ในตัวในตนของคนกับแมว

 

นายยืนยง

ชื่อหนังสือ          :           ฉันกับแมว
ผู้แต่ง                :           เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
ประเภท              :           ความเรียงเชิงปรัชญา
จัดพิมพ์โดย        :           สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2553

หากเราเข้าใจชีวิตอย่างงมงายเสียแล้ว พรมแดนแห่งความเข้าใจผิดย่อมปรากฏกายขึ้น

นี่เป็นประโยคหนึ่งที่ฉันรู้สึกกับมันอย่างเข้มข้น จนบางครั้งดูเหมือนจะรุนแรง และมักจะนำมาซึ่งความงมงายชนิดเดียวกัน แต่มันไม่สำคัญอะไรนักหรอก ถ้าหากว่า ฉันจะกลับมา
 
“สวนหนังสือ” โดย นายยืนยง ได้กลับมายืนอยู่ข้าง “ประชาไท” อีกครั้ง หลังจากแอบอยู่ในเงาอันซีดเซียวของตู้หนังสือซึ่งประตูกระจกของมันเหลืออยู่เพียงบานเดียว นับว่าเป็นน้ำใจอันชวนให้เบิกบานเสียนี่กระไร สำหรับคนอ่านหนังสืออย่างฉัน
 
ขอขอบคุณทีมงานประชาไทที่เอื้อเฟื้อพื้นที่สวนแห่งนี้เสมอมา
 
คราวนี้ ขอเบิกอารมณ์ขุ่น ๆ ของกระแสข่าว ด้วยหนังสือเล่มน้อย ที่มีนามว่า ฉันกับแมว
ความเรียงรสนุ่มนวลของ กวี เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
 
กวีกับแมว นับว่าเป็นคู่ที่ถูกโฉลกกันดีอยู่ แต่เรวัตร์เลือกให้นิยามสัมพันธภาพระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสอง ซึ่งต่างก็เลี้ยงลูกด้วยนมว่า ฉันทะแห่งชีวิต
 
“ดอกไร่” เป็นแมวที่ปรากฏตัวขึ้นใน “กวี” ราวกับเป็นเทวทูตลึกลับ จะเป็นเทวทูตหรือปีศาจ ก็ไม่ทราบ แต่ดอกไร่ก็ได้สำแดงให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ชวนระนึกคิดของกวีกับรูปโฉมโนมพรรณของแมว ๆ ทั้งหลาย
มันคล้ายและเครือ ๆ กันอยู่ จนบางครั้ง เรายังไม่อาจแยกแยะได้ว่า ใครเป็นใคร
 
ลองดูซิว่า เจ้าดอกไร่ แมวของกวีตัวนี้ จะเหมือนกับแมว ๆ ที่บ้านของคุณหรือเปล่า
 
ดอกไร่ เป็นลูกแมวไทยพื้นถิ่น เพศผู้ ตัวลายสีส้มสลับขาว มันพลัดหลงมาสู่กระท่อมสวนในยามค่ำคืน
ซึ่งก็คือแมวธรรมดาทั่วไป แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่กลวิธีการเล่าของเรวัตร์ต่างหาก
 
ความเรียงชุด “ฉันกับแมว” มีวิธีการเล่าแบบพิเศษ คือ “ฉัน” เล่าเรื่องราวต่าง ๆ นานาให้ “ดอกไร่” ตัวละครตัวหนึ่งฟัง ขณะเดียวกัน เราผู้อ่านก็ได้ “ฟัง” ไปพร้อมกับสังเกตสังกาปฏิกิริยาของเจ้าดอกไร่ไปพร้อมกันด้วย (ว่าไปแล้ว ดอกไร่นับเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนาที่ดี) ต่างจากวิธีการที่ผู้เขียนเล่าให้ผู้อ่าน “ฟัง” โดยตรง เนื่องจากตัวละคร (ดอกไร่) ที่แทรกเข้ามาคั่นกลางระหว่างผู้อ่านนั้น ทำให้ผู้อ่านเห็นสัมพันธภาพชุดหนึ่งระหว่างผู้เขียนกับดอกไร่ ก่อเป็นความกระทบใจอย่างใหม่ที่แปลกออกไป
 
ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในกลวิธีการเล่าแบบนี้ คือ นัยยะที่ชวนให้ตีความ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมผูกโยงอยู่กับเรื่องและทำให้เกิดดุลภาพอันงดงาม นัยยะที่ว่านี้ คือ สัมพันธภาพระหว่าง “ฉัน” กับ “ดอกไร่” นั่นเอง
 
ยกตัวอย่างในตอน “ดาวรุ่ง” หน้า 23
ดูสิ, ดอกไร่- เมื่อเรามองผ่านเหล่าเรือนยอดของหมู่ไม้ใหญ่น้อยออกไป มองผ่านออกไปจากโอบอ้อมของอรุณรุ่งสีน้ำเงิน ขณะเข็มนาฬิกาฝาผนังบอกเวลาตีสี่ ฯลฯ
 
ราวกับมีใครสักคนเฝ้ามองดูฉันอยู่ ด้วยดวงตาของดวงใจการุณย์ เฝ้าปลอบประโลมด้วยเสียงเพลงอันเปล่าเปลือย เฉกเช่นมือหยาบกร้านของหญิงชาวนาผู้หนึ่ง ผู้เฝ้าคอยลูบไล้เนื้อตัวของบุตรธิดาผู้ป่วยไข้ ก่อนที่ประกายอันเจิดจรัสที่สุดของแววดวงตาจะหยาดหยดลง สู่ห้วงดวงใจอันมืดมนดวงหนึ่ง จนกระทั่งมันได้แปรเปลี่ยนเป็นใบไม้สีทองใบหนึ่ง และเป็นสีทองของความลับตลอดไป
 
จู่ ๆ เจ้าดอกไร่ก็ร้องรับเสียงเพรียกอันมีกังวานอ่อนโยนพลิ้วกระเพื่อมเหนือสายธารสีน้ำเงินของอรุณรุ่ง ที่หยาดหยดแล้วแผ่ขยายเป็นประกายสีทองสุกสกาว อยู่เหนือห้วงธารแห่งจิตวิญญาณ เสียงร้องของเจ้าดอกไร่ช่างเก่าแก่โบราณ ราวกับดวงใจของฉันในขณะนี้.
 
เป็นการยกตัวอย่างบทตอนที่สะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่าง “ฉัน” กับ “ดอกไร่” ที่แสดงถึงการมีตัวตนอีกหนึ่งที่สถิตอยู่ในเรา กล่าวคือ แท้จริงแล้ว เรวัตร์พยายามสื่อนัยยะออกมาว่า ดอกไร่ก็คือตัวตนหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในตัวตนของเขานั่นเอง
 
ตอน รกราก หน้า 28
ฉันไม่รู้หรอกว่าเจ้าดอกไร่กำลังคิดถึงสิ่งใดอยู่ มันนอนหมอบนิ่งอยู่ที่เดิม ราวกับดำรงอยู่ตรงนั้นมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ครุ่นคิดและใฝ่ฝันอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ความใฝ่ฝันคือผองผึ้งที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างรวงรัง โบกบินและหอมหวาน
 
เมื่ออายุมากขึ้น ฉันมักคิดถึงบ้านเกิด ดอกไร่- แกคิดอย่างฉันคิดไหมนะ ว่าความรักและความผูกพันนั้นทำให้เหล่ามนุษย์ยังคงมีราก.
 
ตอน บางสิ่งบางอย่างในความหลงลืม หน้า 33
ดอกไร่- ฉันรู้สึกว่าเสียงกู่ขานของกาเหว่าในฤดูหนาวนั้นเศร้าสร้อยมากกว่าฤดูอื่น ๆ นะ  
 
ในยามค่ำคืนของวัยเยาว์ ฉันแทบไม่เคยแบ่งปันอ้อมกอดของแม่ให้กับพวกพี่ ๆ จิตใจของฉันช่างคับแคบ ครั้นเมื่อเข้าโรงเรียน ฉันไม่เคยถูกครูสักคนโอบกอด ...และในวัยหนุ่มในความเมามาย หลาย ๆ ครั้งเมื่อตื่นขึ้นในยามเช้าในซ่องสกปรก ฉันพบตนเองกำลังโอบกอดหญิงสาวแปลกหน้า แต่โอบกอดนั้นกลับอบอุ่นและปลอบประโลมชีวิตที่โดดเดี่ยวและสับสนของกันและกัน
 
และแม่ลูกพลัดถิ่นคู่นั้น
 
ทำให้ฉันปรารถนาอยากให้โอบกอดใครสักคน และถูกโอบกอดจากใครสักคน ให้หัวใจสองดวงได้แนบชิดกัน ได้กระซิบจำนรรจาต่อกัน
 
เหมือนที่ฉันกำลังกอดแกอยู่ในขณะนี้ไงล่ะ ดอกไร่-.
 
“ฉันกับแมว” พาเราสัญจรไปบนหนทางแห่งอารยธรรมมนุษย์ ผ่านเสียงเล่าขานที่ “ฉัน” รำพึงรำพันกับ “ดอกไร่” เพื่อตั้งคำถาม เปรียบเปรย ชวนให้ครุ่นคิด อย่างไรก็ตาม การที่เรวัตร์เลือกใช้กลวิธีการเล่าดังกล่าวนั้น อาจดูไร้น้ำหนัก แต่หากเราพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน และรวมเอาตัวละคร “ดอกไร่” ที่เปรียบดั่งตัวตนอันหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัว จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า การออกจากตัวตนหนึ่ง ไปสู่อีกตัวตนหนึ่งที่ล้วนก็เป็นตัวตนของเราเองทั้งสิ้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ภายในเรามีตัวตนอื่น ๆ แฝงอยู่มากกว่าตัวตนเดียวล้วน ๆ คล้ายกับในเรานั้นมีใบหน้าของคนอื่นและสิ่งอื่นซุกซ่อนอยู่ด้วย ต่างแต่ว่าเราจะรับรู้การมีอยู่ของมันหรือไม่เท่านั้น
 
เทียบเคียงกับกรณีนี้ เคยอ่านเรื่องราวที่กล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างชายหนุ่มกับม้าคู่หู จากนิยายเรื่อง
เปโดร ปาราโม ผลงานของ ฮวน รุลโฟ ที่เมื่อเจ้าของตายไป เจ้าม้าคู่หูก็แสดงอาการเหมือนคนคลุ้มคลั่งราวกับมันก็รับรู้ความตายของผู้เป็นนาย และมันก็ได้แสดงกิริยาท่าทางที่ดูคล้ายคลึงกับผู้เป็นนายด้วย
ในกรณีนี้ “ฉัน” ไม่ได้ตายไปไหน หากแต่ยังมีชีวิตอยู่ สนทนาวิสาสะกับโลกอยู่
 
ที่ฉันกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำในการหยิบเอาประเด็นของ ความเป็นตัวตนที่ซ้อนทับกันอยู่ของ “ฉัน” และ “ดอกไร่” นั้น อาจเป็นความเลื่อนลอยและเป็นการตั้งข้อสังเกตในสิ่งที่เล็กน้อยเกินกว่าจุดใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ได้ให้ไว้ หากแต่ถ้าเราอ่านจนจบเล่ม จะพบว่า เรวัตร์ ได้ให้ความสำคัญกับ “ตัวตน” อยู่ไม่น้อย อย่างในบท ในดวงตา ที่ฉันกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด –แม่มองไม่เห็นฉัน- ขณะนกเขาคูขันเศร้าสร้อยมาจากพุ่มไม้ใกล้ ๆ ฉันรู้สึกสะเทือนใจล้ำลึก
 
แมวหนุ่มชื่อ “สีทอง” นั่งจับบทครุ่นคิดอยู่บนขั้นบันไดเรือน ในฤดูมรสุมอันแปรปรวนหลากไหล บ้านเกิดแทบไร้ความหมายไปสิ้นเพราะอดีตอันทอดยาว ปัจจุบันและวันพรุ่ง ล้วนหลากเข้าหลอกหลอนด้วยตัวตนอันมหึมาของฉัน ในขณะที่แมวหนุ่มตัวนั้นกลับไม่รู้สึกยินดียินร้ายแม้แต่น้อย กับการมาถึงของชายวัยกลางคน-คนหนึ่ง
 
ครั้นเมื่อเขาได้เฝ้ามองดูแมวหนุ่มตัวนั้นนอนเล่นกับหางของตัวเอง เขาก็พลันตระหนักขึ้นได้ว่า ถ้อยคำทั้งปวงเป็นเพียงความว่างเปล่า
 
ดอกไร่- ดวงตาของฉันยังคงมองเห็น.

อย่างที่บอกไปแล้ว ประเด็นเรื่องตัวตนที่ซ้อนกันอยู่นั้น เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หากเพียงว่า เราจะอ่านไปถึงอารมณ์ที่เรวัตร์ได้สื่อผ่านตัวอักษรออกมา ซึ่งทำให้เรารับรู้และสัมผัสไปพร้อมกันว่า แม้จะตระหนักว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เพียงไร แต่หากเราเหล่ามนุษย์ยังรู้สึกว่าตนเองก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันแล้ว ดุลยภาพที่เป็นดั่งความงดงามของชีวิต คงเหลือเพียงเถ้าธุลี

ความเห็น

Submitted by narongyuth on

คุณ องอาจ..มีลูกเป็นแมว...แล้วทุกๆอย่างมันก็จะผ่านไป

พุทธธรรมของกวีหลับลื่น

นายยืนยง
 

พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง

กวีกับอุดมคติ

นายยืนยง


บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง
กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์

ปราการของเวลา

ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา

                 Ageless Body, Timeless Mind

เขียน : โชปรา ดีปัก

แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร

พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551

 

แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว

เล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่เขียนโดยนายแพทย์หนุ่มชาวอินเดียนาม โชปรา ดีปัก ผู้ยืนยันว่า

มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี

กนกพงศ์ กับความเข้มข้นที่ล้มเหลว

นายยืนยง 

 

ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...