'ขุนทุนอู' และนักโทษการเมืองรัฐฉานใต้การจองจำของรัฐบาลทหารพม่า

- โดย ทีมข่าวการเมือง -

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ศาลพม่าตัดสินให้นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) มีความผิดฐานละเมิดคำสั่งกักบริเวณ กรณีนายจอห์น ยัตทอว์ ชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบเข้าไปในยังบ้านพักที่ซูจีถูกกักบริเวณอยู่

ทำให้นางออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกสั่งกักบริเวณหลายครั้งมาตั้งแต่ปี 2532 ถูกศาลสั่งขยายเวลาบริเวณกัก ออกไปอีก 18 เดือน

และไม่ได้มีเพียงนาง ออง ซาน ซูจี ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพภายใต้รัฐบาลเผด็จการเท่านั้น แต่ในสหภาพพม่ายังมีนักการเมืองชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ากว่า 2,100 คน ที่ถูกจำคุกกลายเป็นนักโทษการเมือง และหนึ่งในบรรดานักโทษการเมืองที่ถูกจองจำนั้นคือ “เจ้าขุนทุนอู”

000


แฟ้มภาพเจ้าขุนทุนอู (คนที่สองจากซ้าย) ถ่ายรูปร่วมกับนางออง ซาน ซูจี สมัยที่ทั้งสองยังมีอิสรภาพ (ที่มา: S.H.A.N.)

 

วันเกิด 66 ปี ขุนทุนอู ภายใต้การจองจำ
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ จ.เชียงใหม่ ชาวไทใหญ่หลายองค์กร รวมทั้งกลุ่มเยาวชน ร่วมกันทำบุญเนื่องในวันเกิดครบรอบ 66 ปี ให้แก่เจ้าขุนทุนอู (Khun Htun Oo) ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy - SNLD) ที่ถูกรัฐบาลพม่าจับตั้งแต่ปี 2548 ที่วัดท่ากระดาษ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

น.ส.หญิงจ๋าม คณะกรรมการเยาวชนรัฐฉาน กล่าวว่า กิจกรรมการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลนี้เพื่อให้ทั้งเจ้าขุนทุนอูและเหล่าผู้นำการเมืองที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าจับกุม รู้ว่าคนภายนอกประเทศยังนึกถึงและติดตามสถานการณ์ ในขณะเดียวกันก็อยากรณรงค์ให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวเจ้าขุนทุนอูโดยเร็ว

นายจายเล็ก โฆษกพรรค SNLD เปิดเผยว่า ตลอดวันที่ 11 ก.ย. ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานหลายเมือง นำโดยชมรมการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมวันนี้ได้มีการทำบุญที่วัด โดยมีการแผ่เมตตาและอธิษฐานให้เจ้าขุนทุนอู รวมทั้งผู้นำการเมืองคนอื่นๆ มีสุขภาพแข็งแรงและให้ได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นพร้อมกันหลายเมือง เช่น เมืองหมู่แจ้ เมืองน้ำคำ (รัฐฉานภาคเหนือ) เมืองปางโหลง (รัฐฉานภาคกลาง) และเมืองเชียงตุง (รัฐฉานภาคตะวันออก)

 

ประวัติเจ้าขุนทุนอู: จากเชื้อสายเจ้าฟ้าสี่ป้อสู่สนามการเมืองในพม่า
เจ้าขุนทุนอู เกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปี 2486 เป็นบุตรของเจ้าจ่าซอน (Sao Kya Zone) และเจ้าส่วยโยน (Sao Shwe Yon) มีเชื้อสายเจ้าฟ้าเมืองสี่ป้อ ผู้เป็นลุงของเจ้าขุนทุนอู คือ เจ้าจ่าแสง (Sao Kya Seng) เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของสี่ป้อ สำหรับเจ้าจ่าแสงนั้น ต่อมาหลังจากนายพลเนวินทำรัฐประหารในปี 2505 และกำจัดเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน เจ้าจ่าแสงก็ถูกจับที่เมืองตองจีและหายสาบสูญ โดยไม่มีใครทราบชะตากรรมเจ้าฟ้าผู้นี้อีกเลย

สำหรับบิดาของเจ้าขุนทุนอูคือเจ้าจ่าซอน ในปี 2503 เป็นเลขานุการของคณะกรรมการรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ ในปี 2503 และถูกจับเมื่อเกิดรัฐประหารโดยนายพลเนวิน โดยก่อนหน้านั้นเจ้าจ่าซอนเป็นผู้ช่วยเลขานุการของเขตปกครองรัฐฉาน

สำหรับหน้าที่การงาน เจ้าขุนทุนอูเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลประจำสำนักงานทูตทหารของอินโดนีเซียระหว่างปี 2510-2517 ปี 2518 และเป็นตัวแทนระดับท้องถิ่นด้านกิจการส่งสาสน์โพ้นทะเลของญี่ปุ่นเพื่อติดต่อทางการทูตกับพม่าระหว่างปี 2527-2548

สำหรับประวัติทางการเมืองของเจ้าขุนทุนอู หลังเหตุการณ์ 8888 ในเดือนสิงหาคมปี 1988 หรือ พ.ศ. 2531 เจ้าขุนทุนอูได้เริ่มเข้าสู่สนามการเมืองในพม่า ได้ร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาติแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของชาวไทใหญ่ และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐฉานเข้าร่วมเช่น ชาวปะโอ และชาวปะหล่อง เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการทั่วไปพรรค SNLD ในปี 2532 และต่อมาในปี 2533 ได้รับเลือกเป็นประธานพรรค SNLD ระหว่างการชุมนุมสมาชิกพรรคที่มัณฑะเลย์

 

นำพรรค SNLD ชนะทั่วรัฐฉาน เป็นอันดับสองรองออง ซาน ซูจี
ในปี 2533 นั้นเอง รัฐบาลทหารพม่ายอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในสหภาพพม่า เจ้าขุนทุนอูนำพรรค SNLD ชนะการเลือกตั้งทั่วรัฐฉานได้ ส.ส. ทั้งหมด 23 ที่นั่ง โดยเจ้าขุนทุนอูได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตสี่ป้อด้วย โดยเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงเป็นอันดับสองทั่วประเทศรองจากพรรคสันติบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจีซึ่งได้รับเลือก 392 ที่นั่ง จากทั้งหมด 492 ที่นั่งในสภา ขณะที่พรรคการเมืองที่หนุนหลังโดยทหารคือพรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party - NUP) แพ้การเลือกตั้งย่อยยับ โดยได้รับเลือก 10 ที่นั่งเท่านั้น แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ในปี 2541 เป็นเวลา 8 ปี หลังจากรัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พรรค SNLD ที่นำโดยขุนทุนอู และพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับพรรค NLD โดยร่วมกันตั้งสภาคณะกรมการผู้แทนประชาชน (Committee Representing the People’s Parliament - CRPP) ทำให้นับแต่นั้น รัฐบาลทหารพม่าจึงพยายามหาทางจัดการเจ้าขุนทุนอูและพรรคการเมืองดังกล่าว

เจ้าขุนทุนอูกระตุ้นให้รัฐบาลทหารพม่าเจรจากับนางออง ซาน ซูจีเป็นอันดับแรก เขากล่าวว่า “การเจรจาสองทางเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะมีการเจรจาสามฝ่าย เมื่อมีเงื่อนไขการปรองดองเกิดขึ้นแล้ว พวกเราก็ต้องการให้มีการเจรจาสามฝ่าย ข้าพเจ้าหวังว่าจะเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้น”

 

ปฏิเสธร่วมพม่าร่างรัฐธรรมนูญก่อนถูกกวาดจับ-ต้องโทษ 93 ปี
ในปี 2547 พรรค SNLD ที่นำโดยเจ้าขุนทุนอูได้คว่ำบาตรสมัชชาแห่งชาติที่รัฐบาลทหารพม่าตั้งขึ้นเพื่อใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ 7 ก.พ. 2548 หลังจากที่เจ้าขุนทุนอู ไปร่วมงานฉลองวันชาติรัฐฉาน (7 ก.พ. 2548) เจ้าขุนทุนอูได้ร่วมรับประทานอาหารและประชุมส่วนตัวกับคณะนักการเมืองอาวุโสชาวไทใหญ่ในเรื่องที่รัฐบาลทหารพม่ามีแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยการพบปะนี้เกิดขึ้นที่เมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉาน หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 8-9 เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าได้จับกุมขุนทุนอูและผู้นำไทใหญ่ในเมืองตองจี และย่างกุ้งรวม 30 คน และตั้งข้อหาสมคบพรรคการเมืองนอกกฎหมายและบ่อนทำลายชื่อเสียงประเทศ ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารพม่าได้ทยอยปล่อยผู้นำคนอื่นไป ซึ่งคงเหลือไว้ผู้นำคนสำคัญรวม 10 คน

โดยระหว่างการดำเนินคดี นักโทษการเมืองเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยม และไม่ได้รับอนุญาตให้ปรึกษาทนายความ โดยมีการตัดสินคดีในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น

โดยเจ้าขุนทุนอู ถูกตัดสินจำคุก 93 ปี อยู่ที่เรือนจำเมืองปูตาโอ (Putao prison) รัฐคะฉิ่น โดยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โฆษกพรรค SNLD เปิดเผยว่า เจ้าขุนทุนอู กำลังป่วยเป็นโรคหลายอย่าง ทั้งโรคขาบวม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และส่ออาการหนักขึ้นทุกขณะ เนื่องจากขาดการออกกำลังกายและการเยียวยารักษาอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับห้องคุมขังภายในเรือนจำไม่ได้รับแสงอาทิตย์และอากาศถ่ายเทที่เพียงพอ และเจ้าขุนทุนอูก็ปฏิเสธรับการตรวจรักษาจากภายนอก ขณะที่หนึ่งในสมาชิกครอบครัวของเจ้าขุนทุนอูเปิดเผยว่า ครอบครัวได้รับอนุญาตให้ไปเข้าเยี่ยมเจ้าขุนทุนอูเพียงเดือนละครั้ง และการไปเยี่ยมเพื่อนำยารักษาโรคไปให้แต่ละครั้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสถานที่คุมขังอยู่ไกลมาก (อ่านข่าวที่นี่) ล่าสุดยังมีรายงานว่าเจ้าขุนทุนอูมีอาการเส้นประสาทตึง และหูข้างหนึ่งเริ่มได้ยินไม่ชัด

เจ้าขุนทุนอู เคยกล่าวยืนยันถึงแนวทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพพม่าว่า "เป้าหมายหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คือการมีสิทธิที่เท่าเทียมและสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเองในแนวทางการเมือง รวมทั้งการปกครอง หากว่าพวกเขาได้รับสิทธิดังกล่าว ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่มีใครคิดจะแยกตัวออกจากการเป็นสหภาพ"

แฟ้มภาพ รายชื่อนักการเมืองในรัฐฉานที่ถูกตัดสินโทษอย่างหนัก (ที่มาของภาพ: จดหมายข่าวสำนักข่าว S.H.A.N. ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2548) แถวที่ 1 (จากซ้ายไปขวา) 1.เจ้าขุนทุนอู ประธานพรรค SNLD 2.จายยุ้นลวินหรือจายนุต เลขาธิการพรรค SNLD และ 3.จายละอ่อง กรรมการบริหารพรรค SNLD

แถวที่ 2 (จากซ้ายไปขวา) 4.เจ้าต่าอู กรรมการบริหารพรรค SNLD ปัจจุบันได้รับการปล่อยตัว และ 5.พล.ต.เสือแท่น ผู้นำระดับสูงกลุ่มหยุดยิง SSA/N 6.อูมิ้นต่าน โฆษกกลุ่ม NGSS

แถวที่ 3 (จากซ้ายไปขวา) 7.อูทุนโหย่ สมาชิกกลุ่ม NGSS 8.จายเมียวมินทุน สมาชิกกลุ่ม NGSS และ 9.ขุนอูจ่า พี่ชายต่างมารดาของเจ้าขุนทุนอู ซึ่งเป็นผู้ดูแลหอหลวงเจ้าฟ้าสี่ป้อ

ที่ไม่มีในภาพคือ อูหยี่โม กรรมการบริหารพรรค SNLD และอูบ๊ะติ่น สมาชิกพรรค SSNRLD ซึ่งภายหลังอูบ๊ะติ่นได้รับการปล่อยตัว

เรือนจำในภูมิภาคต่างๆ ของพม่า ซึ่งใช้คุมขังเจ้าขุนทุนอู และนักโทษการเมืองจากรัฐฉาน (ที่มา: ดัดแปลงจากเอกสารของ Shan Women Action Network)

 

เผยชื่อผู้นำการเมืองรัฐฉานที่ถูกขังลืม บางคนต้องโทษ 105 ปี!
ส่วนผู้นำการเมืองในรัฐฉานที่ถูกตัดสินคดีพร้อมกับเจ้าขุนทุนอู อีก 9 คน ประกอบด้วย 1.จายยุ้นลวิน (Sai Nyunt Lwin) หรือ จายนุต (Sai Nood) มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค SNLD ปัจจุบันอายุ 55 ปี ถูกจำคุก 85 ปี อยู่ที่เรือนจำกะเลเมี้ยว ภาคสะกาย โดยจายนุตประสบปัญหาสายตามองไม่ชัด ซึ่งได้แจ้งขอรับการวัดตัดแว่นสายตาใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ

2.จายละอ่อง (Sai Hla Aung) กรรมการบริหารพรรค SNLD ปัจจุบันอายุ 64 ปี ถูกจำคุก 79 ปี อยู่ที่เรือนจำจ๊อกผิ่ว (Kyaukphyu prison) ภาคตะนาวศรี ปัจจุบันป่วยเป็นโรคไทรอยด์ เบาหวาน และหัวใจ

3. พล.ต.เสือแท่น (Maj-Gen Hso Ten) ผู้นำระดับสูงของกองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Army North – SSA/N) ซึ่งเป็นกองกำลังหยุดยิง และประธานคณะกรรมการสันติภาพรัฐฉาน (Shan State Peace Council – SSPC) ของกลุ่มหยุดยิง ปัจจุบันอายุ 72 ปี ถูกตัดสินจำคุก 106 ปี อยู่ที่เรือนจำคำตี (Khamti prison) ภาคสะกาย สุขภาพขณะนี้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ตาเป็นต้อและใกล้มองไม่เห็น

4. อูมิ้นท์ตาน (U Myint Than) โฆษกกลุ่มคนรุ่นใหม่แห่งรัฐฉาน (New Generation – Shan State – NGSS) ถูกตัดสินจำคุก 79 ปี ที่เรือนจำซันดอเว (Sandoway prison) รัฐอาระกัน ต่อมาในวันที่ 2 พ.ค. 2549 เสียชีวิตในเรือนจำหลังถูกใช้แรงงานจนหัวใจวาย รวมอายุ 59 ปี

5. อูทุนโหย่ (U Tun Nyo) สมาชิกกลุ่ม NGSS ปัจจุบันอายุ 60 ปี ถูกตัดสินจำคุก 79 ปี อยู่ที่เรือนจำบูทิด่อง (Buthidaung Prison) รัฐอาระกัน

6. จายเมียววินทุน (Sai Myo Win Tun) สมาชิกกลุ่ม NGSS ปัจจุบันอายุ 44 ปี ถูกตัดสินจำคุก 79 ปี อยู่ที่เรือนจำมินจ่าน (Myingyan prison) เมืองมิตตีลา (Meiktila) ภาคมัณฑะเลย์

7. อูหยี่หยี่โม (U Nyi Nyi Moe) กรรมการบริหารพรรค SNLD ปัจจุบันอายุ 38 ปี ถูกตัดสินจำคุก 75 ปี อยู่ที่เรือนจำปะโคะกู่ (Pakokku prison) ภาคมะเกว

นอกจากนี้มีผู้ถูกตัดสินจำคุกแต่ต่อมาถูกปล่อยตัวได้แก่ 8. อูบ๊ะติ่น (U Ba Thin) สมาชิกพรรคสันนิบาตชนชาติเพื่อประชาธิปไตยรัฐฉาน (SSNRLD) ถูกตัดสินจำคุก 79 ปี แต่ต่อมาถูกปล่อยตัวเพราะถูกกันเป็นพยานให้รัฐ

และ 9. เจ้าต่าอู (Sao Tha Oo) เป็นกรรมการบริหารพรรค SNLD อายุ 47 ปี ถูกตัดสินจำคุก 79 ปี ปัจจุบันถูกปล่อยตัวเพราะถูกกันเป็นพยานให้รัฐ


แฟ้มภาพ เจ้าอูจ่า พี่ชายต่างมารดาเจ้าขุนทุนอู ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี (ที่มาของภาพ: S.H.A.N.)

 

พม่าจับพี่ชายต่างมารดา “เจ้าขุนทุนอู” ด้วย
นอกจากนี้ สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ยังรายงานด้วยว่า นอกจากเจ้าขุนทุนอูแล้ว เจ้าอูจ่า (Sao Oo Kya) พี่ชายต่างมารดาเจ้าขุนทุนอู อดีตผู้รักษาหอหลวงเจ้าฟ้าสี่ป้อ ที่ถูกจับกุมเมื่อ 3 ส.ค. 48 และถูกตัดสินจำคุก 13 ปี อยู่ที่เรือนจำมัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์ ข้อหาทำลายชื่อเสียงประเทศ กระทำผิดกฎหมายโรงแรมและการท่องเที่ยว และติดต่อกับชาวตะวันตก (นักท่องเที่ยว) โดยไม่ได้รับอนุญาต ได้ป่วยเป็นโรคเก๊าท์และโรครีดสีดวงทวารหนัก

 

คนใกล้ชิดเผยเจ้าขุนทุนอู-พล.ต.เสือแท่น ให้สมาชิกยืนหยัด
สำนักข่าวฉานรายงานล่าสุดด้วยว่า แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดสมาชิกพรรค SNLD เผยว่า ระหว่างที่ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษเมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าขุนทุนอู ได้รับการสอบถามจากเจ้าหน้าที่ทางการพม่าด้วยว่า หากได้รับการปล่อยตัวแล้วคิดจะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ โดยเจ้าขุนทุนอู ได้ตอบว่า ตนได้เล่นการเมืองมานานและจำเป็นต้องสานต่อ ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่สามารถโกหกได้

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการพม่าได้สอบถาม พล.ต.เสือแท่น อายุ 72 ปี ที่ถูกตัดสินจำคุก 106 ปี อยู่ที่เรือนจำคำตี ภาคสะกาย เกี่ยวกับนโยบายแปรสภาพกลุ่มหยุดยิงเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดนของรัฐบาลด้วย ซึ่ง พล.ต.เสือแท่น ได้ตอบว่า ไม่ทราบเรื่องเพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากได้อยู่ภายนอกก็อาจช่วยชี้แจงได้

ทั้งนี้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ถูกคุมขัง ทั้งเจ้าขุนทุนอู และ พล.ต.เสือแท่น ต่างได้ขอให้สมาชิกยึดมั่นอุดมการณ์ โดยขอให้ดำเนินตามแนวทางที่ตั้งไว้ พร้อมขอไม่ให้อ้างพวกตนเป็นเหตุผลนำไปสู่การอ่อนข้อต่อรัฐบาลทหารพม่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ไทใหญ่ร่วมจัดวันเกิด 66 ปี “เจ้าขุนทุนอู” ผู้นำการเมืองที่ถูกพม่าจับกุม (ที่มา: สำนักข่าว S.H.A.N.), ใน ประชาไท, 12 ก.ย. 52 http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25782

อ้างอิง

ความเห็น

Submitted by ปติ ตันขุนทด on

***การต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรภาพทางการเมือง ไม่ว่าที่ใดใด เมื่ออำนาจต่อรองน้อยผลที่สุดคือนักการเมืองผู้กล้าเหล่านั้นต้องสังเวยชีวิตในคุก หรือจากโลกนี้ไป

***ไม่ว่านักการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการในประเทศใดจะไม่ถูกทำร้ายด้วยวิธีการใดใด ต่างๆ นานา จากฝ่ายตรงข้าม ผู้ที่เป็นนักการเมืองที่อุทิศเพื่อชาติ และประชาธิปไตย ต้องเสียสละอย่างมากทุกคน

Submitted by หลานลุงสุพา on

ท่านผู้นี้เป็นหลานเจ้าฟ้าใจแสง เมื่อครั้งเจ้าฟ้าเป็นเจ้าครองนครสีป่อ ท่านทำงานหนักเพื่อพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นภายใต้รัฐบาลสาธารณรัฐพม่า ท่านไม่ยอมร่วมมือกับกลุ่มกบฎเพราะไม่ชอบใช้ความรุนแรง แต่เมื่อเนวินปฎิวัติได้จับท่านไปขังและสังหารท่านอย่างเงียบๆเนื่องจากท่านปฎิเสธที่ยอมรับรัฐบาลทหารเผด็จการ ตลอดสมัยของเนวินจวบจนถึงปัจจุบัน สีป่อ ก็กลายสภาพเป็นเมืองขึ้น ประชาชนถูกรังแกเพราะไม่ใช่พม่า เดือนร้อนมาตลอด .

Submitted by ว ณ ปากนัง on

*เผด็จการทหารใด ก็เหมือนกัน
คือยึดมั่น ในอำนาจ บาตรใหญ่
เป็นเหมือนกัน ไม่ว่า พม่าไทย
ขอแต่ให้ มีโอกาส อำนาจนำ

*เจ้าขุนทุนอู ผู้นำฉาน
ถูกทางการ จำขัง ตั้งใจย่ำ
ขังลืม..คุก เก้าสิบสามปี ที่จองจำ
ขังผู้นำ แห่งรัฐฉาน เซ่นการเมือง

*เผด็จการ ไม่ต้องการ ให้เท่าเทียม
ทั้งเหี้ยมเกรียม เหลือร้าย ได้ทุกเรื่อง
ไม่หนุนนำ ความก้าวหน้า พาแค้นเคือง
พลเมือง อดอยาก แลยากไร้

*เก่งปราบปราม พลเมือง ของตนเอง
ให้กลัวเกรง เคารพ นบนอบไหว้
ทั้งกอบโกย ช่วงชิง ทุกสิ่งไป
ไม่สนใจ ความเจริญ ของโลกา

*หากต้องการ เสมอภาค แลยุติธรรม
จะต้องทำการสู้ อยู่พร้อมหน้า
สู้กับผู้เบียดเบียน บีฑา
สู้จนสุด ชีวา กล้าสู้มัน

Submitted by เกลียดเผด็จการซ... on

ชอบการแต่งกลอนของคุณ ว ณ ปานังมากครับ
นับถือๆ
แสดงความคิดเห็นบ่อยๆนะครับ
จะคอยเป็นกำลังใจให้ครับบบบ

Submitted by WAT on

เชียงตุง นครที่รอคอยการกลับมารวมกันอีกครั้ง

เมื่อใดที่พี่น้องเราจะได้อยู่ร่วมกันอีก เมื่อใดที่เราจะเป็นปึกแผ่นอีก

Submitted by ปติ ตันขุนทด on

***นึกถึงนักการเมืองไทย เลียง ไชยกาล นักต่อสู้เลือดอิสาน เพื่อประชาธิปไตย ถูกเผานั่งยาง โดนข้อหาคอมมูนิสต์ สมัยใครไม่อยากเอ่ยชื่อ รังเกียจ

ประเทศกำลังพัฒนา
หรือด้อยพัฒนา
ลอง ๆออกกฎหมายให้ชัดเจน
ให้ยกเลิกเครื่องแบบทหาร
ให้การเบิกอาวุธสงครามทั้งหลายไม่ว่า รถถัง ปืน เครื่องบินรบ เรือรบฯลฯ
ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว

ระหว่างเป็นทหารประจำการ
ให้เบิกจักรยานประจำตำแหน่งได้เท่านั้น

ก็ให้มันรู้ไป
ว่าจะปฏิวัติด้วยจักรยาน

Submitted by ชายขอบไท on

ไปเชียงตุงปี 2010 นี้ โดนรัฐบาลทหารพม่าสั่งเก็บค่าไกด์นำเที่ยววันละ 1000 บาท ไม่เอาก็ไม่ได้ งงเต็ก....

2 คำถามเรื่องหลักการในข่าว “แดง” จับ “แดง”

กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ

M79 และผองเพื่อน: สิ่งเบี่ยงเบนข่าวสารราคาย่อมเยา

วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้

โอกาสเดียว 'ยึด' และ 'ยึดหมด' : ข่าวคดียึดทรัพย์ในสายตานักข่าวเทศ

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

(ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่เขาออกจากประเทศไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติและเกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจเขาเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เขาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งโดยไม่กลับมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทอีกคดี นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย