บล็อกของ bookgarden

วันนี้ไม่มีสัญญาณรักจากสวรรค์ (๒)

นายยืนยง

20080430

ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)
ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกี
ประเภท             :      นวนิยายรัสเซีย
ผู้แปล               :      สดใส
จัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓

วันนี้ไม่มีสัญญาณรักจากสวรรค์ ( ๑ )

ภาพปกหนังสือพี่น้องคารามาซอฟ

ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)
ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกี
ประเภท             :      นวนิยายรัสเซีย
ผู้แปล               :      สดใส
จัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓

หนังสือกับชีวิต : หัวใจไม่ปกติ

นายยืนยง

20080415

ชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรม
ผู้เขียน                         :    เขมานันทะ
พิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม
 

ฅ คน กับบทสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์

‘นายยืนยง’

20080409 1

ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑
บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิ
เจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด

โลกใบเก่ากับคนเฝ้าสุสาน

‘นายยืนยง’

20080326 โลกใบเก่ากับคนเฝ้าสุสาน

 

ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวัง

ไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ ทัศนาวดีแต่แล้วกลับต้องผิดหวัง! (ในลำพัง) เพราะไม่เคยคาดคิดว่าต้องมาพบเจอกับกระบวนการที่ยังกลับย่ำวนอยู่ในหลุมบ่อโศกนาฏกรรมของศตวรรษที่แล้ว

รวม ๑๒ เรื่องสั้นที่ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงอย่างที่เรียกได้ว่าท้องถิ่นนิยม ปรนเปรอผู้อ่านด้วยคราบน้ำตาอันสุดรันทด  แต่ความผิดหวัง (ส่วนตัว) ดังกล่าวนั้นก็ถูกชดเชยด้วยภาษาของทัศนาวดี

รำพันจากหมู่บ้านพร้าญี่ปุ่น : แสนรักแสนแค้น

นายยืนยง

20080317 ภาพปก รายงานจากหมู่บ้าน

ชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       
ประเภท         :    กวีนิพนธ์     
ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    
จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิ
พิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐
เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง

รอบเอวของจำลอง ฝั่งชลจิตร

นายยืนยง

20080310 ภาพปก ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป

ชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป
ประเภท    :    เรื่องสั้น    
ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตร
จัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    

ตามรอยเพื่อชีวิตในช่อการะเกด

นายยืนยง

29020801

ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ..๒๕๕๐ )

ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน

บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี

จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา


สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน


คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน อันนี้คงพิจารณายาก ลำพังอาศัยเสียงจากความรู้สึกเข้าจับ แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นที่หลอมเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาวนั้น ก็พอจะสรุปได้


นอกจากนั้นแนวเพื่อชีวิตต้องไม่สักแต่สะท้อนภาพปัญหาเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องไม่เทศนาอย่างไร้ศรัทธา เหมือนดั่งที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยเตือนว่า


อย่าเทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต่อลมหายใจให้แนวเพื่อชีวิต คือการชี้นำ หรืออภิปลายให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่นำเสนอนั้นด้วย มิเช่นนั้น แนวเพื่อชีวิตอาจกลายเป็น แนวเขียนที่เร่อร่าล้าสมัย หรือบ้องตื้นกว่ารายการโทรทัศน์

จากการกลับมาของ ช่อการะเกด ฉบับที่ ๔๒ ปี ๒๕๕๐ นี้ คำว่าเพื่อชีวิตที่มีชีวิตและลมหายใจของวันนี้ได้กลับมาให้เราได้เชยชมกันแล้วในเรื่องสั้นเด็ดดวงของ เดช อัคร


ขอกล่าวถึงสักเล็กน้อยเกี่ยวกับช่อการะเกด เผื่อว่าจะเป็นเกร็ดเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบความเป็นมา

ช่อการะเกด เป็นหนังสือต่อเนื่อง ( pocket magazine ) ถือกำเนิดครั้งแรกในรูปเล่มของ “โลกหนังสือ” ฉบับ “เรื่องสั้น” เมื่อเดือนพฤษภาคม พ..๒๕๒๑ เพื่อให้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานเรื่องสั้นของผู้สนใจและรักการเขียนในขอบเขตทั่วประเทศโดยไม่จำกัดรุ่นวัยใหม่เก่า ทั้งไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา

ช่อกำเนิดใหม่อีกครั้งโดยฝีมือศิษย์เก่าอย่างเวียง-วชิระ บัวสนธ์ และสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ซึ่งเราไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากมีเรื่องสั้นมือสังหาร ของเดช อัครรอให้กล่าวถึงอย่างไม่อาจระงับใจได้


มือสังหาร เขียนเป็นแนวเพื่อชีวิตเหมือนต้นฉบับแต่แตกแขนงใหม่ได้ชัดเจน แต่ทำไมต้องยกย่องกันปานนี้ เพราะประเด็นที่เดช อัครพูดถึงเป็นเรื่องหนักหน่วงและเร่งเร้าเหลือเกิน มันร้อนมากเมื่อกล่าวถึงปัญหาชายแดนใต้ ที่ถูกคลุมโปงให้อยู่ใต้รักแร้ของรัฐบาลหน้าสื่อแทบทุกประเภท

เรื่องเขียนถึงครอบครัวหนึ่งที่ไทยพุทธกับไทยมุสลิมร่วมชีวิตสมรส ฝ่ายสามี คืออับรอมานกับภรรยา คือลิมะ (แต่เดิมชื่อมะลิ แต่เมื่อแต่งงานและเข้ารับศาสนาอิสลาม โต๊ะอีหม่ามก็ตั้งให้ใหม่) เราจะพบจุดขัดแย้งในตั้งแต่นาทีแรกและดำเนินต่อไปอย่างบีบคั้นกดดันยิ่ง


อับรอมานมีอาชีพฆ่าวัว เขาไม่กินไก่ส่วนลิมะไม่กินเนื้อวัว ทุกครั้งที่อับรอมานกลับมาหลังจากฆ่าวัวพร้อมเนื้อ ลิมะจะมีอาการแพ้ท้องรุนแรงสาหัส ขณะที่อับรอมานไม่กินไก่ แต่มะลิกลับฆ่าไก่กินเพื่อประชดเขา


(
หน้า ๔๙) อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงของลิมะใช่ว่าจะเพิ่งเกิดขึ้นกับลูกคนนี้ มันเป็นตั้งแต่ท้องลูกคนแรกได้เพียงห้าเดือน วันก่อนที่จะรู้ว่าพี่ชายของตัวเองเสียชีวิต ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าครั้งนี้ด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะอาเจียนอย่างหนักแล้ว นางยังนึกอยากกินเนื้อคนที่เป็นตำรวจ เมื่อเห็นอับรอมานหิ้วเนื้อสด ๆ เลือดแดงยังไหลเยิ้มกลับมา ทั้งที่เป็นคนไม่กินเนื้อ ลิมะวิ่งเข้าไปแย่งเนื้อในมือสามีมายัดใส่ปาก เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อยราวกับกระสืออดอยาก ชั่วพริบตาเนื้อพร่องไปครึ่งพวง ...ฯลฯ... อาการอยากกินเนื้อมนุษย์ของลิมะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อท้องยูนุส (ลูกคนที่สอง)ได้สามเดือน ก่อนที่สานุดิงถูกยิงเพียงสองวัน คราวนี้นางไม่ได้อยากกินเนื้อตำรวจเหมือนครั้งก่อน แต่กลับเป็นเนื้อคนที่เป็นทหาร ...ฯลฯ... กระทั่งลิมะมีอาการแพ้ท้องครั้งใหม่ นางเหม็นแม้กระทั่งเสื้อที่เขานำกลับมาจนแทบทนไม่ไหว ...ฯลฯ...

เค้าโครงเรื่องผูกโยงถึงสถานการณ์ที่ญาติของสองสามีภรรยาถูกสังหารด้วยฝีมือผู้ที่ต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา ขณะอาการแพ้ท้องรุนแรงของลิมะก็ถูกนำมาร้อยเข้าด้วย เหล่านี้อาจแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพระหว่างการตายและการเกิดของคนในสังคมที่มีพันธะร่วมระหว่างกัน เหมือนเครือข่ายทางจิตวิญญาณ


ทั้งนี้ เดช อัครได้สรุปข้อขัดแย้งระหว่างสองสามีภรรยาต่างความเชื่อนี้ในตอนจบว่า “ หยุดเถอะ ” เขาพึมพำออกมาพอให้ตัวเองได้ยิน ทั้งที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงหลุดคำนี้ออกมา แต่พลันนึกได้ว่า หากเขาหยุดเอาเนื้อกลับมาบ้าน ลิมะก็คงหยุดฆ่าไก่ เพราะที่นางต้องฆ่านั้นไม่ใช่ว่าฆ่าเพราะอยากกิน แต่เพื่อต้องการที่จะเอาคืน...

ปัญหาที่เดช อัครมองอย่างใคร่ครวญและถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาคือความขัดแย้งระหว่างความเชื่อในเชิงจิตวิญญาณ ที่ถูกกระทำมารุ่นต่อรุ่น ราวกับเป็นมรดกตกทอดอันบัดซบ ทางออกก็คือหยุดนั่นเอง


กล่าวถึงกลไกของการสำแดงพลังของเรื่องนี้โดยย่นย่อได้ว่า เดช อัครถ่ายทอดคู่ขัดแย้ง (ที่อยู่ในกระแสสถานการณ์ปัจจุบัน) อาศัยภาพลักษณ์ภายนอกที่ห่อหุ้มไว้ด้วยความเชื่อทางศาสนา พุทธ –อิสลาม นั่นคือปมปัญหาแรกที่เป็นสัญลักษณ์ร่วมระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน แล้วนำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในอารมณ์ร่วมเชิงสังคม (ปัญหาชายแดนใต้) มาเชื่อมต่อเข้ากับสถาบันครอบครัว สร้างตัวละครที่สดใหม่ คืออยู่ในเหตุการณ์จริงของอารมณ์ร่วมเชิงสังคมดังกล่าว ผูกปมขัดแย้งย่อยที่สอดคล้องกับปมแรก แล้วดำเนินเรื่องไปพร้อมกับปลุกเร้าความสนใจของผู้อ่านด้วยปัญหาครอบครัวนั้น เมื่อถึงจุด climax เรื่องก็พร้อมคลี่คลายตามปมย่อยที่ผูกไว้


ทำไมปมย่อยที่คลี่คลายแล้ว คือ “หยุด”จะเชื่อมโยงให้ปมใหญ่คลี่คลายตามไปด้วย นั่นคือเรื่องที่ผู้อ่านต้องครุ่นคิดต่อไปเพราะผู้เขียนได้บอกแล้วว่าปัญหาต้องแก้ไขจากจุดเล็ก ๆ ที่เป็นปัจเจกเสียก่อน ซึ่งการณ์นี้ต้องอาศัยกระบวนการแบบพลวัต


แม้เรื่องมือสังหารจะโดดเด่นดังกล่าวมาแล้วเพียงไร เราก็ไม่ควรละเลยจะกล่าวถึงข้อบกพร่องสักเล็กน้อย เนื่องจากเรื่องสั้นที่ดีเด่นและทรงพลังนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือ คือภาษา เพื่อถ่ายทอด โดยการใช้คำระหว่าง ๓,๐๐๐ –๑๐,๐๐๐ คำตามรูปแบบของเรื่องสั้นนั้น คือใช้คำน้อยแต่กินความมากนั่นเอง ดังนั้นการเขียนเรื่องสั้นที่ดีนักเขียนจำต้องประหยัดคำ ขัดเกลา ตัดทอน คำซ้ำ คำซ้อน เพราะเรื่องสั้นที่ดีก็มีคุณค่าเทียบเท่ากวีนิพนธ์ได้เช่นกัน

สำหรับเรื่องสั้นที่ไม่ใช้คำฟุ่มเฟื่อย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวเหยียดชนิดที่เรียกได้ว่าถั่งโถมออกมาอย่างหมดเปลือก คือ เรื่องผู้ไร้เหย้าของ ภาณุ ตรัยเวช


ผู้ไร้เหย้า เป็นเรื่องสั้นที่ให้เกร็ดความรู้แก่ผู้อ่านไปพร้อมด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องสั้นวรรณกรรมไทยเรานี้ ยังมุ่งเน้นให้แสดงทัศนคติ อุดมคติ หรือสำแดงอารมณ์กันจนสนุกสนาน หลงลืมไปว่าโลกนี้ยังมีสรรพวิทยาการอีกท่วมท้นที่จะจำนัลแด่ผู้อ่าน ไม่เท่านั้น เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องเทียบเคียงประวัติศาสตร์ที่หาอ่านยากในสังคมวรรณกรรมไทยอีกด้วย

ขณะเดียวกันความยาวของเรื่องเป็นความต่อเนื่องที่กระชับรัดกุม การใช้ภาษาก็ไม่ฟุ่มเฟื่อยเรื้อยเจื้อยแต่อย่างใด นอกเสียจากขาดการขัดเกลาให้เกิดสำนวนโวหาร เพื่อเปรียบเทียบ หรือตัดทอนเนื้อเรื่องให้แน่นขึ้น

ช่อการะเกด เล่มนี้ บรรจุเรื่องสั้นไว้ทั้งหมด ๑๒ เรื่อง จะน่าอ่านชวนชื่นเพียงไร ขอบอกว่า ราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ต้องนำมาคำนวณ เพราะนอกจากจะทำให้รู้ซึ้งว่าสถานการณ์เรื่องสั้นวรรณกรรมไทยเป็นเช่นไรแล้ว อาจทำให้บางคนที่ชื่นชอบเขียนเรื่องสั้นเกิดลำพองใจ คิดจะเขียนส่งตรงถึงรสนิยมของบรรณาธิการในฉับพลันก็เป็นได้

พิจารณาจากเล่มนี้แล้วเชื่อว่ารสนิยมของบรรณาธิการช่อการะเกดในยุคนี้ อาจไม่ได้เป็นความหวังสูงส่งอะไรนักที่จะ สร้างสรรค์ ส่งเสริมวรรณกรรมไทยให้เลิศเลอนักทั้งนี้ก็ต้องฝากความหวังไว้กับนักเขียนด้วย ต้องติดตามในเล่มต่อไป

หากใครมีรสนิยมเคี้ยวข้าวโพดคั่วขณะอ่านหนังสือ ช่อการะเกดก็มีของแถมให้ในรูปแบบบทความของมุกหอม วงษ์เทศที่ตั้งข้อสังเกตแบบกระจายกระจาดเกี่ยวกับงานเขียนร่วมสมัย ส่วนที่พลาดไม่ได้คือ บทความวรรณกรรม ของ นพพร สุวรรณพานิชในบทความเรื่อง วรรณกรรมและ “กำเนิดเรื่องผี” ในเมืองไทยและวรรณกรรมสายรอบโลก โดย เฟย์ บางทีเกร็ดความรู้ก็สำคัญกว่าทัศนคติหากเราเองก็คิดวิเคราะห์เองได้ แต่อย่าลืม มือสังหาร และ ผู้ไร้เหย้าก็แล้วกัน.

โศกนาฎกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์

‘นายยืนยง’

20080220 ภาพปกโศกนาฎกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์

ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day
ประเภท            :    วรรณกรรมแปล
จัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙
ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ
ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์

คลื่นทะเลใต้... ใต้ทะเลคลื่น? (๒)

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้
ประเภท    :    เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

 

เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง จากแนวเพื่อชีวิตดั้งเดิมอยู่บ้างในบางส่วน แม้โดยตัวละคร ฉาก บรรยากาศ น้ำเสียงของผู้เขียน และองค์ประกอบอื่น แต่ในความเหมือนเราก็จะได้เห็นความต่าง อาจเปรียบได้ว่า วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมีการปรับกระบวนท่าอยู่ตลอดเวลา

เปรียบเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดให้ห้องเพื่อชีวิตรับแสงสว่างจากโลกเบื้องนอก..บานแล้วบานเล่า  และประตูบานนั้นของจำลอง ฝั่งชลจิตรจากเรื่องสั้น สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อ ได้รับรางวัลโล่เงินในการประกวดเรื่องสั้น โครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖ เป็นประตูบานใหญ่ทีเดียวเมื่อเปรียบกับเรื่องสั้น ผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓
        
แม้ผ้าทอลายหางกระรอกจะมีความเป็นเพื่อชีวิตมากเพียงไร แต่หากพิจารณาถึงการเลือกใช้เหตุการณ์ของความรักเป็นเบื้องหลังหนึ่งของเรื่อง ซึ่งอาจดูเหมือนจะช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดของเรื่องแนวดังกล่าวลงบ้าง แต่จริง ๆ แล้วการเลือกเช่นนั้นกลับเทน้ำหนักให้คิดไปในแนวทางที่เขม็งเกลียวความเคร่งมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า เรื่องแนวเพื่อชีวิตมีลักษณะเด่นที่ศีลธรรมของเรื่อง ซึ่งมักผูกโยงให้เห็นความขัดแย้ง ๒ ขั้ว คือฝ่ายนายทุน ข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ร้ายตลอดกาล กับอีกขั้วคือ “ไพร่ฟ้า”ประชาชนที่มีใบหน้าของการถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดกาลอีกเช่นกัน

แต่วิธีการของจำลองในเรื่องผ้าทอลายหางกระรอกนั้น ทำให้คิดไปได้ว่า โศกนาฏกรรมของการเอารัดเอาเปรียบนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ประหนึ่งว่าการกดขี่ข่มเหงเริ่มตั้งแต่ไก่โห่ มันติดตัว “ไพร่ฟ้า”มาตั้งแต่เกิดราวกับเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน เห็นชัดเจนได้จาก ความมุ่งหมายของกานดากับจรูญที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน แน่นอนอยู่แล้วที่คู่รักจะต้องมีลูก แต่การที่จรูญตั้งอกตั้งใจทอผ้าลายหางกระรอก เพื่อเป็นชุดเจ้าสาวของตัวในวันแต่งงาน เขาก็ถูกเงื่อนไขของนายทุนคือเถ้าแก่หว่า ที่ว่าชาวบ้านที่ทอผ้าต้องขายผ้าให้เขา เพราะเขาเป็นคนซื้อเส้นด้ายมาป้อนให้ทอแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจรูญต้องซื้อผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งเขาเป็นผู้ทอเองกับมือต่อจากเถ้าแก่หว่าด้วยราคาแพงอย่าน่าตกใจตาย และสุดท้ายจุดเริ่มต้นของการกดขี่จากขั้วนายทุนก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

นับว่าเรื่องสั้นนี้ จำลองเลือกหยิบเหตุการณ์ที่ไม่ซ้ำกับเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบดั้งเดิม แต่เนื้อหาหรือศีลธรรมของเรื่องยังคงใช้เครื่องหมายเท่ากับ ( = ) ได้เมื่อเปรียบกับเนื้อหาของเรื่องสั้นแบบเก่า ยังมีจุดเด่นอีกข้อหนึ่งที่จำลองพยายามลบใบหน้าของเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของตัวเอง คือการเปรียบเปรยในหน้า ๖๕

นกเป็ดแดงฝูงหนึ่งกำลังดำหัวกินดอกสาหร่าย พอได้ยินเสียงคนมาก็บินพรึบ ๆ ขึ้นฟ้า  ส่งเสียงร้องแพ็บ ๆ หายไปท่ามกลางแผ่นฟ้าสีครึ้ม นกพวกนี้ทำรังอยู่ในกอหญ้ารกในทะเลสาบ มีจำนวนเป็นหมื่น ๆ ตั้งแต่ทะเลน้อยถึงลำปำ ยิ่งฤดูที่สาหร่ายออกดอกออกลูก นกพวกนี้ชุมที่สุด นกเป็ดหอม นกเป็ดลาย จะมาเมื่อปลายฤดูฝนจนทะเลสาบมีเสียงอึงมี่ เล่ากันว่า นกเป็ดหอม นกเป็ดลายมาจากทางเหนือของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น... พอแล้งก็บินกลับถิ่นฐานเหลือแต่นกปีกแดง กับนกเป็ดผีให้เฝ้าทะเลสาบ หากไม่ถูกมือดีดับชีพเสียก่อน...

หากย่อหน้าที่ยกมาจะไม่ได้มีไว้เพื่อแสดงภูมิความรู้ของจำลอง ก็อาจเป็นการใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรยผู้คนสองกลุ่มในเขตลุ่มทะเลสาบ นั่นก็สอดคล้องกับตัวละคน ๒ ขั้ว คือชาวบ้านกับนายทุน หรือไม่ใช่?...

จากเรื่องผ้าทอลายหางกระรอก เราจะเห็นได้ชัดว่าประตูบานนั้นของจำลองเปิดออกไปสู่สิ่งใด? เพื่ออะไร? และแน่นอนว่ามันได้เปิดออกจริง!

เรื่อง สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อนั้น จำลองได้ใช้วิธีการเล่าแบบสบาย ๆ ไม่เน้นการจัดวางองค์ประกอบตามสูตรดั้งเดิมเพื่อเดินไปหาจุดมุ่งหมายของเนื้อหา คือการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีการจัดงานศพที่จงใจให้เป็นเรื่องการค้ากำไรโดยไม่จี้ไปที่จุดขัดแย้ง ราวกับปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา

และด้วยน้ำเสียงของการเปรียบเทียบแบบประชดประชัน ดันทุรัง กระทบนั่นนิดนี่หน่อย และการใช้คำอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อเรียกร้องอารมณ์ร่วมจากผู้อ่าน จนได้บรรยากาศของคำว่าจริงใจไปเต็มกระบุงนั้น นอกจากเป็นการเปิดประตูบานใหญ่จากห้องเพื่อชีวิตแล้ว เขายังได้ทำให้กระบวนความแหลมคมบิดเบี้ยวไปเลย นอกเหนือจากลีลาการเขียนเหมือนอย่างหลงคารมตัวเองไปอีกข้อหนึ่ง

ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่มีต่อประตูแต่ละบานของนักเขียนในเล่มคลื่นทะเลใต้นั้น ไม่ได้เรียกร้องให้สงวนแนวทางดั้งเดิมของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่อย่างใด เราต่างก็ซาบซึ้งกันดีว่า โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหาและความซับซ้อนถูกกล่าวถึงจนปรุพรุนไปหมด

ดังนั้นแนวคิดที่เอื้ออิงกับทฤษฎีสังคมนิยมแบบมาร์ซที่พบในวรรณกรรมแนวนี้คงไม่เพียงพอจะตอบสนองโลกที่หมุนอย่างทารุณนี้ได้ และแน่นอนวรรณกรรมก็ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งหากจะตัดสินว่าเป็นการสร้างสรรค์หรือไม่นั้น ผู้อ่านย่อมอุปมาเองได้
        
นอกจากเรื่องสั้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเรื่องสั้นที่ดำเนินเรื่องตามแนวทางดั้งเดิมอีกเรื่องหนึ่ง คือ นักมวยดัง ของ ขจรฤทธิ์  รักษาซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ประจำปี ๒๕๓๓ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้เล่าเรื่องเป็นเส้นวงกลม คือเริ่มต้นและจบในจุดเดียวกัน ขณะที่ขจรฤทธิ์ได้เลือกหยิบแง่มุมเดียวที่ชัดเจน แหลมคม เพื่อพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีด้วยน้ำเสียงแบบโศกนาฏกรรม

เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ยอมฆ่าความนับถือตัวเองเพื่อแลกกับเงิน แลกกับบางอย่าง โดย ๒ ตัวละครที่มีจุดหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่คนอย่างพี่นงค์ นักมวยดังรุ่นพี่ “ยอม”เพื่อแลกเงิน กับ “ผม”นักมวยรุ่นน้อง “ยอม”เพื่อแลกกับศรัทธาในชีวิต  ถือเป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่านยิ่ง ด้วยภาษากระชับ กินความอย่างองอาจ หนักหน่วงเหมือนหมัดของนักมวยบนสังเวียนแห่งชีวิต

ซึ่งจับคู่ได้กับเรื่องสั้น ว่าวสีขาวของ ประมวล มณีโรจน์เป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓ ที่พูดถึงความเป็นเนื้อแท้ของมนุษย์ พูดถึงศักดิ์ศรีและความไม่ยอมแพ้ซึ่งเป็นศักยภาพที่น่ายกย่องของมนุษย์เป็นโศกนาฎกรรมของเด็กชายผู้หัวไม่ดี แต่เก่งกาจกับเรื่องที่อยู่นอกโรงเรียนอย่าง “ก็อง”จุดที่แสดงอารมณ์สูงสุดของเรื่องอยู่ตรงช่วงที่ก็องปีนต้นไผ่ลำเท่าแขนเด็กเพื่อโน้ม โหนตัวไปเอาว่าวสีขาวที่ปลิวไปติดอยู่บนยอดต้นกอหลาโอน ซึ่งเต็มไปด้วยหนามแหลม สุดท้ายก็องก็ได้ว่าวของเขาคืนแม้ร่างกายจะระบมด้วยแผลจากหนามเกี่ยวตำ แต่ “รอยยิ้มแห่งชัยชนะก็แต้มพราวบนริมฝีปากดำเกรียม”

ตลอดทั้งเรื่อง ประมวลได้ใช้กลวิธีที่แยบยลเพื่อพูดถึงศีลธรรมของเรื่องอย่างที่เรียกได้ว่า ไม่ยัดเยียด หรือเทศนา แต่อย่างใด นอกจากนี้เขายังใช้พลังในการสร้างสรรค์ได้เต็มเปี่ยม เพื่อปลุกเร้าจิตวิญญาณที่หลับใหลอ่อนแอให้ลุกขึ้นสู้ได้ วิธีการที่แยบยลดั่งเป็นเรื่องที่หลุดออกมาจากชีวิตจริงหรือแนวสัจจะนิยมนี้ มักได้ใจจากผู้อ่านท่วมท้น

เช่นเดียวกับเรื่อง คลื่นหัวเดิ่งของ พนม นันทพฤกษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๒ ที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่พนมได้เน้นให้เห็นถึงต้นเหตุหรือภูมิหลังของเรื่องราวอย่างเป็นเหตุเป็นผล แม้จะยังแบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ คือนายทุนกับชาวบ้านเช่นเดิม แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำและยืนหยัดลุกขึ้นสู้

ความคล้ายกันระหว่างเรื่องว่าวสีขาวและคลื่นหัวเดิ่งคือการชี้ทางออกให้กับปัญหาที่นำเสนอ ด้วยการไม่ยอมและลุกขึ้นสู้ด้วยศักยภาพของตัวเองนั่นเอง

ส่วนเรื่องที่มีวิธีการเล่าเรื่องแบบเนิบนาบอย่าง ขวดปากกว้างใบที่ยี่สิบเอ็ด ของ อัตถากร บำรุง ที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๕ นั้น ไม่เน้นการวางโครงเรื่องตามแบบดั้งเดิม ไม่เน้นจุดขัดแย้งของเรื่อง แต่เป็นการเล่าด้วยน้ำเสียงกระทบกระเทียบและคาดหวังต่อตัวละครในเรื่องที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งต้องการยาปลุกสมรรถภาพทางเพศจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชรา

อัตถากรเล่าโดยไม่กระตุ้นให้ผู้อ่านใฝ่หาแต่จุดจบของเรื่องอย่างเดียว แต่เขาใช้วิธีการกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านไปเรื่อย ขณะเดียวกันก็มีเสียงที่เรียกร้องจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชราอยู่เป็นเนือง ๆ  เสียงเรียกร้องดังกล่าวนั้นแสดงนัยยะของ

อัตถากรเอง ซึ่งได้พูดถึงความซื่อสัตย์และจิตสำนึกที่ดีงาม โดยเขาได้บอกผ่านคำพูดของหมอยาพื้นบ้านผู้ชราในหน้า ๑๖๕ ว่า “คุณอาจจะไม่เข้าใจ นี่มันเป็นรายละเอียดของเรื่องจริยธรรม...มันเหมือนกับจิตสำนึกของนักการเมืองที่ดี ซึ่งควรจะซื่อสัตยต่อประชาชนของเขา”

อัตถากรยังคาดหวังแม้ในบรรทัดสุดท้ายของเรื่องโดยทิ้งประโยคในจิตสำนึกของผู้อำนวยการขณะขับรถกลับออกจากบ้านหมอยา ที่เสียงหัวเราะของหมอยาชรายังคงกังวานอยู่ว่า “มันช่างชัดเจนราวกับว่า เขากำลังหัวเราะอยู่เอง...”
        
เห็นได้ว่ารวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เป็นกระบวนเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตที่กำลังขยับปรับเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมแทบทุกเรื่อง และโดยวิธีของนักเขียนมือรางวัลแต่ละคนก็ล้วนแสดงออกถึงลักษณะจำเพาะของทัศนะคติในนักเขียน

ถึงตัวละคร ฉาก บรรยากาศในแต่ละเรื่องจะมีลักษณะเป็น “ใต้”ตามแนวคิดของคณะผู้จัดพิมพ์ และนักเขียนก็ประณีตบรรจงในการถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตอย่าง “คนใต้”ออกมาด้วยทัศนะที่ทั้งรักทั้งชังนั้น

แต่ภายใต้ความเป็น“ใต้”เหล่านั้นเอง ที่ประกาศให้เรื่องสั้นเหล่านั้นยังคงน่าอ่าน น่าชื่นชมมาจนทุกวันนี้.

    

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ bookgarden