Skip to main content

 

คลองแสนแสบ ที่คนกรุงเทพอาจคุ้นเคยกันดีในฐานะเส้นทางสัญจรทางน้ำที่เต็มไปด้วยมลภาวะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ แท้จริงแล้ว คือ คลองยุทธศาสตร์ที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง โดยมีเป้าหมายหลักในการลำเลียงยุทธปัจจัยเพื่อใช้ในศึกอานามสยามยุทธซึ่งเป็นราชการสงครามครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างสยามกับญวน ที่ใช้เวลากันรบนานกว่า 14 ปี บนแผ่นดินกัมพูชาและบางส่วนของเวียดนามใต้ในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนที่จะมีการขุดคลองแสนแสบ อาจตัดแบ่งเส้นทางเดินทัพทางบกระหว่างสยามกับกัมพูชาออกเป็น 3 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางเมืองพิมาย-พระนครศรียโศธรปุระ (นครวัด-นครธม) เส้นทางเมืองจันทบุรี-เมืองโพธิสัตว์ และเส้นทางเมืองปราจีนบุรี-เมืองพระตะบอง ซึ่งมีปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา

สำหรับในศึกอานามสยามยุทธ เจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพใหญ่สยามได้ใช้เส้นทางสายปราจีนบุรี-พระตะบอง โดยเคลื่อนผ่านคลองสำโรง และเมืองฉะเชิงเทรา จากนั้นจึงเดินบกไปที่กบินทร์บุรีและปราจีนบุรี เพื่อเข้าสู่ที่ราบพระตะบอง

หากแต่เส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพ ไปยังหัวเมืองบูรพานั้น มักประสบความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์และกองทหาร อันเป็นผลจากขาดระบบคลองแนวขวางที่เชื่อมทแยงเป็นเส้นตรงจากเขตลุ่มเจ้าพระยาไปสู่ลุ่มบางปะกง จึงทำให้การเดินทัพขาดความรวดเร็วต่อเนื่อง เพราะต้องหยุดกำลังพลเพื่อข้ามคลองที่ตัดกั้นตามแนวดิ่งอยู่เป็นระยะ

จากข้อจำกัดด้านการเคลื่อนทัพ การขุดคลองแสนแสบจึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุงของกองทัพสยาม ที่จำเป็นต้องเข้าไปรบแบบยืดเยื้อบนแผ่นดินกัมพูชา ฉะนั้น แรงหนุนจากการลำเลียงยุทธปัจจัยที่รวดเร็วจึงอาจช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางการยุทธ์

ในการขุดคลองแสนแสบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดีเป็นแม่กอง โดยจ้างกุลีจีนขุดแนวคลองตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงบางขนากในเขตฉะเชิงเทรา (หากแต่ก็มีแรงงานชาวลาวและแขกมลายูบางส่วนเข้าร่วม) โดยตัวคลองมีความกว้างราว 6 วา และวัดระยะทางได้ราว 1337 เส้น 19 วา 2 ศอก

จนเมื่อขุดคลองสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเดินเรือลัดแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำบางปะกงได้สะดวกขึ้น เพราะจากเขตกรุงเทพ จะสามารถล่องเรือลัดจากคลองรอบพระนครออกคลองมหานาคเข้าสู่คลองบางกะปิไปจนถึงหัวหมาก โดยไม่ต้องอ้อมเข้าคลองสำโรงดังแต่ก่อน ซึ่งทำให้การขนส่งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

ส่วนผลกระทบจากการขุดคลอง ศานติ ภักดีคำ นักวิชาการด้านกัมพูชาศึกษา ได้อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตั้งเมืองขึ้นเป็นระยะเพื่อใช้เป็นสถานีประชุมพล จุดพักเสบียงและคลังอาวุธ โดยแม้เมืองเหล่านี้จะอยู่พ้นจากแนวคลองแสนแสบออกไป หากแต่คลองยุทธศาสตร์แห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นจุดเติมพลังเพื่อให้กองทัพสยามสามารถเคลื่อนย้ายบ่มเพาะกำลังได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้การเดินทัพไปสู่หัวเมืองบูรพาตอนใน มีความสะดวกโยธินยิ่งขึ้น

สำหรับการถือกำเนิดของบรรดาหัวเมืองยุทธศาสตร์ตามเส้นทางเดินทัพจากปราจีนบุรีสู่พระตะบอง พบเห็นการตั้งเมืองออกเป็น 6 เขตหลัก ดังนี้

1. เมืองประจันตคาม เดิมคือบ้านกบแจะ ขึ้นต่อเมืองปราจีนบุรี
2. เมืองกบินทร์บุรี เดิมคือด่านหนุมาน ขึ้นต่อเมืองปราจีนบุรี
3. เมืองวัฒนานคร เดิมคือบ้านทุ่งแขยก ขึ้นต่อเมืองปราจีนบุรี
4. เมืองอรัญประเทศ เดิมคือบ้านหินแร่ ขึ้นต่อเมืองปราจีนบุรี
5. เมืองศรีโสภณ เดิมคือบ้านท่าสวาย ขึ้นต่อเมืองพระตะบอง
6. เมืองพนัสนิคม ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่เกิดจากการปันเขตระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา

จากประวัติศาสตร์สงคราม คลองแสนแสบได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้แรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ของอานามสยามยุทธ กระนั้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง คลองแห่งนี้ได้แปลงสภาพเป็นเส้นทางคมนาคมการค้าระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองด้านตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี ซึ่งแม้ว่าคลองแสนแสบจะตื้นเขินลงบางช่วงและทำให้มีการขุดคลองนครเนื่องเขตในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หากแต่คลองแสนแสบก็ยังคงมีความสำคัญในการขนส่งสินค้าเกษตรจากหัวเมืองบูรพาเข้ามายังกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง

จนเมื่อการขนส่งทางรถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่การคมนาคมทางน้ำ คลองแสนแสบจึงลดความสำคัญลงไป หากแต่ ก็ยังพบเห็นการเดินเรือผ่านคลองแสนแสบเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจรรถยนต์ที่ติดขัดแออัดระหว่างเขตบางกะปิกับย่านประตูน้ำ ขณะที่ ชุมชนชายคลองแถบมีนบุรี หนองจอก จนไปถึงย่านบางขนากแถบฉะเชิงเทรา ซึ่งเต็มไปด้วยร่องสวนและตลาดเก่าแก่ กลับพบเห็นการรื้อฟื้นชุมชนตลาดริมน้ำ เช่น ตลาดขวัญเรียม เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ส่วนในมิติอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คลองแสนแสบ คือ ต้นรากสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์โดยตรงกับอานามสยามยุทธ รวมถึงเต็มไปด้วยย่านการค้าริมน้ำและความหลากหลายทางชาติพันธุ์วัฒนธรรม เช่น ชุมชนชาวจีน ชาวลาว หรือ ชาวมลายู ที่ถูกเกณฑ์มาขุดคลองตามย่านต่างๆ

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า คลองแสนแสบ คือ ย่านภูมิศาสตร์ที่มีนัยสำคัญต่อเสาหลักอาเซียนสามมิติ ทั้งในแง่ของการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจการค้า และสังคมวัฒนธรรม


ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค