Skip to main content

"...ผู้กล่าวปาฐกถาอันประกอบด้วยเผิงพ่าย ฮวงเฟิ่งหลินและหยางฉีซานได้แสดงให้เห็นว่าก่อนที่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นจริงย่อมไม่อาจมีปีใหม่ที่สุขสันต์ เพราะวันตรุษจีนคือช่วงเวลาที่เหล่าผู้กดขี่จะใช้เป็นโอกาสเรียกร้องให้เราชดใช้หนี้ ดังนั้นที่พวกเราได้มารวมกันในวันนี้หาใช่เพราะความสุขไม่ แต่เป็นเพราะความทุกข์ยาก อย่างไรก็ตาม นี่คือโอกาสที่เราจะแสดงให้ศัตรูเห็นถึงความแข็งแกร่งของเราและปลุกความตื่นรู้ในการปฏิวัติขึ้นแก่ตัวเรา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกเจ็บปวดและก็ปิติยินดีในเวลาเดียวกัน..."


 




จากสหภาพชาวนาแห่งภูเขาชื่อซานสู่ศูนย์กลางสหภาพชาวนาตำบลไห่เฟิง

ขณะนี้เป็นเดือนกันยายนของปี ค.ศ. 1922 เรามีสมาชิกประมาณ 500 คน ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านทั้ง 28 แห่งของเขตภูเขาชื่อซาน พวกเราได้ประชุมเพื่อก่อตั้งสหภาพชาวนาแห่งภูเขาชื่อซานขึ้นในวันหนึ่งของเดือนกันยายนนั้นเอง นอกเหนือไปจากสมาชิกสหภาพแล้ว ยังมีหลี เยว่ถิง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมและหยาง สื้อเจิ้น อาจารย์ใหญ่โรงเรียนประถมเข้าร่วมการประชุมและกล่าวปาฐกถาด้วย ในการประชุมครั้งนี้ หวง เฟิ่งหลินได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสหภาพชาวนาแห่งภูเขาชื่อซาน เมื่อประชุมเสร็จมีงานเลี้ยงน้ำชา จากนั้นสมาชิกสหภาพทุกคนก็แยกย้ายกลับบ้านด้วยความสุข การประชุมก่อตั้งสหภาพในครั้งนี้ส่งผลต่อประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ เป็นอันมาก ทำให้จำนวนผู้สมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วสหภาพของเรามีสมาชิกใหม่ถึงวันละ 10 คน ขั้นตอนในการสมัครสมาชิกสหภาพฯ เป็นดังนี้ ในตอนแรก ผู้สมัครจะต้องไปปรากฏตัวที่สำนักงานของสหภาพฯ และจ่ายค่าสมัครสมาชิกเป็นเงิน 20 เหา(毫) (เหา = 1/10 ของหยวน) (ตามความตั้งใจเดิม นอกเหนือไปจากค่าสมัครแรกเข้าแล้ว เราอยากให้ผู้สมัครจ่ายค่าสมาชิกฯ เป็นรายปี หรือรายเดือนด้วย แต่เกรงว่าจะเป็นการยุ่งยากสำหรับพวกเขา ดังนั้นเพื่อให้มีความชัดเจนและเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อที่ดี เราจึงเก็บเพียงค่าสมัครสมาชิกแรกเข้า แต่เราก็ยังมีแผนที่จะเก็บค่าต่ออายุสมาชิกเมื่อชาวนามีประสบการณ์ในกิจการของสหภาพมากขึ้นแล้ว) จากนั้นเมื่อพวกเขาได้รับฟังคำอธิบายเรื่องสหภาพเสร็จสิ้น เราก็จะออกบัตรประจำตัวสมาชิกสหภาพฯ ให้ ซึ่งคล้ายในภาพด้านล่างนี้ (ข้อความถูกพิมพ์ลงในกระดาษแข็งแบบกระดาษนามบัตร)

ขณะนี้เองที่สหภาพได้ออกคำประกาศและเผยแพร่ประโยชน์ของการเข้าร่วมสหภาพ ไปพร้อมๆกับการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จนในเดือนตุลาคม เรามีสมาชิกใหม่วันละถึงประมาณ 20 คน เมื่อชาวนาในหลายๆชุมชน ได้เห็นแบบอย่างจากภูเขาชื่อซาน พวกเขาต่างก็จัดตั้งสหภาพประจำเขตของตนเอง จนในที่สุดทั้งตำบลไห่เฟิงก็มีแต่สหภาพชาวนาเต็มไปหมด ดังนั้นจึงเป็นเวลาอันเหมาะสมแล้วที่จะตระเตรียมความพร้อมเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางสหภาพชาวนาตำบลไห่เฟิง

สหภาพฯ ได้จัดตั้ง "กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์" ขึ้น สมาชิกทุกคนของสหภาพมีสิทธิ์เข้าร่วมกองทุนฌาปณกิจฯ นี้  ในตอนนั้น เรามีสมาชิกเข้าร่วมกองทุนได้ประมาณ 150 คน กองทุนมีกฏว่า หากมีสมาชิกคนใดเสียชีวิตหรือสูญเสียบุพการี สมาชิกคนอื่นๆ จะต้องบริจาคเงินเป็นจำนวน 2 เหา ให้แก่ครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิตหรือสมาชิกที่สูญเสียบุพการี ในวันแรกที่กฏนี้ถูกประกาศออกไป บิดาของสมาชิกคนหนึ่งเสียชีวิต สมาชิกทุกคนก็บริจาคคนละ 2 เหา รวมแล้วได้กว่า 30 หยวน สมาชิกเหล่านี้ยังได้เข้าร่วมงานศพอีกด้วย พอต่อมาในวันที่ 5 บิดาของสมาชิกอีกคนหนึ่งตาย สมาชิกของกองทุนฌาปนกิจฯ เริ่มแบกภาระทางการเงินไม่ไหว สหภาพก็ต้องออกเงินให้ไปก่อนและเก็บจากกองทุนฌาปณกิจฯ ในภายหลัง ไม่เพียงเท่านั้น ปรากฏว่าในวันที่ 7 สมาชิกคนหนึ่งตาย สหภาพก็จำเป็นต้องออกให้ก่อนอีก 30 หยวน สมาชิกกองทุนเริ่มวิตก เพราะเพียงตั้งกองทุนฯ ได้ 10 วันก็มีคนตายถึง 5-6 คนแล้ว ถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปกองทุนฯจะทำอย่างไรได้ ในที่สุดเราจึงจัดประชุมขึ้น ผลของการประชุมก็คือ กองทุนฌาปนกิจจะถูกยุติลงชั่วคราวและจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งหากว่างบประมาณของสหภาพฯ มีความคล่องตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้จัดตั้ง 'โอสถศาลา' อีกด้วย สำนักงานของโอสถศาลาอยู่บนถนนสายหลักของตัวเมืองไห่เฟิง แพทย์ที่ประจำโอสถศาลาไม่เพียงแต่ได้รับการฝึกฝนตามหลักสูตรแพทย์แผนตะวันตกมาเท่านั้นแต่เขายังมีความสนใจในขบวนการชาวนาอีกด้วย สมาชิกคนใดก็ตามที่ต้องการยาสามารถแสดงบัตรประจำตัวสมาชิกเพื่อเป็นส่วนลดค่ายาได้ถึงครึ่งนึง คนที่ไม่ใช่สมาชิกต้องจ่ายเต็มจำนวน สมาชิกทุกคนยังได้รับสิทธิ์ตรวจและรักษาฟรีโดยนายแพทย์ท่านนี้ สำหรับภรรยาของสมาชิกทุกคนก็สามารถมาทำคลอดฟรีที่โอสถศาลาได้เช่นกัน ยาที่ใช้ระหว่างการดูแลครรภ์และดูแลทารกก็จะได้รับส่วนลดครึ่งนึงและมักจะมีราคาเพียง 20 ถึง 30 เหาเท่านั้น นโยบายนี้ทำให้มีชาวนาจำนวนมากสนใจใช้บริการโอสถศาลาและการทำคลอดฟรี เรายังจับตัวคนที่ไม่ใช่สมาชิกแต่แสร้งเป็นสมาชิกได้ด้วย คนเหล่านี้หยิบยืมบัตรประจำตัวสมาชิกมาจากคนอื่น ทำให้เราต้องเพิ่มกฏเกณฑ์ลงไปว่าหากสมาชิกคนใดทำบัตรประจำตัวสมาชิกหาย เขาจะต้องเสียเงินค่าออกบัตรประจำตัวใหม่ในราคา 2 เหา

และแล้วในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1923 "ศูนย์กลางสหภาพชาวนาตำบลไห่เฟิง" ได้ถูกจัดตั้งขึ้น มีสมาชิกทั้งหมด 20,000 คน และมีประชากรที่อยู่ในเขตอำนาจของศูนย์กลางสหภาพฯ ทั้งหมด 100,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งตำบล ในวันนั้นเองที่ตัวแทนหมู่บ้านมากกว่า 60 หมู่บ้านได้มาชุมนุมกันเพื่อก่อตั้งศูนย์กลางสหภาพฯ  ขั้นตอนของการประชุมเป็นดังนี้

1. ประธานแจ้งจุดประสงค์ของการประชุม
2. ตัวแทนหมู่บ้านกล่าวรายงาน
3. ประธานแจ้งเรื่องการเตรียมจัดตั้งศูนย์กลางสหภาพชาวนาระดับตำบล
4. ปาฐกถา
5. เลือกตั้ง
6. อภิปรายเรื่องกฏและข้อบังคับ
7. นำเสนอข้อเสนอต่างๆ
8. งานเลี้ยง

เผิงพ่ายได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานศูนย์กลางสหภาพฯ หยางฉีซานเป็นรองประธาน หลานจิ้งชิงเป็นเหรัญญิก หลินเพ่ยเป็นผู้จัดการ จางมาอานเป็นผู้ตรวจการ ฯลฯ ...(ส่วนตำแหน่งที่เหลือข้าพเจ้าจดจำไม่ได้แล้ว - เผิงพ่าย)...

ปัญหาหนึ่งที่ได้รับการอภิปรายในที่ประชุมก็คือ ศูนย์กลางสหภาพฯ ควรเพิ่มค่าบำรุงที่เก็บจากสมาชิกเพื่อให้สหภาพสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ พวกเราได้ลองหาอยู่หลายหนทางจนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปดังนี้ พวกเราทราบว่าชาวนาขายสินค้าของพวกเขาในตลาดมันเทศ ตลาดน้ำตาล ตลาดผัก ตลาดถั่ว ตลาดข้าว ตลาดฟืน ตลาดหมูและตลาดฟาง ตลาดเหล่านี้ต่างถูกควบคุมโดยพวกชนชั้นสูง เจ้าที่ดินและพระสงฆ์ เรามีความคิดว่าเฉพาะเพียงแค่ตลาดมันเทศอย่างเดียว ก็สามารถสร้างรายได้มากถึง 500 หยวน หากเรารวมรายได้จากทุกตลาดก็จะมากถึง 3,000-4,000 หยวนเลยทีเดียว ดังนั้นหากเราจะอ้างสิทธิ์ในตลาดเหล่านี้แทนพวกชนชั้นสูงจะได้ไหม? แน่นอนว่าถ้าทำเช่นนั้นก็จะต้องเผชิญหน้ากับพวกชนชั้นสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขั้นแรกเราจึงจะเจรจาต่อรองกับพวกชนชั้นสูงก่อน หากพวกเขายังดึงดัน เราจะประกาศให้ย้ายตลาดมันเทศไปที่อื่นเสียและภายในไม่เกินสามวันตลาดอื่นๆ ก็จะต้องย้ายตามมา ศูนย์กลางสหภาพจึงได้เริ่มงานในขั้นต้นด้วยการส่งสมาชิกเข้าไปในตลาดมันเทศเพื่อดูแลการซื้อขาย พวกชนชั้นสูงต่อต้านอย่างรุนแรง เราจึงติดประกาศเรียกร้องให้ชาวนาทั้งหมดเลิกขายของในตลาดเก่าและแยกย้ายกันไปตั้งร้านค้าในบริเวณสำนักงานสหภาพประจำเขตของพวกเขา ด้วยมาตรการนี้ เราได้รับชัยชนะและสามารถควบคุมตลาดมันเทศได้อย่างสมบูรณ์ รายได้จากตลาดถูกนำไปใช้สนับสนุนกิจการของโอสถศาลา

หลังจากมีข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่มโครงการ "การศึกษาแนวใหม่" ชาวนาก็เริ่มหวาดกลัว ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่เรื่อง "การศึกษาแนวใหม่" ถูกพูดถึง พวกเขาก็จะแสดงสีหน้าหวั่นวิตก ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ศูนย์กลางสหภาพฯ ได้ประกาศคำขวัญใหม่ นั่นคือ "การศึกษาเพื่อชาวนา" ซึ่งมีจุดประสงค์จัดตั้งโรงเรียนสำหรับชาวนา โครงการ "การศึกษาเพื่อชาวนา" นั้น แตกต่างอย่างมากกับ "การศึกษาแนวใหม่" เพราะเรามีเป้าหมายสอนให้ชาวนารู้จักการทำบัญชี พวกเจ้าที่ดินจะได้หลอกพวกเขาไม่ได้ เรายังสอนให้ชาวนารู้จักเขียนจดหมาย ใช้ลูกคิด สอนให้พวกเขารู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับเมล็ดพืชและเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ และเราก็สอนให้พวกเขารู้จักการบริหารสหภาพด้วย ชาวนาพึงพอใจกับโครงการนี้ นอกจากนี้ศูนย์กลางสหภาพฯ ยังให้อุปกรณ์การสอนและว่าจ้างครูมาสอนแก่นักเรียนโดยไม่ต้องเสียเงิน ไม่น่าแปลกใจว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกชาวนามีความสุข

หากถามว่าโรงเรียนชาวนาจะเอาแหล่งทุนมาจากไหน? คำตอบก็คือในแต่ละหมู่บ้านที่มีการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาจะต้องแบ่งที่นาบางส่วนออกมา ถือว่าที่นาส่วนนี้คือ "ที่นาของของโรงเรียน" โดยโรงเรียนฯ เป็นผู้เช่าจากเจ้าที่ดิน ค่าเมล็ดพืชและปุ๋ยมาจากสหภาพฯ ส่วนเครื่องมือทำนาและแรงงานมาจากครอบครัวของเด็กนักเรียนซึ่งจะต้องแบ่งหน้าที่ไถและหว่านกันเองอีกด้วย เมื่อได้เวลากำจัดวัชพืช ครูของโรงเรียนชาวนาจะพาเด็กนักเรียนไปยัง "ที่นาของโรงเรียน" พวกเขาจะแบ่งที่นาสำหรับนักเรียน 4 กลุ่มเพื่อแข่งขันกัน วิธีนี้ทำให้วัชพืชหมดจากนาอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับที่เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำนา เมื่อข้าวพร้อมเกี่ยว ครอบครัวของเด็กนักเรียนก็จะมีหน้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิต รายได้ที่เกิดจากผลผลิตส่วนหนึ่งจะจ่ายเป็นค่าเช่าให้เจ้าที่ดิน ส่วนรายได้ที่เหลือจะถูกนำไปเป็นเงินเดือนของครูประจำโรงเรียนชาวนา ภายในเวลาเดือนเดียวหลังจากริเริ่มโครงการ มีโรงเรียนชาวนาอีกนับสิบแห่งได้ถูกตั้งขึ้น ยังไม่รวมการจัดตั้ง "โรงเรียนนอกเวลา" ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารและการดูแลของสำนักงานการศึกษาของศูนย์กลางสหภาพฯ นับแต่นั้น เด็กชาวบ้านกว่า 500 คน ที่เคยถูกกีดกันจากโอกาสทางการศึกษาอย่างสมบูรณ์ก็ได้เข้าร่วมกับโรงเรียนของเรา

ในเวลานี้เองกิจกรรมของศูนย์กลางสหภาพชาวนาตำบลไห่เฟิงได้มาถึงจุดสูงสุด ผู้ตรวจการตำบลในขณะนั้นคือ เวิง กุ้ยชิงซึ่งเป็นคนสนิทของเฉินจย่งหมิงไม่เห็นชอบกับกิจกรรมของสหภาพฯ แต่กระนั้นเขาก็ไม่กล้าสั่งให้สหภาพฯยุติการดำเนินงาน พวกเราได้รับเสรีภาพยิ่งขึ้นในการเรียกร้องและต่อสู้ เนื่องจากบัดนี้ศูนย์กลางสหภาพฯ มีอำนาจต่อรองในมืออยู่ระดับนึง เราจึงได้ประกาศคำขวัญใหม่สำหรับชาวนาที่เป็นสมาชิกโดยเฉพาะดังนี้

"...ลดค่าเช่า
ยกเลิกกฏสามข้อ
ยกเลิกของขวัญสำหรับเจ้าที่ดิน (ไก่ เป็ด ข้าว และเงิน)
ไม่จ่ายส่วยให้ตำรวจ..."

ในขณะเดียวกันก็มีคำขวัญสำหรับคนนอกดังนี้

" พัฒนาเกษตรกรรม
เพิ่มพูนความรู้ของชาวนา
ประกอบกิจกรรมเพื่อการกุศล"

แผนของเราในขณะนั้นคือจะยังไม่ต่อรองกับเจ้าที่ดินให้ลดค่าเช่าจนกว่าพวกเราจะตระเตรียมความพร้อมได้อย่างน้อย 5 ปีเสียก่อน

ในที่สุดเมื่อถึงวันตรุษจีนของปี ค.ศ. 1923 วงดนตรีและคณะเชิดมังกรจากหมู่บ้านต่างๆ ได้เดินทางมาที่ไห่เฟิงเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานตรุษจีนสำหรับชาวนาที่จัดขึ้นโดยศูนย์กลางสหภาพฯ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เราได้จัดงานขึ้นที่สนามหญ้าหน้าศาลบรรพชนตงหลินในเฉียวตง มีสมาชิกมากกว่า 6,000 คน และคนที่ไม่ใช่สมาชิกกว่า 3,000 คน มาร่วมงาน ยังมีป้ายผ้า วงดนตรี และคณะเชิดมังกรเป็นตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมแสดงในงานอีกด้วย กิจกรรมในงานเฉลิมฉลองประกอบด้วย (1) เล่นดนตรี (2) ประธานชี้แจงจุดประสงค์ของการจัดงาน (3) แสดงปาฐกถา (4) ขับร้องและเล่นดนตรี (5) การเชิดมังกร (6) กล่าวสดุดี "ชาวนาจงเจริญ!" (7) จุดประทัด ผู้กล่าวปาฐกถาอันประกอบด้วยเผิงพ่าย ฮวงเฟิ่งหลินและหยางฉีซานได้แสดงให้เห็นว่าก่อนที่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นจริงย่อมไม่อาจมีปีใหม่ที่สุขสันต์ เพราะวันตรุษจีนคือช่วงเวลาที่เหล่าผู้กดขี่จะใช้เป็นโอกาสเรียกร้องให้เราชดใช้หนี้ ดังนั้นที่พวกเราได้มารวมกันในวันนี้หาใช่เพราะความสุขไม่ แต่เป็นเพราะความทุกข์ยาก อย่างไรก็ตาม นี่คือโอกาสที่เราจะแสดงให้ศัตรูเห็นถึงความแข็งแกร่งของเราและปลุกความตื่นรู้ในการปฏิวัติขึ้นแก่ตัวเรา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกเจ็บปวดและก็ปิติยินดีในเวลาเดียวกัน

ในวันนั้นเอง เราได้ออกบัตรประจำตัวสำหรับสมาชิกใหม่ 2,000 คน ทำให้มีรายได้จากค่าสมัครสมาชิกรวม 400 เหรียญ นับเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหภาพฯ หลังจากนั้น จะมีสมาชิกใหม่เข้าร่วมสหภาพฯ วันละประมาณ 100 คน เป็นงานที่หนักหน่วง และทุกๆ วัน จะมีเพื่อนชาวนาจำนวน 300 คนมาที่สำนักงานของสหภาพเพื่อถามข้อมูล สนทนาแลกเปลี่ยนและเพื่อสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพฯ เราจึงยุ่งอย่างมาก

กิจกรรมของเราจับความสนใจของเจ้าที่ดินคนหนึ่ง ผู้กล่าวว่า "พวกเราไม่คิดว่าพวกสหภาพฯ จะประสบความสำเร็จ พวกเราเคยคิดว่ามันช่างไร้สาระสิ้นดี แต่มันก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ เสียแล้ว!"...

- จบ -

*** หมายเหตุ: บันทึกว่าด้วยขบวนการชาวนาไห่เฟิงของเผิงพ่ายทั้งหมด 3 ตอนนี้ เป็นเพียงบันทึกส่วนย่อเท่านั้น ผู้แปลจะแปลบันทึกฉบับสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ทางวิชาการในโอกาสต่อไป 

บล็อกของ Atitheb Chaiyasitdhi

Atitheb Chaiyasitdhi
เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2559) ผมได้เดินทางไปปารีส จึงได้เยี่ยมชมและเก็บภาพสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสมาไว้เป็นที่ระลึก ภาพและสถานที่ที่ผมนำมาลงนี้บางแห่งอาจเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางแห่งอาจไม่มีใครรู้จักมาก่อน นอกจากนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมสถานที่สำคัญทั้งหมด เนื่องจากบางแห่งอยู่นอกปารีสและกอปรกับผมมีเวลาจำกัด ก็เลยขอนำมาแบ่งปันเท่าที่เอื้ออำนวย ต้องออกตัวก่อนว่าภาพเหล่านี้อาจไม่มีเชิงศิลป์นัก แต่คงจะใช้ประกอบการพาชมสถานที่เหล่านี้ได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน
Atitheb Chaiyasitdhi
วันที่ 1 ตุลาคม ถือเป็นวันครบรอบการสถาปนารัฐบาลกลางประชาชนและสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 ผู้เขียนเห็นเป็นโอกาสอันดี จึงนำเพลงชื่อ "ประเทศชาติ" ซึ่งผู้เขียนได้เคยแปลไว้มาให้ได้ฟังกัน​
Atitheb Chaiyasitdhi
"...ผู้กล่าวปาฐกถาอันประกอบด้วยเผิงพ่าย ฮวงเฟิ่งหลินและหยางฉีซานได้แสดงให้เห็นว่าก่อนที่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นจริงย่อมไม่อาจมีปีใหม่ที่สุขสันต์ เพราะวันตรุษจีนคือช่วงเวลาที่เหล่าผู้กดขี่จะใช้เป็นโอกาสเรียกร้องให้เราชดใช้หนี้ ดังนั้นที่พวกเราได้มารวมกันในวันนี้หาใช่เพราะความสุขไม่ แ
Atitheb Chaiyasitdhi
"...ข้าพเจ้าสังเกตว่าในวันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินเข้าไปในเมือง คนที่อยู่ในร้านค้าต่างก็มองข้าพเจ้าด้วยสายตาแปลกๆ ต่อมาไม่นานพวกญาติๆ ของข้าพเจ้าก็เริ่มเอาอาหารมาให้ ไถ่ถามอาการว่าที่ข้าพเจ้า "ป่วย" นั้นเป็นอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าค่อยมาคิดได้ทีหลังว่าทำไมผู้คนจึงปฏิบัติกับข้าพเจ้าเช่นนี้ ครั้งหนึ่งคนรับใช้ในบ้านบอกแก่ข้าพเจ้าว่า "ต่อไปนี้นายท่านควรอยู่แต่ในบ้านแล้วพักผ่อนเสียจะดีกว่า" ข้าพเจ้าถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เขาก็ตอบกลับมาว่า "ผู้คนข้างนอกนั่นต่างก็พูดกันน่ะสิว่านายท่านน่ะบ้าไปแล้ว นายท่านควรจะพักผ่อนแล้วก็ดูแลตัวเองจะดีกว่า"…
Atitheb Chaiyasitdhi
"...ด้านล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งจากบันทึกของเผิงพ่าย (ค.ศ. 1896-1929) เกี่ยวกับความพยายามบุกเบิกจัดตั้งสหภาพชาวนาขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1921-1923 เผิงพ่ายเริ่มมีความสนใจในลัทธิสังคมนิยมของชาวนาขณะที่เขาศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นช่วงปี ค.ศ. 1918-1921 ต่อมาเขาได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นและเริ่มนำความคิดสู่การปฏิบัติ บันทึกนี้ครอบคลุมเรื่องราวความสำเร็จในช่วงต้น ก่อนที่เผิงผ่ายจะต้องหลบหนีจากตำบลไห่เฟิงเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นตัดสินใจกำจัดสหภาพชาวนา..." 
Atitheb Chaiyasitdhi
ไม่รู้ว่า ประชาไท เขาให้แปลข่าวเพี้ยนๆ แบบนี้ได้หรือเปล่า แต่ถือว่าเป็นการ "สวัสดีปีใหม่" ด้วยการเอาเรื่องตลกๆ แปลกๆ ที่กำลังฮิตในเมืองจีนตอนนี้มาเล่าให้ฟังแล้วกัน "20 ข่าวเพี้ยนประจำปี 2014" (2014年二十大没品新闻) ถูกโพสต์ในหลายเว็บไซต์ของจีนเช่น Sina Weibo และ i
Atitheb Chaiyasitdhi
ผู้เขียนได้ข้อสรุปที่ต่างจากคนอื่น คือสังคมไทยไม่ได้ย่ำแย่ที่ขาดความตระหนักรู้ในเรื่องความเลวทรามของนาซี เพราะเราจะเห็นคนจำนวนมากลุกขึ้นมาวิจารณ์การกระทำเหล่านั้นว่าโง่เขลาทันที แต่สังคมไทยขาดการเรียนรู้เรื่องของตนเองมากกว่า มีใครรู้บ้างว่ากองทัพญี่ปุ่นทำกิจกรรมประเภทใดในประเทศไทย? มีใครรู้บ้างว่าแถวบางกอกน้อยในอดีตมีสถานีบำเรอกามของกองทัพญี่ปุ่นที่นำเอาชาวจีนโพ้นทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นทาสกาม?
Atitheb Chaiyasitdhi
หลังข่าวการเปิดโปงว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ(NSA)สอดแนมข้อมูลของประชาชนและความลับของประเทศอื่นโดยนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน(Edward Snowden) ผู้คนต่างก็จับตามองความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการไล่ล่าอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกลาง(CIA)รายนี้ ผู้ยังคงพำนักอยู่ในสนามบินนานาชาติเชเรเมเตียโว(Sheremetyevo)ก