"อาสาสมัคร" ผู้ "ออกนอกลู่นอกทาง"

 

เป็นเวลาสองปีเต็มพอดี นับตั้งแต่วันที่ผมเป็นเด็กจบใหม่ที่มองหางาน แล้วเดินหลงเข้ามาในแวดวงการทำงานที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไม่ค่อยมีใครยอมรับ ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ ภายใต้ชื่อยาวๆ ที่ไม่ค่อยสื่อความหมาย อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 

ใน วัยหนุ่มสาวที่มีไฟฝันของผม ยุคสมัยหนึ่งที่ยังเป็นนักศึกษา ผมเคยออกแสวงหาเส้นทางการทำเพื่อสังคม และไปลงที่กิจกรรมงานอาสาสมัคร ประเภทที่ในที่นี้ขอเรียกว่า “งานอาสาสมัครแท้ๆ” อยู่ 2-3 ปี งานที่ทำก็เช่น ค่ายอาสาพัฒนชนบท ทาสีโรงเรียน ทำกิจกรรมกับเด็กๆ สอนหนังสือเด็กในชุมชน อ่านหนังสือให้คนตาบอด เข็นรถให้คนพิการ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นงานเล็กๆ ทำแล้วเสร็จสำเร็จในตัวของมัน ผมและเพื่อนทุกคนต่างก็ทำไปด้วยใจแท้ๆ ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีค่ารถ สมัครใจไปทำเพราะอยากให้อะไรกับสังคม เป็นกิจกรรมแนวที่คนในสังคมเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นงานเสียสละ บางคนเรียกมันว่า “งานจิตอาสา” ผมเองเรียกมันว่า “งานอาสาสมัคร” 

ช่วง ที่คลุกอยู่ในวงการนั้นเอง ก็ได้เห็นผู้ใหญ่ในวงการหลายคนพยายามจะนิยามว่า “อาสาสมัคร” มีความหมายว่าอะไร ซึ่งก็แตกต่างกันไป มีทั้งเรื่องของ งานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เรื่องของสังคมส่วนรวม เรื่องของการลงมือทำเอง แต่ทั้งหมดที่ตรงกันมีอยู่หนึ่งอย่าง คือ เป็นงานที่ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน แม้ว่าผมจะค่อนข้างเบื่อหน่ายกับการพยายามกำหนดนิยามความหมาย แต่ผมก็เห็นตรงตามนั้น และออกจะรู้สึกหวงแหนคำๆ นี้อยู่พอสมควร

และนั่นเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่พาผมเดินพลัดหลง มายัง “มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม” (มอส.) กับการสมัครงานภายใต้ไอ้ชื่อยาวๆ นั่น ทั้งที่วันเวลานั้นผมไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับมันเลย

แรก เริ่มเดิมผมทีก็ตั้งคำถามกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติภายใต้ชื่อ “อาสาสมัคร” เพราะมันไม่ได้ใกล้เคียงกับงานอาสาสมัครแท้ๆ ที่เคยรู้จักสักเท่าไร แถมเป็นงานที่ได้ค่าตอบแทนประจำรายเดือน 7,000 บาท บางคนที่มาทำก็ทำในฐานะที่เป็นงานประจำ หารายได้เลี้ยงปากท้อง

ใน วาระปฐมนิเทศก่อนเริ่มทำงาน ผมตัดสินตั้งคำถามใส่เจ้าหน้าที่ของมอส.คนหนึ่ง ว่าเหตุใดจึงใช้คำว่า “อาสาสมัคร” กับงานที่มีค่าตอบแทนได้ คำตอบที่ได้ก็ประมาณว่า เรามาเพื่อเรียนรู้ ส่วนเงิน 7,000 นั้นก็คือให้น้อยที่สุดแล้ว ไม่ถือเป็นค่าตอบแทนแต่เรียกว่า “ค่ายังชีพ” ซึ่งเหตุผลชุดนี้ก็ยังไม่พอปิดข้อสงสัยผมได้เท่าใดนัก

 

เพียง แค่เวลาสี่เดือน เมื่อผมกับเพื่อนๆ ร่วมรุ่นได้มานั่งพูดคุยกันถึงงานที่ทำกับความรู้สึกต่อมัน เพื่อนคนหนึ่งทำงานปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ คนพม่าหนีตายเข้ามาเอาตัวรอดในประเทศไทย แต่กลับถูกนายจ้างทำร้าย กดขี่ค่าแรง คงมีคนบางคนเท่านั้นที่เข้าใจ เพื่อนเล่าให้ฟังว่าออฟฟิศอยู่ใกล้ชายแดน ได้ยินเสียงปืน เห็นคนพม่าวิ่งข้ามชายแดนเข้ามาเป็นเรื่องปกติ เขายังเคยเดินข้ามแดนไปแล้วต้องวิ่งหลบระเบิดกลับมาเหมือนกัน แต่ทั้งหมดนี้เขาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและตั้งใจที่จะทำงานอยู่กับมันอย่างสนุกสนาน
 
เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ลงทำงานในพื้นที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบรัษัททุนขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านในพื้นที่ ออฟฟิศอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อสร้างความคุ้นเคยต้องหัดพูดภาษาถิ่น อยู่กินนอนกับชาวบ้าน ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ วันละ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด จะกินพิซซ่าก็ไม่ได้เพราะชาวบ้านกินข้าวเหนียว แม้แต่การจะนอนจะกินข้าวก็ล้วนเป็นงานทั้งนั้น แม้เธอจะบ่นแต่ก็ยังยิ้มไปก้มหน้าก้มตาทำไป
 
เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ ทำงานบริษัทกฎหมายเอกชนที่เงินเดือนสูงกว่ามาก่อน แต่มาเลือกทำงานประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านที่ถูกทหารจับไปซ้อมจนกระโหลกยุบสติฟั่นเฟือน สูญเสียสภาพความเป็นคน เธอเล่าให้ผมฟังด้วยอารมณ์และน้ำเสียงที่สั่นเครือ เธอปฏิญาณจะต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อหาความถูกต้องกว่านี้ให้เจอให้ได้
 
วันนั้นผมเข้าใจอะไรขึ้นมามาก
 
ในโลกนี้มีงานมากมายที่จำเป็นต้องมีใครสักคนทำ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ถ้าหากมีใครสักคนที่สมัครใจก้าวเข้าไปทำ ไม่ใช่เพราะค่าตอบแทน แต่เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะทำในฐานะมนุษย์ธรรมดา และคุณค่าของงานนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อผู้ที่มีอำนาจน้อยที่สุดในสังคม จะไม่ให้นับเขาว่าเป็นคนทำงาน “อาสา” ได้อย่างไร
 
 
ในสังคมยุคที่วันเวลาเดินทางอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนผู้คนจะมีรูปแบบความหวังในชีวิตคล้ายกันไปเสียหมด “เงิน” เป็นปัจจัยที่นอกจากจะตอบสนองความต้องการชั่วขณะได้แล้ว เงินยังซื้อความฝันของหลายคนได้ การมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีเงินเก็บพอประมาณ ได้เดินทางรอบโลก มีฐานะทางการงาน มีฐานะทางสังคม และชีวิตที่มี “ความมั่นคง” เป็นหมุดหมายที่หลายคนต้องไต่ไปให้ถึง และแทบไม่มีใครยอมปล่อยเวลาตัวเองแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อแวะเวียนออกนอกเส้นทางนั้น อย่าว่าแต่เวลาเป็นปีเลย
 
คนทำงาน “อาสาสมัครแท้ๆ” นั้น ทำงานเพื่อผู้อื่นด้วยความเสียสละ ให้ใจอาสากับมันอย่างเข้มข้นเท่าที่พลังของตัวเองจะมี เท่าที่ทำแล้วยอมรับนับถือตัวเองได้ ขณะที่ยังไม่ปล่อยมือ ทอดทิ้งทางฝันของตัวเอง ยังทำงานเก็บเงิน ไต่เต้าไปตามหา “ความมั่นคง” ให้กับชีวิตตัวเองอยู่
 
ด้วยความที่เป็นสมาชิกในสังคมเดียวกัน หมุดหมายเหล่านั้นคงไม่มีใครไม่อยากไป แต่พวกเขา – อาสาสมัครของ มอส. กลับเดิน “ออกนอกลู่นอกทาง” ของคนอื่น
 
เพราะรู้ว่าการเดินทางตรงเพียงเส้นเดียวไม่ได้ให้คำตอบที่สมบูรณ์นักกับปัญหาในสังคมไทย ชีวิตบนทางเดินที่แตกต่าง ชีวิตที่ไม่มีใครเข้าใจ ชีวิตที่ต้องต่อสู้บนความขัดแย้ง ชีวิตที่ต้องคอยตอบคำถามพ่อแม่ว่า “ทำไม?” ชีวิตที่ต้องคอยตอบคำถามตัวเองว่า “ถึงเมื่อไร?” ชีวิตที่ไม่มีเงินเก็บ ชีวิตที่สังคมไม่เคยยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี เหล่านี้เป็นชีวิตที่พวกเขากล้าเลือกกระโดดเข้าไปหามัน พวกเขาไม่ได้มอบเพียง “ใจอาสา” ให้กับงานที่ทำ แต่ได้มอบ “เวลา” ในชีวิต กับ “หมุดหมาย” ของชีวิตให้กับอะไรบางอย่างที่มากกว่าประโยชน์ของตัวเอง เพราะพวกเขาได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น
 
อาสาสมัครของ มอส. ไม่ใช่ อาสาสมัคร ในความหมายของอาสาสมัครแท้ๆ ที่สังคมเข้าใจกันอยู่เลย
พวกเขาไม่ได้เอาแรงมาให้แล้วไม่รับเงิน แต่พวกให้อย่างอื่น
ซึ่งถ้ามองในแง่การเสียสละที่มีต่อสังคม พวกเขาไปไกลกว่าคำว่า “อาสาสมัคร” แล้ว
 

 

 

 

 

*ตอบคำถามนี้ได้นานแล้ว เขียนขึ้นวันนี้(25-06-54) เนื่องในทำงานมาจะครบสองปีแล้ว และน้องรุ่น 6 กำลังจะมา เผื่อว่ามีใครตั้งคำถามคล้ายๆ กัน

ความเห็น

Submitted by Nop on

ชอบประโยค
"ให้ใจอาสากับมันอย่างเข้มข้นเท่าที่พลังของตัวเองจะมี
เท่าที่ทำแล้วยอมรับนับถือตัวเองได้"
หลายๆ สิ่งที่ "คนทำเพื่อสังคม" ทำอยู่
ถึงที่สุดเราก็ว่ามันไปเป็นเพื่อให้ยังคงยอมรับนับถือตนเองได้
เพราะ "การเดินในลู่ในทาง" มั่นคงก็จริง
แต่คนบางจำพวกละอายใจต่อตนเองเกินไปที่จะเดิน

Submitted by groomgrim on

ท่าทางคนคนนี้จะเป็นหนึ่งในคนจำพวกนั้นด้วย

 

เป็นประโยคที่แอบๆใส่ไว้ เืกือบจะตัดทิ้งแล้ว ขอบคุณที่มองเห็น

คุณ Nop นี่คือ กำลังก้าว ใช่หรือเปล่า

 

เด็กหนุ่มในอพาร์ทเม้นต์

 
ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง 

เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้น

เด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน