Skip to main content

ทีมข่าวการเมือง


พันธมิตรฯ เดินสองแนวทางทั้งการขยายพรรคการเมืองใหม่ และพื้นที่การเมืองภาคประชาชน โดยในภาพนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำ พธม.เชียงราย ร่วมพิธีตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานพรรคเชียงราย ย่านบ้านดู่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 20 ธ.ค. 52 (ที่มา: “ก.ม.ม.” ปักธงเปิดสาขาเชียงรายสำเร็จ - หางแดงรวมตัวได้แค่ 3 ป่วนไม่ขึ้น,
ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 ธ.ค. 2552)

\\/--break--\>


ขณะที่ อีกทางหนึ่งพันธมิตรฯ เดินแนวทาง “มวลชน” พยายามเปิดพื้นที่การเมืองในนามการจัดชุมนุม “คอนเสิร์ตการเมือง” ครั้งที่ 9 ที่ “จ.เชียงใหม่” ในวันที่ 16 ม.ค. ปี 53 นี้ ในภาพนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด แกนนำพันธมิตรฯ เชียงใหม่นำคณะพันธมิตรฯ ไปกราบไหว้สักการะ “ครูบาศรีวิชัย” ขอพรให้การจัดงานคอนเสิร์ตการเมือง “พันธมิตรฯ ภาคเหนือ ณ เชียงใหม่” 16 ม.ค.53 ราบรื่น (ที่มา: พธม.เชียงใหม่สักการะครูบาศรีวิชัยขอพรจัดคอนเสิร์ตการเมือง,
ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 ธ.ค. 2552)


รายการ “ก้าวที่กล้าสู่การเมืองใหม่” ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ออกอากาศเมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 19 ธ.ค. (จากซ้ายไปขวา) นายพิภพ ธงไชย 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ และที่ปรึกษาพรรคการเมืองใหม่ นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ นายธัญญา ชุนชฎาธาร อดีต 13 กบฏรัฐธรรมนูญก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และนายอำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) (ที่มา: คัดลอกจาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์, 19 ธ.ค. 52)

\\/--break--\>

 

“พรรคการเมืองใหม่” เนื้อเดียวกับ “พันธมิตรฯ”

นับตั้งแต่ 27 ธ.ค. 51 ที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต สนช. และประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 “ยุ” ให้ตั้งพรรคการเมืองระหว่างปราศรัยในงานฉลองปีใหม่ของกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี [1]  มาบัดนี้ การปราศรัยของ น.ต.ประสงค์ผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว พร้อมๆ กับที่เป็นเวลาเกือบ 7 เดือนแล้วที่มวลชนพันธมิตรฯ ลงมติร่วมกันตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” ระหว่างการชุมนุม “งานรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เมื่อ 25 พ.ค. 52 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี 


เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876, 13 มีนาคม 2552

 

คำถามที่ว่า “พรรคการเมืองใหม่” สามารถเดินตามแนวทาง “โปลิตบูโร” ตามพรรคการเมืองแบบ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ที่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” สนใจหรือไม่ ดังที่สนธิเคยเปิดเผยกับสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพันธมิตรฯ และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ดังที่ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ “สุริยะใส กตะศิลา” ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876 เดือนมีนาคม 2552 ว่า

“พี่สนธิก็เคยคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่าคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำ มีโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการนโยบายของพรรคที่อาจจะไม่ได้มามีตำแหน่งบริหาร ไม่ได้มามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าคุมยุทธศาสตร์ คุมทิศทางพรรค ซึ่งอันนี้น่าสนใจ และคงต้องดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เรายังมีเวลาศึกษาพรรคการเมืองจากหลายประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน และต้องดูบริบทสังคมไทยด้วย แบบไหนมันเข้ากับสังคมไทย” [2] 

ขอให้ดูคำตอบที่ การจัดประชุมกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อ 6 ต.ค. ที่มวลชนได้ลงมติเห็นชอบ 1,741 เสียงเห็นชอบ 0 เสียง ไม่เห็นชอบ เพื่อเลือกนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่

ขอให้ดูคำตอบที่รูปแบบของการเลือกกรรมการพรรค โดยหลังจากที่มวลชนเลือกนายสนธิ เป็นหัวพรรคแล้วนั้นได้มีการลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน

โดยกรรมการบริหารพรรค อีก 24 คนนอกจากสนธิ ลิ้มทองกุลนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 12 คนแรกมาจากการเลือกของสนธิ และอีก 12 คนหลังหรืออีกกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกพรรค [3] 

12 คนแรกที่มาจากการเลือกโดยสนธิ ประกอบไปด้วย 1.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นรองหัวหน้าพรรค 2. นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค 3.พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ เป็นเหรัญญิกพรรค 4.นายบรรจง นะแส เป็นกรรมการบริหารพรรค 5.นายประพันธ์ คูณมี เป็นกรรมการบริหารพรรค

6.นายสุทธิ อัฌชาศัย เป็นกรรมการบริหารพรรค 7.นายชาลี ลอยสูง เป็นกรรมการบริหารพรรค 8.นายชุมพล สังข์ทอง เป็นนายทะเบียนพรรค 9.นางสาวอาภารัตน์ ชาติชุติกำจร เป็นกรรมการบริหารพรรค 10.นายสำราญ รอดเพชร เป็นโฆษกพรรค 11.นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง เป็นรองเลขาธิการพรรค และ 12.นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ เป็นกรรมการบริหารพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรคอีก 12 คนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสมาชิกพรรค 2,300 คน ที่อยู่ในที่ประชุม โดยเรียงจากคะแนนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากมากที่สุดประกอบด้วย 1.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก แนวร่วมพันธมิตรฯ 2.พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล 3.นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตผู้นำแรงงาน 4.พลเอกกิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตนายทหารราชองครักษ์เวร 5.นางลักขณา ดิษยะศริน ตะเวทิกุล ผู้จัดการโรงเรียนนานาชาติดิอเมริกันสกูลออฟแบงค็อก

6.นางเสน่ห์ หงษ์ทอง ผู้ประสานงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 7.นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนนักศึกษาปี 2519 8.นายพิชิต ไชยมงคล รักษาการรองเลขาธิการพรรค 9.นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักวิชาการ นักเขียน 10.นางทัศนีย์ บุญประสิทธิ์ แกนนำพันธมิตรฯ อุบลราชธานี 11.นายสราวุธ นิยมทรัพย์ แกนนำพันธมิตรนครปฐม 12.นายรังษี ศุภชัยสาคร แกนนำเครือข่ายพันธมิตรอุดรธานี

 

ส่วนคำถามที่ว่า หลังจากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคแล้ว จะต่อสู้แต่เพียงในรัฐสภา หรือจะเดินแนวทางมวลชนต่อหรือไม่ อย่างไร

คำตอบขอให้ดูที่การปราศรัยของนายสนธิ หลังมวลชนลงมติเลือกนายสนธิเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อ 6 ต.ค. โดยตอนหนึ่งนายสนธิปราศรัยว่าพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่นั้น “เป็นเนื้อเดียวกัน”

“พี่น้องต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นเนื้อเดียวกัน ใครก็ตามที่บอกว่า เมื่อเรามีพรรคการเมืองแล้ว เราประท้วงไม่ได้นั้น เป็นคนที่ไม่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือๆ หนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นเอง

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำ เป็นต้องมีพรรคการเมืองเพื่อเป็น เครื่องมือเข้าไปต่อสู้ในระบบ แต่หากในระบบนั้นยังถูกปิดกั้นด้วยอำนาจมืด และยังถูกปิดกั้นด้วยการฉ้อฉล การซื้อสิทธิ์ขายเสียง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นภาคประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ สิทธิ์ต่อต้านอย่างสงบและอหิงสา และพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากเป็นพรรคของประชาชน ก็ต้องมีสิทธิ์เข้าร่วมสู้ด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้นจะมาพูดบอกว่า เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีพรรคการเมืองแล้ว บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นต้องสลายไป จึงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง” [4] 

เห็นได้ว่านับตั้งแต่การตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” ตลอดปีนี้ เราจะเห็นยุทธศาสตร์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ใช้แนวทางมวลชนคู่ขนานไปกับ “พรรคการเมืองใหม่”

000

 

“ประชาชน” ที่ไม่นับ “ทักษิณ” และ “เสื้อแดง”

ยุทธศาสตร์ที่สนธิ ลิ้มทองกุล เคยประกาศนี้ถูกย้ำอีกครั้งในรายการ “ก้าวที่กล้าสู่การเมืองใหม่” ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ออกอากาศเมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 19 ธ.ค.

โดยการออกอากาศในรายการวันนั้นมีนายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมรายการได้แก่ นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาพรรคการเมืองใหม่ นายธัญญา ชุนชฎาธาร อดีต 1 ใน 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และนายอำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

รายการ “ก้าวที่กล้าสู่การเมืองใหม่” ในวันนั้นพิธีกรคือสำราญ รอดเพชร ได้ถามผู้ร่วมรายการถึงความหมายขององค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน และถามถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ที่น่าสนใจก็คือ “พิภพ ธงไชย” พยายามอธิบายว่าที่ “ภาคประชาชน” ต้องเคลื่อนไหว “เพราะภาครัฐ หรือตัวระบบราชการไม่สามารถบริหารประเทศสนองความต้องการของประชาชนที่แท้จริงได้ เพราะฉะนั้นประชาชนหลายหลายส่วนถูกละเลยจากภาครัฐ และปัญหาหลายส่วนก็ถูกคุกคามจากภาครัฐ”

พิภพอธิบายส่วนประกอบของภาครัฐคือ “ข้าราชการ นักการเมือง กลุ่มทุน” ที่ “ทำงานเพื่อระบบราชการ และเพื่อกลุ่มทุน และนักการเมือง และพอนักการเมืองกับกลุ่มทุนเป็นส่วนเดียวกัน การบริหารราชการแผ่นดินก็เอื้อกับคนพวกนี้”

ในรายการพิภพอธิบายบทบาททั้งของภาคประชาชนที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไล่เรียงมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 16, 6 ต.ค. 19 จนถึง พ.ค. 35 กระทั่งถึงการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในปี 2549 และ 2551

และพิภพสรุปว่า “พันธมิตรฯ คือการรวมตัวของภาคประชาชนขนานใหญ่ทุกหมู่ทุกเหล่า”

พิภพปฏิเสธข้ออภิปรายที่ว่าพันธมิตรฯ แผ่วลงไปหลังการเคลื่อนไหวในปี 2551 เขากล่าวว่า “ขนาดย่อย” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือการเมืองภาคประชาชนทำงานอยู่ เช่น กรณีมาบตาพุดที่ ระยอง

“ถามหน่อยเหอะ ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนหรือที่เข้าไปฟ้องต่อศาล” พิภพกล่าว

นอกจากนี้พิภพ ยังแสดงความมั่นใจต่อแนวทางของพรรคการเมืองใหม่ที่เชื่อมโยงกับ “ภาคประชาชน” เขาอธิบายว่า “พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าไทยรักไทย ไม่ว่าชาติไทย ไม่เคยคิดจะเชื่อมกับการเมืองภาคประชาชน” และถ้าพรรคการเมืองใหม่ทำสำเร็จก็จะ “เป็นพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เรียกว่าการเมืองใหม่ได้”

ด้าน 1 ใน 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่าง “อ๋า” หรือ ธัญญา ชุนชฎาธาร มองว่า ปี 2552 น่าจะเป็นปีที่ประชาชนออกมามีบทบาทมาก เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจ คนว่างงาน มีปัญหาสังคม แต่การเคลื่อนไหวเรื่องปากท้องกลับลดลง เขาวิเคราะห์ว่าเพราะ “คนยังชื่อชมรัฐบาลใหม่ ให้โอกาสคุณอภิสิทธิ์ทำงาน” “เพราะว่าคนรู้สึกดีใจที่ว่ารัฐบาลสมัครออกไป รัฐบาลสมชายออกไป และฝากความหวังกับรัฐบาลใหม่อภิสิทธิ์”

ส่วน “ปัญหาหลัก” ในสายตาของ “ธัญญา” กลับเป็น “ทักษิณ” และ “คนเสื้อแดง”

“คือฝ่ายทักษิณพยายามจะกลับเข้ามามีอำนาจ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงตลอดระยะเวลาแม้กระทั่งเดือนเมษายนที่เกิดสงกรานต์เลือดขึ้นมา” นี่เป็นมุมมองของธัญญา อดีตกบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ธัญญากล่าวด้วยสำนวนซ้ายว่า “ฝ่ายเสื้อเหลืองเองก็ดูท่าที สะสมกำลัง รอคอยโอกาส และตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา” เขาถือว่าการตั้งพรรคการเมืองเป็น “การยกระดับทางความคิด” ที่ว่าการต่อสู้ต้องเดินสองขา ทั้งขาภาคประชาชน และขาทางรัฐสภา

สำหรับรายละเอียดของการอภิปรายของแกนนำพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ [5]  ที่เชื่อมั่นในแนวทางคู่ขนาน “มวลชน-รัฐสภา” มีดังต่อไปนี้

000

 

“ทำไมจึงเคลื่อนตัว เพราะภาครัฐ หรือตัวระบบราชการไม่สามารถบริหารประเทศสนองความต้องการของประชาชนที่แท้จริงได้ เพราะฉะนั้นประชาชนหลายหลายส่วนถูกละเลยจากภาครัฐ และปัญหาหลายส่วนก็ถูกคุกคามจากภาครัฐ”

“อย่าไปมองการเมืองภาคประชาชนในนามของพันธมิตรฯ อย่างเดียว ไม่ใช่ พันธมิตรฯ คือการรวมตัวของภาคประชาชนขนานใหญ่ทุกหมู่ทุกเหล่า ตอนนี้อาจจะอยู่นิ่งๆ แต่ขนาดย่อยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือการเมืองภาคประชาชนทำงานอยู่ เช่น กรณีระยอง ถามหน่อยเหอะ ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนหรือที่เข้าไปฟ้องต่อศาล แล้วเผอิญในสถานการณ์ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ที่กระบวนการยุติธรรมหรือฝ่ายตุลาการเข้ามาสนองหรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเมืองภาคประชาชน”

“ที่ผ่านมานี้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าไทยรักไทย ไม่ว่าชาติไทย ไม่เคยคิดจะเชื่อมกับการเมืองภาคประชาชน อันนี้แหละเป็นโจทย์ ถ้าสามารถทำได้สำเร็จโดยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่คำขวัญของพวกเราว่า “ทำงานเป็น” น่ะ ผมคิดว่าพลังของการเมืองภาคประชาชนและพลังของพรรคการเมืองที่เติบโตจากภาคประชาชนจะเป็นพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เรียกว่าการเมืองใหม่ได้”

พิภพ ธงไชย, 
19 ธ.ค. 52 ในรายการ “ก้าวที่กล้าสู่การเมืองใหม่” ทาง ASTV 

000

 

“ปีที่กำลังผ่านมา น่าจะเป็นปีที่ประชาชนมีบทบาทมากหน่อยหนึ่ง แต่บังเอิญเพราะว่าเรามีปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานเยอะ มีปัญหาสังคมมากขึ้น แต่กลับเป็นเรื่องแปลกที่ว่าการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะมาเรียกร้องเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องนู้นเรื่องนี้กลับลดลง เพราะอะไรผมมานั่งวิเคราะห์ดู อ๋อ คนยังชื่นชมรัฐบาลใหม่ ให้โอกาสคุณอภิสิทธิ์ทำงาน ไม่งั้นเจ๊งนะ เพราะว่าคนรู้สึกดีใจที่ว่ารัฐบาลสมัครออกไป รัฐบาลสมชายออกไป และฝากความหวังกับรัฐบาลใหม่อภิสิทธิ์”

ธัญญา ชุนชฎาธาร,
19 ธ.ค. 52 ในรายการ “ก้าวที่กล้าสู่การเมืองใหม่” ทาง ASTV 

000

 

ในรายการ “ก้าวที่กล้าสู่การเมืองใหม่” ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ออกอากาศเมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งมีนายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมรายการได้แก่ นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาพรรคการเมืองใหม่ นายธัญญา ชุนชฎาธาร อดีต 1 ใน 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และนายอำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นั้น

เริ่มต้นรายการ นายพิภพได้แจ้งผู้ชมรายการว่า ช่วงนี้ “คุณอาร์ต” พันธมิตรฯ จากชิคาโก เดินทางมาทำบุญ และให้ทุนการศึกษาเด็ก และแจกผ้าห่มที่พันธมิตรฯ ในสหรัฐอเมริกาบริจาคมาให้กับประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสาน

และนายสำราญได้ประชาสัมพันธ์ “30 ปี มูลนิธิเด็ก สมุดบันทึกนิทานมูลนิธิเด็ก 2553” ให้ผู้ชมรายการซื้อนิทานเด็ก โดยนายพิภพบอกว่าราคาเล่มละ 60 บาท โดยนายพิภพระบุว่ามีคนซื้อแล้ว 10,000 เล่ม และว่าอยากให้ซื้อให้เด็กในชนบท เด็กในชนบทต้องการนิทาน อยากให้เด็กหัดเขียนบันทึก และรับรู้เรื่องราวของสังคม นิทานฉบับนี้เด็กที่มาเล่าเรื่องถูกทิ้งในไร่อ้อย ที่กาญจนบุรี

นายสำราญ กล่าวว่าในวันที่ 20 ธ.ค. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จะเดินทางไปเปิดสาขาพรรคการเมืองใหม่ ที่บ้านดู่ หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคด้วย

ต่อมา นายพิภพ ธงชัย ตอบคำถามที่นายสำราญถามว่าองค์กรพัฒนาเอกชนกับภาคประชาชนต่างกันหรือไม่ โดยนายพิภพตอบว่า ถือว่าเป็นส่วนเดียวกัน ภาคประชาชนเป็นความหมายทั่วๆ ไปว่าจะเป็นการเคลื่อนของภาคประชาชนในรูปแบบต่างๆ

ทำไมจึงเคลื่อนตัว เพราะภาครัฐ หรือตัวระบบราชการไม่สามารถบริหารประเทศสนองความต้องการของประชาชนที่แท้จริงได้ เพราะฉะนั้นประชาชนหลายหลายส่วนถูกละเลยจากภาครัฐ และปัญหาหลายส่วนก็ถูกคุกคามจากภาครัฐ

ภาครัฐประกอบไปด้วย ข้าราชการ การเมือง กลุ่มทุน นี่คือส่วนประกอบของภาครัฐ ซึ่งเข้าไปอยู่ในนามรัฐบาล และมีความเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สุดท้ายพวกนี้ทำงานเพื่อระบบราชการ และเพื่อกลุ่มทุน และนักการเมือง และพอนักการเมืองกับกลุ่มทุนเป็นส่วนเดียวกัน การบริหารราชการแผ่นดินก็เอื้อกับคนพวกนี้ เพราะฉะนั้นการละเลยปัญหาของประชาชนโดยทั่วๆ ไม่ว่าในเมืองและชนบทจึงเกิดขึ้น

สอง การคุกคามด้วยระบบทุนและระบบเงิน และอำนาจของรัฐ เข้าไปคุกคามในหมู่ภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น กรณีสดๆ ร้อนๆ คือกรณีมาบตาพุด เห็นชัดเจนว่าภาคราชการ ภาคทุน และภาคนักการเมือง ได้ร่วมมือกันโดยบอกกับประชาชนจะนำประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ แล้วใช้ระบบเศรษฐกิจแบบยึดการส่งออก ทำอุตสาหกรรมส่งออกเป็นหลัก

แต่ผลปรากฏว่าอุตสาหกรรมส่งออกที่ส่งไป กลายเป็นสนับสนุนให้ทุนเติบโตขึ้นแต่ทำให้ประชาชนยากจนลง และทิ้งปัญหาไว้อีกเพราะเอาอุตสาหกรรมสกปรกมาจากประเทศที่เขาถูกภาคประชาชนตื่นตัวขับไล่มาแล้ว

ยกตัวอย่างกรณีมาบตาพุดเป็นอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเป็นอุตสาหกรรมสกปรกเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ถูกขับไล่มาจากญี่ปุ่น ที่เมืองชิบะ ที่นาริตะ ที่อ่าวมินามาตะ เป็นอุตสาหกรรมสกปรกแล้วทำให้ทะเลเป็นพิษ ปลาในทะเลของอ่าวที่ญี่ปุ่นเมื่อเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ไปกินก็กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะฉะนั้นเขาเลยรวมตัวขับไล่

การเมืองภาคประชาชนญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ ลักษณะคล้ายกับประเทศไทยที่นักการเมือง กลุ่มทุน นักธุรกิจ และข้าราชการร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อกลุ่มของตัว และละเลยภาคประชาชนก็เลยต้องรวมตัวกัน

 

นายสำราญ ถามว่า มีบางคนเบี่ยงเบนหรือเปล่าว่าการเมืองภาคประชาชนหรืองานเอ็นจีโอต้องออกไปเป็นสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือ จัดงานหารายได้ แต่ถ้าชุมนุมขับไล่ กู้ร้องก้องตะโกนบนท้องถนนนี่ไม่ใช่ภาคประชาชน อันนี้เข้าใจผิดหรือเปล่า

นายพิภพ ตอบว่า เป็นการเข้าใจผิด คือภาคประชาชนทำทั้งเรื่องประเด็นร้อนและประเด็นเย็น ประเด็นเย็นไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์อย่างเดียว แต่เป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ยกตัวอย่างมูลนิธิเด็กก็ได้ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็กไทยขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเด็กภาคอีสานนี้มากกว่า 50% เป็นที่ตกใจมาก เพราะเรานี่บอกว่าบ้านเมืองเราในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีเด็กขาดสารอาหารได้อย่างไร

พอเราตั้งบ้านทานตะวันขึ้นมาแล้วเอาเด็กมาเลี้ยง แล้วประกาศว่ามีเด็กไทยขาดสารอาหารแบบแอฟริกาเลย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย โดยในปี 2525 กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลประกาศว่าจะต้องแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

และในเรื่องสิทธิเด็กก็เช่นกัน เด็กไทยในยุคนั้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วถูกนำเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมตามบ้านบ้าง อุตสาหกรรมเล็กๆ บ้าง ถูกใช้แรงงานเด็ก ถูกหลอกเป็นโสเภณีเด็ก เป็นที่รู้กันทั่วโลก

โดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัยครั้งแรก คุณสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ทำงานอยู่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ถึงกับประกาศว่ามีเด็กไทยเป็นโสเภณีเด็กประมาณ 2 ล้านคน เถียงกันมากว่าจริงไม่จริง แต่ประเด็นก็คือมันมีมากจริงๆ จะถึง 2 ล้านหรือเปล่า เรื่องนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และเรื่องสิทธิเด็ก นี่คือทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย

หรือโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเราวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาว่ามีปัญหาอย่างไร ตอนนั้นคนยังไม่เห็นเรื่องปัญหาการศึกษาไทย วันนี้เห็นกันชัดเจนแล้ว เราตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็กมาให้ดูโรงเรียนในอุดมคติ ที่สอดคล้องกับจิตวิทยาและความสามารถของเด็กเป็นอย่างไร จนก่อให้เกิดนโยบายการศึกษาทางเลือกและไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ นี่คืองานเย็น เชิงงานสังคมสงเคราะห์

งานร้อน ก็กรณีแบบมาบตาพุด กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และกรณีการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าที่ประจวบฯ และการสร้างโรงแยกก๊าซที่จะนะ ซึ่งมีผลกระทบกับชุมชน ก่อให้เกิดนโยบายในเรื่องต้องมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ตอนนี้พัฒนาว่าต้องมีรายงานผลกระทบ SIA หรือรายงานผลกระทบทางสังคม และมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ต้องมีรายงานผลกระทบสุขภาพ หรือ HIA มันกลายเป็น 3 รายงาน ซึ่งเดิมทีโครงการอุตสาหกรรมไม่สนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจผลกระทบทางสังคม และไม่สนใจผลกระทบสุขภาพ

นี่คืองานเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ ผสมกับองค์กรชาวบ้าน และต่อมาได้พัฒนาเกิดความตื่นตัวของชาวบ้าน ชาวบ้านก็รวมตัวกันขึ้นมา ทำงานหลากหลายมาก มีหลายร้อยกลุ่ม หลายพันกลุ่ม

 

นายสำราญถามนายอำนาจว่า ในรอบปี 2552 ที่กำลังผ่านพ้นไป มองในสายตาจากสหภาพแรงงานเป็นอย่างไรบ้าง

นายอำนาจ ตอบว่าในช่วงปีนี้หลังจากรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ยังให้ความสนใจกับปัญหาแรงงานน้อยมาก ซึ่งจริงๆ ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาที่พูดถึงคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

ทุกวันนี้รัฐบาลบอกว่ากำลังแรงงานจะเป็นส่วนผลักดันอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลมั่นอกมั่นใจหนักหนาว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้น แต่เสร็จแล้วเกิดผลกระทบที่ระยอง ประชาชนก็คงเห็นกันอยู่ รัฐบาลก็ลังเลว่าจะเอาอย่างไรดี รัฐบาลต้องการเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ แต่สุดท้ายรัฐบาลได้ดูเรื่องสุขภาพของคนงานย่านอุตสาหกรรมไหม และได้ดูสุขภาพชีวิตและสุขภาพชาวบ้านไหม

คือยังไม่ต้องพูดถึงประชาชนเดิมที่อยู่ละแวกนั้นนะครับ คนที่เข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ผลกระทบต่างๆ รัฐบาลก็ไม่ใส่ใจ รัฐบาลบอกถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ต้องระงับโครงการ จริงๆ ผมว่ารัฐบาลน่าจะไปดูที่ว่า นักลงทุนบอกว่าได้รับอนุญาต ได้รับอนุมัติแล้ว รัฐบาลน่าจะไปดูว่าอนุมัติกันได้อย่างไร ทำไมขัดต่อกฎหมาย

ทีนี้ปัญหาของพี่น้องคนงานช่วงนี้มีวิกฤตก็มีการเลิกจ้างหลายแห่งหลายที่ แต่รัฐบาลไม่ได้ลงไปดูแล โอเค ถึงนายจ้างปิดงานได้ นายจ้างเลิกกิจการได้ แต่นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วน แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นผู้กำกับนโยบายกลับลงไปเป็นคนเจรจาต่อรองแทนนายจ้าง แทนที่จะขอให้จ่าย 100% ก็ไปขอให้จ่าย 50%

 

นายสำราญ ถามต่อว่า แล้วในภาคของผู้ใช้แรงงาน สหภาพก็ดี ภาคประชาชนอื่นๆ ก็ตามที่มามีส่วนร่วม เข้มแข็งหรืออ่อนแอขนาดไหนในปี 2552

นายอำนาจ ตอบว่า ยังทรงอยู่กับที่ ดูเหมือนอ่อนแอเพราะมีวิธีการทำลายสหภาพแรงงาน บางครั้งก็ทำลายผ่านการใช้สื่อซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการมองภาพอย่างฉาบฉวยผิวเผิน แต่พอเวลาข้อเท็จจริงปรากฏสื่อก็ไม่รายงานว่าจริงๆ แล้วคืออะไร

 

นายสำราญ ถามนายธัญญา โดยขอให้นายธัญญาลองมองบทบาทของภาคประชาชนในปี 2552 ในเชิงคุณูปการ เมื่อเปรียบเทียบกับภาคการเมืองในรัฐสภามันสอดคล้องสัมพันธ์กันไหมหรือสู้ขบวนการประชาชนไม่ได้

นายธัญญา กล่าวว่า ปีที่กำลังผ่านมา น่าจะเป็นปีที่ประชาชนมีบทบาทมากหน่อยหนึ่ง แต่บังเอิญเพราะว่าเรามีปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานเยอะ มีปัญหาสังคมมากขึ้น แต่กลับเป็นเรื่องแปลกที่ว่าการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะมาเรียกร้องเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องนู้นเรื่องนี้กลับลดลง

เพราะอะไรผมมานั่งวิเคราะห์ดู อ๋อ คนยังชื่นชมรัฐบาลใหม่ ให้โอกาสคุณอภิสิทธิ์ทำงาน ไม่งั้นเจ๊งนะ เพราะว่าคนรู้สึกดีใจที่ว่ารัฐบาลสมัครออกไป รัฐบาลสมชายออกไป และฝากความหวังกับรัฐบาลใหม่อภิสิทธิ์ ทั้งที่ปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงมากทั่วโลก เกิดจากอเมริกาลามมาถึงไทย เกิดการตกงานเยอะแยะ แต่กลับปัญหาน้อยนะ

ก็มีปัญหาการเมืองเป็นหลัก คือฝ่ายทักษิณพยายามจะกลับเข้ามามีอำนาจ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงตลอดระยะเวลาแม้กระทั่งเดือนเมษายนที่เกิดสงกรานต์เลือดขึ้นมา

ในฝ่ายเสื้อเหลืองเองก็ดูท่าที สะสมกำลัง รอคอยโอกาส และตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา ก็มีการยกระดับทางความคิดขึ้นมาระดับหนึ่งว่าการต่อสู้มันต้องเดินสองขา ขาทั้งทางภาคประชาชนก็คือพันธมิตรฯ และขาทางรัฐสภาก็คือพรรคการเมืองใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเรื่องความเข้มแข็ง ผมว่าประชาชนก็เข้าใจนะว่าให้โอกาสรัฐบาล

 

จากนั้นนายสำราญ ถามนายพิภพว่า ในปี 2551 ชุมนุมกัน 193 วัน สู้กันเกือบทั้งปี แต่พอปี 2552 ผมรู้สึกว่าพี่น้องนะคือคล้ายๆ ว่าสู้มาแล้วเต็มๆ ปี 2551 แล้วปี 2552 แผ่วลงหรือเปล่า หรือรูปการต่อสู้ได้เปลี่ยนแปลงไป และมีนัยยะสำคัญยิ่งกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยังคงอยู่แต่ว่าส่วนหนึ่งก็แปรรูปเป็นพรรคการเมือง ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนมีนัยยะต่อสังคมอย่างไรบ้าง

นายพิภพ กล่าวตอบว่า เมื่อกี้ผมไม่ได้พูดถึงการเมืองภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จริงๆ ภาคประชาชนมีส่วนเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาตั้งแต่ 14 ต.ค. 2516 หนึ่งใน 13 กบฏนั่งอยู่ตรงนี้ แต่ตอนนั้นมิติการนำอยู่ที่นักศึกษา และลูกหลานญาติพี่น้องของนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุม ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้นนะ แต่มีพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

นี่เป็นการเมืองภาคประชาชนคนละแบบกับที่ผมพูดตอนต้น คือเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ไม่ใช่ปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอยู่ที่การเลือกตั้ง หรืออยู่ที่การประกาศนโยบายพรรคการเมืองแล้วไปหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น อันนี้จะเห็นได้ชัดว่าพัฒนามาตั้งแต่ 14 ตุลา

แล้ว 6 ตุลา เมื่อการเมืองภาคประชาชนโดยการนำของนักศึกษาดูท่าทางจะเข้มแข็ง อำนาจรัฐตอนนั้นก็เข้ามาจัดการ เพราะฉะนั้น ผมมองแบบความเป็นจริงนะครับ คืออำนาจรัฐเขาต้องจัดการอำนาจภาคประชาชน นี่ทุกประเทศนะครับ เพราะเขาไม่มีทางที่จะยอมให้ภาคประชาชนหรือภาคนักศึกษามีพละกำลังที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการ หรืออยู่กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยในสมัยนั้น

ก็พัฒนามาจนถึงปี 2535 ภาคประชาชนซึ่งตอนนั้นปี 2522 ภาคประชาชนได้รวมตัวกันเป็นเอ็นจีโอเพิ่มมากขึ้นเยอะเลยหลายสาขา แล้วลงไปจนถึงภาคชุมชน มีการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้าน สุดท้าย 2535 ก็ยังสามารถรวมตัวกันมาเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้อีก

แล้วมาเมื่อปี 2551 คือปีที่แล้ว พันธมิตรฯ ก็คือการรวมตัวขนานใหญ่ตั้งแต่ปี 2549 แล้วเป็นการนำของสื่อตั้งแต่สวมลุมพินี ที่คุณสำราญเป็นโฆษก หรือเป็นพิธีกรบนเวที จริงๆ ก่อนหน้านั้นที่คุณสำราญ คุณสนธิจะไปจัดที่สวนลุมฯ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคองค์กรชาวบ้านก็ต่อต้านรัฐบาลทักษิณมาตลอดเหมือนกัน สุดท้ายก็มารวมกันเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการเมืองภาคประชาชนกลายเป็นพลังที่เข้มแข็งขึ้น และสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลคือกดดันรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นและอย่าทำตัวเป็นนอมินี และออกนอกกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ มาปีนี้ที่คุณสำราญถามว่าการเมืองภาคประชาชนแผ่วไปไหม ไม่แผ่ว

 

นายสำราญถามต่อว่า เพราะมีคนบอกว่าพันธมิตรฯ ตั้งแต่พรรคการเมืองใหม่ แผ่วแล้วไม่มีน้ำยาแล้ว พูดอย่างนี้เลยนะ

นายพิภพ ตอบว่า อย่าไปมองการเมืองภาคประชาชนในนามของพันธมิตรฯ อย่างเดียว ไม่ใช่ พันธมิตรฯ คือการรวมตัวของภาคประชาชนขนานใหญ่ทุกหมู่ทุกเหล่า

ตอนนี้อาจจะอยู่นิ่งๆ แต่ขนาดย่อยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือการเมืองภาคประชาชนทำงานอยู่ เช่น กรณีระยอง ถามหน่อยเหอะ ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนหรือที่เข้าไปฟ้องต่อศาล แล้วเผอิญในสถานการณ์ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ที่กระบวนการยุติธรรมหรือฝ่ายตุลาการเข้ามาสนองหรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเมืองภาคประชาชน

ซึ่งแต่ก่อนนี้ถ้าคุณสำราญได้ศึกษามาแล้วก็รู้มา จะเห็นว่าศาลเมื่อเรื่องเข้าสู่คดีในการต่อสู้ของภาคประชาชน ศาลมักจะเข้าข้างราชการและกลุ่มทุนมากกกว่า มาวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากรณีมาบตาพุดขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 67 นี่เป็นครั้งแรก และเป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนโดยคุณสุทธิ อัฌชาศัย ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดมาตลอด และวันนี้ได้รับการเลือกและเชิญจากพรรคการเมืองใหม่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะฉะนั้นความเชื่อมโยงกันตรงนี้สำหรับผมน่าสนใจมาก

 

นายสำราญถามนายธัญญาว่า มีคนกล่าวหาว่าเห็นไหมพอตั้งพรรคแล้ว พันธมิตรฯ อ่อนแอจะตอบว่าอย่างไร

นายธัญญา ตอบว่า ไม่ เพราะในภาคประชาชน เราจะเห็นว่าต้นปีพอมีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนบอกไม่เอา ก็เลิก สักพักก็ถอย มาปีนี้รถเมล์ 4,000 คัน ยังไม่ทันชุมนุม มีการพูดถึงประเด็นปัญหาในวงกว้าง ก็ถอย มาเร็วๆ นี้เรื่องการบินไทย แป๊บเดียวก็ตั้งกรรมการสอบ แล้วผู้ที่ได้ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นมาก็ต้องลาออก

เพราะฉะนั้นการเมืองภาคประชาชนว่าง่ายๆ ยังมีน้ำหนัก ในการที่จะเสนอ ในการที่จะกดดัน ในการผลักดันแก้ปัญหาตั้งแต่เล็กจนใหญ่ แม้กระทั่งเรื่องเสื้อแดงชุมนุมต้นเดือนธันวาฯ พอคนโวยกันขึ้นมาก็ถอยไป เพราะฉะนั้นผมว่าบทบาทการเมืองภาคประชาชนก็ยังมีความเข้มแข็งอยู่ เพียงแต่เรายังอาจไม่ได้มีประเด็นใหญ่ๆ จนต้องออกมาชุมนุมคนเป็นเรือนแสนแบบเก่า แต่อย่าลืมว่าวันที่เราพูดถึงเรื่องไทมส์ออนไลน์ ที่ทักษิณที่เขมร มีการจัดประท้วงที่สนามหลวงที่ผ่านมา คนก็เป็นแสน แม้จะมีระเบิดลงเราก็ไม่กลัว

นายสำราญ กล่าวว่า คนร่วมแสนว่างั้นเถอะวันที่ M79 ลงน่ะนะ

นายธัญญา กล่าวต่อว่า ความตื่นตัวของประชาชนนั้น บางทีไอสองสามทีเขาก็เลิก เราไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหว บอกให้หยุด ก็หยุดเหมือนกัน

นายอำนาจ ตอบเสริมว่า ที่คนวิจารณ์เพราะอาจมองไม่รอบด้าน มองไม่ครบทุกมิติ ถ้าบอกว่าพันธมิตรฯ ขยับขยายวงไปตั้งพรรคการเมืองใหม่มีคนวิจารณ์ว่าทำให้พันธมิตรฯ อ่อนแอ จริงๆ อย่างที่พี่พิภพบอกส่วนย่อยหรือหน่วยเล็กของพันธมิตรลงไปถึงระดับตำบล ต้องไปดูแบบนั้น เพราะส่วนหนึ่งพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนก็ยกระดับขึ้นเป็นพรรคการเมือง แต่ส่วนที่เป็นภาคประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังทำงานอยู่และขยายวงไปเรื่อยๆ เหมือนคำที่ว่า เป็นพืชพันธุ์ที่ตกที่ไหนก็งอกที่นั่น นี่คือพันธมิตรฯ

นายสำราญกล่าวว่า เป็นข้าวเปลือกชั้นดี

นายพิภพ กล่าวต่อว่า น่าสนใจมากนะฮะ การเมืองภาคประชาชนไม่ได้หมายถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แต่ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการรวมตัวของการเมืองภาคประชาชนมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ที่น่าสนใจคือมันพัฒนาไปสู่การสร้างฐานเศรษฐกิจของตัวเอง การเกิด “ASTV SHOP” นี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญมากนะฮะ 

เรา อ๋า (หมายถึงธัญญา) กับผมนะฮะ ทำงานกันหลัง 14 ต.ค. หลังจากสิ้นสุดในการโค่นรัฐบาลถนอม ประภาส ณรงค์ กิตติขจร เรายังรวมตัวกันอยู่ จนกระทั่งหลัง 6 ต.ค. แล้วสุดท้ายไปรวมกันอยู่ในป่าเขา เมื่อออกมาก็ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ตอนนี้เขาเรียกว่าละลายไปสู่การเมืองภาคประชาชน

แต่ในกรณีการเมืองภาคประชาชนที่มารวมตัวกันเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วส่วนหนึ่ง ผมต้องใช้คำว่าส่วนหนึ่ง มาตั้งพรรคการเมืองคือการเมืองใหม่ ต้องถือว่าส่วนหนึ่งนะ เพราะฉะนั้นตอนนี้การเมืองภาคประชาชน ในส่วนที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ในส่วนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ยังมีการเคลื่อนไหวในส่วนของการเมืองภาคประชาชนในส่วนที่เป็นพรรคการเมือง

อันนี้แหละที่ประวัติศาสตร์น่าสนใจตรงนี้ นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่การเมืองภาคประชาชนมารวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง อย่าไปมองในแง่ร้ายนะ ผมมองในแง่การพัฒนา เพราะฉะนั้นโจทย์อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองใหม่ของคุณสำราญกับคุณอ๋าของผมด้วย จะบริหารจัดการพรรคการเมืองใหม่เชื่อมกับการเมืองภาคประชาชนอย่างไร

เพราะที่ผ่านมานี้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าไทยรักไทย ไม่ว่าชาติไทย ไม่เคยคิดจะเชื่อมกับการเมืองภาคประชาชน อันนี้แหละเป็นโจทย์ ถ้าสามารถทำได้สำเร็จโดยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่คำขวัญของพวกเราว่า “ทำงานเป็น” น่ะ ผมคิดว่าพลังของการเมืองภาคประชาชนและพลังของพรรคการเมืองที่เติบโตจากภาคประชาชนจะเป็นพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เรียกว่าการเมืองใหม่ได้

อันนี้สิครับ พรรคการเมืองใหม่จึงถูกจ้องทำลาย พันธมิตรฯ จึงถูกจ้องทำลายจากอำนาจเก่า มันทำให้เห็นชัดว่ามีอำนาจเก่ากับสิ่งที่นำไปสู่อำนาจใหม่หรือเรียกว่าการเมืองใหม่ แต่เป็นอำนาจใหม่ที่ไม่ทุจริต คอรัปชั่น มีความซื้อสัตย์ สุจริต และทำงานเป็น ไม่หวังการเข้าสู่อำนาจแบบอำนาจเก่า หรือพรรคการเมืองเก่า

คำว่าอำนาจเก่า ไม่ได้หมายถึงพรรคการเมืองเก่าเท่านั้น แต่หมายถึงกลุ่มข้าราชการ กลุ่มทุน แน่นอนกลุ่มทุนที่เป็นทุนสะอาดเริ่มรวมตัวกันเห็นชัดมากขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงรอยต่อตรงนี้คือช่วงการต่อสู้ระหว่างความคิดเก่า กับ ความคิดใหม่

 

นายสำราญ ถามว่า ที่เขาว่าสุดท้ายนะพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองหรือเสื้ออะไรก็แล้วแต่มีพลังมหาศาลสุดท้ายจะถูกจะกำจัดไป คือสุดท้ายทั้งแดงทั้งเหลืองจะถูกม้วนเสื้อกลับบ้านหมด นี่เป็นลูกขู่หรือเปล่า

นายธัญญา ตอบว่า โดยอำนาจรัฐอย่างที่บอก ไม่อยากให้ประชาชนเติบโต อำนาจรัฐนี่คือรวมๆ ในบรรดาชนชั้นปกครองทั้งหลายไม่อยากให้ฝ่ายประชาชนเติบโต แต่ว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนมีความเติบโต กับมีความเข้มแข็งค่อนข้างมาก และไม่สามารถทำลายได้แบบเก่าง่ายๆ เพราะถ้าเผื่อจะทำลายอำนาจภาคประชาชนจริงๆ ต้องใช้กำลังมหาศาลที่จะมากดให้ลงไป

 

นายสำราญ ถามว่า ไม่เชื่อว่าพันธมิตรฯ หรือการเมืองใหม่ เป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว ไม่เชื่อ?

นายธัญญา ตอบว่า ผมเพิ่งกลับมาจาก จ.แพร่ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เป็นจังหวัดเล็กๆ มีพันธมิตรฯ 500 ก็มีการประชุมทุกเดือนก็มากัน 50 คน 100 คนมากันตลอด ก็มีการเคลื่อนไหว มีการติดตามข่าวสารบ้านเมือง มีการเสนอความคิดความเห็นต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น 1 ปี ตั้งแต่เราเริ่มชุมนุมมา กิจกรรมแบบนี้มีตลอด

นายพิภพ ตอบเสริมว่า ผมไปที่ จ.เพชรบูรณ์ ก็แปลกใจมากว่าชุมนุมมีการขายบัตร มีการเก็บตังค์ด้วยนะ คนก็ 5 พัน 6 พันคน เต็มเลย ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามมาตั้งเวทีตรงหน้า แล้วในเพชรบูรณ์ก็รู้ว่าในเขตภาคเหนือซึ่งกระเดียดไปทางภาคเหนือตอนบน ก็มีกลุ่มที่นิยมทักษิณมาก แต่ปรากฏว่าในพื้นที่เหล่านี้ การเมืองภาคประชาชนที่ไม่เอาทักษิณก็สามารถเติบโตได้ และสามารถที่จะมีพื้นที่ทางการเมือง

เมื่อมีการตกลงกันในภาคประชาชนไม่ว่าเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ว่า ความเห็นที่แตกต่างกัน ต้องไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ผมคิดว่าสังคมไทยได้ประโยชน์ เพราะได้ฟังความคิดเห็นทั้งสองด้าน คือความคิดเห็นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเราชูเรื่องทุจริต คอรัปชั่น ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เอาคุณทักษิณ ขณะที่อีกฝ่ายเขาชูทักษิณ แต่ในขณะเดียวกันเขาชูเรื่องความยากจนด้วย

เพราะฉะนั้นในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องเพิ่มประเด็นในการชูให้แจ่มชัดขึ้น ทั้งๆ ที่มีชาวนาชาวไร่มาร่วมกับพันธมิตรฯ ดังนั้น ในเรื่องความยากจนจะเอายังไง เราต้องเด่นเรื่องต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น เพิ่มความเด่นในเรื่องการกระจายรายได้ ในเรื่องแรงงานซึ่งมีคนมาเป็นกรรมการในพรรคการเมืองใหม่ เราต้องพูดให้ชัดเจน ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานจะเอายังไง

นายสำราญ ตอบว่าพูดไปแล้วครับวันก่อน 316 บาทเป็นอย่างน้อย วันก่อนท่านหัวหน้าพรรคสมศักดิ์ (โกศัยสุข) ไปแถลงข่าว แต่สื่อมวลชนมันสนใจเรื่องฮุนเซ็นเสียมากกว่า อันนี้ต้องว่ากันอีกที

 

 

อ้างอิง

บล็อกของ หัวไม้ story