Skip to main content

เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมใช้บริการเรือด่วนที่แทบจะสลัดผู้โดยสารให้ตกคลองได้ทุกเมื่อ แต่ผมก็จำเส้นทางและสถานีไม่ค่อยจะได้ แถมเรือด่วนคลองแสนแสบไม่มีแผนที่ติดอยู่บนประตู ไม่มีเสียงประกาศใสๆ เหมือนรถไฟฟ้า ทำให้ผมต้องนั่งลุ้นตลอดทางว่าเมื่อไรจะถึงที่ที่ต้องลง เพราะถ้าพลาดไปแม้เพียงสถานีเดียวก็อาจจะเสียหายกับการนัดหมายได้มาก

เสียงเครื่องเรือด่วนดังกลบทุกกระแสเสียงตลอดทางของมัน ผู้คนนั่งอัดกันแน่นชนิดไหล่ชนไหล่บนม้านั่งหลายแถว หลายคนยืนอัดกันอยู่บริเวณกลางลำ พื้นที่ว่างระหว่างผืนผ้าใบสีฟ้าที่ดึงขึ้นเพื่อกันน้ำกระเด็นนั้น ไม่มีเสียงพูดคุยระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ไม่มีการสบสายตา ไร้ซึ่งสีหน้าแววตา แม้แต่พนักงานเก็บเงินก็ใส่หมวกและผ้าปิดปากไว้ พวกเค้าปฏิบัติหน้าที่เพียงรับเงินและทอนเงินอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่รับส่งการโต้ตอบหรือมอบรอยยิ้ม

ในสถานการณ์บางอย่าง คนที่ว้าเหว่ โดดเดี่ยวและกำลังรอความช่วยเหลืออยู่จะรู้ดีว่า การรอคอยเพียงสายตาที่เป็นมิตรสักคู่ และรอยยิ้มสักดวง จากฝูงชนหมู่มากแล้วต้องผิดหวัง มันเจ็บปวดขนาดไหน

 

เวลาสาย เรานัดกันใต้ตึกคณะนิติศาสตร์ ผมมาถึงที่นี่ได้เพราะเห็นคนแต่งชุดนักศึกษา 3-4 คนลุกขึ้นพร้อมๆ กันเลยเดินตามพวกเขามา ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับเพื่อนอีก 5 คน เรามา “Take Class” ซึ่งน่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า มาขโมยคาบเรียน ซึ่งเป็นคาบเรียนวิชาสิทธิมนุษยชน ของ อ.สมชาย กษิติประดิษฐ์ เพื่อเข้ามาชักชวนแลกเปลี่ยนพูดคุย เปิดมุมองเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษา ที่จะเติบโตมาเป็นความหวังของโลกใบนี้ได้ (คิดให้เว่อร์ไว้จะได้มีกำลังใจทำงาน)

วิชาสิทธิมนุษยชนเป็นวิชาบังคับเลือก แปลว่าอะไรไม่แน่ใจแต่คนที่มาเรียนบางคนก็ตั้งใจมาเพราะสนใจจริงๆ บางคนก็จำใจมาเพื่อให้จบ มีนักศึกษามาเข้าห้องเรียนวันละประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์อัตราส่วนพอๆ กัน เนื่องจากคนเยอะเกินไปที่จะแลกเปลี่ยนกันทุกคนอย่างได้อรรถรส เราจึงให้น้องๆ นักศึกษาแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ในแต่ละกลุ่มเราก็จะเอากรณีศึกษาที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาพูดคุยกัน

กลุ่มที่ผมรับผิดชอบมีนักศึกษา 19 คน ถือว่าเยอะพอสมควรสำหรับการจะสร้างบทสนทนาเพื่อเปิดมุมมองด้านสิทธิ ขณะที่กลุ่มอื่นคุยกันเรื่องคดีที่พี่เลี้ยงประจำกลุ่มถนัด เช่น คดีกะเหรี่ยงเพชรบุรีถูกเผาไล่ที่ คดีสาวประเภทสองฟ้องกระทรวงกลาโหม และคดีนักข่าวถูกข่มขู่ ผมก็เลือกเอาคดี insects in the backyard ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกสั่งห้ามฉายภายใต้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาเป็นประเด็นในการพูดคุย เพราะตัวผมเองเป็นผู้รับมอบอำนาจในคดีนี้ จึงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาชัดเจนพอที่จะสามารถนำการพูดคุยได้แล้ว

Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์อิสระไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่ๆ ที่ผู้กำกับธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ใช้เงินตัวเองในการสร้าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวที่มีพ่อเป็นกะเทย และเลี้ยงลูกวัยรุ่น 2 คนมาโดยลำพังโดยที่ลูกไม่ยอมรับในตัวพ่อ ความไม่เข้าใจในครอบครัวส่งผลให้เด็กหนีออกจากบ้าน คบแฟน และลงท้ายด้วยการขายบริการทางเพศแลกเงิน ภาพยนตร์เรื่องนี้ทุกคนยอมรับว่ามีเนื้อหาหนักแต่ก็มุ่งสื่อสารปัญหาความเป็นจริงที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งผู้กำกับตั้งใจจะถ่ายทอดปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศให้คนดูได้ตระหนัก โดยนำประสบการณ์ในชีวิตตัวเองมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบท ขณะที่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์คงจะรับไม่ได้กับฉากบางฉากจึงสั่งห้ามฉายเพราะเห็นว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี

 

ผมเริ่มต้นด้วยการให้น้องๆ นักศึกษาอ่านข่าว การสั่งแบนภาพยนตร์ที่ปริ๊นท์มาจากเว็บไซต์ คำถามแรกที่ผมโยนให้แลกเปลี่ยนกันนั้นง่าย “คิดว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?” 

เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ช่วงแรกๆ น้องๆ ก็ยังไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นเท่าไร มีน้องคนหนึ่ง ชื่อ น้องแพท เป็นเด็กผู้หญิงหน้ากลมๆ ใส่แว่นตากลมๆ ใส่กระโปรงพีชยาว แต่งตัวออกสไตล์เด็กเรียน เป็นคนที่ส่งแววตาแสดงความสนใจกลับมาที่ผม น้องแพทพยายามถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียด เหตุผลที่สั่งแบน และเนื้อหาในภาพยนตร์ ผมก็ตอบไปตามที่ทราบ ข้อมูลบางอย่างที่ผมตอบน้องไปนั้นก็ลึกกว่าที่ข้อมูลสื่อมวลชนทั่วไปเคยรายงานไว้ด้วย 

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจจะเป็นเพราะสองอย่าง หนึ่ง คือ คณะกรรมการดูภาพยนตร์แล้วไม่เข้าใจภาษาสัญญะที่แฝงอยู่ในงานศิลปะ จึงมองเห็นแต่ภาพที่ไม่อยากเห็นในโลกจริง กับ สอง คณะกรรมการเข้าใจแล้วว่าผู้กำกับต้องการสื่อสารอะไร แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นหลักที่คนสร้างอยากจะถ่ายทอดไปสู่สังคม โดยเห็นว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ผิดศีลธรรม แต่ความคิดเห็นส่วนตัวเหล่านี้ผมไม่ได้อธิบาย เพราะต้องเปิดพื้นที่ไว้ให้น้องๆ ได้คิดเอง

น้องแพทยังคงถามคำถามอีกหลายอย่าง และสุดท้ายเธอตอบคำถามผมอย่างชัดเจนว่า “ละเมิดค่ะ” เธอบอกว่าเธอไม่เข้าใจว่าทำไมคณะกรรมการซึ่งเป็นคนเพียง 7 คนถึงตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้ว่าภาพยนตร์เรื่องไหนดูได้หรือไม่ได้ ควรจะให้สังคมใช้วิจารณญาณตัดสินเองมากกว่า 

ขณะที่น้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกับน้องแพท ย้ำว่า หากกำหนดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเภทที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู หรือ ฉ 20+ คนอายุ 20 ปีซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ย่อมมีวิจารณญาณพอจะรับชมและแยกแยะได้เอง การสั่งห้ามฉายนอกจากจะละเมิดสิทธิคนทำหนังแล้วยังเป็นการดูถูกวิจารณญาณของประชาชนด้วย

ยังมีน้องผู้หญิงอีกคน ผมจำชื่อไม่ได้ ให้ความเห็นไว้อย่างฉลาดเฉลียวว่า ภาพยนตร์เรื่องเล็กๆ ที่เข้าฉายคงมีคนดูเพียงไม่กี่คน ซึ่งเป็นคนที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ หรือสนใจภาพยนตร์ประเภทนี้ และเมื่อดูแล้วภาพยนตร์เรื่องนั้นก็จะหายออกจากโรงไป ถ้าคนดูเห็นว่าไม่ดีคนก็ไม่พูดต่อ เมื่อไม่ได้รับความนิยม ก็จะไม่มีใครรู้จักไปเอง แต่หากไปสั่งห้ามฉายกลับจะทำให้คนรู้จักมากขึ้น และเมื่อคนได้ยินข่าวก็จะไปหาภาพยนตร์มาดู ทำให้มีคนดูเยอะขึ้นกว่าปกติ ขณะที่ผมเสริมไปว่า ขณะนี้ภาพยนตร์เรื่อง insects in the Backyard ยังไม่สามารถหารับชมได้ทั่วไป หรือในตลาดมืดก็ตาม เพราะคนทำหนังตกลงที่จะเคารพคำสั่งห้ามฉายเพื่อต่อสู้คดีความให้ถึงที่สุด

เมื่อความเห็นมาในทางเดียวกันทั้งหมด ผมจึงให้ทุกคนยกมือเพื่อแสดงออก “ใครเห็นว่าคำสั่งห้ามฉายนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้างครับ?” ผมเห็นเหมือนกับว่ายกมือกันครบทุกคน แต่ก็ต้องถามต่อตามหน้าที่ “แล้วมีใครเห็นว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้างครับ”

ที่มุมซ้ายมือ ด้านหลังของวงพูดคุย น้องโจ้ เด็กหนุ่มผิวคล้ำคล้ายคนใต้ หน้าตายิ้มแย้ม ใส่กางเกงขาเดฟรัดๆ และทำผมฟูๆ ทรงเดียวกับเป้ อารักษ์ สมัยดังใหม่ๆ ยกมือขึ้นคนเดียวอย่างมั่นอกมั่นใจ “เพราะว่าถ้าปล่อยให้หนังอย่างนี้ออกไป เดี๋ยวคนที่ดูหนังก็กลายเป็นเกย์กันหมด” น้องโจ้ให้เหตุผลหนักแน่น 

เมื่อมีความเห็นที่แตกต่าง ก็เริ่มสนุกแล้ว

แน่นอนว่า ถ้าผมเห็นด้วยกับน้องโจ้ผมคงไม่โดดลงมารับผิดชอบคดีนี้ และอดหลับอดนอนเตรียมเอกสารเพื่อยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย แต่ผมรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่ได้ยินความเห็นแบบนี้ในวง “ช่วยอธิบายอีกหน่อยครับ” ผมถาม “ก็ ... ผมคิดว่าสังคมต้องมีกรอบในการอยู่ร่วมกันครับ และก็ไม่น่าจะเกินกรอบนี้ได้ ไม่งั้นสังคมก็จะวุ่นวาย ไม่มีระเบียบ” น้องโจ้อธิบายต่ออย่างมั่นใจ คงเพราะคิดมาอย่างดีแล้ว แต่แสดงอาการเคอะเขินบ้างที่คิดต่างอยู่คนเดียวในที่นั้น

 

ผมชวนน้องๆ ทุกคนคุยต่อ ผมถามว่า “สำหรับคนที่คิดว่าเป็นการละเมิด เป็นการละเมิดสิทธิอะไรครับ?” น้องแพทบอกว่าสิทธิในการเรียนรู้ของคนดู ผมบอกว่าถูก แต่ยังไม่หมด น้องคนหนึ่งบอกว่าสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ผมบอกว่าถูก แต่ไม่ใช่คำตอบหลักที่ผมอยากได้ยิน ทุกคนพยายามช่วยกันเดาสิทธิต่างๆ ออกมา กระทั่งสิทธิในการประกอบอาชีพของคนทำหนัง ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีมากก็ยังมีคนตอบได้ แต่ผมผิดหวังค่อนข้างมากที่ไม่ได้ยินคำตอบที่อยากได้ยิน จนกระทั่งผมบอกว่าผมไม่มีทางยอมเฉลยเด็ดขาด จึงมีน้องคนหนึ่งเปิดหนังสือแล้วไล่อ่านสารบัญสิทธิมนุษยชนไปทุกข้อจนไปเจอคำตอบที่ผมอยากได้ยินจนได้

“เสรีภาพในการแสดงออก”

กิจกรรมวันนี้ช่วยให้ผมตระหนักได้ชัดเจนมากว่า สังคมเรายังอยู่ห่างไกลความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกขนาดไหน นักศึกษานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 19 คนในที่นั้นไม่มีใครเลยที่มองออกว่า การสร้างภาพยนตร์ในแง่หนึ่งเป็นความพยายามที่จะสื่อสารเนื้อหาที่คนสร้างคิดออกไปยังสังคม และการที่ตัวแทนของรัฐไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้นจึงสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ เป็นการปิดปากห้ามไม่ให้คนพูด ห้ามไม่ให้คนแสดงออกในสิ่งที่คิดอย่างชัดเจน เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ในนามของ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” โดยไม่ได้มองว่าเป็นการคิดเห็นเรื่องศีลธรรมอันดีที่แตกต่างกัน ซึ่งควรให้ประชาชนทุกคนร่วมกันตัดสิน

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ผมลองเปิดคำถามใหญ่ๆ ให้น้องๆ ในวงได้คิดกันเล่นๆ “ใครคิดว่าหนังโป๊ที่โป๊จริงๆ ควรถูกห้ามฉายบ้าง” มีคนยกมือหลายคน แต่ไม่ถึงครึ่ง แน่นอนว่ารวมน้องโจ้ด้วย และตามมาด้วยความคิดเห็นหลากหลาย เช่น ควรใช้การจำกัดอายุคนดูมากกว่า

ผมเสริมเป็นความรู้ให้น้องๆ อีกหน่อย ว่าทุกวันนี้กฎหมายไทยยอมรับการเซ็นเซอร์ในสามประเด็น คือ เรื่องเพศ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นคำถามต่อไป “ใครคิดว่าหนังที่มีฉากเกี่ยวกับพระประพฤติตัวไม่ดีควรถูกห้ามฉายบ้าง” มีคนยกมือประมาณครึ่งหนึ่ง พร้อมข้อถกเถียงที่น่าสนใจ เช่น ควรต้องดูหนังทั้งเรื่องให้เห็นเจตนาของฉากนั้น และคำถามสุดท้ายที่ผมกลัวแต่ก็ต้องถาม “ใครคิดว่าหนังที่มีเนื้อหาอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ควรถูกห้ามฉายบ้าง” ทุกคนยกมือ .... มีน้องแพทคนเดียวที่แม้จะยกมือ แต่ยังมีคำถามว่า วัตถุประสงค์ของคนสร้างหนังนั้นทำไปทำไม ผมตอบว่าผมไม่รู้เพราะผมก็ไม่เคยดูหนังแบบนี้

หลังจากนั้นผมยังชวนน้องๆ แลกเปลี่ยนอีกสองสามประเด็นที่ตัวเองพอรู้เรื่อง โดยให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับคดี insects in the backyard และเส้นทางการต่อสู้ในศาลปกครองด้วย  

 

ตอนท้ายเราจำเป็นต้องหาอาสาสมัครออกไปรายงานถึงประเด็นที่กลุ่มของเราคุยกันหน้าห้อง น้องแพทอาสเป็นคนรายงาน ขณะที่เธอกำลังนั่งเขียนสิ่งที่จะออกไปพูดลงบนกระดาษปรู๊ฟแผ่นใหญ่ ผมก็หาเรื่องชวนน้องๆ คนอื่นคุยต่อไปในประเด็นเดิม

ผมถามว่า “หลังจากคุยแลกเปลี่ยนกันแล้ว มีใครจะเปลี่ยนใจไหม” ไม่มีใครยกมือ ผมชวนให้น้องโจ้แลกเปลี่ยนต่อ ว่า ทำไมจึงสามารถหนักแน่นอยู่คนเดียวในสังคมได้ น้องโจ้ให้เหตุผลว่า “ผมคิดว่า ถ้าหากผู้ชายเปลี่ยนใจเป็นเกย์กันหมด เดี๋ยวต่อไปจะไม่มีใครเป็นทหารรับใช้ชาติ” น้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งค้านขึ้นมาในทันทีว่า “คนเป็นเกย์เป็นกะเทยก็แข็งแรงไม่แพ้ผู้ชาย สามารถเป็นทหารได้” น้องโจ้อธิบายต่อได้เช่นกันว่า “แต่ถ้าอีกหน่อยคนเป็นเกย์กันหมด ไม่มีใครชอบผู้หญิง มนุษย์ก็จะไม่มีใครสืบเผ่าพันธุ์ต่อ” 

หลายคนหัวเราะความคิดของน้องโจ้ น้องแพทก็หัวเราะดังด้วย แต่น้องโจ้ยังยิ้มอย่างเคอะเขิน ผมก็สบตาแล้วยิ้มให้น้องโจ้ ประหนึ่งจะบอกว่านายกล้ามากที่พูดออกมา ตอนนั้นเวลาการพูดคุยใกล้หมดลง กลุ่มอื่นก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจำเป็นต้องรวบรัดประเด็น 

ผมคิดกลับไปกลับมาแล้วผมตัดสินใจที่จะเฉลยน้องๆ ไปว่าตัวผมเองรับผิดชอบในคดี insects in the backyard โดยตรง เพราะคิดว่าน่าจะช่วยให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ผมแลกเปลี่ยนมาในวันนี้มีน้ำหนักมากขึ้น และเผื่อว่ามีน้องคนไหนสนใจเป็นพิเศษในเรื่องราวที่คุยกันมา หลังไมค์เราอาจจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนหรือต่อยอดกันได้ไกลกว่านี้ แต่เมื่อผมพูดไป แน่นอนนั่นเป็นการประกาศตัวว่าผมเองก็เลือกข้างใดข้างหนึ่งในคดีนี้ชัดเจน ซึ่งจะผลักให้น้องโจ้โดดเดี่ยวหนักเข้าไปอีก เมื่อได้รู้ว่าผู้นำการพูดคุยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขามาตั้งแต่ต้น

แม้บรรยากาศชักไม่ดี แต่ผมยังจำเป็นต้องขายประเด็นสุดท้ายเพราะคิดว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนในวง ผมบอกกับน้องโจ้โดยตรงว่า “พี่เสนอว่า กับคำถามว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ อย่างกรณีนี้ น่าจะตอบว่า เป็นการละเมิดสิทธิก่อน เพราะการห้ามฉายหนังนั้นละเมิดสิทธิแน่ๆ แต่หากน้องโจ้เห็นว่าการห้ามฉายนั้นสมควรแล้ว ก็น่าจะใช้คำว่าเป็นการจำกัดสิทธิบางอย่างที่ยอมรับได้เพราะมีเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ละเมิดเลย อันนี้เป็นเรื่องการใช้คำที่ค่อนข้างอ่อนไหว” พูดจบผมยังไม่ลืมย้ำว่า “นี่ก็เป็นแค่ความเห็นของพี่ที่อยากแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะไม่ถูกก็ได้” ผมอธิบายไปโดยที่แอบกลัวอยู่เหมือนกันว่าจะไปทำร้ายจิตใจของน้อง ซึ่งอาจจะมีพื้นฐานเรื่องการละเมิดสิทธิมาไม่มาก  

พอผมเปิดประเด็นจริงจังทำให้บรรยากาศเริ่มนิ่งงันขึ้น หลายคนเงยหน้าขึ้นมาสบตาผม ผมสบตากลับแต่ผมยังไม่กล้าสบตากับน้องโจ้เท่าไร ผมไม่มั่นใจว่าการที่พูดไปเช่นนั้นจะสร้างปมอะไรในใจให้กับเด็กนักศึกษาคนหนึ่งเมื่อกล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ผมทบทวนอย่างรวดเร็วและเชื่อว่าสิ่งที่น้องโจ้คิด น้องแพทคิด ผมคิด หรือคนอื่นๆ คิดล้วนมาจากฐานที่ต้องการหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสังคมตามความเชื่อของตนเองทั้งสิ้น ผมจึงโยนประโยคปิดของวงวันนั้นไป

“แต่พี่เชื่อว่าสิ่งที่เราคิดนั้นดีนะ ขอชมว่าดีมากที่กล้าคิด และขอให้คิดต่อไปครับ” 

 

พอผมพูดจบก็ถึงเวลาที่กลุ่มของเราจะต้องออกไปพูดหน้าห้อง น้องแพททำท่าทีเลิกลั่ก เพราะยังเขียนทุกอย่างลงไปในกระดาษไม่หมด เธอลุกขึ้นพร้อมหอบกระดาษแผ่นใหญ่สามแผ่นจะเดินออกไปหน้าห้องคนเดียว “อ้าวๆ ใครไปช่วยถือกระดาษหน่อยเร็ว” ผมพูดแซว น้องแพทหัวเราะแก้เขิน แต่เพื่อนของน้องแพทก็ยังไม่ยอมลุกมาช่วย คงเพราะไม่มีใครชอบไปยืนหน้าชั้น

และแล้วสุภาพบุรุษหลังห้อง น้องโจ้ ก็ลุกพรวดมาช่วยจับกระดาษแผ่นใหญ่คลี่ออก และก้าวออกไปหน้าห้องเคียงข้างกันพร้อมกับน้องแพท ท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับจากคนในกลุ่ม วินาทีนั้นเด็กชายหัวฟูคนหนึ่งได้ตอบคำถามที่ผู้ใหญ่ในสังคมแม่งตอบกันไม่ได้ น้องโจ้ได้แสดงให้เห็นว่า เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่คิดเห็นแตกต่าง และเราจะแสดงออกถึงการยอมรับซึ่งกันและกันได้อย่างไร

น้องแพทยังออกไปเล่าให้ทุกคนในห้องฟัง ถึงแนวคิดเรื่องมนุษย์จะสูญพันธุ์ น้องแพทเล่าแบบแกมตลก และทุกคนในห้องหัวเราะ ทำให้น้องโจ้ที่ยืนถือกระดาษแผ่นใหญ่ต้องแอบยิ้มอย่างอับอายอยู่หลังแผ่นกระดาษที่ยกขึ้นสูงเพื่อบังหน้าไว้ นอกจากความอายแล้วสิ่งสำคัญคือ น้องโจ้ยิ้ม ฟัง โดยไม่ได้ตอบโต้ ทั้งที่น้องโจ้ก็ยังคงความคิดของตัวเองเช่นเดิม

เมื่อทุกกลุ่มรายงานหน้าห้องเสร็จแล้ว อ.สมชาย จึงขึ้นกล่าวสรุปและนัดหมายสำหรับเรื่องการสอบในเทอมนี้ พวกเราสมาชิกจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มาช่วยกันเปิดบทสนทนาเรื่องสิทธิมนุษยชนในวันนี้จึงขอตัวแวบออกจากห้องไปก่อน ผมลุกขึ้นยืน หันหลังกลับไปสบตากับน้องโจ้เป็นครั้งสุดท้าย ผมยิ้มให้และยกนิ้วโป้งให้อย่างรวดเร็วแทนคำชื่นชมา น้องโจ้ยิ้มตอบพร้อมกับพยักหน้าเบาๆ แทนคำลา ก่อนที่ผมจะเปิดประตูเดินออกจากห้องเรียนห้องนั้นไปโดยไม่หันหลังกลับไปอีก เพราะเพียงแค่นี้ก็ตอบคำถามในใจได้ทุกอย่างแล้ว

 

ไม่ใช่เพียงหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่ในสังคมเรายังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่เราไม่อาจทนฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เราไม่อาจยอมรับได้ว่าความเห็นที่แตกต่างอาจเป็นความหวังดีต่อสังคมอีกแบบหนึ่ง แต่เราพร้อมจะลุกขึ้นมาฆ่ากันเพียงเพราะการพูด หรือการแสดงออกที่เราไม่เห็นด้วย 

ผมหวังเล็กๆ ว่าแบบอย่างที่ดีอย่างน้องโจ้จะช่วยให้เราเปลี่ยนความขุ่นเคืองมาเป็นรอยยิ้มที่ส่งให้กันได้บ้าง หากเราเข้าใจว่าลำพังการคิดต่างอย่างโดดเดี่ยวนั้นก็เจ็บปวดมากเพียงใดแล้ว  

 

 

 

* หมายเหตุ * เรื่องราวนี้เกิดขึ้นนานแล้ว แต่เพิ่งมาเวลาว่างๆ นั่งเขียนหลังผ่านมาหลายเดือน คำพูดและรายละเอียดอาจผิดพลาดไปบ้าง แต่ตัวละครและเรื่องราวทั้งหมดมีอยู่จริง แต่ตัวละครไม่ใช่ชื่อนี้

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
  นาทีที่ผมยืนอยู่ข้างเวที ห่างจากจุดที่แสงไฟสารพัดจะสาดส่องเป็นระยะหนึ่งก้าวเต็มๆ ผ้าม่านสีดำผืนบางๆ เท่านั้นที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างริมฝีปากของผมกับแสงไฟด้านนอก บริเวณที่ยืนอยู่นั้นปิดมืดหมด มืดสนิทจนมองไม่เห็นแม้แต่คนที่ยืนข้างๆ และความคิดความฝันของตัวเอง ระหว่
นายกรุ้มกริ่ม
  
นายกรุ้มกริ่ม
 ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้นเด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน
นายกรุ้มกริ่ม
เห็นด้วยกับไอเดียคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาวส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล 22 พฤษภาคม 2558 วันคร
นายกรุ้มกริ่ม
ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ “คฑาวุธ” มาก่อนเลย จนกระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2557  ในเช้าวันที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่กับจำนวนคนถูกเรียกและถูกจับโดยคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการยึดอำนาจท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงสุด จึงคาดหมายได้ว่าแรงต้านจากประชาชนฝ่ายป
นายกรุ้มกริ่ม
17 เมษายน 2557 เป็นวันสุดท้ายที่มีบุคคลอ้างว่าว่าพบเห็นนาย “บิลลี่” หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือบางคนนิยามว่าเขาคือ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” การหายตัวไปของคนคนหนึ่งที่ตั้งตัวเป็นฝ่
นายกรุ้มกริ่ม
ผมได้ยินชื่อลุงครั้งแรกตามสื่อ ได้อ่านเรื่องราวผ่านๆ ดูคลิปของลุง แต่ไม่ได้ตั้งใจดูนัก ผมได้ยินว่าลุงเป็นนักแปล และเป็นนักเขียนด้วย โดนคดี 112 แต่ไม่รู้ว่าลุงทำอะไร ผมได้ยินคนตั้งฉายาลุงว่า "กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ" ผม
นายกรุ้มกริ่ม
 มาเยือนเมือง “สตูล สะอาด สงบ” เป็นครั้งที่สอง หลังจากเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้วติดสอยห้อยตามเพื่อน NGO มาดูกิจกรรม “สัญญาประชาคม” ที่คนสตูลร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา แต่ครั้งนี้สดใสกว่าเดิม มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมที่อาจารย์พานักศึกษาจากม.ทักษิณ มาลง