Skip to main content
           หลายปีผ่านไปกับการศึกษาแพงลิ่ว
           ท้ายรถมีหนังสือกองเป็นตั้งกับความหวังนั่งแทบไม่ติด
           เราเป็นเช็คสเปียร์ “ตัวพ่อ” มันก็น่าจะเพียงพอ
           แต่โลกนี้ไม่ได้ต้องการปราชญ์ขนาดนั้น...
 
บทเพลงที่ Jamie Cullum ได้ร้องไว้เมื่อหลายปีก่อนพร้อมกับร่ายมนตร์ไปบนคีย์เปียโนในเทศกาลดนตรีที่เมืองเชล์มส์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ให้ภาพของวัย “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ในที่นี้หมายถึง การก้าวมาถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งอาจรวมถึงวัยรุ่นที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย หนุ่มสาวที่จบการศึกษาแล้วและ(ต้อง)หางานทำ และยังอาจใช้ได้กับใครก็ตามที่ต้องเลือกจุดเปลี่ยนให้ตนเอง
      ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงแนวคิดของเด็กสาววัยทีนชื่อ Suzy Lee Weiss  ที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงบทความที่เธอเขียนเองบนเว็บไซต์ของวอลล์สตรีท เจอร์นัล ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีก่อน จั่วหัวว่า “ถึง (บรรดา) มหา’ลัยที่ไม่รับฉัน” ขอแค่ฉันมีแม่ใจเด็ดหรือเริ่มงานการกุศลปลอมๆ (“To (All) the Colleges That Rejected Me” If only I had a tiger mom or started a fake charity) และแม้ภายหลังมีผู้ออกความเห็นอีกหลายคนว่าการที่เธอถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยดังนั้นไม่ใช่ “โศกนาฏกรรมของอเมริกันชน” เสียหน่อย แต่น้ำเสียง (ไม่สบอารมณ์) ของวัยรุ่นคนนี้ก็แฝงความขบขัน ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย
      ในบทความดังกล่าว ซูซี่เขียนด้วยน้ำเสียงเสียดสีแกมตัดพ้อต่อว่า โดยสะท้อนความคาดหวังและมาตรฐานที่บรรดามหาวิทยาลัยมีต่อผู้สมัครทั่วประเทศไว้จนสูงเกินเอื้อม รวมถึงความจริงน่าเจ็บปวดว่า มาตรฐานของแต่ละคนอาจไม่ “เข้าตา” กรรมการผู้คัดเลือกเพียงเพราะไม่ “ถูกจริต” ของสถาบัน ถ้าหากมาตรฐานของเด็กแต่ละคนไม่โดดเด่นเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่า ระบบการรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จะให้ผู้สมัครเขียนความเรียงเพื่อแนะนำตัวและแสดงวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่จะทำให้ได้รับเลือกประกอบกับหลักฐานการสมัครอื่นๆ และข้อเขียน “พิชิตใจ” นี้เองทำให้หลายคน “สมหวัง” หรือไม่ก็ “ตกม้าตาย” มานักต่อนัก 
 
บทความเริ่มต้นด้วยการอ้าง “คำยืนยัน” ของมหาวิทยาลัยดังๆ ที่มักบอกให้ผู้สมัคร “เป็นตัวของตัวเอง” จึงจะดีที่สุดในการแข่งขัน โดยซูซี่ใช้คำว่า “rat race” หรือ “แก่งแย่งเอาเป็นเอาตาย” และเธอมองว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการจะง่ายขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กคนนั้นมี “ของแถม” เช่น เรียนวิชานอกหลักสูตรมาแล้วเก้าวิชา, เล่นกีฬามหา’ลัยสามประเภท, ทำข้อสอบ SAT ได้คะแนนสูงลิ่ว หรือมีมารดาสองคน 
      ซึ่งถ้าใครไม่มี “ปูมชีวิต” น่าทึ่งอย่างที่ว่ามาก็อาจ “ปิ๋ว” โดยแฟ้มผลงานแทบไม่ถูกแตะด้วยซ้ำ
      ส่วน “Tiger mom” ที่ซูซี่อ้างถึงว่าน่าจะอุปการะเธอเป็น “ลูกในครอก" ก็คือ Amy Chua อาจารย์สอนวิชา
กฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล ผู้เป็นมารดาของลูกสาวสองคน โดยเธอเขียนบันทึกความทรงจำชื่อ Battle Hymn of the Tiger Mother (2011) เล่าเรื่องชีวิตสองวัฒนธรรมและความสำเร็จในการเคี่ยวเข็ญลูกๆ จนได้ดีในด้านดนตรีและการศึกษา 
      น่าเสียดายสำหรับซูซี่ เธอไม่เคยแตะเปียโนหรือสีไวโอลิน จนถึงขั้นได้ไปประกวดประชันที่คาร์เนกี ฮอลล์ 
      ทั้งนี้ ซูซี่เห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมอยู่แล้วในแฟ้มสะสมผลงานของแต่ละคน และเธอเคารพการตัดสินใจของมหาวิทยาลัย แต่การถูกปฏิเสธจากสถาบันมากมายในคราวเดียวกัน (เหมือนอีกหลายคน) ก็ทำให้เธอนึกฉงนจนต้องตั้งคำถามกับวิธีการคัดกรองนักศึกษาใหม่ บทความของซูซี่จึงสะท้อน “สเป็คเฉพาะ” ของมหาวิทยาลัยว่าบางที่อาจมุ่งรับเด็กที่มี “ความหลากหลาย” เสมือนสินค้าน่าดึงดูด หรือลำพังมีแม่(หรือพ่อ)สองคนเลี้ยงดูมา อันแสดงถึงความหลากหลาย/เท่าเทียมทางเพศ อาจยังไม่พอ แต่หากเด็กคนไหนเพิ่มประสบการณ์การทำงานหรือการใช้ชีวิตต่างแดน เช่น ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในแอฟริกา หรือบริจาคเงินเพื่อชิมแปนซีในคองโก ก็จะยิ่งมีค่ามาก 
      ซูซี่บอกว่าตนไม่ได้ต่อต้านการทำงานอาสาสมัคร เพียงแต่เห็นว่าใครๆ ย่อม “ต่อเติม” ประวัติผลงานของตัวเองเพื่อให้ได้เข้าเรียนอยู่ดี ซึ่งก็บอกไม่ได้อีกว่าใครจะ “เข้าตา” มากที่สุดเมื่อการคัดเลือกเป็น “crapshoot” หรือ เสี่ยงโดยไม่มีเกณฑ์การันตีอะไรให้ชื่นใจ เพราะหากพูดตามตรง ไม่มีใครสามารถตัดสินได้จากแฟ้มผลงานหรือความเรียงเท่านั้น และยังไม่นับความเที่ยงธรรมของกรรมการผู้รับผิดชอบการคัดเลือกซึ่งเป็นมนุษย์ที่อาจ “หลุด” ใช้ความเป็นปุถุชนตัดสินจากเพียงแต่เรื่องราวจากความเรียงนั้นๆ (ตัวอย่าง The Gatekeepers หนังสือที่เผยกระบวนการการตัดสินใจฯ ของบัณฑิตวิทยาลัย เขียนโดย Jacques Steinberg บก.อาวุโสของนิวยอร์กไทมส์
      ภายหลัง ซูซี่ได้รับการตอบรับจากสถาบันมีชื่อหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยอินเดียนา, เพนซิลวาเนีย และวิสคอนซิน กระนั้น อุปสรรคหัวเลี้ยวหัวต่อขั้นแรกที่ซูซี่เพิ่งเผชิญอาจนับว่า “จิ๊บจ๊อย” เมื่อเทียบกับบัณฑิตใหม่ทั้งหลายที่ต้องคิดหนักหลังงานมอบปริญญาบัตร เพราะพ้นจากวัยกระเตาะที่กำลังบากบั่นหาสถาบันอันทรงเกียรติเพื่อเข้าศึกษาต่อ ก็เป็นหนุ่มสาวที่กำลังก้าวออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และเพลงของเจมีที่ชื่อ “Twentysomething” หรือ “ยี่สิบกว่าๆ” ก็สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนเหล่านี้ที่ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนหรือที่เรียกได้อีกอย่างว่า “watershed” 
   
      Watershed หรือ “ลุ่มน้ำ” ที่แม่น้ำหลายสายบรรจบกันแล้วไหลออกสู่ปากน้ำ พัดพาไปยังที่ใหม่ๆ นั้นยังหมายถึงช่วงเวลาวิกฤตที่กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตหรือพลิก “หน้าประวัติศาสตร์” ของบุคคล/ยุคสมัยหนึ่งๆ อีกด้วย 
 
      แล้วอะไรกันที่น่าจะเป็นเรื่อง “หนักอก” ของบัณฑิตเหล่านี้? 
     งาน เงิน ความรัก ชื่อเสียง รูปลักษณ์ หรือความสำราญ เจมีร้องไว้แบบคนไม่ยี่หระกับตลาดแรงงาน เพราะยังไงๆ เราก็ยังอยู่ในช่วงผลิบาน ปล่อยฉันไว้ตามลำพัง...เพราะฉันยังยี่สิบกว่าๆ… ทำนองนั้น 
 
แล้วคอลัมนิสต์เจ้าของพูลิตเซอร์ปี ค.ศ.2002 (สมัยที่สาม) อย่าง Thomas Friedman กลับกระตุ้นเตือนว่าอันที่จริง คนในวัย “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สามารถเดินหมากเชิงรุกด้วยการสร้างงานเองเสียเลย 
      ในบทความชื่อ “Need a Job? Invent It” บนเว็บไซต์ของนิวยอร์กไทมส์ เมื่อ 30 มีนาคม ฟรีด์แมนอ้างถึง Tony Wagner (ผู้เขียน Creating Innovators: The Making of Young People Who Will Change the World) นักการศึกษาผู้ให้เคล็ดลับการเรียนการสอน โดยเฉพาะผลที่คาดหวังหลังเด็กนักเรียนออกจากสถาบันไป (ทั้งระดับอนุบาลถึงเกรด 12 หรือประถมถึงมัธยม--ในที่นี้รวมอุดมศึกษา) ว่าควรตั้งเป้าหมายใช่แค่ให้เด็ก “พร้อมเรียน” แต่ต้อง “พร้อมริเริ่ม” ด้วย 
      วากเนอร์อธิบายว่า คนรุ่นใหม่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอินเตอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสารนั้น มีทุกอย่างพรั่งพร้อมและอาจไม่ตั้งใจทำข้อสอบหรืองานค้นคว้าอีกต่อไป จึงต้องตอบคำถามว่าในอนาคตจะใช้ประโยชน์อะไรจากความรู้ที่มีอยู่แล้วมากมาย ยิ่งในโลกปัจจุบัน “ไม่มีอะไรใหม่” ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ก็พัฒนาจากการประยุกต์/ประกอบสร้างจากภูมิปัญญาที่มีอยู่ก่อนหน้าเกือบทั้งสิ้น 
      เช่นเดียวกัน ขณะพูดบนเวที TEDxNYED ในหัวข้อ “Play, passion, purpose” วากเนอร์ย้ำว่าปัจจุบันความรู้นั้นเป็น “เครื่องอุปโภคบริโภค” ที่ “ฟรี” เหมือนอากาศและน้ำ 
      เพราะไม่ว่าความรู้ก้อนนั้นจะอยู่บนหิ้งของ “Google” หรือ “Bing” ทุกคนก็เอื้อมมือไปหยิบลงมา “กิน-ใช้” ได้ตามอัธยาศัย 
      ตัวอย่างแรกๆ ที่พอจะนึกออกคือ สูตรทำอาหาร/ขนมที่มีอยู่ดาษดื่นบนเว็บไซต์ ซึ่งไม่ว่าใครๆ ก็นำมาทำตามได้ หากแต่สิ่งที่ทำให้ต่างออกไป เป็นการ “ร่ายมนต์” ของแต่ละคนจาก “คาถา” สาธารณะเหล่านั้นว่าจะเนรมิตออกมาอย่างไร 
      ทักษะที่สำคัญกว่าความรู้ตามทัศนะของวากเนอร์จึงได้แก่ (1) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (2) วิธีการสื่อสาร และ (3) เครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งครูบาอาจารย์ควรใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นความช่างสงสัยใฝ่รู้ ความหนักเบาเอาสู้ของเด็กๆ ให้มากที่สุด--เผื่อว่าอาชีพในยุคพ่อแม่ของพวกเขาเริ่มล้าสมัย หรือ “วายตลาด” ไป จะได้เปิด “ตำราส่วนตัว” ออกมาใช้ได้ทันท่วงที 
      จากนั้น ปริมาณการบ้านจะมากหรือน้อยก็ไม่ใช่ประเด็นร้อนอีกต่อไป โปรดดูประเทศฟินแลนด์ในฐานะตัวอย่างเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลของการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวเป็นอันดับแรกๆ ของโลก 
      พูดง่ายๆ ในยุคนี้ พ.ศ.นี้ คนรุ่นใหม่ควรขับเคลื่อนตัวเอง หมั่นเรียนรู้ข่าวสารโลก และพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ วากเนอร์ใช้คำว่าผู้เรียนควรสร้าง “Entrepreneurialism” ขึ้นมา โดยไม่ได้หมายถึงการสร้างธุรกิจใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้นำด้านความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยน “ปัญหา” ให้เป็น “ประโยชน์” อีกด้วย 
      แต่... ถ้าใครจะใช้ “เจตจำนงเสรี” ส่วนบุคคล อย่างที่เจมีครวญตามจังหวะดีดเปียโนก็ย่อมได้เช่นกัน -- 
 
             ...เราจะหันหน้ากลับบ้าน ตั้งหน้าทำงานใช้หนี้ที่กู้มา
                 แต่ความจริงคอยวิ่งหนีจนใจอ่อนล้า
                 เอาน่า เรายังสนุกได้วันยังค่ำ นั่นคือกุญแจสำคัญ
                  เพราะในวัยยี่สิบ เราก็เป็นเราอย่างนี้เรื่อยไป...
 
สำหรับผู้เขียนเองแม้จะผ่านวัยเบญจเพสมาแล้ว แต่ก็ยังประสบกับภาวะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” บ่อยๆ จึงขอถือโอกาสขยายความเรื่อง “ทางโค้งชีวิต” นี้ โดยลุ้นไปด้วยว่าทิวทัศน์ของตัวเองจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อผ่านไปได้. 
 

บล็อกของ Bralee

Bralee
ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเ
Bralee
หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Af
Bralee
สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”
Bralee
INT. San Francisco City Hall – DAYKris and Sandy stand in front of Attorney General Kamala Harris,exchanging wedding vows
Bralee
 บ้างเห็นดวงตะวันบ้างเห็นควันโขมงบ้างยินปืนลั่นโป้ง
Bralee
           หลายปีผ่านไปกับการศึกษาแพงลิ่ว           ท้า
Bralee
ตัวฉัน/สีสันแห่งชีวิตตัวฉัน...
Bralee
ขึ้นชื่อว่า “โจทย์” ย่อมหมายถึงการต้องหาคำตอบบางอย่าง
Bralee
What seemed to be a heavenly day for me, after I’d randomly donated my Thai bahts, turned out quite the opposite as I caug
Bralee
วัยหนุ่มสาวนั้นแสนพิสุทธิ์สดชื่น เสมือน "sweet bird of youth" แต่ก็แสนสั้น เปราะบาง เมื่อถึงเวลาก็โผบินลับหายไป หรืออาจถูกพรากไปอย่างง่ายดายด้วยกระสุนปืนไม่กี่นัด หรือภายในไม่กี่ชั่วขณะแห่งความสิ้นหวัง ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งจึงขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจช่วงต้นปี 2012