Skip to main content

หลังจากอัพบล็อกไปคราวก่อนก็มีคำถามส่งมาหลังไมค์ ว่าด้วยทุนและหลักสูตรปริญญาโทของ University for Peace คำถามยาวเหยียดชุดนี้มาจากคุณป.ผู้ซึ่งทำงานอยู่ ณ องค์กรว่าด้วยกฎหมายและสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะตอบคำถามเหล่านี้เผื่อว่าคำตอบจะเป็นประโยชน์กับหลายคนที่สนใจหรือจดๆ จ้องๆ อยู่ว่าจะสมัครดีหรือไม่สมัครดี ก่อนที่บล็อกนี้จะย้ายไปเล่าถึงเรื่องราวสารพัดสารพันที่เกิดขึ้นหลังจากข้าพเจ้าได้มาเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่มีชื่อสุดจะเว่อร์ว่า “หลักสูตรผู้นำเอเชีย” (เฮ้ย มึงตั้งความหวังกับกูขนาดนั้นเลยเหรอ?)

คำถามยาวเหยียดประหนึ่งพระไตรปิฎกของคุณป.นี้ ได้มีศิษย์เก่ายูพีซใจดีสองคนมาช่วยตอบบางส่วน คนแรกเป็นศิษย์เก่ารุ่น 4 ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขา Media, Peace and Conflict studies ข้าพเจ้าจะให้นามสมมติแก่เธอว่าพี่เบญจ ส่วนตัวข้าพเจ้ารู้จักกับพี่เบญจมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิตวัยละอ่อนวิ่งทำค่ายอาสาฯ อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะพี่เบญจเป็นรุ่นพี่คณะเดียวกันกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่าคืนหนึ่งในการประชุมค่ายที่โรงเรียนบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว พี่เบญจพูดขึ้นมาว่าตอนนี้ชีกำลังสนใจเศรษฐศาสตร์แนวพุทธของอี.เอฟ.ชูมัคเกอร์ เล่นเอาน้องๆ ถึงกับมองหน้ากันเลิกลั่กว่าอีตาคนนี้มันใช่คนเดียวกับนักขับรถแข่งหรือเปล่า ส่วนหญิงสาวคนที่สองเป็นศิษย์เก่ารุ่น 5 ผู้กำลังจะสำเร็จการศึกษาและฝึกงานอยู่ที่ UN Women South Asia office ณ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย ข้าพเจ้าจะมอบนามสมมติให้แก่เธอว่าคุณาก็แล้วกัน (ทั้งสองคนอาจจะอยากบอกว่า “มึงให้ชื่อสมมติกับกูทำไมคะ นี่มันชื่อจริงกูแล้วเนี่ย”)

ก่อนจะออกนอกเรื่องจนกู่ไม่กลับ ขออนุญาต Jump Cut ตัดกลับเข้ามาที่คำถามของคุณป. ดังต่อไปนี้
 
1. รู้จักทุนนี้ด้วยความบังเอิญ สนใจม๊ากกกับโปรแกรมของเขา โดยเฉพาะ Environmental Security and Peace, Natural Resources and Peace. เป็นเด็กนิติ การไปเรียนโปรแกรมนี้ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเด็กศิลปศาสตร์หรือเปล่า 
 
2. หลักสูตรนี้มันปรับเข้ากับเด็กนิติที่อยากมีมุมมองด้านสังคมอื่นๆ หรือป่าว คือสุดท้ายก็อยากกลับมาทำงานด้านกฎหมายอยู่ดี แต่การได้มีมุมมองด้านสังคมจะทำให้เราคิดปรับใช้กฎหมายได้หลากหลายมากขึ้น 
 
3. พี่ๆ ไปเรียนกันมาแล้ว คิดว่ามหาลัยนี้เป็นอย่างไร สมกับคำร่ำลือที่เขาเขียนไว้หรือเปล่า อยากรู้จักมหาลัยมากขึ้น
 
4. คอร์ส Peace Building in Asia นี้มันเรียนอะไรกันหรือคะ เราจะรู้จักความเป็นเอเชียมากขึ้นผ่านการสร้างสันติภาพหรือ  คือสนใจประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมอยู่นะคะ 
 
5. หลักสูตรภาษาที่ฟิลิปปินส์เตรียมพื้นฐานให้คนไม่ค่อยสันทัดด้านภาษาได้มากน้อยแค่ไหน
 
6. สารภาพว่าภาษาไม่แข็งแรงหรอกค่ะ ถ้าพยายามสุดชีวิตจนสอบ IELTS ผ่าน มันจะยังเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเรียนต่อไปอย่างไร ประมาณว่าสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ แต่ภาษา Academic ก็น้อยอ่ะคะ
 
7. ผ่านข้อ 6 มาแล้วหมดกำลังใจอ่านข้อ 7 หรือป่าวคะ lol แนวโน้มการคัดเลือก เขาจะเลือกจากคนที่ต้องมีความตั้งใจแบบสุดๆ ที่จะทำอะไรสักอย่าง หรือว่าต้องมีผลงานเชิงประจักษ์อะไรสักอย่างหรือป่าวคะ
 
ซึ่งคำถามเหล่านี้พี่เบญจและคุณาได้มาตอบไว้บางส่วน พี่เบญจออกตัวว่าขอตอบสั้นๆ แต่คำตอบพี่โคตรยาวเลยค่ะ อย่างไรก็ดี คำตอบของพี่เบญจเป็นประโยชน์มาก ไม่เฉพาะกับคุณป.ที่ถามมา แต่คิดว่าคำตอบของพี่เบญจน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังสนใจในหลักสูตรและทุนการศึกษานี้ 
 
- โปรแกรมทุกโปรแกรมของ UPEACE นักเรียนไม่จำเป็นต้องมี background มาทางนั้นนะ สมัยพี่เรียน มันมีทนายความที่มาเรียน peace education, environment มีหมอเรียน peace education, มีทหารกับสจ๊วตสายการบิน และชาวนา มาเรียน media มีพยาบาลมาเรียน international peace studies มีสาวนักประชาสัมพันธ์มาเรียน natural resources, etc....คือแต่ละโปรแกรมมันมีคนจาก background ที่หลากหลาย และนั่นเป็นความสวยงามหนึ่งของมหาลัยนี้
 
- หลักสูตรฯ จะปรับเข้ากับเด็กนิติที่อยากมีมุมมองทางสังคมไหม อันนี้พี่ไม่รู้ พี่คิดว่าคนเรียนน่าจะปรับตัวกับหลักสูตรมากกว่า(หรือเปล่า) /สำหรับนักนิติศาสตร์ที่จับเรื่องคดีสิ่งแวดล้อมมาหรืองานฐานทรัพยากร พี่คิดว่าโปรแกรมนี่โคตรจะมีประโยชน์เลย สมัยเป็นนักข่าวพี่เคยไปตามคดีสิ่งแวดล้อม-การแย่งชิงทรัพยากร สิ่งหนึ่งซึ่งได้ยินบ่อยๆ จากฝ่ายกฎหมายก็คือ ฝ่ายกฎหมายตามไม่ทันและไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร นอกจากนี้กฎหมายก็ไม่ใช่เครื่องมือเดียวในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมด้วย....สรุปคือ ไอ้โปรแกรมที่ว่านี่จะมีประโยชน์ให้นักกฎหมายอย่างน้องเอาไปปรับใช้แน่นอน 
 
- กลับจากคอสตาริกา มามะนิลาอีกครั้ง เรียนคอร์ส peace building in asia มันคืออะไร? ก็เรียนในเรื่องที่คอสตาริกาสอนแหละ แต่คราวนี้เป็นการโฟกัสในบริบทเอเชีย ศึกษาเคสของเอเชีย เรียนรู้ machnisms ต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม-สมานฉันท์-สันติภาพ อะไรทำนองนี้ และเราจะได้เรียนวิชาของโปรแกรมอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรมะนิลาของรุ่นพี่จะหนักไปทาง international law ซึ่งเด็กจากโปรแกรม law จะบ่น เพราะมันเรียนมาหมดแล้ว ในขณะที่นักเรียน media อย่างพี่รู้สึกว่าได้กำไร แต่ว่า หลักสูตรที่มะนิลามันปรับเปลี่ยนไปทุกปีอ่ะนะ 
 
- ก่อนไปเรียนยูพีซ พี่ไม่เคยรู้ว่ามีคำร่ำลืออะไรเกี่ยวกับที่นี่บ้างนะ และไม่เห็นว่ามีคนรู้จักมหาลัยนี้เลย ก.พ.บ้านเราก็ไม่ recognize ฮ่าๆ...พอไปเรียนแล้วก็รักมันมาก คือมันไม่ได้ academic เท่าไหร่หรอกนะ สิ่งที่พี่ได้กลับมาคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคลาสเรียนมากกว่า คือถ้าเราเชื่อว่าชีวิตจริงของคนมันจริงยิ่งกว่าทฤษฎีใดๆ ก็คงชอบคลาสแบบนี้ละมั้ง -- แต่นี่คือคลาส media ของพี่นะ พี่โชคดีมากที่ได้อาจารย์เจ๋งๆ และเพื่อนเรียนที่มีอะไรมา contribute ให้คลาสตลอดปี ส่วนคลาสอื่นๆ คงต้องรอคนอื่นๆ มาตอบ / นอกจากเรื่องเรียนแล้ว สิ่งที่ทำให้พี่รักยูพีซมากคือ เพื่อน, บทสนทนาบ้าๆ บอๆ ตลอดปีที่เรามีด้วยกัน ความรู้สึกเป็นอิสระอย่างบอกไม่ถูก และอื่นๆ อีกมากมาย
 
และคุณาได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ดังนี้
 
1. เรื่องภาษาอังกฤษ ก็อยากให้สอบให้ผ่านตามเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ก่อน แล้วค่อยไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ ตอนแรกคุณาติดสำรอง แล้วก็มาได้เลือกทีหลัง ไม่ได้เรียนอังกฤษกับเพื่อนๆ ที่ฟิลิปปินส์ ไปเริ่มเรียนที่คอสตาริกาเลย ลำบากหน่อยแต่ก็รอดมาได้ ก็เลยคิดว่า ถ้าพยายามก็ไม่น่าจะมีปัญหานะคะ
 
2. เพิ่มเติมเรื่องฝึกงาน ทุนนี้เปิดโอกาสให้เราไปฝึกงานที่ประเทศที่ไม่ใช่ไทย เป็นโอกาสทองของป.แล้วที่จะได้ไปอยู่ที่ๆ เราอยากไปเรียนรู้ แต่ติดเรื่องเงินทุน ^^ ตอนนี้พี่เริ่มฝึกงานที่ UN WOMEN South Asia Office ที่ New Delhi สนุกดี เป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้จากการอ่านหนังสืออย่างเดียว
 
ข้าพเจ้าเห็นพี่เบญจและคุณาตอบก็ดูครอบคลุมดีแล้ว ตอนแรกก็คิดว่าจะจบแค่นี้ แต่คิดอีกทีมันก็ดูอุบาทว์ไปหน่อยที่จะเขียนบล็อกด้วยคำถามและคำตอบของคนอื่นทั้งหมด ขออนุญาตตอบคุณป.เพิ่มเติมดังนี้
 
1) เห็นด้วยกับพี่เบญจเรื่อง Background เพราะรุ่นข้าพเจ้าก็มีนักบินหนุ่มยศพันตรีจากกองทัพอากาศฟิลิปปินส์กำลังจะไปเรียน International Peace Studies (แต่ความเก๋ที่สุดคือพันตรีนายนี้เป็นเกย์ค่ะทุกท่าน และพันตรีนายนี้ได้พาข้าพเจ้าและผองเพื่อนไปตะลุยบาร์เกย์ในมะนิลาเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่องบาร์เกย์นี้คงได้เล่าในโอกาสต่อไป) มีนักเคมีสาวจากญี่ปุ่นกำลังจะไปเรียน International Peace Studies มีหนุ่มญี่ปุ่นเพิ่งจบป.ตรีจากอเมริกาแต่ไปลากรถสามล้ออยู่ในโตเกียวกำลังจะไปเรียน Responsible Management and Sustainable Economic Development อย่างที่พี่เบญจว่าไว้ นี่คงเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นความสวยงามบนความหลากหลายของผู้คนที่ชีวิตนี้เราคงไม่มีแม้โอกาสจะเดินผ่านกัน, ถ้าไม่ใช่ที่นี่, หลักสูตรนี้และมหาวิทยาลัยนี้
 
2) เรื่องหลักสูตร เนื่องจากเป็น Master of Arts และเป็น Interdisciplinary programme ไม่ใช่ LLM ที่จะเน้นไปทางกฎหมายโดยเฉพาะ ถ้าอยากได้ความรู้และมุมมองแบบบูรณาการ หลักสูตรของ UPEACE น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าต้องการความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเฉพาะ หลักสูตรนี้ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบ เพราะฉะนั้นคุณป.ต้องถามตัวเองว่าอะไรที่คุณป.ต้องการจากการเรียนปริญญาโท จากคำถามของคุณป. เหมือนว่าคุณป.ต้องการมุมมองทางด้านสังคมเพิ่มเติมเพื่อที่จะปรับใช้กฎหมายได้หลากหลายขึ้น ต้องบอกว่ามุมมองทางสังคมนั้นได้แน่ๆ ตั้งแต่ก่อนไปคอสตาริกาด้วยซ้ำ เพราะทุกคนจะต้องเรียน Content Class ที่พูดถึงแนวคิดพื้นฐานของประเด็นทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่ทฤษฎีการเมืองไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา แต่ถ้าถามว่ามุมมองทางสังคมเหล่านั้นจะนำมาปรับใช้กฎหมายได้หรือไม่ก็คงจะขึ้นอยู่กับคนเรียน เพราะการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยบ่อยครั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ
 
3) ยังไม่ได้ไปเรียนเลยนิ แล้วก็ไม่รู้ว่าใครร่ำลือไว้ยังไง เวลาบอกคนว่าจะไปเรียนคอสตาริกา คนไทย 99.7% จะทำหน้างงสุดขีด แต่พอบอกเพื่อนฝรั่ง ส่วนใหญ่จะรู้จักและพากันบอกว่ามหา’ลัยนี้มันเจ๋งนะเว่ย ถ้าได้ไปเรียนที่คอสตาริกาจริงๆ แล้วจะมาบอกอีกทีว่ามันเจ๋ง มันเห่ย มันเชย หรือมันคูลยังไง 
 
4) คอร์สที่มะนิลาปรับเปลี่ยนทุกปีตามที่พี่เบญจบอกไว้ สำหรับรุ่นข้าพเจ้า เมื่อกลับมาจากคอสตาริกาแล้วต้องเลือก 3 คอร์สจาก 5 คอร์ส เอ๊ะ หรือ 6 คอร์ส จำไม่ได้แล้ว เดี๋ยวไปถามให้แล้วมาบอกอีกที แต่ที่จำได้คือหลักสูตรของนักเรียนทุน Asis Leaders Programme หลังจากกลับมาจากคอสตาริกาจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาโทรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองโลก (MA Political Science, major in Global Politics) ของ Ateneo De Manila University
 
5) และ 6) เรื่องภาษา ส่วนตัวข้าพเจ้าสอบ IELTS และผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของ Advanced English คือ 7.0 แต่เกณฑ์ต่ำสุดคือ 5.5 ถ้าคุณป.สอบได้ 5.5-6.5 ก็ต้องมาเข้าคอร์ส Intermediate English ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม และคอร์สที่สถาบันภาษาของ Ateneo De Manila เตรียมไว้ให้ก็เป็นหลักสูตรที่เน้นการเขียนเชิงวิชาการหรือ Acedmic Writing เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงถ้าได้ทุนและได้มาเรียน เพราะหลักสูตรนี้ตระเตรียมไว้ให้คนเอเชียที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะ
 
7) เคล็ดลับที่ข้าพเจ้าได้มาจากรุ่นพี่ในแวดวงสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง - ผู้ซึ่งโชว์ปาฏิหาริย์ได้ 4 ทุนพร้อมกัน รุ่นพี่คนนั้นบอกข้าพเจ้าว่า Statement of Purpose เป็นพื้นที่ที่เราจะได้แสดงประสบการณ์และความตั้งใจที่สะท้อนความเป็นตัวเราอย่างแท้จริง
 
ตอบจบครบทุกคำถาม ไม่รู้ว่าจะมีคนอ่านกี่คนทนอ่านจนจบเพราะยาวเหยียดประหนึ่งละครหลังข่าวที่ยิ้อไม่ยอมจบ ขออนุญาตตัดจบดื้อๆ ตรงนี้เลยแล้วกัน เพราะเพื่อนร่วมบ้านชาวญี่ปุ่นของข้าพเจ้าทำโอโคโนมิยากิ
 
 
 
และเมียของเพื่อนร่วมบ้านชาวอินโดนีเซียทำพายแอปเปิ้ล
 
 
ขอไปชิมก่อนแล้วคราวหน้าค่อยมาเล่าเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟิลิปปินส์ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 1984 แต่ไม่เคยเดินเครื่อง และตอนต่อไปจะเป็นเรื่องบาร์เกย์ในมะนิลาที่เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ของข้าพเจ้าบอกว่า “แซ่บไม่ถึงครึ่งของบาร์เกย์ในกรุงเทพฯ” ก็ไม่รู้ว่าจะเล่าทำไมเหมือนกันถ้ามันไม่แซ่บ ถือว่าเป็นรสชาติและประสบการณ์แปลกใหม่ของชีวิตที่อยากแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังก็แล้วกัน :)
 

บล็อกของ I walk the line

I walk the line
หลังจากอัพบล็อกไปคราวก่อนก็มีคำถามส่งมาหลังไมค์ ว่าด้วยทุนและหลักสูตรปริญญาโทของ University for Peace คำถามยาวเหยียดชุดนี้มาจากคุณป.ผู้ซึ่งทำงานอยู่ ณ องค์กรว่าด้วยกฎหมายและสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะตอบคำถามเหล่านี้เผื่อว่าคำตอบจะเป็นประโยชน์กับหลายคนที่สนใจหรือจดๆ จ้องๆ อยู่ว่าจะสมัครดี
I walk the line
ก่อนจะไปพูดเรื่องอื่น อาจจะมีคนสงสัยอยู่พอประมาณว่าทุนการศึกษาบ้าอะไรส่งคนไปเรียนที่ประเทศคอสตาริกา (อะไรนะ? แองโกล่า! อะไรนะ? อันดอร์ร่า! ไม่ใช่ ก็บอกว่าคอสตาริกา!