Skip to main content

ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้

ผมรู้จักกับพี่สาวคนหนึ่ง ชื่อว่า “พี่ปุ๊” นฤมล บัวเงิน ตอนเรียนอยู่ประมาณปีสาม ที่ธรรมศาสตร์ เพราะช่วงนั้นผมและเพื่อนออกตระเวนทำกิจกรรมอาสาสมัครกับองค์กรต่างๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัยและชักชวนเพื่อนนักศึกษาออกไปเรียนรู้สังคมด้วยกัน ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเพาะรัก” ที่ตั้งขึ้นเองทำกันเองเล็กๆ เปื่อยๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความฝันกับความหวัง

ผมโทรศัพท์หาพี่สาวคนนี้ครั้งแรกสมัยที่กลุ่มยังตั้งไม่แข็งแรง เนื่องจากมีเพื่อนมาบอกว่าพี่คนหนึ่งชื่อ “พี่ปุ๊” เป็นคนพิการ ต้องการอาสาสมัครไปช่วยเข็นรถพาคนพิการออกนอกสถานที่ ผมกระโดดคว้างานชิ้นนี้ไว้โดยการโทรศัพท์ไปคุยกับเธอทันที เราคุยกันประมาณ 2 นาที ผมถามถึงลักษณะงาน เวลา สถานที่ ทันทีที่วางโทรศัพท์ผมหันมาบอกกับเพื่อนว่า “คุยไม่รู้เรื่องเลยว่ะ...”

งานครั้งแรกที่เราพบกันผมชวนเพื่อนอีกสองคนดั้นด้นไป “สวนสมเด็จย่า” ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับผมและเพื่อนที่ตั้งต้นการเดินทางจากธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถือว่าไกลมากทีเดียว เราได้แต่เงอะๆ เงิ่นๆ กับรถเข็นคนพิการอยู่ไม่กี่นาที นั่งรอเฉยๆ สามชั่วโมง แล้วก็เดินทางกลับบ้าน กิจกรรมผิดจากที่คาดการณ์ไว้พอสมควร เพราะประสานงานกันอย่างสับสน แต่ไม่มีใครหงุดหงิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อได้รู้จักกับพี่ปุ๊ในวันนั้น

พี่ปุ๊ เป็นหญิงสาวตัวเล็กๆ อายุมากกว่าผม 3-4 ปี เธอตัวเล็กเพราะเธอเป็นคนพิการทางการเจริญเติบโต ทำให้อวัยวะหลายส่วนเจริญเติบโตไม่ปกติ แขนขาลีบเล็ก มือเธอใช้การได้แต่ไม่ครบทุกนิ้วและไม่ค่อยถนัดนัก เธอเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา และต้องเป็นรถเข็นแบบพิเศษด้วยเพราะคอเธอก็ไม่ค่อยแข็งแรง หากตั้งในท่าที่ไม่มั่นคงหัวเธอจะล้มพับทำให้หายใจไม่ออก ใครเห็นต้องรีบช่วยจับยกตั้งขึ้นใหม่ และรูปปากที่มีปัญหาก็ทำให้พี่ปุ๊พูดไม่ชัด การพูดคุยทางโทรศัพท์บางครั้งจึงฟังยาก ความพิการของเธอนั้นเกิดจากโรคอย่างหนึ่ง ผมไม่รู้โรคนี้เรียกว่าอะไร แต่ผมเคยเห็นภาพเธอตอนเด็ก 5-6 ขวบ ก่อนเริ่มป่วยเธอยังแข็งแรงดี วิ่งได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ 

 

 

พี่ปุ๊อาศัยอยู่กับพ่อแม่ซึ่งเป็นคนคอยเข็นรถ ป้อนข้าว หยิบของให้ ดูแลการใช้ชีวิตประจำวันของเธออย่างใกล้ชิด และพาออกมาทำกิจกรรมต่างๆ เวลาจะโทรศัพท์พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งต้องคอยกดปุ่มแล้วยื่นโทรศัพท์ให้คุยเอง เพราะนิ้วเธอกดเองไม่ได้ พ่อกับแม่ของพี่ปุ๊เป็นคนที่น่านับถือมาก พวกเขามีหัวจิตหัวใจเข้มแข็ง ที่ยิ้มสู้อย่างกล้าหาญในวันที่รู้ว่าลูกสาวต้องพิการ ครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินพ่อพี่ปุ๊เล่าว่า “เธอเป็นลูกของผม ยังไงผมก็เลี้ยง” และผมเคยได้ยินแม่พี่ปุ๊พูดว่า “ตอนนี้ไม่กลัวอะไร กลัวอย่างเดียวว่าถ้าเราไปก่อนแล้วปุ๊จะอยู่อย่างไร”

ตอนรู้จักกันพี่ปุ๊ทำงานอยู่ที่ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระเพื่อคนพิการ หรือเรียกว่า IL นนท์ฯ เป็นองค์กรที่คนพิการทำงานเพื่อคนพิการ สนับสนุนให้คนพิการมีกำลังใจในการใช้ชีวิตและลุกขึ้นมาดำรงชีวิตได้โดยอิสระ พึ่งพิงคนอื่นให้น้อยที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นที่สุด พวกเขาจัดกิจกรรมบ่อยๆ เพื่อนัดพบปะพูดคุยกับคนพิการ หรือออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ร่วมกัน ส่วนพี่ปุ๊จะมีหน้าที่โทรศัพท์ตามพวกผมไปช่วยอำนวยความสะดวกเล็กน้อยเวลาขึ้นลงรถแท็กซี่ 

ผมและเพื่อนไปช่วยงานพี่ปุ๊รวมๆ กันแล้วสิบกว่ากิจกรรมเห็นจะได้ จะว่าไปก็เป็นงานที่เกิดประโยชน์ แต่พูดตรงๆ ว่ามันค่อนข้างน่าเบื่อ เพราะหน้าที่ของเรามีแค่ช่วยหยิบจับเล็กน้อยตอนลงรถขามา และขึ้นรถขากลับเท่านั้น ช่วงที่พี่ๆ คนพิการประชุมกันเราได้แต่นั่งรอเฉยๆ บางครั้งก็นั่งรอเป็นวันเต็มๆ บางกิจกรรมที่คนพิการจะมาปรึกษาปัญหาของคนพิการกันนั้น คนไม่พิการก็ห้ามเข้าฟัง ทุกครั้งที่ออกเดินทางไปเป็นอาสาสมัครเราจึงต้องหาอะไรติดมือไปทำฆ่าเวลาด้วย (สมัยนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟนไว้เล่นอินเทอร์เน็ตได้)

แถมด้วยการประสานงานที่ขลุกขลักทำให้หลายครั้งเราไม่ค่อยมีหน้าที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องหาวิธีการเอาตัวรอดเอง ที่สำคัญคือการประสานงานเรื่องการเดินทางมักจะมีปัญหาเสมอ ครั้งหนึ่งผมตกปากรับคำจะไปช่วยงานที่ร้านอาหาร “จวนทอง” ในช่วงเช้า (ร้านนี้อยู่ปิ่นเกล้า) และตั้งใจว่าจะกลับมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในช่วงบ่าย แต่เมื่อออกเดินทางผมก็เพิ่งรู้ว่าพี่ปุ๊หมายถึงจะให้ไปที่ ร้านจวนทอง สาขาถนนรัตนาธิเบศร ซึ่งผมไม่เคยรู้เลยว่ามีร้านจวนทองอยู่ตรงนั้นด้วย แถมวันนั้นพี่ๆ คนพิการที่มาทานข้าวและประชุมกันก็ไม่ได้จองที่นั่งเผื่ออาสาสมัครอย่างพวกเรา

อีกครั้งหนึ่งเธอบอกให้ไปพบกันที่ “พันธุ์ทิพย์” ผมก็ตกปากรับคำไปเรียบร้อย ยังดีที่คืนก่อนเดินทางผมเฉลียวใจจากบทเรียนจวนทอง จึงลองโทรศัพท์ถามเจ้าหน้าที่คนอื่นและก็ได้คำตอบว่าจริงๆ ต้องไปที่ พันธุ์ทิพย์ สาขางามวงศ์วาน เมื่อรับปากไปแล้วแม้ว่าสถานที่นัดหมายจะไกลกว่าเดิมหลายเท่ายังไงผมก็ต้องไป แต่ผมและเพื่อนก็ไม่เคยจะโกรธพี่ปุ๊ เพราะเข้าใจว่าเธอคงไม่รู้จริงๆ ว่าร้านจวนทอง กับ พันธุ์ทิพย์ ในความรับรู้ของคนอื่นอาจจะไม่ตรงกับเธอ

นอกจากการบอกสถานที่ปลายทางไม่เข้าใจแล้วนั้น พี่ปุ๊ยังมีปัญหาในการบอกเส้นทางด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่สถานที่นัดหมายทำกิจกรรมของเธอจะอยู่ในจังหวัดนนทบุรี และผมไม่ค่อยถนัดนัก ทุกครั้งที่มีการนัดหมายไปทำกิจกรรมผมก็จะต้องถามเส้นทางจากเธอ (ตอนนั้นGoogle Map ยังไม่ฮิต) แต่เธอก็ไม่เคยบอกให้ผมเข้าใจได้เลยสักที หลายครั้งที่ผมกับอาสาสมัครคนอื่นต้องหลงทาง งกๆ เงิ่นๆ กว่าจะคลำไปถึงได้ก็สายกว่ากำหนดนัด เรียกได้ว่าการประสานงานกิจกรรมกับพี่ปุ๊นั้นไม่ค่อยง่ายเท่าไร และก็มักมีเรื่องราวการหลงทางสนุกๆ ให้กลับมาเล่าสู่กันฟังเสมอ

ครั้งที่อยู่ในความทรงจำที่สุดนั้น คือ ครั้งที่พี่ปุ๊ชวนไปงานวันเกิดที่บ้านของเธอ ผมขับรถวนแถวย่านบางบัวทอง-ถนนราชพฤกษ์-สะพานพระนั่งเกล้า อยู่เกือบสามชั่วโมงท่ามกลางฝนตกหนัก สุดท้ายที่ไปถึงได้ก็เพราะจ้างมอเตอร์ไซค์นำทาง แม้วันนั้นผมอาจจะอารมณ์เสียอยู่ทีเดียว แต่ผมก็เข้าใจและไม่สามารถจะโกรธเธอได้ เพราะเธอเองคงไม่เคยขับรถหรือเดินทางด้วยตัวเอง แต่กลับต้องมารับหน้าที่ในการบอกเส้นทางให้คนอื่น

แม้จะหลงทางขนาดไหน ผมก็ยังต้องไปงานวันเกิดบ้านพี่ปุ๊ เพราะหลังจากเราทำงานด้วยกันมาสักพักเราเริ่มรู้จักกันมากกว่าคนทำงานด้วยกัน อาสาสมัครทุกคนรักและให้เกียรติพี่ปุ๊เสมอ นอกเหนือจากการรู้จักในฐานะคนทำงานแล้วพี่ปุ๊ยังเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตัว และเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตให้กับพวกเราด้วย

ชีวิตอย่างพี่ปุ๊ไม่ง่ายเลยที่จะอยู่อย่างมีความสุข แต่เท่าที่เรารู้จักพี่ปุ๊ไม่เคยแสดงความน่าสงสาร เรียกร้องความเห็นใจ หรือแบมือขอความช่วยเหลือ ทุกครั้งที่พี่ปุ๊ขออาสาสมัครไปช่วยงาน เราจะทำงานด้วยกัน พี่ปุ๊ก็ทำหน้าที่ของเธอ ขณะที่อาสาสมัครก็ได้โอกาสทำงานและเรียนรู้จากการพบปะพูดคุยกับคนพิการไปด้วย ไม่ใช่ให้เราไป “ช่วยเหลือ” เท่านั้น 

พี่ปุ๊ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอเมื่อเราพบปะกัน และยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอเมื่อพูดถึงเรื่องชีวิตของตัวเอง ครั้งหนึ่งพี่ปุ๊เล่าเรื่องทศันคติต่อความรักของเธอว่า “เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นอย่างนี้ใครจะมารักเรา เพราะฉะนั้นเราก็เลือกที่จะไม่รักใครดีกว่า” เธอพูด ตามด้วยเสียงหัวเราะเย้ยหยันอย่างเข้าใจ

ทุกครั้งที่อาสาสมัครไปร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะไปโดยติดต่อผ่านพี่ปุ๊ หรือไปโดยติดต่อผ่านคนอื่นแต่พอดีพี่ปุ๊ไปด้วย เธอจะต้อนรับอย่างดีเสมอ แม้ว่าเธอจะเดินไปไหนเองไม่ได้ แต่เธอจะคอยบอกแม่ของเธอให้มาถามว่าพวกเราได้กินข้าวหรือยัง กินน้ำหรือยัง ทำงานเหนื่อยหรือเปล่า บางครั้งที่อาสาสมัครไปกันหลายคนเธอจะขอให้ทุกคนถ่ายรูปกับเธอและอัดรูปมาให้เธอด้วย หากครั้งไหนที่การประสานงานขลุกขลักเธอจะกล่าวขอโทษอย่างออกหน้าออกตา และทุกครั้งที่จะลากลับ เธอไม่เคยลืมที่จะกล่าวขอบคุณอย่างใหญ่โตเสมอ ทั้งที่บางครั้งเราก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย ภาพและเสียงคำกล่าวขอบคุณของพี่ปุ๊ติดอยู่ในหัวสมองของผมเสมอไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานเพียงใดแล้วก็ตาม 

ครั้งหนึ่ง ด้วยไอเดียของพี่ปุ๊ เธอคนชักชวนและหยิบยืมมือของพี่คนพิการคนอื่นที่คล่องแคล่วกว่า พี่ปุ๊อัดรูปเก่าๆ ที่พวกผมไปทำกิจกรรม ช่วยเข็นรถ เขียนวันที่ เขียนคำอธิบายภาพ แปะลงบนฟิวเจอร์บอร์ดสีชมพู ตกแต่งเป็นรูปต้นไม้ และให้หัวหน้าออฟฟิศมาทำพิธีมอบให้พวกผมแทนคำขอบคุณ ฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นนั้นผมยังวางพิงไว้ที่ข้างฝาห้องนอนจนถึงทุกวันนี้

นิสัยอ่อนน้อม อ่อนโยน อ่อนหวาน มารยาทงาม ใส่ใจคนอื่นแบบเธอไม่ว่าจะอยู่ในร่างกายแบบไหนก็ย่อมทำให้คนรอบข้างสบายใจ ยิ้มออก และอยากพูดคุยด้วยเสมอ ไม่มีอาสาสมัครคนไหนที่ไม่ประทับใจในตัวพี่ปุ๊ เพราะนอกจากเธอจะทำให้ตัวเองมีคุณค่าได้แล้ว เธอยังทำให้คนอื่นรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นได้เสมอด้วย

นอกจากนิสัยน่ารักของเธอแล้ว พี่ปุ๊ยังเป็นคนมีความฝัน เธอเล่าให้ฟังว่า เธอฝันอยากเรียนให้จบชั้น ม. 6 พี่ปุ๊สมัครเรียน กศน.สำหรับคนพิการที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ด้วย และทุกช่วงสอบของเธอ ซึ่งก็เป็นช่วงสอบของผมเช่นกัน เธอมักจะโทร.มาขออาสาสมัครไปช่วยเขียนข้อสอบให้เธอในห้อง คือ เธอจะอ่านโจทย์ คิด และบอกให้อาสาสมัครเขียนคำตอบให้ เพราะบางวิชา เช่น ภาษาอังกฤษนั้นพ่อกับแม่เธอเขียนให้ไม่ได้จริงๆ 

ผมเคยหนีการอ่านหนังสือของตัวเองไปเขียนข้อสอบให้เธอหนึ่งครั้ง ตอนที่เธอจะสอบเพื่อจบ ม.3 และบังคับให้เพื่อนไปแทนอีกสองครั้ง วันนั้นเธอเล่าให้ผมฟังว่าเธอได้พยายามอ่านหนังสือขนาดไหน ทั้งที่มือเธอยกหนังสือขึ้นเองไม่ได้ ทำให้อ่านไม่ค่อยเข้าใจ และไม่ค่อยทันคนอื่น แต่เธอเองก็อยากเรียนให้จบให้ได้ ถ้าหากสอบไม่ผ่านก็จะสมัครสอบใหม่ไปเรื่อย เธอยังบอกด้วยว่าถ้าจบม.6 แล้วก็ยังอยากเรียนต่อปริญญาตรี แต่ไม่รู้ว่าที่ไหนจะรับบ้าง (วันนั้นผมเลยแอบช่วยบอกคำตอบให้ด้วย 2-3 ข้อ) 

หลังจากทำงานกันมาได้สักพัก พอให้คุ้นเคย จังหวะหนึ่งพี่ปุ๊ออกจากงานที่ IL ผมเองไม่ทราบสาเหตุ แต่นั่นทำให้ผมและเพื่อนมีกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ กลุ่มคนพิการน้อยลง พี่ปุ๊ย้ายมานั่งเปิดบู๊ทเล็กๆ ขายของที่ผลิตจากฝีมือคนพิการอยู่ที่ชั้น 1 ในห้างพันธุ์ทิพย์สาขางามวงศ์วาน 

ความทรงจำด้านสีดำๆ ของผมกับพี่ปุ๊มีอยู่บ้าง ครั้งหนึ่งพี่ปุ๊โทร.มาขอให้ผมไปช่วยงานเธอ โดยที่เธอบอกว่างานนั้นเป็นความลับจึงยังไม่บอกว่าจะให้ทำอะไร ผมเดินทางไปหาเธอที่พันธุ์ทิพย์ ซึ่งช่วงที่ยังเรียนอยู่การนั่งแท็กซี่ไปในราคาร้อยกว่าบาทนั้นกระทบกระเป๋าเงินไม่ใช่น้อย เมื่อไปถึงเธอเฉลยผมด้วยความตื่นเต้นว่าจะให้ผมช่วยไรท์ข้อมูลจากคอมฯของเธอลงซีดีให้ 1 แผ่น! แต่หลังจากผมไรท์ให้เสร็จผมยืนยันไม่เอาค่ารถ เธอเลยดึงดันจะต้องเลี้ยงข้าวผมให้ได้ เนื่องจากมื้อนั้นนั่งกินในห้างเธอเลยหมดไปร้อยกว่าบาท ผมกลับบ้านด้วยความไม่สบายใจนัก

ก่อนกลับวันนั้นเธอบอกผมว่าถ้าว่างๆ ก็อยากให้แวะมาหากันอีก เพราะเธอคิดถึงอาสาสมัคร “เพาะรัก” ทุกคน ไม่อยากให้ขาดกันไป ผมตอบรับคำทั้งที่ลังเลใจในเรื่องการเดินทาง หลังเดินออกจากพันธุ์ทิพย์ในวันนั้นแล้วผมไม่ได้กลับไปหาเธอที่นั่นอีกเลย จำไม่ได้ว่ามีโอกาสได้เจอกันในกิจกรรมอื่นๆ ด้านสิทธิคนพิการอีกหรือไม่ แต่จำได้ว่าทุกๆ สองสามเดือนเธอจะโทรศัพท์มาถามสารทุกข์สุขดิบอยู่ไม่เคยขาด และเธอจะขอให้หาเวลาแวะไปเจอะเจอกันที่พันธุ์ทิพย์เสมอ เธอยังคงโทร.ไปทักทายอาสาสมัครคนอื่นอย่างนี้เช่นกัน แต่พวกเราก็ไม่มีใครคิดแวะจะไปหาเธอ

เป็นเวลาปีกว่าเห็นจะได้ที่เราไม่ได้เจอกันเลย ผมเคยบอกตัวเองว่าเพราะมันเป็นการเดินทางฝ่ารถติดที่ไกลเกินไป สำหรับการไปเพื่อพบปะและพยายามปฏิเสธไม่ให้พี่สาวคนหนึ่งเลี้ยงข้าว กระทั่งช่วงหลังเรียนจบใหม่ๆ แม้ผมจะมีกิจกรรมให้ต้องเดินทางผ่านถนนติวานนท์ และงามวงศ์วานเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ก็ไม่มีแม้สักวันเดียวที่ผมคิดจะแวะเข้าไปทักทายเธอ ตามประสาคนรู้จักที่มีเยื่อใยต่อกัน

จนกระทั่งวันหนึ่ง พี่คนพิการที่ IL โทร.มาแจ้งข่าวร้าย ถึงการจากไปของพี่ปุ๊

พี่ปุ๊เข้านอนโรงพยาบาลหลายวัน และจากไปด้วยอาการจากโรคเดียวกับโรคที่ทำให้เธอเดินไม่ได้นั่นเอง เย็นนั้นผมกระจายข่าวร้ายไปให้อาสาสมัครที่เคยรู้จักพี่ปุ๊รับรู้ เพื่อนคนหนึ่งขอให้ผมช่วยเธอทำของไปให้พี่ปุ๊ คืนนั้นผมกลับบ้านนั่งเปิดไฟล์ภาพเก่าๆ ค้นหาภาพถ่ายที่เคยทำกิจกรรมร่วมกัน และในค่ำคืนที่หดหู่ผมก็เสียน้ำตาให้กับความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลที่ผ่านมา

วันถัดมาผมออกเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดนนทบุรีอีกครั้ง เพื่อร่วมพิธีสวดศพ ผมเข้าไปไหว้ทักทายทันทีที่เห็นหน้าแม่ของพี่ปุ๊ จากปฏิกิริยาผมคิดว่าเธอจำผมไม่ได้แล้ว เธอต้องต้อนรับแขกจำนวนมากที่เดินทางมาร่วมงาน ผมจึงไม่ได้คุยกับเธอมาก ผมเข้าไปกราบลาพี่ปุ๊พร้อมขอบคุณสำหรับทุกอย่างและอวยพรให้เธอเดินทางไปพบกับชีิวิตที่ดีกว่าชีวิตที่นี่เสมอ  แม้จะสัมผัสได้ถึงความเสียใจแต่วันนี้คงเป็นวันที่แม่ของพี่ปุ๊ปลดเปลื้องความกลัวในใจที่เธอแบกรับมายี่สิบกว่าปีได้เสียที

สำหรับผมแล้ว พี่ปุ๊เกิดมาในโลกนี้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า เธอทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของเธอคือสร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเรา เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจนั้นแล้วเธอก็จากไป โดยไม่ต้องอยู่รอให้เป็นภาระของคนอื่นต่อ

 

โดยไม่ต้องพูดแม้สักคำ ... พี่ปุ๊สอนผม

เธอสอนผมให้รู้ว่า คนพิการก็เป็นคน คิดได้ รู้สึกได้ แสดงออกได้ ผิดพลาดได้ รักได้ ฝันได้ ใช้ชีวิตอย่างมีศักด์ศรีในสังคมได้ เหมือนคนอื่นๆ 

เธอสอนผมให้รู้ว่า ชีวิตของคนมีคุณค่าเสมอ มีความหวังเสมอ เธอสอนโดยการใช้ชีวิตของเธอให้ดู แบบอย่างของพี่ปุ๊จะทำให้ชีวิตของผมไม่อาจหยุดก้าวเดินได้นานนัก ไม่ว่าจะหมดแรงกับชีวิตสักเพียงใด 

เธอสอนผมให้รู้ว่า คนอย่างผม โชคดีแค่ไหนแล้วที่เกิดมามีอวัยวะครบสมบูรณ์ กดโทรศัพท์เองได้ พูดชัด เดินได้ วิ่งได้ เข็นรถให้คนอื่นได้ และมีโอกาสเรียนจบการศึกษาได้สูงเท่าที่ยังไม่ขี้เกียจเรียน

เธอสอนให้ผมรู้ว่า การพูดจาดี ปฏิบัติตัวดี ทำสิ่งดีดีกับคนรอบตัวนั้นง่ายเพียงใด และมันสำคัญกว่ารูปร่างหน้าตาภายนอกเพียงใด

สุดท้าย เธอสอนให้ผมรู้ว่า การละเลยหรือชักช้าที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นนั้นมันผิดพลาดแล้วเจ็บปวดอย่างไร วาระสุดท้ายของพี่ปุ๊ยังช่วยสอนให้ผมหันมาให้คุณค่ากับความรู้สึกของคนรอบตัวอย่างดีที่สุดเสมอในทุกๆ วัน

 

ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า ผมช้าเกินไปอีกแล้วสำหรับการทำอะไรให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เดินผ่านเข้ามาในชีวิตของผม และเดินผ่านออกไป คงยังมีบทเรียนอีกหลายก้าวที่วันหนึ่งๆ เราเดินข้ามหัวเลยไปโดยที่ใส่ใจกับคนรอบข้างไม่พอ สำหรับก้าวต่อไปบนทางชีวิตที่เต็มไปด้วยความทรงจำกับพี่ปุ๊ ถ้าหากผมประทับเรื่องราวของเธอให้แน่นขึ้นกว่านี้ในดวงใจ ผมหวังว่าจะไม่ต้องละเลยจนช้าเกินไปสำหรับใครอีกเลย

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
  นาทีที่ผมยืนอยู่ข้างเวที ห่างจากจุดที่แสงไฟสารพัดจะสาดส่องเป็นระยะหนึ่งก้าวเต็มๆ ผ้าม่านสีดำผืนบางๆ เท่านั้นที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างริมฝีปากของผมกับแสงไฟด้านนอก บริเวณที่ยืนอยู่นั้นปิดมืดหมด มืดสนิทจนมองไม่เห็นแม้แต่คนที่ยืนข้างๆ และความคิดความฝันของตัวเอง ระหว่
นายกรุ้มกริ่ม
  
นายกรุ้มกริ่ม
 ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้นเด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน
นายกรุ้มกริ่ม
เห็นด้วยกับไอเดียคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาวส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล 22 พฤษภาคม 2558 วันคร
นายกรุ้มกริ่ม
ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ “คฑาวุธ” มาก่อนเลย จนกระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2557  ในเช้าวันที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่กับจำนวนคนถูกเรียกและถูกจับโดยคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการยึดอำนาจท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงสุด จึงคาดหมายได้ว่าแรงต้านจากประชาชนฝ่ายป
นายกรุ้มกริ่ม
17 เมษายน 2557 เป็นวันสุดท้ายที่มีบุคคลอ้างว่าว่าพบเห็นนาย “บิลลี่” หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือบางคนนิยามว่าเขาคือ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” การหายตัวไปของคนคนหนึ่งที่ตั้งตัวเป็นฝ่
นายกรุ้มกริ่ม
ผมได้ยินชื่อลุงครั้งแรกตามสื่อ ได้อ่านเรื่องราวผ่านๆ ดูคลิปของลุง แต่ไม่ได้ตั้งใจดูนัก ผมได้ยินว่าลุงเป็นนักแปล และเป็นนักเขียนด้วย โดนคดี 112 แต่ไม่รู้ว่าลุงทำอะไร ผมได้ยินคนตั้งฉายาลุงว่า "กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ" ผม
นายกรุ้มกริ่ม
 มาเยือนเมือง “สตูล สะอาด สงบ” เป็นครั้งที่สอง หลังจากเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้วติดสอยห้อยตามเพื่อน NGO มาดูกิจกรรม “สัญญาประชาคม” ที่คนสตูลร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา แต่ครั้งนี้สดใสกว่าเดิม มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมที่อาจารย์พานักศึกษาจากม.ทักษิณ มาลง