กนกพงศ์ กับความเข้มข้นที่ล้มเหลว

นายยืนยง 

 

ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...

\<\/--break--\>

ผลงานของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นดั่งภาพอันคมชัดของวรรณกรรมในอุดมคติ เป็นเนื้อหาของชีวิตอันเข้มข้น มีร่องรอยของย่างก้าวที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าอยู่ทุกตัวอักษร ผลงานของเขาบ่งบอกเสมอว่า วรรณกรรมของเขามีความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะก้าวไปให้พ้นจากพรมแดนทางวรรณกรรม จากกรอบเกณฑ์ใดใด จากพันธะที่นักเขียนมีต่อรูปแบบการเล่าเรื่อง จากพันธะที่นักเขียนมีต่อเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบของเรื่อง


ผลงานของเขาปราศจากเทคนิคใดใดที่แสดงให้เห็นว่า
"รูปแบบ" สำคัญกว่า  "เนื้อหา"
ผลงานของเขาปฏิเสธการอ่านอย่างฉาบฉวย
ผลงานของเขาเรียกร้องเวลาอันเงียบสงบ เรียกร้องความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการจากคนอ่าน เสมือนว่าเขาได้จัดสรรห้วงยามแห่งวรรณกรรมชั้นดีไว้สำหรับคนอ่านในอุดมคติของเขา
ผลงานที่เคี่ยวกรำมาอย่างหนัก เคี่ยวเค้นมาจนเต็มพลังของนักเขียน
เป็นภาพในอุดมคติที่ชัดเจนเหลือเกิน ทั้งตัวตนของนักเขียนและผลงานของเขา 

กนกพงศ์กับซัลมาน
ซัลมาน คือ ภาพชัดเจนที่แสดงถึงตัวตนของนักเขียนที่บรรจุอยู่ในตัวละครของเขา
"โลกใบเล็ก ซึ่งใกล้จะพังทลายของตน..."
เมื่อซัลมานเกรี้ยวกราดเอากับเมียและลูกทุกครั้งที่เขารู้สึกถูกรุกราน กนกพงศ์ก็จะยิ่งเคี่ยวเค้นเอากับผลงานของตัวเอง ดั้นด้นสัญจรหาแรงบันดาลใจอันสดใหม่ เพื่อจะก้าวพ้นไปจากเดิม เมื่อเขารับรู้ว่าคนอ่านในอุดมคติของเขาลดจำนวนลง
 

กนกพงศ์ทิ้งซัลมานเอาไว้กับโลกใบเล็กของเขาด้วยมุมมองแบบนักวิชาการเมื่อปัญหากัดกินตัวเองจนเกินจะเยียวยาได้ กนกพงศ์เพียงแต่สะท้อนภาพด้วยสายตาของนักเขียนที่พยายามทำความเข้าใจต่อโลกเท่านั้น เขาไม่เข้าไปก้าวก่าย ไม่เข้าไปกำหนดชะตากรรมของตัวละครเพื่อสร้างโศกนาฏกรรมเรียกน้ำตาจากคนอ่าน เป็นไปได้ไหมว่า กนกพงศ์ไม่ศรัทธาน้ำตาแห่งความเศร้าโศกอีกต่อไปแล้ว วิธีการจบเรื่องของเขาจึงไม่สรุปชะตากรรมของตัวละครให้ชัดเจนลงไป โลกใบเล็กของซัลมานจึงมีตอนจบเรื่องที่ต่างออกไปจาก สะพานขาด

กนกพงศ์กับพื้นที่ของความไร้เหตุผล

ผลงานของกนกพงศ์หลายเรื่อง โดยเฉพาะในยุคแรกมาถึงยุคแผ่นดินอื่น ชะตากรรมของตัวละครของเขาล้วนอยู่ในเงื้อมมือของนักเขียนแทบทั้งสิ้น นักเขียนเป็นดั่งสัพพัญญู ผู้รู้แจ้งแทงตลอด แต่หลังจากนั้น ก้าวย่างในผลงานของเขาได้บ่งบอกชัดเจนว่า เขาไม่อาจแบกรับสภาวะของผู้รู้แจ้งแทงตลอดต่อไปได้อีกแล้ว ดังนั้น ในยุคนี้ตัวละครของเขาจึงมีพื้นที่ของความไร้เหตุผลเพิ่มเข้ามา ตัวนักเขียนจึงไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวละครได้ทั้งหมด และจุดหักเหสำคัญของเรื่องจึงเกี่ยวพันเข้ากับพื้นที่และภาวะของความไร้เหตุผล เป็นสภาวะที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล
(Absurd) ราวกับตัวกนกพงศ์เองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับสภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน

จุดนี้เองที่ฉันเชื่อว่า กนกพงศ์ได้ก้าวข้ามพรมแดนความคร่ำครึของนักเขียนไปได้ (ความคร่ำครึของนักเขียนที่ว่านั้น คือความเชื่อที่ความเข้าใจว่านักเขียนเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดต่อสรรพสิ่งและความเป็นไปของโลก ราวกับนักเขียนได้รับสมญาของพระเจ้า) และเขาได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของวรรณกรรมไทย

กนกพงศ์กับผลงานที่ปรากฎออกมาหลังจากที่เขาได้ตายไปแล้ว

มีแต่นักเขียนที่ตายไปแล้วเท่านั้น ที่จะสร้างสรรค์ผลงานอันทรงพลังได้ คำกล่าวนี้มีนัยยะให้ตีความหลายด้าน ด้านหนึ่งอาจเป็นการปลุกกระตุ้นให้นักเขียนมีพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และเป็นการตั้งเป้าหมายของผลงานเอาไว้จนสูงส่ง ขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นว่า ภายหลังจากที่นักเขียนตายลง ผลงานของเขาเหล่านั้นก็ได้โอกาสทยอยตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ในปริมาณความถี่ที่มากกว่าเมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตเสียอีก กรณีของกนกพงศ์ก็ไม่ต่างกัน

หลังจากกนกพงศ์ตายลง ผลงานของเขาทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์ ต่างทยอยตีพิมพ์ออกมาในนามของสำนักพิมพ์นาคร รวมถึงในนิตยสารเรื่องสั้น "ราหูอมจันทร์" ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยแรงบันดาลใจของกนกพงศ์เอง รวมพลังกับกลุ่มนาคร  ราหูอมจันทร์ Vol.6 (กรกฎาคม-กันยายน 2552) มีเรื่องสั้น "มูลค่า" ของกนกพงศ์ตีพิมพ์อยู่ด้วย

 
 

กนกพงศ์กับมูลค่าทางสังคม

ในเรื่องสั้น "มูลค่า" นี้ นับว่าเป็นเรื่องสั้นที่กนกพงศ์ได้ทอดอารมณ์อ้อยอิ่งอยู่ในสภาวะอารมณ์เพียงหนึ่งเดียว เป็นเรื่องสั้นที่เขาได้โยกย้ายมุมมองออกจากเรื่องสั้นอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด 

กนกพงศ์มีมุมมองเฉพาะตัวที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวที่ฝังลึกอยู่ในสังคม ผ่านสายตาที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี อย่างคนที่พยายามจะเข้าใจโลกทุกแง่มุม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานทางความคิดที่นักเขียนต้องเคี่ยวกรำอย่างหนัก ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการลงมือเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกนกพงศ์

เพราะเขามีความปรารถนาอย่างไม่ลดราวาศอก ที่จะเขียนเรื่องสั้นให้ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุด ครบถ้วนทุกใจ เพื่อขับเน้นประเด็นของเนื้อหาให้แจ่มชัดขึ้น โดยที่ไม่ด่วนสรุปให้เป็นประเด็นของแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ฉะนั้น หลายครั้งหลายคนที่เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ พวกเขามักจะพบว่า ข้อมูลจากหลายแง่มุมได้ทบท่วมเข้ามา เพื่อนำพาเราไปสู่ใจกลางของประเด็นอันใหญ่หลวงที่กนกพงศ์นำเสนอนั้น ขณะเดียวกัน พวกเขากลับรู้สึกราวกับถูกเทศนาจากศาสดาแห่งโลกวรรณกรรม เป็นความรู้สึกราวกับถูกยัดเยียดให้มองโลกด้วยสายตาคนอื่น นั่นคือสายตาของกนกพงศ์นั่นเอง

หากจะกล่าวว่า กระบวนการสื่อสารเช่นนี้ เป็นการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์คงไม่ผิดนัก
เนื่องจากมันไม่ได้ก่อให้เกิดกระบวนการ "คิดต่อ" มากกว่า "คิดตาม"
ถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมต้องถือว่า กนกพงศ์ล้มเหลวในแง่ของการสื่อสาร
 

สภาวะเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานอันเคร่งครัดของกนกพงศ์เอง...เป็นไปได้ไหมก็ไม่อาจทราบได้ เพียงแต่คาดเดาเท่านั้น เนื่องจากฉันไม่รู้จักกับกนกพงศ์เป็นการส่วนตัว และฉันคิดว่าจุดนี้ต่างหากที่กนกพงศ์พยายามจะมองไม่เห็น

และเป็นไปได้ไหมว่า คนรอบข้างเขาเองต่างก็มองไม่เห็นว่าจุดนี้เป็นจุดที่จะหักเหก้าวย่างของเขาได้ชัดเจนที่สุด รวมไปถึงมีส่วนให้ผลงานของกนกพงศ์สลัดคราบของสัพพัญญูไปสู่พรมแดนใหม่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และเต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างใหม่

ในจุดนั้นเอง สภาวะของการยัดเยียดก็จะหมดไป และผลงานของเขาจะถูกอ่านอย่างกว้างขวางมากขึ้น  
เหมือนกับเรื่องสั้น "มูลค่า" ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นนี้ (แม้จะเป็นเรื่องแต่ง) ฉันอ่านด้วยความรู้สึกเศร้าลึกและเต็มตื้นไปด้วยความเสียดาย เนื่องจากหากเรื่องสั้น "มูลค่า" เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาก่อนที่เขาจะตาย ฉันเชื่อว่าบางทีกนกพงศ์อาจจะยังมีชีวิตอยู่มาถึงทุกวันนี้ และผลงานของเขาจะสามารถก้าวพ้นออกมาจากพรมแดนของความเป็นกนกพงศ์อย่างแท้จริง

มูลค่า เป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึง "มูลค่า" ของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเพียงส่วนเสี้ยวเดียว การทำตัวให้เป็นบุคคลสำคัญ กับการทำตัวให้เป็นบุคคลไร้ความสำคัญ นั้น ถือเป็นกระบวนการสร้างความเหนือชั้นให้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้อยู่เหนือกว่าสิ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในโลกธุรกิจ

ในเรื่องนี้ กนกพงศ์ได้แสดงให้เห็นถึงการแปรสภาพของอุดมคติเรื่องมูลค่ากับคุณค่า การย้ายมูลค่าออกจากสิ่งที่มีคุณค่า หรือเรียกว่า การย้ายอุดมคติเรื่องของคุณค่า

โดยเปลี่ยนจาก
สิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันได้มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง หาได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของมูลค่า
มาเป็น
สิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันมีมูลค่า โดยมูลค่านั้นถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ

ยกตัวอย่าง ภาพปกหนังสือรวมเรื่องสั้นของ "ผม" ที่เมื่อก่อนเคยว่าไหว้วานเพื่อนผู้มีฝีมือด้านศิลปะออกแบบภาพปกให้ ในราคาไม่เกินห้าพันบาท แต่เมื่อ "ผม" ได้ตัดสินใจว่าจ้างให้ "เขา" นักเขียนหนุ่มเจ้าของรางวัลวรรณกรรมระดับประเทศที่หนุ่มที่สุด เป็นลูกชายเจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย เป็นคนที่มีชื่อเสียงกว้างขวางในวงการบันเทิง "เขา" ตกลงรับออกแบบปกหนังสือให้ผม ในราคาหลักหมื่นบาท ซึ่งผลงานที่เขาส่งมาให้นั้น เป็นเพียงวงกลมง่าย ๆ กับเส้นสายไม่กี่เส้น ผิดกันลิบลับกับผลงานศิลปะของเพื่อนผม ที่ใช้สีสันและสายเส้นอย่างงดงาม 

แต่ในเมื่อ "เขา" คนนั้น เป็นบุคคลที่มีมูลค่าทางสังคม ทุกสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป มันช่างดูน่าชื่นชมไปทั้งหมด แม้แต่เสียงที่เขาใช้คุยโทรศัพท์ กติกาการรับเงินค่าจ้าง ท่วงท่ากิริยาในร้านน้ำชาที่เขาและผมได้พบกัน มันช่างสง่างามอย่างล้นเหลือ นอกจากนั้น ผมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กันเขา ยังรู้สึกหัวใจพองคับอก เมื่อได้รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว และเมื่อได้นึกถึงห้วงยามของการพบปะครั้งนั้น

"ดูมันจะเป็นมูลค่าที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง" เหมือนกนกพงศ์จะมีน้ำเสียงเยาะหยันอยู่ในที แต่เป็นน้ำเสียงแบบทีเล่นทีจริงมากกว่าจะจริงจัง นอกเสียจากคนอ่านจะรู้สึกต่อไปได้เอง

นอกจากนี้เรื่องสั้น "เด็กหญิงทั้งสาม" ของกนกพงศ์ที่ลงพิมพ์ในราหูอมจันทร์ Vol.7 (มกราคม-เมษายน 2553) ยังเป็นเรื่องสั้นที่ส่งสัญญาณบอกว่า กนกพงศ์ได้ก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งจุดหนี่งในชีวิตนักเขียนของเขา เนื่องจากเรื่องสั้นนี้ ได้กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายอุดมคติของคนที่ต่อต้านวัตถุนิยมออกมาด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรมากกว่าจะเยาะหยัน ดูราวกับเขาเองสามารถเปิดใจยอมรับสิ่งที่เป็นปราการอันหนึ่งในสังคมได้

 


 

แม้ว่าเรื่องสั้น "เด็กหญิงทั้งสาม" นี้จะเขียนไม่จบ และฉันก็ไม่อาจจะคาดเดาตอนจบเรื่องได้ แต่ฉันก็ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เนื่องจากมันเป็นเรื่องสั้นที่ได้ก้าวพ้นไปจากพรมแดนของความล้มเหลวในตัวตนของเขา

มูลค่าที่เขาสร้างขึ้นมันเป็นสิ่งเดียวกับคณค่าที่เขาเข้าใจ. 

 

 

 

ความเห็น

Submitted by นายนอนยัน on

นายยืนยง (รกและพงอ้อกอแขม) กับความล้มเหลวที่ (แสน) เข้มข้น 55555

Submitted by นายนอนยัน on

นายยืนยง (รกและพงอ้อกอแขม) กับความล้มเหลวที่ (แสน) เข้มข้น 55555

Submitted by bb on

นายยืนยงครับ ไม่มีอะไรทำร้ายมนูษย์ได้ยาวนาน เท่ากับการที่เขาถูกสังคมยกย่องเขาเกินความเป็นจริง และเขาเชื่อว่ามันเป็นความจริง ซึ่งมีอยู่มากมาย ที่ไม่รู้ตัว และเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้แจ้งในสรรพสิ่ง โดยไม่มีใครไปกล้าเข้าไปสะกิด ชอบบทวิเคราะห์ที่ทำให้คนวิเคราะห์ถูกเกลียดบทนี้จังเลย

Submitted by ยืนยง on

ขอบคุณ คุณ bb นะ คุณกล่าวได้ถูกใจเรามาก

Submitted by นายยืนงง on

ยืนงงต่อไปแค่นั้นเอง... ไม่เห็นจะน่าแปลกใจตรงไหน เหอๆๆๆๆๆๆ

Submitted by mama mia on

ขอเปลี่ยน
คิดถึงกนกพงศ์ คิดถึงท่าทีต่อต้านศาสนาของเขา
วันที่ 9 กพ ครบรอบวันเกิด
วันที่ 13 กพ ครบรอบวันตาย
วันที่ไปเผาวิญญาณ กระสับกระส่าย จนเราสัมผัสได้
เค้า ตื่นตกใจกับสภาพ โอปาติกะ ที่เหลือแต่ นาม(วิญญาณ) ไร้ รูป(ร่ายกาย)
วิญญาณ เค้าเข้าร่างผู้หญิงคนหนึ่ง แสดงท่าทีตื่นตระหนกกับสภวะใหม่
ฉันได้แต่ แผ่เมตตา
ครบรอบวันตาย มีแต่คนจัดงานรำลึกทางโลก
จะมีใครทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง
ฤา วงการน้ำหมึก ไม่สนใจชีวิตหลังความตาย
ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เขาบ้าง นักเขียนเอย
13 กพ 2553 ฉันทำบุญไปให้แล้วนะ กนกพงศ์

Submitted by mama mia on

ขอเปลี่ยนประเด็น นิดนึงค่ะ (พิมพ์ตก เหอๆ)

Submitted by จรดล on

ผมอ่านบทวิเคราะห์บทนี้ด้วยงงๆนะ
เพราะท่าทีในเนื้อหาที่นายยืนยงวิจารณ์ กับท่าทีของการวิจารณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
คือ ไม่แจ่มชัด ไม่รู้อย่างไรกันแน่
อ่านจนจบก็ไม่รู้ว่าวิจารณ์งานกนกพงศ์ว่าดีหรือไม่ดีกันแน่ในภาพรวม
อยากให้การวิจารณ์ของนายยืนยงคลี่คลายไปกว่านี้สักนิด แจ่มชัดขึ้นอีกสักหน่อย
ตกลงกนกพงศ์เขียนงานดีขึ้นไหม...หรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเข้มข้น
ถ้าจะให้ผมเดา คิดว่าน่าจะเป็นอย่างแรก

พุทธธรรมของกวีหลับลื่น

นายยืนยง
 

พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง

กวีกับอุดมคติ

นายยืนยง


บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง
กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์

ปราการของเวลา

ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา

                 Ageless Body, Timeless Mind

เขียน : โชปรา ดีปัก

แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร

พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551

 

แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว

เล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่เขียนโดยนายแพทย์หนุ่มชาวอินเดียนาม โชปรา ดีปัก ผู้ยืนยันว่า

มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี

กนกพงศ์ กับความเข้มข้นที่ล้มเหลว

นายยืนยง 

 

ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...