Skip to main content

ความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่มีนามว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับนักอ่านชาวไทยมาจวบจนทุกวันนี้  แน่นอนว่า มีนักอ่านจำนวนมากโขที่คลั่งไคล้ รงค์  ทั้งในส่วนของผลงานการเขียนและการใช้ชีวิตของเขา

หนุ่มสาวหลายคนพยายามแสดงตนว่า ชอบและคลั่งไคล้ ‘รงค์ บางคนถึงขั้นอยากจะเป็นแบบเขาเลยทีเดียว ที่น่าสะดุดใจคือ ในบรรดาหนุ่มสาวเหล่านั้น พวกเขาบางคนกลับมิได้อ่านผลงานการเขียนของ รงค์ เท่าใดนัก  ความชอบและคลั่งไคล้ของพวกเขา จึงกลายเป็นเพียง การแสดงออกถึงความเท่ประการหนึ่ง และนั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความยิ่งใหญ่ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นสิ่งที่นักอ่านให้ความสนใจอย่างมาก หากในส่วนที่นักอ่านมิค่อยสนใจเท่าใดนักคือ การที่กว่า รงค์ จะกลายมาเป็นนักเขียนชื่อดัง กว่าที่เขาจะแจ้งเกิดได้สำเร็จ หรือจะพูดอย่างสำนวนของ ‘รงค์ ได้ว่า กว่าที่ นักอ่านจะอนุญาตให้เป็นนักเขียน เมื่อเขาอายุ 28 นั้น

รงค์ วงษ์สวรรค์ ต้องพบเผชิญ และผ่านริ้วรอยกร้านกรำของชีวิตมาอย่างไรบ้าง

บทความนี้ จะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับความพยายามเป็นนักเขียนของพญาอินทรีในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะอายุ 28 ปี

หากถามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็คงจะต้องย้อนไปในสมัยที่เขายังเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ตอนนั้น ที่โรงเรียนมีการจัดแข่งขันกีฬาสี และมีการออกหนังสือประจำคณะสีด้วย รงค์ มิได้ไปร่วมออกหนังสือกับเขา แต่กลับเขียนหนังสือขึ้นเองให้เพื่อนๆในห้องอ่านเล่น

สิ่งนี้แสดงถึงความสนใจในการเขียนหนังสือ และความเป็นคนชอบท้าทายมาตั้งแต่ตอนนั้น

‘รงค์ เกือบเรียนจบชั้นมัธยมปลาย หากไม่‘ฝันร้ายกลางแดด’ โดยมีเรื่องขี้ผงกับครูพละเสียก่อน มันร้ายแรงจนทำให้เขาเป็นนักเรียนคนแรกของเตรียมอุดมที่ถูกไล่ออก

หลังจากนั้น รงค์ ก็เลิกเรียนในโรงเรียนอีกต่อไป เขาออกมาใช้ชีวิตอย่างโชกโชน ทำงานสารพัดอย่าง ทั้งนายท้ายเรือโยง คุมปางไม้ที่เชียงใหม่ และเป็นนายแบบ กว่าที่ชีวิตจะได้จับพลัดจับผลูได้เข้าวงการนักเขียน

เมื่อพูดถึงความพยายามที่จะเป็นนักเขียนของ รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้ว คงต้องกล่าวด้วยว่า ช่วงเวลาหลังออกจากโรงเรียนเตรียมอุดม ในช่วงต้นทศวรรษ 2490 ‘รงค์ ได้เริ่มสร้างงานเขียนของตนอีกครั้ง เขาเริ่มเขียนบทละครวิทยุเพื่ออ่านออกอากาศ  โดยได้รับค่าเรื่อง 30 บาท[1]

สำหรับ บทละครวิทยุเรื่องแรกที่ ‘รงค์ เขียน คือเรื่อง "แดนูบเป็นสีเลือด" มีความยาว 1 ชั่วโมง เหตุที่เขาเขียนเรื่องนี้ ก็เป็นเพราะเขาเคยได้ยินชื่อเพลง “บลูแดนูบ” แล้วเกิดความคิดว่า อยากจะให้แดนูบกลายเป็นสีแดงบ้าง

อย่างไรก็ตาม บทละครเรื่องนี้ประสบความล้มเหลว เนื่องจาก ‘รงค์ เขียนผิดพลาดจากข้อมูลที่เป็นจริงเยอะมาก เขาเขียนให้นางเอกเป็นสาวยิปซีผสมฮังกาเรียน แต่ให้พระเอกเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวไทย โดยมีฉากเปิดเรื่องที่สวนเบียร์ ในกรุงเวียนนา  อีกทั้งในตอนเปิดฉากดังกล่าว ยังใช้เพลงไทยเป็นเพลงประกอบ บทละครเรื่องนี้จึงขาดความสมจริง

‘รงค์ ยังคงมุมมานะที่จะเขียนบทละครวิทยุ บทละครเรื่องที่สองของเขาคือ “คืนสุดท้ายแห่งฤดูฝน” สำหรับเรื่องนี้ ‘รงค์ นำเอาเรื่องราวความหลังเมื่อครั้งยังเรียนอยู่เตรียมอุดมมาเขียน กล่าวคือ เขาหลงรักเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เธอไม่ได้รักเขาเลย กลับไปรักคนอื่นแทน ด้วยความช้ำใจ ‘รงค์ จึงแต่งบทละครวิทยุเรื่องนี้   โดยให้นางเอกของเรื่องมีชื่อเดียวกันกับคนที่เขาหลงรัก แต่ในบทละคร ‘รงค์ กลับให้เธอต้องคอยงอนง้อขอความรักจากพระเอก นั่นก็คือ ตัวเขาเองอยู่ตลอดเวลา บทละครเรื่องนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

รงค์ ยังคงไม่ย่อท้อ เขาเขียนบทละครวิทยุอีกเรื่องหนึ่งชื่อ “ศัตรูคู่อาฆาต” โดย ดัดแปลงเนื้อหามาจากภาพยนตร์ฝรั่ง บทละครเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขียน เนื่องจาก ‘รงค์ คิดว่า แม้บทละครวิทยุของตนจะได้อ่านออกอากาศ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเงินและชื่อเสียงเลย

จวบจน ในปี พ.ศ. 2493  ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้พยายามเขียนเรื่องสั้นส่งไปให้ ประหยัด ศ. นาคะนาท บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยวันจันทร์ เมื่อประหยัดพิจารณาเรื่องสั้นของเขาแล้ว ได้แจ้งแก่ ‘รงค์ ว่า เกือบใช้ได้ ให้นำกลับไปแก้ไข แล้วค่อยส่งมาใหม่  ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ‘รงค์ พยายามเขียนบทภาพยนตร์อีก 3 เรื่อง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในที่สุด เมื่อประหยัด ศ. นาคะนาท เห็นความตั้งใจและพยายามจะเขียนหนังสือของ ‘รงค์ จึงได้รับเขาเข้าทำงานในหน้าที่ตรวจปรู๊ฟ  มันเป็นช่วงเวลาที่ ‘รงค์ ทำงานหนักมาก และเขียนตามที่บรรณาธิการใช้ให้เขียนทุกอย่าง แต่เขาก็มีกำลังใจ เพราะทราบว่าผู้หญิงที่เขารักคอยติดตามผลงานของเขาอยู่

หลังจากพยายามเขียนหนังสืออยู่หลายปี รงค์ จึงได้เริ่มต้นเขียนคอลัมน์ “รำพึง รำพัน” ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยใช้นามปากกาว่า ลำพู” ด้วยลีลาและภาษาอันแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ความโด่งดังจึงมาเยือนเขา จนที่สุด ในปี พ.ศ.2503 เมื่อ ‘รงค์ อายุ 28 ปี เขาจึงได้รับโอกาสให้เป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว  หนาวผู้หญิง  หนังสือเล่มแรกในชีวิตแจ้งเกิดในบรรณพิภพ และมีเสียงตอบรับอันลือลั่น

แหละนี่คือ ชีวิตในห้วงเวลาแห่งความพยายามที่จะเขียนหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์  มันควรจะเป็นเยี่ยงอย่างสำหรับนักอ่านที่อยากจะเขียนหนังสือ เพื่อที่จะเรียนรู้ว่า... 

กว่าพญาอินทรีจะมาโผบินถึงความสำเร็จในอายุ 28  เปลวแดดกร้านกรำได้ทิ้งรอยเปื้อนบนสองปีกไว้มากเพียงไร !

 



[1] วิชา ทรวงแสวง. (2521). วิเคราะห์งานประพันธ์ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ (2503-2512).  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. หน้า 29-30

 

บล็อกของ อุชญาสิตาส แคราสสิเม่

อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่มีนามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับนักอ่านชาวไทยมาจวบจนทุกวันนี้  
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงบทบาทและผลงานสำคัญในด้านต่างๆมากมายหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะมันสมองของคณะราษฎร, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโ
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อวันอังคารของสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน"หนังสือปกขาว" ที่พิมพ์ออกมาในช่วงทศวรรษ 2510 เล่มหนึ่ง และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะเจอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นหนังสือปกขาว คือหนังสืออะไรกัน?
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อกล่าวถึงเรื่องบทเพลงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดูเหมือนว่า จะมีความเชื่อมโยงกับบทเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาและชีวิตชีวาภายในสถาบันการศึกษา  อย่างเช่น เพลงประจำมหาวิทยาลัย หรือเพลงแม่โดมทั้งหลายของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นต้น
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อเอ่ยถึงประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ดูเหมือนว่าชื่อของ ฆวน เปรอง (Juan Perón) จะเป็นชื่อสำคัญที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คน โดยมักจะปรากฏขึ้นมาพร้อมกับชื่อของภรรยาสาวสวยนาม เอวา เปรอง (Eva Perón) หรือ เอวิต้า (Evita) รวมถึงสิ่งหนึ่งที่ราวกับว่าเป็นเงาของเขา นั่นคือ นโยบายประชานิยม
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
สิ่งหนึ่งที่ชวนสะดุดใจเมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude)[1] ผลงานเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียนาม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)  คือ แผลที่รักแร้ของตัวละครพันเอกอ