สภาวะคับขันของเวียดนามว่าด้วยเรื่อง "ภัยคุกคามจีน"

 

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักอย่าง Straits Times และ The Diplomat ได้ลงบทวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการลุกฮือประท้วงของชาวเวียดนามเพื่อต่อต้านพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของจีนในเขตทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะการจมเรือประมงเวียดนามของกองทัพเรือจีนและการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ทับซ้อนกับเขตอธิปไตยของเวียดนาม

สำหรับในมุมมองของผม หากเทียบเคียงกับสถิติการประท้วงที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามมักจะเข้มงวดและเฝ้าระวังกับการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน เนื่องจากเกรงว่าอาจกระทบต่อฐานอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่กระนั้น การประท้วงรอบล่าสุดที่ถูกโหมด้วยเชื้อเพลิงชาตินิยมเวียดนาม กลับสะท้อนถึงสภาวะตีบตันคลุมเครือของฐานอำนาจรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ ขณะที่รัฐบาลอาจจำเป็นต้องปล่อยให้มีการประท้วงต่อต้านพฤติกรรมจีนเพื่อรักษาเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นเร่งเร้าด้วยการแพร่กระจายของวาทกรรมชาตินิยมผ่านสื่อออนไลน์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ท หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง รัฐบาลก็ระดมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อควบคุมมิให้การประท้วงมีการกระจายตัวที่ลุกลามรุนแรงมากเกินไป จนอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลบางส่วน เช่น การปล้นทรัพย์สินและก่ออาชญากรรมของฝูงชนที่แฝงตัวมากับม็อบ หรือการพัฒนาประเด็นการประท้วงมาเป็นความไร้ประสิทธิภาพของแผงอำนาจชุดปัจจุบันในการต่อต้านภัยคุกคามจีน หรือแม้แต่ แรงสะท้อนกลับที่มาจากจีนที่อาจส่งผลให้ทางการจีนตัดสินใจกระทำการโต้กลับผ่านการกดดันทางเศรษฐกิจ การทหาร และวัฒนธรรมต่อเวียดนาม

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ คือ สภาวะจนมุมทางยุทธศาสตร์ของรัฐเวียดนามที่มิอาจระงับความเป็นใหญ่ของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้ประเพณีการทูตจีนแบบเอกภาคีนิยม (Unilateralism) ที่ถูกสนับสนุนผ่านแสนยานุภาพทางทหารและการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธจากมณฑลกวางตุ้ง กลายเป็นภัยคุกคามที่อาจคอยกดให้รัฐบาลและกองทัพเวียดนามยังมิสามารถจะยับยั้งการรุกคืบทางทหารของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับในระยะอันใกล้ การจัดสร้างระบบพันธมิตรทางทหารร่วมกับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ ก็ยังมิมีทีท่าของการก่อตัวอย่างแข็งขันในแบบที่จะช่วยให้เวียดนามสามารถต่อกรกับจีนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ฉะนั้น สภาวะคับขันทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ จึงทำให้ชนชั้นนำเวียดนามอาจมิมีเครื่องมืออะไรมากนักในการโต้กลับจีน นอกเหนือไปจากพลังชาตินิยมจากคนเวียดนามเอง

อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อเตือนใจบางอย่างสำหรับการโต้กลับของเวียดนาม ซึ่งนั่นก็คือ สายสัมพันธ์ทางอุดมการณ์และการปกครองระหว่างกลุ่มอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งก็เป็นเพียงแค่ไม่กี่รัฐในโลกที่ใช้แบบแผนการปกครองที่คล้ายคลึงกัน โดย connection ระหว่างชนชั้นนำของสองประเทศ อาจทำให้การต่อสู้กับจีนของเวียดนาม ยังมิมีการบ่มเพาะพลังที่มีน้ำหนักมากพอในการตีโต้

ส่วนในภาคประชาชน การขยายวาทกรรมที่เหมารวมทั้งการต่อต้านประเทศจีน (China) และการต่อต้านชาวจีน (Chinese) ซึ่งอาศัยอยู่ในเวียดนามมากกว่า 1 ล้านคน อาจกลายเป็นภัยอันตรายที่สามารถพัฒนาไปสู่ความหวาดระแวงเกลียดชังต่างชาติ (Xenophobia) จนยากที่จะควบคุมเยียวยา โดยปัจจุบัน ก็พบว่ามีชาวเวียดนามอยู่มิใช่น้อยที่เข้าไปหางานทำในเซี่ยงไฮ้ เสินเจิ้นและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จนอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงหากเกิดการโต้กลับของขบวนการชาตินิยมจีนที่ก็คงจะดุดันและทรงพลังอยู่มิใช่น้อย

น่าสนใจและต้องติดตามกันต่อครับ แปลกดีสำหรับประเทศที่มีรูปการปกครองที่คล้ายกัน แถมนักการเมืองก็มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่พอเกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนหรือการปะทุของเชื้อไฟชาตินิยมขึ้นมา รัฐต่างๆ เหล่านั้น จะจัดวางความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความกระอักกระอ่วนใจของประเด็นความขัดแย้ง ให้มีแบบแผนออกมาเช่นไร ซึ่งก็น่าจะเทียบเคียงได้กับข้อพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น เรื่องความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับแสนยานุภาพทางทหาร ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม โดยจากการพูดคุยกับเพื่อนเวียดนามของผม ก็พบว่า ชาวเวียดนาม ก็มีความภูมิใจมิใช่น้อยกับความสำเร็จในการรบกับจีนผ่านสมรภูมิต่างๆ ซึ่งแม้กระทั่ง ในช่วงสงครามสั่งสอนเวียดนามของจีน ก็พบว่ากองทัพเวียดนามสามารถสร้างความสูญเสียให้กับกองทัพจีนอยู่มิใช่น้อย โดยสอดคล้องกับมุมมองของเพื่อนชาวจีนบางส่วน (ที่ผมเคยสนทนาด้วยหลายท่าน) ที่พอจะจำได้ว่าทหารเวียดนามนั้น ล้วนมีสมรรถนะการรบที่น่าประทับใจ (ทั้งสองประเทศมีหลักนิยม/Doctrine ที่จะรบผ่านการระดมพลเป็นจำนวนมากผ่านสงครามประชาชน/People Warfare) ซึ่งหากมองดูแล้ว ก็นับว่ามีความแตกต่างจากภาพของกองทัพอินเดียร่วมสมัยที่เคยพ่ายแพ้ทหารจีนอย่างย่อยยับในการยุทธ์ตรงเขตเทือกเขาหิมาลัยเมื่อช่วงสงครามเย็น

กระนั้น แม้เวียดนามจะมีประวัติศาสตร์ทางทหารที่น่าภาคภูมิใจ หากแต่เมื่อเทียบอำนาจกำลับรบกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะความแตกต่างของนาวิกนุภาพในเขตชายฝั่งและการติดตั้งฐานยิงจรวดที่มีวิถีการยิงที่ไกลพอที่จะทำลายเมืองยุทธศาสตร์ของคู่ปรปักษ์ ก็คงพอคาดการณ์ได้ว่าดุลกำลังรบที่เหนือกว่าของจีน คือปัจจัยที่ทำให้เวียดนามจะต้องเร่งอุดช่องว่างทางทหารให้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะจนมุมที่เลวร้ายไปมากกว่านี้


ดุลยภาค ปรีชารัชช