Skip to main content

 

นายยืนยง

ชื่อหนังสือ          :           ฉันกับแมว
ผู้แต่ง                :           เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
ประเภท              :           ความเรียงเชิงปรัชญา
จัดพิมพ์โดย        :           สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2553


หากเราเข้าใจชีวิตอย่างงมงายเสียแล้ว พรมแดนแห่งความเข้าใจผิดย่อมปรากฏกายขึ้น

นี่เป็นประโยคหนึ่งที่ฉันรู้สึกกับมันอย่างเข้มข้น จนบางครั้งดูเหมือนจะรุนแรง และมักจะนำมาซึ่งความงมงายชนิดเดียวกัน แต่มันไม่สำคัญอะไรนักหรอก ถ้าหากว่า ฉันจะกลับมา
 
“สวนหนังสือ” โดย นายยืนยง ได้กลับมายืนอยู่ข้าง “ประชาไท” อีกครั้ง หลังจากแอบอยู่ในเงาอันซีดเซียวของตู้หนังสือซึ่งประตูกระจกของมันเหลืออยู่เพียงบานเดียว นับว่าเป็นน้ำใจอันชวนให้เบิกบานเสียนี่กระไร สำหรับคนอ่านหนังสืออย่างฉัน
 
ขอขอบคุณทีมงานประชาไทที่เอื้อเฟื้อพื้นที่สวนแห่งนี้เสมอมา
 
คราวนี้ ขอเบิกอารมณ์ขุ่น ๆ ของกระแสข่าว ด้วยหนังสือเล่มน้อย ที่มีนามว่า ฉันกับแมว
ความเรียงรสนุ่มนวลของ กวี เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
 
กวีกับแมว นับว่าเป็นคู่ที่ถูกโฉลกกันดีอยู่ แต่เรวัตร์เลือกให้นิยามสัมพันธภาพระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสอง ซึ่งต่างก็เลี้ยงลูกด้วยนมว่า ฉันทะแห่งชีวิต
 
“ดอกไร่” เป็นแมวที่ปรากฏตัวขึ้นใน “กวี” ราวกับเป็นเทวทูตลึกลับ จะเป็นเทวทูตหรือปีศาจ ก็ไม่ทราบ แต่ดอกไร่ก็ได้สำแดงให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ชวนระนึกคิดของกวีกับรูปโฉมโนมพรรณของแมว ๆ ทั้งหลาย
มันคล้ายและเครือ ๆ กันอยู่ จนบางครั้ง เรายังไม่อาจแยกแยะได้ว่า ใครเป็นใคร
 
ลองดูซิว่า เจ้าดอกไร่ แมวของกวีตัวนี้ จะเหมือนกับแมว ๆ ที่บ้านของคุณหรือเปล่า
 
ดอกไร่ เป็นลูกแมวไทยพื้นถิ่น เพศผู้ ตัวลายสีส้มสลับขาว มันพลัดหลงมาสู่กระท่อมสวนในยามค่ำคืน
ซึ่งก็คือแมวธรรมดาทั่วไป แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่กลวิธีการเล่าของเรวัตร์ต่างหาก
 
ความเรียงชุด “ฉันกับแมว” มีวิธีการเล่าแบบพิเศษ คือ “ฉัน” เล่าเรื่องราวต่าง ๆ นานาให้ “ดอกไร่” ตัวละครตัวหนึ่งฟัง ขณะเดียวกัน เราผู้อ่านก็ได้ “ฟัง” ไปพร้อมกับสังเกตสังกาปฏิกิริยาของเจ้าดอกไร่ไปพร้อมกันด้วย (ว่าไปแล้ว ดอกไร่นับเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนาที่ดี) ต่างจากวิธีการที่ผู้เขียนเล่าให้ผู้อ่าน “ฟัง” โดยตรง เนื่องจากตัวละคร (ดอกไร่) ที่แทรกเข้ามาคั่นกลางระหว่างผู้อ่านนั้น ทำให้ผู้อ่านเห็นสัมพันธภาพชุดหนึ่งระหว่างผู้เขียนกับดอกไร่ ก่อเป็นความกระทบใจอย่างใหม่ที่แปลกออกไป
 
ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในกลวิธีการเล่าแบบนี้ คือ นัยยะที่ชวนให้ตีความ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมผูกโยงอยู่กับเรื่องและทำให้เกิดดุลภาพอันงดงาม นัยยะที่ว่านี้ คือ สัมพันธภาพระหว่าง “ฉัน” กับ “ดอกไร่” นั่นเอง
 
ยกตัวอย่างในตอน “ดาวรุ่ง” หน้า 23
ดูสิ, ดอกไร่- เมื่อเรามองผ่านเหล่าเรือนยอดของหมู่ไม้ใหญ่น้อยออกไป มองผ่านออกไปจากโอบอ้อมของอรุณรุ่งสีน้ำเงิน ขณะเข็มนาฬิกาฝาผนังบอกเวลาตีสี่ ฯลฯ
 
ราวกับมีใครสักคนเฝ้ามองดูฉันอยู่ ด้วยดวงตาของดวงใจการุณย์ เฝ้าปลอบประโลมด้วยเสียงเพลงอันเปล่าเปลือย เฉกเช่นมือหยาบกร้านของหญิงชาวนาผู้หนึ่ง ผู้เฝ้าคอยลูบไล้เนื้อตัวของบุตรธิดาผู้ป่วยไข้ ก่อนที่ประกายอันเจิดจรัสที่สุดของแววดวงตาจะหยาดหยดลง สู่ห้วงดวงใจอันมืดมนดวงหนึ่ง จนกระทั่งมันได้แปรเปลี่ยนเป็นใบไม้สีทองใบหนึ่ง และเป็นสีทองของความลับตลอดไป
 
จู่ ๆ เจ้าดอกไร่ก็ร้องรับเสียงเพรียกอันมีกังวานอ่อนโยนพลิ้วกระเพื่อมเหนือสายธารสีน้ำเงินของอรุณรุ่ง ที่หยาดหยดแล้วแผ่ขยายเป็นประกายสีทองสุกสกาว อยู่เหนือห้วงธารแห่งจิตวิญญาณ เสียงร้องของเจ้าดอกไร่ช่างเก่าแก่โบราณ ราวกับดวงใจของฉันในขณะนี้.
 
เป็นการยกตัวอย่างบทตอนที่สะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่าง “ฉัน” กับ “ดอกไร่” ที่แสดงถึงการมีตัวตนอีกหนึ่งที่สถิตอยู่ในเรา กล่าวคือ แท้จริงแล้ว เรวัตร์พยายามสื่อนัยยะออกมาว่า ดอกไร่ก็คือตัวตนหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในตัวตนของเขานั่นเอง
 
ตอน รกราก หน้า 28
ฉันไม่รู้หรอกว่าเจ้าดอกไร่กำลังคิดถึงสิ่งใดอยู่ มันนอนหมอบนิ่งอยู่ที่เดิม ราวกับดำรงอยู่ตรงนั้นมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ครุ่นคิดและใฝ่ฝันอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ความใฝ่ฝันคือผองผึ้งที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างรวงรัง โบกบินและหอมหวาน
 
เมื่ออายุมากขึ้น ฉันมักคิดถึงบ้านเกิด ดอกไร่- แกคิดอย่างฉันคิดไหมนะ ว่าความรักและความผูกพันนั้นทำให้เหล่ามนุษย์ยังคงมีราก.
 
ตอน บางสิ่งบางอย่างในความหลงลืม หน้า 33
ดอกไร่- ฉันรู้สึกว่าเสียงกู่ขานของกาเหว่าในฤดูหนาวนั้นเศร้าสร้อยมากกว่าฤดูอื่น ๆ นะ  
 
ในยามค่ำคืนของวัยเยาว์ ฉันแทบไม่เคยแบ่งปันอ้อมกอดของแม่ให้กับพวกพี่ ๆ จิตใจของฉันช่างคับแคบ ครั้นเมื่อเข้าโรงเรียน ฉันไม่เคยถูกครูสักคนโอบกอด ...และในวัยหนุ่มในความเมามาย หลาย ๆ ครั้งเมื่อตื่นขึ้นในยามเช้าในซ่องสกปรก ฉันพบตนเองกำลังโอบกอดหญิงสาวแปลกหน้า แต่โอบกอดนั้นกลับอบอุ่นและปลอบประโลมชีวิตที่โดดเดี่ยวและสับสนของกันและกัน
 
และแม่ลูกพลัดถิ่นคู่นั้น
 
ทำให้ฉันปรารถนาอยากให้โอบกอดใครสักคน และถูกโอบกอดจากใครสักคน ให้หัวใจสองดวงได้แนบชิดกัน ได้กระซิบจำนรรจาต่อกัน
 
เหมือนที่ฉันกำลังกอดแกอยู่ในขณะนี้ไงล่ะ ดอกไร่-.
 
“ฉันกับแมว” พาเราสัญจรไปบนหนทางแห่งอารยธรรมมนุษย์ ผ่านเสียงเล่าขานที่ “ฉัน” รำพึงรำพันกับ “ดอกไร่” เพื่อตั้งคำถาม เปรียบเปรย ชวนให้ครุ่นคิด อย่างไรก็ตาม การที่เรวัตร์เลือกใช้กลวิธีการเล่าดังกล่าวนั้น อาจดูไร้น้ำหนัก แต่หากเราพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน และรวมเอาตัวละคร “ดอกไร่” ที่เปรียบดั่งตัวตนอันหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัว จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า การออกจากตัวตนหนึ่ง ไปสู่อีกตัวตนหนึ่งที่ล้วนก็เป็นตัวตนของเราเองทั้งสิ้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ภายในเรามีตัวตนอื่น ๆ แฝงอยู่มากกว่าตัวตนเดียวล้วน ๆ คล้ายกับในเรานั้นมีใบหน้าของคนอื่นและสิ่งอื่นซุกซ่อนอยู่ด้วย ต่างแต่ว่าเราจะรับรู้การมีอยู่ของมันหรือไม่เท่านั้น
 
เทียบเคียงกับกรณีนี้ เคยอ่านเรื่องราวที่กล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างชายหนุ่มกับม้าคู่หู จากนิยายเรื่อง
เปโดร ปาราโม ผลงานของ ฮวน รุลโฟ ที่เมื่อเจ้าของตายไป เจ้าม้าคู่หูก็แสดงอาการเหมือนคนคลุ้มคลั่งราวกับมันก็รับรู้ความตายของผู้เป็นนาย และมันก็ได้แสดงกิริยาท่าทางที่ดูคล้ายคลึงกับผู้เป็นนายด้วย
ในกรณีนี้ “ฉัน” ไม่ได้ตายไปไหน หากแต่ยังมีชีวิตอยู่ สนทนาวิสาสะกับโลกอยู่
 
ที่ฉันกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำในการหยิบเอาประเด็นของ ความเป็นตัวตนที่ซ้อนทับกันอยู่ของ “ฉัน” และ “ดอกไร่” นั้น อาจเป็นความเลื่อนลอยและเป็นการตั้งข้อสังเกตในสิ่งที่เล็กน้อยเกินกว่าจุดใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ได้ให้ไว้ หากแต่ถ้าเราอ่านจนจบเล่ม จะพบว่า เรวัตร์ ได้ให้ความสำคัญกับ “ตัวตน” อยู่ไม่น้อย อย่างในบท ในดวงตา ที่ฉันกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด –แม่มองไม่เห็นฉัน- ขณะนกเขาคูขันเศร้าสร้อยมาจากพุ่มไม้ใกล้ ๆ ฉันรู้สึกสะเทือนใจล้ำลึก
 
แมวหนุ่มชื่อ “สีทอง” นั่งจับบทครุ่นคิดอยู่บนขั้นบันไดเรือน ในฤดูมรสุมอันแปรปรวนหลากไหล บ้านเกิดแทบไร้ความหมายไปสิ้นเพราะอดีตอันทอดยาว ปัจจุบันและวันพรุ่ง ล้วนหลากเข้าหลอกหลอนด้วยตัวตนอันมหึมาของฉัน ในขณะที่แมวหนุ่มตัวนั้นกลับไม่รู้สึกยินดียินร้ายแม้แต่น้อย กับการมาถึงของชายวัยกลางคน-คนหนึ่ง
 
ครั้นเมื่อเขาได้เฝ้ามองดูแมวหนุ่มตัวนั้นนอนเล่นกับหางของตัวเอง เขาก็พลันตระหนักขึ้นได้ว่า ถ้อยคำทั้งปวงเป็นเพียงความว่างเปล่า
 
ดอกไร่- ดวงตาของฉันยังคงมองเห็น.

อย่างที่บอกไปแล้ว ประเด็นเรื่องตัวตนที่ซ้อนกันอยู่นั้น เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หากเพียงว่า เราจะอ่านไปถึงอารมณ์ที่เรวัตร์ได้สื่อผ่านตัวอักษรออกมา ซึ่งทำให้เรารับรู้และสัมผัสไปพร้อมกันว่า แม้จะตระหนักว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เพียงไร แต่หากเราเหล่ามนุษย์ยังรู้สึกว่าตนเองก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันแล้ว ดุลยภาพที่เป็นดั่งความงดงามของชีวิต คงเหลือเพียงเถ้าธุลี


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…