ฉลองพุทธชยันตี : เลิกใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ คืนพุทธศาสนาแก่ราษฎร

สุรพศ ทวีศักดิ์ 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

ปีนี้เป็นปีที่ชาวพุทธจัดงานฉลอง พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ ด้วย การปฏิบัติบูชาครั้งประวัติศาสตร์ สวดมนต์ข้าม 26 ศตวรรษ 





พูดถึงเรื่อง ปฏิบัติบูชา ผมนึกถึงปัญหาที่ วิจักขณ์ พานิช ตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่าความผิดพลาดสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนาในบ้านเรา คือการใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ ผมจึงคิดว่าวิธีปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุดเราต้อง ซื่อสัตย์ ต่อพุทธะ อย่างแรกเลยต้องยอมรับความจริงว่าการใช้ราชาศัพท์กับพุทธะนั้นไม่ถูกต้อง ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเครื่องมือรับใช้ ลัทธิเทวราช ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนของพุทธะ ดังมุกหอม วงษ์เทศ อธิบายว่า

จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก แต่เป็นเครื่องขวางการบรรลุธรรม อันเนื่องมาจากภาษาที่เต็มไปด้วยการหลงยึดติดในมายาและมิจฉาทิฐิแห่งลัทธิเทวราช คิดแบบเซนแล้วคงต้องปัดกวาดผงฝุ่นราชาศัพท์จากกระจกเงาแห่งภาษาธรรมและภาษาพรรณนาตถาคตให้หมดสิ้น หนทางแห่งการบรรลุ
พุทธะ จึงจะปรากฏ [1]

 

อะไรคือ มายา และ มิจฉาทิฐิ แห่ง ลัทธิเทวราช ที่ปรากฏในภาษาราชาศัพท์ โปรดดูตัวอย่างการวิเคราะห์ความหมายของคำราชาศัพท์บางประโยคของมุกหอมข้างล่างนี้

วลี
 ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม นั้น... “ละอองธุลี ไม่ใช่คำซ้ำกัน เพราะแปลว่า ละอองของธุลี อีกชั้นหนึ่ง ในภาษาอังกฤษจะว่า ‘the dust of dust’ ก็ได้ เหล่าละอองธุลีโปรดทราบ เราต่ำต้อยเล็กจ้อยกว่า ธุลี เสียอีก เพราะเราเป็นเพียงแค่ ละอองของธุลี เราเป็น ฝุ่นของฝุ่น ใน ราชภาษา ของระบอบกษัตริย์ไทย เราไม่ใช่ มนุษย์ ไม่ใช่ สัตว์ ไม่ใช่กระทั่ง ฝุ่น ตัวตนของสามัญชนในระบอบนี้ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากไม่ใช้กล้องจุลทรรศน์ ก็ต้องใช้ไสยศาสตร์[2]

ฉะนั้น
  มายาหรือมิจฉาทิฐิในราชาศัพท์แห่งลัทธิเทวราช ก็คือการสถาปนาสถานะของกษัตริย์ให้เป็น เทพ หรือ เทวราช และการสลาย ความเป็นมนุษย์ ของราษฎรให้กลายเป็นเพียง ละออง ของ ฝุ่น 

จึงเห็นได้ว่า ปัญหาการสร้าง ระบบความนึกคิด หรือรูปการจิตสำนึก (ideology) ผ่านราชาศัพท์ คือ 

1) เป็นรูปแบบของภาษาที่สถาปนาและปกป้องอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช 

2) ภายใต้ราชาศัพท์ตามอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช ราษฎรไม่มีความเป็นมนุษย์ จึงขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน

3) จะว่าไปแล้ว อุดมการณ์ลัทธิเทวราชขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์นับถือพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนลัทธิเทวราช พุทธะไม่ได้ถือว่ากษัตริย์เป็น เทวราช แต่ถือว่าเป็น สมมติราช ฉะนั้น สิทธิธรรม ของราชาไม่ได้มาจากพระเจ้าหรือเทพ แต่มาจากความยินยอมของราษฎร 

คำถามคือ ทำไมจึงใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ
? แน่นอน คำตอบที่ว่าเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ยิ่งทำให้มีปัญหาตามมา เช่น เราควรใช้ ภาษาอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช แสดงความเคารพต่อพุทธะผู้ปฏิเสธลัทธิเทวราชหรือไม่?

ซึ่งคำถามนี้เรียกร้อง
 ความซื่อสัตย์ ต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา หลักการของพุทธะ และการปรับใช้มรรควิถีแห่งพุทธะต่อการปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์สู่เสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพในบริบทประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

ประเด็นแรก
 ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พุทธะได้สละฐานันดรศักดิ์ หรือวรรณะกษัตริย์ตั้งแต่ออกบวชแล้ว ภาษาที่ใช้กับพุทธะในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ก็ไม่มีคำราชาศัพท์แต่อย่างใด 

เช่น คำว่า สัตถา แปลว่าศาสดาหรือครู ก็เป็นคำเรียกพุทธะและศาสดาหรือครูของลัทธิศาสนาปรัชญาต่างๆ ในอินเดียโบราณ คนทั่วไปนิยมเรียกพระพุทธเจ้าว่า พุทธะ(พุทฺโธ) บ้าง สมณโคดม (สมโณ โคตโม) บ้าง ตถาคต (ตถาคโต) บ้าง คำสรรพนามที่ใช้กับพุทธะก็คือคำที่ใช้กับคนทั่วๆ ไป เช่น คำว่า โส แปลว่า เขา หรือ“he” ในภาษาอังกฤษ ในตำราภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาบาลีก็นิยมแปลตรงๆ เลย เช่น แปล พุทฺโธ ว่า Buddha แปลสรรพนามแทนพุทธะเช่น โส ว่า “he” หรือตสฺส ว่า “his” เป็นต้น

คำกิริยาต่างๆ ที่ใช้กับพุทธะและพระสงฆ์ ก็คือคำสามัญที่ใช้กับคนธรรมดาทั่วไป เช่นภุญฺชติ แปลว่า กิน หรือ “eat” ก็คือคำที่ใช้กับทั้งพุทธะ พระสงฆ์ และคนทั่วไป

จารีตการใช้ราชาศัพท์ในบ้านเราดูเหมือนจะเริ่มในสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิเทวราช ของขอม เช่นคำว่า สมเด็จ เสด็จ เสวย บรรทม ฯลฯ คือภาษาเขมร และต่อมาก็มีการประดิษฐ์คำบาลี-สันสกฤตใช้เป็นคำราชาศัพท์อย่างวิจิตรพิสดาร เช่น ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบรมโพธิสมภาร มหาบพิตร กระทั่งคำราชาศัพท์เกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ เช่น หลอดพระวาโย พระปัปผาสะ พระหทัย พระคุยหฐานฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คำบาลี-สกฤตก็ถูกนำมาประดิษฐ์ใช้ในรูปภาษาสามัญด้วยเช่นกัน ดังนิยมใช้ตั้งชื่อคน เช่น สมภาร สมศักดิ์ วรเจตน์ ปิยบุตร สาวตรี ลักขณา วรรณรักษ์ วิจักขณ์ ภัควดี หลิ่มหลี (โทษที หลิ่มหลี เป็น ภาษาจีนดอย) หรือแม้แต่ใช้ประดิษฐ์เป็นคำศัพท์ทางสังคมการเมืองเช่น สิทธิ เสรีภาพ สมภาพ (เสมอภาค) ภราดรภาพ ยุติธรรม ประชาธิปไตย ไตรภาคี ฯลฯ 

แต่คำบาลี-สันสฤตในรูปภาษาสามัญเหล่านี้จะให้ความรู้สึก หรือสร้างรูปการจิตสำนึกแตกต่างจากคำในราชาศัพท์ เหมือนเมื่อเราพูดว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพูดว่า พุทธะ สั้นๆ คำแรกให้ความรู้สึกหรือสร้างรูปการจิตสำนึกว่า พุทธะอยู่ห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน เป็นผู้สูงส่ง วิเศษ อภิมนุษย์ แต่คำหลังให้ความรู้สึก หรือรูปการจิตสำนึกว่า พุทธะอยู่ใกล้ชิดเรา เป็น เพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) ที่สัมผัสได้ง่าย เป็นสามัญชนเหมือนเรา 

ประเด็นที่สอง
 ในทางหลักการชาวพุทธย่อมทราบกันดีว่า พุทธะปฏิเสธระบบชนชั้นหรือระบบวรรณะ คำอธิบายข้างล่างนี้ชัดเจนดี   

พระพุทธศาสนาจำแนกคนเป็นสูงต่ำ โดยอาศัยระดับทางศีลธรรมและปัญญาเท่านั้น มิได้สนใจชาติพันธุ์หรือวรรณะ แต่การจำแนกนี้ไม่ตายตัว เนื่องจากแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และแต่ละคนมีอำนาจที่จะเปลี่ยนตนให้ดีขึ้นหรือเลวลง ผู้ที่สูงกว่าคือผู้ที่บรรลุ หรือเข้าใกล้ หรือกำลังพัฒนาสู่เป้าหมาย ส่วนผู้ที่ต่ำกว่าคือผู้ที่อยู่ไกลหรือถอยห่างจากจุดหมาย ที่สำคัญมีคำกล่าวว่าผู้ที่ "ยึดติดอคติด้านชาติพันธุ์ หรือยึดติดด้วยอคติด้านวรรณะได้หลงทางออกไปไกลจากวิถีสู่ความหลุดพ้น (
D.I.99)

ลักษณะของผู้ที่สูงกว่า คือพวกเขาจะไม่อวดอ้างถึงความสูงส่งด้านศีลธรรมและด้านปัญญาเหนือผู้อื่น (
Sn.82,918)
 อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามิได้รู้ตระหนักรู้ถึงความสูงส่งของตน หากแต่ไม่ได้แสดงออกมา เนื่องจากมีคำกล่าวว่า ผู้ที่บรรลุธรรมจะหยุดคิดถึงตนในแง่ "สูงกว่า" "ต่ำกว่า" หรือ "อยู่ระดับเดียวกับ" ผู้อื่น (Sn.918) [3]

พึงสังเกตข้อความว่า
 จำแนกคนเป็นสูงต่ำ โดยอาศัยระดับทางศีลธรรมและปัญญาเป็นข้อความระบุถึงข้อเท็จจริง คล้ายกับข้อเท็จจริงของความสูง-ต่ำทางเชาว์ปัญญาหรือไอคิว ไม่ได้มีความหมายแบบสูง-ต่ำทางชนชั้น

ฉะนั้น การใช้คำราชาศัพท์ที่มีความหมายสถาปนาและปกป้องความเป็นชนชั้นวรรณะ จึงขัดแย้งกับหลักการปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะของพุทธะเอง
 

ประเด็นที่สาม
 ปัญหาการปรับใช้มรรควิถีของพุทธะต่อการปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพในบริบทประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน ปัญหานี้สะท้อนสิ่งที่มุกหอมกล่าวข้างต้นว่า จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก…” เนื่องจากจารีตนี้ได้สร้างรูปการจิตสำนึกของพระสงฆ์และชาพุทธทั่วไปให้มีความโน้มเอียงทางศีลธรรมไปในทางสนับสนุนอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช อย่างอัตโนมัติ มาอย่างยาวนาน แม้ยุคสมัยปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น ดังเช่นคำเทศนาของ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ที่ว่า 

การดูหมิ่นในหลวงก็คือโค่นชาติบ้านเมือง เพราะนี่คือหัวใจของชาติ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
ในหลวงเป็นคนดีมากที่สุด เราหาได้ที่ไหนในเมืองไทยเรานี้ พระองค์เสด็จนู้นเสด็จนี้ เราก็เห็นไม่ใช่เหรอ ไม่ได้หยุดเลย เหมือนกังหัน เพราะความห่วงชาติบ้านเมือง รักประชาราษฎร เพราะเป็นลูกของท่าน เราจะหาใครได้อย่างในหลวง ทำไมไปตำหนิในหลวงได้ลงคอ คนคนนั้น (ผู้ดูหมิ่นในหลวง) เป็นคนประเภทใดพิจารณาดูเถิดพึงบูชาคุณของคนดี เคารพ เลื่อมใส ยินดีจะไปตำหนิในจิตเช่นนั้นแล้ว แสดงว่าคนนั้นเป็นคนที่ทำลายโลกได้อย่างร้ายแรงมาก เป็นคนเลวมาก อย่าถือเป็นคติตัวอย่างไม่ดี [4]

คำถามคือ คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายใดๆ เขาควรมีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิที่จะใช้เหตุผลและเสรีภาพในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคนใช่หรือไม่
? แต่คนที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นในหลวง และถูกดำเนินคดีตาม ม.112 ภายใต้อุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช เขาหาได้มีความเป็นคนไม่ เนื่องจากเขาไม่มีสิทธิในการพิสูจน์ว่าข้อความที่เขาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะหรือไม่ อย่างไร

ทว่ามรรควิถีของพุทธะ คือการปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเป็นพุทธะอยู่ในตัวเอง เขาจึงมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตนเอง

หลักศีล สมาธิ ปัญญาคือหลักพัฒนาความเป็นพุทธะ ศีลนั้นเป็นหลักแห่งการไม่เบียดเบียนทำร้าย เป็นหลักปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์ สมาธิเป็นเรื่องของสติและมโนธรรมสำนึกที่จะขจัดความไม่ถูกต้อง สร้างและปกป้องความถูกต้อง ส่วนปัญญาคือการมีทัศนะและความคิดที่ถูกต้อง

ความงอกงามแห่งพุทธภาวะในตัวเราแต่ละคน ย่อมหมายถึงความงอกงามแห่งจิตวิญญาณที่เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นๆ ด้วยการไม่เบียดเบียน การเพียรพยายามใช้สติปัญญามุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นในความหมายของการมีเสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพ

พุทธชยันตี
 หรือ ชัยชนะของพุทธะ คืออะไร? หากมิใช่การปลดปล่อยพันธนาการภายในสู่เสรีภาพและสันติภาพทางจิตใจ หากมิใช่การปลดแอกการกดขี่ทางชนชั้นสู่เสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพทางสังคม 

คำถามคือ ชาวพุทธปัจจุบันพร้อมจะปลดปล่อยตนเองจากรูปการจิตสำนึกอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราชด้วยการเลิกใช้ราชาศัพท์กับพุทธะหรือไม่ เพื่อแสดงคารวะต่อพุทธะในฐานะสามัญชนผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจในการเคารพ ปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเป็นธรรมและสันติภาพ อันเป็นแรงบันดาลใจที่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน
!

ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ต้องคืนอำนาจให้ราษฎร คืนพุทธศาสนาแก่ราษฎร พุทธศาสนาไม่ใช่เครื่องมือสนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์และอำนาจบารมีของชนชั้นปกครองอีกต่อไป แต่ควรเป็นเครื่องมือตรวจสอบจริยธรรมของชนชั้นปกครอง และเป็นมรรควิถีแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และสันติภาพในชีวิตและสังคม
 

อ้างอิง




[1] มุกหอม วงษ์เทศ.ราชาศัพท์ : มนต์สะกดแห่งลัทธิเทวราช.วารสารอ่าน (ธันวาคม 2554-มีนาคม 2555), หน้า 25

[2] เรื่องเดียวกัน,หน้า 21

[3] อนาคาริกะ เตวิชโช เรียบเรียง.บทสังเคราะห์เรื่อง "พระพุทธศาสนากับระบบวรรณะ".แปลโดย ปกรณ์ สิงห์สุริยา วารสารพุทธศาสน์ศึกษา (มกราคม-เมษายน 2554),หน้า 75

[4] www.dhammada.net/2012/05/21/14992/

 

ความเห็น

Submitted by peat on

ผมขอแสดงความเห็น ในศาสนาคริสต์เองเราก็มีพระเจ้านะครับ ก็เป็นสมมติเทพ มีองค์พระเยซูคริสต์เจ้า เป็นศาสดาหรือสมมติราช (ถ้าเทียบเคียงกับที่คุณกำลังเขียนในศาสนาพุทธ) อาจใช่ที่คุณมองว่าศาสนาคุณจำแนกคนสูงต่ำที่ศีลธรรมและปัญญา แต่เรายังมีพรรษาคือ อายุที่บวชเรียนในพระศาสนา เราก็ยังต้องถือพรรษาแก่กว่าในการให้ความเคารพและให้เกียรติ เพราะฉะนั้นประเด็นที่คุณชี้แจง คงไม่เกี่ยวกันกับความห่างหรือใกล้แห่งความเป็นพุทธะ หรือการบรรลุธรรมแต่อย่างใด เพราะในศาสนาก็มีคำที่ใช้เรียกเฉพาะเช่น ฉัน แปลว่า กิน หรือ จำวัด แปลว่านอน คุณก็ไม่ได้ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ ใช่ป่ะครับ และคงไม่ใช้คำว่า ควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรดกับพระสงฆ์เช่นกัน แต่ที่คุณยกตัวอย่าง เรื่องใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ผมว่าไม่เกี่ยวข้องกันกับความเป็นศาสนาเลย อีกประเด็นคือการยกคำพูดของหลวงตามหาบัว ผมก็ว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาที่คุณพูด (จากผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์หลวงตา) ส่วนเรื่องมรรควิธีพุทธ ที่จะแสดงความเจริญงอกงามของจิตใจ ก็ยิ่งไม่เกี่ยวกันเข้าไปอีก เพราะผมคิดว่า พุทธศาสนา เน้นทางเรื่องของจิตใจ การวางตัว การดำเนินชีวิต คำว่านิพพานคงไม่ได้หมายถึงตายแล้วของชีวิตจริงหรอกครับ แต่หมายถึงการตายแล้วจากกิเลสเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ขณะนั้น ๆ ก็เรียกนิพพานแล้วนะครับ ในศาสนาคริสต์ไม่ได้สอนเรื่องนี้ แก่นแท้จริง ๆ ของพุทธศาสนาน่าจะเป็นเรื่องนี้นะครับ ไม่น่าจะใช่ที่คุณชี้แจงเลย อีกประการหนึ่ง การยกสถาบันมาเชื่อมโยงเรื่องที่คุณเขียนอยู่ขณะนี้ คุณเชื่อมโยงศาสนาของพราหมณ์ ฮินดู และพุทธศานา มาเกี่ยวข้องด้วยกัน ต้องนำมาพูดกันหลายประเด็นนะครับ แบบนี้ผมว่าคลุมเครือ แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้ง ทำลายความเป็นเสื้อแดงของผมอีกประเด็นหนึ่ง จากเสื้อแดงเชียงใหม่)

Submitted by ใสหัว on

แสนสับสน เป็นที่สุด กับพุทธราษฏร์
กระทบคราด ตีวัว เหมือนรัวหวาย
มิได้เสี้ยม ไม่ได้แส่ แหย่ออกลาย
กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มันคับทรวง

Submitted by ken on

เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม เรื่องศาสนา ความเชื่อ ความเป็นสยาม เป็นไทย เป็นคนในดินแดน เป็นมานมนานมาก และสิ่งที่เห็นนี้เป็นเหตุและเป็นผลมาจากอดีต ทั้งไกลและใกล้ ส่งผลให็ปัจจุบันเป็นเช่นนี้ มีหลากหลายวิธีในการสร้าง องค์ความรู้ให้ประชาชน

Submitted by ภารโรง on

ผมฟังมานะคับ เรื่องศาสนาคริสต์กับอิทธิพลที่มีต่อกฎหมายตะวันตก
เคยได้ยินประโยคประมาณว่า "we are all equal before god" มั้ยคับ ชัดแจ้งว่า god ยังไงก้อมีสถานะสูงกว่ามนุษย์ (ไม่รู้ว่าสมัยพหุเทวนิยมจะชัดแบบนี้หรือเปล่า) แต่สิ่งสำคัญคือมนุษย์ทุกคนเท่ากัน เมื่อหลักกฎหมายพัฒนามาระดับที่พอจะเชิดชูตัวเองต่างหากจาก god แล้ว ก้อมีประโยคเทียบว่า "we are all equal before the law" คือฐานคิดเรื่องความ "เท่ากัน" ของมนุษย์นั้นเคยมีอยู่ก่อนแล้วด้วยการอ้างอิงศาสนาคริสต์ แต่เมื่อกฎหมายเริ่มเปนสิ่งที่ยึดเหนี่ยวสังคมมนุษย์ได้ขึ้นมา ก้อแค่โอนความเข้าใจยึดถือเรื่องความเท่ากันจาก god ไปหา law เท่านั้นเอง

ปัญหาคือ บ้านเรานั้นไม่แน่ใจว่าเคยมีฐานคิดเรื่องความเท่ากันอยู่ในสมัยใด มากน้อยแค่ไหน เมื่อกฎหมายเริ่มถูกพัฒนาเปนสิ่งยึดเหนี่ยวทางสังคมก้อกลายเปนว่า ทุกอย่างที่มีพร้อมกฎหมายเปนสิ่งใหม่เข้ามาคลุกกับสิ่งเก่า ไอเดียแบบ "we are all equal before the law" นี่ก้อปรากฏอย่างบทความนี้ หรืออย่างที่ปรากฏในวลี "..ภายใต้พระปรมาภิไธย.." นั่นแหละคับ

Submitted by แรก ๆ ก็ดูเข้าท... on

จำนวนคนตีตัวออกห่างจากความเชื่อความรู้สึกเดิม ๆ นับวัน
จะมากขึ้นทุกที หากเห็นว่าคนดังว่ากำลังเห็นผิดเป็นชอบ ก็ควร
โต้แย้งให้เกิดประเด็นผิดถูก ควรไม่ควร ออกมาให้ชัดเจน การใช้
ความสามารถทางกวี โต้ตอบเป็นคำกลอน ถ้าทำได้แค่การเหน็บแนม
ไม่เป็นการตั้งประเด็นนำไปสู่การถกเถียงหาข้อสรุป

ไม่ต่างไปจาก ปชป. ยอกย้อนคุณจักรภพ ว่าระบบอุปถัมภ์ที่คุณจักรภพ
ตำหนิ ดีกว่าระบบไพร่อุปถัมภ์

ไม่ใช่การโต้แย้งด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล

เป็นเพียงการระบายความไม่พอใจ หรือการพยายามยั่วโมโหอีกฝ่าย
แบบแช่ม ๆ น่าจะพัฒนาให้เป็นแบบบางกอก ๆ จะดีกว่ามาก

Submitted by direct on

ตรงประเด็นครับ บางอย่างคนเราถูกปลูกฝังเข้าไปในจิตสำนึก โดยอาจจะมีวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ ผลที่ออกมาแล้วบังเกิดผลดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะถ้าเกิดผลกระทบไม่ดี ต้องลองกลับไปว่า วัตถุประสงค์ดีรึปล่าว การตั้งเป้าหมายด้วยมิจฉาทิฎฐิ ด้วยความกลัว ด้วยความดูถูก หรืออาจจะอะไรก็ได้ที่ไม่ได้สนับสนุนความเป็นคนจริงๆ รึปล่าว (คงจะจริงง) ถึงเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี จริงๆ คงไม่มีอะไรสำคัญไปมากกว่า ความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดีของคนโดยทั่วไป ผมว่าคนไทยเราแสดงความเคารพต่อผู้มีพระคุณ (ที่เป็นคนทรงคุณธรรม) หรือไม่เฉพาะแต่คนไทย วิธีการยกย่องสัญลักษณ์ของคุณธรรม (หรือทำที่เป็นคุณ) เขาก็เป็นคนที่ช่วยจรรโลงหรือสนับสนุนการทำความดี ซึ่งจะเป็นหลัก เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นต่อไป ต่อให้เป็นธุลีก็คงไม่เป็นไร นั่นคือคล้ายในแุดมคติ แต่หากการกลับกัน มันก็คงเป็นการกระทำที่ดูไร้ค่า และควรจะได้รับการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

Submitted by ชานนท์ on

อ่านมาคร่าว ๆ พอเป็นประเด็นได้ดังนี้ครับ
1. ของคุณpeatที่ว่า ยังมีพรรษาเป็นตัวกำหนด คือจริง ๆ ต้องดูเจตนารมย์ของข้อนี้ครับ คือ ต้องการให้เป็นการลดทิฐิของบุคคลที่มีอายุมากกว่าแต่มาบวชทีหลัง หรือผู้มาบวชทีหลังรู้ธรรมมากกว่าย่อมไม่ข่มท่านผู้มีพรรษามากกว่าเพื่อให้สังคมสงฆ์เป็นสุข
2. ประเด็นของ "มุกหอม วงษ์เทศ อธิบายว่า
จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก แต่เป็นเครื่องขวางการบรรลุธรรม อันเนื่องมาจากภาษาที่เต็มไปด้วยการหลงยึดติดในมายาและมิจฉาทิฐิแห่งลัทธิเทวราช คิดแบบเซนแล้วคงต้องปัดกวาดผงฝุ่นราชาศัพท์จากกระจกเงาแห่งภาษาธรรมและภาษาพรรณนาตถาคตให้หมดสิ้น หนทางแห่งการบรรลุ“พุทธะ” จึงจะปรากฏ"
ผมเห็นแย้งนะครับ แย้งตรงที่ว่า การที่จะบรรลุธรรมแต่ละขั้นนั้นมีวิธีในการบรรลุแต่ละขั้นอยู่แล้ว ผู้ปรารถนาที่จะบรรลุธรรมย่อมแสวงหาหนทางในการบรรลุที่ถูกจริตกับตนได้อย่างเหมาะสม เพียงแค่คำศัพท์คงไม่อาจขวางผู้ประสงค์จะบรรลุธรรมได้ เพียงแต่สิ่งที่ขวางจริง ๆ ในการบรรลุธรรมสู่ขั้นนิพพานคือ การหลงยึดอยู่ในปิติกับสุขของธรรมต่างหาก
3. การนำพุทธะต่าง ๆ ไปยึดติดกับลัทธิเทวนิยม เป็นการสร้างขึ้นรูปแบบความคิดใหม่แบบสยาม เมื่อนำเอาแนวคิดของขอมมาใช้ในวังและวัดครั้งลัทธิขอมครองเมือง แม้กระทั่งทุกวันนี้ความคิดนั้นก็ยังอยู่

Submitted by peat on

ผมชอบทุกคอมเมนต์เลยครับ เพราะความรู้ผมน้อย กาพย์กลอนก็ไม่เก่ง บางเมนต์ยังไม่เข้าใจเลยว่าจะสื่ออะไร
ว่ากันแบบตรง ๆ แดงไพร่อย่างผมไม่อยากใช้พวกมากลากไป ไม่อยากให้ศาสนาเสื่อมถอย (ไม่เฉพาะพุทธนะครับ ในคริสต์เองก็มีไม่น้อย) ไม่อยากให้ระบบบางอย่างหายไป ลองเทียบเคียงดูกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ใช้อาวุธล่าอาณานิคม ไม่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่น แต่เราจะครอบงำคนของประเทศใดประเทศหนึ่งได้สมัยใหม่เค้าใช้คำว่าอะไรนะครับ (ผู้รู้และฉลาดบอกมาหน่อย) ใช้เงินแสดงอำนาจ ใช้เงินแสดงบารมี และใช้เงินแสดงสิทธิอันชอบธรรม ใช้วัตถุนิยมครอบงำให้คนในประเทศหลงระเริง ใช้ทุนนิยมครอบงำให้คนในประเทศเห็นเงินเป็นเรื่องสำคัญ ผมรักคุณทักษิณก็ไม่ได้หมายความว่าผมต้องไปเกลียดใคร หรือบอกว่าสิ่งนั้น
บุคคลนั้น ระบบนั้น ไม่ดี หรือนำมาเกี่ยวรวมกัน เพราะมันไม่เกี่ยวกัน นั่นล่ะครับที่ผมว่าเป็นประเด็น อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับศาสนา ไม่ว่าใช้คำอย่างไรคนก็เข้าไม่ถึงหรอกครับ เพราะมันเพียงแต่ได้ยิน แต่ไม่ได้ฟัง ไม่เกี่ยวกับการใช้ศัพท์แสงอะไรสักเท่าไหร่ เปรียบเทียบเป็นอย่างนี้ไม่รู้จะถูกหรือเปล่านะครับว่า ผมฟังพระท่านนึงเทศน์เรื่องการใช้ชีวิตให้มีความสุขต้องปฏิบัติธรรมข้อนั้น ธรรมข้อนี้ พูดไปหนึ่งชั่วโมง ผมฟังคุณทักษิณพูดเรื่องการใช้ชีวิตให้มีความสุข ต้องมีเงิน อยากทำอะไร ซื้ออะไร ก็ได้ทำ เศรษฐกิจเราดีขึ้น ๆ ผม(คุณทักษิณ) จะทำให้พวกเราหายจน พูดไปหนึ่งชั่วโมงเท่ากัน ทุกท่านว่าไงครับแบบไหนบรรลุธรรมกว่ากัน ฮา.

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ลองไปอ่าน "รัฐนาฏกรรม" ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดนะครับ จะเห็นภาพชัดขึ้นว่านาฎกรรมหรือการแสดงความอลังการเชิงสัญญะแห่งอำนาจ บารมีของรัฐราชาธิปไตยนั้นเขามีอะไรบ้าง พระราชพิธีต่างๆทางชลมารค สถลมารคที่ทุ่มทุนแบบอลังการงานสร้าง ไปจนถึนางห้าม วัดหลวง ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของนาฏกรรมที่ว่านั้น

แน่นอน ราชาศัพท์คือนาฏกรรมสำคัญอันหนึ่ง รวมทั้งการใช้ศาสนาสถานปนาหรือ "อวย" ความมีบุญญาธิการและสิทธิธรรมต่างๆ ด้วย อย่าง "พุทธชยันตีเฉลิมราช" นี่ก็คือส่วนหนึ่งของนาฏกรรมนั้น

ส่วนที่ว่าไม่ยึดติดเรื่องภาษา ภาษาเป็นแค่สมมตินั้น ผมไม่ปฏิเสธ ความจริงก็คือปัจเจกสามารถทำเช่นนั้นได้ ปัจเจกสามารถใช้หลักธรรมมาปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานได้ แม้ว่าจะอยู่ในระบบสังคมการเมืองแบเผด็จการหรือประชาธิปไตย แต่บทความนี้ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับการบรรลุธรรมของปัจเจกนี่ครับ

ผมคิดว่าคำถามสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับชาวพุทธคือ พุทธศาสนาถูกใช้ในทางสังคมการเมืองอย่างไร อย่าลืมว่าแม้แต่งานฉลองพุทธชยันตีที่ทุ่มงบมหาศาล ก็เป็นเรื่องการใช้พุทธศาสนาในทางสังคมการเมือง หรือเป็นเรื่องที่รัฐใช้ภาษีประชาชนส่งเสริมศาสนา จึงต้องถามว่าถ้าเช่นนั้นมันเกิดประโยชน์ต่อการสนับสนุนเสรีภาพ ความเป็นธรรม สันติภาพทางสังคมเป็นต้นอย่างไร

Submitted by น้ำลัด on

มีคนในป่าลึกลับ มีสังคมแบบปิด
มีหัวหน้าเผ่า มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่า
มีการจับเอาสมาชิกในเผ่าเข้าพิธีบูชายัญ
สมาชิกในเผ่าก็ต้องตายไปบ้าง ถือว่าเสียสละเพื่อเผ่า
แต่หัวหน้าเผ่าต้องอยู่กับเผ่าต่อไปจนตาย

อุ่งบ่ะ อุ่งบ่ะ อุงบ่ะ...

เมื่อเผ่าขยันออกลูก มีสมาชิกเผ่าอยู่อื้อเลย...
สมาชิกกระจายอยู่ไปทั่วด้วยระยะทางไกล
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่าใช้ไม่ได้อีกแล้ว
เผ่าใหญ่ได้สร้างเทพนิยายขึ้นมาแทน
เป็นเทพในจินตนาการที่มีอานุภาพครอบคลุมพื้นที่กว้างไกล
คนไหนได้รับการยกย่องดั่งเทพ
ก็จะได้รับการปรนนิบัติยกย่องสรรเสริญ

โอม...จะมาก็มาสิวะ...โอม...จะมาก็มาสิวะ...

เจ้าชายองค์หนึ่ง เกิดมามีชีวิตดุจเทพเจ้า
ได้รับการปรนนิบัติเอาใจใส่จนเบื่อจนเลี่ยน
เลยออกแสวงหาสิ่งธรรมดาๆ เพื่อคนธรรมดาๆ
หาจนค้นพบความธรรมดา บอกเล่าให้กับคนธรรมดา
ตัวเองก็ต้องการเป็นคนธรรมดา อยู่อย่างธรรมดา
บอกเล่าให้ฟังกันอย่างธรรมดา...

นโมตัสสะ...นโมตัสสะ...

2600 ปีต่อมา...เจ้าชายองค์นั้นกลับกลายเป็นเทพเจ้าอีกแล้ว
กลายเป็นสิ่งไม่ธรรมดา มีคนกราบไหว้บูชา (และขอหวย)

ขอให้รวย...ขอให้รวย...

Submitted by กรรม on

โว๊ะ โว๊ะ โว๊ะ โว้วววว์ ว์

ผมว่าน่าสนใจ ปนน่ากังขา มากนะครับ ตรงนี้
ความธรรมดาอะไรกันครับ

หมายความว่า เราไม่ต้องขวนขวาย ไม่ต้องบากบั่นพากเพียร แค่ทำตัวตามธรรมชาติ ตามสบาย ก็คือการบรรลุธรรมแล้วอย่างนั้นหรือ

ที่พระพุทธเจ้าอุตส่าห์บำเพ็ญเพียรแทบตายนั่น ก็คือ เพื่อค้นพบสิ่งที่คนธรรมดา มีอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว แค่นั้นเองหรือ

ผมว่าศาสนาพุทธ บอกล่าเรื่องราวต่างๆอย่างเรียบง่ายที่สุดแล้วนะ ไม่น่าจะมีใครเข้าใจอะไรผิดไปได้ ผม ขอเรียบเรียงความเข้าใจในศาสนาพุทธของผมใหม่อีกที คิดว่าน่าจะเข้าใจตรงกันและรับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว คือ

พระพุทธเจ้าบอกว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย เมื่อตายแล้ว ก็ต้อง เกิดอีก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ นับชาติ นับภพไม่ถ้วน บางครั้งไปเกิดในสวรรค์ บางครั้งไปเกิดในนรก บางตรั้งไปเกิดเป็นเดรัจฉาน บางครั้งไปเกิดเป็นเปรต และทุกครั้งที่มีการเกิด จะต้อง มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เป็นของแถมตามมาควบคู่กันไปทุกครั้ง ซึ่งทำให้ชีวิตของเรานี้ โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็คือ มีแต่ความทุกข์เท่านั้น ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้น ดับไป

ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่สุดแสนจะทานทนได้ มันเรื่องอะไรที่เราจะต้องเกิดมาเพื่อประสบแต่ความทุกข์ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะพ้นทุกข์เหล่านี้ไปได้ ซึ่งในที่สุด ก็ทรงค้นพบหนทางนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของเราล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เพราะสุขทุกข์ จะให้ใครมาช่วยปลดเปลื้องให้นั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ตนแลต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน ศาสนาพุทธจึงตัดพระเจ้าออกไปจาก ณ ตรงนี้ หลังจากนั้น จึงบอกว่า ถ้าจะพึ่งใครซักคน ก็ให้พึ่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งก็พึ่งได้แค่ในฐานะผู้ชี้ทาง ผู้บอกทาง ผู้แนะนำหนทางที่ถูกต้อง แต่คนปฏิบัติ คนเดินตามทางนั้น จะต้องเป็นตัวเราเอง ที่ต้องบากบั่นพากเพียรเอาเอง โดยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด ซึ่งมีจุดหมายในที่สุด คือ ความพ้นทุกข์โดยเด็ดขาด นั่น คือ ไม่ต้อง กลับมาเกิด ไม่ต้องกลับมาวนเวียนในสังสารวัฏอีกต่อไป

ส่วนสาระในมรรคแปดนั้น สรุป ก็ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ซึ่งมีความชัดเจน เข้าใจได้ ปฏิบัติตามได้ ไม่มีตรงไหนที่จะทำให้ สับสน หรือไม่ชัดเจน อย่างเช่น ศีล
ศีลข้อแรก ห้ามฆ่าสัตว์ การไม่ฆ่า ตามความเข้าใจของผม กับควมเข้าใจของคนอื่นๆ ต่างก็ตรงกัน ไม่ขึ้นอยู่กับการตีความ หรือ รสนิยมส่วนตัวของใคร ห้ามฆ่าก็คือห้ามฆ่า แม้แต่เด็กๆ ก้รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ห้ามลักทรัพย์ ห้ามโกหก ฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าซื่อสัตย์ต่อตัวเองจริงๆแล้วล่ะก็ เรื่องเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่จะเข้าใจไม่ได้ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน

สมาธิก็เช่นเดียวกัน หลัก และวิธีปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติ กำหนดแนวทางไว้ให้หมดแล้ว

ส่วนปัญญา เป็นเป้าหมาย ที่เราจะต้องได้บรรลุถึงในที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อบรรลุแล้ว ก็ คือ เท่าเทียมกัน ปัญญาที่ว่านี้ คงจะมีสภาพเหมือนๆกัน ผมไม่รู้เพราะ ผมก็ยังไม่บรรลุเช่นกัน แต่ตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ ปัญญา ก็คือ นิพพาน คือสุขอย่างยิ่ง มีรสชาติเดียวกัน

สรุปคือ ศาสนาพุทธ ชัดเจน แน่นอน ไม่คลุมเครือ คุณ จะเชื่อหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ที่ผมเห็นๆอยู่ก็คือ มีบางคน ไม่พยายามเข้าใจศาสนาพุทธให้ถูกต้อง แล้ว ไปอธิบายศาสนาพุทธ ตามรสนิยมของตัวเอง เขียนหนังสือออกเผยแพร่ จนคนที่อ่านตามๆมา พากันรับเอาความคิดแบบนั้น แล้วไม่ตรวจสอบกับที่พระพุทธเจ้าสอน จึงทำให้ คำสอนของพระพุทธเจ้า ขยับคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ จน หาความแน่นอนชัดเจนไม่เจอ ใครอยากจะเข้าใจแบบไหน ก็ทำกันตามใจชอบ

ซึ่ง มาถึงตอนนี้ เราคงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ตกลง มันคืออย่างไรกันแน่

Submitted by น้ำลัด on

ผมก็เชื่อในสิ่งที่ผมเชื่อ และผมก็ไม่อยากและไม่ต้องการที่จะศึกษาพระไตรปิฎก
เพราะผมไม่เชื่อว่าพระไตรปิฎกคือเรื่องที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนจริงๆ
หรือถ้ามีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่บ้าง ก็อาจถูกเขียนเพิ่มเติมจนผิดเพี้ยนไปมากแล้วก็ได้
พระไตรปิฎกน่าจะถูกเขียนขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสียชีวิตเป็นเวลานานมากแล้ว
คำสอนและความเชื่อต่างๆที่ถ่ายทอดกันมาแบบปากต่อปากจึงอาจผิดเพี้ยนไปได้มาก

ในส่วนตัวผมเชื่อว่าตัวพระพุทธเจ้าเองไม่ได้เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
แต่ท่านคงไม่อาจทัดทานความเชื่ออันแข็งแกร่งเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของผู้คนที่มาแต่เดิมได้
ตัวท่านเองจึงต้องประกาศตนให้เป็นตัวอย่าง ว่าท่านจะนิพพานแล้วนะ ท่านจะไม่กลับชาติมาเกิดอีกแล้ว
แต่คนที่รับเรื่องนี้มากลับไม่เข้าใจ มาตีความกันไปเองว่าเพราะบุญญาธิการสูงส่งจึงเป็นเช่นนั้น
หรือเพราะการบำเพ็ญตนจนสำเร็จสู่จุดหมายสูงสุดคือการนิพพาน อะไรประมาณนั้น

หลักการและคำสอนในพุทธศาสนาที่เห็นๆ มักจะเป็นไปอย่างธรรมชาติ
มีที่มามีที่ไป เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีเรื่องอิทธิฤทธิ์ปฏิหารย์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด
มันจึงเป็นเหมือนสมการทางคณิตศาสตร์ที่จะอธิบายกลับไปกลับไปกลับมาได้
ก็เป็นเหมือนเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วตั้งเป็นทฤษฎีกันขึ้นมา
อย่างทางฟิสิกส์บอกว่า แรงกิริยาเท่ากับแรงปฎิกิริยา ซึ่งเป็นกฏพื้นฐานธรรมดา
แต่ก็ต้องมีการอธิบายและต้องเขียนเป็นกฎเช่นกัน
คือมันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนธรรมดามักไม่อาจอธิบายกันได้
คนที่จะอธิบายเรื่องธรรมดาๆให้เข้าใจถ่องแท้กันได้ จึงเป็นคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

อย่างศีลนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ท่านอาจเพียงแค่หยิบยกต้นเหตุของปัญหาสังคมในสมัยนั้น
มาเพียงแค่ 5 ข้อ ให้ลองคิดทบทวนและหักห้ามใจกันดู ถ้าทำได้ก็จะช่วยลดปัญหาสังคมลงได้ ก็แค่นั้น

มันอาจจะไม่จำเป็นต้องมาสวดอาราธนาศีลกันทุกครั้งซ้ำๆซากๆ ทุกๆครั้งที่มีการนิมนต์พระสงฆ์...เพื่ออะไร?
หรือว่าศีลนี่คือกฎที่เก็บไว้บนสววรค์ชั้นฟ้าหรืออย่างไร จะต้องสวดอ้อนวอนให้ศีลเสด็จลงมาหรืออย่างไร?

คนธรรมดาที่ไม่ยอมรับรู้เข้าถึงสิ่งธรรมดา ก็จะเอาสิ่งธรรมดานั้นมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
กราบไหว้บูชา สวดมนต์วิงวอนขอทุกสิ่งทุกอย่างกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ
ทั้งๆที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆก็คือสิ่งธรรมดาที่ถูกสถาปนาขึ้นให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ผมคิดว่าผมคงกลายเป็น "คนนอกรีต" ไปแล้วละครับ

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

คุณน้ำลัด

ผมว่าคุณน่าจะลองอธิบายศาสนาพุทธตามความคิดของคุณ มาดูทีซิ ถ้าเกิดมันเป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่ควรเชื่อ ผมหรือคนอื่นๆ ก็จะพลอยได้ประโยชน์ด้วย

อีกประการ

ถ้าคุณไม่อ่านพระไตรปิฎก หรือไม่ยึดตามพุทธวจนะ แล้วคุณสามารถ สรุปว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร ได้อย่างไร (ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ผมแค่ไม่รู้ว่า มันเป็นไปได้อย่างไร)

แล้วศีลห้า มีความจำเป็นอะไรจะต้องให้ไปช่วยแก้ปัญหาสังคม ในเมื่อ ปัญหาสังคม ก็มีกฏหมายเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว มีประสิทธิภาพกว่า และให้ผลเร็วทันตาเห็น ผมว่าถ้าคิดจะแก้ปัญหาสังคม ก็ไม่ต้องใช้ศาสนาก็ได้ ยกตัวอย่าง ศีลข้อแรก คือ ห้ามฆ่าสัตว์ จุดมุ่งหมายไม่ได้มีไว้เพื่อให้สังคมสงบสุขแน่นอน ที่จริงแล้วคิดดูให้ดีๆ น่าจะทำให้ชีวิตลำบากยิ่งขึ้นมากกว่า ศาสนาคริสต์และอิสลาม ก็ไม่ได้ห้ามฆ่าสัตว์ และกฏหมายของทุกประเทศก็ไม่ได้มีใครห้ามฆ่าสัตว์ เพราะการลดปัญหาของสังคม ไม่มีความจำเป็นต้องห้ามกันถึงขนาดนั้น เราจะเอาอะไรกินกัน ถ้าไม่ให้ฆ่าสัตว์ ดังนั้น ที่คุณตั้งสมมติฐานว่า ศีลมีเพื่อลดปัญหาของสังคม จึงไม่น่าใช่ ยิ่งศีลแปด นี่มีข้อห้ามเสพเมถุนอยู่ด้วย ถ้าทุกคนปฏิบัติตาม เพียงแค่ไม่เกินร้อยปี มนุษย์สูญพันธ์หมดโลก (ที่นี้ รับรองสังคมสงบสุขแน่นอน อิ อิ.) แค่ศีลแปดนี่ก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ศีล มีไว้ทำลายโลก (ดับภพ ดับชาติ) แต่ในเมื่อ คุณไม่เชื่อพระไตรปิฎก ดังนั้นเรื่องศีล คุณก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคงไม่ได้สอน ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลอะไรๆ ทั้งนั้นก็ได้ คุณก็เลยไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องศาสนาพุทธ ผมเลยชักอยากจะรู้ว่า ศาสนาพุทธตามที่คุณว่านั้น สอนเรื่องอะไรบ้าง ต้องเชื่ออะไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ความธรรมดาที่ว่านั้นเป็นอย่างไร

(และที่คุณบอกว่าไม่ต้องเชื่อในพระไตรปิฏกนั้นผมก็เห็นด้วยอยู่บ้าง คือไม่ต้องเชื่อ เฉพาะในส่วนที่พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นคนบอกหรือเป็นส่วนที่ต่อเติมภายหลัง แต่ให้เชื่อเฉพาะคำของพระพุทธเจ้า หรือ พุทธวจนะเท่านั้น ตามความคิดของผมนะครับ)

Submitted by น้ำลัด on

ผมไม่ใช่ผู้รู้ในพุทธศาสนา
ผมเพียงแต่วิจารณ์ไปตามที่ตนเองคิด ตามที่ตนเองรู้สึกได้
จากการที่ได้สัมผัสพุทธศาสนาแบบงูๆปลาๆมาตั้งแต่เด็กๆ
เพราะถูกบังคับให้เรียนตั้งแต่ตอนประถม
แล้วก็มาเห็นวัดแบบบ้านๆ วัดแบบป่าๆ วัดแบบเมืองๆ
และยังมีนิกายใหม่ๆหลากหลายรูปแบบ

ถึงศีลในพุทธศาสนา อาจจะมีบทบาทลดลงในการแก้ปัญหาสังคมในสมัยนี้
แต่ลองย้อนนึกถึงตอนพุทธกาล ไม่รู้ว่ามีกฎหมายใช้กันหรือยัง?
ศีลในพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆ ก็น่าจะถูกใช้เพื่อลดความขัดแย้งกันระหว่างผู้คน
นั่นหมายถึงศาสนาต่างๆล้วนอุบัติขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสังคมทั้งนั้น...ผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ
แล้วกฏหมายนะเกิดขึ้นทีหลัง ซึ่งแรกๆก็คงต้องอ้างอิงศาสนามาก่อน

ศีลข้อแรกอาจจะไม่ได้รวมถึงสัตว์ที่เป็นอาหารก็ได้
แต่มันอาจหมายถึงแค่การไม่ฆ่าคนและ/หรือการไม่ฆ่าสัตว์เลี้ยงของผู้อื่นเท่านั้น
แต่ความหมายมันอาจคลาดเคลื่อนไป เมื่อเวลาผ่านไปใครจะรู้ได้

การที่ผมไม่อ่านพระไตรปิฎกนั้น เพราะเพียงผมไม่ต้องการที่จะศึกษา
การที่ผมบอกไม่เชื่อ ผมอาจกล่าวแบบเหมารวมเกินไป
จริงๆผมแล้วต้องบอกว่า บางส่วนในพระไตรปิฎกอาจจะเชื่อถือไม่ได้
บางส่วนไม่ได้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่อาจมีการเพิ่มเติมเข้ามาเยอะแยะ
ไม่ใช่ว่าพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด แต่พระไตรปิฎกก็ย่อมมีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย
แต่ใครละที่จะสามารถศึกษาย้อนกลับ และรู้แจ้งเห็นจริงว่าพระพุทธเจ้าท่านได้สอนอะไรแบบไหนไว้กันแน่
ใครละจะมีตะแกรงวิเศษสามารถกรองคำสอนแท้จริงของพระพุทธองค์ออกมาจากพระไตรปิฎกได้

ก็คงต้องมีใครสักคณะหรือหลายคณะ ตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่าเค้าโครงคำสอนจริงๆในศาสนาพุทธน่าจะเป็นเช่นไร
อาจจะตั้งสมมุติฐานเค้าโครงไว้หลายๆแบบก็ได้ แล้วนำเค้าโครงที่ตั้งขึ้นมานี่แหละ
ลองมากลั่นกรองพระไตรปิฎกดูด้วยตรรกะระหว่างความเชื่อและคำสอน แล้วผลมันจะออกมาอย่างไร

ผมเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะต้องการหลุดพ้นจากความเชื่อต่างๆในสมัยนั้น
เมื่อท่านประกาศตนเองว่าหลุดพ้นแล้ว ก็ย่อมหมายถึงว่าท่านพบทางออก
ท่านอธิบายความเป็นไปของสรรพสิ่งในโลกได้ ท่านหลุดพ้นจากการครอบงำของเรื่องเทพเจ้าทั้งปวง
และท่านหลุดพ้นจากความเชื่อต่างๆในอดีต ที่เชื่อต่อๆกันมานาน ว่ามันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น
แล้วความเชื่อเก่าอะไรบ้างละที่พระพุทธองค์ไม่เชื่อและท่านได้หลุดพ้นจากความเชื่อเหล่านั้น

หิวข้าวแล้วครับ...ไปหาข้าวกินก่อน

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

วิธีพิสูจน์ว่า อย่างไรๆ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีบัญญัติไว้ให้แล้ว คือ หลัก มหาปเทส นอกจากนั้นก็ยังมีคณะบุคคลที่ทำการค้นคว้าสอบสวน คัดกรองเอาแต่ธรรมมะแท้ๆของพระพุทธองค์ มาถ่ายทอดให้เราแล้วเช่นกัน ค้นหาได้ง่ายๆในหัวข้อ พุทธวจน

ผมก็ไม่ใช่ผู้รู้ในศาสนาพุทธเช่นกัน และศาสนาพุทธ ก็ไม่ได้ต้องการความเป็นผู้รู้อะไรมากมายนัก รู้แค่ ทาน ศีล ภาวนา ก็พอแล้ว หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ หรือ ศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ วนๆเวียนๆ อยู่แค่นี้แหละ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ มรรคแปด ก็แค่นี้เอง ศาสนาพุทธ ผมว่า เรื่องแค่นี้ใครๆก็รู้ แต่ มันก็แปลก ที่พอเอาเข้าจริงๆแล้ว คนกลับไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปรุงแต่งคำสอนขึ้นมาเอง จนไปๆมาๆ กลายเป็นว่า ไม่รู้ว่าอันไหนคือ คำของศาสดากันแน่ พูดกันไปคนละทิศละทาง ดังนั้นความยากในการทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่ได้อยู่ที่ไม่เข้าใจธรรมมะ หรือธรรมมะนั้นเข้าใจยาก แต่กลายเป็นว่ายากเพราะเราไม่รู้ว่า อันไหนคือธรรมมะของพระพุทธเจ้ากันแน่

โดยส่วนตัวผมเองนั้น รู้สึกว่าตนเองโชคดี เพราะมั่นใจว่า ผมพบคำสอนแท้ๆของพระศาสดาแล้ว และรู้สึกว่ามันง่ายมาก ก็อย่างที่บอกแต่ต้น ก็แค่ ทาน ศีล ภาวนา แค่นั้นแหละ เรื่องหลักๆ ก็มีแค่นี้ ส่วนเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ก็เอามาคุยแรกเปลี่ยนกันเล่นๆ ถูกบ้าง ผิดบ้าง ไม่ใช่สาระอะไร

ส่วนเหตุผลที่ต้องนับถือศาสนาพุทธก็เพราะ ต้องการพ้นทุกข์ ไม่เกี่ยวกับสังคมแต่อย่างใด และมันก็เพียงพอแล้ว ไม่เห็นจะขัดแย้งกับที่พระพุทธเจ้าบอกตรงไหน เราต้องการอะไร พระพุทธเจ้าก็ให้สิ่งนั้นแก่เรา แค่นี้เอง ส่วนคำพูดทำนอง ผมคิดว่า ผมเชื่อว่า ผมว่าน่าจะ อะไรเหล่านี้ ไม่มีความหมาย หาประโยชน์อะไรไม่ได้ และ ไม่เคยมีปรากฏในลักษณะการพูด หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า

Submitted by น้ำลัด on

ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ถ้าคุณรักเสื้อเหลืองพบคำสอนแท้ๆของพระศาสดาแล้ว

ส่วนผมคงไม่พบหรอก...เรื่องหนทางพ้นทุกข์นะครับ
แล้วผมเองก็ไม่ได้อยากจะหนีจากความทุกข์สักเท่าไหร่
ก็เลยไม่ได้ไปไขว่คว้าหาทางพ้นทุกข์
แต่ในทางกลับกันผมกลับจะต้องเลี้ยงไอ้เจ้าความทุกข์นี้ไว้ด้วยซ้ำ
คือคนเราจะสุขได้มันต้องมีตัวเปรียบเทียบไงครับ
ถ้าเราไม่รู้จักความทุกข์เลย เราก็คงไม่รู้จักความสุขเลยเช่นกัน

คนเราย่อมมีมุมมองและทางเดินของชีวิตที่แตกต่างกันไป
บางทีมันก็ยากที่จะปรับความเข้าใจ ยากที่จะอธิบายให้เข้าใจกันได้
หลายๆคนเมื่อเข้าใจในชีวิต ก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสนาในการดำรงชีวิต
บางคนเขาก็อาจจะยึดถือเพียงว่าผมนับถือคุณ คุณนับถือผม
ต่างคนต่างนับถือกัน เพียงเท่านั้น ก็จะอยู่ร่วมโลกกันได้แล้ว
หรืออย่างศาสนาคริสต์ที่เขาพร่ำสอนพร่ำปฏิบัติกัน ก็คือการให้อภัยกัน
มอบความรักซึ่งกันและกัน 360 องศารอบตัว แค่นั้นก็ทำให้โลกน่าอยู่แล้ว

ไม่ว่าคนนั้นจะนับถือศาสนาใดๆ หรือไม่นับถือศาสนาใดๆเลย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ตราบใดที่คนๆนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ไปรบกวนคนอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
ไม่ได้ทำอะไรให้คนอื่นขุ่นข้องหมองใจไม่พอใจ
ตราบใดที่ปฏิบัติตนไปตามกติกาของสังคม ไม่เป็นปัญหาไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่นและสังคม
คนนั้นๆก็ย่อมที่จะสามารถดำรงชีวิตของตนเองอย่างปกติสุขไปจนตาย

ผมก็ยังคงยืนยันว่าคนเราเป็นสัตว์สังคม
ทุกศาสนาก็กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้สังคมสงบสุขทั้งนั้นครับ
ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแบบจุลภาค
คือเน้นให้แต่ละคนปฏิบัติดี สุดท้ายสังคมก็จะดีเอง ถ้าทุกคนปฏิบัติได้
ความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายก็จะลดลง ถ้าทุกคนปฏิบัติดี มีความเอื้อเฟือต่อกัน

ศาสดาของศาสนาพุทธตามแนวคิดของผมนั้น
ท่านไม่ใช่ผู้วิเศษ ท่านไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์อันใด
ท่านไม่ได้บำเพ็ญเพียรสะสมบารมีมาเก้าชาติสิบชาติแต่อย่างใด
หากแต่ท่านไม่พอใจในชีวิตที่ท่านสัมผัสอยู่ขณะนั้น
ท่านออกแสวงหาวิธีการดำรงชีวิตที่ดีกว่า
เมื่อท่านพิจารณาแนวทางต่างๆแล้ว จึงเสนอแนวทางใหม่ในการดำรงชีวิตแก่คนอื่นๆ
เมื่อคนอื่นๆเห็นดีเห็นงามด้วยก็ปฏิบัติตามท่านสืบต่อกันมา
แล้ววันดีคืนดี ก็มีคนรวบรวมข้อปฏิบัติและคำสอนของศาสดาขึ้นมา
เรียกกันว่าพระไตรปิฎก แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่าคณะผู้เขียนพระไตรปิฏก
ได้เจือปนแนวคิด ความเชื่อ และข้อปฏิบัติต่างๆที่พวกตนยึดถือเข้าไปมากน้อยเพียงใด
มันเหมือนกับคำสอนและข้อปฏิบัติจริงในสมัยพุทธกาลหรือไม่

ทั้งนี้ทั้งนั้น...ผมก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า สิ่งที่ผมกล่าวมานั้นถูกต้องหรือไม่

Submitted by น้ำลัด on

----------------------
รักเสื้อเหลือง wrote:
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ส่วนคำพูดทำนอง ผมคิดว่า ผมเชื่อว่า ผมว่าน่าจะ อะไรเหล่านี้ ไม่มีความหมาย หาประโยชน์อะไรไม่ได้ และ ไม่เคยมีปรากฏในลักษณะการพูด หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

ผมเชื่อท่านครับ...
คืออย่างน้อยพระพุทธเจ้าก็พูดภาษาไทยไม่ได้
ก็เลยพูด "ผมคิดว่า...ผมเชื่อว่า" ไม่ได้อย่างแน่นอน...ใช่ไหมครับท่าน

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

ในการดำรงชีวิตนี่ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บอกว่า ให้ใช้ศาสนานี่ครับ และศาสนาพุทธนี้ ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้น คุณก็ไม่ได้ดำรงชีวิตผิดอะไรนี่ครับ และผมก็ไม่ได้ใช้ศาสนาเพื่อการดำรงชีวิตด้วยเช่นกัน (ที่จริงผมว่ามันน่าสงสัยมากเลยทีเดียวว่า คนแบบไหนกันที่ใช้ศาสนาเพื่อการดำรงชีวิต อิ อิ)

"ทุกศาสนาก็กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้สังคมสงบสุขทั้งนั้นครับ"

ผมว่าข้างบนนั้น เป็นเพียงความคิดของคุณเท่านั้น และ ผมเองก็ไม่ได้คิดจะไปบีบบังคับหรือจะไปเที่ยวระรานความคิดของใครหรอกครับ เพียงแต่ผมคิดว่าคุณควรให้ความยุติธรรมแก่ศาสนาพุทธด้วย พระพุทธเจ้าบอกไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วว่า ศาสนานี้ มีเพื่อความดับทุกข์ และเป็นเรื่องปัจเจก ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คุณเองก็แลเห็นและยืนยันในลักษณะนี้ของพุทธอยู่แล้ว แต่ยังไงไม่รู้ คุณ ก็กลับไปเหมาเอาว่า ศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในศาสนาที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือสังคม ผมว่า เขาตั้งเป้าไว้อย่างหนึ่ง แต่คุณไปบอกว่าเขามีเป้าหมายเพื่ออีกอย่างหนึ่ง แล้วพอ เห็นว่ามันไม่น่าจะเข้าเป้านั้น คุณก็เลยไปคิดว่า เขาล้มเหลว หรือ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ศาสนาพุทธ ผมว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า

"เมื่อท่านพิจารณาแนวทางต่างๆแล้ว จึงเสนอแนวทางใหม่ในการดำรงชีวิตแก่คนอื่นๆ"

ที่จริงพระพุทธเจ้าบอกธรรมมะนี้ มีมาแต่เดิมแล้ว พระองค์เป็นเพียงผู้ค้นพบ และก่อนหน้านี้ ก็เคยมีพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ได้เคยค้นพบมาแล้ว นับจำนวนไม่ถ้วน

"ท่านออกแสวงหาวิธีการดำรงชีวิตที่ดีกว่า "

ผมก็ไม่รู้สึกว่าดีกว่านะ คือการออกไปอาศัยตามโคนต้นไม้ บ้านช่องมีไม่ได้ เสื้อผ้าก็ให้มีแค่ชิ้นเดียวหรือแค่สามชิ้น อาหารก็ให้ไปขอเขากินเอาตามมีตามเกิด ห้ามเก็บสะสมอาหารอีกด้วย ทุกวันคืนก็ให้พากเพียร เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ทำอยู่อย่างนี้ ดูให้ดีๆ ทุกการกระทำมีเป้าหมาย ชัดเจน แน่นอน ไม่ใช่ ทำไปเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ หรือ เพื่ออยู่ไปวันๆ

อันนี้เป็นข้อสังเกตุนิดๆหน่อยๆนะครับ ประเด็นคือ ลักษณะ และวิธีการ และเป้าหมายของศาสนาพุทธ มีไว้เพื่อปัจเจก หรือเพื่อสังคมกันแน่ เราสามารถถอดเอาจาก คำสอนได้ ว่า จริงๆแล้ว ศาสนาพุทธ มุ่งไปที่ตรงไหน ลองๆค้นดูแล้ว เอามาเปิดหูเปิดตาให้ผมได้รู้ก็จะเป็นพระคุณ และผมว่า นี่คือ จุดเริ่มต้น นี่คือคำตอบ ของปัญหาทั้งมวล ที่คนเราจะนับถือ หรือไม่นับถือ ศาสนาพุทธ คือ ถ้าศาสนาพุทธมีเพื่อแก้ปัญหาสังคม มีเพื่อแค่ให้สังคมสงบสุข สำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธอยู่แล้ว ผมว่า งั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาพุทธอีกต่อไป นับถือกฏหมายดีกว่า แต่ถ้าศาสนาพุทธ มีเพื่อช่วยเหลือปัจเจกบุคคลแต่ละคนให้พ้นทุกข์ ต่างคนต่างก็ต้องทำเอาเอง เราก็นับถือได้ โดยไม่ต้องเกรงว่าใครเขาจะดูหมิ่นว่า โง่งมงาย

และข้อสังเกตุอีกอย่าง คือ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คนที่บอกว่า ศาสนาพุทธเป็นแค่ความเชื่อนั้น ก็ได้ยกตัวเองไปเรียบร้อยแล้วว่า มีสติปัญญาสูงล้ำกว่าพระพุทธเจ้า อิ อิ อิ.

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

อ้อ เห็นทีต้องขยายความเห็นเล็กน้อย

ตรงที่บอกว่า ผมคิดว่า ผมเชื่อว่า ผมเดาว่า นั่นน่ะ ผมหมายถึงเราทุกคน โดยเฉพาะตัวผมด้วย ไม่ได้หมายถึงคุณน้ำลัดเพียงคนเดียวนะครับ และยิ่งไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้าแน่นอน ตรงนี้ผมเขียนรวบๆ ข้ามๆค่อนข้างมากเกินไปหน่อย เลยทำให้งง ต้องขอโทษที ดู reply ของผมเองก็ได้ ผมใช้คำว่าผมว่า ผมว่า ผมว่า ไม่รู้จะกี่คำ ซึ่งแน่นอน เราไม่ใช่สัพพัญญู จะพูดให้มันหนักแน่นมั่นคงอย่างพระพุทธเจ้าเห็นจะเกินสติปัญญาไปหน่อย เพียงแต่ผม จะยกมาให้สังเกตุ ดูวิธีพูดของพระศาสดาเทียบกับบรรดาเราๆ เท่านั้นเอง เรียกว่า ถ้าคุณคิดว่าพระธรรมเป็นการโกหกละก็ ต้องนับว่าพระพุทธเจ้าเสี่ยงมากทีเดียว หากใครสามารถหาข้อหักล้างได้ว่าไม่จริง ได้เพียงคำเดียว ความน่าเชื่อถือก็จะหมดไปทันที

ดังนั้นส่วนที่คุณบอกว่า คุณคิดว่าศาสนาพุทธ คือ อย่างนั้น อย่างนี้ นั่นน่ะ ก็ถูกต้องแล้ว คุณคิดของคุณแบบนั้น ผมคิดของผมแบบนี้ แล้วเราจะค่อยสางมันออกมาว่า ในที่สุดถ้าตัดส่วนที่ขัดแย้งกันเอง หรือขัดแย้งกับหลักฐานที่เห็นว่าเชื่อถือได้แล้วออกไป มันจะเหลืออะไรได้บ้าง.