Skip to main content

มาริยา มหาประลัย

20080418 wedding

“เฮ้ย! งั้นเรามาแต่งงานกันดีไหม(วะ)” ไม่มีแหวนเพชร ไม่มีเพลงประกอบสุดโรแมนติคคลอตาม ผู้ชายตรงหน้าฉันไม่ได้นั่งคุกเข่าอย่างในหนัง แต่พูดพลางแคะขี้มูกไปด้วยซ้ำ

กะพริบตาอีกทีฉันก็นึกขึ้นได้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นจูเลีย โรเบิร์ตสในหนังเรื่อง Runaway Bride ที่มีริชาร์ด เกียร์ กำลังคุกเข่าขอแต่งงานนี่หว่า แต่ฉันกำลังอยู่กับในร้านส้มตำสุดฮิปแต่โคตรแพงเพราะต้องเสียค่าดื่ม-แดกไลฟ์สไตล์คนเมืองแกล้มกับข้าวเหนียวไปด้วย

เรากำลังมันปากอยู่กับไก่ย่างและหัวข้อการสนทนาว่าด้วยความสัมพันธ์อันเผ็ดร้อนกว่าส้มตำปูรสแซ่บสะเด็ดสะเด่า หนุ่มสาวอย่างพวกเรายังโสด (ในความหมายว่ายังไม่มีแฟน) และเต็มไปด้วยพลังชีวิต หาได้ตั้งคำถามกับชีวิตไปวันๆ แค่ว่า “เมื่อไรฉันจะมีแฟนเสียที(วะ)”  

คำถามของเราในค่ำคืนนั้นก็คือ พออายุยังน้อยแบบนี้จะถือครองโฉนดความโสดก็ไม่มีใครว่าอะไรหรอก แต่พออายุกระเถิบเข้าสู่เลขสามเลขสี่เมื่อไร คงต้องถูกพ่อแม่และ “ผู้หวังดีทั้งหลาย” ตั้งกระทู้ถามสดกลางสภาว่าเมื่อไรจะเป็นฝั่งเป็นฝากับเขาเสียที ถึงตอนนั้นเราจะเอายังไงกันดี

ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะถูกหาว่าไม่มีใครเอาไปทำแม่ทำเมีย อันเป็นการบรรลุขั้นสูงสุดในการเกิดเป็นผู้หญิงที่ดีในสังคมที่มีรากฐานของผู้ชายเป็นใหญ่ ถ้าเป็นผู้ชายก็จะถูกตั้งคำถามกับความเป็นชายว่าเป็นเก้งกวาง (เกย์) หรือเปล่า ฟังแล้วอยากเท้าเอวถามแทนผู้ชายเหล่านั้นว่า “เป็นเกย์แล้วไง” แล้วสะบัดบ๊อบใส่หน้าคนนั้นซะ อ๊ายส์!   

คิดแล้วก็ขำ สังคมไทยสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัวไว้เป็นมั่น แต่พรหมจรรย์ก็ต้องมีอายุการใช้งานของมัน ขืนเก็บไว้นานๆ ไม่มีใครพรากไปเสียทีก็โดนหาว่าไม่มีใครเอาอีก แล้วไอ้เรื่องการเป็นโสดกับเรื่องไม่มีใครเอานี่มันก็เป็นหนังคนละเรื่องกันชัดๆ

แต่แหม...ชีวิตก็ไม่ไร้ทางออกเสียทีเดียวหรอก ในเมื่อผู้ชายและผู้หญิงก็ถูกคาดหวังในเรื่องการแต่งงานกันทั้งคู่ ฉันและเพื่อนๆ ทั้งชายหญิงและอื่นๆ อีกมากมาย เลยตกลงกันว่า งั้นเรามาแต่งงานกันเองเถอะ!

ใช่! เราจะแต่งงานกันเพื่อผลประโยชน์!

ผลประโยชน์อะไรบ้างล่ะที่จะได้หลังจากการแต่งงาน โอ๊ย! เยอะแยะ! ตัดปัญหาการถูกตั้งคำถามเรื่องหน้าตาทางสังคม ฉันไม่ถูกมองเป็นสาวทึนทึกไร้คู่ พ่อแม่หมดห่วงไปได้อีกเปราะหนึ่ง ไหนจะมีคนดูแลเรายามป่วยไข้ มีเพื่อนที่อยู่ด้วยกันแถมเป็นเพื่อนที่ฉันรักเสียด้วย ที่เก๋กว่านั้นคือ เราลดหย่อนภาษีได้ แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายลง ลดการใช้พลังงานลง นี่ฉันช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ด้วยนะเนี่ย! อ๊ายส์! เริ่ด! ท่าทางคู่ของเราจะอยู่ยั้งยืนยงคงกระพันตราบเท่าที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาฟ้องหย่าเพราะคู่ของตัวไม่ยอมมีเซ็กส์ด้วย!
    
อ้อ! เรื่องเซ็กส์น่ะเหรอ อันนี้แล้วแต่คน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนิยามความสัมพันธ์นี้ไว้อย่างไร บางคนอาจมีเซ็กส์กับเพื่อนได้ เพราะถือว่าเป็นคนที่เขาไว้ใจซึ่งกันและกันมากที่สุดก็ว่ากันไป แต่บางคนขืนจะให้ตกร่องปล่องชิ้นกับเพื่อนตัวเองคงไม่ไหว จะขอตัวช่วยหรือเปลี่ยนคำถามก็ตามสะดวก หรือถ้าเพื่อนชายที่ฉันจะเกี่ยวก้อยกันไปแต่งงานด้วยอยากจะเดทกับใครก็ตามใจเธอเถิด

เพราะตัวฉันเองก็จะเดทของฉัน เอิ่ม...ถ้ามีใครให้เดทน่ะนะคะคุณ! ถ้าผู้หญิงอีกคนเกิดงงๆกับความสัมพันธ์ของเราสองคน ฉันจะไปนั่งคุยกับเขาเองว่า “อู้ย! คุณขา เดทกับสามีดิฉันไปเถอะค่ะ เราแต่งงานกันขำๆ เท่านั้นแหละ เอ่อ...ถ้าคุณมีเพื่อนชายก็แนะนำฉันได้นะคะ เผื่อฉันจะได้ไปลดภาษีกับคนอื่นบ้าง อ๊ายส์!!!”   
    
ความรักน่ะเหรอ? อู้ย! เราก็รักกันไงคะ แต่รักกันแบบเพื่อน ใครบอกกันว่าการแต่งงานต้องรักกันแบบ “คู่รัก” เท่านั้น การแต่งงานแบบโรแมนติค Happily Ever After แบบที่เราถวิลหาน่ะมันเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่สิบปีเองนะคุณ เหตุผลที่คนในยุคเกษตรกรรมแต่งงานกันน่ะเหรอ ก็เพื่อต้องการแรงงานเพิ่มเอาไว้ทำไร่ทำนาน่ะสิคะ อ๊ายส์! ฟังแล้วโคตรโรแมนติคเลย! ย้อนไปไกลกว่านั้น สมัยโบราณ เจ้าเมืองก็ยกลูกสาวตัวเองไปดองกับอีกเมืองหนึ่งเพื่อประโยชน์ทางความมั่นคงของรัฐตัวเอง รักเริกอะไรกันที่ไหนล่ะคะ ต่างอะไรกับที่ฉันบอกว่าอยากแต่งงานเพื่อลดภาษี!
    
เช่นเดียวกับที่คู่เกย์หลายคู่ที่บอกฉันว่า ทุกวันนี้เขาก็อยู่กินกันอย่างสามีภรรยาอยู่แล้ว แต่ เหตุผลเดียวที่เขาจะแต่งงานกันถ้ามีกฎหมายว่าเกย์สามารถแต่งงานกันได้ในประเทศไทย (ซึ่งอาจจะต้องเกิดเป็นเกย์อีกชาติ ประเทศไทยถึงจะเห็นว่าเกย์เป็น “ประชากร”) ก็คือผลประโยชน์ที่จะคุ้มครองการครองคู่ของเขาเหมือนอย่างที่สามีภรรยา Heterotype ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่น ผู้หญิงและเกย์บางคนก็ยินดีแต่งงานกัน เพราะสังคมญี่ปุ่นคาดหวังต่อชายหญิงในเรื่องการแต่งงานสูงมาก ในเมื่อผู้ชายที่เป็นเกย์ในญี่ปุ่นไม่ได้รับการยอมรับ ส่วนผู้หญิงโสดในญี่ปุ่นก็เป็นที่ครหา การแต่งงานกันของคนทั้งคู่จึงเป็นเรื่องที่สมประโยชน์กันทุกฝ่าย ที่จริงไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่นหรอก คุณจะปฏิเสธเหรอว่าการแต่งงานกันเพื่อผลประโยชน์มันไม่มีเลยในเมืองไทยในปัจจุบัน

ตั้งแต่เด็ก เราถูกสังคมโปรแกรมใส่กบาลว่าสมการ พ่อ + แม่ + ลูก = ครอบครัว ย่อยลงไปกว่านั้น พ่อ = ผู้ชาย แม่ = ผู้หญิง พ่อกับแม่แต่งงานกันด้วยความรัก ฟูมฟักลูกด้วยความรัก (ละไว้ว่าด้วยความคาดหวังอีกข้อหนึ่งก็ได้) จินตนาการเกี่ยวกับครอบครัวของเราจึงถูกตีกรอบไว้แคบมากแถมยังมีอคติทางเพศเคลือบไว้ในความรักแบบครอบครัว เช่น พ่อที่เป็นเกย์จะเป็นพ่อที่ดีได้ไหม (เช่น ที่คนชอบพูดว่า “สงสารลูกเขานะ” เมื่อรู้ว่าดาราชายบางคนอาจเป็นเกย์) แล้วเป็นไปได้ไหมถ้าแม่เป็นเลสเบี้ยน ถ้าพ่อกับแม่ไม่ได้แต่งงานกันด้วยความรัก แต่ก็มีปัญญาและมีหัวใจที่เลี้ยงเรามาได้ เราจะยอมรับได้ไหม และเราจะเรียกความสัมพันธ์ของเพื่อนสองคนที่อยู่ด้วยกัน มีเซ็กส์กัน แต่ไม่ได้รักกับแบบ “คู่รัก” ว่าครอบครัวได้ไหม

แล้วเราเปิดใจไว้กว้างสำหรับ “ครอบครัว” แบบอื่นๆ ที่เป็นอยู่และกำลังจะเป็นไปไว้มากน้อยเพียงใด

เราได้เห็นว่าคนรุ่นใหม่บางกลุ่มกำลังตั้งคำถามและพยายามสร้างนิยามใหม่ของการแต่งงานและการมีครอบครัวที่มากไปกว่าสมการ การแต่งงาน = ผู้ชาย 1 คน + ผู้หญิง 1 คน + ความรักแบบคู่รัก อย่างที่สังคมเคยยัดใส่สมองมา ไปเป็นสมการการใช้ชีวิตรูปแบบอื่นที่อาจจะเข้ากับชีวิตของเขาได้ดีกว่า สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ วิธีตอบโต้กับปฏิกิริยาของสังคมของพวกเขา ในเมื่อสังคมอยากคาดหวังและควบคุมกรอบการแต่งงานดีนัก ก็โอเค! อยากให้แต่งงานเหรอ ได้! ไม่ปฏิเสธ! ถ้าผลประโยชน์มัน “ถึง” และ “พร้อม” ก็พยักหน้ายอมรับมัน แต่ไม่ได้แปลว่าเขา “ก้มหัว” ให้กับมันเสียหน่อย คุณเห็นไหมว่า “ขบถ” กำลังแอบหัวเราะเยาะหึๆ ใส่สังคมอยู่น่ะ  

เพราะหน้าฉากมันคือการยิ้มรับการแต่งงานตามจารีตปฏิบัติ แต่หลังฉากคือการตบหน้าและถ่มถุยใส่การแต่งงานดีๆนี่เอง

มันก็เหมาะกันดีกับสังคมมือถือสากปากถือศีลแบบนี้มิใช่หรือ

บล็อกของ กิตติพันธ์ กันจินะ