บทบาทของพระสงฆ์ในสงครามความขัดแย้ง

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

บนเวทีม็อบขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งต่อมาตั้งชื่อยาวเหยียดว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส.มักจะด่ากันทุกวันๆว่า “ระบอบทักษิณแทรกแซงสื่อ” แต่ปรากฏการณ์ของ กปปส.ที่บุกยึดฟรีทีวีทุกช่องในวันที่ 1 ธันวาคมนั้น ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไรกันแน่?

ที่จริงแล้วมวลมหาประชาชนที่รวมกลุ่มกันในนาม ปปส.ปฏิบัติการยึดอำนาจรัฐนั้น ก็คือกลุ่มเดิมๆ ที่อ้างสถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 48 จนนำมาสู่รัฐประหารปี 49 และเลยมาถึงการสลายการชุมนุมปี 53 แม้จะเป็นความจริงว่า เครือข่ายมวลชนดังกล่าวมีความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบางระดับ เนื่องจากอ้างการกระทำที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม(ไม่)เหมาเข่ง การทุจริตคอร์รัปชัน แต่วิธีการและข้อเรียกร้องของพวกเขากลับเป็นวิธีการแบบ “แก้การกระทำที่ผิดด้วยวิธีที่ผิดมากกว่า” เช่น แก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยวิธีรัฐประหาร เรียกร้อง สนับสนุน และยอมรับผลที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร

การมุ่งยึดอำนาจรัฐเพื่อตั้งสภาประชาชน ก็เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นรัฐประหารแบบหนึ่งนั่นเอง

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ กลับมีพระเข้าไปร่วมเป็นแกนนำของมวลชน คือสมณะโพธิรักษ์, ท่านจันทร์ รวมทั้งสมณะแห่งสันติอโศก และหลวงปู่พุทธอิสระ ในฐานะที่เป็นพลเมืองท่านเหล่านี้ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง และแม้ในฐานะเป็นพระภิกษุวินัยสงฆ์ก็ไม่ได้ห้ามไว้โดยตรง ฉะนั้น เมื่อว่าโดยสิทธิการแสดงออกทางการเมืองและวินัยสงฆ์ การแสดงออกของท่านเหล่านั้นก็ไม่ผิด

แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อพระแสดงออกทางการเมือง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในทางการเมือง พระย่อมมีสถานะเท่าเทียมกับคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ที่จะทำให้พระอยู่เหนือการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ หรือกระทั่งถูกด่าดังเช่นคนธรรมดาทั่วไป

ความเห็นของพระที่อ้างธรรมะ อ้างศาสนาก็มีความหมายเป็นเพียงความคิดเห็นธรรมดาๆ ที่ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งได้เหมือนความเห็นของคนอื่นๆ ไม่ใช่ว่าเป็นพระแล้วพูดอะไรไปคนต้องพนมมือสาธุๆ เท่านั้น เพราะว่าสิ่งที่พระพูดก็อาจผิดได้ และอาจนำไปสู่ความหลงผิด หรือความรุนแรงยิ่งกว่าคำพูดของคนธรรมดาทั่วไปก็ได้

ดังที่เราได้เห็นในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เช่น คำพูดของกิตติวุฑโฒที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของ ว.วชิรเมธี “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” เป็นต้น แต่ก็น่าแปลกใจว่าในวงการพระสงฆ์ไทยกลับไม่มีการสรุปบทเรียน ไม่เคยขอโทษประชาชนจากการที่พระเสนอความเห็นในเชิงสนับสนุนความรุนแรงในความขัดแย้งครั้งสำคัญๆ ที่ผ่านมา

ยิ่งกว่านั้นในม็อบ กปปส. หลวงปู่พุทธอิสระยังขึ้นเวทีคู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อรับรองความชอบธรรมให้นายสุเทพเป็น “ผู้นำทัพปราบมาร” หรือนำทัพล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” สมณะโพธิรักษ์ก็กล่าวรับรองการที่มวลชนบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ ว่าเป็นการกระทำอย่างสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ ถือเป็น “รัฐศาสตร์อาริยะ” และท่านจันทร์เองก็เล่นการเมืองในโซเชียลมีเดียแบบตามกระแสเกลียดทักษิณและยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่โพสต์คลิปกล่าวหาทักษิณล้มเจ้า คนหนักแผ่นดิน ไปจนกระทั่งโพสต์ภาพอากัปกิริยาของนายกฯยิ่งลักษณ์ให้แฟนคลับด่า เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อเช้าวันที่ 1 ธันวาคม สมณะโพธิรักษ์ยังขึ้นเวทีปลุกใจประชาชนให้ต่อสู้ยึดสถานที่ราชการ โดยกล่าวว่า “ต้องสู้อย่างถึงที่สุด แม้จะต้องตายก็ให้คิดเสียว่าถึงคราวตายใช้หนี้บาปเวร ถือว่าตายดี เพราะเป็นการสละชีวิตเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

การปลุกเร้าดังกล่าวจึงขัดกับหลักการสันติ อหิงสาในสาระสำคัญ ดังประวัติศาสตร์บอกเราว่าการอ้างอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในการต่อสู้ทางการเมือง มักนำไปสู่ความคิดสุดโต่งและความรุนแรงตามมา เพราะคนที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ดังกล่าวมักคิดว่าตนเองถูกเสมอ

ยิ่งพระไปปลุกเร้าว่าพวกเราเป็นฝ่ายธรรมะที่ออกมาขจัดฝ่ายอธรรม ยิ่งทำให้เกิดความเชื่ออย่างหัวชนฝาว่า พวกตนเป็นคนดี ทำการในนามคุณธรรมจริยธรรมและอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงทำอะไรถูกต้องเสมอ ทำอะไรก็ไม่ผิด ไม่ว่าจะยึดอำนาจรัฐโดยกองทัพ ยึดสถานที่ราชการ สื่อมวลชน หรือยึดอำนาจรัฐโดยม็อบก็ตาม

หลักการ กติกา หรือวิถีทางประชาธิปไตยจึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง จึงแก้ปัญหา “การกระทำที่ผิดด้วยวิธีการที่ผิดยิ่งกว่า” ตลอดมา ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วยิ่งขยายกว้างและซับซ้อนยิ่งขึ้นๆ

ว่าตามจริง การที่พระไปสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหา “การกระทำที่ผิดด้วยวิธีการที่ผิดยิ่งกว่า” ตลอดมา ก็เพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อคำสอนของพุทธศาสนาในเรื่อง “การรักษาสัจจะ (สัจานุรักษ์)” ที่ถือว่าการพูดความจริงต้องพูด “ความจริงทั้งหมด” ไม่ใช่พูดเฉพาะส่วนที่เป็นการทำลายฝ่ายตรงข้ามและเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนเท่านั้น

เช่น ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมา พระในฐานะผู้เป็นหลักทางสติปัญญาและศีลธรรมควรจะพูดให้ครบว่า การคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ผิด แต่รัฐประหารผิดยิ่งกว่า จะแก้สิ่งที่ผิดด้วยวิธีที่ผิดยิ่งกว่าไม่ได้ เพราะพุทธศาสนาถือว่าวิถีและจุดหมายหรือวิธีการกับเป้าหมายต้องถูกต้องทั้งสองอย่าง หากเห็นว่าคอร์รัปชันผิด หรือรัฐบาลไม่เคารพกฎหมายผิด พระก็ไม่ควรสนับสนุนหรือยอมรับรัฐประหาร หรือการใช้ม็อบยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญซึ่งผิดยิ่งกว่า

แต่ความมีเหตุผลดังกล่าวก็ไม่มีความหมายอะไร เมื่อพระเลือกข้างเสียแล้ว และเดินตามหลังประชาชน เวลาที่พระขึ้นเวทีรับรองความชอบธรรมให้สุเทพนำทัพปราบมาร หรือรับรองความชอบธรรมของการยึดสถานที่ราชการว่าเป็น “รัฐศาสตร์อาริยะ” นั้น ไม่ได้แสดงว่าพระกำลังแสดงบทบาทนำทางความคิดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการใช้สถานะความเป็นพระไปรับรองหรือสนับสนุนความเชื่อที่ประชาชนเขาเชื่อของเขาอยู่แล้วให้ดูดีขึ้นว่าถูกตามหลักธรรมะ ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการบิดเบือนธรรมะไปสนับสนุนวิธีการที่ผิดหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย

ยิ่งไปขึ้นเวทีพูดทำนองให้ประชาชนต่อสู้ยึดอำนาจรัฐว่า เป็นการเสียสละเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยคาดการณ์ล่วงหน้าได้อยู่แล้วว่า หากม็อบยึดอำนาจรัฐได้จริงจะเกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมยิ่งกว่าเดิม ยิ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังใช้สถานะของพระสนับสนุนการกระทำในนามอหิงสา-สันติที่อาจเป็นเงื่อนไขไปสู่สงครามกลางเมืองในอนาคต

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (7-13 ธันวาคม 2556)