บล็อกของ headline

ชะตากรรมของสตรีหมายเลขหนึ่ง

< พิณผกา งามสม >

 

ถ้าผู้หญิงคืออีกซีกหนึ่งของฟากฟ้า อย่างที่จอน เลนนอน ไอดอลแห่งยุคบุปผาชนเคยกล่าวไว้  ภาพข่าว ดร. วันอาซีซาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กับสามีได้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในรัฐสภาที่ว่างลงในฐานะอีกครึ่งชีวิตทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ก็คงเป็นตัวอย่างจริงของความเป็นอีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า แต่จะเป็นท้องฟ้าของวันใหม่ดังที่นายอันวาร์ย้ำมาตลอดหรือไม่ เป็นเรื่องของการเมืองที่ยากจะคาดการณ์

headline วันอาซีซาร์

ดร. วันอาซีซาร์ ได้ชื่อว่าเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของนายอันวาร์ จากอาชีพจักษุแพทย์ เธอต้องกระโจนลงสู่สนามการเมือง เมื่อสามีถูกเกมการเมืองเล่นงานจนสะบักสะบอมทั้งข้อหาคอร์รัปชั่นและประพฤติผิดทางเพศ เมื่อ 8 ปี ก่อน

ผลจากเกมการเมืองที่นายอันวาร์ตกเป็นผู้ถูกกระทำ ได้ชักนำให้นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองรวมตัวกันเป็นพรรคยุติธรรมประชาชน โดยมีดร. วันอาซีซาร์เป็นหัวหน้าพรรค เป็นที่รู้กันว่า ดร. วันอาซีซาร์รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค รอวันที่นายอันวาร์เป็นอิสระ และสามารถลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งได้อีกครั้ง

วันนี้ นายอันวาร์ ต้องเผชิญข้อกล่าวหาเดิมๆ อีกครั้ง ว่าด้วยการประพฤติผิดทางเพศ แน่นอนว่า ดร.วันอาซีซาร์จะต้องทำหน้าที่ของเธอต่อไป ดังที่ประกาศไว้ว่า จะยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชนและประธานมูลนิธิสันติภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองสำหรับบรรดาฝ่ายค้าน
 
ย้อนหลังไปวันที่ 30 กรกฎาคม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการเมืองไทยอย่างถอนรากถอนโคน ต้องโทษจำคุก 3 ปี จากคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่ามีความผิดฐานความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรอันเป็นความผิดตามประ มวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อเธอยื่นอุทธรณ์และขอประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์ 8 ล้านบาท

ผู้หญิงสองคนจากประเทศพรมแดนชิดติดกัน กำลังเดินไปบทเส้นทางที่สัมพันธ์กับบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองของสามี แต่ด้วยทิศทางที่แตกต่าง

ชีวิตของผู้หญิงของผู้นำในอดีตทั้งในโลกเสรี และโลกสังคมนิยมก็เช่นกัน

ooo

headline เจียงชิง

เจียงชิง: เมื่อคนแก่ไม่สามารถควบคุมเมียของตัวเอง
“ประธานเหมาคิดว่าท่านสามารถควบคุมภรรยาและคนรอบด้านอย่างหลินเปียวกับคังเซิงได้ แต่แล้วท่านกลับควบคุมไม่ได้” ……บทสรุปความเห็นที่สิรินทร์ พัธโนทัย พยายามบอกกับผู้อ่าน ‘มุกมังกร’ว่าประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชาวจีนมีความสัมพันธ์ชนิดไหนกับ “แก๊ง 4 คน” ในห้วงเวลาโกลาหลจากการปฏิวัติวัฒนธรรม

เจียงชิง เติบโตมาในครอบครัวชาวนา เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยทำงานด้านวัฒนธรรมด้วยการเป็นนักแสดง

เจียงชิงเป็นภรยาคนที่ 3 ของประธานเหมาและเป็นคนสุดท้าย โดยใช้ชีวิตคู่ร่วมกับประธานเหมานานถึง 37 ปี เจียงชิงเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทระดับนำในพรรคช่วงบั้นปลายชีวิตของประธานเหมา เจียงชิงร่วมกับสมาชิกระดับแกนนำของพรรคอีก 3 คนคือ จางชุนเฉียว  เหยาเหวินหยวน และหวังหงเหวิน ในนามแก๊ง 4 คน โดยใช้กรปฏิวัติวัฒนธรรม กำจัดผู้ที่คิดต่างทางการเมือง และปลุกระดมให้เกิดการกวาดล้างผู้ไม่ซื่อตรงต่อพรรค และพวกลัทธิแก้และนายทุน ครั้งมโหฬาร ในระหว่างปี 1966 -1976

ผลจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนกว่า 700,000 คนต้องถูกทารุณกรรม ทั้งจากการถูกลงโทษโดยทางการ และถูกทำร้ายร่างการจากเหตุจลาจล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 34,274 นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องจาก ‘กองทัพแดง’ เข้ารื้อค้นทำลายบ้านเรือนราษฎร และร้านค้าที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายนายทุน หรือเป็นพวกลัทธิแก้

การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของแก๊ง 4 คนนั้นเอง อย่างไรก็ตามผลจากการปลุกระดมและการทำงานอย่างแข็งขันของกองทัพแดงภายในเวลา 10 ปี ก็ส่งผลสะเทือนไปกว้างขวางและก่อความคลางแคลงใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างปฏิเสธไม่ได้
ภายหลังการอสัญกรรมของประธานเหมาในปี 1976 แก๊งสี่คนถูกจับกุมเนื่องจากซ่องสุมกำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ในระหว่างดำเนินคดี และถูกกักขังอยู่นั้น เจียงชิงยังคงยืนยันว่า สิ่งที่กระทำลงไปภายใต้การนำของแก๊งสี่คน เป็นเจตนารมณ์ของประธานเหมาโดยประกาศว่าตัวเธอเองนั้นเป็นหัวหน้าฝูงสุนัขของประธานเหมา และจะกัดทุกคนที่ประธานเหมาสั่งให้กัด

เจียงชิงถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตในปี 1981 แต่ได้รับการลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิตในปี 1983 อย่างไรก็ตาม เธอได้รับการปล่อยตัวเพื่อเข้ารับการรักษามะเร็งที่ลำคอ ในปี 1991 เจียงชิงแขวนคอตายในห้องน้ำของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1991

ความสัมพันธ์ระหว่างเจียงชิง กับประธานเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนนั้น เป็นข้อถกเถียงและคาดเดากันไปต่างๆ บ้างเชื่อว่า ประธานเหมาและมาดามเหมามีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในช่วงเวลานั้น บ้างก็ว่าอันที่จริงแล้วแก๊ง 4 คนนั้นมีสมาชิก 5 คน

บทสนทนาระหว่างสิรินทร์ พัธโนทัย ตัวแทนทางการทูตอย่างลับๆ ที่ได้ผ่านช่วงเวลาวิกบากกรรมจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนด้วยนั้น เลือกที่จะอธิบายในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘มุกมังกร’ ผ่านบทสนทนาของเธอเองกับจิง ผู่ซุน ภรรยาของเลี่ยว เผิงจื้อ สมาชิกระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า

“แล้วทำไมประธานเหมาถึงปล่อยให้เธอทำอย่างนี้” ฉันถาม
“ตอนนี้ท่านก็แก่มากแล้ว” เธอตอบพร้อมชี้หัวของเธอเอง “คนแก่มักจะไม่สามารถควบคุมเมียได้” (หน้า 398 มุกมังกร)

headline เอวิต้า เปรอง

เอวิต้า เปรอง สตรีหมายเลขหนึ่งบนสายรุ้งแห่งประชานิยม
เอวิตา เปรอง หรือในชื่อจริง มาเรีย เอวา ดูอาร์เต้ เดอ เปรอง  สตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของอาร์เจนตินา และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งขณะมีชีวิตและเมื่อจากไป ประวัติของเธอ ถูกนำมาเขียน ทำละคร และภาพยนตร์ฮอลีวูด  

ประวัติส่วนตัวกว่าที่เธอจะไต่เต้าขึ้นมาสู่การเป็นภรรยาคนที่ 2 ของนายพลเปรองซึ่งผู้นำที่ครองใจชาวอาร์เจนตินาในช่วงสงครามเย็น (ระหว่างปี ค.ศ. 1946-55 และ 1973-4)..และเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของอาร์เจนตินานั้นเป็นเกร็ดแห่งการซุบซิบนินทาชั้นเลิศ ภาพที่ชัดเจนของเธอก็คือ การไต่เต้าจากเด็กยากจน เรียนรู้ความแตกต่างทางชนชั้นโดยแลกด้วยประสบการณ์จริง เอวิตา อาจเป็นได้ทั้งนางฟ้าและปีศาจ ซึ่งสุดแท้แต่ใครจะเลือกใช้ฐานคติทางการเมืองใดตัดสิน และแน่นอนว่า ประวัติของเธอที่ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นสูง และไม่ได้จบการศึกษาชั้นเลิศ รวมถึงการไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นนักแสดง ก็ทำให้เธอต้องฝ่าฟันอย่างหนักเพื่อจะได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในอาร์เจนตินา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจสายอนุรักษ์นิยม
 
อย่างไรก็ตาม เอวิต้า ในฐานะภรรยาของนายพลเปรอง เลือกที่จะทำงานการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่ และปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอนั้นเป็นเสมือนฝ่ายประชาสัมพันธ์ชั้นยอดให้กับนายพลเปรอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนวคิดเปรอนิสม์ (Peronism) นั้นถูกเผยแพร่โดยนายพลเปรองและเอวิต้า แม้ว่าโดยหลักทฤษฎีแล้วมันอาจจะเป็นการผสมปนเประหว่างชาตินิยม ประชานิยม และสังคมนิยม รวมถึงบางคราวก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นฟาสซิสม์ด้วย แต่ที่แน่ๆ กลุ่มเป้าหมายของเปรองก็คือ กลุ่ม แรงงาน และคนจน

เอวิต้า ทำงานรุกคืบสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่เคยปราศจากตัวตนทางการเมือง ได้แก่ เด็กกำพร้า กลุ่มแรงงาน สหภาพ และผู้หญิง เธอก่อตั้งมูลนิธิ เอวา เปรอง ทำงานด้านการกุศล โดยมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า และผู้หญิงไร้บ้านซึ่งคนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญของเธอ

ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1946 ซึ่งนายพลเปรองได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดี เอวิต้าเริ่มเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้กับผู้หญิง กระทั่งได้ชัยชนะในปี  1947  นอกจากนี้ยังก่อตั้งพรรคสตรีนิยมเปรองนิสม์  (Feminist Peronist Party) ปี 1952 โดยมีสมาชิกแรกตั้งถึง 500,000 คน และมีสาขาพรรคกว่า 3,600

แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เอวิตา เปรอง นั้นเป็นสตรีที่ก้าวขึ้นมาพร้อมกับนโยบายประชานิยมของนายพลเปรอง เปรองนั้นอาศัยความเป็นดาราภาพยนตร์ และนักจัดรายการวิทยุเข้าถึงกลุ่มชนชั้นแรงงาน คนยากจน และโดยอาศัยวาทศิลป์ครองใจผู้คนระดับรากหญ้า

กล่าวได้ว่า เอวิต้า คือผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองอาร์เจนตินา ทั้งถูกคาดการณ์ด้วยว่าเธอจะเป็นผู้สืบอำนาจต่อจากนายพลเปรอง ทว่าวาระสุดท้ายของชีวิตเดินทางมาถึงก่อนจุดจบทางการเมือง เส้นทางอันรุ่งโรจน์ของเธอต้องจบลงเมื่อวัย 33 ปีด้วยโรคมะเร็งในมดลูกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 2493

แน่นอนว่า เมื่อมีด้านสว่างย่อมมีด้านมืด แม้ว่ายุคสมัยของทั้งนายพลเปรอง และเอวิต้าจะจับใจผู้คนชนชั้นรากหญ้าเพียงใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ตามก็คือว่า ผลพวงจากนโยบายประชานิยมที่สร้างต้นทุนทางการเมืองอย่างสูงลิ่วของคนทั้งสอง โดยทุ่มเทลงไปเอาใจคนยากจนและกลุ่มแรงงานนั้น ทำให้อาร์เจนตินาสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในเวลาต่อมา

การจากไปของเอวิต้า กลายเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาวอาร์เจนตินาในช่วงเวลานั้น ฝูงชนจำนวนมหาศาลออกมายังท้องถนนเพื่อไว้อาลัยสตรีหมายเลขหนึ่ง ภายในเวลาแค่วันเดียว มีรายตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการเบียดเสียดถึง 2,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 8 คน

เอวิต้ายังคงมีเรื่องราวดึงดูดความสนใจของผู้คนแม้เมื่อเธอเสียชีวิต นายพลเปรองมีโครงการที่จะจัดทำอนุสรณ์สถานอย่างยิ่งใหญ่ให้กับสตรีหมายเลขหนึ่ง ทว่าเมื่อนายพลเปรองต้องสิ้นอำนาจ ศพของเอวิต้าก็ไม่รับการเอาใจใส่จากรัฐบาลทหารและถูกโขมยไป ก่อนที่จะได้กลับคืนมาปี 1974 ปัจจุบันศพของเอวิตาบรรจุไว้ในสุสาน La Recoleta Cemetery

headline อิเมลดา มาร์กอส

อิเมลดา มาร์กอส เมียของผู้นำโลกที่ 3
เอ่ยถึง อิเมลดา มาร์กอส จินตภาพเกี่ยวกับเธอนั้นมักโยงใยไปถึงรองเท้าสองพันกว่าคู่ และตู้เสื้อผ้าหรูหราอลังการ ขณะที่ประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์ก็ยังคงย่ำอยู่กับความยากจนและการเมืองที่หมุนวนอยู่กับที่

อิเมลดา มาร์กอส อาจเป็นสตรีคนเดียวในโลกที่โลกจดจำรองเท้าของเธอมากพอๆ กับตัวเธอ (อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนั้นไม่แน่ชัด สื่อรายงานว่าเธอมีรองเท้าประมาณ 2700 – 3000 คู่ ขณะที่อิเมลดา ยืนยันว่าเธอมีรองเท้าแค่ 1,060 คู่เท่านั้น!!!) สปอร์ตไลท์ฉายไปที่อิเมลดา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ชัดขึ้น และชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสามีของเธอร่วงหล่นจากอำนาจ
 
เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส  เป็นผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ในระหว่างปี 1965-1986 เช่นเดียวกันกับผู้นำในยุคสมัยแห่งการพัฒนาในประเทศโลกที 3 อื่นๆ มาร์กอส ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และเป็นเผด็จการ จนกระทั่งถูกดึงลงจากอำนาจด้วยการปฏิวัติใหญ่โดยขบวนการประชาชนเมื่อปี 1986 ต้องลี้ภัยไปยังฮาวาย และเสียชีวิตที่นั่นในปี 1989 แม้แต่ศพของเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับมาฝังยังประเทศเกิด โดยผู้นำขณะนั้น นางคอราซอน อาควิโน อ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ

อิเมลดา มาร์กอสนั้น ไม่ปรากฏรายงานบทบาททางการเมืองของเธอว่ามีนัยสำคัญอย่างไรต่อสามี หากแต่ภาพลักษณ์ของความเป็นคนสุลุ่ยสุร่าย มีทรัพย์สินโดยเฉพะเครื่องแต่งกายเครื่องประดับจำนวนมาก ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำสุดยอดคอรัปชั่นและเอื้อประโยชน์พวกพ้องของมาร์กอสผู้เป็นสามี

แน่นอนว่า ทรัพย์สินจำพวกเสื้อขนสัตว์ รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ เหล่านี้เป็นภาพอันฉูดฉาดที่ช่วยขับเน้นประเด็นคอร์รัปชั่นของผู้นำในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน ทว่า การนับจำนวนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับอันไม่จำเป็นทั้งหลายนั้น ย่อมง่ายดายกว่าการขุดรากถอนโคนตัวระบบที่เป็นปัญหาหยั่งรากลึกในสังคมการเมืองของฟิลิปปินส์เอง

ผู้นำฟิลิปปินส์คนต่อๆ มาก็ยังคงเผชิญกับข้อกล่าวหาเดิมๆ นั่นคือระบบเล่นพวกพ้อง ระบบเครือญาติ เผด็จการ และคอร์รัปชั่น แม้แต่นางสิงห์น้อย กลอเรีย อาร์โรโย่ ผู้นำคนล่าสุด
 
สำหรับอิเมลดา มาร์กอส ผู้หญิงที่เคยขึ้นทำเนียบหนึ่งใน 100 สาวงามที่สุดในโลก วันนี้เธอมีอายุ 79 ปี และยังคงต้องเทียวขึ้นศาลในฐานะจำเลยในคดีที่สืบเนื่องจากการคอร์รัปชั่นอันมโหฬารของตระกูลมาร์กอสจำนวนทั้งสิ้น 901 คดี

000

ผู้หญิงของผู้นำทางการเมือง ล้วนถูกจดจำต่างกันไป ทั้งโดยที่เธอเหล่านั้นเลือกและไม่ได้เลือก ตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้หญิงที่สามีของเธอมีแรงผลักดันทางการเมืองสูงก็คือ เลือกที่จะอยู่เงียบๆ ทำหน้าที่เป็น ‘หลังบ้าน’ไม่ว่าหลังบ้านนั้นจะเปิดหรือปิดประตูก็ตาม

แต่ถ้าใครเลือกจะไม่เป็นแค่ ‘หลังบ้าน’ แต่เลือกออกมายืนเคียงข้าง หรือนำไปข้างหน้า ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ชะตากรรมของพวกเธอหนีไม่พ้นถูกขีดวาดด้วยผลลัพธ์ทางการเมืองนั้นเอง

อ้างอิง:

- สิรินทร์ พัธโนทัย, มุกมังกร, เนชั่นพับลิชชิ่ง กรุ๊ป, กรุงเทพฯ: 2539.
- มาเลเซีย: ภริยาอันวาร์ ประกาศลาออกจากสมาชิกรัฐสภา เปิดทางให้สามีลงเลือกตั้ง http://www.prachatai.com/05web/th/home/13033
- ศาลยันคำพิพากษาไร้อคติ ‘อ้อ-บรรณพจน์’ คุกคนละ 3 ปี แต่ให้ประกันตัว ttp://www.prachatai.com/05web/th/home/13023
- Jiang Qing http://en.wikipedia.org/wiki/Jiang_Qing
- Eva Perón http://en.wikipedia.org/wiki/Eva_Per%C3%B3n#Passing_and_funeral
- The Effects of Peronism on Argentina http://www.ccds.charlotte.nc.us/History/Americas/05/neale/
- PERONISM: "Our Sun, Our Air, Our Water" http://209.85.175.104/search?q=cache:WSyPYXXeeswJ:www.time.com/time/magazine/article/0,9171,944526,00.html+peronism&hl=th&ct=clnk&cd=19&gl=th
- The Shoes of Imelda Marcos http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,961002,00.html

คำนิยม 'ดา ตอร์ปิโด' ปราศรัย โดย 'ทีมพันธมิตรฯ'

ทีมข่าวการเมือง ประชาไท

บันทึกปฏิกิริยาฝ่ายขวาใหม่' ภายใต้ฉายาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' หลังจากการปราศรัยที่สนามหลวงของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด' เมื่อวันที่ 18 กรกฎคมที่ผ่านมา

โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้หยิบประเด็นการปราศรัยของดา ตอร์ปิโด' มาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายคืนนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นต้นมา กระทั่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ขอให้ศาลอาญากรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับเลขที่ 2209/51 ให้จับกุม น.ส.ดารณีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.

ทำให้ น.ส.ดารณี ต้องสิ้นอิสรภาพตั้งแต่ถูกจับที่บ้านพักเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา และในวันที่ 23 ก.ค. ศาลก็ยกคำร้องไม่ให้ ผศ.ดร.สุทธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ตำแหน่งประกันตัว น.ส.ดารณี

คดีของ น.ส.ดารณี ยังทำให้เกิดการออกหมายจับพ่วงนายสนธิ ลิ้มทองกุล' เมื่อวันที่ 23 ก. ค. ด้วยข้อหาเดียวกัน คือเผยแพร่ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ตาม หลังสอบปากคำตำรวจยินยอมให้นายสนธิประกันตัว หลังจากนายสนธิพร้อมผู้สนับสนุนหลายพันคนเดินขบวนมาให้กำลังใจที่หน้ากอง บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งที่คดีนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้น จึงไม่มีใครพูดได้ว่าดา ตอร์ปิโด' มีความผิดหรือไม่ แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำเรื่องนี้ไปขยายผล บอกว่าดา ตอร์ปิโด' หมิ่นสถาบันกษัตริย์ และบนเวทีก็เต็มไปด้วยการพิพากษา' โดยแกนนำพันธมิตรว่าต้องจัดการดา ตอร์ปิโด' ชนิดเอาให้ตาย' ‘ตบให้คว่ำ' ‘ต้องกระทืบ' ฯลฯ

บัดนี้ ปฏิกิริยาบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อดา ตอร์ปิโด' หลายวันหลายคืนได้กลายเป็นคำนิยม' มุมกลับ พวกเขาได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากสนทนาถึงดา ตอร์ปิโด' และมีส่วนกระตุ้นความกระหายใคร่รู้คำพูดคำปราศรัยของเธอ

ต่อไปนี้คือปฏิกิริยาอันเป็นความเห็นของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หวังว่าผู้อ่านจะเต็มอิ่มกับปฏิกิริยาอันกลายเป็นคำนิยม' มุมกลับให้กับคำปราศรัยของดา ตอร์ปิโด'

000

(คำชี้แจง - คำปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อไปนี้ อาจมีบางช่วงใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ และถ้อยคำบางช่วงมีความจำเป็นต้องตัดออกจึงต้องขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้)

รวมมิตรคำฟ้อง ยุคการเมืองอิรุงตุงนัง

นับแต่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง การฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการเมือง และการฟ้องร้องอันมีผลทางการเมืองก็ดาหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย และองค์กรอิสระ เสมือนเป็นโหมโรงสำหรับ ตุลาการภิวัตน์ก็ไม่ปาน

เพื่อเป็นหมุดหยุดพักสำหรับความสับสนในคดีที่เยอะแยะ อีรุงตุงนังกันอยู่ขณะนี้  "ประชาไท" รวบรวมคดีที่มีการฟ้องร้องกัน ภายใต้เงื่อนเวลาเริ่มต้นคือรัฐบาลชุดนี้ ให้ดูกันว่ายุคนี้ ศาลนั้น "งานเข้า" ขนาดไหน

 

มาบตาพุด...สิ่งชำรุดของการพัฒนา

จังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรกๆ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2524 จากขนาด 4,100 ไร่ ขยายจนเป็น 15,745 ไร่

 

นิคมฯ มาบตาพุดยังประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น 134 โรง (รวมโรงไฟฟ้า 8 โรง (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2550)) แยกเป็น 1.กลุ่มปิโตรเคมี  2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย 3.กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 4.กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 6.กลุ่มเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น โรงกำจัดกากของเสีย 7.กลุ่มเขตท่าเรือ นี่ยังไม่รวมนิคมฯ รอบนอกอื่นๆ และโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่จะมีโรงงานขนาดใหญ่ผุดขึ้นอีกสิบกว่าโรง

 

ต่อมาให้หลังอีกราว 20 ปี พื้นที่นี้ก็ถูกยกให้เป็นตัวอย่างดีเด่นอย่างเป็นทางการมาโดยตลอด ในแง่ที่อุตสาหกรรมได้สร้างภาระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้คนในพื้นที่ มีงานศึกษาวิจัยหลายต่อหลายแหล่งที่พบว่า ชาวบ้านเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและอื่นๆ สูงมาก เพราะมลพิษที่มีทั้งในน้ำ น้ำใต้ดิน อากาศ

 

ตารางตัวอย่างผลการศึกษาวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับปัญหามลพิษในมาบตาพุด ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

 

การศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

โครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในไทย ปี 2540-2544 พบว่าสถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง (ที่ตั้งนิคมฯ ) มีสถิติความเสี่ยงสูงสุดเมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง นครพนม ขอนแก่น อุดรธานี กรุงเทพฯ ประจวบฯ และสงขลา

 

ปี 2544-2546 พบว่า ชาวระยองมีแนวโน้มการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง และพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดมากที่สุด รองลงมาได้แก่มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร ฯ

 

การศึกษาของ ดร.เรณู  เวชรัตน์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยศิลปากร

การวิเคราะห์ตัวอย่างเยื่อบุข้างแก้มของประชาชนผู้ใหญ่จำนวน 100 คนในเขตมาบตาพุด พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 พบสารพันธุกรรมที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของยีนในร่างกายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง บางตัวอย่าง พบเซลล์แตกหักมากกว่าคนปกติ 12 เท่า

 

การศึกษาของกรมควบคุมโรค

การวิเคราะห์ปัสสาวะของประชาชนในเขตมาบตาพุดจำนวน 2,177 คน พบว่า 329 คนหรือร้อยละ 16 พบสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาดสูงเกินมาตรฐาน

ที่มา : การเมืองเรื่องมลพิษ : ศักยภาพการรองรับมลพิษและการขยายอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด โดย ศุภกิจ นันทวรกา, เอกสารประกอบงานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของการแก้ไข้ปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด

 


ที่ผ่านมา คนในพื้นที่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่มาบาตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่มีศักยภาพรองรับมลภาวะได้แล้ว แต่รัฐก็ซื้อเวลา โดยนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศตั้งคณะอนุกรรมการดูแลเรื่องนี้
2 ชุดและให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในระยอง ปี 2550-2554 แต่ถึงวันนี้ ปี 2551 โครงการต่างๆ ถูกตัดงบประมาณและไม่ได้รับความสำคัญ

 

ความล่าช้า ยึกยักนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในปี 2541 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติให้ประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจอนุมัติโครงการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวเด็กในโรงเรียนมาบตาพุดพิทยาคารถูกหามส่งโรงพยาบาลจากกลิ่นเหม็นของสารเคมี อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่เสร็จ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ และในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครับก็อนุมัติโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุดไปด้วยระหว่างนั้นรวมแล้วประมาณ 140 โครงการ เช่นเดียวกันกับการตั้งอนุฯ 2 ชุดในปี 2550 ก็มีการอนุมัติโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 ไปด้วยในพื้นที่เขตต่อเนื่องบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับพื้นที่อำเภอบ้านฉาง ซึ่งมีนิคมฯ เอเชียอยู่แล้ว ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวมีข้อกำหนดผังเมืองห้ามก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีประเภทต้นน้ำ แต่สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนผัง

 

 

ตารางสรุปการดำเนินการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2541 กับการดำเนินการจริงและโครงการที่ได้รับอนุมัติเพิ่มขึ้น

 

กรอบเวลาการดำเนินการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ

เวลาในการดำเนินการจริง

โครงการอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติเพิ่มที่มาบตาพุด

1..ให้ประเมินผลกระทบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยถ้ามีโครงการใหม่เกิดขึ้นดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

2541-2543

วางแผนการศึกษา จัดหางบประมาณ จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา

 

อย่างน้อย 11 โครงการ

2.ให้การนิคมฯ ดำเนินการมาตรการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 

2544-2546

ดำเนินการศึกษา

ช่วงปี 2546 ประมาณ 56 โครงการ

3. ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประเมินภาพรวมของศักยภาพการรองรับมลพิษ

2546-ปัจจุบัน

ปรับแก้ผลการศึกษา

 

ประมาณ 75 โครงการ

ที่มา : อ้างแล้ว

 

ตารางสรุปสถานภาพการพิจารณาอนุมัติโครงการในพื้นที่มาบตาพุดในช่วงปี 2548-2550

 

โครงการใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด

จำนวนโครงการ

ภาพรวมของโครงการ

1.อนุมัติ รายงาน EIA แล้ว

      22

-โครงการขยายนิคมฯ ตะวันออก, ขยายนิคมฯ เอเชีย

-การขยายโรงงานปิโตรเคมีเดิม 11 โครงการ

-การก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีใหม่ 9 โครงการ

2. กำลังพิจารณา รายงาน EIA

     16

-โครงการปิโตรเคมี 13 โครงการ

-โรงเหล็ก 1 โครงการ

-โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซ 1 โครงการ

รวม

      38

 

ที่มา : อ้างแล้ว

 

การต่อสู้ขณะนี้ของคนในพื้นที่มีหลากหลายรูปแบบ ที่ขึ้นโรงขึ้นศาลไปแล้วก็มีคือ คดีศาลปกครอง ชาวบ้าน 27 คนจาก 12 ชุมชนรอบนิคมฯ ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จากกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยอมประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ทั้งที่มีข้อมูลอันชัดแจ้งจากหลายหน่วยงานแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหารุนแรง และทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2549 หน่วยงานอย่างสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  กรมควบคุมมลพิษ ก็เคยมีการสำรวจศึกษาและเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้วด้วย

 

นอกจากนี้ชาวบ้านจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยังมีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ระงับการอนุมัติโครงการอุตสาหกรรม โดยให้ทำตามมาตรา67 ที่มีเนื้อหากเกี่ยวกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพประชาชน (HIA) ด้วยโดยให้ผู้แทนสถาบันอุมศึกษาให้ความเห็นประกอบ และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสียก่อน ทั้งนี้ สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ย่อมได้รับความคุ้มครอง

 

ล่าสุด มีการระดมความคิดเห็นกันในเวทีสมัชชาสุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อรวบรวมข้อเสนอของทุกภาคส่วนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่เพิ่งร่างขึ้นมาใหม่ และเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่ประชาชนจะลองเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายผ่านกลไก สช.นี้ แม้จะไม่ได้มีความหวังเรืองรองนัก

 

ข้อเสนอที่ถูกรวบรวมมี 13 ข้อ ได้แก่

 

     1. การกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง ต้องให้ความสำคัญกับมิติทางสุขภาพมากขึ้น และน่าจะมีความสำคัญเท่าเทียมหรือมากกว่ามิติทางเศรษฐกิจ จึงขอให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนจังหวัดระยอง

 

     2. ให้มีการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง เนื่องจากปัจจุบันเน้นการขยายอุตสาหกรรมตามแผนแม่บทปิโตรเคมีระยะ 3 ขัดแย้งกับวิสัยทัศน์การพัฒนาของชาวระยอง จึงควรดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ อันประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อทบทวนแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน

 

      3.ให้กรมโยธาฯ ทำการวางและจัดทำผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยองฉบับใหม่ เนื่องจากผังรวมฯ ล่าสุดหมดระยะเวลาบังคับใช้แล้ว โดยจะต้องทบทวนการประกาศพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ประกาศทับพื้นที่ชุมชนในปัจจุบัน และกำหนดให้มีพื้นที่กันชน (buffer zone)

 

      4.ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จึงเสนอให้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน บมจ.อีสวอเตอร์ ปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ โดยต้องเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องแบ่งสรรผลประโยชน์จากการขายน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

 

      5.ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปรับปรุงระบบและมาตรการทางการคลัง โดยให้โรงงาน ภาคธุรกิจเสียภาษีที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระยอง, ทบทวนให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับโรงงานใหม่ และให้มีการนำมาตรการทางภาษีสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้จังหวัดมีทรัพยากรเพียงพอในการจัดบริการสาธารณะ และฟื้นฟูทรัพยากรฯ

 

       6.ระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางพัฒนาจังหวัดระยองและการวางผังเมืองรวมใหม่ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรชะลอการให้ใบอนุญาต หรือนุมัติเห็นชอบ การขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางไว้ก่อน โดยต้องวางแนวทางและกระบวนการตัดสินใจให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ

 

       7.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรม รวมถึงต้องเผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและวิธีการสร้างเสริมสุขภาพนาภาวะมลพิษให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องโดยเร็ว

 

        8.นอกจากนี้เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่

 

         9.สนับสนุนให้มีการศึกษาและแสวงหาแนวทางในการจัดตั้งกลไกผู้ตรวจการผลกระทบทางสุขภาพ โดยเป็นองค์กรกลาง หรือองค์กรกึ่งตุลาการที่ได้รับการยอมรับจากทั้ง 5 ภาคส่วน มีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน แก้ปัญหาความขัดแย้งรวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

 

        10.หน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดให้มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนกลุ่มพิเศษ และกลไกสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชน สนับสนุนให้เกิดการลงทุนทางสังคม ทั้งทุนการศึกษา สุขภาพ สวัสดิการและวัฒนธรรม

 

         11.เสนอให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาสังคม และมีการจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของประชาชนจังหวัดระยองทุกปีโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่

 

          12.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีบริการทางสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย และระบบน้ำประปาในชุมชนมาบตาพุด

 

          13.ควรสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมในจังหวัดระยองติดตามความเคลื่อนไหวทางนโยบาย และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนนโยบายในทุกช่องทาง จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเตรียมจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยมาบตาพุด" เพื่อจัดระบบการเรียนรู้และการศึกษาสำหรับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง และควรพิจารณาจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์มลพิษและโรคจากการพัฒนา" เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป

เมื่อโรงไฟฟ้า (ถ่านหิน-นิวเคลียร์) ต้องเร่งหาที่ลง !

หลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2007 ได้รับอนุมัติไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2550  ก็เป็นอันชัดเจนว่า นับจากนี้ไป 15 ปี ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 กว่าโรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง (2,800 เมกกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (4,000 เมกกะวัตต์) มีทั้งที่ กฟผ.สร้างเองและการเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า (IPP)ยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมากด้วย

 

แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นตัวหลัก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน นอกจากนี้กระบวนการทำแผนยังมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม เช่น การรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ๆ มีอยู่ไม่กี่ครั้ง และเป็นการอธิบายโดยวิทยากรมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ  

 

อย่างไรก็ตาม แม้แผนจะชัดเจน แต่พื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งยังมีข้อถกเถียงชวนกังวลนั้น ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะไปลงตรงไหน จนมาปีนี้ความชัดเจนค่อยๆ ปรากฏขึ้นว่ามีแนวโน้มจะเป็นพื้นที่เดิมที่เคยถูกวางไว้และพื้นที่ใกล้เคียง

 

 

000

 

 

หลังจากแผนพีดีพีอนุมัติ พื้นที่ที่จะตั้งโครงการโรงไฟฟ้าทั้งถ่านหิน และนิวเคลียร์ ยังเป็นเรื่องคลุมเครือ อาจเพราะรัฐเองก็กำลังประเมินแรงต้านในพื้นที่ว่ายังมีหนาแน่น กระทั่ง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' อดีต รมว.พลังงานที่ดันพีดีพีฉบับล่าสุดสำเร็จก็ยังออกมาบ่นว่าว่ารัฐบาลขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปได้ช้า ขณะที่เวลาที่วางไว้ในแผนพีดีพีก็งวดเข้าทุกที ( "ปิยสวัสดิ์สับลดค่ากลั่น 10 ปีต้องผุดนิวเคลียร์" นสพ.ข่าวหุ้น 9 มิ.ย.51)

 

ตามแผนแล้วโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกกะวัตต์แรกต้องป้อนไฟสู่ระบบในปี 2563 และอีก 2,000 เมกกะวัตต์ที่เหลือจะตามมาในปีถัดมา นับเป็นเวลาที่รวดเร็วมากในการคิดและดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจเพราะไทยพยายามเร่งฝีเท้าให้ทันเวียดนาม ซึ่งถูกเล็งว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ เพราะเวียดนามก็เริ่มผลักดันโครงการนิวเคลียร์แล้ว แต่ขอเวลาศึกษาก่อน 15 ปี ขณะเดียวกันเวียดนามก็สำรวจพบแหล่งแร่ยูเรเนียมขนาดใหญ่ในประเทศเองด้วย

 

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีคณะทำงานขึ้นมา 5 ชุดเพื่อเตรียความพร้อมทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์กับประชาชน นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมส่งหนังสือเชิญ 5 บริษัทต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส เข้าคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จภายใน 2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม  นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ศึกษานโยบายพลังงานไทยมายาวนานให้ความเห็นว่า คณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ทุ่มงบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาท แบ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้แก่ประชาชน แต่ปัญหาคือ การดำเนินงานดังกล่าวยังไม่รอบด้าน มุ่งเน้นแต่การให้ความรู้ด้านนิวเคลียร์เท่านั้น ทั้งๆที่ประเทศไทยยังมีพลังงานทางเลือกชนิดอื่นๆ ( "ติงงบประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 100 ล้าน" เว็บไซต์ไทยรัฐ 2 ก.ค.51)

 

ที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการและเอ็นจีโอเสนอแนวทางการปฏิบัติด้านพลังงานทางเลือกของประเทศไทยให้แก่กระทรวงพลังงาน แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงยังไม่มีบทสนทนาในเรื่องนี้เท่าไรนัก และน่าสนใจว่า เดชรัตน์และคณะก็กำลังจะพิมพ์หนังสือเรื่อง 10 สิ่งที่นิวเคลียร์พูดและไม่พูด เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมนี้ เรียกได้ว่าแข่งกันทำความเข้าใจกับประชาชนเลยทีเดียว

 

 

000

 

 

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย "ผศ.ดร.ปรีชา การสุทธิ์" ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดศึกษาความปลอดภัยและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คาดว่าพื้นที่เดิมที่เคยเตรียมไว้จะถูกนำมาทบทวนอีกครั้ง โดยเฉพาะทะเลชายฝั่งตะวันตก หรือ "เวสเทิร์นซีบอร์ด" ที่เคยมีการศึกษาไว้แล้วไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เนื่องจากมีความลึกของทะเลและมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับเอาไว้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันตกดังกล่าวมี "แนวรอยเลื่อนระนอง" พาดผ่าน ตั้งแต่ประจวบฯ ชุมพร ระนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมของ "รอยเลื่อนระนอง" หลังเหตุการณ์ "สึนามิ" เมื่อ 3 ปีก่อนว่ามีการขยับหรือไม่ ซึ่งการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ( "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  (จับกระแสพลังงาน)" เว็บไซต์แนวหน้า 30 พฤษภาคม 2551)

 

ภาคใต้ตอนบนเป็นทำเลทองสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมหนักมาเนิ่นนาน และพร้อมๆ กันก็มีประวัติการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างยาวนานด้วย โดยเฉพาะที่ประจวบคีรีขันธ์

 

ทับสะแก'อีกอำเภอหนึ่งในจังหวัดประจวบฯ ก็เคยถูกเล็งไว้จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุดเดียวกับโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด (แห่งละ 700 เมกกะวัตต์) ซึ่งสุดท้ายทั้งบ่อนอก ทั้งบ้านกรูดถูกคัดค้านจนต้องพับโครงการไป ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าทับสะแกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า คือ 2,000 เมกกะวัตต์ก็มีปัญหาการคอรัปชั่นของพนักงาน กฟผ. ในการซื้อที่ดิน 4,019 ไร่ โดยมีการทุจริตเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท หรือ 40% ของมูลค่าทั้งหมดของโครงการ จนต้องหยุดชะงักไป แต่วันนี้โครงการโรงไฟฟ้าที่ทับสะแกกลับมาใหม่ และแว่วว่าอาจจะใหญ่กว่าเดิม

 

 

000

 

         

ปลายปี  2549  กฟผ.ได้ฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกขึ้นมาใหม่ พร้อมมีแผนจะขยายกำลังการผลิตจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ (5 โรง) คาดว่าจะใหญ่ที่สุดในเอเชีย

         

นายสถาน ช่อระหงส์ ชาวบ้านทับสะแกให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะเกาะติด ตามเรื่องที่กระทรวงพลังงานจนทางกระทรวงยืนยันว่าไม่มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก แต่ในทางปฏิบัติ กฟผ.ก็ยังคงเข้ามาทำการผลักดันโครงการในรูปแบบต่างๆ และสร้างความแตกแยกกับคนในชุมชน จนบางชุมชนถึงกับต้องไล่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของ กฟผ.ออกจากหมู่บ้านไป

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการเปลี่ยนผังเมือง "สีเขียว" เป็น "สีน้ำเงิน" เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะปัจจุบันร่างผังเมืองรวมชุมชนทับสะแกที่โยธาและผังเมืองจังหวัดประจวบฯ ได้นำมาขอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 1 ได้ระบุให้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ.เป็นสีเขียว เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเดิมของชุมชนที่เป็นเกษตร และมีทิศทางการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด อยู่ห่างจากชุมชนหนาแน่นเพียง 1,500 เมตร แต่  กฟผ.ยื่นขอให้เปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีน้ำเงินแทน โดยอ้างว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินนี้เป็นส่วนราชการและเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค เพราะ กฟผ.ตีความว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาธารณูปโภคของรัฐ   ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต่อสู้กันอยู่ โดยชาวบ้านในพื้นที่ยังคงรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อคัดค้านโครงการ

 

คาดกันว่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นี้จะเดินหน้าไปคู่กับการผลักดันให้พื้นที่ประจวบฯ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เหล็กแห่งชาติ เน้นการผลิตเหล็กครบวงจร ซึ่งก็กำลังผลักดันกันอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นกัน

 

000

 

ด้านภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมหนักมาอย่างยาวนานและหนาแน่น ยังคงมีความพยายามใส่โครงการเหล่านี้เพิ่มเติมเข้าไป เช่น ที่ระยองมีการขยายโครงการปิโตรเคมีระยะ 3 ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการด้านปิโตรเคมี รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนที่ฉะเชิงเทรา สมุทรสงครามก็มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นกัน

 

แม้ระดับนโยบายจะผลักดันโครงการเหล่านี้ ภาคเอกชนเองก็กำลังรีบดำเนินการ ในส่วนของคนในพื้นที่ก็มีการรวมตัวกันคัดค้านอย่างเหนียวแน่นเรียกว่าระดมพลข้ามเขตข้ามจังหวัดกันแล้ว เช่น เมื่อ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหลายแห่ง เช่น กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจังหวัดระยอง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบางปะกง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าราชบุรี กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อประชุมหารือแนวทาง และผนึกกำลังกันในการเคลื่อนไหวต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละท้องที่ที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบ หลังจากมีกระแสข่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานเร่งรัดให้ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เร่งพิจารณาอนุมัติ ผ่านอีไอเอ (EIA) ให้แก่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคเอกชน 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของกลุ่มบริษัทเครือเกษตรรุ่งเรือง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้า จ.ระยอง ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

 

 

000

 

 

แนวโน้มการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหลายดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอุปสรรค

 

การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนโยบาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอาจหาจุดลงตัวยากลำบาก แต่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการต่อสู้กันในบั้นปลายที่มีแต่จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันกับทุกฝ่าย

 

การแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น กรณีของแม่เมาะ มาบตาพุด ฯลฯ อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะปัญหาสะสมหมักหมมมานาน แต่ก็น่าจะเพิ่มความมั่นใจให้ผู้คนที่กำลังจะเผชิญกับโครงการในรูปแบบเดียวกันได้

 

ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าโครงการมหึมาที่มีข้อถกเถียงกันเยอะแยะในทุกรายละเอียดนี้จะลงเอยอย่างไร ในพื้นที่ไหน ในภาวะที่ประชาชนหัวแข็งขึ้นเรื่อยๆ และไม่ยอมให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" ผูกขาดอำนาจการกำหนดนโยบายแล้ว

กบฏ - ปฏิวัติ - รัฐประหาร ในสังคมการเมืองไทย

ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่ของไทย ผ่านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง การเข้าถึงอำนาจ หลายครั้ง หลายรูปแบบ ที่มีสำเร็จและล้มเหลวคละเคล้ากันไป

สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน โดยวิธีนอกระบบกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ยอมรับ เกี่ยวพันโดยตรงกับผลลัพธ์ของปฏิบัติการ ถ้าสำเร็จ คณะผู้ก่อการก็สามารถบัญญัติคำหรือภาษาสวยงามลงไปอ้างอิงการกระทำของกลุ่มตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะปฏิวัติ  คณะปฏิรูป  เป็นต้น แต่หากล้มเหลวมีเพียงโทษสถานเดียวคือการเป็นศัตรูของสังคมในฐานะ “กบฏ”

หัวไม้สัปดาห์นี้จะพาย้อนไปดูการปฎิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่…

0 0 0

พลังประชาชนบนโลกไซเบอร์

 

< พิณผกา งามสม >

เมื่อชาวนาอยากจะพูดให้คุณเข้าใจ

ปี 2545 ชาวบ้านปากมูลเลือกที่จะเดินทางทั่วอิสานเพื่อสื่อสารทางตรงไปยังบรรดาเพื่อนระดับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต้านเขื่อน

เพราะพวกเขาไม่ได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักที่มักนำเสนอข่าวแบบจุดพลุ แล้วก็เลือนหายไป นั่นจึงทำให้พวกเขาออกเดิน เดินเพื่อสื่อสารทางตรง ไม่ต้องผ่านสื่ออีกต่อไป แน่นอนว่าชาวบ้านปากมูลต้องเดินทางวันละกว่า 10 กิโลเมตร ค่อยๆ เดินไปเพื่อแสดงนิทรรศการ และพูด แบบปากต่อปาก

 

พวกเขาไม่ได้เดินมาที่ทำเนียบรัฐบาลหลังจากได้บทเรียนยาวนานจาก 99 วันหน้าทำเนียบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า เขาต้องการความเข้าใจจากเพื่อนร่วมชาติมากกว่า เพราะหากเพื่อนร่วมชาติเข้าใจความทุกข์ของเขา เมื่อนั้น เขาคงพูดให้รัฐบาลเข้าใจง่ายขึ้น

ความมืดยามเที่ยง : ความรู้ทางรัฐศาสตร์กับทางออกการเมืองไทย

สัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13 มิถุนายน 2551


 

...ในวาระนี้นอกจากจะรู้สึกถึงวันเกิดของคณะ(รัฐศาสตร์) แล้ว ก็อยากจะอวยพรท่านนายกฯ ในสังคมมุสลิมนั้นมีวิธีขอพรให้ผู้นำ และเขาบอกว่าวิธีขอพรให้ผู้นำนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องขอพรให้ต้อง ขอให้พระเป็นเจ้าเอื้ออำนวยให้ผู้ปกครองมีสติ สามารถดำเนินการปกครองของตัวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประโยชน์ของคนทั้งหลายทั้งปวง มีปัญญาเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง ผมว่าอันนี้เป็นพรที่เราอยากจะให้กับท่านนายกรัฐมนตรีในวันเกิดของท่าน เสียดายที่นักข่าวโทรทัศน์ไปหมดแล้ว... ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวในตอนท้ายการสัมมนา

 

 

 

 

 

 

 

 

ต้านรัฐประหารฉบับไซเบอร์

ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไทยขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการคือ รัฐจะใช้ความรุนแรงกับผู้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกประการคือ การรัฐประหารซึ่งสื่อกระแสหลักยังคงต้องเกาะติด น้ำเสียง' และ ท่าที' ของนายทหารระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อย้อนดูสถิติการรัฐประหารของไทยจะพบว่า ความถี่ในการรัฐประหารของไทยคือ ประมาณ 7 ปีต่อการรัฐประหาร 1 ครั้ง

การรัฐประหารที่เว้นช่วงสั้นที่สุดคือการรัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 ( 1 ปีกับอีก 15 วัน)

ช่วงที่เว้นระยะนานที่สุดคือ 23 ก.พ. 2534 - 19 กันยายน 2549 เว้นช่วงนาน 15 ปี 6 เดือน กับอีก 28 วัน

ตารางการรัฐประหารที่สำเร็จในประเทศไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 - ปัจจุบัน

วัน เดือน ปี

ผู้นำการรัฐประหาร

ผู้ถูกทำรัฐประหาร

1 เมษายน 2476

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

รัฐประหารตัวเองโดยงดใช้รัฐธรรมนูญ

20 มิถุนายน 2476

พระยาพหลพลพยุหเสนา

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

8 พฤศจิกายน 2490

จอมพลผิน ชุณหวัณ

พลเรือเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐประหารตัวเอง

16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลป. พิบูลสงคราม

20 ตุลาคม 2501

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลถนอม กิตติขจร

17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร

รัฐประหารตัวเอง

6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

23 กุมภาพันธ์ 2534

พลเอกสุนทร คงสมพงษ์

พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ

19 กันยายน 2549

พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หมายเหตุ: แก้ไข 7 มิ.ย. 51 -- 17.34น. ตามการท้วงติงของธนาพล อิ๋วสกุล

บางที การเว้นช่วงครั้งหลังสุดที่ยาวนานกระทั่งทำให้สังคมไทยตายใจว่า ทหารกลับเข้ากรมกรองไปทำหน้าที่ ทหารอาชีพ แล้วนั้น อาจจะเป็นเพียงข้อยกเว้น

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่ผ่านก็ยังได้รับการยอมรับกันว่าเป็นไปโดยสงบไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และซ้ำคณะทหารที่ขึ้นมาคุ้มครองประเทศก็ยังมีสายใยและความร่วมมืออันดีกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวภาคประชานเป็นอย่างดี นับเป็นสิ่งที่ต่างออกไปจากการรัฐประหารที่เคยมีมาครั้งใดๆ ในประเทศนี้

แน่นอนว่าปัจจัยส่วนหนึ่งคือ ทหารเรียนรู้มากขึ้นที่จะอยู่ร่วมกับประชาสังคมไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนที่เข้มแข็งและไม่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารได้ควบคุมความรับรู้ทุกอย่างในสังคมนี้ก็คือโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่อำนาจรัฐและคณะรัฐประหารใดๆ ไม่เคยเผชิญมาก่อน

การควบคุมความรับรู้หรือการแสดงออกของประชาชนภายหลังการรัฐประหารนั้น เป็นสูตรสำเร็จที่จะต้องทำทันทีเมื่อมีการยึดอำนาจ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นตัวกำหนดความรับรู้และท่าทีของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่า ในการรัฐประหารใดๆ ก็ตาม ผู้ทำรัฐประหารต้องเข้ายึดพื้นที่ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสมัยก่อนได้แก่ สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ทั้งการควบคุมการแสดงออกของประชาชนก็อาจทำได้โดยการออกกประกาศและใช้กองกำลัง แต่ สำหรับโลกไซเบอร์แล้ว นั่นอีกเรื่องที่ต่างออกไป มันหมายถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ต้องไล่กวดกันเหมือนแมวไล่จับหนู

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 24 ก.พ. 2534 และหลังเกิดเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองได้จับพิมพ์หนังสือ ต้านรัฐประหาร' ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนในการต่อสู้กับการต้านรัฐประหารโดยผู้เขียนคือนักสันติวิธีนาม จีน ชาร์ป

แน่นอนว่าหนังสือเล่มนั้นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติในโลกจริงซึ่งอาจจะเชยไปสักหน่อยสำหรับมนุษย์ยุคไซเบอร์ แต่หากใครสนใจก็ยังหาซื้ออ่านได้ นั่นเป็นแนวทางการต้านรัฐประหารโดยประชาชนซึ่งขณะนี้ คงจะต้องเพิ่มเติมวิธีการสำหรับประชากรไซเบอร์เข้าไปด้วย

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยทันที มีเว็บไซต์อย่างน้อย 2 แห่งกำเนิดขึ้นในโลกไซเบอร์นั่นก็คือ http://www.19sep.org/ และ http://www.dcode.net/ ทั้งสองเว็บเป็นต่อต้านการรัฐประหารแต่เห็นต่างในรายละเอียด โดยเว็บไซต์หลังนั้นเป็นกลุ่มนักเล่นเน็ต ที่ชื่นชมในนโยบายของพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร แต่เว็บแรกนั้นไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เว็บไซต์ได้พัฒนามาสู่การจัดตั้งมวลชนผ่านโลกไซเบอร์และได้เคลื่อนตัวจากพื้นที่ในโลกไซเบอร์สู่สนามหลวง ในชื่อของ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่มประชาชนต้านรัฐประหารในที่สุด

ผลพวงอันเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน ต่อความตื่นตัวของประชาชนที่เข้าถึงเว็บไซต์ ยังได้ก่อให้เกิดเว็บไซต์และบล็อกเกอร์อีกจำนวนมากในการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งในฐานะผู้รับและส่งสาร กระทั่งทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ใหม่ในการแย่งชิงความรับรู้ แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งยากสำหรับภาครัฐ แม้จะมีกฎหมายอา๙ญากรรมว่าด้วยการกระทำความผิดด้วยคอมพิวเตอร์ออกมาก็ตาม เพราะ....ย้ำ...นี่คือเรื่องของเทคโนโลยีที่รัฐต้องคอยวิ่งไล่จับให้ทัน

ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันจะทำให้ความคิดของคนมันวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดการสทนาแลกเปลี่ยนได้อย่างกว้างขว้างขึ้น มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมก็เป็นได้. ซึ่งรัฐอาจจะกลัวตรงนี้ ก็เลยต้องการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบ. พวกเราพลเมืองและพลเมืองอินเทอร์เน็ตทุกคน ก็ต้องพยายามรักษาพื้นที่ของเราตรงนี้ไว้ให้ปลอดจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและอำนาจอื่น ๆ. ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ พื้นที่สื่อพวกนั้นเราพลเมืองธรรมดาเข้าถึงได้ยากมาก. พวกเราพลเมืองจึงต้องรักษาพื้นที่ที่เรามีอยู่ไม่มากนักในอินเทอร์เน็ตเอาไว้. ไม่ใช่เพื่อตัวอินเทอร์เน็ตหรือตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง แต่เพื่อสังคมทั้งหมด' อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยี SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนไว้ให้สัมภาษณ์วาวสร ปฏิรูปสื่อ' เมื่อปลายปีที่แล้ว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่รัฐพยายามทำกับพื้นที่อินเตอร์เน็ตปัจจุบันนี้คือ

1) สั่งปิดเว็บไซต์ โดยติดต่อไปที่เว็บโฮสติ้ง (ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตสำหรับสร้างเว็บไซต์) ขอหรือสั่งให้ปิดเว็บไซต์นั้นลง หรือหาทางเจาะระบบเข้าไปทำลายเว็บไซต์ลง ผลก็คือเว็บไซต์นั้นก็จะหายไปจากอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ไม่ว่าจากประเทศไหนก็จะเข้าไม่ได้อีกแล้ว.

2) ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่าการบล็อค (block) ซึ่งก็ทำกันได้หลายระดับ ทั้งที่ระดับเกตเวย์ (gateway - เป็นประตูเชื่อมเครือข่ายภายในประเทศออกสู่อินเทอร์เน็ต) ที่ระดับไอเอสพี หรือที่ระดับองค์กรอย่างสถานศึกษาหรือบริษัทบางแห่งก็พบว่ามี. ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการหรือองค์กรนั้น ๆ ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคได้. หรือถ้าเป็นการบล็อคที่เกตเวย์ระดับประเทศ ก็จะมีผลทำให้ผู้ใช้ในประเทศทั้งประเทศไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้ - อย่างไรก็ตามผู้ใช้อื่น ๆ ก็จะยังเข้าได้อยู่. วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐของไทยใช้กันมาก เพราะสะดวกไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ทำได้เองเลย หรือว่าสามารถกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ทำได้ไม่ยาก, ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย.

3) ระดมโจมตีก่อกวนเว็บไซต์

3.1 ให้ทำงานช้าลงมาก ๆ จนใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า DoS (Denial of Service). หรือ

3.2 คัดกรองเนื้อหา วิธีนี้จะเนียนกว่า คือยังเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ตามปกติอยู่ แต่เนื้อหาบางส่วนในเว็บไซต์จะหายไป ซึ่งแบบนี้จะทำให้สังเกตได้ยากกว่าวิธีแรก.

ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนที่เสิร์ชเอนจิ้นหลายเจ้า ยอมกรองเว็บไซต์บางอย่างออกจากผลลัพธ์การค้นหา. คือถ้าเรารู้ที่อยู่ของเว็บไซต์นั้น ก็ยังอาจจะพิมพ์เข้าไปได้เอง แต่มันจะไม่ปรากฎอยู่ในรายการผลลัพธ์ของเสิร์ชเอนจิ้นเลยถ้าค้นหาจากประเทศจีน. ซึ่งถ้าพิจารณาว่าปริมาณการจราจรส่วนใหญ่ของเว็บนั้น วิ่งผ่านเสิร์ชเอนจิ้น, วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก อีกทั้งสังเกตได้ยากกว่าการทำให้เข้าเว็บไซต์ไม่ได้

หรือกรณีประเทศไทย ที่ขอความร่วมมือจากกูเกิ้ลให้บล็อคคลิปบางคลิปใน YouTube ไม่ให้ผู้ใช้จากประเทศไทยเห็น ก็เข้าข่ายนี้

3.3 บิดเบือนเนื้อหา ปล่อยข่าว หรือก่อกวนสร้างความปั่นป่วนในกระดานสนทนาออนไลน์ เว็บไซต์บางแห่งถูกก่อกวนด้วยโปรแกรมหรือคนที่ถูกจ้างมาโพสต์ข้อความไร้สาระซ้ำ ๆ กัน หรือโพสต์ข้อความบิดเบือนเบี่ยงประเด็นต่าง ๆ หรือล่อให้เกิดการทะเลาะกัน ที่เรียกว่า "ล่อเป้า" ทำให้คุณภาพของข้อมูลข่าวสารโดยรวมในอินเทอร์เน็ตลดลง

4 วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือการสร้างความเชื่อ หรือความกลัว เพื่อทำให้เกิด "การเซ็นเซอร์ตัวเอง". ทำหผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ไม่อยาก/ไม่กล้าโพสต์ไม่อยาก/ไม่กล้าเปิดดู ไม่อยาก/ไม่กล้าพูดถึง. ผมคิดว่าอันนี้น่ากลัวที่สุด และมีผลกว้างขวางมากกว่าแค่ในอินเทอร์เน็ต แต่รวมถึงทั้งสังคมเลย

การสร้างความกลัวนี่ รวมถึงการใส่มาตราบางมาตราลงมาใน พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต. มาตรา 14, 15, 16. ซึ่งกว้างมาก แล้วแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะตีความ

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในปี 2550 นอกเหนือจากลุ่มต้านรัฐประหารและรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามิถีทางประชาธิปไตย จะสร้างข่ายใยเติบโตขึ้นในพื้นที่อินเตอร์เน็ตของไทยแล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตก็ทำงานไปพร้อมๆ กันด้วย กลุ่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า FACT ได้ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขันในช่วงกว่าขวบปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่การพยายามเผยแพร่เรื่องราวการถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต และรวมถึงการแจกจ่ายแปรแกรม มุด' เพื่อให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูก บล็อก'

ในเรื่องร้ายมีเรื่องให้เรียนรู้ และก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า พัฒนาการของประชากรในโลกไซเบอร์ของไทยจะถูกเร่งให้เติบโตขึ้นอีกหรือไม่.... แต่หากพื้นที่ในโลกไซเบอร์ของไทยได้เติบโตไปแบบไม่ต้องมีตัวเร่ง และแรงเสียดทานแบบเอาประเทศเป็นตัวประกัน...นั่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

พ.ร.บ.คุ้มครองนายจ้าง!?


หลังจากทำงานขับรถบรรทุกส่งแก๊สกับบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) มาได้ร่วมปี สุรชัย ถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่ หวังใจว่าจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากถูกต่ออายุทดลองงานมาเกือบปี แต่เมื่อไปถึงสำนักงานใหญ่ เขากลับได้รับการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทอเดคโก้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัททีไอจีอ้างว่า เป็นบริษัทจัดหางานระดับโลก ที่มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก

ทีละคน ทีละคน... เขาและเพื่อนๆ ทยอยเซ็นสัญญาที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกว่าจะกรอกรายละเอียดให้

เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานหรือสัญญาเลย ทั้งยังไม่มีเวลาอ่าน โดยเมื่อฟังดูเผินๆ สวัสดิการก็ได้เหมือนกับทีไอจี หลังจากนั้นมีอีกฉบับมาให้เซ็นเป็นรายคน คนแรกเซ็นทั้งที่ยังไม่ได้อ่าน คนต่อไปก็อ่านผ่านๆ แล้วก็เซ็น เพราะผู้บริหารระดับสูงบอกว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ว่าคนที่อยู่ก่อนได้อะไร พวกเขาก็จะได้เหมือนกันหมด

ต่อเมื่อเซ็นไปแล้ว ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ จึงได้รู้ว่าโดนหลอก ในสัญญามีข้อหนึ่งบอกว่าพนักงานสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิต่างๆ จากทีไอจี ทั้งยังมีอีกหลายข้อที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงาน อาทิ ป่วยเกิน 30 วันใน 1 ปีก็ถูกปลดได้

ต้นปีถัดมา สุรชัยและเพื่อนถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่อีกครั้ง คราวนี้พวกเขาถูกให้เซ็นสัญญาเป็นลูกจ้างเหมาช่วงของบริษัทเอสสตีมจำกัด ที่เพิ่งตั้งได้ไม่กี่เดือน (ซึ่งภายหลังพบว่า ผู้จัดการ บ.อเดคโก้ ลาออกไปตั้ง บ.นี้ และเมื่อไปที่ทำการบริษัทก็พบว่าอยู่ระหว่างก่อสร้าง) ถ้าไม่เซ็นก็ออกจากงานนี่คือเงื่อนไข

จากการเซ็นสัญญาคราวก่อน ทำให้คราวนี้สุรชัยและเพื่อนซึ่งเป็นพนักงานเหมาค่าแรงของอเดคโก้ ไม่ยอมเซ็นสัญญา ส่งผลให้พวกเขาถูกเลิกจ้าง... ดีที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ที่ช่วยกันเคลื่อนไหว ผ่านการนัดชุมนุมเรียกร้อง นอกจากนี้ยังได้รับกำลังใจจากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวมาตลอด

ระหว่างทางต่อสู้นั้น หนแรก บริษัททีไอจี ซึ่งถือเป็นนายจ้าง ไม่ยอมเจรจากับตัวแทนจากสหภาพ เพราะมองว่าพนักงานจ้างเหมาไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพ โดยมีเพียงข้อเสนอเดียวคือให้ทั้ง 9 คนกลับเข้ามาทำงานโดยเซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาค่าแรงใหม่

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว พนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 9 คนก็ได้กลับเข้าทำงาน หลังจากถูกเลิกจ้างเกือบ 1 เดือนเต็มๆ แม้ตัวแทนฝ่ายบริหารยังยืนยันให้ทั้ง 9 คน เซ็นสัญญาจ้างงานเป็นคนงานเหมาช่วงของบริษัทเอสสตีมจำกัด ก่อน จนถึงเดือนมิถุนายน 2552 แล้วในปีต่อไป ทางทีไอจีจะรับพวกเขาเป็นพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวและยืนยันว่าจะรับพวกเขาเข้าเป็นพนักงานประจำไม่เกินเดือนมิถุนายน 2554 หรือเร็วกว่านี้ หากปัญหาฟ้องร้องทางกฏหมายระหว่างนายจ้างกับสหภาพฯ มีข้อยุติ และยืนยันว่าจะไม่ติดใจ กลั่นแกล้งหรือโยกย้ายคนงานทั้ง 9 คนโดยเด็ดขาด

ความคุ้มครองที่เปลี่ยนไป
จากการต่อสู้ของพนักงานจ้างเหมาค่าแรงทั้ง 9 คน บางคนบอกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไข (หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้

โดย ลาวัลย์ ดาราพัฒนภัค นิติกร 8 ว. ผู้แทนกองนิติการ ได้กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง กฎหมายแรงงานฉบับใหม่: โฉมหน้าของการจ้างงานแบบใหม่ในสังคมไทย ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ใน พ.ร.บ. ที่แก้ไขใหม่นี้ ได้คุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมากขึ้น โดยมีมาตรา 11/1 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ที่รับคนงานมาจากบริษัทจ้างเหมาค่าแรง โดยที่การทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว โดยต้องจัดให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน อย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

เธอมองว่า มาตรานี้จะทำให้ลูกจ้างที่ถูกจ้างมาโดยรับเหมาค่าแรง มีสิทธิเรียกร้องกับผู้ประกอบการได้เท่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากที่ผ่านมา ลูกจ้างที่ทำงานลักษณะเดียวกันกลับถูกปฎิบัติต่างกัน เพราะสถานะที่เป็นลูกจ้างประจำ และลูกจ้างเหมาช่วง ดังนั้น การมีมาตรานี้จะส่งให้ปฎิบัติต่อลูกจ้างทั้งสองกลุ่มโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฎิบัติ

นอกจากนี้แล้ว ในมาตรา 14/1 ซึ่งระบุว่า ศาลสามารถมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ ของนายจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีความเป็นธรรมมากขึ้น

บางคนบอกว่า เรื่องนี้มีบังคับใช้แล้วตั้งแต่ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่อันนั้นเฉพาะสัญญาสำเร็จรูป ที่เป็นสัญญาตายตัว แต่สัญญาจ้างแรงงานไม่ต้องขึ้นกับลายลักษณ์อักษร อาจตกลงด้วยวาจาถือเป็นสัญญาจ้าง เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่ครอบคลุมถึงสัญญาจ้างแรงงาน

ในกรณีที่นายจ้างจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย มาตรา 15 ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน จากเดิมจ่ายเพียงร้อยละ 50

นอกจากนั้นแล้ว ลาวัลย์ กล่าวว่า มีการแก้ไขกฎหมายให้ยืดหยุ่นต่อการทำงานด้วย อาทิ มาตรา 23 ซึ่งกำหนดว่า หากการดำเนินธุรกิจนั้นเกิดข้อขัดข้อง ต้องให้ออกจากงานก่อนเวลา 8 ชั่วโมงทำงาน เช่นอาจมีไฟฟ้าดับ ภัยธรรมชาติ หรือเครื่องจักรเสีย ต้องให้ลูกจ้างกลับก่อน ตรงนี้มีการแก้ไขให้เกิดความยืดหยุ่น โดยนำชั่วโมงที่เหลือไปทบกับวันทำงานถัดไปได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าวันละ 9 ชั่วโมง โดยที่อยู่ในกรอบ 48 ช.ม. ต่อสัปดาห์ โดยได้กำหนดค่าแรงไว้ว่า ลูกจ้างจะได้เงินหนึ่งเท่าครึ่งของค่างจ้างต่อวัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์

จากที่ผู้แทนของกระทรวงแรงงานชี้แจงมา กรณีมาตรา 11 ที่ระบุว่า การจ้างงานจากบริษัทจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเป็นนายจ้างของลูกจ้างเหมาค่าแรงนั้น ต้องเป็นการทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วหากพนักงานจ้างเหมาค่าแรง ที่ทำหน้าที่ขับรถ เช่นเดียวกับสุรชัย จะถือว่าทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตหรือไม่ แล้วจะตีความอย่างไร หรือพนักงานที่ทำหน้าที่บรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์จะเรียกว่า อยู่ในส่วนการผลิตหรือไม่

ในเวทีเดียวกันนี้ บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แสดงความเห็นต่อคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานว่า มาตรา 11/1 เขียนไว้แต่ก็มีช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจากกำหนดว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงต้องทำงานอย่างเดียวกับลูกจ้างประจำ จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่ากันกับลูกจ้างประจำ ซึ่งปรากฎว่า บริษัทยานยนตร์แห่งหนึ่งในอีสเทิร์นซีบอร์ด จ้าง รปภ. จากบริษัทหนึ่ง ฝ่ายผลิตอีกบริษัทหนึ่ง สรุปแล้วในบริษัทมีแต่พนักงานเหมาค่าแรงทั้งโรงงาน ไม่มีพนักงานประจำเลย แล้วจะไปเปรียบเทียบกับใคร

ล่าสุด ทราบมาว่า ในอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิต มีการซิกแซกเพื่อเลี่ยงมาตรา 11/1 กันแล้ว โดยผู้ประกอบการซอย แบ่งงานของลูกจ้างที่ทำงานในสายการผลิตเดียวกันออกเป็นส่วนๆ คนที่หนึ่งมีหน้าที่ขันน็อตตัวนี้ ได้เงินเดือนเท่านี้ เป็นพนักงานประจำ คนที่สองมีหน้าที่พ่นสี ยืนเรียงกันแต่เขียน job description (ลักษณะการทำงาน) ซอยออกมา บุญยืนกล่าวและถามว่า ที่กำหนดไว้ว่าสวัสดิการควรได้เท่ากัน จะเป็นจริงได้อย่างไร เพราะถูกเบี่ยงเบน ตามการมีความของนักกฎหมาย ว่าเป็นงานคนละอย่าง

สัญญาจ้างที่นายจ้างได้เปรียบเกินสมควร !?
ด้าน บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงานอิสระ แสดงความเห็นต่อมาตรา 14/1 ว่า คำว่า นายจ้าง ได้เปรียบเกินสมควร จะมีความหมายมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องพิสูจน์ได้ว่า ข้อบังคับทำให้นายจ้างได้เปรียบเกินสมควร โดยที่ศาลมีหน้าที่เพียงแค่สั่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง ได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ไม่มีอำนาจยกเลิกสัญญาจ้าง นอกจากนี้แล้ว ยังให้ศาลแรงงานใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ให้ลูกจ้างเสนอความเห็นอีกด้วย

อีกทั้งขั้นตอนกว่าจะไปถึงศาลนั้นมีระยะเวลาค่อนข้างนาน มีคำสั่งของนายจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ที่ลูกจ้างไม่กล้าร้องเรียน จนเมื่อใช้มาเกิน 1 ปี ศาลเคยตีความว่า ถือว่า ลูกจ้างยอมรับได้ นอกจากนี้ โรงงานจำนวนมาก นายจ้างเป็นผู้ออกข้อบังคับฝ่ายเดียว หลายโรงงานไม่ปิดประกาศ ใช้วิธีให้รู้กันเอง

หรือแม้แต่เมื่อเรื่องไปถึงศาลแรงงานแล้ว บัณฑิตแสดงความเห็นว่า เมื่อถึงตอนนั้น ลูกจ้างจะได้รับผลกระทบพอสมควร โดยลูกจ้างจำนวนมากเสี่ยงต่อการตกงาน ในแง่นี้ พนักงานตรวจแรงงานอาจต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นก่อนไปถึงศาล โดยพนักงานตรวจแรงงานนั้นมีวินิจฉัยให้นายจ้างปรับปรุบแก้ไขระเบียบข้อบังคับได้ แต่เท่าที่ทราบไม่ค่อยทำ รวมทั้งนายจ้างไม่เชื่อถือหรือเห็นว่าต้องปฎิบัติตาม

กฎหมายกระทบการรวมตัวต่อรองของแรงงาน
นอกจากนี้ บัณฑิตเห็นว่า ยังมีมาตราที่จะถูกใช้เป็นกลยุทธ์กดดันไม่ให้สมาชิกสหภาพเคลื่อนไหว และไม่ต่างจากการเลิกจ้างทางอ้อม นั่นคือ มาตรา 15 ที่ให้นายจ้างที่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย จ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน ตรงนี้แม้จะเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 75 และกำหนดให้นายจ้างแจ้งกับลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ก่อนเริ่มหยุด สามวันทำการ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่า เหตุจำเป็นหรือสำคัญที่จะกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนนำไปสู่หยุดงานชั่วคราวคืออะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ฉบับเดิมเปิดช่องไว้ว่าจะกำหนดในกฎกระทรวง แต่ฉบับใหม่ไม่มีระบุไว้ เนื่องจากเกรงกระทบกับการตีความของศาล

การให้นายจ้างต้องแจ้งก่อน 3 วัน เพื่ออะไร เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานรับทราบ? เพื่อตรวจความจำเป็นว่ามีเหตุผลพอหยุดงานไหม? ควรให้ชัดเจนว่า เข้าไปตรวจสอบว่า จำเป็นไหม

บัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายยังเปิดช่องไว้ด้วยว่า เมื่อนายจ้างจำเป็นต้องหยุด นายจ้างมีอำนาจสั่งลูกจ้างหยุดชั่วคราวกี่ครั้งกี่วันก็ได้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากกับสหภาพแรงงาน ที่ต่อรองเรียกร้อง เพราะหากนายจ้างสั่งหยุดหลายวันเข้า ก็อาจกระทบต่อค่าจ้างเงินเดือนที่ต้องนำไปใช้จ่าย

นอกจากนี้แล้ว เขาให้ข้อมูลว่า เคยมีกรณีที่การหยุดงานดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิในประกันสังคม เพราะนายจ้างไปตีความว่า เงินที่จ่ายในช่วงหยุดงานนั้นไม่ถือเป็นค่าจ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องหักเงินสมทบส่งประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างขาดเงินสมบท และเสียสิทธิบางอย่างไป เช่น สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิชราภาพ

ฉัตรชัย ไพรเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส แสดงความเห็นต่อมาตรา 23 ว่า จะทำให้ เรากำลังเข้าสู่ยุคทาส การกำหนดเวลาทำงานที่ทำให้มีการทดเวลา ราวกับฟุตบอล มีทดบาดเจ็บ ถ้าทดไปวันอื่นต้องจ่าย 1.5 เท่า เท่ากับบังคับให้ทำล่วงเวลาได้ เมื่อก่อนต้องลูกจ้างต้องยินยอม

จากข้อถกเถียงต่างๆ ดูเหมือนฝ่ายแรงงานไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขนี้ เนื่องจากยังมีช่องโหว่อีกมาก ที่อาจถูกฉวยใช้เพื่อเอาเปรียบพวกเขา ทั้งยังกระทบต่อสิทธิการรวมตัวเพื่อเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นอกการต่อสู้ในกฎหมายแรงงานยังมีลูกจ้างอีกประเภทที่ไม่ถูกรวมไว้

ลูกจ้างที่ไม่ถูกนับรวม
อาริยา แก้วประดับ สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม เล่าถึงลูกจ้างชั่วคราวในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า จากโรงพยาบาลของรัฐ 800 กว่าแห่งนั้น มีลูกจ้างชั่วคราวถึง 86,000 คน บางโรงพยาบาลมีลูกจ้าง 60-70%พวกเขาถูกนับเป็นลูกจ้างชั้นสอง เพราะได้ค่าแรงจากเงินนอกงบประมาณ หรือเงินบำรุงที่แต่ละโรงพยาบาลรับไปจัดสรรบริหารงานภายใน ทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ทั้งที่ต้องใช้แรงงานเหมือนกับคนอื่นๆ นอกจากลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีคนที่ตกขอบของกฎหมายอีกมาก ทั้งในกระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตร

สัญญาเป็นแบบปีต่อปี บางคนต่อมา 20 ปีแล้ว บางคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวยันเกษียณ บางคน ได้รับพัดลม 16 นิ้วหนึ่งตัว ตอนเกษียณอาริยา บอก

ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมได้ช่วยเจรจาเรียกร้องร่วมกับลูกจ้างชั่วคราว จนปัจจุบันได้ปรับอัตราค่าจ้าง 3% 2 ปี จนเงินเดือนอยู่ที่ 5,360 บาท อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขายังไม่ได้ก็คือ สิทธิการลาคลอด ไม่ได้เงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ก่อนจบ อาริยาทิ้งท้ายด้วยจดหมายของคณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราว อายุงาน 17 ปีที่ตัดสินใจปลิดชีวิตของตัวเองลงเมื่อ 2 ปีก่อน

ส่งถึง สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย

เรื่อง เป็นคนตาย

การกระทำของกระผมในครั้งนี้ ถ้าท่านใดหรือหน่วยงานใดได้รับผลกระทบ กระผมขออโหสิกรรมไว้ด้วย

ถ้าหากเป็นไปได้กระผมอยากจะขอกราบเท้าท่านนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้อำนวยการ, ฝ่ายบริหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกโรงพยาบาลทุกท่านกระผมตอนยังมีชีวิตอยู่ กระผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับบุคคลรอบข้างน้อยมาก จึงคิดว่าถ้าตายไปคงจะมีประโยชน์กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยากสู้ชีวิตต่อไป ชีวิตของกระผมคงจะกระตุ้นพวกท่านให้อยากช่วยเหลือ หรือมีความอนุเคราะห์ พวกลูกจ้างชั่วคราวบ้าง

พวกท่านมีอำนาจ มีบารมี มีความรู้ พวกท่านคงมีหนทาง คิดพิจารณา หานโยบาย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างชั่วคราวให้มาก ขอความกรุณาเถอะครับ ลูกจ้างชั่วคราวบางคนทำงานมา 5 – 20 ปี เงินเดือน 5,360 บาท หักส่วนอื่นแล้ว เหลือประมาณ 4,900 บาท แต่ละเดือน ไม่พอใช้จ่ายหรอกครับ พวกกระผม ไม่มีกฎหมายรองรับ สู้แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้เลย พวกกระผมก็ต้องกิน ต้องใช้เหมือนพวกท่าน ต้องการความมั่นคงในชีวิต เหมือนพวกท่าน และที่สำคัญงานที่พวกผมกระทำ มันไม่ใช่งานชั่วคราว มันเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำจนตายอย่างนี้ ไม่น่าที่จะเรียกว่างานชั่วคราว ขอความกรุณาโปรดพิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวที่ยังอยากสู้ชีวิตต่อไปด้วยเถิด

* การตายของกระผมคงจะเป็นประโยชน์แด่ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหลายทุกโรงพยาบาล

* งานที่พวกเรากระทำไม่ใช่งานชั่วคราว

คณาพันธุ์ ปานตระกูล

การต่อสู้ผ่านช่องทางกฎหมายที่ชื่อ คุ้มครองแรงงาน ดูเหมือนจะแคบลงเรื่อยๆ ช่องทางเดียวที่เหลือ คงไม่พ้นการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ดังที่ ฉัตรชัย สรุปเอาไว้ในเวทีวันนั้น ...

 

 

หมายเหตุ ดาวน์โหลด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ได้ที่นี่

 

 

จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์

 

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ headline