janejira's picture

<p style="margin-bottom: 0cm"><span><strong>บันทึกหมู่บ้านห่วงสีทอง</strong></span></p><p style="margin-bottom: 0cm">&nbsp;</p><p style="margin-bottom: 0cm"><span>บันทึกชีวิตชาวกะยัน ผู้มีห่วงสีทองคล้องคอ ซึ่งเป็นห่วงทองคำของใคร ๆ แต่ไม่ใช่ของเจ้าของคอ </span></p><p>&nbsp;</p><p style="margin-bottom: 0cm">&nbsp;</p><p><strong>เจนจิรา สุ</strong></p><p>นามปากกานี้เคยมีงานเรื่องสั้นปีพิมพ์มาบ้าง ในหน้านิตยสาร เช่น สกุลไทย เนชั่นสุดสัปดาห์ โพราติค ฯลฯ</p><p>หลังจากจบปริญญาตรีเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมจากมหาวิทาลัย เชียงใหม่ เธอทำงานฝ่ายเผยแพร่กับองค์กรพัฒนาเอกชน เช่นทำข่าว เขียนบทความให้เว็บไซต์โลคัลทอล์ค</p><p>เธอเป็นนักเดินทางคนหนึ่ง แต่ตอนนี้เธอหยุดอยู่กับที่ ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า แม่ฮ่องสอน เพราะไปพบหนุ่มกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาว ที่เธอตัดสินใจแต่งงานด้วย มีลูกชายด้วยกัน 1 คน</p>

บล็อกของ janejira

ทางเลือกที่ถูกจัดให้

5 กันยายน 2550
ยามเช้า,

ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่

เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว

เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่

“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม ชาวบ้านอยากทราบว่าบ้านเก่าที่อยู่นี้เขาจะรื้อย้ายไปที่ใหม่ด้วยได้ไหม”

“ผมคิดว่าอันไหนที่ชาวบ้านคิดว่ามันจำเป็นและสำคัญต้องเอาไปด้วย ก็ขนย้ายกันไป เราจะมีรถและอส.ไว้ให้บริการ แต่น่าจะเอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นไปก่อนจะดีกว่านะครับ ถ้าย้ายบ้านไปทั้งหลังเกรงว่ารถจะขนหลายรอบ หรืออาจใช้เวลาหลายวัน”

“แต่ชาวบ้านเขาคิดว่าบ้านก็เป็นสมบัติที่เขาลงทุนสร้างมา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะคะกว่าจะเปลี่ยนจากเพิงกระท่อมมาเป็นบ้านที่มั่นคงแข็งแรง เขาก็อยากจะรื้อย้ายไปด้วย ถ้าหากว่าทางการอนุญาต เพราะบ้านที่ทางจังหวัดสร้างไว้ บอกตามตรงมันเล็กมาก ไม่พออาศัยสำหรับครอบครัวที่มีลูกมากถึง 4-5 คน หรอกคะ ฉันอยากให้ข้อคิดเห็นปลัดฯ อีกอย่างก็คือ ฉันคิดว่าถ้าปลัดฯอนุญาตให้เขารื้อบ้านเก่าไปได้ ชาวบ้านก็จะได้ไม่ต้องไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต่อเติมบ้าน เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรป่าไม้และยังผิดกฎหมายอีกด้วย สู้ให้เขาเอาไม้เก่าๆ ไปต่อเติมจะดีกว่านะคะ”

“ผมเข้าใจครับ เรื่องนี้ก็มีเหตุผลอยู่แต่ เกรงว่าจะไม่สามารถย้ายกันไปหมดได้ภายในวันเดียว เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ ถ้าชาวบ้านอยากจะย้ายไม้บ้านไปจริงผมก็จะอนุญาตให้หนึ่งวัน ในวันที่ย้ายคือ วันที่ 10 กันยายน แต่อันนี้ผมบอกได้เพียงคำพูดเท่านั้นนะครับ ไม่สามารถออกเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรได้ เพราะคุณก็รู้เรื่องไม้มันเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐหลายส่วน หากให้ทำหนังสือขออนุมัติ ก็ต้องใช้เวลานานคงไม่ทันกาล”

แม้จะไม่เป็นทางการแต่ฉันก็ยังเชื่อใจปลัดฯ ถ่ายเทคำสั่งที่ได้ยินมาว่าสามารถขนย้ายไม้บ้านเก่าไปหมู่บ้านใหม่ได้ และบ้านทุกหลังที่ตัดสินใจย้ายก็พังพาบลงในพริบตา

ความจริงที่หมู่บ้านห้วยปูแกง ทางจังหวัดมีงบประมาณสร้างบ้านไว้รอผู้ที่ย้ายมาใหม่ หลังละ 5,000 บาท แต่งบประมาณเพียงเท่านี้ จึงสร้างได้เพียงบ้านเพิงไม้ไผ่หลังคามุงใบตองตึง มีห้องนอน,ห้องนั่งเล่นและห้องน้ำอย่างละหนึ่งห้อง

มองไปไม่ต่างจากเถียงนาบ้านคนเมืองสักเท่าไร เพียงแต่เถียงนาจะอยู่โล่งๆ กลางนาเพียงหลังเดียว แต่บ้านเพิงที่สร้างไว้รองรับชาวบ้านจากสองหมู่บ้าน กลับยืนเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบกว่า 30 หลัง

ยามบ่าย,

ฝนโปรยสายอ้อยอิ่ง เมฆครึ้มอากาศทึมเทาเด็กๆต่างไปโรงเรียนกันหมดแล้ว เหลือเพียงเด็กเล็กและทารกที่ยังต้องการการเอาใจใส่ใกล้ชิดจากพ่อและแม่

คนหนุ่มบางคนหยิบคันเบ็ดเดินล่องไปตามลำธาร บ้างหันหน้าเข้าป่าแบกจอบไปขุดตุ่นแบกปืนไปยิงนกล่าสัตว์ในป่าที่คุ้นเคย

หมู่บ้านเงียบกริบนานๆ มีเสียงงัดแงะตะปูออกจากแผ่นไม้ แม่เฒ่ากระยันนั่งถอนใจปั่นด้ายซึมเซาข้างๆ กองไม้

นักท่องเที่ยวบางตากว่าเดือนที่แล้วมาก คนไทยอาจจะพอรู้ข่าวคราวการโยกย้ายจึงไม่ค่อยแน่ใจว่ายังเปิดให้เข้ามาเที่ยวหรือไม่ แต่กรุ๊ปทัววร์ฝรั่งที่มีไกรด์นำทางก็ยังเดินทางเข้ามาเที่ยวอยู่ประปราย

แม่ (ของสามี) ถามขึ้นกับฉันเบาๆ ว่ายายเป็ง (นายทุน) จะให้เงินเดือนย้อนหลังกับคนที่ย้ายหรือเปล่า เพราะสองเดือนก่อนอ้างว่าไม่มีนักท่องเที่ยวก็เลยติดค้างชาวบ้านไว้ แต่ทุกๆปีก็จ่ายคืนให้ ฉันตอบว่าไม่รู้หรอก อันนี้ชาวบ้านก็ต้องรวมตัวกันพูดกับยายเอง

เงิน 1,500 บาท ที่นายทุนให้เป็นค่าตอบแทนแก่หญิงสาวกระยันที่สวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ นับตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในประเทศไทย แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ การเงินผันผวนเช่นไร แต่ก็ยังไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้พวกเธอสักครั้ง

ถึงกระนั้นเงินจำนวนน้อยนิดนี้ ก็ยังสามารถจุนเจือครอบครัวในหุบเขาได้อย่างปกติสุขเรื่อยมา เพราะพวกเธอไม่รู้จักการเรียกร้องต่อรอง หากเป็นโรงงานใหญ่ในเมือง คงถูกประท้วงขึ้นค่าแรงไปนานแล้วหากสวัสดิการที่ได้ไม่พอกับค่าเหนื่อย

picture

ยามเย็น,

เด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนคืนชีวิตชีวาให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง บ้างจับกลุ่มกันเขียนตารางบนดินเล่นตาเขย่ง บ้างขึงหนังยางเล่นโดดเชือก ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเช่นทุกวัน ลูกของฉันก็พลอยยิ้มร่าหัวเราะเสียงดังที่มีพี่ๆมาหยอกล้อเล่นหลังจากอยู่เหงาๆกับแม่และย่าลำพังทั้งวัน

โรงเรียนและเพื่อนๆ คือสิ่งที่เด็กๆ ทั้งโลกควรจะได้รับ เมื่อถึงเวลาที่ย้ายจริงๆ เด็กที่นี่จะต้องย้ายจากโรงเรียนในระบบประถมศึกษา ไปเรียนต่อในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน และสูญเสียเพื่อนบางคน พบเจอกับเพื่อนใหม่ อยู่บ้านใหม่บ้าน แปลกทั้งสถานที่และผู้คน

แต่ดูเหมือนจะไม่มีเด็กคนไหนกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึงพวกเขา ต่างจากผู้ใหญ่ที่จะสารพัดกังวลไว้ล่วงหน้า ด้วยคำถามที่ชาวบ้านฝากฉันไว้ถามต่อหน่วยงานภาครัฐมากมาย

“เขาจะให้ถนนไหม ,เขาจะให้โซล่าเซลล์หรือเปล่า แล้วเงินเดือนล่ะ ฯลฯ”

ฉันถอนใจกับตัวเองเบาๆ เก็บคำถามเหล่านี้ไว้ก่อนจะดีกว่ารอวันถึงตาจนจริงๆ วันนั้นวิกฤติอาจเป็นโอกาส สามารถเปลี่ยนชาวบ้านที่แตกแยกให้สามัคคีกันได้ เปลี่ยนชุมชนอ่อนแอให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เปลี่ยนจากผู้ยอมจำนน ให้เป็นผู้มีอำนาจต่อรอง

การเดินทางยังอีกยาวไกล และคำตอบยังรอคอยอยู่ข้างหน้า.

ย้ายสวนสัตว์มนุษย์ human zoos

31สิงหาคม2550
22.40 น.

ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกา

นับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก

 

PICTURE1

 

เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว จึงมักถูกโยกย้ายถ่ายเทไปหลายหนแห่งหลายครั้งคราวอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว

ทว่าครั้งนี้ เมื่อชาวบ้านเงี่ยหูฟังรัฐที่ได้ยื่นมือลงมาปลดห่วงที่มองไม่เห็น ต้องการจัดตั้งหมู่บ้านถาวร โดยจะยกที่ดินที่ทำกินให้ดำเนินชีวิตอย่างชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ขณะที่เดียวกันก็ยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นเดิม

จากการบังคับข่มขู่ให้ย้าย ก็กลายเป็นการขอร้องให้ย้ายด้วยความสมัครใจ ทำให้ 8 ครอบครัวจาก 26 ครอบครัว (รวม “กะยอ” หรือกะเหรี่ยงหูกว้าง 4 ครอบครัว) ตัดสินใจโยกย้ายตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ยิ่งใกล้วันย้ายปัญหาก็ยิ่งคุกรุ่น ชาวบ้านเริ่มแสดงตัวเป็นฝักฝ่ายชัดเจน ระหว่างกลุ่มผู้สมัครใจย้ายจากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าและหมู่บ้านในสอย ไปอยู่ที่หมู่บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) ตามคำขอร้องของผู้ว่าฯ กับกลุ่มผู้สมัครใจอยู่ที่เดิม

ส่วนอีกกลุ่ม ที่แยกตัวกลับไปอยู่ในศูนย์พักพิงผู้อพยพในสอยนั้น ก็จะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว

 

PICTURE2

 

ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจของทั้งสองฝ่ายที่ไม่รู้ชะตาตัวเองว่า ไปแล้วจะเป็นอย่างไร ส่วนที่เหลืออยู่จะอยู่อย่างไร ยิ่งข่าวลือที่กระพือมาเป็นระลอกเช่นว่า หมู่บ้านเดิมอาจถูกกดดันให้ปิดลงด้วยเหตุผล “ความมั่นคงแห่งรัฐ, ขัดต่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่นำคนมาเปิดแสดงดังสวนสัตว์ (Human Zoos)”

หรือไม่ก็ฝ่ายที่ย้ายจะถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าออกหมู่บ้าน ล้วนเป็นหัวข้อโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลา

สำหรับฉันซึ่งตัดสินใจหอบลูกชายวัยหกเดือนเศษย้ายติดตามสามีกะยันไปด้วย แม้จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่เหล่าบรรดาพี่น้องของฝ่ายสามีส่วนใหญ่ตัดสินใจย้ายไปเกือบหมด ก็ทำให้นึกเป็นห่วงและไม่อาจดูดายได้

ด้วยความที่ฉันเป็นคนไทยคนเดียวที่มีบัตรประชาชน มีความรู้และยังสามารถสื่อสารกับหน่วยงานราชการได้ดีกว่าชาวบ้านที่ยังใหม่ต่อการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ

เพราะที่ผ่านมามีนายทุนคอยจัดการทุกอย่าง ทำให้ฉันต้องตกที่นั่งกลายมาเป็นที่ปรึกษาให้กับฝ่ายที่จะย้ายไปโดยปริยาย

และนี่ก็เป็นที่มาแห่งความกลัดกลุ้มของค่ำคืนนี้ หมู่บ้านที่เคยสงบสุขเริ่มแตกแยก พี่น้องที่เคยรักใคร่มาเป็นอริกัน หากมีใครที่ผ่าเหล่าเลือกในสิ่งที่ข้างมากไม่เลือก ทั้งๆ ที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่พวกเขาได้มีโอกาสเลือก นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเลือกที่จะเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินมาขึ้นฝั่งไทยเมื่อ ปี 2527

เมื่อวานเจอปัญหาโลกแตก ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ในทุกที่ก็คือเรื่องเงิน เงินกองทุนชาวบ้านที่แบ่งไม่ลงตัว แม้กะยันฝั่งที่ไม่ย้ายจะมีน้อยกว่าฝั่งที่ย้าย แต่คนที่ดูแลเงินคือมีทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยฯ (ที่ตั้งกันเอง) มีอำนาจการต่อรองมากกว่า จึงสร้างรอยแค้นให้กับชาวพี่น้องที่ย้ายไปอยู่ไม่น้อย

พอเมื่อวานผ่านไปวันนี้ เงินกองทุนหมู่บ้านเหลือ 2,000 บาท ซื้อเนื้อซื้อเบียร์มาร่วมวงกินกันทั้งหมู่บ้าน ทุกคนเฮฮาปาร์ตี้เหมือนไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใจ นี่แหละหนาชาวบ้านไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ทะเลาะกันก็ฉะกันตรงๆ พอจบเรื่องแล้วก็แล้วกันไป

แม้ฉันจะยังไม่ค่อยเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างละเอียดลออ แต่ก็พอจะเข้าใจในวิถีชีวิตและลักษณะนิสัยของชาวกะยันอยู่บ้าง

จุดอ่อนของหมู่บ้านนี้(ที่ฉันอาศัยอยู่คือบ้านห้วยเสือเฒ่า) คือขาดผู้นำที่แท้จริง ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเชื่อผู้นำ การประชุมหมู่บ้านแต่ละครั้งจึงไม่ค่อยมีความหมาย เพราะต่างคนต่างคิดกันคนละอย่าง แต่ไม่เคยมาถกเถียงกันในกลุ่ม แต่ซุบซิบกันเอง แต่พอถกเถียงกันในกลุ่มจริงๆ ก็ไม่สามารถหาตกลงได้ เพราะพวกเขาใช้ระบบเครือญาติตกลงกัน ญาติใครเยอะกว่ากัน บางคนจึงต้องยอมรับข้อตกลงแบบจำยอม

ฉันจึงไม่แปลกใจที่ชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะย้ายไปที่แห่งใหม่ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าที่นั่นจะกินอิ่มนอนอุ่นเหมือนที่เดิมที่มีนายทุนดูแลอยู่หรือไม่

แต่ที่รู้ๆก็คือ ที่นั่นไม่จำเป็นต้องจำยอมก้มหัวรับคำสั่งของใคร และการลงชื่อย้ายของชาวบ้านบางส่วนก็นับเป็นการแสดงออกของการต่อต้านนายทุนที่มีมานานกว่า12 ปี.

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ janejira