ผ่านพ้นจนครบเทอม, โครงการเยาวชน1000ทาง

 

หลังจากที่โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคม หรือ โครงการเยาวชน1000ทาง 1 ได้ดำเนินการมาจนจบวาระหนึ่งปีก็ถือว่าเรียนจบครบเทอมพอดี เพื่อนๆ พี่ๆ ทีมงานหลายคนต่างได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำงานเพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น

 

แม้ว่าโครงการเยาวชน1000ทาง จะเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายเยาวชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาหลายปี แต่สำหรับประเทศไทยนั้นนับว่ามีโครงการที่สนับสนุนกิจกรรมของเยาวชน "มือใหม่" ไม่มากนัก ฉะนั้นโครงการเยาวชน1000ทาง ถือว่าเป็นโครงการที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการทำงานโดยเยาวชนดำเนินการ มีผู้ใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นที่ปรึกษาการทำงาน เพื่อให้เยาวชน "มือใหม่" เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น

 

ปี 2550 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการทั่วประเทศมากกว่า 300 โครงการและแต่ละโครงการเยาวชนจะเป็นคนที่คิดเองโดยมีงบประมาณสนับสนุนกลุ่มละไม่เกิน 8,000 บาท และมีการพิจารณาจากกรรมการที่แต่ละภาคได้สรรหามา หลังจากนั้นเยาวชนก็ดำเนินการตามแผนการที่วางไว้

 

ในตัวโครงการเยาวชน1000ทาง นอกจากจะมีการสนับสนุนงบประมาณแล้ว ยังมีระบบการให้คำปรึกษา การติดตามสนับสนุน การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และการพัฒนางานวิจัยเพื่อรองรับการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ในการทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนต่อๆ ไป

 

อย่างก็ตาม อยากจะนำเรื่องราวดีๆ ของเพื่อนๆ พี่น้อง เยาวชนที่ได้ดำเนินการมาเผยแพร่ในที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มาจากภาคอีสาน....

 

มาที่โครงการแรกคือ โครงการ "เพื่อนยามเหงา" เป็นโครงการของนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่เริ่มมาจากการที่เพื่อนๆ ได้พบเจอผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ บางคนก็มีญาติมาเยี่ยม บางคนก็ไม่มี เพื่อนๆ จึงบอกว่า อยากจะใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมของเขาเป็นเพื่อนยามเหงาให้กับคนป่วยที่ขาดเพื่อน ขาดการเอาใจใส่จากคนที่รัก และมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนเหล่านั้น

 

ส่วนโครงการ "ปาท่องโก๋ร่วมใจต้านภัยหนาว" นั้น ก็เป็นอีกโครงการ ที่น้องๆ เยาวชนจากนครราชสีมา อยากทำกิจกรรมสักอย่างหนึ่งในช่วงปิดเทอมและหารายได้เสริม และน้องๆ ก็บอกว่า หน้าหนาวแล้ว จึงอยากจะมอบผ้าห่มให้กับผู้สูงอายุในหมู่บ้าน โดยนำเงินที่ได้จากการทำปาท่องโก๋ไปจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวมาให้

 

น้องในทีมงานโครงการ 2 บอกเหตุผลที่ทำปาท่องโก๋ขายว่า เพราะสงสารผู้สูงอายุในชุมชนที่ต้องทนกับอากาศหนาว "บ้านเราเวลาอากาศหนาว มันหนาวมาก และคนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนแก่ยากจน เวลาหนาวๆ พวกท่านมักจะห่มผ้าห่มผืนเก่าๆ ขาดๆ มานั่งผิงไฟหน้าบ้าน เห็นแล้วก็อดสงสารไม่ได้"

 

น้องอาย สมาชิกในทีม ยังเล่าต่ออีกว่า "แต่ละวันขายปาท่องโก๋ได้ 200-300 บาท ทำอย่างนี้อยู่ 1 เดือน ตอนแรกๆ เหนื่อยมาก ไหนจะต้องขายปาท่องโก๋ ไหนจะต้องเรียน แต่พอคิดว่าทำเพื่อคนแก่ ก็มีกำลังใจขึ้นมา เพราะที่ผ่านมาพวกท่านเมตตาเรามาก เหนื่อยแค่นี้ทนได้ค่ะ"

หลังจากที่ทำเสร็จน้องๆ ก็นำเงินไปซื้อผ้าห่มให้กับผู้สูงอายุในชุมชน...

ต่อมาก็เป็นโครงการอื่นๆ เช่น3 โครงการแลกเปลี่ยนความรู้สู่น้องในหมู่บ้านห้องสมุดของเรา ของเยาวชนจากขอนแก่น ที่ใช้เวลาว่างของตนเองสอนหนังสือให้กับเด็กในหมู่บ้านที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนพิเศษเหมือนกับเด็กในตัวอำเภอคนอื่น ๆ เนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่อยู่ค่อนข้างไกลจากตัวอำเภอ จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อสอนหนังสือให้กับน้องๆ ทุกๆ วันเสาร์และอาทิตย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

โครงการธนาคารขยะรีไซเคิลของเยาวชน 1000 ทางจากจังหวัดพะเยา ที่เห็นว่าปัญหาขยะในชุมชนมีมากเลยอยากจะปลูกฝังให้กับเด็กเรื่องการทิ้งขยะจึงคิดโครงการนี้ขึ้นมา นอกจากจะเป็นการช่วยปลูกฝังการรักษาความสะอาดแล้ว การนำขยะกลับมาขายยังเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีด้วยเนื่องจากเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

โครงการร้อยฝัน ของเยาวชนจากสิงห์บุรี ที่นำความรู้และภูมิปัญญาที่ตนเองมีมาถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน นั่นคือความรู้ด้านการปักและซ่อมแซมเสื้อผ้า โดยน้อง ๆ นักเรียนอาข่าส่วนใหญ่ค่อนข้างขาดแคลนทุนทรัพย์ เวลาที่เสื้อผ้าขาดก็ไม่สามารถซื้อใหม่ได้ น้อง ๆ กลุ่มนี้จึงนำความรู้ความสามารถที่มีมาสอนเพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียน รวมไปถึงการสอนการปักผ้าในลวดลายของชาวอาข่าอีกด้วยเนื่องจากบางครั้งมีชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมโรงเรียนก็เกิดความสนใจและขอซื้อในราคาที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นอีกทางที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเด็ก ๆ ชาวอาข่า

นี่เป็นแค่โครงการตัวอย่างบางส่วนที่นำมานำเสนอ ทว่า มีหลายโครงการที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนๆ น้องๆ พี่ๆ เยาวชน เช่น โครงการเสียงร้องจากเหรียญสตางค์ ที่ทีมงานบอกว่า "ได้รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ให้กับผู้อื่น การเป็นผู้ใหญ่มากกว่าผู้รับ การได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม การได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก เรียนรู้ความไม่เห็นแก่ตัว เรียนรู้ถึงความสุขที่ได้รับจากคนหลายคนที่จริงใจและไม่จริงใจ ได้เพื่อนๆ เยอะ"

เยาวชนจากโครงการ "น้ำส้มควันไม้" บอกว่า ได้พัฒนาความรับผิดชอบในตัวเองและหน้าที่การงานมากขึ้น มีความสามัคคีในกลุ่มเพื่อน ความอดทน ขยันมากขึ้น ได้เป็นตัวอย่างในการนำไปขยายผลต่อในโรงเรียนอื่นๆ

นอกจากการได้เพื่อนใหม่ การได้พัฒนาทักษะ ประสบการณ์ บทเรียนชีวิตแล้ว เยาวชนหลายๆ โครงการจากทั่วประเทศ ยังได้บอกเป็นเสียงทำนองเดียวกันว่า การทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการเยาวชน1000ทาง ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้การให้ และความรับผิดชอบของตัวเองต่อสังคม

 

ทั้งนี้ พี่หนึ่ง ผู้จัดการภาคอีสานตอนล่างเขียนในบันทึกไว้ว่า 4
"น้อง ๆ ขยันขันแข็งกันน่าดู บางกลุ่มทำกิจกรรมในโครงการเสร็จแล้วก็โทรมาถามเกี่ยวกับเรื่องเอกสารสรุปว่าต้องทำอย่างไรบ้าง.....บางกลุ่มก็เข้ามาที่บ้านเลย....อันนี้ต้องเลี้ยงข้าวด้วย..เฮ้อ...ยิ่งเหนื่อยหนัก....แต่โดยรวมพอใจกับน้อง ๆ โครงการมากถึง 80 % เลยทีเดียว น้องๆ ตั้งอกตั้งใจทำกิจกรรมกันทุกๆ คน มีบ้างที่เหนื่อยหน่อย อย่างเช่น ปาท่องโก๋ร่วมใจ...ต้านภัยหนาว.....กว่าจะได้มาซึ่งผ่าห่ม..ดูน้องๆ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการทำ....การขาย....พักผ่อนน้อย เวลาทั้งหมดที่เคยเล่น ๆ กลับถูกนำมาใช้เพื่อคนอื่นๆ....แต่น้องๆ ก็ทำได้และก็ประสบผลสำเร็จด้วย....ส่วนโครงการอื่นๆ ก็ดีทีเดียวมีปัญหาอุปสรรคบ้างแต่ก็ฝ่าฟันไปได้ด้วยดี...เห็นความตั้งในของน้อง ๆ แล้วรู้สึกหายเหนื่อย...โดยเฉพาะเวลาที่มีผู้ใหญ่ พูดถึงน้องๆ โครงการเยาวชน1000ทาง....มีความรู้สึกว่าทุนทางสงคมเพิ่มขึ้น ....มีผู้ที่พร้อมจะมาเป็นแรงสนับสนุน..เป็นเพื่อนร่วมทางในการกรุยทางให้กับน้อง ๆ โครงการเยาวชน1000ทางในรุ่นๆ ต่อ ๆ ไป"

ใช่, อย่างที่พี่หนึ่งได้บันทึกไว้ ว่าการทำงานของเยาวชนที่ตั้งใจนี้ จำเป็นที่ผู้ใหญ่ควรจะสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับเยาวชน ทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงกายภาพ และพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงโอกาส กล่าวคือ ควรมีการพัฒนาเยาวชนจากมุมที่เป็นการส่งเสริมเยาวชนมากกว่าเป็นการควบคุมจำกัดสิทธิ และควรส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสในการสื่อสารกับผู้ใหญ่ ส่งเสียงต่อสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ - ความฝันเหล่านี้เป็นไปได้ เพียงแค่ว่าผู้ใหญ่จะเห็นความสำคัญมากน้อยเพียงใด และความท้าทายที่สำคัญคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่นอกจากผู้ใหญ่จะให้เยาวชนมีส่วนร่วมแล้ว จะมอบ "อำนาจ" ในการตัดสินใจให้แก่เยาวชนด้วย

 

1 โครงการเยาวชน 1000ทาง เป็นการรวมตัวของเครือข่ายเยาวชนจากทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชน (สทย.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) ดูเวบไซต์ได้ที่ http://www.1000tang.net/

2 อ่านต่อได้ที่มติชนออนไลน์ http://matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lad03250151&day=2008-01-25§ionid=0115

3 อ่านต่อที่เดลินิวส์ ออนไลน์

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=153444&NewsType=1&Template=1

4 บันทึกของพี่น้อยหนึ่ง อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/node-esandown/146409

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์