บาสเซล อัล ชาฮัด, มารินา คีแกน: เจ้าขุนทองที่ไม่กลับมา

20 October, 2013 - 16:42 -- bralee

วัยหนุ่มสาวนั้นแสนพิสุทธิ์สดชื่น เสมือน "sweet bird of youth" แต่ก็แสนสั้น เปราะบาง เมื่อถึงเวลาก็โผบินลับหายไป หรืออาจถูกพรากไปอย่างง่ายดายด้วยกระสุนปืนไม่กี่นัด หรือภายในไม่กี่ชั่วขณะแห่งความสิ้นหวัง ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งจึงขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจช่วงต้นปี 2012 ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนวัยนักเรียนนักศึกษาในส่วนต่างๆ ของโลกมาเอ่ยถึง แม้จะเป็นข่าวที่ล่วงเลยมานาน แต่ก็สำคัญ เพราะเป็นจิกซอว์ชิ้นเล็กๆ ของภาพความรุนแรงขนาดใหญ่บนโลกที่ทำให้น่าคิดว่า นอกจากเงื้อมมือมัจจุราชที่อยู่เหนือคนทั้งปวงแล้ว ยังมีอำนาจอะไรอื่นอีกที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้อย่างไร้ความปรานี

คนแรกคือ บาสเซล อัล ชาฮัด (Bassel Al Shahade) นักเรียนปริญญาโททุนฟุลไบรท์ ที่จากบ้านเกิดในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย มาลงเรียนวิชาภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ในรัฐนิวยอร์ก เรียนไปได้หนึ่งเทอมก็บอกอาจารย์กับเพื่อนฝูงว่าต้องกลับไปซีเรียเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ประท้วงครั้งสำคัญ
เขากล่าวว่า “ต้องกลับไปหาเพื่อนร่วมชาติ จะอยู่ที่นี่ทั้งๆ ที่กำลังมีเรื่องในซีเรียไม่ได้” แต่สุดท้ายบาสเซลก็เสียชีวิตในขณะถ่ายเหตุการณ์การประท้วงที่เมือง Homs

มันสมองและอนาคตของวงการภาพยนตร์หายไปราวกับธุลีในอากาศ

เพื่อนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่าบาสเซลเป็น “หนึ่งในวีรบุรุษชาวซีเรียนพกกล้อง” ที่เคลื่อนไหวทางสังคมมาตลอด
แต่ท้ายที่สุด อุดมการณ์และความกล้าหาญของเยาวชนผู้เดินทางจากโลกเสรีประชาธิปไตยกลับมายังแผ่นดินแม่อีกครั้งก็ไม่ได้เป็นชุดเกราะให้กับเจ้าตัวในการต่อสู้ทางการเมืองที่ระสํ่าระสาย แม้ว่าเขาจะเป็นคนของประเทศนั้นก็ตาม
คุ้มกันแล้วหรือ ที่เยาวชนผู้มีจิตสำนึกจะทำสิ่งที่กล้าหาญแต่ต้องแลกด้วยชีวิต?
จะรู้หรือไม่ถึงความเสี่ยงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และแม้ไม่ได้ทำเช่นนั้นก็อาจไม่มีใครมองว่าเห็นแก่ตัวหรือไม่รักชาติ แต่เยาวชนคนนั้นก็อาจจะยังเป็นทุกข์ร้อนหากไม่ได้ทำตามความตั้งใจ อย่างนี้แล้วเรามองว่าคนหนึ่งคนทำสิ่งที่กล้าหาญจากตรงไหน?
ชีวิต กับ ความกล้าหาญ อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งจะมีคุณค่าไม่ได้แต่ต้องเอื้อต่อกัน?

กรณีนี้ทำให้นึกถึงเหยื่อความขัดแย้งในซีเรียอีกหนึ่งคนที่มาจากแวดวงสื่อมวลชน คือ มารี โคลวิน (Marie Colvin) นักข่าวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของลอนดอน เธอเสียชีวิตหลังจากถูกยิงที่เมืองฮอมส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 ซึ่งโคลวินได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ในฐานะเป็นผู้สื่อข่าวและลงพื้นที่จริงมากว่ายี่สิบปีอย่างไม่หวั่นเกรงภยันตรายว่า
“มันงี่เง่าหรือเปล่า (ที่เป็นนักข่าวค้นหาและนำเสนอความจริงให้ถึงที่สุด) กับเรื่องเสี่ยงอันตรายพวกนี้? แต่ฉันว่างี่เง่านะ ถ้าฉันเขียนเล่าเรื่องไปปาร์ตี้ดินเนอร์เมื่อคืน”

เป็นที่น่าสังเกตว่า บาสเซลเป็นคนของซีเรีย ในขณะที่โคลวินไม่ใช่ แต่ทั้งสองต้องมาอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย ต้องออกมานอก “Safety zone” ในฐานะคนทำงานสื่อที่ต่างก็ต้องการเสนอเรื่องราวต่อประชาชนในวงกว้าง

จะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไหม หากจะกล่าวว่าบ่อยครั้งอุดมการณ์เองก็ “ฆาตกรรม” มนุษย์?
หรือเราควรยอมรับว่าหากจะมีใครต้องเสียชีวิตก็ควรเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ “ดีขึ้น” ดังเช่น “ตายสิบ เกิดแสน”?

แต่แล้วคำพูดของมารี โคลวินที่ว่า What is bravery, and what is bravado? ก็ทำให้ผู้เขียนต้องกลืนก้อนความสงสัยนั้นลงคอไปอย่างเงียบๆ

เยาวชนคนถัดมาเป็นบัณฑิตหมาดๆ จากหนึ่งในรั้วไอวีลีกส์ เธอชื่อ มารินา คีแกน (Marina Keegan) วัยยี่สิบสองปี เธอมีแววนักเขียนอนาคตไกลเพราะเขียนบทความให้กับวารสาร Yale Daily News ของมหาวิทยาลัยเยลที่เธอจบออกมาในปีนี้ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง และหนังสือพิมพ์ New York Times รวมถึง The New Yorker ที่เธอจะเข้าไปทำงานหลังจากนี้ แต่แล้ววันหนึ่ง รถยนต์ที่มารินานั่งไปโดยมีแฟนหนุ่มเป็นคนขับก็เกิดอุบัติเหตุและเธอเสียชีวิต
แน่นอนว่าครอบครัวและคนใกล้ชิดโดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นเยล ’12 จะเสียใจและเสียดายมารินา เพื่อนผู้กระตือรือร้นที่มักเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของเยล เช่น เคลื่อนไหวด้านการเมืองและสังคมในระดับมหาวิทยาลัย และที่สำคัญ มารินาให้ความสำคัญกับความเป็นนักเรียนนักศึกษา มิตรภาพ และพลังของเยาวชนที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อีกมากมาย
เพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่ามารินาเป็นเหมือน “เชียร์ลีดเดอร์อันดับแรก” ที่จะคอยให้กำลังใจ และกระตุ้นเตือนว่าพวกตนนั้นโชคดีและมีอภิสิทธิ์หลายอย่างจากสังคมที่พรั่งพร้อม

การตายของมารินาต่างจากบาสเซล เพราะเกิดจากอุบัติเหตุซึ่งมาจากความประมาทส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้การตายของเธอน่าสะเทือนใจนอกเหนือไปจากอายุที่ยังน้อย คือบทความล่าสุดที่เธอเขียนไว้ก่อนพิธีรับปริญญา บทความดังกล่าวชื่อ “The Opposite of Loneliness” ซึ่งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่เธอมีต่อเพื่อนร่วมรุ่น ต่ออนาคต และต่อเยาวชนที่กำลังจะก้าวไปสู่โลกภายนอกไว้ว่า

สิ่งที่ฉันระลึกถึงเสมอด้วยความตื้นตันที่ได้รับจากเยล เป็นสิ่งที่ฉันปรารถนาจะได้รับในชีวิต เป็นสิ่งที่ “ตรงข้ามกับความว้าเหว่” แม้จะยังหาคำมาอธิบายสิ่งนี้ไม่ได้ และมันทำให้ฉันกลัวว่าอาจต้องสูญเสียไปเมื่อตื่นขึ้นมาในรุ่งเช้าและต้องลาจากสถานที่แห่งนี้ . . .

มารินาบรรยายว่าความรู้สึกทั้งมวลที่มีต่อเยล ไม่ถึงกับเป็นความรักหรือความเป็นชุมชน หากแต่มาจากพลังของคนร่วมรุ่นผู้ที่กำลังจะได้รับประสบการณ์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้บัณฑิตหญิงที่คณาจารย์ต่างรักและชื่นชมว่าเป็นคนปราดเปรื่องนั้นหวั่นไหวว่าวันเวลาจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไป รวมทั้งสายใยแห่งมิตรภาพ
การที่มารินาเป็นตัวแทนปัญญาชนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นในประเทศที่พรั่งพร้อมด้านการศึกษา มีความหลากหลายในสังคมที่พลเมืองส่วนใหญ่มีรากฐานการคิด การอ่านและการเขียนมายาวนาน กอปรกับเธอรํ่าเรียนเอกวิชาภาษาอังกฤษ ก็ยิ่งทำให้มีความลุ่มลึกทางความคิดและการมองชีวิต บทความของเธอจึงน่าจะมีประโยชน์สำหรับเยาวชนต่างชาติต่างภาษา ต่างโอกาสในการได้รับคุณภาพชีวิต
แม้ว่าท้ายที่สุด โชคชะตาจะเล่นตลกให้เจ้าตัวไม่ได้ทำในสิ่งที่มุ่งหมายเหมือนในข้อความส่งท้ายก็ตาม

สิ่งที่เราต้องจดจำไว้ก็คือ เรายังทำอะไรๆ ได้อีกมากมาย จะเปลี่ยนความคิด จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ได้ทั้งนั้น คงน่าขันถ้าคิดว่าทำไม่ได้เพราะสายเกินไป . . . พวกเราเป็นบัณฑิต พวกเราอายุยังน้อย เราต้องไม่หมดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นไปได้ . . .
ตอนนี้ยังไม่มีคำมาเปรียบสิ่งที่ตรงข้ามกับความว้าเหว่นั้น แต่ถ้ามี ฉันว่าคำนั้นคือสิ่งที่ฉันรู้สึกต่อเยล ในที่ตรงนี้ ตอนนี้ กับทุกๆ คน . . . เราจะต้องไม่ให้ความรู้สึกนั้นหายไป . . . มาฝากอะไรไว้ในโลกนี้กันเถิด

เยาวชนไทยเองก็มีเรื่องน่าเศร้าใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้จะแตกต่างออกไปในบริบท เริ่มจากกลุ่มนักเรียนที่ออกมาไล่ยิง ไล่ตีกันกลางถนนที่มีคนมากมายสัญจร รวมถึงบนรถโดยสารประจำทาง โดยไม่ใส่ใจชาวบ้านร้านตลาด
เนื่องจากกำลังผดุงศักดิ์ศรีและ “อำนาจ” ในการแก้แค้น ได้แสดงความเป็น “นํ้าหนึ่งใจเดียวกัน” กับพวกพ้องในการลงไม้ลงมือกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอำนาจกฎหมายและความสำนึกต่อส่วนรวมใดๆ จะมาขวางทางไม่ได้
อดจะอ่อนอกอ่อนใจไม่ได้กับ “กลไกทางความรู้สึกนึกคิด” ของเยาวชนที่อยู่สถาบันในเมืองหลวงแต่กลับไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญในบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของตน และให้เหลือทนกว่านั้นคือ กฎระเบียบบ้านเมืองก็ “เอาไม่อยู่”, วุฒิภาวะของ “ลูกผู้ชาย” ก็ “เอาไม่อยู่”

มันสมองและพละกำลังที่สามารถนำมาจรรโลงสังคมได้จึงมีค่าเป็นเพียงอากาศธาตุ

อีกตัวอย่างเป็นเรื่อง “ประวัติศาสตร์ซํ้ารอย” ของข่าวอาชญากรรมต่างๆ ที่ทำร้ายเยาวชน หรือเยาวชนกระทำต่อกันเอง วนเวียนอยู่อย่างนั้นจนแสนบอบชํ้า
คงเป็นความผิดหวังและน่าเศร้าที่สุด ถ้าชีวิตของเยาวชนไม่ว่าจะชนชาติไหน อยู่ตำแหน่งแห่งหนใด มีสถานะมาทางสังคมและการศึกษาแบบใด ต้องดับสูญไปเพราะความโกรธแค้น ความรุนแรง และความเพิกเฉยต่อความเป็นจริงหลายอย่างในบ้านเมืองของตนเอง--บ้านเมืองของตนเองที่ผู้มีอำนาจสูงสุดไม่ได้ใส่ใจหรือเร่งแก้ไข

ชีวิตของเด็กในประเทศอื่นอาจจะแตกต่างกันกับเด็กในบ้านเมืองของเรา แต่ท้ายที่สุดไม่มีชีวิตไหนหนีพ้นไปจากสัจธรรมคือความตาย ซึ่งไม่รีรอมาแยกแยะอายุ หรือพิจารณาคุณค่าชีวิตของผู้ใดทั้งสิ้น

สิ่งเดียวที่จะทำให้ “คุณค่า” นั้น “มีอยู่จริง” จึงขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของคนที่ยังมีลมหายใจและสติปัญญาว่าจะใช้อย่างไร และเพื่อใครบ้าง ณ ขณะนี้.

อ่านบทความ “The Opposite of Loneliness” ของมารินา คีแกน
http://www.yaledailynews.com/news/2012/may/27/keegan-opposite-loneliness

อ่านข่าวเกี่ยวกับบาสเซล อัล ชาฮัด
http://www.syracuse.com/news/index.ssf/2012/05/syracuse_university_mourns_dea.html 

อ่านข่าวเกี่ยวกับมารี โคลวิน 
http://www.thesundaytimes.co.uk/sto/public/MarieColvin

*Pictures Courtesy of AFP/Getty Images, NBCnews

The Imitation Game : เมื่อความหมายของ “เกม” คือ “ผู้เล่น”

17 April, 2015 - 09:37 -- bralee

ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเ

ต่ อ อ์ ก ว ซิ จ ชี วิ ต

13 February, 2015 - 17:34 -- bralee

หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Af

Life Itself กับเรื่องของ “สปิริต”

9 February, 2015 - 10:34 -- bralee

สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”