แกนหัวใจประวัติศาสตร์ ‘จีนแท้’ ปะทะ ‘ไทยแท้’ ในยุคอาณานิคม

 

การรุกคืบของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ส่งผลให้รัฐราชวงศ์ชิงและรัฐราชวงศ์จักรี ต่างสูญเสียอิทธิพลเหนือดินแดนชายขอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมิทำให้ทั้งสองรัฐตกอยู่ใต้แอกปกครองจักรวรรดินิยมแบบเต็มตัว ทว่าจุดเปลี่ยนดังกล่าว กลับสร้างผลกระทบกระเทือนต่อดุลอำนาจทางภูมิศาสตร์ของทั้งสองรัฐอย่างล้ำลึก

William A. Joseph นักรัฐศาสตร์ด้านจีนศึกษา จาก Harvard University ได้จำแนกขั้วภูมิศาสตร์จีนออกเป็นสองแกนหลัก ได้แก่
1. "เขตจีนแท้ หรือ จีนใน" (China Proper/Inner China) ซึ่งครอบคลุมแผ่นดินของชนเผ่าฮั่นที่ทอดตัวยาวในแนวดิ่งตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำฮวงโห แยงซีเกียง จนถึงเขตชายฝั่งทะเลจีนใต้ และ
2. "เขตจีนขอบ หรือ จีนนอก" (China Periphery/Outer China) ซึ่งรวมดินแดนพหุชาติพันธุ์อย่างทิเบต ซินเกียง และบางส่วนของมองโกเลีย

จากกรอบจำแนกของ Joseph จะเห็นว่า แดนอิทธิพลชายขอบของราชวงศ์ชิงกลับถูกกวาดไล่ตัดสะบั้นโดยมหาอำนาจต่างชาติ ทั้งการเสียอธิปไตยในมองโกเลียให้กับรัสเซีย และการสูญอำนาจเหนือรัฐหิมาลัยให้กับอังกฤษ ขณะที่ดินแดนจีนแท้ กลับถูกไล่บี้กินรวบทั้งแนวแม่น้ำแยงซีเกียงและเขตกวางตุ้ง ซึ่งถูกปันไปให้อังกฤษ โดยเฉพาะเมืองท่าเซี่ยงไห้และฮ่องกง ส่วนเกาะไหหลำและไต้หวัน ต่างโดนรวบด้วยอิทธิพลของฝรั่งเศสและญี่ปุ่น จนมีเพียงแค่เขตลุ่มแม่น้ำฮวงโห อันเป็นแกนหัวใจประวัติศาสตร์คลาสสิกของพวกจีนแท้ ที่ยังคงสภาวะเสถียรโดยปราศจากการถูกคุกคามจากพวกอาณานิคม ยกเว้นแต่อิทธิพลจากพวกเยอรมันในเขตปลายน้ำชายทะเล

ส่วนทางฝั่งสยามนั้น อาจพบชะตากรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันระหว่างจักรีกับแมนจู โดยการผนวกดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสและการปกครองอดีตอาณาจักรคองบองและคาบสมุทรมลายูของอังกฤษ ได้ทำให้อิทธิพลของสองมหาอำนาจฝรั่ง รุกคืบเข้าไปในแผ่นดินอีสาน ล้านนาและหัวเมืองปักษ์ใต้ของรัฐราชวงศ์จักรี จนดูเหมือนว่า มีแต่ประเทศไทยแท้แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-แม่กลอง-บางปะกง เท่านั้น ที่ยังคงสภาวะเสถียรในฐานะแกนประเพณีทางภูมิประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผลต่อการประกันเขตวงอำนาจระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสผ่านทฤษฏีรัฐกันชน (Buffer State)

จากบทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ อาจสรุปว่า มรดกเชิงภูมิกายา ล้วนมีผลกระทบต่อกระบวนการควบรวมดินแดนของรัฐสมัยใหม่ รวมถึงการสร้างรัฐสร้างชาติที่เกิดจากการผลักไสพลังอาณานิคมต่างชาติออกจากปลายแดนประวัติศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์และประเพณี

โดยสำหรับรัฐจีนนั้น การรวมชาติเพื่อถีบทะยานเข้าสู่สถานะมหาอำนาจทางการเมืองโลก ยังเผชิญกับอุปสรรคขัดขวางว่าด้วยสภาวะย้อนแย้งทางภูมิประวัติศาสตร์ระหว่างดินแดนจีนแท้กับจีนนอก ส่วนกรณีของรัฐไทย การปั้นรัฐเดี่ยวแบบรวมศูนย์ใต้การนำของดินแดนไทยแท้ อาจมีนัยสำคัญต่อการบูรณการสังคมและการสร้างเอกภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช