Skip to main content

 

ปลายเดือนมกราคม ศกนี้ องค์การ Freedom House อันเป็น NGO อเมริกันที่คอยติดตามสอดส่องประเมินเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ได้เผยแพร่รายงานประจำปี Freedom in the World 2015 https://freedomhouse.org/sites/default/files/01152015_FIW_2015_final.pdf  ซึ่งระบุว่าปีที่แล้วมาเสรีภาพพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (civil liberties ตัวชี้วัดความเป็นเสรีนิยม & political rights ตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย) เสื่อมทรุดลงทั่วโลกโดยทั่วไป มาตรวัดเสรีภาพสากลขององค์การตกต่ำลงทุกปีตลอดช่วง ๙ ปีที่ผ่านมา อุดมคติประชาธิปไตยตกอยู่ภายใต้การคุกคามที่ใหญ่โตที่สุดในรอบ ๒๕ ปี

รายงานของ Freedom House ชี้ว่าปีค.ศ. ๒๐๑๔ ถือเป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุขึ้นของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่ปรากฏการสูญเสียเสรีภาพชัดเจนที่สุด กลุ่มสู้รบแห่งรัฐอิสลามฆ่าฟันผู้คนจำนวนมากในการเข้ายึดพื้นที่ประเทศอิรักและซีเรียส่วนหนึ่ง การนำที่ขาดประสิทธิภาพและกดขี่ในประเทศทั้งสองเปิดช่องโหว่ให้กลุ่มสู้รบแห่งรัฐอิสลามเข้าปฏิบัติการได้ ซีเรียถูกจัดอันดับว่ามีเสรีภาพต่ำสุดในรอบสิบปีในสภาพที่มีทั้งสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายรุนแรง ในทางกลับกันตูนีเซียเป็นข้อยกเว้นในบรรดาประเทศที่เกิดเหตุวุ่นวายทั้งหลาย โดยถือเป็นประเทศอาหรับเดียวที่กลายเป็นประเทศเสรี (free) ในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา
(อนึ่ง Freedom House จัดอันดับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกเป็น ๓ ประเภทตามคะแนนด้านเสรีภาพพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่แต่ละประเทศได้จากการประเมิน ได้แก่ free, partly free, unfree หรือเสรี, กึ่งเสรี, ไม่เสรี)
 
Arch Puddington รองประธานด้านวิจัยของ Freedom House ผู้เขียนรายงานประจำปี ๒๐๑๔ นี้ชี้ว่าการสูญเสียเสรีภาพที่ร้ายแรงที่สุดในปีที่แล้วเป็นผลมาจากการก่อการร้าย เขากล่าวว่า:
“การคลี่คลายของเหตุการณ์ที่น่าหดหู่ที่สุดอย่างหนึ่งคือกระแสสูงของการก่อการร้าย ในอดีตที่ผ่านมา เราไม่เคยพบเห็นผลกระทบของการก่อการร้ายต่อประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญเท่ากับที่เกิดขึ้นในปี ๒๐๑๔ มาก่อนเลย” การก่อการร้ายทำให้คนนับพัน ๆ พลัดถิ่นที่อยู่ ผู้หญิงถูกลักพาตัวหรือจับตัวไปเป็นสินศึก มีการสังหารชนส่วนน้อยทางศาสนาในตะวันออกกลาง แอฟริกาและเอเชียใต้
 
Freedom House ระบุว่าสภาพที่ขาดเสรีภาพแบบประชาธิปไตยสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้การก่อการร้ายเติบใหญ่ขึ้น ประชากรราว ๒.๖ พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในสภาพเงื่อนไขที่ “ไม่เสรี” คิดเป็นประมาณ ๑ ใน ๓ ของประชากรทั่วโลก
 
รายงานชี้ว่ารัสเซียเข้าไปพัวพันกับความรุนแรงในภาคตะวันออกของยูเครนรวมทั้งเข้ายึดคาบสมุทรไครเมีย รายงานยังวิจารณ์ทางการรัสเซียที่โจมตีสื่อมวลชนรัสเซียว่าเป็นการไม่เคารพมาตรฐานประชาธิปไตย
 
รายงานตั้งข้อสังเกตการที่รัฐบาลอียิปต์ผลักดันดอกผลทางประชาธิปไตยที่เพิ่งได้มาให้ถอยหลังลงคลองไป ทั้งยังปราบปรามสื่อมวลชน กลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย
 
Freedom House กล่าวว่ารัฐบาลตุรกีและจีนได้เปิดฉากรณรงค์อย่างก้าวร้าวเพื่อเล่นงานปฏิปักษ์ของตน
 
Thomas Huges ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่ม Article 19 องค์กรสิทธิมนุษยชนของอังกฤษที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อสิ่งพิมพ์และการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล http://www.article19.org/index.php กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงในสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกทั้งหลายได้ทำร้ายอุดมคติประชาธิปไตย
“แนวโน้มน่าเป็นห่วงยิ่งอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือที่ซึ่งเราเคยเห็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเข้มแข็งแต่เดิมมา เพราะได้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การติดตามสอดส่องมวลชนขนานใหญ่ เหล่านี้นับเป็นการสร้างกรณีตัวอย่างที่ส่งผลเชิงลบอย่างยิ่ง”
 
Freedom House ฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่โตที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปได้ก็คือการยอมรับความคิดที่ว่าเราไม่มีปัญญาความสามารถจะทำอะไรได้หรอกเมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคามคนอื่น เอาเข้าจริงกลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
 
หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 'Kasian Tejapira' เมื่อวันที่ 1 ก.พ.58

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง