Skip to main content

นายยืนยง

 

ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย

ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย

ผู้แปล : ธนพัฒน์

ประเภท : เรื่องสั้นแปล

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535

 

ในวรรณกรรมหลายเรื่องมีการกล่าวถึงเซ็กส์ในหลายรูปแบบ และหลายเจตนารมต่างกันออกไป และเซ็กส์ในเจตนารมของนักเขียนแต่ละคนก็เป็นเซ็กส์ที่เดินทางมาพร้อมกับความหมาย มีนัยยะสะท้อนไปทั่วทิศทาง ตั้งแต่เซ็กส์ที่มีนัยยะไปถึงเรื่องการเมือง เรื่องการกดขี่ทางเพศ เรื่องการแสวงหาตัวตนภายใน หรือแม้กระทั่งเซ็กส์ที่สะท้อนไปถึงนัยยะทางสังคม แต่เรื่องเซ็กส์เหล่านี้มักไม่มุ่งเน้นที่จะกระตุ้นทางกามารมณ์ และเรามักไม่ขนานนามวรรณกรรมที่กล่าวถึงเซ็กส์อันยอกย้อนซ่อนเงื่อนเหล่านี้ว่า วรรณกรรมแนวอีโรติก

 

คงไม่ต้องกล่าวถึงสังคมการอ่านแบบไทยที่มักเหมารวมเรื่องเซ็กส์ให้เป็นเรื่องลามก ไร้ศีลธรรม ต้องแอบอ่านหรือต้องกลายเป็นหนังสือต้องห้าม เนื่องจากเราจะมาดูกันว่า “เซ็กส์” ในวรรณกรรม โดยเฉพาะผลงานรวมเรื่องสั้น “คนรักผู้โชคร้าย” ของ อัลแบร์โต โมราเวีย เล่มนี้ จะสื่อไปถึงเจตนารมชนิดใด และเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร ที่เมื่อวรรณกรรมกล่าวถึงเซ็กส์และบทเข้าพระเข้านางแล้ว จะไม่กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามตัวละครในเรื่องได้

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องสั้นของโมราเวีย ขออ้างถึงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ที่ได้มาจากหนังสือ

ลัทธิมาร์กซ์กับจิตวิเคราะห์” (Marxism and Psycho – Analysis) สีชมพู เป็นผุ้แปลและเรียบเรียง

เป็นหนังสือเก่าที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วลี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2524 ที่เขียนไว้ว่า

 

เนื้อหาหลักที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ก็คือ เบื้องหลังความคิดและการกระทำทุกอย่างที่เราคิดว่ารู้สึกตัวนั้น แท้จริงแล้วล้วนแต่เป็นการทำงานของกระบวนการที่เราไม่สามารถจะรู้สึกตัว (Unconscious process) ซึ่งอยู่ในส่วนของจิตใจที่เราเรียกว่า “จิตใจระดับไร้สำนึก” นั่นเอง

 

ฟรอยด์อธิบายคุณลักษณะของจิตไร้สำนึกด้วยว่า จิตใจส่วนนี้เป็นแหล่งรวมของความรู้สึกต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในอดีต แล้วกลับถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะรู้สึกตัวได้เมื่อกาลเวลาผ่านล่วงเลยไป ด้วยเหตุนี้ฟรอยด์จึงให้น้ำหนักอย่างมากต่อกระบวนการของจิตไร้สำนึกว่า กระบวนการนี้มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอม ดัดแปลงและมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำทั้งหลายที่อยู่ในระดับจิตสำนึกของคนเรา (สังเกตว่า ฟรอยด์ ใช้คำว่า “จิตใจระดับไร้สำนึก” โดยเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “จิตใต้สำนึก” (sub-conscious) เพราะมันส่อถึงจิตใจบางส่วนโดยเฉพาะมากเกินไป และแสดงกิจกรรมทางสมองน้อยเกินไป—จากเชิงอรรถบทที่ 1ข้อ 4)

 

เราต่างรู้แล้วว่า ฟรอยด์ได้ให้น้ำหนักเนื้อหาของสัญชาตญาณทางเพศเป็นพิเศษ มากจนกระทั่งพูดได้ว่าทุกการกระทำและทุกพฤติกรรมของเราล้วนมีสาเหตุมาจากสัญชาตญาณทางเพศทั้งสิ้น ขณะที่ฟรอยด์ได้ให้ทฤษฎีไว้เช่นนั้นในฐานะนักวิชาการ อัลแบร์โต โมราเวีย ในฐานะนักเขียน เขาได้ใช้สัญชาตญาณทางเพศเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยแห่งความไม่แยแส ที่แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตทางจิตวิญญาณของมนุษย์ในยุคสมัยของเขา

 

เรื่องสั้นทั้ง 5 เรื่องที่บรรจุในหนังสือเล่มนี้ ต่างแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมทางเพศที่มีจุดมุ่งหมายอย่างเลื่อนลอย เนื่องจากสอดร้อยเข้ากับจุดมุ่งหมายอันไร้แก่นสารของชีวิต และในความไร้แก่นสารบรรดามีเหล่านั้น โมราเวียได้แสดงทัศนะอย่างเข้มข้นผ่านพฤติกรรมทางเพศ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นสภาวะของตัวตนที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

 

ในเรื่องสั้น ชื่อ ฆาตกรรมอำพราง ที่ตัวละครผู้ตกเป็นเหยื่อคือ หญิงวัย 50 เศษผู้ถูกล่อหลอกให้เข้าร่วมในงานเลี้ยงโดยชายหนุ่ม 5 คน ต่างแสร้งเยินยอหล่อนในความสวยงามที่มีอยู่เต็มเปี่ยมแม้วัยจะล่วงเลยมาถึงปูนนี้ ซึ่งตรงข้ามกับความจริงอย่างสิ้นเชิง พวกเขาลวงหล่อนให้มาร่วมดื่มกันลำพังในห้องลับ และพยายามยั่วยวนหล่อนด้วยถ้อยคำลามก สุดท้ายพวกเขาพยายามกระชากชุดราตรีของหล่อนออกเพื่อพวกเขาจะบรรลุถึงความบันเทิงในเกมนี้ หน้า 40 เขียนไว้ว่า

 

สองคนช่วยกันยึดแขนเธอไว้ ขณะที่สามคนที่เหลือช่วยกันดึงชุดเธอลงมาถึงเอง เผยให้เห็นหน้าอกที่เหลืองซีด หย่อนยานเป็นถุง

พระเจ้า หล่อนน่าเกลียดอะไรอย่างนี้” มิเกลลิอุทาน

คนอื่น ๆ กำลังหัวเราะร่าเริง จากการเห็นภาพเปลือยที่ไม่น่าดูและโกรธเกรี้ยว พวกเขากำลังพยายามถอดเสื้อผ้าให้หลุดพ้นจากตะโพกของเธอ

 

ก่อนที่หล่อนจะถูกกระชากเสื้อผ้าออก หล่อนกำลังเคลิบเคลิ้มไปว่า ตัวเองนั้นเป็นสตรีเปี่ยมเสน่ห์มากเสียกระทั่งชายหนุ่มทั้งหลายอดใจไม่ไหว หล่อนออกจะเมาสักหน่อย และเมื่อถูกกระตุ้นถูกยั่วยวนด้วยคารมปลิ้นปล้อน หล่อนยิ่งเชื่อมั่นในสรีระของตัวเอง แต่เมื่อพวกเขากระชากเสื้อผ้าหล่อนออก ร่างเปลือยของหล่อนที่เปิดเผยขึ้นนั้น ได้เปิดพื้นที่ให้หล่อนได้ตระหนักถึงความจริงข้อสำคัญของชีวิต และราวกับได้ตื่นขึ้นอีกครั้ง หล่อนคิดหนีไปจากที่นี่ด้วยความอับอาย

 

การเปลื้องเสื้อผ้าให้เห็นถึงเนื้อสรีระที่โมราเวียเขียนขึ้นในเรื่องสั้นนี้ เป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงการปอกเปลือกตัวตนของตนเอง ที่แท้แล้วมันคือความเปล่ากลวง น่าอับอาย น่าอดสูเสียจนต้องหนีไปให้พ้น รวมถึงกระบวนการของเกมตุ๋นของหนุ่มทั้งห้าคนนั้น ก็เป็นไปเพื่อสนองตอบความบันเทิงชั่วครู่ยาม และไร้แก่นสารอย่างยิ่ง ทั้งนี้ตัวละครที่เป็นชายหนุ่มทั้งห้าก็ตระหนักในข้อนี้ดี

 

ยังมีเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงการเปลื้องผ้าเพื่อนำไปสู่การแสดงให้เห็นถึงสภาวะเปล่ากลวงไร้แก่นสาร นั่นคือ เรื่อง ทางเปลี่ยว

 

ตัวละครหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งให้บังเอิญเกิดรถเสียระหว่างทางในเวลามืดค่ำ ชายหนุ่มผู้คอยหาจังหวะแสดงสัญชาตญาณทางเพศกับหญิงสาวได้ชวนหล่อนให้เดินไปด้วยกัน เพื่อขอน้ำสักถังหนึ่งจากกระท่อมชาวนาที่อยู่ไกลออกไปจากถนน เพื่อมาเติมหม้อน้ำรถจะได้เดินทางต่อ

 

เมื่อหญิงสาวอยู่ในกระท่อมชาวนา ขณะชายหนุ่มต้องเดินไปตักน้ำ หล่อนถูกหญิงชาวนาและลูก ๆ ผู้อดอยาก ยากจนปล้นเอารองเท้า ถุงน่อง เสื้อคลุม พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงการปลดเปลื้องตัวตนของตนเองที่มีแต่ความไร้แก่นสาร โดยหล่อนไม่รู้เลยว่า ชายหนุ่มที่จ้องหาโอกาสจะจูบหล่อนนั้นก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน เขาถูกปล้นเช่นเดียวกับหล่อน ในหน้า 27 เขียนไว้ว่า

 

ทั้งสองตัวสั่นด้วยความหนาว ความสนใจทั้งหมดพุ่งไปที่การหลีกเลี่ยงกรวดอันแหลมคมและโคลนหนา พวกเขาไม่ได้สังเกตว่า ได้มาถึงสุดทางเดินแล้ว

 

จากประโยคย่อหน้าดังกล่าว โมราเวียได้แสดงให้เห็นอีกว่า แม้กระทั่งตัวตนของตนเองได้ถูกปอกเปลือกออกจากสิ้นจนพบแต่ความเปล่ากลวงแล้วนั้น เรายังไม่อาจจะมีแก่นสารขึ้นมาได้ เนื่องจากเราไม่รู้ตัวเลยว่าได้เดินมาสุดทางแล้ว

 

รวมเรื่องสั้น คนรักผู้โชคร้าย เล่มนี้ ต่างก็ได้บรรจุไว้ซึ่งเรื่องราวคล้าย ๆ กับที่ได้กล่าวมาแล้ว และสำหรับผู้อ่านคนใดที่อ่านแล้วทำให้นึกถึง วรรณกรรมแนวเอ็กซิสเตนเชียลิสท์ หรือ คนนอก ของ ชาร์ตร์ขึ้นมา ในส่วนของคำนำสำนักพิมพ์เขียนไว้ว่า โมราเวียเขียนนวนิยายแนวนี้ก่อนที่ชาร์ตร์จะเขียน La Nausee (อ้วก) เป็นเวลา 9 ปี และก่อน คนนอก 13 ปี นอกจากนี้ โมราเวียยังไม่เคยอ่านทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อีกด้วย

 

โมราเวียกล่าวว่า แนวคิดที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของเขาดูเหมือนจะได้แก่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อความเป็นจริง เขาเชื่อว่า “กามารมณ์เป็นรูปแบบความสัมพันธ์กับความเป็นจริงรูปแบบหนึ่งซึ่งเก่าแก่ที่สุดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย”

 

ส่วนสาเหตุที่การอ่านบทเข้าพระเข้านางในวรรณกรรมที่กล่าวถึงเซ็กส์โดยไม่มีรู้สึกว่าถูกกระตุ้นทางเพศนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวแล้ว ยังมีการเลือกใช้ภาษาและน้ำเสียงที่นักเขียนใช้ในการนี้อีกด้วย

โมราเวียเป็นนักเขียนที่เลือกจะเลี่ยงถ้อยคำที่ส่อเจตนายั่วยุกามารมณ์ หรือไม่ก็เน้นย้ำให้เกิดอารมณ์ของความเบื่อหน่ายสะอิดสะเอียนมากกว่าจะเป็นอารมณ์รัญจวน เหมือนกับภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็นฉากร่วมรักกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนดูเป็นเรื่องไร้สาระ เฟ้อเฝือน่าเบื่อหน่าย กระทั่งไม่ก่ออารมณ์ทางเพศต่อผู้ชม

อย่างนี้นับเป็นกลวิธีสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับนักเขียนที่ใช้ “เซ็กส์” เป็นเครื่องมือในการอธิบายทัศนะของนักเขียนผ่านวรรณกรรมของเขา

 

ใครที่สนใจประวัติของอัลแบร์โต โมราเวีย ขอคัดลอกจากหนังสือเล่มนี้มาให้อ่านกัน

 

อัลแบร์โต โมราเวีย เกิดที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1907 เมื่ออายุ 9 ขวบ เขาเป็นวัณโรคที่กระดูกขา ต้องเจ็บป่วยทรมานต่อเนื่องกันนานถึง 9 ปี สาเหตุนี้ทำให้เขาเรียนไม่จบชั้นเตรียมอุดม แต่ก็ได้ใช้เวลาให้หมดไปกับการอ่านหนังสือทุกอย่างที่ขวางหน้า เขาเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ และฝึกฝนเรื่อยมาจนอายุ 16 ปี เว้นว่างไป 2 ปีในช่วงเข้ารับการรักษาตัวในสถานพักฟื้น พอออกมาก็ลงมือเขียนอย่างจริงจัง

 

Gli indifferenti (1929) นวนิยายเรื่องแรกของเขา ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ได้รับคำชมเชยว่ามีความลุ่มลึกทางจิตวิทยาและสามารถเจาะทะลวงมายาภาพทางโลกออกมาได้อย่างหมดจด

 

การเป็นนักต่อต้านเผด็จการในสมัยมุสโสลินีทำให้เขาถูกหมายหัว จำต้องลดความรุนแรงในงานเขียนหรือเลี่ยงไปใช้นามแฝง ในปี 1943 เขาหลับภัยไปอาศัยอยู่กับชาวนาในชนบทหลายเดือน สำนึกทางสังคมและอิทธิพลความคิดลัทธิมาร์กซ์ซึมซ่านเข้าสู่หน้าวรรณกรรมของเขา เขานำเอาตัวละครที่เป็นชาวและผู้ใช้แรงงานเข้ามาไว้ในนวนิยาย La Romana (1949) ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือขายดีในตลาดอังกฤษและอเมริกา (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ นางกลางโรม แปลโดย เลิศ กำแหงฤทธิ์รงค์)

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เขาหันหลังจากลัทธิมาร์กซ์มามองปัญหาสังคมด้วยสายตาของนักวิชาการ ช่วงนี้เขาเขียนเรื่องสั้นดี ๆ ไว้หลายเรื่อง ซึ่งภายหลังนำมารวมไว้ในเล่ม Racconti ramani ฝีมือการเขียนในท่วงทำนองรายงานข่าวและการใช้แก่นเรื่องเดียวกันสร้างตัวละครและสถานการณ์ได้หลากหลาย ทำให้นักวิจารณ์จำนวนมากลงความเห็นพ้องกันว่า ศักยภาพของโมราเวียจะเปล่งพลังสูงสุดออกมาเมื่อเขาเขียนหนังสือภายในกรอบโครงสร้างของเรื่องสั้น

 

โมราเวียเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในอพาร์ทเมนต์ที่มองออกไปเห็นแม่น้ำไทเบอร์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1990 สิริอายุได้ 82 ปี.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓