Skip to main content

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ


ความคิดความเชื่อเรื่อง
“รักต่างเพศนิยม” นี้เอง เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เรามีพื้นที่ของคนรักต่างเพศในสังคมมาก และการเรียนการสอนหล่อหลอมจากสังคมไม่ว่าจะทางโรงเรียน สาธารณสุข ศาสนา วัฒนธรรม สื่อสารมวลชนล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง “รักต่างเพศ” ทั้งนั้น เราจึงไม่ค่อยเห็นพื้นที่การเรียนรู้ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศหรือความเป็นคนรักเพศเดียวกัน


เรื่องนี้มีกรณีศึกษา ดังเช่นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่มีการฉายเมื่อนานมานี้ คือเรื่อง “รักแห่งสยาม” สำหรับผมนั้นไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” แม้ว่าจะมีเพื่อนๆ หลายคนได้เชื้อเชิญแจ้งแถลงชวนให้ไปดูหลายเวลา หลายคราก็ตาม ก็ยังไม่ได้ไปดูเสียที


สำหรับ “รักแห่งสยาม” ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีผู้คนกล่าวถึงค่อนข้างมาก และกล่าวถึงในหลายแง่มุม เช่น เรื่องดังกล่าวนี้สื่อให้เห็นเรื่องวัยรุ่นที่รักเพศเดียวกัน บางคนมองว่าแสดงถึงความหวานแหววของวัยรุ่นหญิงชาย บางคนก็ชื่นชมว่าสะท้อนสัญลักษณ์เรื่องเพศในสังคมได้ดีทีเดียว บางคนมองว่าเป็นหนังหลอกเด็กทำไตเติลอีกแบบแต่เนื้อในเป็นอีกแบบ บางคนถึงกลับยกย่องให้เป็นหนังรักแห่งปี ฯลฯ


รักแห่งสยาม – ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร เรื่องราวในเรื่องดำเนินแบบไหน ไม่สามารถทราบได้ ในขณะนั้น ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ชื่อภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” นั้น ดูเสมือนว่าไม่ใช่แค่เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องในแหล่งวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์หรือเซนเตอร์พ้อยท์เท่านั้น หากยังสามารถอธิบายให้เห็นถึงความรักของชนสยามในอดีตได้อย่างน่าสนใจ


อย่างในสังคมสยามอดีตที่ผ่านมา กรอบความคิดเรื่องเพศวิถีเป็นเรื่องที่มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด สิ่งที่เคยปรากฏในอดีตนั้น อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชี้ให้เห็นถึงความคิดเรื่องเพศวิถีในอดีตว่า


สังคมไทยในอดีตไม่เหมือนสังคมตะวันตก หรือสังคมอินเดีย ที่เน้นความแตกต่างของบทบาททางเพศและมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างสังคมมีลักษณะเป็นแบบให้ความสำคัญกับแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวมาก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองที่ชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นลักษณะโครงสร้างสังคมในอดีตหรือในสังคมชนบท จึงมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือผู้หญิงมีความสำคัญมากในครอบครัวและมีบทบาทสำคัญในชุมชนด้วย ไม่ใช่อย่างที่เห็นในปัจจุบันที่เป็นภาพของการพัฒนาที่เน้นสังคมแบบอุตสาหกรรมหรือทุนนิยมที่ให้การยกย่องเพศชายเป็นใหญ่ในการตัดสินชี้นำอำนาจ ควบคุมนโยบายต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยผู้ชาย ทำให้บทบาทของผู้หญิงลดน้อยหายไป”


วิถีชีวิตทางเพศในสังคมสยาม เมื่ออดีต จึงให้ความสำคัญกับเพศหญิง หรือเพศแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวและสังคม การทำงานของผู้หญิง อาทิ งานบ้าน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับงานของผู้ชาย อีกทั้งระบบเศรษฐกิจยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินหรือทรัพย์สินอีกเช่นกัน


ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศของสยามเมื่ออดีตนั้น อาจารย์กล่าวว่า

สังคมแต่เดิม การมีเพศที่สามหรือเพศทางเลือกเป็นสิ่งที่มีและรับรู้กันอยู่ แม้อาจไม่ถึงกับชื่นชมยกย่อง หากแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน สังคมก็ปล่อยให้ทำงานที่พวกเขาถนัด ไม่มีการกีดกัน หรือห้ามไปคบ คนที่เป็นกะเทยในหมู่บ้านอยากทำงานผู้หญิง ชุมชนก็ปล่อยให้ทำงานของผู้หญิงได้ หรือผู้หญิงที่ชอบทำงานของผู้ชายก็จะทำไป ไม่ได้คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ผิด การสลับบทบาททางเพศยังเห็นได้แม้กระทั่งในการเข้าทรง ผู้ชายบางคนเข้าทรงก็จะแต่งเป็นหญิง ผู้หญิงก็จะแต่งเป็นชาย เหมือนเช่นการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานในบ้านและนอกบ้านในสังคมชาวนาที่ทั้งหญิงชายทำแทนกันได้ เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนบทบาทจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้”

นอกจากนี้ในคัมภีร์โบราณที่ปรากฏในสังคมไทย อาทิ คัมภีร์ปฐมมูลมูลี
ยังกล่าวถึงว่า เพศมิได้มีแค่สองเพศ หากแต่มีเพศซึ่งไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชายด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่า รักแห่งสยาม เมื่อคราอดีตนั้นไม่ได้มองเพศแค่ชายกับหญิงเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรื่องเพศวิถีของคนมีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น คือมองแค่ว่ามีหญิงชาย มีความรักเฉพาะของคนรักต่างเพศเท่านั้น และมีกรอบกำหนดว่าชายหญิงควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ชายทาแป้ง แต่งหน้า ใส่เสื้อรัดรูป เดินจับมือกัน หรือจูบปากกัน – เป็นสิ่งที่คนรักต่างเพศ มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยิ่งเมื่อพฤติกรรมทางเพศของคนรักเพศเดียวกันอย่างชายรักชายปรากฏออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” แล้ว ยิ่งเป็นการท้าทายระบบความคิด วิถีปฏิบัติของคนในสังคมต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ครั้งหนึ่งผมเคยถูกพี่ที่เป็นเกย์เข้ามาจับมือและกอด ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก บอกไม่ถูก คิดว่าทำไมเขาต้องมาทำกับเราแบบนี้ด้วย แม้ว่าบางทีคนจะมองว่าดูเหมือนพวกเขา เพียงเพราะชอบทาแป้ง ไม่มีแฟน แต่ภาพที่ปรากฏทำให้ถูกมองเป็นเกย์ ซึ่งไม่ได้รู้สึกยินดีด้วยเลย


หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านมาหลายเดือน เริ่มมองชายรักชายหรือคนรักเพศเดียวกันอย่างเข้าใจมากขึ้น คือ เข้าใจวิถีชีวิตทางเพศ และรสนิยมทางเพศ มองว่าท้ายที่สุดแล้วเราควรมองคนๆ หนึ่งในฐานะที่เขาเป็น “คน” เหมือนเรา และเมื่อเรามองคนให้เป็นคนเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าใครจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน แต่งหน้าตาอย่างไร รักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ เราก็ไม่ควรมองว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน แต่เราควรเคารพ เชื่อมั่น ยอมรับ และเข้าใจ เขาในฐานะที่เขาเป็นคนคนหนึ่ง ทั้งนี้ คนกับคนก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เพศไหน นับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติใด อายุเท่าไหร่ ก็ตาม


ทั้งนี้
ความที่เราหลายคนถูกหล่อหลอมมาในสังคม “รักต่างเพศนิยม” ก็ทำให้เรามีความกลัว ความเกลียดคนรักเพศเดียวกันอยู่ในตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เองเป็นสิ่งที่เราควรจะตรวจสอบตัวเอง และทำความเข้าใจที่มา และค่อยๆ รื้อถอนความคิด ความเชื่อนี้ ออกจากตัวเรา เพื่อให้เราและคนอื่นๆ ในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ไม่เลือกปฏิบัติ กีดกันพื้นที่ทางสังคมระหว่างกัน


วันหนึ่งและเพื่อนคนหนึ่งนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟ แล้วเพื่อนคนนี้ก็ถามขึ้นมาว่า พี่ผู้ชายคนที่เขาแอบชอบนั้น เป็นชายรักชายหรือชายรักหญิง


ผมยิ้มและตอบกลับไปว่า
“เขาเป็นคน ถ้าเราจะรักใครสักคน มันจำเป็นด้วยหรือที่จะเลือกรักว่าเขารักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ ถ้าเราจะรักใครสักคน ก็น่าจะรักในสิ่งที่เป็นเขาและเป็นสิ่งที่เขาเป็น”


เพื่อนยิ้มและพยักหน้า จากนั้นเราก็ชวนกันไปดูภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” ที่ไม่มีเวลาจะได้ดูสักที

 

 

 

บล็อกของ กิตติพันธ์ กันจินะ