คุยกับประมวล เพ็งจันทร์ : พุทธศาสนาที่ไม่มีไวยากรณ์(ตอนที่ 1)

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

เห็นอาจารย์พูดถึงพุทธศาสนาที่ไม่มีไวยากรณ์ มีนิยามต่างจากพุทธศาสนาที่มีไวยากรณ์อย่างไร

คำว่าไวยากรณ์ที่ผมใช้หมายถึงความคิด เวลาเราพูดถึงไวยากรณ์ของภาษามันคือกรอบกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเราต้องพูดหรือใช้คำให้เป็นไปตามกรอบนั้น ตัวกรอบในความหมายเชิงภาษามันถูกสร้างขึ้นภายหลังจากที่เรามีภาษาขึ้นมาแล้ว และภาษาพัฒนามาถึงระดับหนึ่งจึงค่อยมีสิ่งที่เรียกว่าไวยากรณ์เกิดขึ้น เช่นภาษาไทย ผมเข้าใจว่าตอนที่เราเริ่มต้นมีภาษาไทยสื่อสารกันในสมัยก่อนที่ยังเป็นสังคมชนบทมากๆ นั้น ไวยากรณ์คงยังไม่มี จนกระทั่งเมื่อผ่านมาถึงจุดๆหนึ่ง เรามีความรู้สึกว่า เอ๊ะภาษามันต้องมีไวยากรณ์จึงได้มีการเขียนหลักภาษาไทยใช่ไหม แล้วก็เขียนไวยากรณ์ไทยขึ้นมาในภายหลัง เพราะฉะนั้นไวยากรณ์ไทยเพิ่งมีเมื่อไม่นานนี้เอง

ประเด็นคือ แสดงว่าไวยากรณ์นั้นมันถูกสร้างขึ้นมาในภายหลังเพื่อเป็นหลักเกณฑ์กำหนดกรอบว่าการพูดแบบไหนถูกแบบไหนผิด แล้วก็เป็นการตัดสินว่าคำพูดที่ถูกไวยากรณ์หมายความว่าอย่างนี้นะ นี่คือตัวอย่างที่ผมนำมาใช้ในการเปรียบเทียบตัวเองในการศึกษาพุทธศาสนาว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่มันเป็นกรอบ เป็นความคิด มันเป็นสิ่งหนึ่งที่คล้ายๆไวยากรณ์

อย่างเช่นคำสอนในพระไตรปิฎกคือไวยากรณ์

เออ มันก็ขึ้นกับเราเข้าไปจับ แต่หมายความว่าเวลาเราเอากรอบนี้ถอดมาเป็นหลักการนะ มันเป็นกรอบที่ถูกทำให้เข้าใจได้หรือเข้าถึงได้ด้วยความคิด แต่สิ่งที่ถูกเข้าถึงด้วยความคิดนั้นผมเข้าใจว่ามันขาดมิติของชีวิตชีวาหรือความหมายอะไรบางอย่าง เพราะมันเป็นสิ่งครอบ ขอโทษเราพูดอย่างนี้ก็แล้วกัน เพียงเราใช้เวลาไม่นานนัก เราสามารถจดจำกรอบความคิดทฤษฎีนี้ได้ แต่ประเด็นคือเราเข้าถึงความหมายที่ลึกซึ้งตามความหมายที่ทฤษฎีนั้นชี้ถึงหรือเปล่า

แสดงว่ามันมีความหมายที่อยู่นอกกรอบของไวยากรณ์

ใช่ มันมีความหมายที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การคิดเอาตามไวยากรณ์ เหมือนกับที่เวลาผมบอกว่าผมใช้ภาษาผมสามารถท่องจำหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ ผมสามารถท่องจำได้ว่ากิริยาสามช่องมีอะไรบ้าง มันผันยังไงได้บ้าง แต่ผมกลับไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้อย่างมีอรรถรสหรืออย่างมีความหมายที่ลุ่มลึกได้ หรือแม้กระทั่งที่เราพยายามจะออกเสียงหรือฝึกการออกเสียง pronunciation ให้มันดี ผมเข้าใจว่ามันก็ยังไม่ดีเหมือนเด็กฝรั่งที่ไม่ได้กำลังคิดถึง pronunciation ไม่นึกถึงไวยากรณ์อะไรเลย

ประเด็นนี้คือ ข้อเปรียบเทียบเพื่อจะโยงให้เห็นความหมายของการเรียนรู้พุทธศาสนาว่า ในขณะที่เราเรียนรู้พุทธศาสนาผ่านกระบวนการคิดเชิงเหตุผลนั้น มันมีลักษณะคล้ายๆกับเราเรียนภาษาผ่านการฝึกฝนท่องบ่นไวยากรณ์ที่รู้กฎเกณฑ์กติกาหลักการใช้ภาษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติที่มีความสามารถท่องไวยากรณ์ของภาษาได้ดีมากยังพูดสู้เจ้าของภาษาที่ไม่มีรู้ความรู้เรื่องไวยากรณ์เลย เหมือนกับที่เราคนไทยไม่รู้ไวยากรณ์เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่รู้ภาษานะ คนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รับการศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์หรือทางด้านภาษาไทยเกือบตอบคำถามเชิงไวยากรณ์ไม่ได้เลย แต่คนที่ไม่สามารถตอบคำถามเชิงไวยากรณ์ได้นั้น ถามว่าเขามีความรู้ภาษาไทยไหม ก็ต้องบอกว่าเขารู้เพราะเขาพูดไทยได้ดี

แล้วในแง่ศาสนาถ้าไม่มีไวยากรณ์เราจะเข้าถึงความหมายอะไรบางอย่างได้อย่างไร

ในทางศาสนา ผมว่าไวยากรณ์ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ถ้าเราไปยึดติดกับไวยากรณ์มากไปแทนที่จะเข้าใจหรือเข้าถึงความหมายของศาสนาก็จะเป็นอุปสรรค เพราะอะไร เพราะไวยากรณ์เป็นเพียงโครงสร้างของความคิด และโครงสร้างของความคิดนี้ผมเข้าใจว่ามันก็เป็น form มันไม่ใช่ matter มันไม่ใช่เนื้อหา ถ้าพูดอย่างอิมมานูเอล ค้านท์ จริงๆแล้วในความหมายของค้านท์ form and matter of knowledge มันเป็นสิ่งที่ต้องเกื้อกูลกัน แต่ถ้ามีเฉพาะ form ไม่มีสิ่งเป็น matter หรือ experiences นะครับ สิ่งที่เรียกว่าความรู้เกือบไม่มีความหมายเลย เพราะฉะนั้น ค้านท์จึงบอกว่ากาละและเทศะเป็นความรู้ที่เป็น form และเรารู้เรื่องกาละนี้ตั้งนานแล้วในฐานะที่เป็น innate idea (ความคิดแบบที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ตรงข้ามกับความคิดที่เกิดจากประสบการณ์-ผู้สัมภาษณ์) แต่ประเด็นนี้ตัดไปเพราะผมไม่ต้องการไปเถียงเรื่องปรัชญา

เพียงนำมาเปรียบเทียบให้เห็นความหมายที่ผมต้องการสื่อว่า สิ่งที่เราเรียกว่าความคิดก็คือ form หรือรูปแบบ และที่เป็นความคิดเชิงรูปแบบหรือเชิง form นั้นมันจะมีความหมายต่อเมื่อมันมีมีเนื้อหาคือ experiences ใส่เข้าไป

ทีนี้ในกรณีของพวกเราที่ศึกษาพุทธศาสนานั้น ส่วนหนึ่ง ผมใช้คำว่าส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด พอเรามีความรู้เชิงความคิดหรือเชิงไวยากรณ์แล้ว เราเกิดสำนึกว่าเรารู้แล้ว และความสำนึกว่าเรารู้แล้วนั้นมันเลยปิดกั้นโอกาสที่จะหาความรู้ต่อ และเราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหาความรู้หลังจากนี้ทำไม

ผมถามอย่างคนที่อยู่ในโลกของศาสนาที่มีไวยากรณ์ ไม่รู้ว่าศาสนาไม่มีไวยากรคืออะไร อาจารย์จะอธิบายให้ผมเข้าใจได้อย่างไรครับ

คือมันเป็นศาสนาของบทเรียนทักษะจริงๆ ผมยกตัวอย่างนี้ก็แล้วกัน สิ่งที่ผมเรียกว่าไวยากรณ์ของพุทธศาสนาปัจจุบันจริงๆมันเพิ่งเกิดในหมู่ประชาชน ในอดีตผมยกตัวอย่างเช่นยายผมไม่มีความรู้เชิงไวยากรณ์ของพุทธศาสนาเลย แต่ถามว่ายายมีความรู้ทางพุทธศาสนาหรือไม่ ผมบอกว่ามี จากความรู้สึกของหลาน ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งยายได้ตายไปนานแล้ว ยายผมมีจิตใจที่แบสนิทกับพุทธศาสนามาก และมีความลึกซึ้งมาก ก่อนยายจะนอนหลับทุกคืนต้องยกมือขึ้นจบเอ่ยคำว่าพุทโธ แล้วก็ไม่มีคำกล่าวอะไรอีกแล้ว หรือทุกครั้งที่ยายทำอะไร แล้วเราถามว่าทำทำไม ยายก็บอกเพียงคำเดียวด้วยว่าเพื่อพระนฤพาน ใช้คำว่านฤพานด้วยนะ ผมคิดว่าคนบ้านได้พุทธศาสนาสายมหายานที่เป็นสันสฤตไม่ใช่สายเถรวาทบาลี เพราะฉะนั้นคำว่านิพพานยายผมไม่มีความรู้เรื่องภาษา แต่ใช้คำว่าเพื่อพระนฤพาน

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเราจะไปถามยายให้อธิบายว่าทำไมทำสิ่งนี้มันเพื่อพระนฤพานอย่างไร ยายอธิบายไม่ได้ แต่ในใจของยายมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีงามและอธิบายไม่ได้เพื่อพระนฤพาน ประเด็นที่พูดนี้ก็คือเมื่อยายมีความพร้อมจะทำ เช่นการบริจาคทานตามมีตามเกิดของคนชนบท ผมเข้าใจว่าจิตของคนแก่ๆ ที่มีความสุขกับการได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะมันคือการบำเพ็ญทาน แต่ถ้าจะมีคำถามว่าทานคืออะไร มีความหมายอย่างไร ก็ไม่สามารถจะอธิบายได้ ความหมายตรงนี้ที่ยกขึ้นมาเพื่อจะบอกว่ายายคือตัวอย่างของคนที่รู้พุทธศาสนาโดยไม่มีไวยากรณ์

คำอธิบายของอาจารย์ต่างอย่างไรกับที่ชาวพุทธชอบพูดกันว่าปริยัติกับปฏิบัติ

ก็แล้วแต่เราจะอธิบายคำว่าปริยัติกับปฏิบัติทีนี้ เพราะถ้าจะพยายามอธิบายสองคำนี้ให้มาสู่ประเด็นของเรา เราก็อาจจะเผลอไปเทียบเคียงก็ได้ว่าความรู้เชิงไวยากรณ์คือปริยัติ แต่พอเราจะบอกว่าความรู้เชิงปฏิบัติ ผมเข้าใจว่าคำว่าปฏิบัติในนิยามของคนที่ใช้คู่ปริยัตินั้น คำว่าปฏิบัติมันค่อนข้างแคบ

มันก็ยังมีไวยากรณ์ เช่นรูปแบบพิธีกรรมอะไรต่างๆ

ครับมันค่อนข้างแคบและเต็มไปด้วยไวยากรณ์ (หัวเราะ) ผมจึงไม่ไม่ใช้คำนี้ เพราะเวลาเราพูดว่าปริยัติกันเสร็จแล้วพูดคำว่าปฏิบัติต่อนั้น คำว่าปฏิบัติมีความหมายแคบมากเลย แคบจนกระทั่งว่ามันเต็มไปด้วยไวยากรณ์ เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่อยากใช้คำว่าพุทธศาสนาไม่มีไวยากรณ์คือพุทธศาสนาที่เป็นปฏิบัติ แต่ผมอยากใช้คำว่ามันเป็นวิถีชีวิต ถ้าจะให้ผมพยายามใช้คำนะ เป็นวิถีชีวิตที่มันวางตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยม หรือคุณค่าอะไรบางอย่างที่รับสืบต่อกันมาโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว

คำว่ารับสืบต่อกันมาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้น เหมือนกับเรารับเรื่องความสวย สมมติตัวอย่างนี้นะ พอเราเกิดมาในสังคมไทยเราไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าเราจะมีรูปแบบของความสวยแบบนี้ แล้เรารู้สึกว่านี่คือสวย (หัวเราะ) แต่ในสายตาของคนที่ต่างฐานวัฒนธรรมของเรา เขาอาจไม่ได้มองความสวยในความหมายแบบนี้ก็ได้ เช่นสมมติเราเป็นผู้ชายเวลาเราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเราบอกว่าสวย แต่ขณะที่คนต่างวัฒนธรรมอาจจะมองผู้หญิงคนนี้ไม่สวยก็ได้ เพราะคำว่าสวยที่มันมีอยู่ในใจเรานั้นมันเป็นพื้นฐานมาจากค่านิยมซึ่งเป็นเรื่อง value ที่เราพูดถึงเมื่อตอนต้นก็ได้

ประเด็นนี้ผมไม่ได้สร้างคำพูดนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างไวยากรณ์นะครับ แต่ใช้เพื่อที่จะอธิบายความหมายที่มีอยู่ในใจผมว่า พอมาถึงจุดๆหนึ่งพุทธศาสนาที่เราบอกว่าไม่มีไวยากรณ์ คือพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิถีชีวิตและเป็นชีวิตซึ่งไม่ได้อยู่ในวันเกิด มันมีลักษณะที่เป็นมรดกสืบสานสืบต่อบ่มเพาะกันมา เพราะฉะนั้นวันหนึ่งเหมือนกับที่เรารู้ภาษาพูดที่เรารู้โดยไม่ต้องเรียนไวยากรณ์นั้น มันต้องฝึกมาตั้งแต่เราเริ่มจำความได้ใช่ไหม เราเริ่มฝึกพูดภาษาของเรา เพราะฉะนั้นเราเกิดในประเทศไทยเราจึงเรียนรู้ภาษาไทยโดยไม่ต้องผ่านไวยากรณ์ไทยมาตั้งแต่เราสำนึกรู้ถึงความเป็นตัวตนของเรา แล้วพอถึงวันหนึ่งเมื่อเราสิบห้ายี่สิบสามสิบเราจึงพูดภาษาไทยได้อย่างไม่ติดขัด ผมเข้าใจว่าในคติแบบนี้นะครับมันจึงไม่ใช่คติที่ต้องการเรียนรู้พุทธศาสนาแบบปัจจุบัน คติที่เรียนรู้พุทธศาสนาแบบนี้ไม่พูดถึงผิด ถูก นะครับ เพราะเราไม่ตั้งประเด็นตรงนั้น มันเป็นความรู้ในความหมายที่ไม่มีไวยากรณ์

ที่อาจารย์เคยบอกว่าชีวิตของอาจารย์ขึ้นรถมาแล้วลงรถเดินต่อ เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร

อันนี้เป็นเรื่องไวยากรณ์ที่ผมรู้แล้วว่าเมื่อมาถึงจุดๆหนึ่ง ถ้าตามหลักไวยากรณ์แล้วผมยังรู้ไม่จริง ความหมายของผมคือ โดยไวยากรณ์มันทำให้ผมรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ไปคืออะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมบอกว่าผมลงจากรถ ก็คือผมรู้แล้วว่าในความหมายของผมถ้าพูดในความรู้เชิงความคิดนั้นผมมีมากพอแล้ว ไม่ได้ถือว่ามากกว่าคนอื่นนะแต่เมื่อเทียบเคียงโดยเฉลี่ยในสังคมไทยสังคมชาวพุทธ ผมก็เป็นคนที่มีความรู้ทางพุทธศาสนาในระดับที่ใช้ได้แล้ว เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ไปความรู้ที่ต้องการเพิ่มเติมขึ้นมาจึงไม่ใช่ความรู้เชิงความคิด แต่ต้องเป็นความรู้ในอีกมิติหนึ่ง เพราะฉะนั้นถามว่าผมรังเกียจความรู้ที่เป็นความคิดไหม ไม่ ความคิดนั้นนำผมมาไกลแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะความรู้ที่เป็นคิดแบบนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลังจากนี้จะทำอะไรใช่ไหม

ที่ผมรู้ว่าผมควรทำอะไรหลังจากนี้ไปก็มาจากความคิดของผมนี่แหละ ผมรู้ว่าสิ่งที่มาจากความคิดผมทำให้ผมมาถึงตรงนี้ได้ก็เพราะรถคันนี้แหละ แต่รถคันนี้ก็ไม่สามารถพาผมไปถึงปลายทางที่ผมคิดหวังไว้ได้ เพราะฉะนั้นผมต้องลงที่นี่และผมจะต้องเดินทางของผมต่อ ความหมายที่ผมต้องการสื่อสารก็คือเพื่อจะบอกว่าโลกของความคิดไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจอะไรเลย ที่สำคัญตรงกันข้ามเราจะต้องตระหนักให้ได้ว่ามีคุณค่าและก็มีนัยที่สำคัญต่อการเรียนรู้

เพราะฉะนั้นเราทุกคนที่เกิดมาในสังคมปัจจุบัน เราจะกลับไปเรียนรู้พุทธศาสนาแบบเดิมตามจารีตเป็นไปได้ยากมาก เพราะไม่มีจารีตอย่างนั้นมารองรับเราอีกแล้ว ผมจะไปเรียนรู้พุทธศาสนาแบบยายไม่ได้แล้วในขณะที่ผมเรียนหนังสือในโรงเรียน ยายไม่เคยเข้าโรงเรียน ในขณะที่พอมาถึงปัจจุบันโทษนะครับเรามีความรู้ข้อมูลข่าวสารจากโลกอินเตอร์เน็ตที่ฉับไวมาก เด็กรุ่นปัจจุบันอยากรู้พระไตรปิฎกหน้าไหน เปิดปุ๊ปดูได้เลย

เดี๋ยวนี้การเข้าใจพุทธมันก็มีมิติที่ซับซ้อนมาก ต้องเข้าใจผ่านมิติประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีกเยอะมาก ไวยากรณ์ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก

ใช่ครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะไร้ค่านะครับ ผมเข้าใจว่าถ้าเราเข้าใจคุณค่าในความรู้แบบนี้ มันสามารถจะใช้ความรู้แบบนี้เป็นฐานต่อไปได้ ประเด็นของเราก็คือผมต้องการเพียงแค่จะบอกว่าเมื่อไปถึงจุดๆ หนึ่งเราก็จะต้องสามารถที่จะกำหนดหมายได้ว่าความรู้ที่มันยังขาดเหลืออยู่คืออะไร

น่าสนใจตรงที่ว่ามันหลุดออกจากไวยากรณ์ไปได้อย่างไร

ตรงนี้แหละที่ผมไม่รู้จะใช้คำอธิบายแบบไวยากรณ์ว่ายังไง (หัวเราะ) เพราะเมื่อก่อนเวลาผมคิดถึงพุทธศาสนา ผมจะคิดว่าอะไรคือถูก อะไรคือจริง อะไรคือไม่ถูก เวลาเราอ่านพุทธวัจนะสักหนึ่งบท เราก็ต้องคิดว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร และเราพยายามคิดหาความหมายที่แท้จริง

ขอโทษ แม้กระทั่งที่พระหรือใครที่เราเคารพอธิบาย เราก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง เราไม่พูดออกมาเท่านั้นเอง แต่เราเถียงอยู่ในใจว่าแม้กระทั่งที่พระเทศน์ให้โยมฟังทุกวันๆ นี้ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง ถ้าจะพูดให้มันหยาบไปหน่อยก็ต้องบอกว่าพระสอนผิด แม้เราไม่ถึงกับพูดแบบนั้น แต่เราก็ไม่เคารพในความหมายที่พระท่านสื่อให้เราฟัง เพราะเราเชื่อว่าที่พระท่านพูดนั้นไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง และเรายังคิดต่อไปอีกว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร สุดท้ายแม้กระทั่งไปถึงจุดๆ หนึ่งเราก็มานั่งเถียงกันด้วยซ้ำไปว่า ความหมายที่แท้จริงของพุทธวัจนะบทนี้หรือหมวดนี้คืออะไร คือผมก็อยู่ในโลกของการถกเถียงแบบนี้ในสมัยที่ผมเป็นอาจารย์สอนพุทธปรัชญา ยิ่งเถียงกับพระยิ่งดีเพราะรู้ว่าพระไม่สามารถเอาชนะเราได้ เพราะว่าประสบการณ์ ระบบคิดของท่านไม่มีทางที่ท่านจะเถียงชนะเรา สุดท้ายพระก็ต้องจนแต้มคือไม่รู้จะเถียงอะไรต่อ แต่ก็ไม่ใช่ยอมจำนนนะ แต่พระก็ไม่รู้จะอ้างเหตุผลอย่างไร

ประเด็นตรงนี้คือ ผมมาสำนึกว่าแสดงว่าสิ่งที่เรียกว่าไวยากรณ์ที่เรามีความรู้นั้นมันยังไม่เพียงพอ เหมือนกับที่ผมท่องไวยากรณ์อังกฤษได้ แต่ผมไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษที่ดีได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผมคงไม่ใช่อยู่กับการท่องไวยากรณ์ ถ้าผมยังมีความต้องการและจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษา ผมอาจจะต้องไปอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างจริงจังใช่ไหมครับ แล้วก็พยายามที่จะฝึกพูดภาษาอังกฤษไม่ใช่ผ่านการท่องจำแล้ว แต่ผ่านทักษะจริงๆ

ในโลกของพุทธศาสนาก็มีอุปมาคล้ายๆกันนี้ เพราะฉะนั้น พอมาถึงจุดๆ หนึ่งผมจึงมีความรู้สึกว่าพอล่ะไวยากรณ์ทางพุทธศาสนา ผมต้องการกลับไปสู่ประเด็นเนื้อหา ผมไม่ใช้คำว่าปฏิบัติเพราะมันมีลักษณะที่ค่อนข้างแข็งอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ แต่ลงไปสู่สิ่งที่มันเป็นวิถีชีวิตของผมจริงๆ เมื่อผมไม่มีวิถีเชิงชุมชนมารองรับแล้ว ผมต้องใช้วิถีของผมเองที่ผมจะต้องสร้างขึ้นมาเอง

เมื่อพอกับพุทธศาสนาแบบมีไวยากรณ์แล้วการเดินต่อในทางของพุทธศาสนาแบบไม่มีไวยากรณ์มันมีเนื้อหาของมันเองอย่างไร

คือผมไม่มีประเด็นเรื่องผิดเรื่องถูก นี่คือสิ่งที่ผมมีปัญหากับการสื่อสารอยู่เสมอ

พอหยุดคิดในกรอบพุทธศาสนาแบบไวยากรณ์ปุ๊บก็คือหยุดคิดเรื่องผิดเรื่องถูก

ผมไม่คิดเรื่องผิดเรื่องถูก และผมไม่สนใจว่านี่คือใช่หรือไม่ใช่พุทธศาสนา ผมไม่สนใจในประเด็นนั้นเลย ผมสนใจแต่ว่าสิ่งที่มันเคยเป็นความทรงจำหมายรู้อยู่ในใจแบบนี้ผมจะทำความเข้าใจกับมันอย่างไร แล้วเหตุนี้กระมังที่ทำให้ปัจจุบันทำให้ผมไม่ค่อนสนใจกับกรอบของลัทธินิกายอะไรมากมายนัก ไม่สนใจแม้กระทั่งว่าสิ่งนี้จะอยู่นอกเหนือสิ่งที่พุทธศาสนาตีกรอบไว้

เช่นตัวอย่างในสมัยที่เราเรียนนักธรรมบาลีแล้วเราท่องคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกามีอยู่ข้อหนึ่งบอกว่า “จะต้องไม่พึงแสวงหาเนื้อนาบุญนอกพุทธศาสนา” ผมลืมไปเลยความหมายนั้น ผมไม่สนใจเลย ผมคิดว่าไม่มีเขตบุญที่ชัดเจนที่บอกถึงเรื่องนี้เป็นการพูดที่เบลอมากเลย เพราะสุดท้ายแล้วการแสวงหาเนื้อนาบุญไม่มีขอบเขตของศาสนาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นผมจึงไม่รู้สึกลังเลใจเลยที่จะรู้สึกดีกับการได้ทำอะไรบางสิ่งบางอย่างในวิถีของศาสนาที่ไม่ใช่พุทธศาสนา