Skip to main content

picture

 

ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ-
ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน
กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน
…ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?

อีกกี่ผู้พลีตน
อีกกี่คนจึงจะชี้
จึงมันผู้กาลี
สำนึกค่า - “ประชาชน”?

…เจ็บไหมเล่าพี่น้อง
กี่เสียงร้องเรากู่ก่น
กี่เลือดเนื้อวีรชน
ที่ไหลท้นแล้วซึมหาย?

ครั้งแล้วและคราเล่า
ที่เพียงเรามาฟูมฟาย
ปีเดือนเคลื่อนพ้นหาย
ดั่งละลายกับสายลม?

ด้วยผู้ทุกข์ยาก
ก็ยังยากยังระทม
ทั้งปวงมันผู้ขี่ข่ม
ก็สุขสมอยู่ลอยนวล?

ฤาแผ่นดินนี้สิ้นแล้ว
ตลอดแนวแถวขบวน
ทัพไทที่ท้าทวน
ที่ก้าวสวนกระแสพาล?

 

ยังหรอก, ทรรัฐ!
กี่กำจัดประหัตประหาร
กี่กระสุนทมิฬมาร
เรามิเคยจะสูญพันธุ์

ยังหยัดและยังอยู่
ยังร้องกู่ยังใฝ่ฝัน
แค้นคั่งทั้งปวงนั้น
ยังนับวันจะทวงคืน

มิท้อ และมิพรั่น
จะฝ่าฟันจะแข็งขืน
เถิด, กี่หอกกระบอกปืน
มิขอคืนปณิธาน

จะก้าวเคียงผองคนทุกข์
จะร้องปลุกไปชั่วกาล
จะบรรเลงเพลงขับขาน
ต้านตีต่อทรชน

 

ฆ่าเราอีกกี่ครั้ง
เลือดเราหลั่งอีกกี่หน
ทุกเลือดเนื้อวีรชน
จะเติบต้นเป็นช่อธรรม

ตุลาฯ สู่ ตุลาฯ
ถึง พฤษภาฯ ยิ่งตอกย้ำ
ทุกเลือดเนื้อวีรกรรม
คือเสียงปลุกเราลุกทวง

ทุกเลือดเนื้อวีรชน
ไม่สูญเปล่า - เราสัญญา!

 

"คารวะวีรชน"
กานต์ ณ กานท์
(14 ตุลาคม 2543)

 

 

บทกวีนี้ ผมเขียนขึ้นในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2543 เพื่ออ่านในวาระ "27 ปี 14 ตุลาคม 2516"
ณ เวทีหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเย็นวันเดียวกัน

ผมขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่ง ในวาระครบรอบ “31 ปี 6 ตุลาคม 2519”, “34 ปี 14 ตุลาคม 2516”, “15 ปี พฤษภาคม 2535” และ “75 ปี แห่งการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” เพื่อคารวะต่อดวงวิญญาณวีรชนทุกท่าน ที่ได้สละชีวิตเพื่อบุกเบิกเส้นทางสู่เสรีภาพและอธิปไตยของประชาชน แม้ว่าในวันนี้ ประเทศไทยจะยังไม่สามารถก้าวไปถึงความหมายที่แท้จริงของถ้อยคำเหล่านั้นเลย

และเพื่อจะตอกย้ำคำมั่นที่ว่า
จะไม่ยอมให้ความเสียสละเหล่านั้น “สูญเปล่า” ไป
เราสัญญา

 

 

หมายเหตุ:
กวีรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมอ่านบทกวีในวาระดังกล่าวคือ (เรียงลำดับตามการอ่านในเวทีวันนั้น)
ศิลป์ ศิวากรณ์ (พีรศักดิ์ ชัยเสรี - เสียชีวิตแล้ว), พณ ลานวรัญ, ส.ดอกไม้แดง และ
กานต์ ณ กานท์ โดยมี "โก้" และ "เก่ง" (ขออภัย ผมไม่ทราบชื่อจริงของทั้งสองคนครับ) เป็นผู้บรรเลงไวโอลินและกีตาร์โปร่งเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ประกอบ

บล็อกของ กานต์ ณ กานท์

กานต์ ณ กานท์
(ภาพ theme คือภาพขาของคุณ "สมย
กานต์ ณ กานท์
(ภาพ theme คือภาพขอ
กานต์ ณ กานท์
กานต์ ทัศนภักดิ์: ศิลปะโฟโต้โมเสคเพื่อเหยื่อ112 ท่ามกลาง “ความเงียบงัน” ที่เราทุกคนในสังคมต่างต้องเผชิญอยู่นี้  (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)   ไม่ได้มีแต่ความว่างเปล่า และยิ่งไม่ใช่ความ “นิ่งงัน” อย่างที่บางคนอาจหมิ่นแคลน ลำพอง หรือแม้แต่ลอบทอดถอนใจ  -- หากแต่ยังมีความเคลื่อนไหว และมีคนจำนวนมากที่ยังคงพยายามจะ “ก้าวฝ่า” มันไป    
กานต์ ณ กานท์
หมายเหตุ: บันทึกนี้เป็นเพียงความทรงจำของคนคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น-คืนนั้น ในบางจุดและบางช่วงเวลา - ในแง่หนึ่งจึงอาจไม่มีเนื้อหาที่สำคัญ และไม่มี "ข้อมูลใหม่" เป็นเพียงการบันทึกเอาไว้เตือนความจำตัวเองว่า เคยอยู่ "ที่นั่น"
กานต์ ณ กานท์
   
กานต์ ณ กานท์
เรายังคงต่อสู้กันด้วยอาวุธโบราณ ซึ่งสร้างความเหนือกว่าให้กับผู้ที่กล้าใช้
กานต์ ณ กานท์
 ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณ "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" 1 อันประกอบไปด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างสูง ในความห่วงใยที่มีต่อเสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อมวลชน ที่ท่านได้กรุณาแสดงออกผ่าน "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ" 2 เนื่องในวันสื่อมวลชนโลก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2551 ที่ผ่านมาอนึ่ง ผมเขียนบทความนี้ จากการทึกทักเอาเองว่า นอกจากห่วงใยต่อ ‘สื่อมวลชน’ ด้วยกันเองแล้ว องค์กรอันทรงเกียรติทั้ง 3 นั้น มีความห่วงใยต่อเสรีภาพและสวัสดิภาพของประชาชน ด้วยเช่นกัน (อันเนื่องมาจากคำขวัญที่ผมยังประทับใจไม่รู้ลืม คือ "…
กานต์ ณ กานท์
  
กานต์ ณ กานท์
ประเทศไทย 2551 - "สองอนุรักษ์นิยมชนกัน" ?
กานต์ ณ กานท์
แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจนถึงปัจจุบัน อาจจะมีทั้งที่ถูกใจ-สะใจ และชวนให้ผิดหวัง-ระอา คละเคล้าปะปนกันไป (ส่วนจะหนักไปข้างใดนั้น คงขึ้นอยู่กับจุดยืนและความคาดหวังของแต่ละท่าน) แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องยอมรับว่า หลากหลายปรากฏการณ์เหล่านั้นไม่ได้เหนือความคาดหมาย หรือพลิกผันไปจากการประเมินของบรรดาคอการเมืองหลายๆ ท่านแต่อย่างใด
กานต์ ณ กานท์
ผมไม่มีปัญหาอันใดกับ ‘ข้อเสนอ’ ของกลุ่ม ‘ปีกซ้ายพฤษภาฯ’ ในบทความ ‘12 เหตุผลที่ต้องเลือกเบอร์ 12 (และอย่าลืมเบอร์ ส.ส.เขตของ พปช.)’ [1] ซึ่งเขียนโดยคุณหมอกิติภูมิ จุฑาสมิต [2]