด้านเงินทุน) มายโจวจึงเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดของการแปลงที่ดินเป็นสินค้าพอสมควร ภายใต้ความตึงเครียดดังกล่าว ชาวบ้านหลายคนกลัวว่าจะสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นที่ทำกินของพวกตน (ที่เวียดนาม ชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดินเพื่อการผลิตที่ มีแต่สิทธิในการใช้ที่ดินเท่านั้น)

จากการไปที่นั่นบ่อยๆ หลายปีติดๆ กัน และบางครั้งก็อยู่คราวละหลายๆ เดือน ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ คุยและสังเกตการปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของชาวบ้านหลายครั้ง จึงได้รับรู้การให้ “ความหมาย” แก่ที่ดินของชาวบ้านมายโจวว่า ชาวบ้านเขาไม่แคร์ที่ใครจะปกครองเขา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองไท ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม เพราะ “คนกับผืนดิน” ยังอยู่ด้วยกัน ไม่แยกจากกัน คนยังทำกินและสร้างชีวิตบนแผ่นดินได้ ที่เขาแคร์คือการแปลงที่ดิน ให้เป็นสินค้าและขายให้กับนายทุน ด้วยการสนับสนุนของอำนาจรัฐ (หรือกระบวนการ privatization ที่ดิน นั่นเอง)

ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ “คนกับแผ่นดิน แยกออกจากกัน” และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ดังนั้น ตลาดโลกาภิวัตน์...ในแง่หนึ่งคือสร้างโอกาสให้ชาวนา คนเล็กคนน้อย กลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ(entrepreneur) โฮมสเตย์และร้านขายของที่ระลึก ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์ แต่อีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นช่องทางให้ “ทุน” แยกพวกเขาออกจากแผ่นดิน

การต่อรองกับพลัง/กระบวนการดังกล่าวของคนมายโจวจึงเริ่มขึ้น ....แต่มันไม่ใช่การไปประท้วง หรือดื้อแพ่งที่ไหน ตรงข้าม ชาวบ้านกลับเอานโยบายและปฏิบัติการของรัฐส่วนกลางที่ส่งเสริมพิธีกรรมของชาติพันธุ์มา “พลิกแพลง” เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู่กับกระบวนการแปลงที่ดินฯ ที่สนับสนุนโดยรัฐ และกับรัฐในอุดมการณ์ “รากเดียวกัน” (ดูรายละเอียดในตอนที่ 1) เพราะการยอมรับรากเดียวกันนี้ เท่ากับว่ายอมรับว่าบรรพบุรษกิง(เวียด) คือบรรพบุรุษของตัวเอง และตัวเองก็คือชาติพันธุ์ที่มีศักดิ์ศรี “รอง” จากกิง

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐพยายามที่จะควบคุมทางวัฒนธรรม ด้วยการทำให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น 1) มีพิธีกรรมเคารพบรรพบุรุษของชาติ (อย่างที่ได้กล่าวแล้วในตอนที่ 1) 2) การลดรูปพิธีกรรมให้เหลือแต่รูปแบบ 3) การสนับสนุนเงินและกำกับการปฏิบัติการ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว จุดอ่อนของรัฐชาติเวียดนามและรัฐแทบทุกรัฐก็คือว่า คุณไม่สามารถควบคุม “ปฏิบัติการและการตีความของท้องถิ่น” ได้เมื่อพิธีกรรมนั้นถูกประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมา (traditions are reinvented)

คนไทขาว แม้จะได้รับงบฯ จากทางจังหวัด แต่เมื่อ(ฟื้น)ประดิษฐ์วัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ พวกเขาก็กลับตีความและปฏิบัติการขึ้นมาใหม่ …ก็อย่างที่บอก แม้การควบคุมทางวัฒนธรรมเป็นการครอบงำในเชิงอุดมการณ์ (ซึ่งเป็นความ “เนียน” ของการใช้อำนาจ ซึ่งผู้ที่ถูกครอบงำไม่รู้ด้วยด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังถูกครองงำ) แต่การควบคุมทางวัฒนธรรมก็ไม่อาจจะกระทำได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ใครจะเอาไป “ตีความ” และ “ปฏิบัติการ” ใหม่ได้

ดังนั้น แม้ว่าการตีความและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในยุคนี้จะไม่เหมือนกับในอดีต “เป๊ะ” และไม่เป็น เซ่นเมืองไท “แท้ๆ” (authenticity)  จนคนเฒ่าคนแก่ของมายโจววิพากษ์วิจารณ์ ถึงขนาดที่ว่า “เพราะทำพิธีผิด เลยทำให้มีคนตายทุกปี” แต่ทางอำเภอก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็น “ของแท้” มากนัก เพราะจริงๆ แล้ว ของแท้จริงๆ ก็ไม่มีอยู่จริง มีแต่ของที่ตีความและปฏิบัติการใหม่ ซึ่งต้องผ่านการช่วงชิงความหมายระหว่างกลุ่มต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ทางอำเภอจึงไม่สนใจทำให้เป็นของแท้ๆ “เป๊ะ” ตราบเท่าที่ พิธีกรรมทำหน้าที่ผลิตซ้ำความหมายเดิมของการเซ่นเมืองที่ให้ “อำนาจ” ตามประเพณีแก่เจ้าเมืองในฐานะเป็นเป็นตัวกลางติดต่อกับผี/เทวดาผู้เป็นเจ้าของและคุ้มครองเมือง(คนและทรัพยากรธรรมชาติ) กับ ประชาชน

ทั้งหมดนี้กระทำผ่านปฏิบัติการอย่างน้อย 3 อย่างด้วยกัน คือ หนึ่ง การรื้อฟื้นภาษาไท ซึ่งเอามาใช้ในการเขียนป้ายต่างๆ ในงานพิธี การแข่งขันการประกวดการใช้ภาษาไทในเวทีหลังการเซ่นไหว้เสร็จสิ้นแล้ว แม้จะใช้ภาษาไทดำ(ซึ่งถูกทำให้เป็นภาษาไทมาตรฐาน ในเวียดนาม) แต่ก็ทำ “เนียน” ว่าเป็นภาษาไทขาวมายโจวเพราะคนเกือบทั้งหมดอ่านภาษาไท ไม่ว่าจะไทอะไรไม่ออกเลย

สอง การแสดงทางวัฒนธรรมบนเวที ซึ่งเดิม ในปี 2011 แสดงเกี่ยวกับเรื่องทหารราชสำนักเวียดนามมาปกป้องมายโจวให้พ้นภัยจากการปล้นฆ่าข่มขืนชาวเมืองมุนโดย “ฮ่อธงเหลือง” และเพลงความรักระหว่างทหารเวียดมิงห์กับสาวไท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามายโจวมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับเวียดนาม แต่ในปี  2014 ไม่มีการแสดงของสองชุดนี้ แต่กลับเป็นเรื่องของท้าว “ลางโบน” เจ้าเมืองคนแรกของมายโจว เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ เมื่อประมาณคริสศตวรรษที่ 13 ด้วยการเอาชนะกลุ่มชาติพันธุ์ส่า ที่เป็นคนท้องถิ่น คนไทจึงกลายเป็นเจ้าของเมืองนี้ และอยู่ในเมืองนี้ด้วยความสงบร่มเย็นร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ...นั่นก็คือ การแสดงในปีนี้ พูดถึงไทในฐานะเจ้าของแผ่นดิน โดยที่ไม่มีการช่วยเหลือหรือพึ่งพากิง 

สาม คือไม่มีการบูชาบรรพบุรุษชาวเวียดอย่างโดดเด่น แม้แต่โฮจิมิงห์ ที่พวกเขามีความทรงจำร่วม ในการร่วมรบกับเวียดมิงห์ เพื่อกู้ชาติจากฝรั่งเศสและอเมริกา มีแต่การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นเจ้าเมือง และผีป่า น้ำ ดิน ลม และอื่นๆ ในเมืองมุน(มายโจว) (โฮจิมิงห์ และบุรพกษัตริย์ ก็ถูกรวมให้เป็นผี “อื่นๆ” ไปด้วย) ให้คุ้มครองลูกหลานให้ทำมาหากินบนแผ่นดินนี้สืบต่อไป

พิธีเซ่นเมืองจึงเป็นการยืนยัน “สิทธิตามจารีต” ของไทขาว ที่ประชาชนไม่อาจถูกพรากไปจากแผ่นดิน (ผี)บรรพบุรุษของตัวเองได้ และ “ผี” จึงทำหน้าที่ในการยืนยันอำนาจ “ตามจารีต” ในการสืบทอดที่ดินนี้ ...โดยตอกย้ำความเป็น “คนไทบนแผ่นดินไท” เข้าไปในอุดมการณ์ของข้าราชการและประชาชนในอำเภอ หรือเราอาจเรียกกระบวนการนี้ว่าการทำให้(กลับ)กลายไปเป็นไท หรือ Tai-ization ขณะเดียวกัน ก็เป็นการ “ส่งสาร” ถึงฮานอย ว่า “นี่เป็นแผ่นดินบรรพบุรุษของไท จะทำไร ก็เกรงใจผีหน่อย...นะเพ่

ทั้งปวงนี้ก็คือการตอบโต้กับกระบวนการแปลงที่ดินให้เป็นสินค้าที่มากับอุดมการณ์ตลาดเสรี

ก็บอกแล้วไง...ว่าเล่นกับการควบคุมประชาชนผ่านทางวัฒนธรรม ขอยืมอำนาจของผี และพิธีกรรม หน่ะ...เล่นยาก เพราะใครๆ ก็ตีความ ใช้ประโยชน์ ประดิษฐ์ใหม่ทางวัฒนธรรม ได้เสมอ...อิอิ

อย่างไรก็ดี การเซ่นเมืองก็เป็นการผลิตซ้ำอุดมการณ์ศักดินานิยม เพราะมันคือการยืนยันอำนาจของ “เจ้าเมือง” (ปัจจุบันคือนายอำเภอ และข้าราชการอำเภอ) ให้มีอำนาจเหนือประชาชนซึ่งก็แน่นอนว่าชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นลูกหลานของตระกูลเจ้าเมือง ลึกๆ จึงไม่เป็นที่พอใจแก้ชาวบ้านชาวเมืองผู้ซึ่งอยู่ในตระกูลอื่น ในการปฏิบัติการของพิธีกรรมที่เซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ อันเป็นผีของตระกูลเจ้าเมือง เท่าใดนัก เพราะอุดมการณ์และการปฏิบัติการดังกล่าวนี้ มันขัดแย้งกับอุดมการณ์สังคมนิยมเวียดนาม ที่เคารพความเสมอภาคของคน

อีกประการคือ ในยุคสังคมนิยม ตระกูลเจ้าเมืองถูกกล่าวหาว่าเป็นตระกูลกดขี่รีดไถ เกณฑ์แรงงานจากประชาชนไปใช้ฟรีๆ ยิ่งไปเข้าพวกกันกับฝรั่งเศสแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ (เมื่อฝรั่งเศสแพ้กองทัพเวียดมิงห์ เจ้าเมืองและเครือญาติสนิท ต้องลี้ภัยไปทางใต้ของเวียดนามหรือไปต่างประเทศ เพราะเกรงว่าจะถูกเวียดมิงห์ฆ่า) เมื่อเวียงมิงห์ชนะฝรั่งเศสแล้ว ตระกูลเจ้าเมืองก็ถูกยึดที่ดินไปแจกจ่ายให้ประชาชน รวมทั้งทรัพย์สินก็เป็นของราชการ

มายโจว รวมทั้งเวียดนามในเวลานี้ จึงมาถึงทางแพร่ง ที่ 4 อุดมการณ์คือ ศักดินานิยม สังคมนิยม ชาตินิยม และตลาดเสรี  เข้าสัปปยุทธ์กันอย่างเมามัน...ลักลั่น อึดอัด และต้องต่อรองกันอีกยาววววววว

ไปเยี่ยมไผ่ ดาวดินในเรือนจำ...แล้วมันได้อะไรขึ้นมา (วะ)?

อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ

บันทึกภาคสนามในเวียดนาม 4/2559: ฟังเรื่องเล่า “ตือม้าฮายด่าว” วีรบุรุษไทเมืองเซีย ในศึกชิงดินแดนเวียด-ลาว ในศตวรรษที่ 14

ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เ

บันทึกภาคสนามในเวียดนามหน้า 2/2559: มื้อแรกในรอบ 2 ปีกับครอบครัวไทขาวที่มายโจว (เมืองมุน)

ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงปัจจุบ