Skip to main content

หากใครมาดูหนังเรื่อง Wild Strawberries แล้วเคยประทับใจกับหนังเรื่อง About Schmidt (2002) ที่ Jack Nicholson แสดงเป็นพ่อหม้ายชราที่ต้องเดินทางไปกับรถตู้ขนาดใหญ่เพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาวและได้ค้นสัจธรรมอะไรบางอย่างของชีวิตมาก่อน ก็จะพบว่าทั้งสองเรื่องช่างมีพล็อตเรื่องที่คล้ายคลึงกันอะไรเช่นนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่า Alexander Payne (ซึ่งต่อมาก็กำกับหนังดี มีคุณภาพให้เราอีกเช่น Sideways) ย่อมได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนเช่น Wild Strawberries อย่างแรงกล้า หรือแม้แต่หนัง Deconstructing Harry ของผู้กำกับหนังระดับตำนานเช่น Woody Allen ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงคาราวะต่อภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสุดซาบซึ้งใจ ทำไมพวกเขาถึงได้ประทับใจต่อหนังเรื่องนี้ขนาดนั้น ?
 

 

              ภาพจาก www.leninimports.com



Wild Strawberries (ต่อไปจะเรียกชื่อย่อ ๆว่า WS)เป็นภาพยนตร์ขาวดำของผู้กำกับนามอุโฆษสุดจะคลาสสิกตลอดกาลของสวีเดนและของโลก คือ Ingmar Bergman (1918-?) ที่ผมเคยเขียนวิเคราะห์ภาพยนตร์ของเขามาก่อนคือ Seventh Seal และภาพยนตร์สองเรื่องนี้ถูกนำออกฉายในปีเดียวกันคือ 1957 ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่า WS จะสื่อแนวคิดปรัชญาอันลึกซึ้งอย่างเกี่ยวกับมนุษย์เหมือนกับ Seventh Seal ตามแบบฉบับของผู้กำกับ Auteurism (1) เช่นเบิร์กแมน สำหรับ WS นี้หาได้อลังการเหมือนกับเรื่องหลังที่มีฉากเป็นสวีเดนในยุคกลางและตัวละครที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่หากแต่เป็นฉากปัจจุบันในเหตุการณ์อันสุดแสนจะราบเรียบ นั้นคือเป็นเรื่องราวของศาสตราจารย์ด้านการแพทย์หรืออาจารย์หมอวัย 78 ปี นามว่า Isak Borg (แสดงโดย Victor Sjostrom ผู้กำกับหนังเงียบชื่อดังของสวีเดน) ผู้เดินทางไปรับรางวัลที่มหาวิทยาลัยที่เคยทำงานก่อนเกษียณโดยรถยนต์พร้อมกับลูกสะใภ้ของตน ระหว่างทางนั้นเขาได้พบกับผู้ร่วมทางที่เป็นเด็กวัยรุ่นสามคน รวมไปถึงสามีภรรยาที่รถประสบอุบัติเหตุ ที่สำคัญเขาได้ผ่านไปยังบ้านหลังเก่าได้พบกับภาพแห่งความทรงจำในวัยเยาว์จนไปถึงวัยหนุ่ม พร้อมกับความฝันประหลาด ๆ จนได้ตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิตในที่สุด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รางวัลออสการ์จากการถูกเสนอเพียงสาขาเดียวนั้นคือสาขาบทภาพยนตร์หรือ Screenplay ที่เบิร์กแมนเป็นคนเขียนเองในระหว่างที่เขากำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอื่น ๆ แต่ได้รางวัลที่ไม่ดังเท่าเช่น Golden Globe หรือ National Board of Review สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต่างประเทศ กระนั้นตามสไตล์ของเบิร์กแมนที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ารางวัลแม้แต่ออสการ์ก็ไม่สามารถจะตัดสินหนังของเขาที่เต็มไปด้วยความลุ่มลึกทางปรัชญาและศิลปะอันแสนงดงามรวมไปถึงการสะท้อนคนดูให้เห็นถึงสภาวะจิตใจของมนุษย์ ที่ถึงก้นบึ้งไม่ได้ตื้นเขินแบบละครตอนกลางคืนของโทรทัศน์ในบางประเทศที่ชอบอ้างแบบนี้ ถึงแม้ในหนังหลายเรื่องของเบิร์กแมนมักจะถูกโจมตีว่ามองธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยความเย็นชาและมองโลกในแง่ร้าย แต่สำหรับ WS แล้วถือได้ว่าเป็นการมองธรรมชาติของมนุษย์แม้จะขึ้นต้นแบบนั้นแต่ก็จบด้วยความอบอุ่นและความงดงามเช่นเดียวกับเรื่องของเคนจิ วาตานาเบ้ ข้าราชการผู้ใกล้ตายเพราะมะเร็งใน Ikiru ของคุโรซาวา


โปรดระวัง ต่อไปนี้เป็นการเล่าเรื่องเกือบทั้งหมดพร้อมกับบทวิเคราะห์บางส่วนแต่เนื่องจากเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องย่อยและสัญลักษณ์มากจึงขอผ่านบางส่วนไป 

ในช่วงต้นของ WS หนังได้แนะนำตัวอิซักผ่านเสียงพากย์ หรือ Voice Over ของเขาเองให้คนดูรู้ว่าเขาเป็นพ่อหม้าย ภรรยาได้เสียชีวิตไปหลายปีดีดัก แต่แม่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยวัย 96 ปี เขามีลูกชายเป็นหมออยู่ที่เมือง Lund ที่เขาเคยทำงานมาก่อน ผู้เป็นลูกแต่งงานแล้วกับสาวสวยแต่ยังไม่มีลูก รวมไป Miss Agda แม่บ้านที่ยังโสดแต่อ่อนกว่าเขาไม่กี่ปี ผู้อยู่ช่วยงานบ้านเขามาหลายสิบปี จากนั้นหนังก็ค่อยๆ แสดงให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันแท้จริงระหว่างเขากับคนเหล่านั้นไม่ว่า ความเหินห่างระหว่างเขากับลูกชายคือ Evald Borg (Gunnar Bjornstrand) แม้ลูกชายจะปรากฏตัวในตอนท้ายไม่กี่ฉาก แต่หนังก็แสดงให้เห็นอารมณ์เช่นนี้ได้อย่างชัดเจน และ ความขัดแย้งกับลูกสะไภ้ คือ Marianne Borg (Ingrid Thulin)ผู้สิ้นหวังกับความสัมพันธ์อันราวฉานระหว่างเธอกับลูกชายเขา และเธอเห็นว่าความเย็นชาของสามีเกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดูที่ไร้ความรักของอิซักเองดังบทสนทนาอิวาลด์และมาเรียนตอนตอนกลางของเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ต้องการมีลูกแม้ว่าเธอจะตั้งครรภ์แล้วก็ตามก็เพราะเขาอ้างว่าเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับครอบครัวมาก่อน หนังดูเหมือนจะมีการดำเนินแบบเรียบๆ แต่เบิร์กแมนตั้งใจจะใช้รูปแบบ Surrealism หรือเหนือจริงเพื่อตอกย้ำสัญลักษณ์ที่มีอยู่มากมายในหนังผ่านความฝันประหลาด ๆ ของอิซักในคืนก่อนที่เขาจะเดินทางไปรับรางวัลเกียติยศที่เมืองลูน ไม่ว่าการเดินเข้าไปในเมืองร้าง ๆ ได้พบกับมนุษย์ตุ๊กตาที่ไร้หน้า นาฬิกาของเมืองที่ไร้เข็ม จนได้พบกับรถม้าที่ขนโลงศพ และเขาก็ตกใจเมื่อได้พบว่าตัวเขาเองอยู่ในโลงศพนั้น 

เมื่อชายชราสะดุ้งตื่นจึงเปลี่ยนแผนจากการนั่งเครื่องบินไปขับรถแทน ตรงจุดนี้ดูเหมือนกับเบิร์กแมนจะใช้ความเหนือจริงในความฝันเพื่อสะท้อนภาพความไร้สาระของชีวิตมนุษย์ ภาพของตัวเขาในโลงศพที่จับมือของเขาให้เข้ามาใกล้ๆ ราวกับจะทำใหอิซักได้ตระหนักถึงความตาย เขาจึงเกิดความเชื่อว่าตัวเองใกล้ตาย จึงใคร่อยากจะทำบางสิ่งบางอย่างในเวลาที่เหลือน้อยนี้ โดยมาเรียนซึ่งมาพักอยู่กับเขาอยู่ระยะหนึ่งก็ได้ขอติดรถไปด้วย และเธอก็ได้เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงที่เธอและสามีมีต่อเขา ระหว่างทางอิซักได้พามาเรียนไปแวะบ้านพักตากอากาศที่เขาในวัยเด็กพร้อมครอบครัวมาพักเสมอทุกฤดูร้อน เขาได้พบกับสตอร์เบอร์รี่ป่าที่เคยเห็นเมื่อยังเยาว์วัย สตอร์เบอร์รี่ป่านี่เองที่เป็นชื่อเรื่องและเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นแกนหลักของเรื่อง หนังยังให้อิซักพบกับภาพแห่งความทรงจำแบบราวกับว่าเขาได้ย้อนเวลากลับไปได้ (แบบให้ตัวผู้แสดงเข้าไปในอดีตเลย หากนึกเทคนิกไม่ออกก็ลองนึกถึงหนังเรื่องจูออน หรือ The Grudge) และอิซักก็ได้เห็น คู่รักของเขา(Bibi Andersson)ได้แอบพรอดรักกับ น้องชายของเขา และคนทั้งคู่ก็ทิ้งเขาไปอยู่กินด้วยกัน สิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนภาพของอิซักเองที่หนังต้องการจะบอกว่าคนรอบข้างเช่นคู่รักเก่าของเขามองเขาว่าเป็นคนที่เข้าถึงยากและซับซ้อนเกินไป รวมไปถึงภาพการชุมนุมของพี่น้องและญาติๆบนโต๊ะอาหารที่ปราศจากตัวอิซักทำให้เขาระลึกถึงวัยเยาว์เป็นยิ่งนัก 





(นาฬิกาไร้เข็มในฝันของอิซักหรือ สัญลักษณ์ของความไร้สาระของชีวิตที่มีจุดสุดท้ายคือความตาย)

แถวบ้านหลังนั้น เขาได้พบกับกลุ่มวัยรุ่นที่ประกอบด้วยเด็กสาวหนึ่งคนและเด็กหนุ่มสองคนซึ่งได้ขอติดรถของเขาไปลงที่เมืองลูนเพื่อจะต่อไปอิตาลี และด้วยความร่าเริงและเป็นมิตรกับคนของเด็กสาวนามว่า Sara (แสดงโดย Bibi Andersson อีกนั้นแหละ ราวกับหนังตั้งใจจะให้เธอมีสองภาค) ผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับคู่รักเก่าของอิซัก นี้เองที่สร้างความสดใสให้กับศาสตราจารย์เป็นยิ่งนัก หนังก็ไม่ได้ให้คนดูเห็นภาพว่าอิซักเป็นคนน่ารังเกียจเสียทีเดียวเพราะ พวกเด็กวัยรุ่นก็ประทับใจในตัวของศาสตราจารย์ผู้ชราคนนี้ ระหว่างทางนั้นรถของพวกเขาเกือบจะชนกับรถอีกคันที่ขับสวนทางมา รถคันนั้นประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ พวกเขาจึงให้การช่วยเหลือคนในรถซึ่งเป็นสามีภรรยาโดยการให้ติดรถไปด้วย ทั้งคู่ชอบทะเลาะกันจนสร้างความลำคาญให้กับคนอื่น ในที่สุดมาเรียนก็ไล่คนทั้งสองลงจากรถไป เหตุผลที่เบิร์กแมนได้ใส่ตัวละครทั้งสองให้มามีบทบาทนี้ค่อนข้างจะคลุมเคลือแต่ว่าพอจะตีความได้ว่าเขาต้องการจะสะท้อนภาพชีวิตคู่ที่เต็มไปด้วยความบาดหมางกันแต่ก็จำเป็นต้องพึ่งพิงอาศัยกัน

ต่อมาหนังก็ได้ให้ภาพของอิซักอีกว่าเป็นคนที่มีผู้อื่นชอบอยู่ไม่น้อย เมื่อพวกเขามาถึงเมืองลูนและอิซักได้รับต้อนรับที่แสนอบอุ่นจากเจ้าของปั้มและภรรยา หลังจากได้ไปเยี่ยมแม่ผู้เย็นชาของอิซัก แล้วในระหว่างที่พวกเขาก็เดินเพื่อที่จะไปที่บ้านของลูกชายของอิซัก เขาก็ได้ผล็อยหลับไปและฝันว่าตัวเองได้อยู่ในป่าอันเย็นเยือกน่ากลัว ทำให้คนดูตีความได้ว่าเป็นโลกที่ปราศจากการมีอยู่ของพระเจ้า ได้พบคู่รักเก่าต่อว่าเขาและพยายามให้เขาเห็นตัวเองผ่านกระจก ได้เห็นเด็กในเปล (เหมือนหนังจะบอกว่าเด็กคนนั้นก็คือตัวเขาหรือมนุษย์ที่ไร้เดียงสาท่ามกลางโลกอันน่ากลัว) และได้ไปที่ทำงานเก่าของเขาที่มีชายคนหนึ่งพิพากษาว่าเขาเป็นนายแพทย์ที่ไร้ความสามารถแล้วเฉลยว่าเป็นคำต่อว่าจากภรรยาของเขาเองที่เสียชีวิตไปแล้วและชายคนนั้นก็พาเขาไปเฝ้ามองภรรยาของเขาที่แอบไปมีอะไรกับผู้ชายคนอื่นในป่าและนินทาให้ผู้ชายคนนั้นว่าที่เธอเบื่ออิซักเพราะเขาเป็นคนที่ซับซ้อนและเย็นชาเกินไป (หนังค่อนข้างจะทำให้คลุมเคลือว่าที่ฝันนั้นเป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นเองหรือว่าเป็นประสบการณ์ที่เขาเคยพบมาแล้ว แต่ที่แน่ ๆ About Schmidt ก็ยืมเรื่อง "ชู้" มาใช้อย่างออกหน้าออกตา) อย่างไรก็ตามผู้ชายในฝันก็ได้ให้บทเรียนแก่เขาว่าควรที่จะให้อภัยคนอื่น จนเมื่อเขาสะดุ้งตื่น ทั้งหมดมาถึงบ้านของลูกชายของอิซักแล้ว พวกวัยรุ่นขอพักอาศัยด้วยเพื่อร่วมงานรับรางวัลของอิซัก เช่นเดียวกับแอ็คด้าแม่บ้านที่นั่งเครื่องบินมาถึงก่อน งานรับรางวัลผ่านไปอย่างยิ่งใหญ่ อลังการ (จนทำให้นึกถึงงานมอบรางวัลโนเบลขึ้นมา) แต่อิซักหาได้สนใจมันไปเท่ากับพบว่าความรู้สึกของเขาที่เปลี่ยนไป เขารู้สึกโหยหาความสัมพันธ์และได้รักคนรอบข้างมากขึ้นเพราะประสบการณ์ทั้งในโลกความจริงและความฝันกึ่งความฝันได้สอนเขา ฉากที่แสนน่าประทับใจก็คือพวกวัยรุ่นได้ร้องเพลงและเล่นกีตาร์ให้อิซักฟังก่อนนอน แล้วพวกเขาก็อำลาเพื่อเดินทางต่อไป หนังได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความรักและความผูกพันต่อเพื่อนมนุษย์ ได้กลับมาหาความรู้สึกของอิซักอีกครั้ง ดังคำล่ำลาของซาราก่อนจากไป

Sara: Good-bye, father Isak. Can't you see you're the one I love? Today, tomorrow and forever 

(ลาก่อน คุณพ่ออิซัก คุณไม่รู้หรือว่าคุณคือคนที่หนูรัก ? ทั้งวันนี้ วันพรุ่งนี้และตลอดไป)

Isak Borg: I'll keep that in mind 

(ยิ้มจนแก้มปริ : แล้วฉันจะจำไว้)


หนังของเบิร์กแมนเรื่องนี้จบแบบเรียกว่า Happy Ending ซึ่งเป็นการจบแบบที่ไม่ค่อยมีในหนังส่วนใหญ่ของเขานัก ลูกชายและลูกสะไภ้ของเขากลับมาคืนดีกัน ลูกสะไภ้ก็เปลี่ยนจากความเกลียดชังมาเข้าใจและรักเขา ส่วนเขาก็รักคนทั้งสองมากขึ้น ในคืนก่อนนอนนั้น อิซักได้ระลึกถึงวัยเด็กของเขาในช่วงฤดูร้อนที่มีความสุขกับครอบครัวในบ้านพักตากอากาศหลังนั้น ได้พบกับอดีตคู่รักของเขา เธอได้จูงมือเขาไปพบกับพ่อแม่ของเขาที่กำลังตกปลาอยู่บนโขดหินริมทะเล อิซักยิ้มอย่างมีความสุขทั้งในภาพแห่งความคิดคำนึงและความจริงตอนเขานอนอยู่บนเตียง แล้วเรื่องก็จบลงโดยไม่ได้บอกว่าอิซักตายหรือไม่ แต่ถือได้ว่าเป็นเสน์ห์ของหนังอย่างแท้จริง

 

       à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ wild strawberries ingmar bergman dvd

                     ภาพจาก www.blu-ray.com



ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงชื่อว่า Wild Strawberries ? คำตอบก็คือหนังเรื่องนี้มีชื่อเป็นภาษาสวีดิชคือ Smultronstollet ที่มีความหมายเดียวกันแต่สำหรับบริบทของภาษาแล้ว สตอร์เบอร์รี่ป่าหมายถึงความร่าเริง อ่อนวัยและความเป็นอนิจจัง โดยมีซารา (ไม่ว่าทั้งภาคอดีตคู่รักหรือเด็กสาว)เป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำสารนี้อีกที การที่อิชักได้หวนระลึกถึงชีวิตในวัยเยาว์จากการตัดสินใจเดินทางโดยรถแล้วมาพบกับสตอร์เบอร์รี่ป่าก็ไม่แตกอะไรกับ George Baily พระเอกในหนังเรื่อง It's A Wonderful Life (ดูได้ในส่วน Movie)ที่บรรลุสัจธรรมจากการเนรมิตของเทวดา อิซักนั้นความจริงหาใช่คนที่หยาบกระด้างไม่หากแต่เขาเป็นผู้ใช้ชีวิตแบบนักปราชญ์ มีระเบียบแบบแผนและมี เหินห่าง เย็นชาอยู่บ้างจนทำให้คนรอบข้างเหินห่างเพราะเขาไม่เข้าใจว่าคนรอบข้างเช่นอดีตคู่รักหรือภรรยาต้องการอะไร ในตอนจบของเรื่อง อิซักจึงได้พบว่าการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการให้อภัยและความรักที่ไร้เดียงสาแต่เปี่ยมด้วยความอบอุ่นเหมือนฤดูร้อนย่อมทำให้ชีวิตของมนุษย์นั้นมีความสุขและมีความหมายอย่างยิ่ง 

ฉากหนึ่งในหนังที่ผมคิดว่าน่าประทับใจที่สุดก็คือตอนที่อิซักกำลังเดินแถวเพื่อไปรับรางวัลเกียรติยศ ซารา ได้อยู่ในกลุ่มฝูงชนและส่งเสียงให้กำลังใจแก่ท่านศาสตาจารย์ นั่นคือท่ามกลางพิธีกรรมที่แสนจะศักดิ์สิทธิ์แต่น่าเบื่อซึ่งเป็นภาพสะท้อนชีวิตทั้งชีวิตของอิซัก ซาราได้ทำให้ความเคร่งขรึมนั้นลดลง กลายเป็นความรู้สึกอันแสนอบอุ่นที่อิซักสามารถสัมผัสได้แทน หากเปรียบกับ Seventh Seal หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงอภิปรัชญาเช่นชีวิตหลังความตายหรือการมีอยู่ของพระเจ้ามากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวต่อความตายที่เบิร์กแมนสารภาพว่าเคยมีอย่างเต็มเปี่ยมตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้เขาก็ยังสามารถโยงไปถึงเรื่องอภิปรัชญาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจโดยให้เด็กหนุ่มเพื่อนของซาราคนหนึ่งต้องการบวชเป็นพระและถกเถียงกับอีกคนว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ ซึ่งตามความจริงมีน้อยรายที่คนในวัยรุ่นจะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ WS หันมาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความลึกซึ้งทางจิตวิทยา แน่นอนว่าอิซักคนหนึ่งก็เป็นร่างอวตารของเบิร์กแมนผู้เขียนบทนั้นเอง หนังจึงเปรียบได้ดัง Semi-Autobiography หรือกึ่งอัตชีวประวัติที่เบิร์กแมนต้องการสารภาพว่าเขาก็มีปัญหาในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (บังเอิญที่ชื่อของเขาคือ Bergman สามารถแปลได้ว่ามนุษย์ก้อนน้ำแข็งพอดี !!) และหนังจำนวนกว่าสิบเรื่องหลังจากนั้นก็ได้บ่งบอกถึงสิ่งนี้ได้อย่างดี เช่นเดียวกับความตั้งใจที่เขาใส่คู่สามีภรรยาลงไปในเรื่อง WS ทั้งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพล็อตเรื่องหลังเลย แต่ถ้าเราพิจารณาถึงการหย่าร้างของเบิร์กแมนที่มีถึงสี่ครั้ง ก็ไม่น่าประหลาดอะไรนักแต่สิ่งที่สำคัญคือหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นกระจกบานใหญ่ให้เราได้เห็นตัวของเราเองต่างหาก


....................................................................

(1) ผู้กำกับที่สามารถสร้างสรรค์งานได้เป็นอิสระและหนังมีลักษณะซับซ้อน เป็นศิลปะและมีความเป็นตัวเองสูง 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตัวละครบางตัวได้แรงบันดาลใจมาจากอิ๊กคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา The Abbot and The Noble           (1) In our village , Abbot Akisada was enormously respected by most of our
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องความแค้นของผีตายทั้งกลม This (real) horror short story is partly inspired by the ghost tale told by the popular YouTuber like Ajarn Yod. Or it is in fact from the amateurish storytellers participating in Ghost Radio or The Shock more or less.