Skip to main content

 

การประดิษฐ์แผนที่อาจเกิดจากหลายเหตุปัจจัย หนึ่งในนั้น คือ การแสดงชีวประวัติชาติ (National Biography) บนรากฐานของความภาคภูมิใจในอดีตอันรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิ/อาณาจักรโบราณ พร้อมกันนั้น แผนที่อาจกลายสภาพเป็นหมุดหมายสำคัญในการรวมชาติและสร้างรัฐรวมศูนย์ ตลอดจนอาจถูกใช้เป็นกรอบโครงกำหนดปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ตัวอย่างเด่นชัด คือ กระบวนการสร้างรัฐชาติอุษาคเนย์ผ่านนวัตกรรมตีพิมพ์แผนที่ ซึ่งมักถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชาภูมิศาสตร์/ประวัติศาสตร์/สังคมศึกษาในระดับประถมและมัธยม อาทิ

1. แผนที่ประเทศพม่าในสมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งราชวงศ์พุกาม (ร่างโดย หม่อง ทิน อ่อง นักประวัติศาสตร์สกุลราชาชาตินิยม) ที่เผยให้เห็นถึงกลยุทธ์การนำเขตแดนรัฐชาติสมัยใหม่เข้าครอบทับขอบขัณฑสีมาเดิมของอาณาจักรจารีตโบราณ จนทำให้มีเยาวชนพม่าจำนวนมิน้อย ที่เข้าใจว่ารัฐพม่ามีอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลที่โบกสะบัดแผ่ทับเหนือรัฐสมัยใหม่อื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์

2. แผนที่ประเทศไทยในตำราวิชาภูมิศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย ที่แสดงความยิ่งใหญ่ของรัฐไทยใต้ราชวงศ์จักรีในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่มีพลังอำนาจครอบคลุมขอบขัณฑสีมาประเทศราชอื่นๆ ทั้งแผ่นดินของชนชาติมอญ-ลาว-เขมร และมลายู

3. แผนที่อาณาจักรล้านช้างในรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (ร่วมสมัยใกล้เคียงกับพระรามาธิบดีอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งสะท้อนวงปริมณฑลอำนาจกษัตริย์ลาวที่แตะคลุมแผ่นดินทั้งหมดของที่ราบสูงโคราชโดยมีแนวดงพญาเย็นและพนมดงรักเป็นขอบอาณาเขต พร้อมมีสายภูอันนัมเป็นเส้นกั้นต่อแดนเวียด และ

4. แผนที่ชาตินิยมกัมพูชา ทั้งในยุคก่อนหรือยุคพระนครที่มักสำแดงวงอำนาจอันกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวรรดิเขมร ซึ่งมักแผ่คลุมกลุ่มบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง โดยอาจวัดได้จากการปรากฏตัวของอิทธิพลศาสนาฮินดู เช่น ปราสาทหิน และบรรดาเทวสถานแห่งราชมรรคา

แผนที่ทั้งสี่ฉบับ ได้แสดงความละม้ายคล้ายคลึงกันของธรรมเนียมการประดิษฐ์แผนที่ผ่านตำราเรียน โดยเฉพาะ การปลุกเร้าลัทธิราชาชาตินิยมผ่านการสร้างความอลังการทางประวัติศาสตร์ โดยเอาเส้นเขตแดนที่เป็นนวัตกรรมการจัดระเบียบภูมิรัฐศาสตร์สมัยใหม่ที่เข้ามาในอุษาคเนย์ราวยุคอาณานิคม เข้าไปสวมทับขอบขัณฑสีมาเดิมของจักรวรรดิ/อาณาจักรโบราณยุคก่อนอาณานิคม (ที่มักสถาปนาอำนาจแบบหลวมๆ เหนือหัวเมืองประเทศราช มากกว่าจะผนวกดินแดนแบบเข้มข้นตามหลักอธิปไตยรัฐสมัยใหม่)

กระนั้น จุดต่างอาจมีปรากฏให้เห็นอยู่บ้างในบางลักษณะ โดยเฉพาะในเรื่องขอบเขตความยิ่งใหญ่แห่งรัฐ ซึ่งคงเป็นธรรมดาที่ผู้พบเห็นทั่วไปอาจนึกสนุกอยากเปรียบเทียบเล่นๆ ว่า รัฐอุษาคเนย์รัฐใดจะมีพลังอำนาจมากกว่ากัน ซึ่งแม้วงราชันของแผนที่ทั้งสี่ฉบับอาจแสดงยุคเวลาประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน หากแต่ก็พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า แผนที่รัฐพม่าสมัยต้นพุกามมีขีดพลังที่แผ่กว้างยาวเหยียดเหนือรัฐอื่นๆ มากที่สุด ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตประเทศไทยทั้งหมด พร้อมแผ่คลุมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์และบางส่วนของกัมพูชา/เวียดนาม

ขณะที่แผนที่รัฐไทยสมัยต้นกรุงเทพและรัฐเขมรยุคพระนคร จัดว่ามีขนาดใหญ่รองลงมาซึ่งนอกจากจะแผ่คลุมแดนแกนทางประวัติศาสตร์ (Historical Core) เช่น ลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มโตเลสาบ ชีวภาพของแผนที่ยังมีอัตราจังหวะก้าวเดินที่แผ่ขยายไปถึงรัฐริมขอบอื่นๆ ในเขตอุษาคเนย์ เช่น หัวเมืองชายทะเลมอญและแหลมมลายู ส่วนแผนที่รัฐลาวสมัยเจ้าฟ้างุ้มนั้น แม้จะมีขนาดย่อมลงมาหน่อย หากแต่ก็สะท้อนจุดเด่นล้านช้างในฐานะรัฐหัวใจพื้นทวีปที่มีกำลังอาณัติเหนือรัฐล้านนา รัฐอีสาน และ รัฐเขมรบางส่วน


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค