บล็อกของ headline

วิกฤตอาหารแพงและการรับมือ

http://www.prachatai.com/05web/th/home/module/blogazine-cover-20080524.jpg

วิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะหนีไปพ้น คนยากคนจนทั่วโลก ในหลายประเทศวิกฤตการณ์นี้นำไปสู่การจลาจล เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เช่นในเฮติ อียิปต์และโซมาเลีย วิกฤติอาหารยังลามถึงภูมิภาคอเมริกากลาง จนประธานาธิบดีนิคารากัวเรียกประชุมฉุกเฉิน ยอมรับภาวะขาดแคลนอาหารเข้าขั้นวิกฤติ จนเกรงว่าจะบานปลายเป็นเหตุวุ่นวายในสังคม

ขณะเดียวกันองค์กรระหว่างประเทศต่างก็ออกมาให้ข้อมูลชวนหวั่นไหว ธนาคารโลกออกมาเตือนว่า วิกฤตอาหารแพงนี้จะเพิ่มระดับความยากจนทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยราคาอาหารและน้ำมันแพงในช่วง 2 ปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนประมาณ 100 ล้านคนตกอยู่ในฐานะยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความรันทดหนักเข้าไปอีก เพราะมีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 50 บาทต่อวัน

ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ ธัญพืช (ข้าว,ข้าวสาลี และข้าวโพด) ของโลกมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเริ่มขึ้นในปี 2550 และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 31% ข้าวเพิ่มขึ้น 74% ถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 87% และข้าวสาลีเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 130%

ตอนนี้ราคาอาหารเฉลี่ยแล้วเพิ่มมากขึ้น 2 เท่าครึ่ง ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมโลก (เอฟเอโอ)ระบุว่า ราคาอาหารตอนนี้พุ่งขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 26 ทำให้ต้นทุนต่างๆ ขยับขึ้นร้อยละ 40          

สาเหตุของวิกฤตการณ์พืชผล อาหารแพงเป็นประวัติการณ์ดังกล่าวมีหลายปัจจัย และแยกไม่ออกกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุทำให้หลายประเทศโหมปลูกพืชพลังงานทดแทน เบียดบังพื้นที่เพาะปลูกอาหาร บราซิลและสหรัฐดูเหมือนจะเป็นประเทศหลักที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในกรณีนี้ เพราะเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่สุดของโลก ถึงขั้นที่ "ยีน ซีเกลอร์ " ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติเรื่องสิทธิในการเข้าถึงอาหาร เรียกการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างมโหฬารนี้ว่าเป็น "การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูล่า ดา ซิลวาของบราซิล ได้ออกมาตอบโต้เรื่องนี้โดยบอกว่าชาติอุตสาหกรรมที่ให้เงินอุดหนุนต่อผลผลิตทางการเกษตรของชาติตนเอง จนทำให้ได้เปรียบประเทศกำลังพัฒนาต่างหากเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกลดน้อยลง

เจตนารมณ์พฤษภาฯ 2535 (ยังเหลืออยู่?)

 

  

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

ช่วงนี้ตรงกับเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองอย่างมากครั้งหนึ่ง ในสัปดาห์นี้ประชาไทจึงเลือกพาด หัวไม้' เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สำคัญตอนนี้

หากกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด คือ ใน เดือนพฤษภา พ.ศ. 2535' เกิดการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือการต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้ใช้วาทะ เสียสัตย์เพื่อชาติ' มานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะลงไปให้ถึงรายละเอียด เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ยังพูดรวมไปถึงการเรียกร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งการเมืองและการบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ลดอำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นต้น

หรือหากพูดให้ชัดเจนที่สุด เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คือ ต้นทางนำมาซึ่งการปฏิรูปทางการเมืองครั้งสำคัญและกลายเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมาในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด

 

ส่วนระบอบทหาร' ซึ่งกลับเข้ามามีอำนาจในสังคมไทยอย่างมากตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกทำให้กลับเข้ากรมกองและจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ทางอำนาจที่ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรืออยู่เหนือการเมืองอีกต่อไปหลังเหตุการณ์นี้ด้วยกระบวนการ สันติวิธี' ของประชาชน

แล้วเหตุการณ์พฤษภาเกิดขึ้นได้อย่างไร..

คงต้องเล่าย้อนไปถึงกาลครั้งหนึ่งนานมาที่การเมืองไทยยังอยู่ในช่วงในระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ คือแม้จะมีการเลือกตั้งตามสากลประเทศแล้วก็ตาม แต่อำนาจสูงสุดหรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะไปตกลงกันนอกสภาโดยขุมพลังสำคัญได้แก่ ทุน วัง ปืน ซึ่งนั่นเป็นตำแหน่งแห่งที่ประจำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หลังมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยาวนานกว่า 8 ปี หรือครบสองวาระแล้วกระแสคัดค้านมีมากขึ้นตามลำดับความอึดอัด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงต้องประกาศ พอแล้ว' ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 หลังการเลือกตั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

พล.อ.ชาติชาย ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการบริหารประเทศอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการเปลี่ยนโฉมโนมพรรณทางเศรษฐกิจที่ผูกประเทศไปเชื่อมโยงไปกับภูมิภาคและโลกด้วยแนวนโยบาย เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า' อย่างไรก็ตาม มันก็ได้ทำให้ถูกมองว่าเป็นสภาวะธุรกิจการเมืองธนาธิปไตยที่นำไปสู่ข่าวลือเกี่ยวกับการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลชุดนี้อย่างมากมาย มีความหวั่นวิตกกันทั่วไปว่า พล.อ.ชาติชาย จะนำประเทศไปสู่ความหายนะ เพราะพันธะผูกพันที่ทำกับบรรษัทต่างชาติในโครงการใหญ่ๆ ต่างๆ ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองมีความอหังการ์สูง รัฐมนตรีบางท่านกล้าออกมาปะทะคารมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่จนเป็นความตึงเครียดทางการเมืองครั้งสำคัญ

นอกจากกระแสข่าวลือคอรัปชั่นและเค้าลางความขัดแย้งกับกลุ่มทหารอย่างสูงแล้ว รูปแบบการบริหารที่เคยใช้ข้าราชการขับเคลื่อนเป็นสำคัญอย่างในอดีตก็คล้ายถูกมองข้ามไป รัฐบาล พล.อ.ชาติชายได้ตั้งทีมที่ปรึกษาหรือ บ้านพิษณุโลก' ขึ้นมามีบทบาทนำสำคัญในการดำเนินนโยบายของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพบกได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย อย่างมาก เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากราชการและเข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรืออาจเรียกได้ว่า จปร. รุ่น 5 ได้มีบทบาทในการคุมกำลังและดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก ขณะเดียวกันก็มีอดีตผู้บังคับบัญชาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

แต่เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ผลสุดท้าย พล.อ.ชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองจนทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย ต่อมาได้เชิญ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย มาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนายยทหารแห่งกองทัพบก จปร. รุ่น 5 และรัฐบาลตึงเครียดขึ้น

 

ฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์คือ พล.อ.ชาติชาย ตัดสินใจแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงกลาโหม โดยอ้างว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของตน

จนในวันที่ 23 ก.พ.2534 พลเอกชาติชาย และพลเอกอาทิตย์ มีกำหนดการเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่ แต่ก็กลายเป็นกับดักตกอับที่สนามบินกองทัพอากาศ และมีการรรัฐประหารโดยกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ รสช. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าคณะฯ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ร.อ.เอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะฯ และมี พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขานุการ

รสช.ให้เหตุผลในการรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 ว่า

 

1. มีการทุจริตคอรัปชันในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ

3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

4. มีการพยายามทำลายสถาบันทหาร

5. บิดเบือนคดีวันลอบสังหารซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

การรัฐประหารในครั้งนั้นผ่านไปด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างชื่นมื่นคล้ายกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีประชาชนเข้าไปมอบดอกไม้และข้าวของเป็นกำลังใจให้ในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สุดฉาวโฉ่กับกระแสข่าวเรื่องการคอรัปชั่นเหม็นคลุ้ง

หลัง รสช.ยึดอำนาจก็ได้จัดการทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอยด้วยการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ผู้มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยมีอดีตรัฐมนตรีถูกประกาศชื่อเป็นผู้อยู่ในข่ายสงสัย และ นายอานันท์ ปันยารชุน ถูกยกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะนั้นเองสมาชิกบางคนของ รสช.ก็ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อเตรียมการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะพรรคสามัคคีธรรม' และมีความพยายามเข้าไปคุมพรรคการเมืองที่มีแล้วอยู่โดยส่งคนสนิทเข้าคุมตำแหน่งบริหารพรรค เช่น ในพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคม เป็นต้น

ทว่าสุดท้ายแล้ว ประเด็นการแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการ 20 คน และคณะกรรมการสามัญ 25 คน ได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะในส่วนบทเฉพาะกาลที่เปิดทางให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองได้ เรื่องอำนาจของวุฒิสมาชิก เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัวนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ตำแหน่งประธานรัฐสภา เขตการเลือกตั้ง คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการรัฐสภา

เหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางเพราะขาดความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่กระบวนการร่าง นำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองอีกครั้งจน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตน และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ รัฐธรรมนูญจึงผ่านสภาทั้งสามวาระ โดยมีข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต คือ

1.ตัวนายกรัฐมนตรีจะมาจาก ส.ส. หรือคนนอก ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้

2 อำนาจวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการร่วมอภิปรายและลงมติในการไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพระราชกำหนด

3. ประธานรัฐสภามาจากประธานวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ได้มีการแก้ไขให้ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร์

4.เขตการเลือกตั้งได้เปลี่ยนเป็นเขตละ 3 คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521

ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือ คุณสมบัติของตัวนายกรัฐมนตรีและอำนาจวุฒิสมาชิก นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหาที่หลงลืมอีกคือ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประธาน รสช.เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 22 มี.ค.2535 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย พรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงิน ซื้อเสียง' อย่างเปิดเผยและเป็นจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้จำนวนผู้แทนมากเป็นอันดับ 1 คือ พรรคสามัคคีธรรม

นายณรงค์ วงศ์วรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่ได้เสียงมากที่สุดได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงสนับสนุนจาก พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร รวมจำนวนเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย 195 เสียง แต่ยังไม่ทันที่ พล.อ.สุนทร จะได้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายณรงค์ นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมายืนยันว่า นายณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่มีชื่ออยู่ในบัญชี ต้องห้าม' ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด 

สถานการณ์จึงแปรผันอย่างรวดเร็วและชื่อของ พล.อ. สุจินดา ถูกเสนอขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่อย่างน่าวิกฤติ

ในวันที่ 7 เมษายน 2535 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.สุจินดา ซึ่งลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำการตระบัดสัตย์ที่เคยสัญญาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ และกลายมาเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การคัดค้านและเดินขบวนขับไล่ครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2535

ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2535 มีองค์กรที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวในการคัดค้านได้แก่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) องค์กรพัฒนาเอกชนต่างและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยได้ไปวางหรีดอาลัยแก่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สวนรื่นฤดี รวมทั้งมีการแสดงการคัดค้านของนักวิชาการหลายท่าน

ในวันที่ 8 เมษายน 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส. เริ่มอดอาหารประท้วงที่บริเวณหน้ารัฐสภาและเรียกร้องให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง พร้อมป้ายสีดำข้อความว่า "ข้าขอพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง"

ในวันเดียวกัน พล.อ.สุจินดา ได้ออกมาหลั่งน้ำตาพร้อมกล่าววาทะกลืนน้ำลายอันยิ่งใหญ่ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"และขอให้ทหารคิดว่าตนเป็นพลเรือน แล้ว พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รักษาการ ผบ.ทบ. ก็ออกมากล่าวว่า สนับสนุน พล.อ. สุจินดา 2,000 เปอร์เซ็นต์

บรรยากาศทางการเมืองตึงเครียดขึ้นเรื่อยจนกระทั่งวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 มีการชุมนุมของประชาชนเพื่อคัดค้านนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ท้องสนามหลวง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ออกมาประกาศขออดข้าวตายใน 7 วัน ในขณะที่ ร.ต.ฉลาด ซึ่งอดอาหารประท้วงก่อนหน้านี้และได้เข้าไปรักษาตัวในไอซียูมาแล้วครั้งหนึ่งก็ออกมาประกาศอดข้าวต่อไป การชุมนุมวันนั้นมีประชาชนมาเข้าร่วมเกือบแสนคน

ด้านบรรยากาศในสภา พรรคฝ่ายค้านมีมติสนับสนุนการกระทำของ พล.ต.จำลอง และจะไม่เข้าร่วมฟังการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่จะเข้าไปทำหน้าที่อภิปรายในสภา กระแสการคัดค้านยังได้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดด้วย เช่น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หรือสงขลาเป็นต้น

การคัดค้านยังคงต่อเนื่องไป วันที่ 7 พฤษภาคม 2535 มีการชุมนุมหน้ารัฐสภา จนกระทั่งเวลา 15.00 น.จึงมีประกาศของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมและเวลา 17.00 มีประกาศกองกำลังรักษาพระนคร ฉบับที่ 1 ว่าจะจัดการกับผู้ชุมนุม แต่แทนที่จะได้ผลกลับเป็นการท้าทายให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น จนล้นออกมาถึงบริเวณลานพระบรมรูปฯ

จนถึงตอนค่ำ ครป. สนนท. และ พล.ต.จำลอง ได้นำผู้ชุมนุมนับแสนคนเดินออกจากหน้ารัฐสภาไปยังสนามหลวงอย่างเป็นระเบียบ ท่ามกลางเสียงเชียร์จากประชาชนโดยรอบ และเสียงตะโกนว่า "สุจินดาออกๆๆๆ"

ส่วนทางรัฐบาลได้พยายามบิดเบือนและปิดกั้นข่าวสารในทุกวิถีทางโดยใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์ออกข่าวแก่ประชาชนว่า การเข้าชุมนุมอาจได้รับอันตราย ทั้งยังแพร่ภาพตัวแทนชาวพุทธเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ พล.อ.สุจินดา  ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เชิญตัวแทนหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับเข้าพบ และขอร้องให้เสนอข่าวตามจริงเพื่อประโยชน์ของชาติ และมีคำสั่งห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจไปชุมนุมที่สนามหลวง ผู้ใดไปถือว่ามีความผิดทางวินัย

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 สถานการณ์ดูเหมือนจะผ่อนคลายขึ้น เมื่อพรรคการเมือง นักวิชาการ อาจารย์พยายามหาทางออกด้วยการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวแทนพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมเก้าพรรคได้ประชุมกัน และมีมติว่าเก้าพรรคเห็นชอบแก้รับธรรมนูญในสี่ประเด็น คือ ประธานสภาต้องเป็นผู้แทนราษฎรนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ลดอำนาจวุฒิสมาชิก และการแบ่งเขตเลือกตั้งลดอำนาจวุฒิสมาชิก ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคร่วมรัฐบาลขอเวลาไปขอมติพรรคและจะยื่นวาระให้ประธานรัฐสภาให้ทันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2535

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวงในตอนสาย ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมกันทำความสะอาดถนนราชดำเนิน ย้ายเต็นท์ไปข้างทางและแจกธงชาติให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมรับเสด็จ แต่ปรากฏว่าได้เปลี่ยนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัย ขณะที่สถานีวิทยุ จส.100 ออกข่าวว่าผู้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางเสด็จฯ

ต่อมา แกนนำการชุมนุมได้ประชุมและแถลงแก่ผู้ร่วมชุมนุมว่าจะสลายการชุมนุมชั่วคราว เพื่อรอสัญญาของเก้าพรรคที่แก้ไขรับธรรมนูญ เพราะได้รับชัยชนะในระดับหนึ่งแล้ว โดยจะนัดชุมนุมกันใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา การชุมนุมได้ยุติลงชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นท่าทีของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลดูเหมือนจะกลับลำอีก บรรยากาศอึมครึมเริ่มกลับมาอีกครั้ง จนทำให้การชุมนุมในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 มีผู้มาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ หนังสือพิมพ์ประมาณว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ 5 แสนคน นับเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ของพลังประชาธิปไตย ทว่าไม่มีสถานีโทรศัพท์ช่องใดรายงานข่าวการชุมนุมนี้ ส่วนทางแกนนำซึ่งเดิมเป็นการรวมตัวขององค์กรต่างๆ ก็ได้ปรับขบวนรวมตัวกันเป็น สมาพันธ์ประชาธิปไตย' เพื่อให้ขบวนเคลื่อนไปอย่างเป็นเอกภาพ ในเวลาราว 21.00 น.ของวันนั้นได้ตัดสินใจเคลื่อนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้จำนวนผู้คนเต็มถนนราชดำเนิน

เวลาประมาณ 21.20-22.00 น.ได้เกิดการปะทะครั้งแรก เมื่อฝูงชนกลุ่มแรกที่มาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ เหมือนมีความพยายามจะทำให้ความรุนแรงเกิดเป็นการจราจลขึ้น พล.ต.จำลอง ระบุว่าเป็นการกระทำของมือที่ 3

ในวันที่ 18 พฤษภาคม โทรทัศน์ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและห้ามชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไป ลงนามโดย พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.อนันต์ กลินทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับเตรียมการสลายการชุมนุม พร้อมกันนี้ยังได้ออกข่าวว่า พล.ต.จำลอง ก่อการจราจลด้วยการเผารถ เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

ทั้งนี้ ในราวตีสี่เศษของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีกำลังทหาร 2,000 นายและตำรวจ 1,500 นาย ซึ่งเตรียมพร้อมที่สะพานมัฆวานฯ ได้เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าฯ ในท่ามกลางความสงบของผู้ชุมนุมนับแสน เสียงปืนชุดแรกของทหารที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ดังสนั่นกึกก้องนานราว 15 นาที ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ หลบหนีกันแตกกระเจิง มีเสียงร้องโอดครวญของผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต การกวาดล้างประชาชนด้วยความรุนแรงเป็นไปอย่างโหดเหี้ยมอีกหลายครั้งจนกระทั่งถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม กลุ่มประชาชนที่หนีตายจากการปราบปรามบริเวณถนนราชดำเนินได้มุ่งหน้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีจำนวนมากขึ้นจนถึงประมาณ 4-5 หมื่นคน มีการตั้งเวทีปราศรัย ผลัดกันขึ้นอภิปรายตลอดเวลา

จนเวลา 23.40 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม ขณะที่การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินไปอย่างสงบ กำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน 400 นายก็มุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมีข่าวว่าจะใช้เฮลิคอปเตอร์ปราบปรามผู้ชุมนุม

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เวลา 19.30 น.มีประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม.ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันที่รามคำแหง ประชาชนยังคงทยอยมาร่วมชุมนุมกันเกือบแสนคนแล้ว ตลอดทั้งคืนมีกระแสข่าวลือต่างๆ มากมาย เช่น การแตกแยกระหว่างทหารเรือกับทหารบก พล.อ.เปรมนำกองกำลังโคราชยกมาช่วยผู้ชุมนุม พล.อ. สุจินดาจะทำการปฏิวัติตัวเอง ฯลฯ

จนเวลา 23.30 น.โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ภายหลังจากกราบบังคมทูลลาแล้ว พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ด้านผู้ชุมนุมที่รามคำแหงหลังจากได้ชมข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ พล.อ.สุจินดายังไม่ลาออก แต่ก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม และยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้วจึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน

จากการประมวลเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันที่สงบ สิ่งที่น่าตลกและยอกย้อนของประวัติศาสตร์ คือ เหตุการณ์สามารถจบลงได้ด้วยวาทกรรม ความรักสามัคคี' หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมา

ขบวนการพฤษภาคม 2535 ที่เรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งกันแทบเป็นแทบตายและมีหลายคนตายไปจริงๆ เป็นจำนวนมาก จบลงด้วยการได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเลย นั่นคือการกลับมาเป็นนายกรัฐมมนตรีครั้งที่ 2 ของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับที่ รสช.เคยแต่งตั้งหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534  

พลังวาทกรรมเรื่องความรักสามัคคียังทำให้เกิดการต่อรองของชนชั้นนำ หัวขบวนที่นำการชุมนุมของประชาชนแห่ไปให้ความสนใจที่การเลือกตั้ง ในขณะที่การให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวกับประชาชนเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ปฏิรูปกองทัพ เลือกตั้งผู้ว่า ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ การติดตามกรณีคนหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รวมทั้งการดำเนินความผิดกับบรรดาทหารที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปราบประชาชนอย่างเหี้ยมโหด กลับมีคนแค่หยิบมือเดียวให้ความสนใจ

หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป เป็นชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ และในที่สุดเสียงเรียกร้องให้ ปฏิรูปการเมือง' ก็สามารถดังขึ้นได้อีกครั้ง กลายเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เฝ้ารอและมีการนำประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้เป็นครั้งแรก

ในด้านสื่อมวลชนซึ่งเคยมีปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพอย่างมากในช่วงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพราะในขณะที่มีการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบด้วยปืนและรถถัง ภาพเหตุการณ์กลับไม่ถูกนำเสนอในโทรทัศน์ช่องใด ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเรียกร้อง สื่อเสรี' และการเรียกร้องหลังขบวนการพฤษภาคม 2535 นี้ก็ได้กลายเป็นที่มาของการได้ช่องสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ไม่ได้เป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐเป็นช่องแรก และทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างน่าชื่นชมหลายครั้ง ก่อนจะจมลงไปในหล่มเดียวกับวิกฤติ ทักษิณ ชินวัตร' ที่มีจุดเปลี่ยนคล้ายๆกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

เขียนเล่ามามากมาย ทั้งประวัติศาสตร์ ความภูมิใจ ประชาธิปไตย เลือดและน้ำตา ก็แค่อยากให้ลองกลับมานึกทบทวนกันดูเล่นๆ ว่า ในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ เรายังเหลืออะไรที่เป็นเจตนารมณ์ของเดือนพฤษภาคม 2535 ไว้ให้รำลึกถึงกันได้อีกบ้าง ???

 

 

ข้อมูลจาก

รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย' .สารคดี

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ . ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นขึ้นมาได้กับความตายที่ไม่มีวันฟื้นคืนขึ้นมา'.ประชาไท,21 ก.พ. 2551

 

 

 

 

พม่า นาร์กิส และการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

 

ทีมข่าวพิเศษ Prachatai Burma

คณะพี่น้องตลกหนวดแห่งมัณฑะเลย์ (The Moustache Brothers)
ทำมือไขว้กันสองข้าง เป็นเครื่องหมาย ‘ไม่รับ’ รัฐธรรมนูญรัฐบาลทหารพม่า (ที่มา: The Irrawaddy)

ก่อนนาร์กิสจะซัดเข้าถล่มประเทศกระทั่งอยู่ในภาวะวิกฤต แน่นอนว่า ความสนใจที่โลกจะจับตามองประเทศมองนั้นคือวันที่ 10 นี้ ประเทศพม่าจะมีการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ ที่รัฐมนตรีฝ่ายข้อมูลข่าวสารของพม่ากล้าพูดว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการลงประชามตินั้นเป็นประชาธิปไตยกว่าของไทย แม้ว่าแหล่งข่าวภายในรัฐฉานจะให้ข้อมูลที่ต่างไปว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่านั้น มีเพียงของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีฝ่ายค้าน ขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่มาร่วมก็เป็นเพียงกลุ่มหยุดยิงที่สวามิภักดิ์รัฐบาล และไม่มีหน้าที่อะไรมากไปกว่ามานั่งฟัง เพราะรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธข้อเสนอชนกลุ่มน้อยทั้งหมด


ภายหลังวาตภัยนาร์กิสที่คร่าชีวิตชาวพม่าไปเรือนหมื่นพร้อมผู้ประสบภัยอีกจำนวนนับแสนคน สายตาของนานาชาติเปลี่ยนไปสู่การยื่นข้อเสนอเข้าช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของชาวพม่า โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์นั่คือ สิทธิในการเข้าถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคนั้นได้ถูกไฮไลท์ขึ้นมาอย่างหนักหน่วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของศพที่ไร้การเหลียวแลจัดการจากทางรัฐบาลถูกนำเสนอต่อสายตาชาวโลก รายงานอย่างต่อเนื่องถึงท่าทีที่ปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาชาติรวมถึงผลักดันเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ด้วยเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนั้น พกเอาช่างภาพเข้าไปด้วย

รัฐบาลพม่าปฏิเสธความช่วยเหลือในด้านบุคลากร และเสนอรับเพียงเครื่องอุปโภคบริโภคเท่านั้น เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมจากชาติต่างๆ รวมถึงจากองค์การสหประชาชาติยังคงติดค้างอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากเพื่อรอการอนุญาตให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันก็ปรากฏข่าวว่า ทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่ได้รับบริจาค และเริ่มนำสิ่งของเหล่านั้นออกขายในราคาแพง

Debbie Stothard, Coordinator ขององค์กร Altsean-Burma (Alternative ASEAN Network on Burma) แสดงความวิตกต่อสถานการณ์รัฐบาลพม่าช่วยเหลือชาวบ้านชนิดแทบจะไร้การจัดการว่า ถ้าไม่ยอมให้มีการช่วยเหลือจากนานาชาติผู้เสียชีวิตอาจมากถึงหลักล้าน รัฐบาลทหารพม่ามีเวลา 24 ชั่วโมงในการเตือนแต่ไม่ทำอะไร ถ้าเตือนล่วงหน้าจะไม่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ และนี่ถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก เพราะนานาชาติไม่สามารถติดต่อผู้คนข้างใน หรือจับตาการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลพม่าใดๆ ได้เลย

เหนือสิ่งอื่นใด การลำดับความสำคัญของรัฐบาลทหารพม่ายังคงไม่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม นั่นคือพยายามผลักพม่าไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกัน

พลังของอินเตอร์เน็ต : ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้

อินเตอร์เนต & การเมือง

พิณผกา งามสม

ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองบนเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นในไทยอยู่ขณะนี้ เป็นพื้นที่การต่อสู้ใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสื่อกระแสหลักก็เปลี่ยนหรือขยายเป้าหมายจากการช่วงชิงพื้นที่ในตลาดสิ่งพิมพ์มาสู่ตลาดแห่งใหม่ในโลกไซเบอร์

นักวิชาการด้านสื่อสารสนเทศ สังคมวิทยา และรวมถึงนักรัฐศาสตร์ในโลกก็เริ่มขยายการศึกษาวิจัยมาสู่พื้นที่ใหม่ที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเช่นกัน โลกวิชาการระดับนานาชาติผลิตงานศึกษาวิจัยถึงบทบาทของอินเตอร์เน็ตกับการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และมีข้อเสนอว่า อินเตอร์เน็ตสามารถเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดในโลกจริง เป็นต้นว่า การได้แสดงออกอย่างฉับพลันทันที การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เป็นต้น

น่าสนใจว่า การปฏิบัติต่อพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่นี้ในสังคมไทยกลับได้รับการต้อนรับที่ค่อนข้างเฉยชาจากนักวิชาการเมืองไทยอยู่พอสมควร มิหนำซ้ำยังให้ราคากับการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ตต่ำกว่างานวิชาการที่ได้การตีพิมพ์ ดังเช่นกรณีที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยพบกับข้อกล่าวหานี้ในช่วงแรกๆ ที่เขาเริ่มเข้ามาสร้างวิวาทะในเว็บบอร์ดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนี้ ที่การสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตมีบทบาทยิ่งต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ทั้งเพื่อต้านระบอบทักษิณ และทั้งในแง่การต้านการรัฐประหาร จะต้านเผด็จการศักดินา หรือเผด็จการทุนนิยมสามานย์ก็ตามแต่ สังคมไทยได้ใช้เครื่องมืออันใหม่นี้อย่างเมามันและมีประสิทธิภาพยิ่ง...นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลก แต่มันเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ ด้วยบริบทที่แตกต่างกันไป

ทุกข์ของแรงงาน ... นางทาส หรือสวรรค์เบี่ยง !

กลายเป็นภาพที่คุ้นตา เรื่องที่คุ้นหูไปแล้ว สำหรับการออกมาเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆ ในวันกรรมกรสากล (หรือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันเมย์เดย์) จนบางคนอาจชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น "ก็เห็นเดินกันทุกปี" "เรียกร้องกันทุกปี" อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าการที่มีข้อเรียกร้องอยู่ทุกปีนั้น สะท้อนถึงการคงอยู่ของ ปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข' ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มไหน เมื่อลองกลับไปดูข้อเสนอของปีที่แล้ว เทียบกับปีก่อน และปีก่อนๆ ก็จะเห็นว่า ไม่สู้จะต่างกันสักเท่าใด

 

ดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน

การจะทำงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นนั้น นอกจากตัวงานและผู้ร่วมงานแล้ว ความปลอดภัยในการทำงานก็คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองกลับยังไม่มีองค์กรอิสระที่จะคอยดูแลเรื่องการป้องกันความปลอดภัยโดยตรง จะมีก็เพียงการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น กองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันถึงอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่ในที คือ เป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และเป็นทั้งผู้จ่ายเงินเสียเอง

สภาเครือข่ายฯได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดทำร่างนโยบายด้านสุขภาพความปลอดภัยของแรงงาน เห็นว่าระบบบ้านเรายังล้าหลังมาก ซ้ำยังไม่มีนโยบายทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แพทย์ทั่วไปไม่ทำการวินิจฉัยโรค คนป่วยจากงานจึงไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะการวินิจฉัยโรคไปอยู่ในกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และจ่ายเงินในองค์กรเดียวกัน

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะลักษณะการผูกขาดอำนาจในการจัดการดูแลปัญหาอยู่ในมือรัฐ เมืองไทยขาดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้ เนื่องจากไม่มีนโยบาย หน่วยงานทำงานซ้ำซ้อนแต่ขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกรมกองกระทรวง เจ้าหน้าที่น้อย ยังขาดทัศนคติความรับผิดชอบรู้ไม่เท่าทันนายจ้างหรือสถานประกอบการ ระบบที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อประโยชน์มากนัก แก่ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของคนงานอย่างแท้จริง ฉะนั้นการบริหารจัดการเรื่องนี้ของรัฐมีลักษณะอนุรักษ์นิยมเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้รู้ดีที่สุดคิดว่ากองทุนใหญ่โตคือผลสำเร็จ ไม่คำนึงถึงชีวิตคนงานที่มีความเสี่ยงต่อเครื่องจักรและสารพิษจากการทำงานทุกเสี้ยววินาที

ด้วยระบบที่มีอยู่ยังล้าหลัง เน้นแต่การจ่ายเงินทดแทนแถมยังสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ตั้งมากมาย เพราะเป็นการลดสถิติการเจ็บป่วย คนงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ ต้องเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดเวลา 10 กว่าปี จึงมีการผลักดันองค์กรอิสระในด้านการบริการความปลอดภัยมาร่วม 7 ปีแล้วกับรัฐบาลชุดนี้ (ชุด พล.อ.สุรยุทธ์) ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันฯ ผ่านการพิจารณาสำนักกฤษฎีกา กลับกลายเป็นร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยเฉยๆ ที่ไม่เป็นอิสระในการบริหารงานจากภาครัฐ แบบเบญจภาคี คือมีฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ผู้ถูกผลกระทบ และนักวิชาการผู้เชี่ยว ไม่มีระบบทำงานที่ครบวงจร ป้องกันดูแลรักษา ฟื้นฟู ทดแทน ขาดอำนาจการตรวจสอบสถานประกอบการและขาดการโอนเงินกองทุนทดแทนมาอยู่ในสถาบันใหม่ตามข้อเสนอฉบับขบวนการแรงงานและภาคประชาชน

 

 

สมบุญ สีคำดอกแค อดีตผู้นำสหภาพแรงงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ทั้งยังเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย และประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนงานที่เจ็บป่วยอีกจำนวนหนึ่งในราวปี 2536 ที่หวังจะรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การต่อสู้ทางคดี และการดำรงชีวิต บอกเล่าถึงความสำคัญของคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานตามกลไกของ "สถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ" กับสำนักข่าวประชาธรรม

ที่มา: สมบุญ สีคำดอกแค : เปิดโลกกฎหมาย โรคจากการทำงาน'

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ซึ่งร่วมกันร่างขึ้นอีกครั้ง เพื่อหวังว่า จะก่อตั้ง "สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน" ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับการดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้ใช้แรงงานร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยที่สถาบันนี้จะมีหน้าที่พัฒนาการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย จัดการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาวินิจฉัยโรค และพิจารณาการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชน ให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... นี้ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย)

ผ่าโครงสร้างประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมนั้น นับเป็นกองทุนขนาดใหญ่ โดยขณะนี้มีเม็ดเงิน 522,868 ล้านบาท [1] ผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน และคาดกันว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อมีการขยายไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตาม มักมีข้อเสนอให้ "ผ่าโครงสร้างประกันสังคม" อยู่เนืองๆ ด้วยสัดส่วนการจ่ายเงิน นายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง ขณะที่รัฐจ่าย 2.75% แต่ผู้ประกันตนกลับไม่ค่อยจะมีส่วนร่วมกับกองทุนสักเท่าใด ทั้งในด้านนโยบายและการตัดสินใจว่า เงินในกองทุนถูกนำไปใช้อย่างไร และส่วนใดบ้าง ขณะที่รัฐบาลซึ่งร่วมสมทบเพียงเล็กน้อยกลับมีสัดส่วนอยู่ในบอร์ดมากกว่า (ดูสัดส่วนคณะกรรมการประกันสังคม[2])

ในเรื่องนี้ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เสนอให้กรรมการไตรภาคีมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้อัตราส่วนสมาชิกสหภาพแรงงาน 50 คน ต่อ 1 เสียง และต้องเปิดโอกาสให้กรรมการของสหภาพแรงงานทุกแห่งมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง

แรงงานข้ามชาติ ข้ามอคติ

เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ เรื่อง คุณูปการของแรงงานย้ายถิ่นต่อประเทศไทย ของ ดร.ฟิลิป มาร์ติน สำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยผลการศึกษาระบุว่า ในปี 2550 ประเทศไทยมีแรงงานรวมประมาณ 36 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติอยู่ราว 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติส่วนมากจะทำงานประเภทที่ใช้ทักษะต่ำในสาขาเกษตร ประมง ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงภาคบริการ อาทิ คนทำงานบ้าน

ทั้งนี้ จากสมมติฐานว่าผู้อพยพมีจำนวน 1.8 ล้านคน ซึ่งคาดการณ์ว่ามีรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ ต่อปี หรือ 70,000 พันล้านบาท (1 ดอลลาร์ต่อ 35 บาท) จากการคำนวณรายได้เฉลี่ย 1,125 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (40,000 บาทต่อปี) หากแรงงานดังกล่าวใช้จ่ายเงินครึ่งหนึ่งของรายได้ คือ 1 พันล้านดอลลาร์ จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ GDP จำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ จากการเพิ่มในการหมุนเวียนของค่าเงินทีเดียว

โดยที่แรงงานข้ามชาติได้รับค่าแรงเพียงครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น [3]

แรงงานข้ามชาติคือผู้มีส่วนร่วมสร้างจีดีพี 2% คิดเป็นเงินประมาณหมื่นล้านบาทขึ้นไป นี่ยังไม่รวมรายได้ของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในประเทศไทย โดยคิดเป็น 75% ของรายได้ของแรงงานข้ามชาติใช้ในประเทศไทย พวกเขาส่งเงินกลับน้อยเพราะช่องทางส่งกลับน้อย

 

ข้อมูลจาก: สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"

จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

จากตัวเลขข้างต้น จะพบว่า แม้เศรษฐกิจจะต้องการน้ำพักน้ำแรงจากแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ดูเหมือนนโยบายของรัฐจะไม่นำพาต่อการเข้ามาทำงานอย่าง "ถูกกฎหมาย" ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยจะเห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายเปิดให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนแรงงานเพื่อขออนุญาตทำงาน เรียกว่า ทร.38/1 โดยในปี 2551 นี้เปิดให้คนที่เคยมี ทร.38/1 แล้วแต่ไม่ได้ต่ออายุ มายื่นจดทะเบียนใหม่ ช่วง 21 ม.ค.-19 ก.พ. ปีนี้ แต่แรงงานข้ามชาติก็ไปจดทะเบียนน้อยมาก แค่ราว 5,000 คน เพราะแรงงานข้ามชาติ 1.ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ข้อมูล 2.เอกสารที่ใช้ประกอบการขอรับ ทร.38/1 ยังไม่มีความชัดเจน บัตรเดิมก็ถูกนายจ้างริบไว้ จำข้อมูลไม่ได้ 3.การขอใช้เวลานาน ต้องทำหลายรอบ 4.หลายพื้นที่มีขบวนการนายหน้าช่วยประสานงานดำเนินการคิดค่าใช้จ่ายสูง 6,000 - 15,000 บาท แรงงานไม่สามารถแบกรับภาระการค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ 5.ระยะเวลาสั้นเกินไป

อดิศร เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC) กล่าวว่า จริงๆ แล้วกลไกรัฐไม่เคยมีกลไกจัดการเรื่องการย้ายถิ่น มีแต่เรื่องหาแรงงานมาทดแทน ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีมิติการย้ายถิ่นมาจัดการ

แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่ก็มีนโยบายกีดกันเขา โดยรัฐไทยมองเรื่องนโยบายนี้สองแง่ แง่หนึ่งมองว่าเป็นปัญหาเรื่องคนหลบหนีเข้าเมือง ไม่ให้ออกนอกเขต หรือเปลี่ยนนายจ้าง มองว่าไม่ใช่แรงงานทั่วไปอย่างที่เข้าใจกัน ต้องอยู่ในการกักกัน แต่ให้ทำงานได้ชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับ สอง อยากได้แรงงานราคาถูก พอเศรษฐกิจไทยพยายามเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็มีการดึงเอาแรงงานภาคเกษตรไปเยอะมาก ทำให้ความต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น สองแนวคิดดังกล่าวไปด้วยกันได้ จึงมีการใช้แรงงานราคาถูก ภายใต้การควบคุม โดยอ้างความมั่นคง จะเห็นว่านโยบายที่เกิดขึ้นไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองแรงงานเลย

อดิศร กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสร้างขึ้นเรื่องความมั่นคงเป็นการสร้างพรมแดนในตัวคน เราถูกทำให้เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่ใช่พวกเรา หรือเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เหมือนเครื่องจักรที่พังแล้วโยนทิ้ง เห็นได้ชัดในกรณีประกาศสมุทรสาคร เพราะสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นคือ วัฒนธรรม การมีตัวตนของตัวเองในการดำรงชีวิต หรือเช่นกรณีที่บอกว่า ไม่รับแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์แล้ว

 

เขาแสดงความเห็นว่า เคยคิดว่าเรื่องความมั่นคงจะซาไป แต่รัฐกลับใช้แนวคิดแบบนี้ส่งผ่านสื่อ ย้ำว่าแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหานำโรคติดต่อเข้ามาก่ออาชญากรรม สร้างมายาคติขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ในช่วงปี 45-46 เปรียบเทียบการก่ออาชญากรรม พบว่า คนไทยในพื้นที่ก่ออาชญากรรมมากกว่าแรงงานข้ามชาติ เกือบ 60% และคดีส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ คือ หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหา อดิศร เสนอว่า ในแง่นโยบาย รัฐต้องมิติการย้ายถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีเลย ที่สำคัญคือต้องหาความสมดุลของสิทธิ ความมั่นคงและเศรษฐกิจให้สมดุลกัน และที่เสนอมานานก็คือ นิยามคำว่าความมั่นคง องค์กรที่จัดการเรื่องนี้กระจายเกินไป เพราะเรื่องคุ้มครองแรงงานควรคุ้มครองแรงงานทุกคน แต่แรงงานข้ามชาติไปติดที่ ตม. ยังไม่มีการสร้างกลไกให้ทำงานร่วมกัน อาจเป็นกรรมการระดับชาติอิสระเพื่อจัดการบริหารได้เป็นระบบ และเข้าใจปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง เช่น การเตรียมล่าม

สอง ปรับความเข้าใจ การศึกษาของเรากับแรงงานข้ามชาติให้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ นโยบายหลายอย่างกันคนออกจากกัน ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร หรือต้องการอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่สนทนา ทำงานร่วมกัน ซึ่งกลไกสำคัญคือสหภาพแรงงาน เพราะมีผู้ใช้แรงงานเป็นตัวหลัก จะเห็นปัญหาร่วมกันคล้ายกัน และถ้าสร้างได้จะขยายไปสู่กระบวนการอื่นในสังคมไทยได้

ที่มา: แรงงานนอกระบบ' และ แรงงานข้ามชาติ': เรารู้จักกันแค่ไหน

เสริมทักษะแรงงานไทยในต่างแดน

ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานบางประเภทที่แรงงานไทยไม่ทำ แรงงานไทยบางส่วนก็เข้าไปทำงานทดแทนในส่วนที่ประเทศอื่นๆ ขาดแคลนเช่นกัน แรงงานประเทศอื่นไม่ทำเช่นกัน ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานหญิง ซึ่งไปทำงานแม่บ้านที่ฮ่องกง ได้เสนอว่า แม้พวกเขาจะเดินทางไปทำงานที่ฮ่องกง แต่ก็ต้องการกลับเข้ามาในประเทศ ดังนั้น พวกเขาจึงอยากให้ภาครัฐจัดให้มีอาชีพรองรับแรงงานที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านการวางแผนงานการประกอบอาชีพในอนาคต ไปอบรมให้กับแรงงานในต่างประเทศ จัดศูนย์ข้อมูลอาชีพและตำแหน่งงานที่เอื้อต่อทักษะของแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีทางเลือกที่จะได้ทำงานอยู่ใกล้ครอบครัว รวมทั้งทำให้อาชีพแม่บ้านในเมืองไทย มีสัญญาการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย และมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐหาแนวทางให้แรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้มีส่วนร่วมในโครงการกองทุนประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่า ที่สุดแล้วแรงงานทุกคนต้องกลับมาประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของแรงงานในการตั้งใจทำงาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องบุตรของตน

รวมทั้งเสนอให้ภาครัฐต้องกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยให้ชัดเจน และควบคุมการเก็บค่าบริการอย่างเข้มงวด มีกฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง และจัดสรรงบประมาณประจำปี ให้กับกลุ่มองค์กรที่ทำงานให้กับแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อส่งเสริมโอกาสให้แรงงานได้ช่วยเหลือแรงงานด้วยกัน และสร้างเครือข่ายภาครัฐที่เข้มแข็ง รวมถึงมีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะสนับสนุนแรงงานที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมการนำเงินตราเข้าประเทศจากแรงงานเหล่านั้น

เพิ่มความมั่นคงให้แรงงานนอกระบบ

สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานนอกระบบในประเทศไทย" จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ให้ข้อมูลว่า แรงงานนอกระบบจำนวน 22.5 ล้านคน จากแรงงานทั้งสิ้น 36.3 ล้านคนนั้น เป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้าน ล้านบาท หรือราวร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับทำงานที่ขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรองได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานนอกระบบเอาไว้ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้ จึงมีการร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ....ขึ้น ขณะที่กระทรวงแรงงานก็ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.. ...ขึ้นมาประกบ โดยที่ผ่านมา มีการแก้ไขปรับปรุงร่างทั้งสองแล้วหลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ [4]

โดยนางสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ แสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลักดันกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่าน โดยที่ผ่านมา ได้ปรับให้เข้ากับของกระทรวงแรงงาน แต่ก็มีความแตกต่าง เช่น ประเด็นค่าแรงที่เป็นธรรม การดูแลเรื่องอาชีวอนามัย

นางสุจิน เล่าว่า ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบ เข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างเดียวคือ 30 บาทฯ แต่ 30 บาทฯ ไม่มีมิติเรื่องอาชีวอนามัยในหลักประกันสุขภาพ จึงควรส่งเสริมและดูแลสุขภาพเกี่ยวกับอาชีวอนามัยของคนทำงาน โดยออกกฎระเบียบในระดับท้องถิ่น ว่าต้องดูแลเรื่องอาชีวอนามัยกับแรงงานนอกระบบด้วย นอกจากนี้ อยากได้สิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานในระบบ เพราะงานที่รับไปทำที่บ้านก็คืองานเช่นเดียวกับที่ในระบบทำ แต่พอออกไปถึงชุมชนแล้ว กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งค่าแรง สิทธิประโยชน์ จึงอยากให้รัฐบาลดูแลแรงงานนอกระบบเสมอภาคกับแรงงานในระบบ

 

ข้อเรียกร้องวันกรรมกร

2550

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้รัฐบาล คือ

1.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

2.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

3.ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542

กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนแปดพันคนจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ

1.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 5(3) จ้างเหมาค่าแรงโดยลูกจ้างเหมาค่าแรงจะต้องได้ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างในระบบจ้างปกติของสถานประกอบการนั้นๆ 2.ขอให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเพิ่มมาตรา 52 เรื่องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน เป็นองค์กรทางวิชาชีพ 3.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.ขอให้ปรับอัตราค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อและให้ปรับเงินในอัตราเดียวทั้งประเทศ และให้ควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ

5.ขอให้ประกาศยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 6.ขอให้ประกาศกฎหมายที่ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ 7.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดตั้งโรงพยาบาลของตนเอง เพื่อบริการการรักษาแก่ผู้ประกันตน 8.ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุไม่ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ ขอให้ สปส.รักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนฟรี ไม่ต้องไปใช้โครงการ 30 บาท และ 9.ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ร่วมกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทั้ง 11 สภาฯ กับ 1 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ติดตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ยื่นในวันนี้ พร้อมทั้งให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ

2549

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 10 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน 2.ให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้วันละ 233 บาท

 

3.รัฐบาลต้องเร่งออกพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ฉบับของขบวนการแรงงานที่เป็นองค์กรอิสระ 4.ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเกือบทั่วโลกให้การรับรอง ยกเว้นประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิคนงานทุกประเภทในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

 

5.รัฐบาลต้องเร่งถอนพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับรัฐบาลออกจากกฤษฎีกา 6.ให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย 7.ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ เช่น มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ให้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตร และผู้ใช้แรงงานที่ติดเชื้อเอชไอวี

8.การทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี พหุภาคี และนานาชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน สังคม ประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำตามประชามติตามรัฐธรรมนูญ 9.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ โดยให้กองทุนประกันสังคมอนุมัติงบประมาณเพื่อให้ปล่อยกู้แก่ลูกจ้างที่ประสบภัยดังกล่าว

และ 10.ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กประถมวัยในย่านอุตสาหกรรม ชุมชน โดยออกเป็นกฎหมายพร้อมจัดสรรงบประมาณให้และให้องค์กรแรงงาน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

2548

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายประชาธิปไตย 42 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้อง 11 ข้อ คือ 1. ให้รัฐบาลหยุดขาย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 2. ให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค 3. ให้รัฐบาลผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 233 บาท 4. ให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานในสถานประกอบการทุกแห่ง 5. ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO) ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การรับรองแล้ว ยกเว้นประเทศไทย 6. ให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรงในสถานประกอบการ 7. ให้รัฐบาลเร่งนำร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สภา 8. ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม เร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ 9. ทบทวนการทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อแรงงาน 10. ให้รัฐบาลแก้ปัญหาลูกจ้างที่ประสบปัญหาจากคลื่นยักษ์สึนามิ และ11. ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กปฐมวัย

 

 

000000

 

อ้างอิง

[1] ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2551 จากสรุปผลการบริหารกองทุนประกันสังคมประจำไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2551

[2] มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการประกันสังคม" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวง การคลัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่าย นายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละห้าคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็น กรรมการและเลขานุการ

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

[3] ชี้แรงงานข้ามชาติสร้าง ศก.ไทย แต่ไม่ได้รับการดูแล ซ้ำนโยบายด้านความมั่นคงจำกัดการแสดงออกทางวัฒนธรรม

[4] พลวัตแรงงานนอกระบบ: การผลักดันการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

 

สงคราม (แย่งชิง) น้ำ อยู่รอบๆ ตัวเรา

 

ช่วงเวลาแห่งสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว การกระหน่ำสาดน้ำในนามของวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามยุติลง (ชั่วคราว) หลายคนที่เคยดวลปืน (ฉีดน้ำ) หรือแม้แต่จ้วงขันลงตุ่มแล้วสาดราดรดผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ล้วนวางอาวุธและกลับเข้าสู่สภาวะปกติของชีวิต

แน่นอนว่า สงคราม (สาด) น้ำที่เกิดขึ้นในบ้านเราแต่ละปี เป็นห้วงยามแห่งความสนุกสนานและการรวมญาติในแบบฉบับไทยๆ แต่ในขณะที่คนมากมายกำลังใช้น้ำเฉลิมฉลองงานสงกรานต์จนถึงวันสิ้นสุด แต่สงคราม (แย่งชิง) น้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

สงครามน้ำส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ของโลก และมักจะมีสาเหตุจากข้อจำกัดทางภูมิประเทศ แต่จากรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2549 พบว่า แหล่งน้ำจืดเท่าที่มีอยู่ในโลกเหลือเพียงร้อยละ 0.25 ของแหล่งน้ำทั่วโลก ไม่มีทางหล่อเลี้ยงพลเมืองโลกประมาณ 6 พันล้านคนได้อย่างทั่วถึงเลย

ด้วยทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด แต่ประชากรในโลกกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำกลายเป็นตัวคุกคามต่อการพัฒนาประเทศยากจนต่างๆ การแย่งชิงหรือรุกคืบเพื่อยึดครองแหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่ระดับชุมชนต่อสู้กันเอง ชุมชนต่อสู้กับรัฐ ไปจนถึงการแย่งชิงน้ำในระดับประเทศ ไม่เ้ว้นแม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังประสบกับปัญหาการจัดสรรน้ำไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการแปรรูปน้ำไปให้บริษัทเอกชนจัดการ

สงครามน้ำจึงอาจไม่ใช่เรื่องของความขาดแคลนเสมอไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันหมายถึงการจัดสรรหรือแบ่งปันน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและขาดความเป็นธรรมเท่าเทียม

 

 

"โลกมีเพียงพอสำหรับความต้องการของทุกคน

แต่ไม่พอสำหรับความโลภของกลุ่มคนน้อยนิด"

 

-มหาตมา คานธี-

 

 

สงครามน้ำแย่งชิงน้ำ จากโลกเหนือถึงโลกใต้

การแข่งขันของบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วโลกดุเดือดขึ้นทุกวัน แต่ละแบรนด์ต่างก็พยายามสร้างสรรค์หีบห่อและคุณสมบัติของสินค้าให้โดดเด่นดึงดูดผู้บริโภค นี่ก็ถือเป็นสงครามน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สงครามแย่งชิงน้ำในประเทศที่มีข้อจำกัดทางภูมิอากาศและภูมิประเทศนั้นรุนแรงกว่ามาก เพราะมันคือการปะทะต่อสู้กันตรงๆ จนถึงขั้นสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ

สงครามแย่งชิงน้ำที่เก่าแก่และต่อเนื่องที่สุด น่าจะเป็นที่ประเทศ อินเดีย ซึ่งแม่น้ำแทบทุกสาย ไม่ว่าจะเป็น คงคา มหานที กฤษณะ สตลัช นรมทา ยมนา และกาเวรี คือพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ทั้งในระดับชุมชมขัดแย้งกันเอง และในระดับที่ชุมชนขัดแย้งกับรัฐ

ปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรน้ำในอินเดีย เกิดจากการที่รัฐบาลกลางพยายามรวบอำนาจบริหารจัดการน้ำมารวมศูนย์เพียงฝ่ายเดียว และมีนโยบายสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงการควบคุมน้ำท่วม และบรรเทาความแห้งแล้ง แต่กลายเป็นว่าการชลประทานในระดับชุมชนถูกละเลยขาดการมีส่วนร่วมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากจึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน จนนำไปสู่การก่อจลาจลหลายครั้งหลายหน

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการสร้างเขื่อนได้เปลี่ยนแปลงการผันน้ำจากกระแสที่ไหลตามธรรมชาติ และเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายน้ำในลุ่มน้ำ ทำให้เกิดการกัก-เก็บ จนชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ตามวิถีชีวิตแบบเดิม

ในที่สุด ก็นำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างชุมชนที่ได้รับการจ่ายน้ำกับชุมชนที่ถูกละเลย เพราะไม่ได้เป็นพื้นที่สำคัญของกระบวนการผลิต และลุกลามไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ รวมถึงรัฐขัดแย้งกับรัฐบาลกลาง ซึ่งศาลระหว่างรัฐต้องทำคดีมากมายเพื่อหาทางยุติปัญหาดังกล่าว แต่ระหว่างกระบวนการในชั้นศาลดำเนินไป การสูญเสียที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างประชาชนก็ยังดำเนินไป

แม้แต่ในทวีปอเมริกา สหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก ก็เคยขัดแย้งกันมาก่อนเรื่องน้ำในแม่น้ำโคโลราโด ทั้งนี้ มีการทำสัญญาว่าอเมริกาจะปันน้ำจากแม่น้ำโคโลราโดให้กับเม็กซิโก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1944 เป็นต้นมา แต่เมื่อปี 1961 น้ำจากแม่น้ำโคโลราโดมีความเค็มสูงขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่เกลนแคนยอนและเขื่อนฮูเวอร์ในอเมริกา ทำให้ชาวเม็กซิโกที่ต้องใช้น้ำรวมตัวกันชุมนุมประท้วงอยู่นาน จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องสร้างโรงงานเพื่อลดความเค็มของน้ำก่อนที่ปล่อยไปยังเม็กซิโก

ส่วนความขัดแย้งเรื่องน้ำในระดับประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานกว่านั้น ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งกินพื้นที่ถึง 10 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย, ซูดาน, อียิปต์, อูกันดา, เคนยา, แทนซาเนีย, บูรุนดี, รวันดา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ เอริเทรีย

แรกเริ่มเดิมที เอธิโอเปียเป็นแหล่งกำเนิดน้ำร้อยละ 85 ของแม่น้ำไนล์ที่ไหลอยู่ตลอดปี และอีกร้อยละ 14 มาจากเคนยา อูกันดา แทนซาเนีย รวันดา และคองโก แต่เมื่ออียิปต์สร้าง เขื่อนอัสวาน' ในปี ค.ศ.1958 ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน เพราะนอกจากชาวซูดานกว่า 100,000 รายจะถูกไล่ที่ พวกเขายังหมดโอกาสที่จะใช้น้ำในแม่น้ำไนล์ได้อย่างอิสระเสรีเหมือนแต่ก่อนอีกด้วย

นอกจากนี้ เอธิโอเปียก็ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในอียิปต์ เพราะอังกฤษได้ทำสัญญาว่าด้วยการไม่ควบคุมกระแสน้ำในแม่น้ำไนล์น้ำเงิน เพื่อเอื้อประโยชน์ในการเดินเรือของสหราชอาณาจักร เนื่องจากแม่น้ำไนล์น้ำเงินมีต้นกำเนิดจากเอธิโอเปีย (ในขณะที่แ่ม่น้ำไนล์ขาว มีต้นกำเนิดจากบูรุนดี)

การสร้างเขื่อนอัสวานส่งผลถึงเส้นทางการเดินเรือของอังกฤษ และำนำไปสู่การกดดันให้เอธิโอเปียทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้อียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน ต้องต่อสู้แย่งชิงด้านสิทธิในการเข้าถึงน้ำในแม่น้ำไนล์กันหลายยกทีเดียว

ปัจจุบัน การปล้นน้ำและแย่งชิงการครอบครองพื้นที่แหล่งน้ำยังคงเกิดขึ้นในอินเดีย, โบลิเวีย, บังคลาเทศ, ซูดาน, เอธิโอเปีย, อิสราเอล, เขตเวสต์แบงก์, อิรัก ฯลฯ เช่นเดียวกับปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และปัญหาเรื่องน้ำที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนจำนวนมากในเวลานี้ คือ การถูกรุกคืบจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ซึ่งพยายามจะแปรรูปให้น้ำกลายสภาพจากทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นสมบัติของเอกชน

ข้ออ้างสำคัญที่บริษัทต่างๆ ใช้เมื่อต้องการบุกเข้าไปในชุมชนเพื่อจัดการแปรรูปน้ำคือการบอกว่าจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการเรื่องน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำโฆษณาที่ได้ยินได้ฟังจากกลุ่มทุนต่างๆ มีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

 

การจัดการน้ำในเมืองไทย-ใครบอกว่าไม่มีปัญหา?

 

ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2551 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศเตือนเนื่องในวาระ วันน้ำโลก' (World Water Day) ว่า ประเด็นที่จะต้องขับเน้นเป็นวาระพิเศษประจำปีนี้คือ การรณรงค์แก้ปัญหามลพิษทางน้ำ' รวมถึงการทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติกลับเป็นแหล่งน้ำสะอาดและมีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในการดำรงชีวิตได้

ในส่วนของประเทศไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่งจะพูดถึงปัญหามลพิษเมื่อครั้งที่ไปเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย วิกฤตน้ำ วิกฤตชีวิต' ซึ่งจัดโดยกลุ่มกรีนพีซ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยที่นายสุวิทย์ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า กระทรวงอุตสาหกรรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการติดตั้งระบบน้ำเสียที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกฎกระทรวง, ยึดหลักธรรมาภิบาล, ร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงและรองนายกฯ พยายามย้ำตลอดเวลาคือข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตน้ำในด้านปริมาณและคุณภาพ แหล่งน้ำจืดที่มีคุณภาพดีของไทยมีอยู่จำกัด และกำลังลดลงจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากปัญหาการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ

ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญล่าสุด ระบุว่าร้อยละ 86.5 ของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความคิดเห็นว่ามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและควรรีบเร่งแก้ไขป้องกันอย่างเร่งด่วน (1)

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหามลพิษทางน้ำ การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงการทบทวน พ.ร.บ.การจัดการน้ำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการนำ พ.ร.บ.น้ำ 2550กลับมาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ยังไม่ผ่านในสมัย สนช.และเป็นที่กังขาในหมู่คนทำงานด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก

พ.ร.บ.น้ำ ฉบับรีเทิร์นนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะนำไปสู่การมอบอำนาจในรัฐจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ เพราะ สถานะของน้ำ' ทั้งที่มจากดิน แหล่งน้ำ อากาศ ใต้ดิน จะกลายเป็นของรัฐบาลโดยสมบูรณ์ เพราะเนื้อหาใน พ.ร.บ.มอบอำนาจในรัฐสามารถที่จะ (1) พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝาย สร้างเขื่อน การผันน้ำ หรือทำลายสิ่งกีดขวางในช่วงน้ำท่วม (2) รัฐสามารถกำหนดรูปแบบการบริหารการจัดการน้ำ หรือการใช้น้ำโดยจำแนกประเภทของการใช้น้ำ โดยต้องขออนุญาตและเสียค่าน้ำ และ (3) รัฐสามารถประกาศแหล่งต้นน้ำลำธารได้ โดยรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วย

หาก พ.ร.บ.น้ำ ประกาศใช้ เมื่อไหร่ ก็หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ก็จะสามารถกำหนดให้การเพาะปลูกของเกษตรกรได้ และภาระทางการเงินของผู้ใช้น้ำจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับภาระทางการเงินที่ประชาชนต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ไม่เคยถูกเปิดเผย ในเวทีแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านเลย

จากประเด็นเหล่านี้ นายสายัณห์ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อที่ชีวิต ได้กล่าวถึงอย่างน่าสนใจในระหว่างการบันทึกเทปให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ มองคนละมุม' ที่สถานีวิทยุ FM 100 เสียงสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 29 ก.พ. และประชาไทได้รายงานเอาไว้ในบทความ เมื่อน้ำมีราคา เมื่อนามีมิเตอร์ หาก พ.ร.บ.น้ำ' ผ่าน' ว่า

"พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการลิดรอนสิทธิของชุมชนและเกษตร เพื่อที่จะให้รัฐสามารถจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะว่าแนวคิดหลักที่บอกว่าการใช้น้ำในภาคการเกษตรนั้นสูญเปล่าไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้สามารถเก็บค่าน้ำจากภาคการเกษตรให้เป็นมูลค่าได้

อีกด้านหนึ่งที่น่าคิดก็คือการจัดการในปัจจุบันในภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเขื่อนหรืออ่างขนาดใหญ่ ในการพิจารณาให้น้ำกับภาคการเกษตรนี้จะมาทีหลัง ดูจากภาคกลาง กลุ่มหลักที่จะได้ประโยชน์และถูกพิจารณาเป็นอันดับแรกก็คือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคการเกษตรจะถูกพิจารณาเป็นอันดับสุดท้ายอยู่แล้ว"

ความคืบหน้าของการร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนนั้น ปัจจุบันภาคประชาชนได้ทำการปรึกษานายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีความถนัดในเรื่องการจัดการน้ำ ได้อาสาจะมาเป็นผู้ยกร่าง และเมื่อทำการบกร่างแล้วเสร็จก็จะเชิญแกนนำชาวบ้านมาร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคเกษตรและชาวบ้าน

ถึงอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยกร่าง โดยยังอยู่ในขั้นของกรรมาธิการ ซึ่งตอนนี้ถูกฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาด้วยความไม่ชอบธรรม เพราะว่าในช่วงของการผ่านญัตติของ สนช. นั้นเกิดปัญหาเนื่องจาก สนช.ที่ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่ครบองค์ประชุม

นายสายัณน์ ได้ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่นี้ว่า "หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ต่อก็ควรจะต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะให้ภาคประชาชน ซึ่งในภาคประชาชนก็ต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และต้องร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อเสนอให้พิจารณา

 

 

 

รถโดยสารสาธารณะกับสิทธิผู้โดยสารที่ไม่ควรละเลย...

จุดเริ่มต้นของคนเดินทาง

 

ยุคที่น้ำมันแพง ราคาเบนซินกระฉูดไปแตะที่ลิตรละ 35 บาท ส่วนดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 31 บาทกว่า การเดินทางในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ รถโดยสารสาธารณะที่มีเส้นทางขนส่งประจำทางข้ามจังหวัดดูจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีงบประมาณในการเดินทางไม่มากนัก ด้วยเหตุผลเรื่องราคาที่พอจ่ายได้ ความสะดวกสบายและความปลอดภัยจากผู้ให้บริการที่มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งมีเส้นทางเดินรถจากสถานีต่างๆ ในกรุงเทพฯ กระจายไปทั่วประเทศ

 

 

การเดินทาง


1. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)" หรือ "หมอชิต" สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปภาคเหนือ สามารถซื้อตั๋วได้ที่บริเวณด้านนอกของชั้น 1 ส่วนด้านในจะเป็นของภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับชั้น 3 จะเป็นศูนย์รวมบริษัทรถสายต่างๆ ที่วิ่งสู่ภาคอีสาน


2. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย)" ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ภาคตะวันออกทั้งหมด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว

3. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้)" อยู่ที่ ถ.บรมราชชนนี จากเดิมอยู่ที่ ถ.จรัญสนิทวงศ์ บริเวณสามแยกไฟฉาย แต่ด้วยมีปริมาณจำนวนของผู้โดยสารที่ใช้บริการมากขึ้นจึงมีการย้ายไปที่ใหม่

 

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 11-17 เม.ย.จำนวนเที่ยวรถโดยสารสาธารณะของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถร่วม ถูกจัดเตรียมไว้ให้บริการเพิ่มขึ้นกว่ากว่าปรกติร้อยละ 45 โดยช่วงวันที่ 10-13 เม.ย.จากเดิม 14,976 เที่ยววิ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 21,726 เที่ยววิ่ง เพื่อให้รองรับประมาณการณ์ผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 912,492 คน[i] ซึ่งความเป็นจริงอาจมากกว่านั้น

 

ส่วนการเตรียมรับมือสำหรับการจราจรที่คับคั่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงคมนาคม กรมการขนส่ง หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมพร้อมแผนการอำนวยความสะดวก ความมั่นคง และความปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจากช่วงเทศการนี้ในปีก่อนๆ มากนัก นั่นคือมุ่งเน้นการจัดเตรียมยานพาหนะให้เพียงพอกับความต้องการ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดมีเป้าหมายในการลดยอดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ต่ำกว่าใช่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 50 ที่มีอุบัติเหตุ 4,274 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 361 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 4,805 ราย

 

 

รถโดยสารสาธารณะกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้

ข้อมูลจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ปี 2541-2549 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีรถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 3-4 พันครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด และจากข้อมูลของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่าเฉลี่ยแล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิต 0.42 ราย บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ครั้งละประมาณ 2,300,000 บาท ซึ่งในแต่ละปีมูลค่าความเสียหายจะมหาศาลถึง 8,000-9,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ปัจจัยซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสาร นั้นมาจากความผิดพลาดของคนสูงถึง 75% ยานพาหนะบกพร่อง 14% และถนนบกพร่อง 11% ดังนั้นการวางมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันในฉุกเฉินต่างๆ มาตรฐานของรถในด้านการตรวจซ่อมบำรุง รวมทั้งสวัสดิการและมาตรฐานของพนักงานขับรถ

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจคนขับ 600 คน ของ รศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ครึ่งหนึ่งของพนักงานขับรถ มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน รายได้ที่น้อยเช่นนี้คงไม่แปลกหากพนักงานขับรถจะพยายามเพิ่มรอบในการขับรถหรือหารายได้เพิ่มเติมโดยวิธีการใดก็แล้วแต่อันอาจจะกระทบถึงประสิทธิภาพในการขับขี่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 เรียนรู้การขับรถด้วยตัวเอง และ 1 ใน 5 เรียนรู้จากการเป็นเด็กรถมาก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างเสริมความมั่นใจในพนักงานขับรถแม้แต่น้อย

 

สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งผลของคดีทำให้พนักงานขับรถถูกลงโทษจำคุก และผู้ประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหลายล้านบาท ทำให้นายศิลปะชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ต้องออกมาสั่งการให้เข้มงวดในการตรวจสอบสภาพรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบกาขนส่งใส่ใจตรวจสอบสภาพรถก่อนนำมาให้บริการ รวมทั้งเข้มงวดกวดขันพนักงานขับรถให้มีจิตสำนึกและวินัยในการขับรถ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงขึ้นอีก

 

 

ความคืบหน้าของคดีอุบัติเหตุรถโดยสารครั้งร้ายแรงในปี 2550

 

1. กรณีรถโดยสารไม่ประจำทางของห้างหุ้นส่วนนาฎตะวันทรานสปอร์ต เสียหลักพุ่งชนราวคอนกรีตแล้วพลิกคว่ำลงข้างทาง ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 34 ราย ซึ่งผลของคดีได้สิ้นสุดแล้ว โดยศาลอาญาเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาจำคุกพนักงานขับรถเป็นเวลา 4 ปี และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทเสียชีวิตรายละ 500,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 32 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย

 

2.เหตุเพลิงไหม้รถโดยสารประจำทางร่วมบริการ บขส.สายที่ 25 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 31 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องพนักงานขับรถในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 29 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 ราย

 

3.กรณีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศยูโรทู (ขสมก.) สายที่ 72 สี่เสาเทเวศร์-ท่าเรือคลองเตย ระบบเบรกมีปัญหาชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟเสียหาย 19 คัน ที่แยกวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 9 รายโดยศาลได้รับฟ้องพนักงานขับรถในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีสำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย ขสมก.และบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 1,350,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 7 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย

 

4.อุบัติเหตุรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ บขส.สายที่ 590 หนองคาย-ระยอง แซงทางโค้งทำให้เสียหลักตกเขา ที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2550 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 41 ราย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้ทั้งหมด 432,101 บาท

 

5.กรณีรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ขสมก.สายที่ 149 ตลิ่งชัน-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย) เบรกแตกชนรถจอดรอสัญญาณไฟ 14 คัน ที่บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2550 มีผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตภายหลัง 1 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายกรณีผู้เสียชีวิต บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000) จำกัด ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ จำนวน 250,191 บาท โดยบิดาผู้เสียชีวิตได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประกอบการขนส่ง บริษัท กรุงเทพรถร่วมบริการ จำกัด จำนวน 4,000,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 2 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา 10 รายและติดต่อผู้เสียหายไม่ได้ 1 ราย ส่วนความเสียหายของรถยนต์จำนวน 14 คัน มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว 6 คัน อยู่ระหว่างการเจรจา 7 คัน และติดต่อผู้เสียหายไม่ได้ 1 คัน

 

6.กรณีรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ขสมก.สายที่ 6 พระประแดง-บางลำพู ขับสวนทางวันเวย์พุ่งชนรถจักรยานยนต์และร้านค้าเสียหาย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2550 มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย ศาลแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกพนักงานขับรถ 1 ปี 11 เดือน 15 วัน ส่วนค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายของทรัพย์สินผู้ประกอบการขนส่ง บริษัท ธิติวัชการขนส่ง จำกัด และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 9 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา 4 ราย

 

ข้อมูลจาก: ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ฉบับที่ 467 ประจำวันที่ 25 ก.พ. - 2 มี.ค. 2551

 

 

ช่องโหว่ของการชดเชยผู้เสียหาย

ทั้งที่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะน่าจะปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว แต่ความจริงกลับไร้หลักประกัน นอกจากนี้สาเหตุหลักๆ ของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะยังคง ซ้ำซาก' อยู่ที่สภาพรถและอุปกรณ์ในตัวรถไม่ได้มาตรฐาน คนขับไม่ชำนาญ รีบเร่งทำเวลา และที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน แต่แม้ว่าอันตรายจากการไม่ควบคุมคุณภาพรถโดยสารสาธารณะจะนับว่าหนักหนาแล้ว การพิทักษ์สิทธิผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังสาหัสกว่ามาก

 

 

ด้วยเหตุที่ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยได้รับจากกรมธรรม์ประกันภัยและกรมการขนส่งทางบกไม่มีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินติดตัวที่เสียหายหรือสูญหาย การเสียโอกาสในการเดินทาง การเสียโอกาสทำงานหารายได้ในอนาคต ตลอดจนสภาพจิตใจที่เสียไป นอกจากนั้นค่าเสียหายที่ได้รับยังแสดงถึงการไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน และเป็นการชดใช้ในเชิงสงเคราะห์' มากกว่าการ คุ้มครอง' ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้ประสบอุบัติเหตุและญาติ ด้วยจ่ายเฉพาะค่าปลงศพ และการบาดเจ็บโดยถือตามสภาพหนักเบาของการบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาล ฐานะ และรายได้ของผู้ประสบอุบัติเหตุ

"จากกรณีรถโดยสารประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 มีผู้เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 31 คน นั้น การชดใช้เยียวยาความเสียหายจะเหลือเพียงกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ตาย 4 แสนบาท บาดเจ็บมากน้อย เต็มที่ 3 แสนบาท เจ็บแล้วตายทีหลังก็ได้ 4 แสนบาท ถึงรอดก็ได้แค่นั้น ถ้ารอดแล้วอยากเรียกค่าทำขวัญ การเจรจาก็จะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยกับตัวแทนประกัน ซึ่งจะพยายามพิทักษ์สิทธิของตัวเองมากสุด ประกอบกับผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารมักไม่เข้าใจการคุ้มครอง แยกเจรจากัน และที่สำคัญต้องเดินทางมาเจรจายังสถานที่เกิดเหตุ ใช้จ่ายเงินมาก ผลสุดท้ายจึงเกิดความไม่เป็นธรรม"

 

 

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในเวทีสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจัดโดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เมื่อวันที่ 27มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้นายอิฐบูรณ์ ยังให้ข้อมูลต่อมาอีกว่า ทั้งที่กรมธรรม์ต้องจ่ายเงินแก่ผู้เสียหาย แต่หากผู้ประสบอุบัติเหตุไม่ยอมเซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็จะไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งกระบวนการนี้จะกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น เมื่อเซ็นยินยอมความไปแล้ว แม้ภายหลังผู้ประสบอุบัติเหตุจะรู้ว่าตัวเองบกพร่อง ก็ไม่สามารถไปเรียกร้องทางแพ่งได้แล้ว

 

"ในฐานะผู้บริโภค คงไม่สามารถรอมาตรฐานที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร แต่จะต้องสร้างเกราะป้องกันตนเองขึ้นมาให้ได้ การประนีประนอมยอมความไม่ได้ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุพึงพอใจได้ แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เมื่อต้องรักษาพยาบาลจากการประสบอุบัติเหตุ ค่ารักษาจากกรมธรรม์ก็จะไม่พอ ก็ต้องใช้บัตรทอง" นายอิฐบูรณ์กล่าวแสดงความคิดเห็น

 

อนึ่ง นอกจากมาตรฐานความปลอดภัยที่รัฐควรที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนที่เดินทางโดยรถสาธารณะอย่างเต็มที่แล้ว มาตรฐานการให้บริการก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ระบบขนส่งมวลชนของไทยต้องปรับปรุง เพราะการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะน่าจะเป็นสวัสดิการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้แก่ประชาชน อีกทั้งในช่วงเทศกาลเช่นนี้ยิ่งทำให้กิจการขนส่งคึกคัก เพราะจะมีผู้โดยสารจำนวนมากต้องการใช้บริการ เมื่ออุปสงค์มากเกินอุปาทานจึงเกิดเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้โดยสารในกรณีต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย

 

 

พลเมืองชั้นสอง - เรื่องจริงที่ใครก็ไม่อยากเจอ

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อถึงช่วงวันหยุดยาวอย่างปีใหม่หรือสงกรานต์ การเดินทางของผู้คนออกจากกรุงเทพฯ สู่ต่างจังหวัดจะทวีจำนวนขึ้นจากปรกติหลายเท่าตัว ผู้โดยสารหลายคนที่จองตั๋วโดยสารล่วงหน้าไม่ทันแต่ต้องการเดินทางหลายต่อหลายคนต้องมานอนรอเข้าคิวเพื่อที่จะซื้อตั๋วโดยสารแบบวันต่อวัน และก็หลายคนที่ต้องพบกับการบริการที่แย่ๆ หรือสภาพรถโดยสารที่ทรุดโทรม แต่ก็ต้องจำทนเพราะถือว่านานๆ ครั้งจะมีโอกาสกลับบ้าน จึงหวังเพียงให้การเดินทางถึงที่หมายและเป็นไปโดยปลอดภัย

 

รถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นรถทัวร์ปรับอากาศชั้น 2 (ป 2) สายอีสาน สายหนึ่ง ใช้วิธีเอาเปรียบ ล่อลวงรับผู้โดยสารในราคาเต็มปรกติ แต่ให้ผู้โดยสารลงไปนั่งเบียดเสียดกันใต้ท้องรถที่ปรกติจะเห็นว่าใช้เป็นที่เก็บกระเป๋า ซึ่งถูกดัดแปลงให้โล่ง ขนาดกว้างพอที่คนจะลงไปนั่งได้ การดัดแปลงเช่นนี้ทำให้รถโดยสารสามารบรรจุคนได้มากขึ้น แต่อาจบรรทุกเกิดน้ำหนัก และมาตรฐานความปลอดภัยที่รถคันนั่นมี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายนำมาเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต[ii] และถูกได้มีการร้องเรียนผ่านทางเว็บบอร์ดไปที่กรมการขนส่งทางบก เมื่อราวเดือนพฤษภาคมปี 2550 ซึ่งก็ได้มีคำตอบรับในการที่จะแก้ไขจากหน่วยงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยังผู้ที่เคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะสายอีสาน ได้รับการยืนยันว่ากระกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลต่างๆ

 

"เมื่อก่อน น่าจะประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว เคยต้องลงไปนั่งอยู่ที่ใต้ท้องรถของรถ ป 2 เหมือนกัน ในช่วงเทศการสงกรานต์ เพราะต้องเดินทางกลับบ้าน เลยต้องทนอึดอัดนั่งไป แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้ใช้บริการรถ ป 2 แล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่าคนแออัดและถึงที่หมายช้ามาก" ผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะคนหนึ่งกล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายที่ต่อเนื่องมายาวนาน

 

นอกจากนี้ การเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการให้นั่งเก้าอี้เสริม การให้นั่งเบียดกัน 3 คน ในเบาะ 2 ที่นั่ง ได้กลายเป็นเรื่องปรกติของการโดยสาร รถ ป 2 สายอีสาน หรืออีกหลายเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ด้วยเหตุผลจากหลายสายเป็นการเดินทางที่ไม่ไกลนักและการแบ่งปันแก่เพื่อนร่วมทาง แต่น้ำใจของคนเดินทางที่กลับกลายมาเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการรถโดยสารแสวงหาผลประโยชน์เช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งจะเข้ามาดูแลจัดการรถโดยสารสาธารณะให้มีจำนวนเพียงพอต่อความ และมีการบริการที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ บริการที่เป็นมาตรฐานทั้งในรถปรับอากาศชั้น 1 ชั้น 2 หรือรถโดยสารชั้น 3 (รถพัดลม) เป็นสิ่งที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะทุกคนอยากเห็น แม้จะยอมรับได้ว่าการจ่ายในราคาที่ต่างบริการที่ได้รับย่อมแตกต่างกับ แต่การใช้บริการรถ ป 2 และรถพัดลมก็ไม่น่าจะทำให้ผู้โดยสารต้องตกอยู่ในที่นั่งของพลเมืองชั้น 2 ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

 

จากสิทธิผู้บริโภคถึงสิทธิผู้โดยสาร

การที่เราเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถโดยสารประจำทาง ถือว่าเราได้กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าบริการเหล่านั้น และย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค[iii] รวมถึงได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน[iv] ได้ประกาศรับรองหลักความคุ้มครองผู้บริโภคใน 3 หลักใหญ่ คือ การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นความจริง การร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย และการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

 

จากกฎหมายสิทธิผู้บริโภคเมื่อนำมาประยุกต์ใช้จึงกลายมาเป็น สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการรถสาธารณะ 10 ข้อ[v] ที่ควรถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนี้

 

 

สิทธิก่อนเลือกใช้บริการ

1.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ

ข้อมูลยกตัวอย่างเช่น ประเภทและคุณภาพมาตรฐานของรถโดยสาร สิ่งที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสาร วันเวลาในการเดินทางและถึงที่หมาย ค่าบริการ รายละเอียดในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสมัครใจที่ผู้ประกอบการมีให้ รวมถึงข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบริการของรถโดยสาร คือสิ่งที่ผู้โดยสารควรได้รับรู้เพื่อตัดสินใจใช้บริการ ซึ่งหากผู้ให้บริการแสดงข้อความเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง โดยผู้โดยสารได้ตกลงจ่ายค่าโดยสารไปแล้วและมารู้ว่าตนถูกหลอกลวงในภายหลัง ผู้ให้บริการอาจมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษทั้งจำและปรับ

 

2.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และค่าบริการ

การห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าที่ทางการกำหนด

 

3.ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารได้โดยสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

การที่ผู้ให้บริการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรียกให้คนขึ้น รถด้วยการส่งเสียงดังในลักษณะที่ก่อความรำคาญให้แก่ ผู้โดยสารหรือผู้คนที่อยู่โดยรอบ หรือทำการต้อน ดึง เหนี่ยว หรือยึดยื้อผู้โดยสาร รวมทังสิ่งของเพื่อให้ไปขึ้นรถโดยสารคันใดคันหนึ่ง ถือว่าผิดกฎหมาย[vi] มีโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท

 

สิทธิขณะใช้บริการ

4.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสาร

เมื่อให้บริการรถโดยสารต้องมีคุณภาพ มาตรฐานด้านความปลอดภัยตามหลักวิชาการที่กฎหมายกำหนด มีสภาพมั่นคงแข็งแรงไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้โดยสาร และผู้ขับขี่ต้องไม่อยู่ในสภาพหย่อนยาน ไม่เมาสุราหรือเสพยาเสพติด ไม่ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ขับขี่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ

 

5.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

เมื่อให้บริการรถโดยสารต้องมีคุณภาพมาตรฐานด้านการบริการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้บริการต้องให้บริการต่อผู้โดยสารด้วยความสุภาพ ไม่เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาอื่นใดที่เป็นการไม่ให้เกียรติผู้โดยสาร ไม่สูบบุหรี่ คุยกัน หรือส่งเสียงรบกวนก่อความเดือดร้อนรำคาญในขณะให้บริการ

 

สิทธิเมื่อถูกละเมิดหรือเมื่อประสบภัย

6.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

หากเกิดปัญหาจาการใช้บริการไม่ว่าจะร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน การร้องทุกข์ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคน เพื่อจะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การร้องเรียนยังจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ และยกระดับมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะให้ดีขึ้นได้

 

7.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยด้วยความเป็นธรรม โดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ

เมื่อผู้โดยสารประสบภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ฯ และประกันภัยประเภทสมัครใจที่ผู้ให้บริการจัดให้ถือเป็นการเยียวยาเบื้องต้นที่ผู้โดยสารควรได้รับโดยทันที ไม่ควรถูกประวิงเวลา หรือถูกบังคับให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จนทำให้ผู้โดยสารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเสียหายมากยิ่งกว่าที่ได้รับ

 

8.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิด

การชดใช้ความเสียหายให้กับผู้โดยสาร ในส่วนของค่าปลงศพและค่ารักษาพยาบาลนั้นอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ควรได้รับการพิจารณาครอบคลุมถึงสิทธิอื่นๆ ที่ผู้โดยสารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้สูญเสียไปด้วย เช่น รายได้จากการประกอบอาชีพที่ต้องขาดไปขณะเจ็บป่วย หรือการชดใช้ความเสียหายให้กับทายาทที่ต้องขาดผู้อุปการะ เป็นต้น

 

9.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายตามหลักแห่งพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาค

การเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารที่ประสบภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการใช้ความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม สภาพทางการหรือสุขภาพ หรือความคิดเห็นทางการเมือง ถือเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าความเท่าเทียมกัน

 

10.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองและผู้อื่น

ข้อนี้เป็นประโยชน์ที่จะช่วย เพิ่มอำนาจการต่อรองเรียกร้อง ทำให้ข้อเรียกร้องเกิดความเข้มแข็ง มีพลัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือชดใช้เยียวยาความเสียหาได้ดีกว่าการต่อสู้เรียกร้องโดยลำพัง เหมือนดังสุภาษิตคำพังเพยที่ว่าหนึ่งคนหัวหาย สองคนเพื่อนตาย และถ้าเป็นสาม สี ห้า หก... อาจนำสู่การแก้เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าก็อาจจะเป็นได้

 

หากถูกละเมิดสิทธิ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียน รวมถึงดำเนินการฟ้องร้องหากถึงคราวจำเป็น เพื่อการแก้ไขเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยช่องทางดังนี้

 

หมายเหตุ

 

หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้โดยสารรถสาธารณะ

 

หน่วยงาน

เบอร์โทรศัพท์

การบริการความช่วยเหลือ

ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ

1584

รับเรื่องร้องเรียนหรือรับแจ้งข้อมูลในเรื่องการบริการรถขนส่งสาธารณะ

แจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของ บขส.และรถร่วม

1508

ตำรวจทางหลวง

1193

ศูนย์ร้องเรียนเรื่องขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

184

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

02-2483733-37

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และช่วยเหลือด้วยคดีของผู้บริโภค

สภาทนายความ

02-6291430

รับเรื่องร้องเรียนให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และช่วยเหลือด้วยคดีของผู้บริโภค รวมทั้งคดีความทั่วไป

สำนักงานคณะกรรมการกำกับ

และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

1186

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

1166

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาปัญหาผู้บริโภค

 

 

ค่าชดเชยตามความคุ้มครองเบื้องต้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535


๐ ค่าเสียหายเบื้องต้นคืออะไร?

ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหายดังกล่าว เรียกว่า "ค่าเสียหายเบื้องต้น" โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้

1.กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท


2.กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา)


3.กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท

 

๐ ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นคืออะไร?
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย หรือทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้

1.กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท

 

2.กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่


๐ รถ 2 คันชนกัน ผู้ประสบภัยเป็นผู้โดยสาร พ.ร.บ.คุ้มครองเท่าใด?
กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไป ชนกัน ต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด
ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย กรณีบาดเจ็บ บริษัทจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน แก่ผู้ประสบภัย กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน หรือค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) ต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี


กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หากเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท


กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และ 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย. 2546 เป็นต้นมา) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย)

 

 

 


[i] มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551

[ii] http://thaibus.50webs.com/

[iii] พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2541)

[iv] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61

[v] นำเสนอในเวทีสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม จัดโดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

[vi] ความผิดตามมาตรา 86 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522

 

แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ จับทักษิณเป็นตัวประกัน

หัวไม้ story แก้รัฐธรรมนูญ

 

พิณผกา งามสม/พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

เมื่อกระแสแก้รัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการถูกโจมตีว่าจะเป็นการเบิกทางให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามามีที่อยู่ที่ยืนในเวทีการเมืองไทยอีกครั้ง มิหนำซ้ำยังเป็นการปูทางไปสู่การฟอกตัวของอดีตนายกผู้ซึ่งตามทัศนะของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่าเป็นเหตุแห่งความวิบัติทั้งสิ้นทั้งมวลของประเทศชาติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็กลายมาสู่เรื่องการเอาทักษิณ หรือไม่เอาทักษิณ แบบกลยุทธ์ขายเบียร์พ่วงเหล้า คือถ้าไม่เอาทักษิณก็ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถ้าใครจะแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นพวกทักษิณ ว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรในโครงการสร้างการเมืองไทยที่เกิดขึ้นเวลานี้ ก็ถูกจับโยนลงไปเป็นประเด็น เอาทักษิณกลับมา หรืออย่าเอาทักษิณกลับมา.....นับเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หนึ่งเดียวของโลกจริงๆ

 

รับไปก่อน แก้ทีหลัง

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไปที่ไหนก็บอกชาวบ้านให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง สำทับอีกทีโดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ก่อนที่จะมีการลงประชามติ พ่วงด้วยการบอกอีกซ้ำๆ ว่าหากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่มีเลือกตั้ง ถึงเวลานี้ดูเหมือนไม่มีใครทบทวนความจำอันแสนสั้นและเลือนรางเสียแล้ว

เมื่อประเด็นแก้รัฐธรรมนูญถูกจุดขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาล ในห้วงเวลาที่ รายชื่อ พรรคการเมือง 3 พรรค อันได้แก่ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอันอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ โดยพลัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาตอบโต้ทันทีว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเหตุแห่งวิกฤตการเมือง ในขณะที่พลังเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใหญ่อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกมากล่าวหาโดยทันทีว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีการยุบพรรครวมทั้งเพื่อฟอกตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ทั้งยังหวังว่าจะเป็นการปูทางให้ทักษิณกลับมาสู่เวทีการเมืองไทยอีกครั้ง

กระทั่งในการเสวนาวิชาการโดยพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการพ่วงด้วยคำขู่ว่าพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวทันทีที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ

ดูทีว่า ฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคฝ่ายค้านมีความกลัวอย่างสุดขีดว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชาชนจะนำไปสู่ความอยู่รอดปลอดภัยของ 3 พรรคการเมือง แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายมองว่า 3 พรรคนี้ ดูท่าว่าจะชะตาขาดไปแล้ว เพราะแม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ก็คงไม่ทันการกับคดีที่ขณะนี้ไปอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

EIA: ตัวช่วยการพัฒนา (ต่างหาก)

EIA ขัดขวางความเจริญ ? 


หัวไม้ story คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็นหัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ, ชลธิชา ดีแจ่ม

นานๆ ทีจะเห็นคนระดับนายกรัฐมนตรีออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และระดับคุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะพูดอะไรมักต้องเป็นที่ฮือฮาป่าแตกเสมอ ดังเช่นการวิจารณ์ว่า อีไอเอ' หรือ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม' ที่เจ้าของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องศึกษาแล้วส่งให้ สผ.พิจารณานั้นคล้ายๆ จะขัดขวางความเจริญ ทำให้การลงทุนล่าช้า สะดุด หยุดชะงัก....ทำนักลงทุนเดือนร้อน ใครรับผิดชอบ ฮึ !

พันธมิตรเดินหน้า...ไปไหน?

 

 

หัวไม้ story - คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็น หัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

 

 

หากย้อนดูปรากฏการณ์การเคลื่อนขบวนของประชาชนออกมาแสดงพลังขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลไทยรักไทย ที่ผ่านมานับแต่การเริ่มต้นเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งแรก การเคลื่อนไหวของพันธมิตรอบสองนี้ นับว่าเป็นจังหวะก้าวที่คุ้นเคยยิ่ง โดยเริ่มการเปิดโปงและเรียกร้องความโปร่งใสในกรณีจำเพาะเจาะจง จากนั้นจึงขยายมูลความผิดออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยในฐานะที่เป็นระบอบทักษิณ ด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์ คือ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายพุทธศาสนาด้วยกรณีสังฆราช 2 องค์ คอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารชนิดที่เมืองไทยไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน แม้เมื่อเทียบกับยุคเผด็จการ ทั้งกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดในสนามบินสุวรรณภูมิ (CTX) ขายชาติโดยเอาทรัพย์สินของชาติไปขายในนามของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไหนจะเป็นสำนึกเห็นแก่ได้ไม่ยอมเสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนสัญชาติสิงคโปร์อีกเล่า

เรื่องราวครั้งนั้นจบลงที่การรัฐประหาร ดังที่เราท่านรู้ๆ กันดี ครานี้ พันธมิตรฯ เริ่มอีกครั้ง หลังจากที่ดูเหมือนว่าระบอบทักษิณจะเป็นเชื้อชั่วไม่ยอมตาย และกลายพันธุ์มาในรูปแบบใหม่ที่ไม่รู้จะดื้อยากว่าเก่าหรือเปล่า โดยพรรคนอมินีอย่าง พลังประชาชน นำโดยผู้นำพรรคอย่างนายสมัคร สุนทรเวช โดยพันธมิตรระบุความผิดพลาดของรัฐบาลสมัครที่ทำให้ต้องออกมารวมตัวกันอีกครั้งได้แก่

1. มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติที่มีประวัติด่างพร้อย และมีมลทิน อันเป็นการจงใจหยามเหยียดเกียรติภูมิของประเทศ และดูถูกศักดิ์ศรีของคนในชาติ

2. มีการเร่งรัดในการโยกย้ายข้าราชการเพื่อแทรกแซง และตัดตอนกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้พ้นจากคดีความที่มีความเกี่ยวพันกับระบอบทักษิณ

3. มีการโยกย้ายข้าราชการตำรวจเพื่อล้างแค้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตแกนนำอดีตพรรคไทยรักไทย และแกนนำพรรคพลังประชาชนให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นสัญญาณการสร้าง "รัฐตำรวจ" ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อปูทางสร้างฐานให้กับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้มาเป็นผู้คุมดูแลรัฐตำรวจในอนาคตอันใกล้

4. มีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างอุกอาจสำคัญๆ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อย่างไร้เหตุผล อันเป็นการกระทำการโยกย้ายใช้อำนาจแบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์อย่างโจ่งแจ้ง ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเหมือนในอดีตในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อดีตนายกรัฐมนตรีกุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่ผู้เดียว ทำลายระบบคุณธรรม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง บริหาร สั่งราชการ และตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่เพียงผู้เดียว

5. มีการแทรกแซงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี โดยการยิงสัญญาณก่อกวนเพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นลักษณะของการก่อการร้ายสากล และยังให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นในหลายพื้นที่งดการถ่ายทอดรายการจากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ตรงไปตรงมา

6. รัฐบาลได้จุดประเด็นดำเนินนโยบายบ่อนเสรีสร้างอบายมุขเหยียบย่ำศีลธรรม เป็นการจงใจที่จะทำลายรากเหง้าและฐานรากวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย เพื่อแลกกับผลประโยชน์มหาศาลเฉพาะหน้า ทำลายแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใส่ใจกับการล่มจมของประเทศชาติสลายในอนาคต

7. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อสารมวลชนต่างประเทศเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม และมีเป้าหมายกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึงสถาบันอันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง

นี่คือภาคต่อเนื่องของพันธมิตรฯ และชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นเป็นเป้าหมายอันใหญ่ที่พันธมิตรต้องการจะหยุดแบบถอนรากถอนโคน ดังที่ปรากฏในแถลงการณ์พันธมิตรฯ ที่ออกมาในปี 2549

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ headline