พุทธศาสนาแบบไทยๆ : Buddhist Fundamentalism

 

วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสนาของราษฎร
 
 
๑. พุทธศาสนาเถรวาทจากมุมมองประวัติศาสตร์ศาสนา*

เมื่อมองมายังพุทธศาสนาเถรวาทที่เจริญงอกงามอยู่ตามประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการชาวตะวันตกได้ให้คำนิยามต่อพุทธศาสนาเถรวาท ในฐานะสายปฏิบัติที่เน้นไปที่การรักษาคำสอน วิถีการดำเนินชีวิต ให้มีความใกล้เคียงกับที่ปฏิบัติกันในสมัยพุทธกาลมากที่สุด 

 
นักประวัติศาสตร์ศาสนาพยายามมองไปให้พ้นกรอบสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนดรูปแบบพุทธศาสนาเถรวาทในแต่ละประเทศ สิ่งใดที่ช่วยรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมของธรรมวินัยที่พระพุทธะสมณโคดมสั่งสอนเหล่าอริยสาวก?  นักประวัติศาสตร์ศาสนาคำนึงถึงส่วนสำคัญของการสืบทอดพุทธศาสนาเถรวาทตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยจำแนกการสืบทอดเป็นสองกระแสหลัก ได้แก่ วิถีผู้สละสู่ป่า (Forest Renunciants) กับวิถีวัดวาอาราม  (Settled Monasticism)
 
วิถีผู้สละสู่ป่า (Forest Renunciants)
 
แทนที่จะมอง "ความดั้งเดิม" ด้วยการยึดในหลักธรรมวินัยที่ถูกแสดงและสอนสั่งโดยพุทธะสมณโคดม  นักประวัติศาสตร์ศาสนากลับเข้าไปค้นหาสิ่งที่อยู่ลึกกว่านั้น ด้วยการให้ความสนใจกับบริบทที่ "ธรรมวินัย" ถูกถ่ายทอด 
 
หลังจากพระพุทธะสมณโคดมปรินิพพาน ได้ฝาก "ธรรมวินัย" ไว้เป็นแนวทางให้สาวกประพฤติปฏิบัติ ธรรมวินัยในที่นี้ คือ หลักคำสอนและแนวทางการประพฤติตน ที่ได้ถูกวางไว้อย่างมีหลักเกณฑ์ ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็เปิดกว้างให้มีการปรับเปลี่ยนได้ “ตามความเหมาะสม” อย่างที่มีการปรับเปลี่ยนเสมอมา ในช่วงที่พุทธะสมณโคดมมีชีวิตอยู่  
 
นักประวัติศาสตร์ศาสนาไม่สนใจที่จะถกเถียงความถูกต้องของหลักธรรมวินัยว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่กลับสนใจไปที่บริบทและบรรยากาศของการดำรงอยู่ของธรรมวินัย และสิ่งที่ธรรมวินัยต้องการจะสื่อสาร อันสะท้อนถึงโลกทัศน์ การตีความ และจิตวิญญาณเดิมแท้ของธรรมวินัย  อันได้แก่เส้นทางของการสละละวาง และการเดินท่องไปเพื่อประโยชน์ของมนุษย์และสรรพสัตว์
 
สำหรับนักประวัติศาสตร์ศาสนา ธรรมวินัย ไม่ได้สะท้อนกฏเกณฑ์ความประพฤติและหลักพุทธปรัชญา ในตัวมันเอง ทว่าสะท้อนถึงความสำคัญในบริบทของวิถีผู้สละสู่ป่า ( Forest Renunciants ) อันเป็นเส้นทางการดำเนินชีวิตที่พระพุทธะสมณโคดมแสดงไว้เป็นแบบอย่างตลอดทั้งชีวิต  หากธรรมวินัยตัดขาดจากบริบทดังกล่าว ย่อมไม่สามารถสะท้อนถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณที่พระพุทธะสมณโคดมสื่อสารไว้ อย่างแท้จริงได้
 
"ป่า" [บ้างก็อ้างถึง “ป่าช้า”] ในที่นี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึง พื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าไป พื้นที่ที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยความคิด ความคาดหวัง และกฏเกณฑ์ทางสังคมใดๆ  หากเป้าหมายของพุทธศาสนาคือจิตใจอันหลุดพ้นจากการยึดมั่นทางความคิดทั้งปวง  ป่าก็เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงพื้นที่อันเป็นอุดมคติในเชิงกายภาพ ซึ่งเอื้อต่อการฝึกฝนจิตใจให้คลี่คลายและหลุดพ้นจากบ่วงรัดรึงทางโลกย์  ป่าคือสถานที่ที่ปราศจากอำนาจครอบงำ ปราศจากความรู้ ปราศจากหลักเกณฑ์ ปราศจากความคาดหวังของสังคม  สรุปด้วยถ้อยคำสั้นๆ ป่าคือ พื้นที่แห่งเสรีภาพอันไร้ขีดจำกัด นั่นเอง
 
วิถีของการเป็นผู้สละสู่ป่า คือ วิถีของผู้รักในเสรีภาพ  พระพุทธะสมณโคดมดำเนินชีวิตในฐานะผู้สละสู่ป่าตลอดชีวิต แม้จะมีคำร้องขอให้ท่านลงหลักปักฐาน สร้างสำนักสั่งสอนผู้คน อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งไปโดยตลอด  ทว่าการเลือกที่จะเป็นผู้เดินท่องไป ตามชายขอบของสังคม จากวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่งอย่างไร้หลักยืนอันมั่นคงจนลมหายใจสุดท้าย  ได้สะท้อนถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณดั้งเดิม อันไปพ้นหลักความเชื่อ หรือความเป็นศาสนา ซึ่งในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ศาสนา นั่นคือจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท
 
วิถีวัดวาอาราม (Settle Monasticism)
 
วิถีการสืบทอดแบบที่สอง คือ วิถีวัดวาอาราม  จากมุมมองนักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ศาสนา นี่คือ แนวโน้มของการ “ประนีประนอม” จิตวิญญาณเดิมแท้เข้าหาความเป็นจริงทางโลกย์มากขึ้น  (อย่างไรก็ดี นักสังคมวิทยาอย่าง Max Weber มองไปถึงขั้นที่ว่าวิถีวัดวาอารามและความเป็นสถาบันศาสนาเป็นการทรยศต่อจิตวิญญาณดั้งเดิมอันสะท้อนอยู่ในชีวิตของศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ เลยทีเดียว)  เริ่มต้นด้วยข้อตกลงให้สมณะหยุดการออกเดินท่องไปในช่วงหน้าฝน เพราะเป็นอันตรายต่อต้นกล้าพืชผลของชาวบ้าน  เกิดเป็นวิถีปฏิบัติที่สมณะต้องพักอยู่กับที่ตลอด ๓ เดือนในช่วงเข้าพรรษา  จากนั้นจึงเกิดเป็นประเพณีในการมอบที่ดินและปัจจัยให้สร้างวัดวาอารามเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการอนุญาตให้สมณะสามารถใช้ชีวิตเป็นหลักแหล่งอาศัยอยู่ในวัดวาอารามได้ ตามลำดับ
 
ข้อสังเกตของกระบวนการประนีประนอม จาก Asceticism สู่ Monasticism ของพุทธศาสนา คือ การมองไปที่เป้าหมายของ การสัมพันธ์กับชุมชน การเผยแผ่คำสอน และการยังประโยชน์ต่อผู้ปรารถนาพ้นทุกข์ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวยังนำมาเป็นเหตุผลต่อการปรับธรรมวินัยให้สอดคล้องกับรูปแบบ Settled Monasticism ในภายหลังอีกด้วย 
 
ทว่าการเกิดขึ้นของวิถีวัดวาอารามในยุคแรกนั้น เป็นการดำรงอยู่อย่างไม่แยกขาดจากวิถีผู้สละสู่ป่า  ทั้งสองเอื้ออิงอาศัยกัน วัดวาอารามให้อาหาร ให้ที่พักพิง ให้กับสมณะร่อนเร่ และเป็นสถานที่เพิ่มพูนความรู้และการศึกษา ส่วนสมณะร่อนเร่ก็นำพาเอาประสบการณ์จากต้นธารเดิมแท้ที่ได้จากการฝึกฝนจิตใจตนเองอย่างเข้มข้น อาจกล่าวได้ว่า วิถีผู้สละสู่ป่าสะท้อนถึงการรักษาต้นธารและจิตวิญญาณเดิมแท้ของพระพุทธะ ส่วนวิถีวัดวาอารามสะท้อนถึงกระแสของการปรับตัว และเปิดกว้างต่อโลกย์และความเป็นจริงมากขึ้น [ซึ่งอาจมองเป็นการอยู่เอื้ออิงอาศัยกันของความเป็นอนุรักษ์นิยมและความเป็นเสรีนิยม/มนุษย์นิยมของพุทธศาสนาในยุคแรกเริ่ม]
 
แน่นอนว่า เมื่อเวลาผ่านไป วิถีวัดวาอารามนั้น ย่อมเกิดการปรับตัวต่อไปเรื่อยๆ ตามสภาพสังคม วัฒนธรรม การแทรกแทรงโดยรัฐ ผู้อุปถัมภ์ เจ้าเมือง กษัตริย์ และการพัฒนากฏเกณฑ์ และการตีความธรรมวินัยที่สัมพันธ์กับบริบทของวัดวาอารามที่มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้นตามลำดับ  ทว่าตราบใดที่วัดวาอารามยังมีรากที่สัมพันธ์อยู่กับวิถีผู้สละสู่ป่า สมณะที่จำวัดอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง มีช่วงเวลาของการ "Retreat"  ก็ทำให้วิถีวัดอารามยังมีรากอยู่ในความเรียบง่าย ไม่ถูกครอบงำด้วยบ่วงรัดรึงในทางโลกย์ และยังคงสัมพันธ์อยู่กับจิตวิญญาณแห่งธรรมวินัยที่แสดงไว้โดยสมณะโคดม อันมีเป้าหมาย อยู่ที่การฝึกตนเพื่อหลุดพ้นและเข้าสู่ "เสรีภาพ" ทางจิตใจ สะท้อนอยู่ในสัญลักษณ์ทางกายภาพ คือ ผืนป่าอันกว้างใหญ่นั่นเอง
 
 
๒. กำเนิดพุทธศาสนาของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
 
แม้พุทธศาสนาจะถูกผนวกรวมเป็นความเชื่อหลักของสังคมแบบชนชั้นศักดินา ระบบอุปถัมภ์ และถูกนำไปใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจแบบราชาธิปไตยอยู่ตลอดมา แต่ด้วยความที่รัฐสมัยก่อนไม่ได้มีพลานุภาพในการควบคุมพลเมืองในรัฐเหมือนในปัจจุบัน พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ต่อมาถูกเรียกว่าพุทธศาสนาเถรวาทนั้น จึงยังคงสืบสายคุณค่าทางจิตวิญญาณผ่านวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและความสัมพันธ์ะหว่างครู-ศิษย์ (สายอุปัชฌาย์)  วัดวาอารามไม่ตัดขาดจากวิถีผู้สละสู่ป่าซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพุทธศาสนาเถรวาท  สายปฏิบัติของสมณะร่อนเร่ยังคงสืบสายกันในพื้นที่ที่ห่างไกล และอยู่นอกขอบเขตอำนาจการควบคุมของรัฐ 
 
อาจสรุปง่ายๆ ว่า พุทธศาสนาเถรวาทงอกงามได้ในอดีต ก็เพราะอำนาจการควบคุมของรัฐราชาธิปไตยยังไม่ดีนักนั่นเอง
 
ความเรียบง่ายและยังสัมพันธ์อยู่กับบรรยากาศแบบวัดวาอารามบ้านๆ สลับกับความเป็นป่าๆ เช่นนี้ ทำให้พุทธศาสนาเถรวาทรักษาความเดิมแท้และเผยแผ่จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง อย่างไม่ขาดสาย  อีกทั้งยังแตกออกเป็นสายปฏิบัติย่อยๆ มากมาย แต่ละสายมีเอกลักษณ์ เทคนิคปฏิบัติเฉพาะของตนเอง รวมถึงการตีความและปรับใช้ธรรมวินัยที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว นอกจากนั้นยังมีการผสมผสานการเรียนรู้เข้ากับแขนงคำสอนอื่นๆ เช่นโพธิสัตวยาน และตันตรยาน ทว่ายังคงวิถีชีวิตของสมณะที่ติดดิน เรียบง่าย ยึดหลักธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตนตามรอยครูบาอาจารย์  และวิถีของการเป็นผู้สละสู่ป่า ตามวิถีปฏิบัติดั้งเดิม
 
ความหลากหลาย ความเรียบง่าย และและความยึดหยุ่นเช่นนี้ ทำให้พุทธศาสนาเถรวาทสามารถผสมผสานเข้ากับความเชื่อ และขนมธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้านได้ดี มีความเป็นมิตร และเปิดกว้างโดยธรรมชาติ แม้จะมีหลักธรรมวินัยที่ตนยึดถืออย่างเคร่งครัด ก็เป็นเพียงข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อความเรียบง่ายและเป็นปกติสุขของตนเท่านั้น  ความเป็นพุทธศาสนาแบบป่าๆ เช่นนี้ ทำให้พุทธมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผีและวิญญาณพื้นบ้านทุกชนิด รวมถึงลัทธิความเชื่อพื้นเมือง และศาสนาอื่นๆ จนบางครั้งก็ผสมผสานปนเปกันจนแยกไม่ออก
 
วชิรญาณภิกขุ ผู้มีความสนใจในหลักเหตุผลและวิทยาศาสตร์แบบประจักษวาท เห็นสภาพของพุทธศาสนาแบบเถรวาทเช่นนั้น จึงเกิดความห่วงใย และมีความคิดที่จะปฏิรูปหลักคำสอนพุทธศาสนาให้เหลือแต่เฉพาะที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้  ตามมุมมองแบบ Elitist ของวชิรญาณภิกขุ เขารู้สึกว่าพุทธผีนั้นไม่ใช่ "พุทธแท้" และพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นเรื่องเหลวไหลที่พิสูจน์ไม่ได้ และเป็นส่วนพอกที่ทำให้พุทธศาสนาเกิดความเสื่อมถอย  เขามุ่งเน้นไปที่คันถธุระ ผ่านการศึกษาหลักปริยัติ พุทธปรัชญา และตีความหลักธรรมวินัยในเชิงเหตุผลมากกว่าการคำนึงถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย  เขาไม่ให้ความสำคัญกับคำสอนที่พิสูจน์ไม่ได้อย่าง นรก สวรรค์ หรือแม้แต่พระนิพพาน  อีกทั้งการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญแต่อย่างใด  ในความคิดของเขา พุทธศาสนาที่เขาอยากเห็นจะต้องเป็นรูปแบบศาสนาที่น่าเชื่อถือ เป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นน่าจะสามารถต่อกรกับความเชื่อทางศาสนาแบบตะวันตกที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนั้นได้ การปฏิรูปพุทธศาสนาในแบบของเขาจะช่วยให้ชาวสยามไม่ถูกมองว่าเป็นพวกบาบาเรี่ยนที่เอาแต่กราบไหว้ภูตผีและบูชาต้นตะเคียน
 
วชิรญาณภิกขุเป็นพระภิกษุอยู่นานหลายปีก่อนจะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ เขาเป็นผู้ก่อตั้งคณะธรรมยุติ และเริ่มต้นแนวคิดการปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบ  การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิพลสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมๆ กับการรวมศูนย์อำนาจและแนวคิดของรัฐชาติสมัยใหม่  พุทธศาสนาเถรวาทแบบเป็นทางการ ในนามพุทธศาสนาของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกสถาปนาขึ้น และมีอิทธิพลต่อความเชื่อและโลกทัศน์ของชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตราบจนปัจจุบัน  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ขุดรากถอนโคน และทำลายจิตวิญญาณดั้งเดิมของพุทธศาสนาเถรวาทลงแทบหมดสิ้น  ด้วยความที่โครงสร้างแบบรัฐสมัยใหม่ ไม่เปิดพื้นที่ให้กับการดำรงอยู่นอกขอบเขตการควบคุมของรัฐเกิดขึ้นได้อีกต่อไป  โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ของรัฐเข้ามาแทนที่  ปริมณฑลของ "ป่า" ได้ถูกทำลายทั้งในเชิงกายภาพและเชิงสัญลักษณ์  สมณะไม่มีเสรีภาพที่จะร่อนเร่ไปไหนมาไหนได้ตามใจชอบ ทว่าต้องขึ้นตรงอยู่กับรัฐ อยู่ภายใต้พรบ.คณะสงฆ์ และองค์กรสงฆ์ของรัฐ อาจกล่าวได้ว่าสมณะได้ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพนักงานของรัฐ รับใช้พระพุทธศาสนาของรัฐ  แทนที่ความสัมพันธ์กับชุมชนในแนวราบ  
 
จิตวิญญาณอันเสรีของพุทธศาสนาเถรวาทในแง่ Forest Renunciants จึงถูกทำลายลง เหลือเพียงความเป็น Settled Monasticism ที่สัมพันธ์อยู่กับอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์  ชุมชนหมู่บ้านถูกทำลายลงไปพร้อมๆ กับพุทธและพระแบบบ้านๆ  ป่าถูกทำลายลง พร้อมๆ กับชุมชนรอบๆ ป่า และพระป่าๆ  พุทธศาสนาเถรวาทถูกรัฐให้นิยามใหม่ รวมถึงเขียนประวัติศาสตร์ให้ใหม่ โดยให้ภาพพระศาสดา อริยสาวก และหลักธรรมวินัย อย่างผูกยึดสัมพันธ์อย่างไม่อาจแยกขาดจากบารมี อำนาจ คุณธรรม ความดี และความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมราชาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภาพความเป็นพระแท้และพุทธแท้ ที่ยึดมั่นในพระคัมภีร์
 
 
๓.  Buddhism Fundamentalism กับภาวะความเป็นอื่น
 
แม้จะก้าวเข้าสู่ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ทว่ามรดกตกทอดจากการปลูกฝังความเชื่อของพุทธศาสนาศักดินาแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังคงถูกสืบทอดเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน  เสรีภาพที่ดูเหมือนจะเปิดกว้างมากขึ้นจากอิทธิพลของโลกทุนนิยมและโครงสร้างรัฐหลังสมัยใหม่ ทำให้องค์กรสงฆ์อย่างมหาเถรสมาคม สำนักพุทธศาสนา (รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ หรือองค์กรอิสระอย่าง สสส.) มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม ด้านศีลธรรมจริยธรรม ด้านสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ โดยยึดหลักความเชื่อแบบพุทธทางการเป็นที่ตั้ง   พุทธศาสนาคือส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ที่ต้องการปลูกฝังให้ประชาชนของรัฐเป็นคนดี มีศีลธรรม ทำความดีละเว้นความชั่ว ทำจิตให้ผ่องใส เข้าวัดปฏิบัติธรรม มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และชนชั้นปกครอง มีลักษณะนิสัยที่เรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ว่านอนสอนง่าย เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่กระด้างกระเดื่องต่อชนชั้นปกครอง และอยู่เคียงข้างอำนาจรัฐ   พระสงฆ์เป็นข้าราชการ ขึ้นตรงกับคณะสงฆ์ของรัฐ วัดได้รับเงินสนับสนุน พระได้รับสมณศักดิ์ พัดยศ เบี้ยเลี้ยง และเงินเดือน  โดยมีกฎเกณฑ์การควบคุมดูแลและบริหารงานแบบราชการ ผนวกกับการตีความธรรมวินัยในลักษณะของหลักเกณฑ์หรือกฏอันตายตัว ที่ตัดขาดจากวิถีชีวิตของสมณะอันเรียบง่าย
 
โครงสร้างของสถาบันศาสนาดังกล่าว ยึดโยงอยู่อย่างแนบแน่นกับสถาบันทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ (ชาติ ศาสน์ กษัตริย์) โดยศรัทธา สถานะ และความเชื่อที่ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่โดยรากฐาน การเน้นความดั้งเดิมของคำสอนในพระศาสนา และอำนาจการสื่อสารทางเดียว ดูจะเอื้อกันได้ดีกับสถานะที่อยู่เหนือประชาชนและประชาธิปไตย  หลักธรรมวินัยของพุทธศาสนาได้ถูกตีความเพื่อปกป้องสถานะของศาสนาเอง มากกว่าจิตวิญญาณของการปฏิบัติตนตามแบบอย่างของพระพุทธะในความเป็นผู้สละสู่ป่า ส่วนวิถีวัดวาอารามนับวันก็จะกลายเป็นวังหรือซุ้มนักเลงเข้าไปทุกที  พุทธศาสนาเถรวาทแบบทางการอันเป็นมรดกตกทอดของรัฐอำนาจนิยมเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของรัฐประชาธิปไตยและสังคมแบบโลกวิสัยเสียเอง   เมื่อธรรมวินัยไม่ได้สะท้อนแนวทางของการดำเนินชีวิต ธรรมวินัยจึงถูกตีความไปอย่างตื้นเขินในแง่ “กฏเกณฑ์ระดับชาติ” (ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ต่างกับกฎหมาย) ที่มีไว้เอาผิดกันในแง่ความประพฤติ เช่น พระกินเหล้า พระอวดอุตริ พระมีเซ็กซ์ หรือไม่ก็อวดโอ่ความศักดิ์สิทธิ์ของตนผ่านภาพลักษณ์ของผู้ทรงศีลอันเต็มไปด้วยการเสแสร้ง
 
องค์กรพุทธศาสนาของรัฐทำหน้าที่ผลิตซ้ำวาทกรรมทางศีลธรรมอันเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของโครงสร้างสังคมแบบศักดินา วาทกรรมในคราบคำสอนทางศาสนาได้แทรกซึมเข้าไปในทุกวงการ ราวกับการป้อนอาหารทางใจที่ไม่อาจปฏิเสธได้  หากคิดถึงคุณธรรม ความดี ความสุข ก็ต้องคิดถึงธรรมะและพุทธศาสนามาเป็นแพ็คเกจคู่กัน  หากคิดจะทำให้สังคมดีขึ้น ก็ต้องใช้กรอบคิดแบบพุทธ เมื่อคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีเอง (คนพุทธ และสังคมพุทธเท่านั้น) แก้ปัญหาที่ใจ ไม่ใช่แก้ที่ภายนอก (สังคมจะเหลื่อมล้ำยังไงก็ช่าง)  อำนาจที่ยึดโยงอยู่กับพุทธศาสนาของรัฐ ได้เลือกเอาหลักธรรม และการตีความห้วนๆ ทื่อๆ เหมารวม  และตัดขาดจากบริบทในแบบหนึ่ง เพื่อให้ศาสนาเป็นกลไกในการสร้างพลเมืองแบบหนึ่งที่รัฐเผด็จการต้องการ นั่นคือเป็นคนดี เรียบร้อย และเชื่อง  จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่เคยได้ยินคำสอนพุทธศาสนาแบบไทยๆ สอนให้คนรักในสิทธิ เสรีภาพ มีจินตนาการ กล้าตั้งคำถาม และฝึกใจเพื่อให้มีความกล้าหาญ และเป็นตัวของตัวเอง
 
พุทธศาสนาเถรวาทที่เคยงอกงามเป็นเนื้อเดียวกับสังคมไทยในอดีตนั้นเป็นพุทธศาสนาที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูงมาก ทว่าพุทธศาสนาของรัฐไทยกลับเป็นตรงกันข้าม คือเป็นพุทธศาสนาเถรวาทในแบบที่มีศักยภาพในการปรับตัวต่ำมาก จนแทบไม่มีเลย นั่นคือมีกฏเกณฑ์และความถูกต้องในแบบของตัวเอง มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในโลก เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือเรียนรู้จากใคร  การอ้างหลักคำสอนและหลักธรรมวินัยขึ้นตรงกับอำนาจสูงสุด นั่นคือพระบรมศาสดา ที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือตีความเป็นอย่างอื่น  การเขียนประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และการสอนข้อธรรมแบบไทยๆ ผูกโยงอยู่กับโลกทัศน์แบบการเอาตนเองเป็นศูนย์กลางและความถูกต้องสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว   การตั้งคำถามและจินตนาการของการตีความอย่างสัมพันธ์กับบริบทถูกมองเป็นการบิดเบือน หรือไม่ก็ถูกผลักให้ "เป็นอื่น" เช่น เป็นพวกลัทธินิกาย เป็นพุทธแบบฝรั่ง เป็นพวกถูกครอบงำโดยตะวันตก เป็นนักเสรีนิยม เป็นนักปรัชญา หรือในกรณีความขัดแย้งทางการเมือง "เป็นพวกเสื้อแดง" เป็นต้น  
 
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เกิดมาท่ามกลางชุมชนที่มีรากของพุทธศาสนาอันผูกพันใกล้ชิดกับวิถีชีวิตอย่างในอดีต และต้องทนเสพและบริโภคพุทธศาสนาเถรวาทของรัฐที่เต็มไปด้วยกรอบครอบงำทางศีลธรรม จริยธรรม และมาตรฐานความดีงามแบบที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม  ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกที่พวกเขาจะรู้สึกต่อต้านโดยธรรมชาติ  ยิ่งเสพพุทธศาสนาแบบดังกล่าวมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอาการคลื่นเหียน เอียน เบื่อ และเหวี่ยงอย่างรุนแรง  ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย จึงพอใจที่จะนิยามตัวเองว่า "คนไม่มีศาสนา" มากกว่าคำว่า "พุทธ" ที่ถูกยัดเยียดให้พวกเขาโดยกำเนิด
 
ประกอบกับทุกวันนี้ การทำบุญ ตักบาตร เข้าวัด ฟังธรรม ถือศีล ก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่คนในชุมชนจะทำร่วมกันเหมือนสมัยก่อน กิจกรรมทางศาสนาได้กลายเป็นรสนิยมส่วนตัว ทั้งคำถามที่ว่าจะทำมันหรือไม่? ทำมันอย่างไร? ทำเท่าไหร่? ทำที่ไหน? หรือทำกับใคร?  เมื่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาได้กลายมาเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล  จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เลือกที่จะ “ไม่ทำ” พวกเขาเริ่มเรียกตนเองว่า "คนไม่มีศาสนา"  พวกเขาท้าทายการเทศนา สั่งสอน และการครอบงำทางความเชื่อผ่านรูปแบบทางวัฒนธรรม และความเป็นไทยทุกชนิด
 
ทว่าการจะเลือกระบุคำว่า "ไม่มีศาสนา" กลับไม่ใช่สิ่งที่สามารถกระทำได้โดยง่ายดายและสง่าผ่าเผยนัก เพราะพุทธศาสนายึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐอื่นๆ อย่างแยกแยะแกะไม่ออก หากเราเดินไปทำบัตรประชาชน แล้วขอเติมตรงช่องศาสนาว่า “ไม่มี” เจ้าหน้าที่รัฐมักสรุปความท้าทายนั้นอย่างมักง่ายว่า "เอ๊อะ แปลก" "เรื่องมาก" "ไม่มีศาสนาได้ยังไง" "อย่ามาทำเป็นแนว" และโดยส่วนใหญ่เมื่อเห็นว่าเราไม่มีศาสนา ก็มักคิดแก้ปัญหาแทนให้ ด้วยการเลือกศาสนาที่ดีที่สุด กรอกคำว่า "พุทธ" ลงไปในช่องนั้นให้เสร็จสรรพ
  
สังคมที่เคยมีคนนับถือพุทธอยู่กว่า ๙๐% ในทะเบียนราษฎร์ จะหลงเหลืออยู่จริงสักเท่าไหร่ในปัจจุบัน เป็นคำถามที่อาจไม่มีใครตอบได้ หากสังคมไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก ด้วยการแยกเอาอำนาจรัฐกับอำนาจศาสนาออกจากกันให้ได้เสียก่อน  กี่เปอร์เซนต์ในจำนวนนั้นที่เป็นการเหมารวมอย่างมักง่าย และกี่เปอร์เซนต์ยังไม่มีความเข้าใจในการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง    "ความไม่มีศาสนา" "ความเป็นศาสนานิกายอื่น" หรือ "คนต่างศาสนา" แม้จะเป็นได้ ไม่โดนจับ แต่ก็อยู่ในสถานะของ “ความเป็นอื่น” ที่ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศพุทธเผด็จการอย่างที่เป็นอยู่  ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างจริงจัง  ด้วยการยังปล่อยให้พุทธศาสนาผูกพันอยู่กับรัฐ และศาสนาถูกใช้เป็นกลไกการปลูกฝังจริยธรรมของพลเมืองในรัฐอย่างเปิดเผย  และคงจะไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน จะมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่ ความเชื่อพุทธศาสนาแบบทางการนั่นเอง
 
การเหมารวมแก้ปัญหาความทุกข์อย่างเลอะเทอะ ตามกรอบคิดแบบเอาศาสนาเป็นศูนย์กลางตามอย่างอำนาจรัฐ ยิ่งทำให้ศาสนาห่างไกลความทุกข์ที่แท้จริง ผู้คนที่มีความทุกข์จำนวนมาก กำลังอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก  ถูกบีบให้ปราศจากทางเลือกอื่นนอกจากพุทธศาสนาในฐานะยารักษาทุกโรค  ความทุกข์ที่มีความซับซ้อนและบริบทเฉพาะถูกวินิจฉัยและให้ยาแก้อย่างง่ายๆ ด้วยหลักธรรมจำพวกบาป บุญ คุณ โทษ และ “กรรม”  บ่อยครั้งคำตอบและทางแก้ลอยมา ทั้งๆ ที่ยังเล่าไม่ทันจบ  พ่อแม่และคนใกล้ตัวเต็มไปด้วยคำสอน ทางออก ทางแก้ และคำแนะนำนานาชนิด  ทว่าไม่มีศักยภาพในการรับฟังและทำความเข้าใจคนที่กำลังมีความทุกข์  ความเป็นตัวของตัวเอง อิสรภาพทางความคิด และการเผชิญความทุกข์ในแบบใหม่ถูกสรุปลงง่ายๆ ว่าเป็นความคิดที่ผิด  ความคิดที่ถูกเป็นสัมมาทิฏฐิมีอยู่หนึ่งเดียว และนั่นคือความคิดที่เป็นไปตามครรลองตามหลักพุทธศาสนา   ภาวะกลืนไม่เข้าคืนไม่ออกนี้สะท้อน “ความเป็นอื่น” ในลักษณะที่สอง ซึ่งก็คือ ความทุกข์ของปัจเจกบุคคลที่สัมพันธ์อยู่กับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ความทุกข์ที่พุทธศาสนาของรัฐเผด็จการไม่ให้ความสนใจ และมักเหมารวมง่ายๆ ว่ามาจากกิเลสตัณหา อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ   ความทุกข์ที่เป็นอื่นเช่นนี้กำลังรอคนธรรมดาในโลกสมัยใหม่ที่กล้าออกจากกรอบพุทธศาสนาและลงไปร่วมทุกข์กับผู้คนร่วมสมัย  สะท้อนวิถีสมณะผู้เดินท่องไปสัมพันธ์กับความเป็นอื่นตามวิถีดั้งเดิมของพุทธศาสนาเถรวาท 
 
ดังนั้นภาระหน้าที่ทางจิตวิญญาณจำเป็นต้องอยู่เปลี่ยนมือไปสู่ความรับผิดชอบของสมณะผู้ไม่ติดยึดในสถานะและภาพลักษณ์   คนติดดินธรรมดาๆ ที่พร้อมจะรับฟังและร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับเพื่อนมนุษย์  ซึ่งจะทำให้คนที่มีความทุกข์มีทางออกที่หลากหลาย  ศาสนาที่เคยรวมอำนาจตามอย่างรัฐเผด็จการมีการกระจายภาระหน้าที่และความรับผิดชอบไปสู่ผู้ที่มีความเข้าใจ ฝึกฝนตนเอง และห่วงใยผู้คนในสถานการณ์ความทุกข์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกของการเข้าพบนักจิตบำบัด (Therapist) ผู้มีทักษะในการรับฟัง ซักถาม และให้ความเข้าใจโดยไม่ตัดสิน  ผู้ส่งวิญญาณ ( chaplain) ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือคนใกล้ตาย และสามารถสื่อสารและให้ความเข้าใจกับญาติพี่น้องของคนใกล้ตายอย่างมีทักษะ  พัสดีหรือบุคลากรในเรือนจำหรือสถานพินิจ ผู้มีทักษะในการเผชิญความรุนแรง ความโกรธความเกลียด และสามารถแปรเปลี่ยนความรุนแรงนั้นไปสู่การให้โอกาสแก่ผู้ต้องขัง ผู้ทำงานกับคนพิการหรือนักสังคมสงเคราะห์ ที่ไม่ได้ช่วยเหลือเพียงเพราะความสงสาร ความรู้สึกดี หรืออยากให้ความช่วยเหลือ ทว่ายังมีความเข้าใจความทุกข์ในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม และช่วยผลักดันนโยบายอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสังคมให้เอื้อต่อการหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นอย่างเป็นระบบ  เป็นต้น
 
นี่คือยุคสมัยที่เสรีภาพทางโลกย์เปิดกว้างกว่าเสรีภาพทางศาสนาอย่างไม่น่าเป็นไปได้ ผืนป่ากลายเป็นสัญลักษณ์ให้กับความเป็นจริงแบบโลกย์ๆ  โลกสมัยใหม่อันวุ่นวายโกลาหล เต็มไปด้วยภูตผี วิญญาณ สัตว์ป่า คนบ้า และโจรห้าร้อย   ด้วยสถานะที่หลับใหลอยู่ในอำนาจ พุทธศาสนากลับกลายมาเป็นอุปสรรคที่กำลังทำลายผืนป่าแห่งเสรีภาพนั้นเสียเอง …และกลับกักขังตัวเองโดยไม่รู้ตัว
 
ในทางตรงกันข้าม… "คนนอกรีต" "คนไม่มีศาสนา" "นักโทษการเมือง" “มารศาสนา” "พระบ้า" "LGBT" "เด็กแนว" "เด็กแว๊น"  "ฟรีแล๊นซ์” …ในนามของความ “เป็นอื่น” กลับกลายสมณะท่ามกลางผืนป่าอันโกลาหลแห่งโลกสมัยใหม่ และจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทในตัวของพวกเขาคงกำลังแสวงหาพื้นที่งอกงามแบบใหม่ บนเส้นทางแห่งการหลุดพ้นจากคำว่า "พุทธศาสนาแบบไทยๆ" อย่างที่เป็นอยู่
 
 
 
* หนังสือประวัติศาสตร์ศาสนาที่ให้ภาพของ Forest Renunciants กับ Settled Monasticism ได้แก่ 
"Forest Recollections: Wandering Monks in Twentieth-Century Thailand" โดย Kamala Tiyavanich
“World Conquerer and World Renouncer: A Study of Buddhism and Polity in Thailand against a Historical Background” โดย Stanley J. Tambiah
และ "Buddhist Saints in India: A Study in Buddhist Values and Orientations" โดย Reginald A. Ray
 
** หากผู้อ่านสนใจข้อเสนอทางออกของสถานะพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย ผู้เขียนสนับสนุนแนวทางที่ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้ทดลองเสนอไว้ในบทความ “ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย” 
 
 

ความเห็น

Submitted by dk on

อีกแล้วครับท่าน พุทธศาสนาแบบไทยๆ (ล้อ ..ปชต.แบบไทยๆ)

ความหมายคือ เป็นพุทธเถรวาท ที่ผูกติดกับอำนาจรัฐ อย่างเป็นทางการ
และดังนั้น จึงมีวาทกรรม คนดี ความถูกต้อง และค่านิยม ที่สังคมควร(ต้อง)ดำเนินตาม ประหนึ่งอำนาจเงาคอยกำกับ

เถรวาทไทย ก็เหมือน พวกยึดติดคัมภีร์ โดย ไม่ให้ความสำคัญกับบริบทยุคสมัย มากกว่า(เชื่อว่า)คำสอนตามตัวอักษร

แต่เสรีนิยมก้าวหน้า ก็น่าจะมองในสามผสานของการตีความได้แก่ ตัวธรรมวินัย บริบท และเจตจำนงเพื่อการสละละ
ที่บทความเรียกว่า คุณค่าจิตวิญญาณของพุทธศาสนา

เพราะ เมื่อละทิ้งจิตวิญญาณของศาสนาเสียแล้ว โลกในความหลายหลากก็จักมี ความเป็นอื่น ที่ต้องรังแต่ปฏิเสธ
เพื่อผดุงความบริสุทธิผุดผ่องของ อำนาจธรรมวินัย(ซึ่งผูกติดกับอำนาจรัฐ) ทัศนะเช่นนี้แหละที่ ทำลายการมีส่วนร่วม
ตั้งแต่พื้นฐานแล้ว เพราะ อำนาจสถาปนาตนเอง ได้สร้างความแปลกแยก โดยธรรม นั่นแล..

Submitted by Jubu on

เป็นบทความที่สวยงามมากครับ อ่านแล้วได้ความรู้สึกดีจริงๆ

เรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับคณะสงฆ์ผมคิดว่าข้อเสนอของพระไพศาลในหนังสือ พุทธศาสนาไทยในอนาคตฯ มีความรอบด้านกว่ากันมากกว่าข้อเสนอของคุณเก่งกาจในทความที่คุณวิจักขณ์แนะนำไว้ข้างท้าย แต่ก็น่าจะเป็นไปในลักษณะนั้นแหละครับ คุณเก่งกาจดูจะเป็นนักวิชาการที่มองตัวเองว่าเป็นคนนอกในเรื่องนี้แต่ก็ให้มุมมองที่น่าสนใจมาก ในขณะที่พระไพศาลนั่นเป็นอินไซด์เดอร์ขนานแท้อยู่แล้ว

แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีหลากหลายความเห็นอยู่แล้ว ผมว่าถ้าจะให้ดีกว่าที่จะมีบทความเกี่ยวกับคณะสงฆ์มาให้อ่านกันเป็นระยะๆแล้วพูดหรือแสดงความเห็นกันมากบ้างน้อยบ้างแล้วก็หายไปในสายลม ทำเพจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะเลยดีกว่า จะเรียกว่าปฎิรูปคณะสงฆ์ หรือปลดแอกพุทธศาสนาแบบทางการ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พุ่งเป้าไปที่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หาบทความ แลกเปลี่ยนความเห็นในแง่มุมต่างๆ จัดกิจกรรมขยายความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปเรื่อยจะกี่ปีกี่สิบปีเราก็จะทำ เพื่อว่าวันหนึ่งวัดใกล้ๆบ้านใครต่อใครจะได้กลายเป็นสถานที่ที่มีชีวิตวิญญาณแล้วแผ่รังสีธรรมออกมาต่อชุมชนรอบๆได้อย่างแท้จริง

อย่างน้อยๆก็มีแฟนๆกลุ่มเล็กแถวๆนี้เป็นจุดเริ่มอยู่แล้ว

Submitted by สุชาติ on

ข้อความตอนท้ายที่บอกว่า "...พุทธศาสนากลับกลายมาเป็นอุปสรรคที่กำลังทำลายผืนป่าแห่งเสรีภาพนั้นเสียเอง …และกลับกักขังตัวเองโดยไม่รู้ตัว".

ผมว่าไม่น่าจะใช่ ....น่าจะเป้นเพียง .....องค์กรพุทธศาสนาที่เป็นทางการ.....

เพราะคำว่าพุทธศาสนามันกว้างไป เพราะคุณวิจักษ์ก็น่าจะรวมอยู่ในนี้ แต่คุณก็ไม่ได้กักขังตัวเอง แต่มหาเถระสมคม สำนักพุทธ และ ฯลน นะเป็นอย่างที่ว่าจริง