พุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบพันธมิตร (?)

สุรพศ ทวีศักดิ์

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
 
  
ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 6 ปีมานี้ เห็นได้ชัดว่าหลายสิ่งหลายอย่าง “ถูกทำให้เบี่ยงเบน” ไป บางคนบอกว่าความขัดแย้งไม่รู้จบเพราะสังคมแบ่งเป็นสีเหลือง สีแดง แต่หากมองอีกแง่หนึ่งถึงสังคมจะแบ่งเป็นกี่สี หาก “สถาบันหลัก” ของสังคมไม่ถูกทำให้เบี่ยงเบนไป ยังสามารถดำรงความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ ความขัดแย้งก็อาจไม่ร้าวลึกถึงเพียงนี้ เช่น สถาบันองคมนตรี โดยเฉพาะถ้าประธานองคมนตรีที่ยกย่องกันว่าเป็น “เสาหลักทางจริยธรรม” มีความซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามยุ่งการเมืองก็ไม่ยุ่งจริงๆ (เป็นต้น) ปัญหาก็จะไม่บานปลายมากขนาดนี้
 
ส่วนสถาบันอื่นๆ เช่น กองทัพ ตุลาการ พรรคการเมือง สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ ถ้ามองจากจุดยืนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทุกสถาบันล้วนถูกตั้งคำถามถึง “บทบาทที่ควรจะเป็น” หรือกระทั่ง “ความล้มละลาย” ในการทำหน้าที่บนอุดมการณ์ประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ
 
ในท่ามกลางการถูกทำให้เบี่ยงเบนของแทบทุกสิ่งทุกอย่างนั้น คำพูดของพุทธทาสที่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่…” ก็ถูกทำให้เบี่ยงเบนไปเช่นกัน โดยฝ่ายหนึ่งนำมาอ้างซ้ำๆ เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตนเอง และอีกฝ่ายก็นำมาโจมตี ราวกับว่าพุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยในความหมายของฝ่ายหนึ่ง และปฏิเสธประชาธิปไตยในความหมายของอีกฝ่าย
 
แท้จริงแล้ว การจะสรุปว่า พุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบที่พันธมิตรเรียกร้อง (ประชาธิปไตยแบบรักษา/เพิ่มพระราชอำนาจ ยอมรับรัฐประหารด้วยข้ออ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์) หรือปฏิเสธประชาธิปไตยแบบที่เสื้อแดงเรียกร้อง (ประชาธิปไตยแบบลดพระราชอำนาจให้เหมือนอังกฤษหรือญี่ปุ่น ปฏิเสธ/ยุติรัฐประหารอย่างถาวร) นั้น ไม่อาจสรุปได้เพียงจากการอ้างคำพูดบางประโยคเท่านั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสทั้งระบบ ซึ่งผมอยากชวนวิเคราะห์ในประเด็นหลักๆ (โดยย่อ) ต่อไปนี้
 
บริบทและหลักการเสนอความคิดทางการเมือง
 
ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสที่เป็นระบบที่สุดปรากฏในหนังสือชุดธรรมโฆษของพุทธทาส เรื่อง “ธรรมะกับการเมือง” (และที่นำมาตีพิมพ์ใน “สรรนิพนธ์พุทธทาส” เป็นต้น) เป็นหนังสือรวบรวมการบรรยายประจำวันเสาร์ ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม–กันยายน 2519 ภาคอาสาฬหบูชา รวม 11 ครั้ง บริบทของการบรรยายจึงอยู่ในสถานการณ์ต่อสู้ถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสังคมนิยม ของนักศึกษา ปัญญาชน ณ เวลานั้น ก่อนที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไม่นานนัก
 
ในบริบทการถกเถียงและการต่อสู้ทางการเมืองดังกล่าว พุทธทาสได้วางหลักในการในการเสนอความคิดทางการเมืองของท่านเองว่า ต้องมีอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งท่านเรียกว่าต้องมี “อิสรภาพตามความเหมาะสม” ใน 4 ด้าน คือ[1]
 
1. อิสรภาพในการรวบรวม เราจะมีอิสรภาพในการรวบรวมมาวินิจฉัย คือจะไม่รวบรวมแต่เฉพาะของที่มนุษย์เขาพูดๆ กันไว้ เราจะรวบรวมเอามาแม้จากของพระเจ้า ของธรรมชาติอันเร้นลับ รวบรวมเอาสติปัญญาของพระเจ้า ของธรรมชาติอันเร้นลับมากองเข้าเป็นเดิมพัน...
 
2. อิสรภาพในการวินิจฉัย เราจะเป็นคนเชื่อตัวเอง นับถือตัวเอง เอาตัวเองเป็นหลัก...เราจะมีความเป็นอิสระแก่ตัวเองทำการวินิจฉัย แม้จะตีความใดๆ ก็ตีอย่างเป็นอิสระเพื่อการวินิจฉัย
 
3. อิสรภาพในการเลือก เมื่อเราวินิจฉัยมันไปทุกแง่ทุกมุมแล้ว เราจะเลือกเอาอะไร แง่มุมไหน เราก็จะต้องเป็นอิสระเหมือนกัน (เช่นเมื่อวินิจฉัยความหมายของการเมือง,ประชาธิปไตย,สังคมนิยม เป็นต้นทุกแง่ทุกมุมแล้ว ก็ต้องมีอิสรภาพที่จะเลือกความหมาย หรือแง่มุมที่เหมาะกับสังคมของตัวเอง)
 
4. อิสรภาพในการปฏิบัติ เราต้องมีอิสรภาพในการปฏิบัติเท่าที่เราได้เลือก…ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาตามที่เขาเขียนให้เราเรียน
 
โดยหลักอิสรภาพตามความเหมาะสมนี้ พุทธทาสได้วิจารณ์สภาวการณ์ทางการเมืองโดยรวมในขณะนั้น นำแนวคิดทางการเมืองต่างๆ มาวิเคราะห์ และเสนอนิยามความหมายของการเมืองของตนเอง พร้อมกับเสนอแนวคิดทางการเมืองที่อ้างอิงหลักการของพุทธศาสนา
 
ข้อวิจารณ์เสรีประชาธิปไตย/สังคมนิยม
 
พุทธทาสมองว่า คนไทยไม่มีอิสรภาพทั้ง 4 ด้านนั้น จึงไม่เป็นตัวของตัวเองในทางความคิด ทำให้รับเอาความคิดทางการเมืองแบบตะวันตกมาใช้กับสังคมตนเองอย่าง “ผิดฝาผิดตัว” ทั้งที่ประชาธิปไตยและสังคมนิยมที่รับจากเขามาก็มีปัญหาอยู่มาก ดังที่ท่านวิจารณ์ อาทิเช่น
 
ประชาธิปไตยที่ว่าเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชนนั่นแหละ ประชาธิปไตยแห่งความเห็นแก่ตัว เพราะประชาชนนั้นมันเห็นแก่ตัว แล้วประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยของผู้เห็นแก่ตัว ราษฎรที่เลือกผู้แทนก็เห็นแก่ตัว...แล้วผู้สมัครมาเป็นผู้แทนมันก็เห็นแก่ตัว ...เมื่อผู้แทนเห็นแก่ตัวไปตั้งสภาก็เป็นสภาแห่งความเห็นแก่ตัว...ถ้าสภาเห็นแก่ตัวตั้งรัฐบาลขึ้นมาก็เป็นรัฐบาลเห็นแก่ตัว[2] 
 
และว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยที่เราได้จากฝรั่งมานี้ มันเป็นเรื่องโมหะ มันยังไม่ถูกฝาถูกตัวบ้าง แล้วโดยที่เนื้อแท้มันไม่ถูกต้องด้วย ถ้าหากประชาธิปไตยหมายความว่าใครทำอะไรได้ตามชอบใจ” [3]
 
หรือ “...เสรีประชาธิปไตยในโลกนี้มันเปิดโอกาสให้กอบโกยได้ง่าย เปิดโอกาสทุกอย่าง ใครจะเลวจะดี จะกอบโกย จะเอาเปรียบอย่างไรก็ทำได้...” [4]
 
และ “ถ้ามันมีนายทุนมันก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ไม่มีสมภาพ ไม่มีเสรีภาพในประชาธิปไตยชนิดนั้น ภราดรภาพก็ไม่ต้องพูดถึง...”[5]
 
นอกจากนี้พุทธทาสยังวิจารณ์สังคมนิยมว่า  “สังคมนิยมที่ไม่เผด็จการเรียกว่าสังคมนิยมเฉยๆ นี่เพียงแต่เอือมระอาประชาธิปไตยมาเท่านั้น มันยังไม่รู้จะไปทิศทางไหน มันยังสะลึมสะลือ เสรีภาพสะลึมสะลือ ภราดรภาพสะลึมสะลือ...” [6]
 
และว่า “...สังคมนิยมที่เผด็จการสุดเหวี่ยงมันก็ยังมีหลายแง่ เพราะว่ามันเกิดมาจากไฟอาฆาตของชนกรรมาชีพที่มันถูกทรมานมานาน พอหลุดออกมาได้มันก็บ้าเลือด มันไม่ประกอบไปด้วยธรรม มันเสียเสรีภาพ...[7]
 
หากพิจารณาคำวิจารณ์โดยรวมๆ แล้ว จะเห็นว่า พุทธทาสนำเอาฐานคิดเรื่องความไม่มี “ตัวกู ของกู” หรือ “ความไม่เห็นแก่ตัว” ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ท่านเน้นย้ำเสมอๆ มาเป็นจุดยืนในการวิจารณ์สภาพการณ์และแนวคิดทางการเมืองในบริบทปี 2519 มองจากฐานคิดนี้ความเห็นแก่ตัวคือสาเหตุมูลฐานของทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคม ฉะนั้น การเมืองที่จะแก้ปัญหาได้จริง จึงต้องเป็นการเมืองที่เห็นแก่ส่วนรวม นี่จึงเป็นที่มาของการนิยาม “ประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่”
 
ความคิดหลักอีกอย่างที่ท่านนำมาใช้คือท่านยืนยันว่า เสรีภาพในทางพุทธศาสนาหมายถึงเสรีภาพจากกิเลสหรือ “วิมุติ” หมายความว่า ปัจเจกบุคคลสามารถปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเสรีภาพเช่นนี้ได้ และถ้านำหลักเสรีภาพนี้มาประยุกต์ใช้ในทางสังคมการเมือง ก็ต้องมีขอบเขตว่าไม่ใช้เสรีภาพตามกิเลส ตามความเห็นแก่ตัวไปในทางละเมิดประโยชน์ของประชาชน
 
นอกจากนี้ยังใช้จุดยืนตามกฎธรรมชาติที่ท่านเรียกว่า “กฎอิทัปปัจจยตา” ซึ่งเป็นกฎที่มีเนื้อหาว่า “สรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันและกัน” และหลักการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของมโนสำนึกที่ว่า “สัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งสิ้น” ทำให้ท่านสรุปว่า กฎธรรมชาติและสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ทางพุทธศาสนากำหนดและมุ่งหมายให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย และเอื้ออาทรต่อกัน การจัดระบบการเมืองที่จะแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากได้ จึงจำเป็นต้องจัดให้สอดคล้องกับกฎแห่งการอิงอาศัยกันและสำนึกความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ดังกล่าวนี้ สังคมหรือโลกจึงจะอยู่รอด หรือมีสันติภาพได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา
 
ฉะนั้น เมื่อใช้จุดยืนความไม่มีตัวกู ของกู หรือความไม่เห็นแก่ตัว เสรีภาพ กฎแห่งการอิงอาศัยกัน และสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (เป็นต้น) มาเป็นฐานคิดในการมองปรากฏการณ์และแนวคิดทางการเมือง ณ เวลานั้น พุทธทาสจึงมองเห็นแต่ภาพที่ตรงกันข้ามกับจุดยืนของท่าน
 
ข้อเสนอ “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “ธัมมิกสังคมนิยม”
 
ด้วยหลักการ “อิสรภาพตามความเหมาะสม” ใน 4 ด้าน ดังกล่าวแล้ว พุทธทาสยืนยันความเป็นอิสระหรือเป็นตัวของตัวเองจากความคิดทางการเมืองแบบตะวันตก แล้วนิยามความหมายของการเมืองขึ้นมาเองว่า “สิ่งที่เรียกว่าการเมืองนั้นคือ ระบบการจัดหรือการกระทำเพื่อคนจำนวนมากจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา ...คือไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องใช้การกระทำที่เรียกว่าหิงสา หรือการฆ่ากัน เป็นต้น” [8]
 
เมื่อใช้นิยามการเมืองดังกล่าวมามองประชาธิปไตย พุทธทาสเห็นว่า
 
ประชาธิปไตยนั้นพอจะเรียกว่าเป็นอุดมคติทางการเมือง แต่ฟังดูแล้วมันเป็นสิ่งที่หลับตาพูด จะให้ประชาชนเป็นใหญ่นี้ มันไม่มีใครจัดได้ ที่จัดกันอยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ มันมีอำนาจมีอะไรที่กอบโกยเอามาเป็นของบุคคลบางคนหรือเป็นของพรรคบางพรรค แล้วก็ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของพรรคมากกว่าที่จะเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ฉะนั้น เราเลิกคำว่าประชาชนเป็นใหญ่เสียดีกว่า แต่มีคำเข้ามาแทนว่า ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ จัดระบบการเมืองแบบไหนรูปไหนก็ตามใจคุณเถอะ ขอแต่ให้ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่[9]
 
จะเห็นว่าพุทธทาสมองว่าประชาธิปไตยในความหมายว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” นั้น เป็นระบบการเมืองที่สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ฉะนั้น ท่านจึงนิยามใหม่ว่า “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” ซึ่งไม่ใช่ปฏิเสธประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพราะท่านยังบอกว่า “…จัดระบบการเมืองแบบไหนรูปไหนก็ตามใจคุณเถอะ ขอแต่ให้ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่”แต่ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยท่านก็เสนอว่า
 
เราต้องมีประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม เรียกว่าธัมมิกประชาธิปไตย นี้เกี่ยวกับการปกครอง ธัมมิกสังคมนิยมนั้นมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ถ้าธัมมิกประชาธิปไตยมันเกี่ยวกับการปกครอง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของคนที่เห็นแก่ตัว...ฉะนั้น ประชาธิปไตยต้องจำกัดความให้ดีๆ ว่าต้องของประชาชนที่มีศีลธรรม เลยต้องใช้คำว่า ธัมมิกประชาธิปไตย มีธรรมะเป็นหลัก มีความถูกต้องเป็นหลัก อย่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ธรรมะแล้วก็อย่าเห็นแก่ตัว[10]  
 
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพุทธทาสจะคล้อยไปทาง “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ดังที่ท่านเสนอว่า
 
ประชาธิปไตยต้องแคบเข้ามาเป็นอย่างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยชนิดสังคมนิยม” ถ้าสังคมนิยมมันยังกว้างอยู่ก็ต้องแคบเข้ามา จนเป็นสังคมนิยมชนิดที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ...ธรรมชาติแท้ๆ มันต้องการให้เห็นแก่สังคม ไม่ใช่ให้เห็นแก่ตัวเอง เพราะฉะนั้น หลักอันนี้เปลี่ยนไม่ได้ต้องเห็นแก่สังคม เมื่อเห็นแก่สังคมแล้วมันก็ไม่มีทางจะกอบโกย คือจะไม่เอาส่วนเกิน จะเอาแต่ส่วนที่จำเป็น ส่วนที่เหลือที่เป็นส่วนเกินนั้นก็ยกให้ผู้อื่น นี้เป็นเจตนารมณ์หรือใจความสำคัญในพุทธศาสนา[11]
 
สังเกตว่า พุทธทาสใช้ “ธรรมเป็นใหญ่” กับ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” แทนกันได้ เพราะถ้าถือธรรมเป็นใหญ่ก็หมายถึงยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” ก็คือ “ความเห็นแก่ตัว” เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และละเมิดประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้น เราอาจตีความได้ว่าข้อเสนอ “ธรรมเป็นใหญ่” หรือ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” ก็คือข้อเสนอ “ขอบเขต” ของการใช้อำนาจรัฐนั่นเอง หากเป็นรัฐประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน เสียงข้างมากจะใช้อำนาจละเมิดธรรมหรือประโยชน์ของประชาชนไม่ได้
 
หมายความว่า ถ้าประชาชนเป็นใหญ่พุทธทาสมองว่ามันไม่มีหลักประกันอะไร ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวและใช้อำนาจตามความเห็นแก่ตัวก็เกิดปัญหา แต่ถ้ายึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่หรือธรรมเป็นใหญ่ก็จะมีหลักประกันว่า ใครๆ จะใช้อำนาจไปตามความเห็นแก่ตัวเพื่อละเมิดประโยชน์ของประชาชนไม่ได้
 
นิยามที่ว่า “ประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” นั้น พุทธทาสเทียบเคียงกับ “สังฆาธิปไตย-ประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่” หมายถึงสงฆ์ที่เป็นส่วนรวม ไม่ใช่ภิกษุแต่ละรูป ในระบบสังคมสงฆ์ต้องถือประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่ ประโยชน์ของสงฆ์คือ “ธรรมวินัย” ที่วางระบบความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสิทธิในการศึกษาปฏิบัติตามธรรมวินัยเพื่อบรรลุเสรีภาพจากกิเลส ฉะนั้น การกระทำหรือการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมของพระภิกษุแต่ละรูปจะต้องยึดประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่ คือการรักษา “ระบบ” หรือ “ธรรมวินัย” ให้มั่นคง การละเมิดธรรมวินัยก็คือการละเมิดประโยชน์ของสงฆ์หรือส่วนรวม
 
โดยนัยนี้ เมื่อพุทธทาสนิยามประชาธิปไตยว่า “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” จึงไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชนคนใดคนคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่หมายถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด หรือ “ประโยชน์ส่วนรวม” ดังนั้น การใช้อำนาจของประชาชน หรือผู้ปกครองจะใช้อย่างเห็นแก่ตัว ตามกิเลส หรือไม่มีศีลธรรม (ในความหมายที่เป็นการละเมิด “ธรรม” หรือ “ประโยชน์ของประชาชน”) ไม่ได้
 
ฉะนั้น แนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสบนจุดยืนความไม่มีตัวกู ของกู หรือความไม่เห็นแก่ตัว เสรีภาพ กฎแห่งการอิงอาศัยกัน และสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (เป็นต้น) จึงเป็นแนวคิดที่คล้อยไปทาง “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งท่านกำหนดชื่อเฉพาะว่า “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” คือระบบสังคมการเมืองที่ยึดธรรมหรือประโยชน์ของประชาชนเป็นขอบเขตของการใช้อำนาจ ยอมรับเสรีภาพในการแสดงออก การวิจารณ์ตรวจสอบ แต่ปฏิเสธเสรีภาพตามกิเลส (ในความหมายอย่างกว้าง คือใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดประโยชน์ของส่วนรวม) และยืนยันความเป็นธรรมหรือความเสมอภาคทางเศรษฐกิจบนหลักการสังคมนิยม คือครอบครองทรัพย์สินตามความจำเป็น ส่วนเกินยกให้ผู้อื่นหรือสังคม
 
วิจารณ์
 
คำวิจารณ์ประชาธิปไตยของพุทธทาสค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่ากำลังวิจารณ์ “หลักการ” ประชาธิปไตยหรือวิจารณ์พฤติกรรมของคน (ประชาชน นักการเมือง ฯลฯ) ในสังคมประชาธิปไตยกันแน่ หรือวิจารณ์แบบ “เหมารวม” เพราะไม่เห็นท่านหยิบยกหลักการประชาธิปไตยมาวิเคราะห์ให้เห็นปัญหาชัดๆ เช่น ที่วิจารณ์ว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยที่เราได้จากฝรั่งมานี้ มันเป็นเรื่องโมหะ มันยังไม่ถูกฝาถูกตัวบ้าง แล้วโดยที่เนื้อแท้มันไม่ถูกต้องด้วย ถ้าหากประชาธิปไตยหมายความว่าใครทำอะไรได้ตามชอบใจ” (คำวิจารณ์ที่พบมากมายก็ออกในแนวนี้แทบทั้งสิ้น) ซึ่งเมื่อว่าโดย “เนื้อแท้” หรือในทาง “หลักการ” แล้ว ไม่มี “ประชาธิปไตยที่ใครทำอะไรได้ตามใจชอบ” อยู่จริง เพราะประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ถามว่าอำนาจเป็นของใคร คำตอบคือของประชาชน และประชาชนใช้อำนาจนั้นโดยยึดกติกาเสียงข้างมาก แต่ขอบเขตของการใช้อำนาจของเสียงข้างมากนั้น เสรีนิยมก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพไม่ได้ ฉะนั้น เสียงส่วนใหญ่จึงต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของเสียงส่วนน้อย เป็นต้น
 
ส่วนคำว่า “ธรรมะ” พุทธทาสก็ใช้ในความหมายกว้างมาก กินความครอบคลุมถึงธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ รวมทั้งธรรมะในชื่ออื่นๆ เช่น ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม การปกครอง เศรษฐกิจ สงคราม ฯลฯ[12] นิยามที่กว้างครอบจักรวาลเช่นนี้ ทำให้ความคิดของท่านคลุมเครือ สามารถถูกตีความและหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ในทุกฝ่ายแม้จะยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน
 
แต่เราอาจทำความเข้าใจความคิดของท่านได้ชัดเจนขึ้น ถ้าพิจารณาจากที่ท่านได้จัดธรรมที่พึงประสงค์ (ธรรมฝ่ายกุศล) ไว้กว้างๆ ว่าคือสิ่งที่ส่งเสริมประโยชน์ของประชาชนเช่นสันติภาพ เสรีภาพ (ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพจากกิเลส) ภราดรภาพเป็นต้น
 
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า (โดยนิยามของธรรมแบบกว้างและการจัดธรรมที่พึงประสงค์ไว้กว้างๆ) หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย หรือหลักการกำหนด “ขอบเขต” ของการใช้อำนาจในสังคมประชาธิปไตย คือสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ก็ต้องเป็นธรรมะที่พึงประสงค์ด้วย เท่ากับว่า ประชาธิปไตยก็มีหลักการที่ถูกต้อง หรือมีธรรมะ มีศีลธรรมในตัวของมันเองอยู่แล้ว ธรรมะในพุทธศาสนาจะมีค่าต่อความเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อธรรมะนั้นๆ ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าวเท่านั้น
 
แต่ดูเหมือนพุทธทาสจะเห็นว่า หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าว เป็นอุดมคติที่ไม่อาจเป็นจริงได้  ถ้าสังคมไม่วางระบบ (เช่นการศึกษา) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนฝึกฝนตนเองตามหลักเสรีภาพจากกิเลสของพุทธศาสนา ที่เน้นการจำกัดหรือควบคุมการใช้เสรีภาพตามกิเลสหรือตามความเห็นแก่ตัว ซึ่งท่านเชื่อว่า เป็นหลักประกันการไม่ละเมิดประโยชน์ของส่วนรวมได้ดีกว่า ขณะที่หลักการอิงอาศัยกันและกันตามกฎอิทัปปัจจยตาเป็นกฎธรรมชาติที่เฉียบขาดว่า สันติภาพที่แท้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการจัดระบบการเมืองไม่ละเมิดหรือสวนทางกฎการอิงอาศัยกันนี้ และหลักสำนึกความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์จะทำให้ประชาชนใช้เสรีภาพอย่างไม่ละเมิดประโยชน์ส่วนรวม มีสำนึกเพื่อส่วนรวม ยอมรับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ      
  
ฉะนั้น พุทธทาสจึงเรียกความคิดทางการเมืองของตนเองในชื่อใหม่ว่า “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” อันเป็นความคิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือการอ้างอิงธรรมะ/ประโยชน์ของประชาชนเป็นขอบเขตของการใช้อำนาจ จำกัดเสรีภาพตามกิเลส ตามความเห็นแก่ตัว (ในความหมายที่เป็น “ปฏิปักษ์” กับการเห็นแก่ส่วนรวม) แต่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การวิจารณ์ตรวจสอบ และเน้นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ (เอาเท่าที่จำเป็น ส่วนเกินเป็นของส่วนรวม)
 
เราจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โดยสาระสำคัญแล้ว “ความคิดเชิงอุดมคติ” เช่นนี้ ไม่มีทางสนับสนุนระบบการเมืองที่เป็นอยู่จริง คือ “ประชาธิปไตยแบบรักษา/เพิ่มพระราชอำนาจ” ที่พันธมิตรเรียกร้องดังที่พยายามกล่าวอ้างกันอย่างแน่นอน!
 
 
ปล. ผมเห็นว่า พุทธทาสจะสนับสนุนประชาธิปไตยแบบปัจจุบันหรือไม่นั้น ก็ไม่กระทบต่อคุณค่าของความคิดทางการเมืองของท่าน หรือ “ความเป็นพุทธทาส” ในแง่อื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อพุทธศาสนาและสังคมไทยแต่อย่างใด (เช่น คาร์ล มาร์กซ์ ก็ไม่สนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ความคิดของเขาก็ยังมีคุณค่าควรแก่การนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อความก้าวหน้าทางปัญญาอยู่นั่นเอง) แม้ปราชญ์ที่สำคัญของโลกคนอื่นๆ ก็มีหลายคนที่ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย โปรดดู สุรพศ ทวีศักดิ์.พุทธทาส (ไม่)สนับสนุนประชาธิปไตย (?) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341069961&grpid=&catid=02&s...(4/7/2555)
 
 
อ้างอิง


[1] พุทธทาสภิกขุ.ธรรมะกับการเมือง.ธรรมทานมูลนิธิ, หน้า 109 -115
[2] พุทธทาส.สรรนิพนธ์พุทธทาส ว่าด้วยวิถีประชาธิปไตยและหัวใจเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ 2550 หน้า 58
[3] เพิ่งอ้าง หน้า 124
[4] เพิ่งอ้าง หน้า 26
[5] เพิ่งอ้าง หน้า 82
[6] เพิ่งอ้าง หน้า 83
[7] เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน
[8] เพิ่งอ้าง หน้า 6
[9] เพิ่งอ้าง หน้า 275
[10] เพิ่งอ้าง หน้า 287
[11] เพิ่งอ้าง หน้า 26
[12] ดู พุทธทาสภิกขุ.ธรรมะกับการเมือง.อ้างแล้ว, หน้า 15 -53

ความเห็น

Submitted by dk on

อำนาจของสถาบันปัจจุบัน เป็น อำนาจเสมือน หรือแฝงฝังไปในมิติสังคม ซะส่วนใหญ่
ในขณะที่ บางส่วนสำคัญ ก็ได้รับการปกป้อง ใช้ประโยชน์จาก เครือข่ายอำมาตย์-เจ้า อยู่แล้ว

ว่าโดยพื้นฐาน ธรรมิกสังคมนิยม(ประชาธิปไตย) ที่ว่ามา ค่อนข้างครอบจักรวาล หรือ คลุมเครือ
และมีคำถาม ถึง ความเป็นไปได้ ใน ทางปฏิบัติแค่ไหน???

เพราะ กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ คือ มาตรฐานอ้างอิง กระแสหลัก อยู่แล้ว
และทุกกระบวนท่า กระบวนการเคลื่อนไหว ทั่วไป ก็อิงวิธีคิด ทำนองนี้

การอ้างมิติ คนดี คนมีธรรมะ ในการจัดการสมัยใหม่
เป็นได้อย่างมาก ก็เป็นทำนองอวนตาถี่ หรือ ทำ-คิดให้รอบคอบขึ้นเท่านั้น

ซึ่งว่าโดยเป้าหมายแล้ว ประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด คงไม่มีใครอาจปฏิเสธได้
แต่ปัญหาอาจอยู่ที่ การมองความมั่นคงแหงรัฐ จะอิงมาตรฐานอะไร

เพราะ ทหารกับศาล ก็มองแบบหนึ่ง
และฝ่าย ปชต.ก็มองคนละแบบ โดยเชื่อในการกระจาย เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ เป็นหลัก

ซึ่งในรธน.ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ อยู่ในอันดับรองๆทั้งสิ้น

สรุปแล้ว พุทธทาส คงไม่ได้แคร์ว่า จะปกครองรูปแบบไหน
มากกว่า สังคมที่ประโยชน์สูงสุดอยู่ที่คนส่วนใหญ่ และทุกคนมีธรรมะ..(โดยเฉพาะผู้ปกครอง)

Submitted by ผู้ไม่รู้ on

เอาง่ายๆ พระจะพูดเรื่องอะไรก็ต้องพูดในแง่มุมทางศาสนาซึ่ง(น่าจะ)เป็นแง่มุมที่ท่านถนัด ถ้าท่านพุทธทาสอธิบายความหมายของประชาธิปไตยในแบบที่นักรัฐศาสตร์(หรืออ.สุรพศและคนอื่นๆ)เข้าใจ ความหมายของประชาธิปไตยก็ต้องไปในทิศทางเดียวกันคือประชาธิปไตยเชิงอุดมคติจริงๆ ถ้าเป็นแบบนี้ ท่านพุทธทาสกับนักรัฐศาสตร์ก็ไม่ต่างกัน แต่นอนว่า เวลาพระพูดเรื่องอื่นๆเหมือนกันก็ต้องพูดในแบบของพระ มันมีกรอบวินัยกำกับอยู่ว่าพระพูดเรื่องอะไรได้บ้างและจะพูดไปในแนวทางไหนจึงจะส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนในสังคมซึ่งอาจจะไม่ตรงกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหรอก อันนี้ผมเข้าใจท่านพุทธทาสนะ แต่ที่ผมเข้าใจท่านพุทธทาสในฐานะท่านเป็นพระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมเข้าใจหรือเห็นด้วยกับท่านว.นะ รายนั้นนะยกไว้ เพราะท่านมาแนวพระเซเลบที่ต้องเชื่อมตัวเองให้แนบสนิทกับสังคมชั้นสูงเข้าไว้ซึ่งต่างจากท่านพุทธทาสอย่างสิ้นเชิง

Submitted by Jubu on

ผมเพิ่งทราบก็จากบทความนี้เองว่ามีความพยายามตีความคำสอนของท่านพุทธทาสจากฝ่ายสีเหลืองและสีแดงเพื่อเข้าข้างฝ่ายตน ถ้าเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับความพยายามที่จะค้นหาความจริงเช่นนี้ครับถึงแม้อาจจะดูค่อนข้างลำบากอยู่บ้างเนื่องจากท่านพุทธทาสไม่ใช่นักทฎษฎีการเมืองที่จะพูดถึงเรื่องนี้ให้ชัดเจน

ในความเห็นของผม หลักธรรมวินัย โดยเฉพาะกับคณะสงฆ์มีลักษณะเป็นสังคมนิยมซึ่งผมว่าสังคมที่ดีงามก็ควรจะเป็นไปในแนวนี้ เพียงแต่ว่าหลักธรรมวินัยของคณะสงฆ์มีผลต่อพระสงฆ์ได้ก็เนื่องจากบุคคลได้สมัครใจเข้าไปอยู่ในคณะสงฆ์เอง แต่สำหรับสังคมในวงกว้างคงต้องอิงกับหลักประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน ถ้าบุคคลในสังคมนั้นจะเห็นคุณค่าของระบอบสังคมนิยมก็ต้องขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นเองที่จะเลือกเปลี่ยนให้สังคมตนเองให้หันไปทางสังคมนิยม คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะชิงพื้นที่ทางความคิดได้มากกว่ากันล่ะครับ จะเอนไปทางเสรีนิยมหรือสังคมนิยมดี

ผมว่าพอถึงตรงนี้แล้ว ธรรมวินัย ซึ่งมีลักษณะสังคมนิยมอยู่หลุดขอบไปเลยครับ ประชาธิปไตยที่เรากำลังต้องการกันอยู่คงจะเป็นไปเพื่อความเจริญมั่งคั่ง ความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันมากกว่าจะเพื่อสังคมที่ดีงามในทางธรรม อิทธิพลทางธรรมจากคณะสงฆ์ถือว่ากระจ้อยร่อย แต่ผมอยากเห็นในแบบตรงกันข้ามกับที่ว่ามาน่ะครับ

Submitted by โสมคาน on

ท่านเคยย้ำ ซ้ำเสมือน คอยเตือนว่า
ศีลธรรม ต้องกลับมา ไล่บ้าเถื่อน
มิฉะนั้น โลกใบนี้ จะฟั่นเฟือน
ที่มาเยือน คือวินาศ อนาจพลัน

และเร่าร้อน แล้งเข็ญ ที่เป็นอยู่
ล้วนเหล่าหมู่ สัตว์โลก ต่างโศกศัลย์
ในสมอง ท่องกิเลส ไปวันวัน
เพียงเมามัน เช่นพุทธราษฎร์ นี่ทาสใคร?

และเห็นผิด เป็นชอบ คิดกอบโกย
ดั่งเสือโหย หิวหอบ ระบอบใหม่
เรียกสังคม สมญา ประชาธิปไตย
แต่จัญไร ไล่งับ ทรัพย์แผ่นดิน

หรือเมื่อคืน เมาค้าง อ้างเป็นพุทธ
รอวันถึง ร่างทรุด ใช้หนี้สิน
เคยสร้างกรรม ทำก่อ เป็นอาจิณ
ตามกัดกิน ชาติหน้า ค่อยว่ากัน

Submitted by มันคือความเห็น on

คือต้องบอกใว้ก่อนว่า นี้คือการสนทนาธรรมและหากเห็นว่าเป็นแนวคิดที่กว่าก็พร้อมน้อมนำสู่ใจได้เสมอ

แม้มีความไม่เห็นด้วยในบางประการหรือหลายประการ แต่ความเคารพนับถือย่อมมีให้กันเสมอ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดพื้นที่ส่วนตนให้ผู้คนได้ใช้ความคิดพิจารณาอย่างอิสระกว้างขวาง แม้ถูกผิดอย่างไรก็ขอแลกเปลี่ยนด้วยความเคารพนับถือ เพราะขนาดต้นไม้แม้ไม่อาจรู้ได้ว่ามีความคิดความพิจารณาหรือไม่ พระคุณท่านยังให้เกียรติเป็นครูสอนธรรมะได้ แล้วกับประชาชนคนที่รู้จักพูดรู้จักคิด ธรรมไมจะให้ธรรมะแก่โลกไม่ได้

แล้ววันนี้ ธรมมะที่ว่าด้วย ประชาธิปไตย ทำไมถึงไม่ให้ประชาชนเป็นคนสอนให้รู้ให้เข้าใจในธรรมะนี้เล่า ทำไมไม่ทำตัวเป็นประชาชนร่วมเสนอความเห็น ร่วมลงความเห็น แล้วย่อมรับข้อตกลงร่วมกันในเสียงส่วนใหญ่ดูบ้างเล่า ว่ามันได้ผลสุดท้ายเป็นประการใด และมันไปสู่การปรับปรุงความเห็น ปรับปรุงผลการร่วมลงความเห็น ในครั้งต่อๆไปอย่างไรบ้าง ไม่ต้องมาคาดคะเน ตั้งสมมุตินั้น สมมุตินี้ เพราะอะไรก็เป็นไปได้ภายใต้สังขาร(ความคิด)ที่ไม่เที่ยง

สุดท้ายอยากฝากถามธรรมสำหรับผู้ศึกษานะว่า หากธรรมเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ เป็นสิ่งสูงสุดในการกำหนดพระวินัย ทำไมใยยังคำนึงถึง เรื่องควรระวังอันเป็น “โลกวัชชะ” ด้วย

เรื่องที่ว่าพุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบพันธมิตรหรือไม่นั้นไม่มีใครทราบได้แน่นอน แต่ความพยายามนำเอาความเห็นของท่านพระคุณเจ้ามาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ลิดลอนอำนาจของประชาชนนั้นป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแท้ ไม่มีแต่พระคุณเจ้าหรอกนะ บุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมสูงอื่นๆที่มีความเห็นใดพอจะนำมาอ้างได้ พันธมิตรเค้าก็เอามาอ้างหมดล่ะครับ

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ที่จริงหลักอิรสภาพ 4 ข้อ ของพุทธทาสจะใช้ไม่ได้อย่างเต็มที่ ถ้าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เช่น ไม่สามารถนำหลักอิสรภาพ 4 ข้อนั้น มาเป็นจุดยืนในการถกเถียงอย่างเป็นประเด็นสาธารณะว่าควรจะมีระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ (เป็นต้น)

ฉะนั้น ถ้าพุทธทาสยืนยันว่าหลักอิสรภาพ 4 ข้อ ควรเป็นหลักการพื้นฐานของเสรีภาพทางความคิดเห็น ก็เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะปฏิเสธประชาธิปไตย (ถ้าปฏิเสธก็เท่ากับท่านมีความคิดที่ขัดแย้งในตัวเอง)

Submitted by เขียดอีโม้ วิสุ... on

ประเด็นที่จะวิจารณ์ร่วมกับมิตรสหายทั้งหลาย มีดังนี้
1. คำพูดของท่านพุทธทาสที่ว่า "ประชาธิปไตยที่ว่าเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชนนั่นแหละ ประชาธิปไตยแห่งความเห็นแก่ตัว เพราะประชาชนนั้นมันเห็นแก่ตัว แล้วประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยของผู้เห็นแก่ตัว..."
ผมติดใจอย่างมากและเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคำว่า "เพราะประชาชนนั้นมันเห็นแก่ตัว" เท่ากับกำลังจะบอกว่า โดยธรรมชาติแล้ว ประชาชนหรือคนแต่ละคนที่เป็นปัจเจกนี่แหละมีธรรมชาติชั่วร้ายหรือเลว ซึ่งเป็นอะไรที่รุนแรงมากในแง่ตรรกะยืนยัน แต่ผมไม่ทราบว่า ท่านดีเฟ็นด์รายละเอียดว่าอย่างไรบ้าง และมีเหตุผลอย่างไร ทำไมจึงทำให้ท่านฟันธงได้ขนาดนั้น ทั้งๆที่ ในทางปรัชญาแล้ว ปัญหาว่า มนุษย์มีธรรมชาติดีหรือเลว นี้มันเป้นอะไรที่ยังไม่มีข้อยุตินะ
ผมตั้งคำถามว่า สมมุติว่า ท่านพุทธทาสพูดถูกดังกล่าวข้างต้น แต่ผมยังไม่มั่นใจอยู่ดี เพราะท่านไม่ได้นิยามคำว่า ดี เลว หรือเห็นแก่ตัวนี้ มันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ถ้าเห็นแก่ตัวมีความหมายเท่ากับว่าเลวหรือชั่วนะ มันยังถามต่อไปได้อีกว่า เลวหรือเห็นแก่ตัวมาตั้งแต่เกิด หรือว่าหลังจากมีประสบการณ์ในโลกแล้ว ผมตั้งข้อสังเกตว่า
ก. ถ้าคนเรามีความเห็นแก่ตัวหรือเลวมาตั้งแต่เกิด by Human Nature นะ(ผมคิดว่าท่านพุทธทาสเข้าใจอย่างนี้มากกว่า) ผมคิดว่า ท่านกำลังตีความพุทธศาสนาผิดอย่างมหันต์
ข. ถ้าคนเรามีความเห็นแก่ตัว ภายหลังการเกิดมาแล้ว ผมคิดว่า คำสอนทางพระพุทธศาสนาพอจะอธิบายได้ และสอดรับกับการที่เราพากันมาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระองค์ เพื่อไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัวหรือนิพพานได้อยู่บ้าง
เพราะถ้าสร้างประโยคข้อความอย่างแรก มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่มนุษย์จะมาปฏิบัติธรรมหรือเพียรพยายามเลิกความเห็นแก่ตัว เพราะชีวิตได้ถูกตั้งรหัสไว้อย่างนั้นเรียบร้อยแล้วนั่นเอง เสียเวลาเปล่าที่จะมาถกเถียงกันในเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นอย่างประโยคข้อความที่สองแล้ว ไม่แน่ เรายังมีโอกาสแก้ตัวได้ ปรับปรุงตัวเองได้ เพราะมันยังมีพื้นที่ (อิสระ) เหลือให้เราใช้สอยได้อยู่บ้าง(แต่ผมจะมีอธิบายนะว่าเป็นอย่างไร เพราะผู้ที่ผ่านการใคร่ครวญย่อมรู้ดีอยู่แล้ว
อันนี้คือความไม่มีสถานภาพเป็นนักปรัชญาของท่านพุทธทาส แต่เป็นนักการศาสนามากกว่า เพราะไม่นิยามหรือตอบคำถามอะไรที่คลุมเคลือไม่ได้ หรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบก็เป็นได้ทั้งนั้น ผลก็คือ เราไม่ทราบว่า ท่านจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยตรรกะที่ผิดแบบนี้ ความคิดที่พยายามเสนอมามันก็ต้องผิดไปทั้งหมด ล้มไม่เป็นท่าแน่นอน
2. ท่านพุทธทาสพยายามแยกใช้คำว่า "ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่" กับ "ตัวประชาชนเป็นใหญ่" อันนี้เป็นอะไรที่ผมคิดว่า ไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เพราะท่านยอมรับเรื่องหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ได้อย่างสนิทใจมาก แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียหายมาก เมื่อพุดถึงตัวประชาชนเอง ก็คือ คนแต่ละคนนั่นแหละว่า ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เพราะมันล้วนแต่มีความเห็นแก่ตัวทั้งน้าน...ผมอยากถามจริงๆจังๆว่า เราสามารถแยก "เกลือ กับ ความเค็มของเกลือ" ออกจากกันได้อย่างไร? งง ? ผมไม่เข้าใจตรรกะแบบนี้เลย ใครก้ได้ ช่วยอธิบายที คือ มันเอียง และเพี้ยนมากไปหรือเปล่า
3. ผมเห็นอ.สรุพศ ใช้คำว่า "ธัมมิกสังคมนิยม" "สังคมนิยม" "ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย" หรือ "เสรีนิยมประชาธิปไตย" มากไปพอๆกับที่ท่านพุทธทาสใช้นั่นแหละ มันทำให้ผมเกิดความสังสัยอย่างมากว่า คำว่า สังคมนิยม ก็ดี สังคมนิยมแบบประชาธิปไตย เป็นต้นก็ดี ตามทัศนะตะวันตกที่เป็นต้นแบบความคิดอย่างนี้นะ ผมคิดว่า เราเข้าใจแนวคิดนี้ผิดไปหรือเปล่า? แล้วท่านพุทธทาสก็ประดิษฐ์คำว่า "ธัมมิกสังคมนิยม" (Dhammic Socialism) ขึ้นมาใช้ใหม่ เพื่อให้ล้อกับแนวคิดตะวันตกบ้างที่ดูเท่ห์หรือไก้เก่อะไรประมาณนี้ จริงๆแล้ว ผมคิดว่า ผมคิดว่า ท่านพุทธทาสเข้าใจมุมเดียวเท่านั้นของคำว่า สังคมนิยม (Socialism)เนี่ยนะ เพราะสังคมนิยม เอาต้นกำเนิดมันเลย มันพัฒนามาจากแนวคิดแบบ Communism ของ Carl Marx นะ เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม มันก็ต้องมีเหตุผลและความถูกต้อง ประกอบด้วยธรรมอยู่แล้ว แต่ตะวันตกเขาไม่ใส่คำว่า ธัมมิกะ อะไรแบบนี้เข้ามาให้มันรกรุงรัง เหมือนของเรานะ และที่สำคัญ หลักเสรีประชาธิปไตยอะไรที่เราพูดกันนี้ ผมว่า เรากำลังหลงทางในการทำความเข้าใจ เราต้องกลับไปอ่านและศึกษารูปแบบของ "ประชาธิปไตย" แต่ละอย่างให้ดีเสียก่อนว่า แต่ละอย่างเขาเน้นอะไรเป็นหัวใจ ซึ่งประชาธิปไตยมีอยู่หลายรูปแบบมาก เพราะพวกคอมมิวนิสต์ก็อ้างตนเองว่า เป็นประชาธิปไตย พวกทรราชย์ก็สามารถอ้างตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน ผมคิดว่า คำกล่าวอ้างของเขาถูกต้องเหมือนกัน ถ้าเราศึกษาให้ดี แต่มีอะไรบ้างอย่างที่ไม่เหมือนกัน ไอ้จุดที่ไม่เหมือนกันนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนต่อไป
4. ที่ อ.สุรพศพูดว่า "พุทธทาส (ไม่)สนับสนุนประชาธิปไตย?" หรือแม้กระทั้ง ในเรื่องนี้ " พุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบพันธมิตร(?)" ผมคิดว่า เราไม่ได้พูดอะไรเลย เพราะในที่สุดแล้ว เราก้ไม่ได้เห็นจุดยืนหรือตรรกะ (logical position) อย่างชัดๆเลยว่า จะเอาอย่างไร เชื่อ (agree) หรือ ปฏิเสธ (disagree) อย่างไร บนพื้นฐานของการใช้ตรรกะอย่างไร เพราะมันเหมือนการพูดที่แทงกัก หรือเพียงแค่สงสัยเล่นๆ ชอบตั้งคำถามแล้วปล่อยให้คนอื่นคิดเอาเองไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่า ผู้เขียนกำลังบอกอะไรหรือไม่ แต่ถ้าจะให้ชัดเจน ก็ควรฟันธงลงไปเลย เช่นว่า "พุทธทาส ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย" หรือ "พุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบพันธมิตร" โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายคำถามแบบนั้น เพราะมันบ่งบอกว่า ไม่แน่ใจ หรือ ใช่ก็ได้ หรือ ไม่ใช่ก้ได้ แต่สิ่งที่เราต้องการอ่านก็คือ ถ้าใช่ เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่ มันเป็นเพราะอะไร ต่างหาก แต่ถามว่า การเขียนแบบนี้ โอเคมั้ย? ก็โอเค แต่มันไม่แรงเหมือนความเป็นสี (แดง) มั้ง? ฮ่าๆๆๆ
5. ผมมีข้อมูลที่หลายคนพูดฟันธงว่า ท่านพุทธทาส นั้น ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย เอาเสียเลย แต่ให้การสนับสนุนราชาธิปไตย (แบบมีธรรมะหรือเผด็จการโดยธรรมะ) ดังข้อความที่อยากยกมาให้อ่าน ดังนี้ "Buddhadasa prefers monarchy to democracy. He explains that it is easier to find a righteous king than a group of righteous people. He adds that a righteous king who is a dictator is better than a liberal democrat. (Pataraporn Sirikanchana, In Search of Thai Buddhism, Published by World Buddhist University, p.53.) และมีอีกท่านคือ Professor Donald K. Swearer ที่ท่านแปล หนังสือ ธัมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาส มีหลายแห่งที่ท่านพูดอย่างชัดเจนครับ ขอฝากไว้เพื่อพิจารณาด้วย...

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ตอบอาจารย์เขียดสั้นๆ ครับ (เพราะมีธุระจะออกไปนอกบ้าน)

1. พุทธทาสมองธรรมชาติของมนุษย์แบบพุทธครับคือมีธรรมชาติสองด้าน ได้แก่ด้านที่เห็นแก่ตัวและด้านที่มีศักยภาพจะหลุดพ้นจากความเป็นแก่ตัว (อันนี้ชัดเจนมากแทบทุกเล่มในหนังสือของท่าน)

2. บทความชี้เหตุผลชัดแล้วว่า เพราะแนวคิดพุทธทาสเป็นแบบ "ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย" หรือ "ธัมมิกสังคมนิยม" (อย่างไรอธิบายแล้ว) จึงไม่สนับสนุน ปชต.แบบ พธม.(เป็อย่างไรระบุสั้นๆแล้ว)

ที่ใส่ (?) เพราะผมก็ไม่แน่ใจว่าผมตีความถูกหรือไม่ จึงเชิญผู้อ่านร่วมแลกเปลี่ยนครับ

Submitted by dk on

1.คนเลวแต่กำเนิด หรือ เลวระหว่างเติบโต สองอย่างนี้ ผลปรากฏไม่น่าแตกต่างกันในด้านปรากฏการณ์
และป่วยการจะถกเถียง เพราะ อย่างที่คุณว่า มันไม่มีข้อยุติที่เป็นจริงได้

แต่การที่มนุษย์เข้าหาศาสนา นั่นคือ วิถีเปลี่ยนคน ไม่ว่าเขาจะเป็นมาอย่างไร
อาจเนื่องด้วย การพัฒนาเหตุผลในความเป็นมนุษย์ อาจช่วยยกระดับพวกเขา ในทิศทางที่ศาสนาชี้ทิศให้

ถ้ากลับไปดูต้นตำรับปชต.ได้แก่ ล๊อค และรุสโซ จะพบว่า เขามองธรรมชาติมนุษย์ในแง่บวกหรือดี แต่ความเลวเกิดมา
จากสังคม หรือสิ่งภายนอก เช่น รุสโซ กล่าวว่า มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนแห่ง เขาถูกพันธนาการ
นั่นหหมายความว่า ปชต.มาจากพื้นฐานของคนดี(เชื่อว่ามนุษย์ดี ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย)ที่ไปสร้างระบบการอยู่ร่วมกัน

ในขณะที่ฮ๊อบส์ ที่สถาปนาองค์อธิปัตย์เป็นผู้ปกครอง ก็มาจากพื้นฐานที่มองมนุษย์เป็นคนเลว หรือเห็นแก่ตัว ป่าเถื่อน
การที่จะอยู่เป็นสังคม ต้องยอมสละอำนาจในการปกครองตนเองให้องค์อธิปัตย์ และไม่อาจโต้เถียงได้ในข้อห้ามต่างๆ

2.ศาสนาทั้งหลาย มักมองมนุษย์ว่า มีสิ่งเลวร้าย ที่ต้องขจัด หรือขัดเกลา ไม่ว่าจะเป็น กิเลส ตัณหา อันเป็นรากเหง้า
ของบาป การปฏิบัติศาสนา จึงเป็นวิถีไปสู่ความรอด หรือ การหลุดพ้น จากชีวิตในโลก ที่ไม่จิรัง ไม่แท้ ไม่ยั่งยืน
ดังนั้น ผู้ปกครองทั้งหลาย มักอ้างศาสนาเพื่อ องค์อธิปัตย์แห่งตน อย่างได้ผล คล้ายกับว่า ระบบเผด็จการมักใช้ศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมของระบบ ในขณะที่ปชต. ระบบตัวมันเองมารับใช้คน โดยสร้าง
กลไกควบคุมตนเอง แทนศาสนา หรือไม่จำเป็นต้องอ้างศาสนา เพราะ พื้นฐานระบบ มีความเชื่อในธรรมชาติมนุษย์
ในทางบวก(ดี)อยู่เป็นต้นทุน อยู่แล้ว

Submitted by น้ำลัด on

คือผมว่าท่านพุทธทาสเป็นพระสงฆ์ ก็ต้องมีมุมมองแบบพระสงฆ์
ท่านก็ต้องมองว่าชาวบ้านยังเป็นคนไม่ดี ต้องสั่งสอนด้วยพระธรรมในพุทธศาสนา
คือถ้าไปมองว่าชาวบ้านรู้แล้วประเสริฐแล้ว ก็ไม่รู้จะมีพระสงฆ์ไปทำไมกัน
พระสงฆ์คงตกงานกันหมดนั่นแหละ...และนั่นก็เป็นสมมุติฐานเบื้องต้นที่พระสงฆ์พึงมี

มันก็ถูกต้องแล้วที่ท่านพุทธทาสก็ทำไปตามบทบาทและหน้าที่ของท่าน
และก็ไม่เห็นจะแปลกที่มุมมองของท่านพุทธทาสไม่ได้สอดคล้องต่อประชาธิปไตย
เพียงชื่อของท่านมันก็ไร้แล้วซึ่งสิทธิเสรีภาพ เพราะท่านคือ พุทธ"ทาส" นี่ครับ

ส่วนอ.สุรพศ ก็คงเป็น พุทธ"เสรี" ใช่ไหมครับ

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

"...อย่าไปโทษประชาธิปไตยโดยส่วนเดียว จะต้องมองดูสมาชิกของประชาธิปไตยว่ามันประกอบอยู่ด้วยธรรมหรือไม่ เราจะเห็นได้ทันทีว่า ระบบประชาธิปไตยมันใช้ได้เฉพาะต่อเมื่อประชานพลเมืองมันมีธรรมะเท่านั้น ถ้าหากเอาระบบประชาธิปไตยไปใช้แก่ประชาชนพลเมืองที่ไม่มีธรรมะแล้ว ระบบประชาธิปไตยจะเป็นระบบที่เลวร้ายที่สุดกว่าระบบการเมืองระบบไหนในโลกนี้...

...ระบบสังคมนิยมมันมีหลักเกณฑ์ในตัวมันเองที่ไม่ปล่อยให้ใครทำอะไรตามใจตัว มือใครยาวสาวเอาหรืออะไรทำนองนั้น แต่มีการควบคุมจำกัดไว้ว่าจะต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ฉะนั้น ระเบียบหรือกฎเกณฑ์ทั้งหลาย มันจึงเป็นไปในทางเห็นแก่ส่วนรวม ฉะนั้น แม้ว่าจะเอามาใช้กับประชาชนที่ไม่มีศีลธรรม มันก็ยังปลอดภัยกว่าประชาธิปไตย...แม้ระบบสังคมนิยมมันก็ต้องประกอบอยู่ด้วยธรรมอีกนั่นเอง จึงจะเป็นระบบสังคมนิยมที่ใช้ได้"

(พุทธทาสภิกขุ "ธรรมะกับการเมือง" หน้า 237-238)

จริงๆ แล้วคำวิจารณ์สังคมนิยมและประชาธิปไตยของพุทธทาสซับซ้อนอยู่ เราไม่อาจหยิบเอาเพียงบางประโยคมาตัดสินได้ ต้องอ่านทั้งหมด ในขณะเดียวกันข้อความที่อาจารย์เขียดยกมาก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าพุทธทาสสนับสนุน "ราชาธิปไตย" เพราะที่จริงท่านจะพูดแบบมี "เงื่อนไข" เสมอว่า ระบบบการปกครองที่ดีต้องมี "ธัมมิกะ" ประชาธิปไตยก็ต้อง "ธัมมิกประชาธิปไตย" สังคมนิยมก็ต้อง "ธัมมิกสังคมนิยม" ราชาธิปไตยก็ต้อง "ธัมมิกราชาธิปไตย"

ธัมมิกะ = ประกอบด้วยธรรม
ธรรม = (กล่าวอย่างรวบยอด) ประโยชน์สุขของประชาชน หรือประโยชน์สุขส่วนรวม และ/หรือการเห็นแก่ส่วนรวม หรือการกระทำใดๆ ที่สนับสนุนประโยชน์สุขส่วนรวม (ตรงข้ามกับธรรมคือ ความเห็นแก่ตัว หรือการใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดประโยชน์ส่วนรวม)

ผมเข้าใจว่าพุทธทาสคิดแบบพุทธะ คือพุทธะไม่ได้คิดระบบการเมืองแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมาโดยเฉพาะ ในสังคมราชาธิปไตยพุทธะจะสอน ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตรให้กษัตริย์ปฏิบัติ ในสังคมระบบสภาชนชั้นนำ (ระบบสามัคคีธรรม) พุทธะจะสอนวัชชีธรรมหรืออปริหานิยธรรม หมายความว่าจะระบบไหนก็ได้ขอให้ยึดถือ "ธรรม" ซึ่งเป้าหมายของการยึดถือธรรมก็คือ ประโยชน์สุขของส่วนรวม (สมาชิกของระบบสังคมการเมืองนั้นๆ)

แต่ถ้าพิจารณาเนื้อหาของธรรมะชุดต่างๆ เช่น ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร วัชชีธรรม ดูเหมือนจะเป็นข้อปฏิบัติที่พุทธะบัญญัติขึ้นภายใต้บริบททางสังคมการเมืองแบบโบราณ มันจึงอาจไม่ใช่ "คำตอบสำเร็จรูป" สำหรับสังคมปัจจุบัน (ที่จริง อ.สุลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสมัยพุทธกาลที่ระบบราชาธิปไตยใช้หลักทศพิธราชธรรมได้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดๆ เลย)

ฉะนั้น การที่พุทธทาสนิยามประชาธิปไตยกว้างๆว่า "ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่" (ท่านใช้คำว่า ธรรมเป็นใหญ่=ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่) และประชาธิปไตยตามนิยามนี้คือ "ธัมมิกประชาธิปไตย" จะเห็นว่า "การยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง" ก็เป็นหลักการทั่วไปของการมีระบบสังคมการเมืองนั่นแหละ เพียงแต่เรื่องอำนาจควรเป็นของใคร ขอบเขตของการใช้อำนาจอยู่ตรงไหนดูเหมือนท่านจะไม่ชี้ชัดเหมือนปรัชญาตะวันตก (ที่จริงมันคงไม่ชัดแบบตะวันตกอยู่แล้วล่ะ เพราะท่านไปเอาคำสอนของพุทธะมาตอบซึ่งไม่ชัดแบบตะวันตกมาแต่ต้น)

Submitted by Jubu on

คนก็มีทั้งดีและเลวหรือทั้งกุศลและอกุศลปนกันแน่ๆ แต่จะมีที่มาที่ไปยังไงก็สุดคาดเดา มิหนำซ้ำทางพุทธก็บอกว่าทั้งกุศลและอกุศลเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันได้ด้วย

ผมว่าเป็นความจริงเลยครับ พุทธศาสนาไม่เคยมีทฎษฎีทางสังคมการเมืองที่ชัดเจนมาตลอดประวัติศาสตร์และคนที่พยายามสร้างสังคมที่ดีงามขึ้นมาโดยคิดอุดมคติทางสังคมการเมืองต่างๆขึ้นมาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธและพวกฝรั่งตะวันตกก็ทำได้ดีเสียด้วยในเรื่องพวกนี้ ที่จริงธรรมะก็เป็นเพียงชื่อ ความจริง ความดีงามเป็นเรื่องกลางๆที่เป็นสากลใครๆก็สามารถเข้าถึงได้ พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่าธรรมวินัยเป็นเพียงพ่วงแพเพื่อข้ามฝั่งเท่านั้นเมื่อข้ามฝั่งได้ก็ไม่ต้องแบกต่อไป แต่แม่น้ำช่างกว้างเหลือหลายเราจึงต้องยึดแพไว้ก่อน

และชาวพุทธเชื่อว่าแก่นแท้ของความจริงและความดีงามที่เป็นสากลและสูงสุดคือการหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งว่าที่จริงเป็นเรื่องเหนือความดีงามอีกด้วย ในขณะที่พุทธศาสนาก็มีข้อธรรมในที่เกี่ยวเนื่องกับโลกและสังคมอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีวินัยของสงฆ์ที่เราสามารถเรียนรู้อย่างน้อยก็ทางเจตนารมณ์ทางสังคมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

การที่เราจำเป็นต้องพูดถึงพุทธศาสนากับแนวความคิดต่างๆก็เพื่อพิสูจน์ว่าพุทธศาสนามีคุณค่าสอดคล้องกับแนวคิดที่ดีๆต่างๆของโลก ทั้งนี้ก็เพื่อดึงคนเข้ามาอยู่ในปริมณฑลของการพ้นทุกข์ทั้งในระดับปัจเจกและสังคมให้ยิ่งๆขึ้นไปในตามแนวทางของพุทธศาสนา

Submitted by สมภาร พรมทา on

เข้ามาทักทายครับ อ่านทั้งหมดทั้งบทความและความเห็น สบายใจ ขอบคุณทุกท่านที่เขียนอะไรมาแลกกันอ่าน ข้างนอกฝนกำลังตกพรำๆ เป็นวันดีๆอีกวัน

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ขอบคุณ อ.สมภารมากครับที่แวะมาทักทาย ทางผู้ดูแลบล็อกแจ้งมาว่า หากพอจะมีเวลาอยากขอความกรุณาอาจารย์เขียนบทความมาแจมในประชาไทบ้างน่ะครับ จะเขียนวิจารณ์บทความกลุ่มพุทธศาสน์หรืออะไรก็ได้ตามแต่อาจารย์จะสะดวกครับ

Submitted by สมภาร พรมทา on

อาจารย์สุรพศครับ ผมมีเรื่องฝากให้ช่วยศึกษาวิเคราะห์หน่อย ช่วงนี้ผมอ่านงานของท่านอังคารแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมกวีธรรมะบ้านเราเมื่อถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านจึงเปลี่ยนไปมากขนาดนั้น ท่านอังคารนั้นผมรักและนับถือท่านมาก เชื่อว่าท่านเป็นผู้ใฝ่ในทางธรรม ก่อนนั้นท่านเคยเขียนบทกวีทำนองว่า แผ่นดินนี้ไม่ใช่ของหงส์เท่านั้นหนา กาก็เป็นเจ้าของด้วย แต่สี่ห้าวันก่อน ผมอ่านบทกวีที่ท่านเขียนลงผู้จัดการ ตอนหนึ่งท่านเขียนว่า

มารยารักชาติใช้ ปวงชน งั่งแฮ
แท้เพ่งประโยชน์ตน เท่านั้น
ควายแดงต่างสับสน เซ่อซ่า
แดกหญ้าไม่อั้น โง่รั้นไถ่นาฯ

อ่านแล้วเศร้าใจ ว่าทำไมท่านผู้เฒ่าของเราจึงคิดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างนั้น ธรรมะน่าจะช่วยให้เราคิดกว้าง ลึก และไม่ด่วนสรุปอะไรจนกว่าจะศึกษาให้รอบคอบ ไม่ใช่หรือครับ ท่านอังคารและน้าเนาว์นั้นผมคิดว่าท่านเลื่อมใสท่านพุทธทาสมาก ก็น่าคิดว่าเกิดอะไรกับกวีธรรมะ อาจารย์ที่สอนปรัชญาผมท่านหนึ่ง ท่านพูดกับผมว่า กวีมักสุดโต่ง ถ้าไม่สุดโต่งจะไม่ดัง แล้วท่านก็บอกว่ามีนักปรัชญาอังกฤษคนหนึ่งเขียนงานดีมาก แต่ไม่ดัง เพราะไม่สุดโต่ง นักปรัชญาคนนั้นว่าไปแล้วก็เป็นคนที่ผมชอบงานเขาที่สุด แต่ผมก็ยังไม่เชื่อว่ากวีจำเป็นต้องสุดโต่ง กวีคิดรอบคอบ เขียนงานนิ่มๆก็ได้ ให้เหตุผลมันทำให้เนื้อหาแรงเอง ก็น่าจะได้

ฝากมาเท่านี้ก่อนนะครับ ขออภัยด้วยหากท่านใดอ่านแล้วเห็นว่าเป็นการลบหลู่ท่านผู้อาวุโส

Submitted by สมภาร พรมทา on

บทกวีท่อนสุดท้ายของท่านอังคาร น่าจะอ่านว่า "โง่รั้นไถนา" มากกว่า ข้างต้นนั้นผมพิมพ์ตามที่ปรากฏในผู้จัดการ

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

อ่านที่อาจาร์สมภาร ยกมา ผมก็รู้สึกเศร้าเหมือนกันครับ ใช่ที่กวีทั้งสองท่านเลื่อมใสพุทธทาส แต่ในความเห็นของผมงานของท่านพุทธทาสนั้น "ตรงและแรง" (จำได้ว่าอาจารย์ก็เคยเขียนว่า เนื้อหาในพระไตรปิฎกนั้น ก็ "ตรงและแรง") แต่มีเหตุผลชัดเจนในตัวเอง (ส่วนเราจะเห็นด้วยกับเหตุผลนั้นๆ หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ความแรงแบบบทกวีอังคารที่อาจารย์ยกมานี้ ผมว่าเราไม่เห็นในงานของพุทธทาส

ความแรงที่เป็นการดูถูก "ความเป็นคน" ของเพื่อนมนุษยืเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะออกมาจา "ความรู้สึกของกวี" แม้แต่กวีฝึกหัดก็ตาม

มานึกๆ ดู ภายใต้ "ระบบประชาธิปไตยในกำกับของสมบูรณาฯ" นี้ มันทำให้มโนธรรมทางสังคมและศีลธรรมทางสังคมของคนทุกหมู่เหล่าบิดเบี้ยว หรือเบี่ยงเบนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนีกการเมือง ตุลาการ สื่อ นักวิชาการ กวี ฯลฯ

แม้แต่ ผู้ที่มีสำนึกเที่ยงตรง ก็ไม่มีเสรีภาพจะแสดงออกอย่างเที่ยงตรง ก็ต้องอ้อมไปอ้อมมา เท่ากับเป็นการบิดเบี้ยวอีกแบบหนึ่ง บางครั้งก็คิดกันว่า การแสดงออกทำนองนี้เป็นแบบ "สายกลาง" แล้วก็มองคนอย่าง อ.สมศักดิ์ หรือคนอื่นๆที่แสดงออกทำนองเดียวกันว่า "สุดโต่ง" ไป

ส่วนตัวผมเห็นว่า การมุ่งไปที่ความจริง ความถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องสุดโตง แต่ต้องพยายามไปให้สุด แบบที่ อ.สมศักดิ์พยายามทำผมจึงเห็นด้วย และเห็นว่านักวิชาการบ้านเราที่มีสำนึกเรื่องความจริง ความถูกต้องจำเป็นต้องช่วยกันทำ

แบบอังคารและเนารัตน์นี่ผมว่าสุดโต่ง ตัดสินได้จากเกณฑ์หลายอย่าง ง่ายๆ เลยคือ "ที่คุณเหยียดอีกฝ่ายได้แม้กระทั่งพูดถึงเขาว่าเป็นควาย แต่กับอีกฝ่ายคุณสรรเสริญอย่างเดียว" อย่างนี้คือความหมายของความสุดโต่งชัดเจน

Submitted by ชาญณรงค์ บุญหนุน on

ผมคิดว่า ถ้าหากเราทำการศึกษาท่านพุทธทาสภิกขุบนสมมติฐานเดียวกันกับที่เราศึกษาความคิดของนักปรัชญา ไม่ใช่ผู้ตรัสรู้ธรรม เราจะสบายใจที่เห็นข้อบกพร่องในความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาที่ความคิดหนึ่ง ๆ จะมีข้อบกพร่องบ้าง ในหนังสือพุทธปรัชญา ท่านอาจารย์สมภารก็ได้หยิบยกข้อเสนอของท่านพุทธทาสใน "ธัมมิกสังคมนิยม" มาวิพากษ์วิจารณ์และต่อยอดความคิดทีี่อาจารย์สมภารเชื่อว่าจะทำให้พุทธศาสนาไม่ขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยอย่างที่ท่านพุทธทาสภิกขุเข้าใจ ผมคิดว่าถ้าหากเราถกเถียงและต่อยอดความคิดขึ้นไปในลักษณะนี้ การศึกษาเรื่องพวกนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป แต่โดยทั่วไปแล้ว สังคมเรามักคิดว่า ความคิดของท่านพระเถระทั้งหลายจะมีความสมบูรณ์ภายในตัวเองอยู่แล้ว ลูกศิษย์ลูกหาไม่กล้าวิจารณ์ ผลก็คือ ความคิดและภูมิปัญญาของเราก็หยุดน่ิงอยู่กับที่ ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์สมภารทำเป็นตัวอย่างในหนังสือพุทธปรัชญานั้นเป็นเรื่องน่าสนใจ ที่อาจารย์สุรพศจะลองนำมาพิจารณาเพื่อต่อยอดหรือวิพากษ์วิจารณ์

สำหรับข้อเสนอของท่านพุทธทาสภิกขุ ผม "รู้สึก" (ใช้คำว่ารู้สึกเพราะยังไม่ได้สืบค้นข้อมูล) ว่า กรณีข้อเสนอเกี่ยวกับการปกครองของท่านจะมีข้อบกพร่องตรงที่ไม่เชื่อว่า ความเห็นแก่ตัวของคนที่มารวมกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์แก่ตัวเองจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าขึ้นไป (อันเป็นเหตุให้ท่านไม่ชอบระบอบประชาธิปไตยเพราะท่านมองไม่เห็นว่าการปล่อยให้คนเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัวจะช่วยให้เกิดการควบคุมกันเองได้อย่างไร) ซึ่งตรงนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านพูดไว้ว่ามนุษย์จะเคลื่อนไปหานิพพานโดยอัตโนมัติ ทุกคนมีแน้วโน้มที่จะมุ่งไปสู่นิพพานในท้ายที่สุด เพราะประสบการณ์เกี่ยวกับทุกข์ในชีวิตประจำวันจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเบื่อหน่ายและมุ่งไปสู่พระนิพพานในท้ายที่สุด แนวคิดที่ปรากฏข้างหลังนี้ค่อนข้างมองมนุษย์ในแง่ดีว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ เรื่องนี้ผมจำได้ลาง ๆ แต่ถ้าเข้าใจผิดก็ขออภัย

ส่วนกรณีกวีธรรมนั้น (รวมทั้งกรณีทั่วไปในสังคมไทยที่ผ่านมา) ผมนึกถึง "มหากาพย์มหาภารตะ" ที่บรรดาคนดี ๆ ทั้งหลายที่ปกติล้วนมีสำนึกดีงาม แต่ได้แปรเปลี่ยนตัวเองเป็นศัตรูของกันและกัน ญาติมิตรทั้งหลายต้องขับเคี่ยวกันจนเลือดท่วมทุ่งกุรุเกษตร บางที่ถ้าเราอ่านมหาภารตยุทธโดยละเอียด เราอาจได้คำอธิบายบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ก็ได้

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ผมยอมรับตามตรงว่าอ่านพุทธทาสแล้ว ที่ผมแน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องเลยคือท่านปฏิเสธ "ความเห็นแก่ตัว" ทั้งความรู้สึกว่ามี "ตัวกูของกู" อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล และ "ความเห็นแก่ตัว" ที่มีความหมายเป็น "ปฏิปักษ์" กับ "เห็นแก่ส่วนรวม" (เช่นที่ท่านว่าคดโกง กอบโกยมาเพื่อตัวเองและพวกของตัว ฯลฯ)

คำถามก็คือว่า ในระบบการเมืองที่พึงประสงค์ใดๆ เราควรปฏิเสธความเห็นแก่ตัวในความหมายที่เป็นปฏิปักษ์กับความเห็นแก่ส่วนรวมดังกล่าวหรือไม่? (ผมเข้าใจว่าคำพูดใน "ประโยคเงื่อนไข" ที่ว่า "...ประชาชนเห็นแก่ตัวประชาชนบ้าๆบอๆก็ฉิบหายหมด" หมายถึงความเห็นแก่ตัวในความหมายที่เป็นปฏิปักษ์กับความเห็นแก่ส่วนรวมเท่านั้น ส่วน "ความเห็นแก่ประโยชน์ตน" ในทางที่ถูกพุทธทาสและพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธแน่นอนตามหลัก "อัตตัตภะ ปรัตถะ อุภยัตถะ" )

ท่านพุทธทาสก็ยืนยันว่า ควรปฏิเสธความเห็นแก่ตัวชนิดนั้น (โดยการให้การศึกษาขัดเกลา การมีกฎกติกาควบคุม ฯลฯ)

ส่วนเรื่องการปกครองท่านก็ท่านก็บอกชัดว่าจะจัดระบบไหนก็จัดไปแต่ต้องประกอบด้วยธรรม เพียงแต่ในบริบทยุคสมัยของท่าน ท่านคิดว่าระบบสังคมนิยมเป็นระบบที่ควบคุมไม่ให้คนใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดประโยชน์ส่วนรวมได้ดีกว่า ท่านก็เลยเสนอ "ธัมมิกสังคมนิยม"

ทีนี้ถ้าอ่านหนังสือธรรมะกับการเมืองตลอดทั้งเล่มก็จะเห็นชัดว่า ความคิดเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพในพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

โดยเสรีภาพนั้นท่านยืนยันเสรีภาพทางความคิดและการแสวงหาความจริงตามหลักกาลามสูตร และเสรีภาพจากกิเลส ก็หมายความว่าท่านยอมรับเสรีภาพทางความคิดเห็น การวิจารณ์ตรวจสอบ ส่วน "เสรีภาพจากกิเลส" นอกจากจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของปัจเจกบุคคลแล้ว ในแง่การ apply ในทางสังคมการเมืองย่อมหมายถึงเสรีภาพที่ต้องคู่กับความรับผิดชอบ หมายถึงรับผิดชอบที่จะไม่ใช้เสรีภาพตามความเห็นแก่ตัวละเมิดคนอื่นและประโยชน์ส่วนรวม

ส่วนความเสมอภาคท่านอ้างอิงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแบบไม่เอาส่วนเกิน ตามตัวอย่างของระบบของสังคมสงฆ์แบบพุทธดั้งเดิม

ภราดรภาพ ท่านก็อ้างอิงสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตาย ที่ต้องมีความรักความปรารถนาดีต่อกัน

สรุป สำหรับผมเมื่ออ่าน "ธรรมะกับการเมือง" ของพุทธทาสและไล่เรียงหาความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลของความคิดสำคัญแต่ละเรื่องๆ แล้ว ผมไม่เห็นว่าท่านปฏิเสธประชาธิปไตย (หรือระบบไหนอย่างสิ้นเชิง) แต่ความคิดหลักๆ หรือสาระสำคัญของท่าน (รวมทั้ง "บุคลิกภาพ" ของท่านเอง) ผมคิดว่าสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่า อาจจะว่าเป็น "ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย" ก็ได้อย่างที่ท่านบอก

และผมก็ยังไม่เห็นว่าพุทธทาสยืนยันว่าพุทธศาสนาขัดแย้งกับประชาธิปไตย แต่ถ้าใครจะยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องของการตีความ เพราะพุทธะไม่ได้เสนอไว้ตรงๆ และสำหรับพุทธทาสเองก็ตีความว่าหากพุทธศาสนาจะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นแบบ "ธัมมิกประชาธิปไตย"

ผมก็เห็นด้วยครับว่าเราควรเถียงพุทธทาส จะเถียงเพื่อต่อยอด หรือล้มทฤษฎีเลยก็ยังได้ ไม่ควรจะเกรงกลัวอะไรเลย เพราะไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นพุทธทาส และเท่าที่ทราบมาตัวท่านเองก็ยินดีมากถ้าจะมีใครถกเถียงความคิดท่านอย่างมีเหตุผล

เพียงแต่บทความนี้ต้องการเคลียร์ความคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาสว่าคืออะไร (ตามที่ผมอ่านแล้วเข้าใจ ซึ่งอาจผิดได้)

คือจริงๆ ถึงผมจะรู้สึกโดยส่วนตัวว่าพุทธทาสเป็นพระที่ผมเคารพได้มากที่สุด แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะอวยพุทธทาสอย่างเดียว เข้าใจว่าบทความนี้ก็ไม่ได้อวย แค่พยายามทำความเข้าใจ!

Submitted by เขียดอีโม้ วิสุ... on

ผมขอร่วมแสดงความเห็นสืบเนื่องจากคราวที่แล้ว กรณี อ.สรุพศตอบสิ่งที่ผมสงสัย ดังนี้

1. อ.สรุพศกล่าวว่า "ในขณะเดียวกันข้อความที่อาจารย์เขียดยกมาก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าพุทธทาสสนับสนุน "ราชาธิปไตย" เพราะที่จริงท่านจะพูดแบบมี "เงื่อนไข" เสมอว่า ระบบบการปกครองที่ดีต้องมี "ธัมมิกะ" ประชาธิปไตยก็ต้อง "ธัมมิกประชาธิปไตย" สังคมนิยมก็ต้อง "ธัมมิกสังคมนิยม" ราชาธิปไตยก็ต้อง "ธัมมิกราชาธิปไตย"
อันที่จริง ผมไม่ได้บอกอย่างนั้นนะ แต่ผมได้ยกข้อความที่คนอื่นกล่าวไว้ว่าอย่างไรมาแสดงให้ดูว่า เขาเข้าใจเรื่องธัมมิกสัคมนิยม ตามที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่าเป็นอย่างไร แต่ในบริบทนี้ หรือจะเอาอย่างนั้นแบบฟันธงก็ได้ ตามที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่า ท่านพุทธทาสกำลังสนับสนุนแบบนั้น คือ ราชาธิปไตย เพราะพิจารณาจากคำพูดตามบริบท ดังนี้
ก. ท่านพุทธทาสใช้คำว่า "ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่" ซึ่งประโยชน์ที่ว่านี้ มันทำให้ผมนึกถึงแนวคิดของพวกกลุ่มประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่มักมองแต่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจวิธีการหรือความถูกต้องมากนัก (ประโยชน์เป็นใหญ่ แต่อาจไม่ถูกต้องเสมอไป) ถ้าพุทธทาสเข้าใจทำนองเดียวกัน ผมคิดว่า มันทำให้เราสามารถทำอย่างไร/วิธีใดๆก็ได้เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน(ส่วนใหญ่/มาก) ลึกๆแล้ว นี่คือข้อวิตกที่ตะวันตกข้ามไปไม่พ้น และเป็นปัญหาของพวกประโยชน์นิยมมาดดยตลอด อาจเลยเถิดถึงขั้นยอมให้มีการใช้อำนาจเผด็จการอย่างเฉียบขาดในการทำร้ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ใช้อำนาจนั้นจะเป็นพระราชาหรือคณะบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม อย่างนี้งัยครับ ที่ผมเรียกว่า แม้แต่ทรราชย์ก็สามารถอ้างความชอบธรรมได้ โดยมุ่งเป้าหมายคือ ประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นใหญ่/หลัก ผมนึกถึงตัวอย่างที่อาจารย์สมภารพูดถึง เรื่องประโยชน์นิยมแล้ว แทบไม่อยากคิดต่อ เพราะมันสลดหดหู่ใจมาก ที่คนบางคนต้องยอมเสียสละ เพื่อคนจำนวนมากจะมีชีวิตรอดต่อไป ผมคิดว่า พระพุทธศาสนาคงไม่ตอบปัญหาอย่างเดียวกันนี้อย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีมาตรการอะไรที่จะต้องคุ้มครองชีวิตของทุกคน มิใข่เฉพาะคนใดคนหนึ่งเป็นแน่ ถ้าอย่างนั้น เราจะอธิบายหลักปาณาติบาต หลักเจตนาอย่างไร ??
ข. ถึงแม้ อ.สุรพศจะใช้คำว่า "ธัมมิกะ = ประกอบด้วยธรรม ธรรม = (กล่าวอย่างรวบยอด) ประโยชน์สุขของประชาชน หรือประโยชน์สุขส่วนรวม และ/หรือการเห็นแก่ส่วนรวม หรือการกระทำใดๆ ที่สนับสนุนประโยชน์สุขส่วนรวม (ตรงข้ามกับธรรมคือ ความเห็นแก่ตัว หรือการใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดประโยชน์ส่วนรวม)" ก็ตาม มันก็ไม่ได้แปลว่า ประโยชน์/สุขส่วนรวมหรือการกระทำที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวเนียะจะสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียอะไรบางอย่างได้ดอก อย่างเช่น กรณีการสร้างเขื่อน หรือการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ การปราบปรามคนที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยถึงขั้นต้องสังเวยชีวิตจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสงบโดยเร็ว ในการทำมาหากินและการดำเนินชีวติทางเศรษฐกิจทุนนิยมได้ตามปกติ หรืออย่างเช่น กรณีมหากาพย์มหาภารตะ ที่ อ.ชาญฯ กล่าวถึง เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าประโยชน์เป็นใหญ่/ส่วนรวม มีความหมายเท่ากับความถูกต้อง ถูกธรรม หรือประกอบด้วยธรรม ตามที่อ.สรุพศตีความท่านพุทธทาสแล้ว ผมคิดว่า ตรรกะนี้ผิดอย่างไม่น่าให้อภัยแน่ ใช่มั้ยครับ ?
ที่นี่ ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น ผมคิดว่า ท่านพุทธทาสคงยอมอนุญาตให้องค์อธิปัตย์สามารถเข้าจัดการได้ทันที เพราะคิดว่า มันจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือส่วนรวม แม้ว่าจะออกเป็นเผด็จการอยู่บ้าง ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ที่เรียกว่า เผด็จการโดยธรรม=ประโยชน์ส่วนรวม (ถ้าธรรมมีความหมายตามที่อาจารย์กล่าวมา)อย่างที่เราได้เห็นกันในบ้านเมืองของเราแล้ว ด้วยบริบทการตีความอย่างนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของใครต่อใครหลายคนที่เป็นพระสงฆ์เถรวาทมักจะพุดสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถทำได้เลย เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป การฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคนเสียอีก เป็นต้น ผมคิดว่า ความคิดแบบนี้ มันเป็นความคิดแบบ Colonialism มากมากเลยที่เป็นมรดกตกทอดมาจากพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท แนวพระเจ้าอโศกมหาราช มั้ง?
ถามว่า หลักคำสอนที่แท้ของพระพุทธศาสนาจะยอมอนุญาตให้เกิดกรณีอย่างที่กล่าวมา โดยไม่รู้สึกว่า มันผิดหรือครับ? พระพุทธศาสนาคงไม่ยอมเห็นภาพอย่างนั้นเกิดขึ้นแน่ใช่หรือไม่? มิน่าเล่า? กลุ่มสิทธิมนุษยชนจึงยอมรักษาวาจาอย่างสงบเสงี่ยมยิ่งนัก เพราะคิดว่า มันเป็นการกระทำเพื่อให้คนส่วนมากได้ประโยชน์ใช่มั้ย?
2. คำว่า ประชาธิปไตย มันได้มีความหมายเพียงแค่ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเสียงประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่มันอาจหมายถึง การกระทำขององค์อธิปัตย์ที่อ้างประชาชนเป็นใหญ่ ที่เรียกว่า (เพื่อ)ประชาชน แต่อาจไม่ใช่การปกครอง(ของ)ประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่โง่/ขาดการศึกษา และ(โดยประชาชน)ที่ผ่านตัวแทนการเลือกตั้ง หรือทำสัญญาประชาคมมาแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ มันจะอ้างประโยชน์(เพื่อ)ประชาชนทั้งน้าน..
อย่างเช่น ระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ก้มักจะอ้างเสียงประชาชนเป็นใหญ่เหมือนกัน โดยผ่านตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รู้มั้ยครับว่า ประชาธิปไตยแบบนี้ก็มีจุดบกพร่องตกที่ว่า เสียงส่วนใหญ่/คนส่วนใหญ่ก็มีข้อจำกัด หากมันไปละเมิดสิทธิ และเสรีภาพส่วนบุคคลเข้า เพราะประชาธิปไตยแบบนี้ มันมุ่งปกป้องคุ้มครองปัจเจกบุคคลเป็นหลักมากกว่า และมีแนวโน้มว่าจะเข้าข้างพวกกลุ่มทุนทั้งหลายด้วยซ้ำไป !! และประชาธิปไตยก็มีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรพิจารณากันอย่างละเอียดต่อไป ขอบคุณครับที่ให้พื้นที่แสดงความคิดอ่านบ้าง !!! ฮ่าๆๆๆๆๆๆ

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ขอบคุณ อ.เขียดที่แลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ครับ

1.หลักการประโยชน์นิยมมีปัญหาว่า ถ้าการกระทำใดๆ ที่ก่อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่คือความถูกต้อง หมายความว่ามีความชอบธรรมจะละเมิดสิทธิของคนส่วนน้อยใช่หรือไม่ เช่น สร้างสนามบิณสุวรรณภูมิเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่จึงควรทำ แม้จะทำให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงทุข์ทรมานกับเสียงเครื่องบิน หรือตัวอย่างที่ซีเรียสกว่านั้นคือเราควรฆ่าคน 1 คน เพิ่อใช้อวัยวะของเขาช่วยเหลือคน 5 คน ให้รอดชีวิตหรือไม่

นี่เป็นปัญหาที่ประโยชน์นิยมตอบยาก ถ้าใช้คำตอบของเบนธัมก็คือให้ทำได้ มันย่อมขัดต่อมโนธรรมของเรา แต่ความคิดประโยชน์นิยมก็มีความซับซ้อนอยู่ เช่น มิลล์พูดถึงความสุขเชิงคุณภาพ และดูเหมือนเขาจะยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลว่าต้องได้รับการปกป้องอย่างถึงที่สุดตราบที่เขาไม่ใช้เสรีภาพนั้นละเมิดเสรีภาพคนอื่น ฉะนั้น การอ้างประโยชน์ส่วนรวมของมิลล์ น่าจะคำนวนการปกป้องเสรีภาพของคนส่วนน้อยด้วย (เราทราบว่าความคิดมิลล์สนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม)

ส่วนประโยชน์ของประชาชนตามความคิดของพุทธทาส ท่านก็ยืนยันอีกนั่นแหละว่าต้องเป็น "ประโยชน์ที่ประกอบด้วยธรรม" ฉะนั้น เมื่อท่านยืนยันธรรมในพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก (ยืนยันธรรมในความหมายอื่นๆด้วย) ประโยชน์ที่ประกอบด้วยธรรมก็คือประโยชน์ 3 ระดับในพุทธศาสนานั่นแล

ทีนี้ "เผด็จการโดยธรรม" ของพุทธทาสนั้น ไม่ใช่จะใช้ "วิธีเผด็จการ" แบบไหนก็ได้ คือสำหรับท่านพุทธทาสแล้ว จะโดย "ใคร" (ราชา คณะบุคคล หรือประชาชน) ก็ได้ แต่ "วิธีการ" ต้องเป็นวิธีเดียวเท่านั้นคือต้องเป็น "วิธีการโดยธรรม" หรือ "วิธีการที่ประกอบด้วยธรรม" ฉะนั้น ท่านจึงวิจารณ์สังคมนิยมแบบตะวันตกว่าไม่ถูกต้องที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องใช้กำลังล้มล้างนายทุน เป็น "สังคมนิยมที่ได้มาด้วยเลือด" เผด็ดการโดยธรรมท่านอ้าง "วิธีเผด็จการของพุทธะ" ที่ตัดสินเด็ดขาดตามธรรม ยึดธรรมาธิปไตย และอุดมคติทางการเมืองของท่านคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยไม่ต้องใช้ "อาชญา" (ซึ่งเป็นอุดมคติที่อาจไม่มีวันเป็นจริง)

ฉะนั้น โดยหลักการ "ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่" ของพุทธทาส จึงจะใช้ "วิธีการที่ผิดศีลธรรม" ไม่ได้ ใช้ได้แต่ "วิธีการที่ถูกศีลธรรม" หรือ "วิธีการที่ประกอบด้วยธรรม" เท่านั้น

2. ส่วนเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่เราหมายถึง "เสรีนิยมประชาธิปไตย" ซึ่งบทความนี้พูดถึงหลักการสั้นๆ แล้ว (พูดถึงในฐานที่เข้าใจไม่ได้อธิบายรายละเอียด มีละเอียดกว่านี้บ้างในบทความที่อ้างอิงใน ปล.)

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ต่ออีกนิดครับ ผมอ่าน "ธรรมะกับการเมือง" ของพุทธทาสหลายรอบ แรกๆก็เห็นว่าความคิดของท่านมัวๆ ขัดแย้งในตัวเองไปหมด โดยเฉพาะเมื่ออ่านคำวิจารณ์ของท่าน บางครั้งมันทำให้ผม "ลมออกหู" ได้ง่ายๆ อย่างเช่นคำว่า "(ถ้า)ประชาชนโง่ ประชาชนเห็นแก่ตัว บ้าๆ บอๆฯลฯ"

แต่ถ้าจับหลักของท่านคือท่านใช้คำว่า "ธรรม" คำเดียวเป็นฐานในการ "นิยาม" วิจารณ์ระบบการเมืองต่างๆที่มีอยู่ และเสนอแนวคิดระบบการเมืองของตนเองขึ้นมา เราจะเห็นว่าตรรกะของท่านสอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด (ดูเผินๆ เหมือนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง) แล้วก็เป็นตรรกะที่สวยงามไม่แพ้ตรรกะในระบบจริยศาสตร์ของค้านท์เลยนะผมว่า เพียงแต่มีความซับซ้อนต่างกัน (ขอ "อวย" หน่อย ฮา ระยะหลังนี้ใครๆ ก็รุมท่าน)

Submitted by 555 on

"ควายแดงต่างสับสน เซ่อซ่า แดกหญ้าไม่อั้น โง่รั้นไถนา "

ถูกคือถูก ผิดคือผิด ความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ต้องยกย่อง ท่านบรรลุแล้ว .

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

พอดีเช้านี้อากาศสดใส เลยขอทำความเข้าใจเพิ่อมอีกหน่อย

1. ย้อนกลับไปอ่านความเห็นที่แลกเปลี่ยนอาจารย์เขียดแล้ว พบว่าผมใช้คำว่า

... ในขณะเดียวกันข้อความที่อาจารย์เขียดยกมาก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าพุทธทาสสนับสนุน "ราชาธิปไตย" เพราะที่จริงท่านจะพูดแบบมี "เงื่อนไข" เสมอว่า ระบบบการปกครองที่ดีต้องมี "ธัมมิกะ" ประชาธิปไตยก็ต้อง "ธัมมิกประชาธิปไตย" สังคมนิยมก็ต้อง "ธัมมิกสังคมนิยม" ราชาธิปไตยก็ต้อง "ธัมมิกราชาธิปไตย"

เลยยกมาให้เห็นว่าผมใช้คำว่า "...ข้อความที่อาจารย์เขียดยกมา..." ผมไม่ได้บอกว่า "อาจารย์เขียดฟันธง"

2. ที่ผมบอกว่าพุทธทาสนิยามความหมายของการเมือง วิจารณ์แนวคิดทางการเมืองอื่นๆ และเสนอแนวคิดทางการเมืองของตนเอง ท่านมีจุดยืนอยู่ที่ "ธรรม" คำเดียวนั้น ก็ดังที่เราคุ้นเคยกันว่าท่านจำแนกความหมายของธรรมออกเป็น 4 ความหมาย คือธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ผลจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ

ทีนี้ท่านก็ว่า "การเมือง" คือธรรมะในความหมายที่เป็นการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติและผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ เมื่อท่านนิยามว่า "การเมืองคือระบบการจัดการทำให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากปัญหาโดยไม่ต้องใช้อาชญา" (และท่านก็ยืนยันว่าพุทธศาสนามีระบบศีลธรรมที่มีความมุ่งหมายแบบนี้) จะเห็นว่าหลักคิดของท่านก็ยึดหลักอริยสัจ คือ "การอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากปัญหา= นิโรธ ระบบการเมืองที่ดีหรือมี "ธัมมิกะ" = มรรค"

โดยหลักการนี้เราจึงไม่อาจสรุปความคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาสได้ว่า เป็นประโยชน์นิยมชนิดที่ใช้คำอุปมาอุปไมยว่า "แมวสีไหนไม่สำคัญขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน" หรือ "ใช้วิธีการที่ถูกหรือผิดศีลธรรมก็ได้ขอให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่" เพราะสำหรับพุทธทาสนั้นทุกวิธีการที่ใช้จะต้องประกอบด้วยธรรม หรือพูดให้ตรงที่สุด "ทุกมรรคและผลต้องประกอบด้วยธรรมเท่านั้น" (ผิดหลักศีลธรรมไม่ได้)

3. ทีนี้ความหมายของ "เผด็จการโดยธรรม" ที่ท่านใช้ท่านหมายถึง "ความเฉียบขาดแบบที่กฎธรรมชาติมันเฉียบขาด" เช่น ถ้าต้องการพ้นทุกข์ ก็ต้องเฉียบขาดในการขจัดสาเหตุของทุกข์ นี่เป็นกฎธรรมชาติ ท่านถึงบอกว่าธรรมะคือหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ (ปฏิจจสมุบาทฝ่ายดับทุกข์) แต่ความเฉียบขาดก็ต้องโดยธรรมคือโดยมรรค ฉะนั้น เผด็จการโดยธรรมของท่านก็เข้าใจได้แบบนี้ มันไม่ใช่อย่างที่นำไปอ้างกันอย่างสะเปะสะปะ เช่นที่พระพยอมไปอ้างว่า "คิม จอง อิล ก็เป็นเผด็จการโดยธรรมแบบที่หลวงพ่อพุททาสสอน" (บทความพระพยอมใน "โลกวันนี้วันสุข" บังเอิญผมจำฉบับไม่ได้) เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าการนำคำพูดของพุทธทาสไปอ้างๆ กันทั้งในทางสนับสนุนหรือวิจารณ์ กระทั่งเกรียน บางครั้งก็ไม่แฟร์ต่อท่านนัก (ซึ่งก็ทำได้ แล้วแต่ ผมไม่ว่าอะไร แต่ส่วนตัวผมมองของผมแบบนี้)

อันนี้ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ผมเข้าใจว่าความคิดทางการเมืองของพุทธทาสเป็นอย่างไรเท่านั้น ไม่ใช่ผมต้องการยืนยันว่าความคิดของท่านถูกต้องที่สุด

Submitted by เขียดอีโม้ วิสุ... on

ขอบคุณอ.สุรพศที่แลกเปลี่ยนความเห็นด้วยครับ นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในประเด็นนี้อยากยกข้อความที่ว่า

"ท่าน (พุทธทาส) จึงวิจารณ์สังคมนิยมแบบตะวันตกว่าไม่ถูกต้องที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องใช้กำลังล้มล้างนายทุน เป็น "สังคมนิยมที่ได้มาด้วยเลือด" เผด็ดการโดยธรรมท่านอ้าง "วิธีเผด็จการของพุทธะ" ที่ตัดสินเด็ดขาดตามธรรม ยึดธรรมาธิปไตย และอุดมคติทางการเมืองของท่านคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยไม่ต้องใช้ "อาชญา" (ซึ่งเป็นอุดมคติที่อาจไม่มีวันเป็นจริง)"...
จริงๆแล้ว มิใช่ว่า ผมจะไม่ตระหนักในสิ่งที่ท่านพุทธทาสเสนอมาหรอกนะ เพียงแต่ผมต้องการหาอะไรที่มันจะเปิดพรมแดนของการแสวงหาความคิดอะไรใหม่ๆ มาสอบถาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยตั้งตนเองเป็นขั้วตรงข้ามไว้ก่อน คงเป็นวิธีแบบที่ฮุสเสริล ชอบใช้มั้ง? ผมกำลังจะดีเฟ็นด์ว่า ท่านพุทธทาสเข้าใจบทบาทของพวกกรรมาชีพน้อยไป (ผมพูดแบบแรงไว้ก่อน เผื่อว่าจะได้หาอะไรมาแย้งให้ได้ อะนะ)
พูดกันเล่นๆนะ .. ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องอวยท่านพุทธทาสเสมอไปก้ได้ เพราะส่วนที่ดี เราก็ตระหนักรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ในแวดวงการถกแบบปรัชญา ผมว่า เราควรค้นหาข้อคิดเห็นอะไรที่มันไม่ชัด เป็นข้อบกพร่อง จุดที่สามารถตั้งคำถามได้ มาคุยและเปลี่ยนกันดีกว่า เพราะในวงการปรัชญาเขาก้ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น หาไม่แล้วนักปรัชญาจะมีอะไรมาเขียนใหม่ๆอยู่เรื่อยได้อย่างไร เพราะโต้แย้งงัย อารยธรรมของการใช้ปัญญาจึงพัฒนามาได้ถึงขั้นนี้ (ไม่รู้นะ ผมคิดของผมอย่างนี้)
อนึ่ง เวลาเราพูด ผมก็ไม่มีความรู้สึกว่า ผมกำลังโต้แย้งกับท่านพุทธทาสนะ แต่ผมมีความรู้สึกว่า มันมีเนื้อหาหรือเรื่องราวของวาทกรรมล้วนๆที่อยู่ในนั้น ดังนั้น ผมจึงไม่รู้สึกว่า ผมไม่มีความเคารพท่านพุทธทาส เพราะท่านพุทธทาสคงไม่ต้องการให้ผมทำเช่นนั้นแน่ เนื่องด้วยท่านมีหลักไม่มีตัวกู ของกู ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้ผมมีความเป็นอิสระ ปลอดดปร่งโล่งเบา เวลาทำการบ้านแบบนี้ และคิดได้มากเท่าที่สติปัญญาจะเอื้ออำนวยให้ได้ (แต่ไม่แน่นะ ถ้าสนง.พุทธศาสนาแห่งชาติออกระเบียบเอาผิดทางอาญาได้แล้ว ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งในจำนวนหลายคนที่ต้องไปนอนในคุกจริงๆก้ได้ คุมขังความคิดมั้งเนาะ ฮ่าๆๆๆ)

Submitted by Jubu on

side effect หรือ อาการข้างเคียง ของพุทธศาสนาครับผมรู้สึกอย่างนั้น ผมติดใจความเห็นที่ว่าบ้านเรามักจะให้ความเคารพกับความคิดของพระเถระองค์สำคัญๆจนไม่กล้าแย้ง หรือข้อที่ผมพอจับใจความได้ว่าความคิดของท่านพุทธทาสมีหัวใจอยู่ที่ธรรม เผด็จการโดยธรรม การปกครองที่มีความสุุขโดยไม่ใช้อาชญาซึ่งไม่มีวันเป็นจริงเป็นต้น

ผมว่าแต่ละศาสนามักจะมี อาการข้างเคียง ที่ไม่พึงประสงค์ติดมาทุกศาสนาทั้งที่ความจริงแล้วตามหลักศาสนาที่แท้ของศาสนานั้นๆไม่ได้เป็นอย่างนั้น เช่น ผมว่าอาการข้างเคียงของคริสตศาสนาคือการที่ต้องพยายามทำให้คนอื่นเข้ารีตด้วย อาการข้างเคียงของศาสนาอิสลามคือความรุนแรง เป็นต้น

อาการข้างเคียงของพุทธศาสนาก็ประมาณว่า ปล่อยวางจนกลายเป็นเฉยเมยไม่แยแส และมีทัศนคติทำนองว่าโลกทางธรรมอันบริสุทธ์ผุดผ่องมีอะไรที่เกี่ยวกับทางธรรมก็ต้องบริสุทธิ์ ถูกต้อง ดีงามไปเสียหมด ไม่ควรไปโต้แย้งพระเถระที่มีความบริสุทธิ์ทางธรรม แม้ว่าความคิดของท่านที่ใช้ความเด็ดขาดทางธรรมมามองการปกครองทางโลกก็แทบจะเรียกได้ว่าอินโนเซ้นท์ไปเลย

ผมมีความรู้สึกว่าทัศนคติลักษณะนี้ฝังอยู่ลึกมากเป็นทัศนคติที่หา ความพอดี ได้ลำบากทั้งที่ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดในพุทธศาสนามีการสอนเรื่อง สัมปชัญญะในความเหมาะสม อยู่ด้วย ผมกำลังจะบอกว่าโลกทางธรรมอันสูงส่งน่ะมีอยู่จริงแต่เราไม่อาจใช้ท่าทีอันสูงส่งไปใช้ได้กับทุกเรื่อง ในหลายๆกรณีเราต้องยอมรับความจริงที่อาจไม่โสภานักและปฎิบัติให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่จะคิดว่าเป็นเรื่องโลกๆมัวหมองไปเสียหมด คือเป็นการยอมรับ จะใช้คำว่าอะไรดี สัตภาวะ ใช่มั้ยครับ ระดับสัตภาวะ ของทั้งแต่ละบุคคลหรือสังคมที่แตกต่างกันแล้วปฎิบัติให้เหมาะสมต่อเรื่องแต่ละเรื่องไป แน่นอนครับยังมีโลกที่สูงส่งกว่า นั่นเป็นเรื่องที่ต้องพยายามกันต่อไป

ผมชอบคิดถึงแง่มุมหนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งพ้นโลกไปแล้ว ถ้าเราจะพูดเรื่อง ความรัก แบบชายหญิงกับพระพุทธเจ้าล่ะ จะพูดได้มากแค่ไหน ถ้าเอาเรื่องนี้ไปพูดกับนักปฎิบัติธรรมที่เคร่งครัดละก็ผมว่าส่วนใหญ่ไม่วายถูกมองแบบเหยียดหยามว่าเป็นเรื่องโลกๆโลกีย์ แน่นอนครับว่าพระพุทธองค์ก็ตรัสว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ แต่ในแง่ความเหมาะสมมีข้อธรรมหนึ่งที่พระพุทธองค์สอนว่าสามีควรซื้อของขวัญให้ภรรยาในบางโอกาส ผู้ซึ่งพ้นโลกไปแล้วกลับละเอียดอ่อนต่อเรื่องแบบนี้ได้ขนาดนี้ ผมว่าเป็นข้อธรรมที่โรแมนติกที่สุดของพุทธศาสนา

เรื่องลักษณะนี้แหละครับที่ผมรู้สึกว่าชาวพุทธหาความพอดี ความเหมาะสมไม่ค่อยได้ ปล่อยวางจนกลายเป็นเฉยเมย โลกก็ส่วนโลก ธรรมก็ส่วนธรรม อะไรประมาณนี้ side effect ครับ

Submitted by dk on

side effect ที่่คุณว่ามานั้น อาจไม่ใช่โดยตรงจากพุทธศาสนา นัก(ก็ได้)
น่าจะมาจาก อัตลักษณ์ประจำชาติ ที่เรียกว่า ความเกรงใจ

โดย ความเกรงใจนี้ อาจดีในยุคหนึ่ง ไม่ดีในยุคที่คนมากขึ้น ระบบหลากหลายซับซ้อนขึ้น
เพราะ จะเกรงใจกัน กลัวเสียหน้า แล้วเอาไปนินทาลับหลัง หรือโทษคนอื่น ไม่ยอมโทษตัวเอง(เพราะเกรงใจมาก่อนแล้ว)

ความเกรงใจ คือ การสมยอม หรือ จำนน ต่ออำนาจที่เหนือกว่า อย่างที่คิดไปว่า เป็นการให้เกียรติ ปล่อยให้การครอบงำนั้น
ดำรงอยู่ เพื่อ ความสงบ ทั้งที่อาจผิด ไม่เหมาะสม(แล้ว) อันนี้มันเป็น ลัทธิบูชาตัวบุคคล หรือ อำนาจนิยม รากฐานสังคมไทยเลย ทำให้เกิดวัฒนธรรมเส้นสาย การทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก(อย่างขาดเหตุผล)
หรือ แรงขึ้นมาก็กลายเป็น การเชื่อในตัวบุคคล โดยไม่ยอมเชื่อในระบบ หรือกฏกติกาไป แนวพวกมาลากไป(อย่างไม่มี
เหตุผล).........

แนวรบด้านวัฒนธรรมทำนองนี้ มันยากที่จะปลดปล่อย เพราะ ฝังลึกและคือตัวเรา ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว
จะไปหวัง การเปลี่ยนแปลงภายนอก ก็คงต้องหมดคนรุ่นนี้ไปนั่นเเหละ

พุทธทาสเป็นบุคคลาธิษฐานสำหรับหลายๆคน เพราะ คุณูปการมหาศาลต่อพุทธศาสนาในไทย
ท่านมีความคิดที่เป็นสากลในระดับหนึ่ง โลกจึงยกย่อง พุทธฯในทัศนะของท่าน เป็นพุทธแห่งปัญญามากกว่าวิปัสสนา

แต่ก็อาจคล้าย คานธี ที่ใช้อหิงสามาปฏิบัติการทางการเมือง จนปลดแอกจากผู้กดขี่อย่างอังกฤษได้สำเร็จ
ในขณะที่ ความเป็นฮินดูของท่าน ก็ปิดตาท่าน จากปัญหา ชนชั้นวรรณะภายในสังคมอินเดีย
ท่านไม่ได้เห็นว่า ความเท่าเทียมกัน หรือ ยกเลิกวรรณะ เป็นสิ่งจำเป็น สำคัญ หรือ เป็นปัญหา
เพราะ มันคือตัวตนหรืออัตลักษณ์ของความเป็นฮินดู ที่ต้องเป็นเช่นนั้น
นี่เรียกว่า รากฐานสังคมเชิงวัฒนธรรมที่โยงกับศาสนา เป็น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้

สำหรับ การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทย ก็มักเผชิญ วัฒนธรรมความเกรงใจทีมีรากจาก อำนาจนิยม
ที่แปรเปลี่ยนเป็น อำนาจเสมือน หรือ อำนาจบารมี นั่นเอง ตรงนี้แหละ คือ เครือข่ายสังคมของอำมาตย์-เจ้า
ที่ปกคลุมทั่วไปใน หลายๆวงการ ซึ่งมันเป็นภาวะ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก อยู่ร่ำไป

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

"...ค.ศ.1937 อัมเบ็ดการ์ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเขาตีพิมพ์หนังสือและบทความจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาฮินดูและระบบวรรณะ...นอกจากนี้ยังเขียนหนังสือและบบทความวิพากษืวิจารณ์ศาสนาอิสลามและหลักปฏิบัติของศาสนานี้ในเอเชียใต้ เขาประณามการจับเด็กแต่งงาน...การมีภรรยาหลายคน การกดขี่ผู้หญิงในสังคมมุสลิม การที่ชาวมุสลิมกดขี่ชนกลุ่มน้อยบางเชื้อชาติ...เขาเรียกร้องให้สังคมมุสลิมในอินเดียปฏิรูปสังคมของตน..."

(จากบทความ "Bhimrao Ramji Ambedkar พิมเรา รามจี อัมเบดการ์ มหาบุรุษของชาวดาลิตในอินเดีย" ดดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ ปจารยสาร มิถุนายน-สิงหาคม 2555)

ผมยกตัวอย่างมาให้เห็นว่าภายในบริบทวัฒนธรรมทางปัญญาของอินเดีย อัมเบดการ์วิจารณ์สังคมอินเดียหรือแม้กระทั่งศาสนาอื่นจากจุดยืนความเสมอภาคของศาสนาพุทธที่เขานับถือ ที่ทำเช่นนั้นได้อาจไม่ใช่เพียงเพราะว่าอัมเบดการ์มีความกล้าหาญ แต่ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือวัฒนธรรมทางปัญญาอินเดียเป็นวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ที่หยั่งรากลึกมาหลายพันปี พุทธศาสนาก็เกิดขึ้นในบริบทวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ท่ามกลางลัทธิศาสนาและปรัชญาจำนวนมาก

แต่สังคมไทยนั้นต่างออกไป โดยทั่วไปแนวคิดปรัชญาทุกแนวคิดต้องวิจารณ์กันได้อย่างถึงราก หรือต้องผ่านการวิพากษืวิจารณ์จนตกผลึกจึงจะมีการนำมาปรับใช้ แต่สำหรับ "ปรัชญาเสณบกิจพอเพียง" เป็นข้อยกเว้น

แนวคิดของพระเถระไม่ใช่ข้อยกเว้นอยู่แล้ว ที่เห็นๆ ก็มีทั้งอวยและวิจารณ์ เพียงแต่ "คุณภาพของการวิจารณ์" มีมากแค่ไหนก็ยังเป็นคำถามที่ท้าทายอยู่ด้วยเช่นกัน!

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ขออภัย แก้เป็น "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

Submitted by dk on

พูดถึงอินเดีย เท่าที่ทราบ(บ้าง) พบว่า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีมาก่อน พุทธศาสนา หรือพูดได้ว่า พุทธฯคือ anti-thesis
ของพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งต่อมา พุทธฯเองก็ได้ผนวก ความเชื่อในพราหมณ์-ฮินดูเข้าไว้ด้วย(บางนิกาย) เช่น ความเชื่อใน
เรื่องระดับชั้นของการบรรลุธรรม และ/หรือ การเวียนว่ายตายเกิด(?)

กรณี อัมเบดการ์ ถือได้ว่า เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ โดยใช้ลัทธิศาสนา เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม
ซึ่ง อาจได้ผลในระดับหนึ่ง แต่พบว่า ศาสนาพุทธ ก็ยังคงเป็นกระแสรองๆ มากมาย

กลับมาที่สังคมไทย คุณจะพบว่า ทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวต้านทุนนิยม ซึงโลกาภิวัฒน์ครอบอีกชั้นหนึ่ง จากภาย
นอก มองได้ว่า เป็นความพยามผลิตซ้ำอุดมการณ์ของฝ่ายอำมาตย์-เจ้า โดยเชื่อว่า เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภาย
ใน(ระบบสังคม) แง่นี้ มันก็มีเหตุผลอันชอบในตัวเอง(เหมือนกัน) เนื่องด้วย ปัญหาทางสากลของระบบทุน(ก็มี) เช่น
สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์หาความสุข(แท้)ไม่เจอ ฯ จะเห็นว่า ทิศทางการพัฒนาบางทีมันย้อนแย้งกัน(ได้)

ทีนี้ ในความเป็นจริง เมื่อความไม่เท่าเทียมกันมีมากขึ้น ประชาคมสังคม ก็จะเพรียกหาสิงที่ขาด จากรัฐ(ของรัฐ)

เลยเกิดปรากฏการณ์ การแบ่งฝ่าย เพื่อ ให้มีการจัดระเบียบที่เหมาะสม ซึ่งจำต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เร็ว-ช้า
แล้วแต่ มิติการชักคะเย่อทางการเมือง จะเรียกหาเหตุผลปรากฏเป็นจิตสำนึกที่แผ่ขยายกว้างเพียงใด ....ต่อไป

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

อ.สมภาร พรมทา สรุปความคิดทางการเมืองของพุทธทาสไว้ชัดเจนในหนังสือ “พุทธปรัชญา” หน้า 197-198 ว่า (ผมจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย)

ท่านพุทธทาสได้เสนอปรัชญาการเมืองที่ท่านเรียกชื่อว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” ทฤษฎีการเมืองดังกล่าวนี้ท่านนำเสนอในฐานะระบบการเมืองเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นแบบหนึ่งต่างหากจากรูปแบบที่มีอยู่เดิมสองแบบหลักๆ คือประชาธิปไตยเสรีนิยมและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ทฤษฎีการเมืองของท่านพุทธทาสนี้ท่านนำเสนอบนพื้นฐานความคิดที่ว่า

(1) เสรีนิยมและสังคมนิยมที่มีอยู่แล้วนี้เน้นการเรียกร้องเพื่อที่จะเอา ซึ่งการเรียกร้องเช่นนั้นขัดกับเจตนารมณ์เชิงสหกรณ์ในธรรมชาติ

(2) เมื่อเจตนารมณ์ของธรรมชาติคือความคิดถึงหรืออนุเคราะห์ผู้อื่นก่อนจะคิดถึงตนเอง ปรัชญาการเมืองและสังคมที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในธรรมชาตินั้นจึงต้องเป็นชนิดที่ไม่วางอยู่บนพื้นฐานของการเรียกร้องเพื่อตนเอง หากแต่เป็นชนิดที่มุ่งประโยชน์สุขของผู้อื่นหรือมหาชนเป็นหลัก

(3) ท่านพุทธทาสเรียกระบบการเมืองแบบที่ท่านเสนอว่า “สังคมนิยม” ในความหมายว่าเป็นปรัชญาสังคมและการเมืองที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมหรือมหาชนเป็นหลัก

แต่เพื่อให้สังคมนิยมที่ว่านี้แตกต่างไปจากสังคมนิยมชนิดที่มุ่งประโยชน์ตน (แม้จะเป็นประโยชน์ที่อ้างโดยคนหมู่มากก็ตาม) ท่านจึงเรียกสังคมนิยมนี้ว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่าสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรม

คำว่า “ธรรม” ในที่นี้ก็คือธรรมชาติ ธรรมมิกสังคมนิยมจึงเป็นระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งประโยชน์สุขของมหาชนเป็นหลัก และการมุ่งประโยชน์สุขของมหาชนเป็นหลักนี้ดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของธรรมชาติ อันได้แก่เจตนารมณ์เชิงสหกรณ์ คือมุ่งสละเพื่อผู้อื่น เมื่อทุกคนมุ่งสละเพื่อผู้อื่น จะเป็นสังคมที่มีแต่ความสุข และสุขชนิดนี้จะเป็นสุขถาวร เพราะจะไม่มีใครเอาเปรียบใคร แม้กติกาของสังคม (เช่นกฎหมาย) จะเปิดช่องให้ก็ตาม
---------------------------------

ผมว่านี่เป็นข้อสรุปที่ชี้ให้เห็นความสอดคล้องทางตรรกะในความคิดทางการเมืองของพุทธทาสอย่างชัดเจน (อย่างที่ผมว่าตรรกะนี้สวยงามไม่แพ้ตรรกะแบบค้านท์ ที่สร้างแนวคิดทางจริยศาสตร์ของตนขึ้นบนสมมติฐานเรื่อง pure reason และ good will)

แต่ก็มีปัญหาว่า ระบบการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานข้ออ้างทางอภิปรัชญา (เจตจำนงสหกรณ์ของธรรมชาติ) เป็นที่ยอมรับในยุคปัจจุบันหรือไม่ หรืออุดมคติเห็นแก่ผู้อื่นทำให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด ทว่าปัญหาดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้กระทบต่อความคิดที่มีเหตุผลในตัวของมันเอง หมายความว่าความคิดเช่นนี้ก็มีคุณค่าควรศึกษา เหมือน “อุดมรัฐ” ของเพลโต เป็นต้น

(ถ้าเข้าใจไม่ผิดดูเหมือน อ.สมภารก็พยายามเชื่อมโยงความคิดของพุทธทาสว่าใกล้เคียงกับความคิดเรื่องทฤษฎีความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์ อะไรประมาณนี้ ซึ่งผมเองก็เห็นว่าความคิดเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” ของพุทธทาสใกล้เคียงกับหลักความยุติธรรมของรอลส์)

Submitted by dk on

เจตจำนงสหกรณ์ของธรรมชาติ ดูๆแล้ว มันก็คือ แนวคิดเรื่อง ข่ายใยชีวิต (Web of life) หรือ โยงใยของสรรพสิ่ง
แต่นี่เอามามองสังคมมนุษย์ ก็ทำได้ เห็นจริงได้ แต่ก็เห็นต่างได้เหมือนกัน

โดยเฉพาะ เหล่านักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
ที่มองชีวิตในลักษณะมีวิวัฒนาการ ผ่านการคัดสรรจากธรรมชาติ ต้องดิ้นรนต่อสู้ ไม่ใช่แค่มีเห็นอย่างเป็นความร่วมมือกัน
แต่บางครั้ง หรือบ่อยครั้ง ธรรมชาติก็ช่างโหดร้าย รุนแรง ทำให้ทุกชีวิตต้องปรับตัวและมีวัวัฒนาการอย่างก้าวกระโดด
เป็นสรรพชีวิต สายพันธุ์ต่างๆ ในอารยธรรมมนุษย์เอง ก็พบได้ว่า สงครามและสันติภาพ มีคลุกเคล้าผสมปนเปกันมา
ตลอด และการพัฒนาด้านอาวุธ กลับเป็นตัวนำวิทยาการใหม่ๆมาสู่สังคม ในขณะที่ก็ไปทำลายทำร้ายด้วย

กล่าวได้ว่า พุทธทาสมองความเป็นสังคมในแง่ดี เพื่อสร้างสังคมอันพึงประสงค์
แต่พบได้ว่า ท่านไม่ได้กล่าวถึง การปกครองเลย (หรือเปล่า?) (หรือละไว้ในฐานเข้าใจ ?)
ในขณะที่ มองมนุษย์ปัจเจกในแง่ลบ กล่าวคือ เห็นแก่ตัว มีกิเลสตัณหา ซึ่งต้องขัดเกลา (ตามมิติศาสนา อยู่แล้ว)

เพราะ คุณจะพูดถึงรัฐอย่างไร สังคมอันพึงประสงค์อย่างไร โดยไม่ได้บอกกล่าวที่มาของผู้ปกครอง
แล้ว ธรรมิกสังคมนิยม จะนำมาปฏิบัติเป็นจริง ได้อย่างไรในบริบทสังคมไทย ตั้งแต่ยุคของท่านจนถึงปัจจุบัน

หรือท่านอาจแค่หวังไว้ ที่จุดเล็กๆ ในระดับหมู่บ้านมากกว่า ไม่ได้มุ่งถึงระดับมหภาค แต่อย่างใด (หรือเปล่า?)

Submitted by cosmopolitan on

ท่าน อ พุทธทาส ปฎิเสธ การศึกษาพุทธศาสนาแบบปรัชญาไปแล้วนะ ผมพอจำได้ แต่พวกนักปรัชญาก็ยังเอามาต่อล้อต่อเถียงกันอีก ถ้าพูดแบบหยาบๆๆ ท่านคงบอกว่า "พวกมึงไม่ต้องมายุ่งกับกูเลย ไอ้พวกฟุ้งในสติปัญญากันทั้งหลาย"