Skip to main content

เมื่อวันอังคารของสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน"หนังสือปกขาว" ที่พิมพ์ออกมาในช่วงทศวรรษ 2510 เล่มหนึ่ง และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะเจอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้น

หนังสือปกขาว คือหนังสืออะไรกัน?

คงจะต้องอธิบายเสียหน่อยว่า หนังสือปกขาว คือ หนังสือที่เสนอเรื่องราวการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ใช้คำเรียกพฤติกรรมและอวัยวะในการเสพสมด้วยถ้อยคำตรงไปตรงมา มีทั้งอี๋ ทั้งอวย และคำอื่นๆ ซึ่งถูกมองด้วยสายตาทางสังคมว่า หยาบโลนและลามก

หนังสือปกขาว ถ้าจะพูดด้วยคำที่คนใช้กันติดปาก ก็คือ หนังสือโป๊ ทว่ารูปแบบและลักษณะอาจจะไม่เหมือนหนังสือโป๊แบบปัจจุบัน ที่มีลูกเล่นสีสันเย้ายวน เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ามากขึ้น

หนังสือปกขาวนั้น มีทั้งรูปแบบที่บรรยายเนื้อเรื่องปลุกเร้าอารมณ์เพียงอย่างเดียว และรูปแบบที่มีทั้งเนื้อเรื่องและรูปภาพประกอบสอดแทรก แต่ยังเป็นรูปภาพแบบพิมพ์แม่สี (เช่น รูปภาพสีแดง รูปภาพสีน้ำเงิน)

หนังสือปกขาว มีความแพร่หลายอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2490-2500 ซึ่งเป็นภาวะหลังการสุดสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกได้ว่า เป็นยุคทองของหนังสือปกขาวเลยทีเดียว 

สำหรับหนังสือปกขาวในช่วงทศวรรษ 2490-2500 จะมีขนาดเล่มประมาณฝ่ามือ มีภาพปกเป็นแม่สี มักจะรูปผู้หญิงเปลือย  มักจะมีจำนวน 112 หน้า (เจ็ดหน้ายก) จะมีภาพโป๊แม่สี ประมาณ 4-8 ภาพ แทรกอยู่กลางเล่ม ระหว่างหน้า 48 กับหน้า 49

ทว่าหากเป็นหนังสือปกขาวในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ตัวเล่มจะมีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ อาจจะประมาณหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค จนในที่สุด หนังสือปกขาวก็พัฒนามาเป็นหนังสือโป๊เล่มขนาดนิตยสาร ดังที่เราเคยเห็นกันมาบ้างในปัจจุบัน

สำหรับหนังสือปกขาว ที่ผู้เขียนพบว่า  มีการกล่าวถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มีขนาดเท่ากับพ็อกเก็ตบุ๊ค คะเนว่าน่าจะพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2510

หนังสือเล่มนี้ชื่อ "แมวขโมย" ที่หน้าปกเขียนว่าเป็นผลงานของ "ชอพสนุก" แต่เมื่อพลิกดูภายในเล่ม จะพบว่าเป็นผลงานเขียนของ "เพลย์บอย"

เรื่องราวของเพชร พยัคฆราช ทนายความหนุ่ม ซึ่งมีเมียอยู่แล้ว แต่มักจะเสพสมกับโนรี นรลักษณ์ เลาขานุการสาวสวยในสำนักงาน ไม่เพียงเท่านั้น เพชรยังได้ร่วมเพศกับเศรษฐินีสาวนาม พะเยีย อัครเดชธำรง เมียสาวของ อัครเดช ผู้เฒ่าชรา ซึ่งมาปรึกษาทนายหนุ่มในเรื่องคดีความของเธอ และแน่นอนว่า หลังเจรจาธุระเสร็จ เพชรได้ทำให้พะเยียอิ่มเอมกับรสสวาทเหลือล้นยิ่งกว่าที่เธอเคยได้รับจากสามีสูงวัย โดยประกอบกิจกรรมกับบนเก้าอี้นวมยาว ที่สำคัญ กามกิจเหล่านั้นอยู่ในสายตาที่ลอบมองของโนรี เลขานุการสาว

 "แมวขโมย" บรรยายการร่วมเพศอย่างปลุกเร้าด้วยถ้อยคำตรงไปตรงมาจนถึงแก่น แต่ผมกลับรู้สึกสะดุดตากับสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งนัก นั่นคือ มีการกล่าวถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ด้วย ดังปรากฏในตอนที่พะเยียกล่าวว่าเธออยากให้ทนายหนุ่มคุยกับอัครเดช สามีของเธอ พร้อมบอกว่า สามีของเธอเคยผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เมื่อเพชรได้ฟังเขาจึงกล่าวว่า

"ผมรู้สึกยินดีที่จะได้พบและคุ้นเคยกับอัครเดช ผมก็ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" (หน้า 47)

จากนั้น พะเยียก็ยิ้มเก๋อย่างน่ารัก และน่าประทับใจ เธอกล่าวต่อไปว่า

"นอกจากนั้น ฉันยังรู้ด้วยว่าคุณเป็นนักกีฬาตัวยงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเมื่อเป็นนักศึกษาและตอนนี้ก็เป็นดาราของทีมฟุตบอลสโมสรมหาวิทยาลัย..." (หน้า 47)

การพบว่า เพชรเคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัยด้วย ทำให้ผมสนใจเป็นอย่างมากว่า ทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมาอยู่ในหนังสือปกขาวได้

จริงอยู่ว่านามธรรมศาสตร์ มีปรากฏอยู่ในสื่อบันเทิงต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในวรรณกรรม (โดยเฉพาะแนวเพื่อชีวิต) หนังสืออ่านเล่น หรือ บทเพลง เป็นต้น แต่ผมมิคาดนึกว่า จะมีอยู่ด้วยในหนังสือปกขาว

การที่ทนายหนุ่มชื่อเพชร พยัคฆราช เคยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ จะเป็นแค่ความบังเอิญ หรือว่า แสดงถึงนัยสำคัญบางอย่าง นั่นคือ สิ่งที่ชวนให้ครุ่นคิด และศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างหลากหลาย   เป็นไปได้หรือไม่ ว่านี่คือ การสะท้อนภาพนักศึกษาธรรมศาสตร์ในอีกลักษณะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การค้นพบครั้งนี้ ทำให้เกิดมุมมองเกี่ยวกับนักศึกษาและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แปลกออกไป

นี่จึงเป็นการพยายาม  "มองดูนักศึกษาธรรมศาสตร์ด้วยหนังสือปกขาว"  บางที เสรีภาพในการเขียนถึงธรรมศาสตร์อาจจะมีอยู่ทุกตารางนิ้ว! 

 

(ปล. ผู้เขียนขอขอบคุณ "ท่านพี่นฤชิต" ผู้เอื้อเฟื้อแบ่งปันหนังสือเล่มดังกล่าว)

บล็อกของ อุชญาสิตาส แคราสสิเม่

อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่มีนามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับนักอ่านชาวไทยมาจวบจนทุกวันนี้  
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงบทบาทและผลงานสำคัญในด้านต่างๆมากมายหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะมันสมองของคณะราษฎร, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโ
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อวันอังคารของสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน"หนังสือปกขาว" ที่พิมพ์ออกมาในช่วงทศวรรษ 2510 เล่มหนึ่ง และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะเจอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นหนังสือปกขาว คือหนังสืออะไรกัน?
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อกล่าวถึงเรื่องบทเพลงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดูเหมือนว่า จะมีความเชื่อมโยงกับบทเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาและชีวิตชีวาภายในสถาบันการศึกษา  อย่างเช่น เพลงประจำมหาวิทยาลัย หรือเพลงแม่โดมทั้งหลายของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นต้น
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อเอ่ยถึงประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ดูเหมือนว่าชื่อของ ฆวน เปรอง (Juan Perón) จะเป็นชื่อสำคัญที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คน โดยมักจะปรากฏขึ้นมาพร้อมกับชื่อของภรรยาสาวสวยนาม เอวา เปรอง (Eva Perón) หรือ เอวิต้า (Evita) รวมถึงสิ่งหนึ่งที่ราวกับว่าเป็นเงาของเขา นั่นคือ นโยบายประชานิยม
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
สิ่งหนึ่งที่ชวนสะดุดใจเมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude)[1] ผลงานเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียนาม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)  คือ แผลที่รักแร้ของตัวละครพันเอกอ