Skip to main content
               กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
เด็กชายตัวเล็กๆในครอบครัวคนรวยอันแสนอบอุ่นนามว่า บรูซ เวย์น ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อพ่อและแม่ของเขาถูกฆ่าด้วยโจรกระจอกคนหนึ่งส่งผลให้โลกของเขาล่มสลายไปในทันตาแถมกฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดโจรคนนั้นได้นั้นทำให้ตัดสินใจออกจากเมืองก๊อตแทมเพื่อค้นหาทางในการต่อสู้กับเหล่าร้าย และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของอัศวินรัตติกาลนามว่า 
แบ็ทแมน
และบัดนี้เวลาผ่านไป การผจญภัยของบรูซ เวย์นก็มาถึงจุดจบในที่สุด

 

 

เรื่องราวผ่านไปกว่า 8 ปี นับจากเหตุการณ์ใน The Dark Knight ในตอนนี้เมืองก๊อตแทมได้ผ่านพบกับความสงบสุขภายหลังจากกฎหมายของ ฮาร์วีย์ เดนท์ ได้ผ่านและทำให้เมืองนี้มีความสงบ ไม่มีผู้ร้ายโรคจิตแบบโจ๊กเกอร์ให้ปราบ ตำรวจไม่มีอะไรทำนอกจากไปไล่จับงานง่ายๆอย่างคดีเมียส.ส. เป็นต้น โดยแลกกับการเสียสละของแบ็ทแมนที่รับความผิดของเดนท์ไปคนเดียวทั้งหมด และตัวของบรูซ เวย์นก็ไม่ได้ออกงานสังคมหรือโผล่หน้าโผล่ตาให้ใครเห็นมานานแล้ว เขาคิดว่า ที่เมืองนี้ไม่จำเป็นต้องมีตัวของเขาแล้ว ทว่ากลับเป็นเพียงความสงบก่อนพายุใหญ่จะมาเท่านั้น 
 
เพราะการมาของชายที่ชื่อว่า เบน
 
ชายหนุ่มในหน้ากากพร้อมรูปร่างกำยำกำลังวางแผนจะทำลายเมืองนี้ให้ย่อยยับและนั้นคือสาเหตุที่ทำให้บรูซ เวย์น ต้องกลับมาสวมหน้ากากอีกครั้ง
 
และนี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็เป็นได้
 
นอกจากฉากแอ็คชั่นประเภทวินาศสันตะโรราวกับไมเคิ่ล เบย์ มากำกับเองในช่วงท้าย สภาวการณ์ตั้งคำถามต่อสังคม ซุปเปอร์ฮีโร่ รวมทั้ง การพูดถึงจิตใจของตัวละครนั้น คริสโตเฟอร์ โนแลนให้ความสำคัญมาตลอดเพราะในภาคนี้เป็นเหมือนการนำประเด็นในทั้งสองภาคมาพูดใหม่อีกครั้งเพื่อคลี่คลายทุกอย่างให้จบลงไปพร้อมๆกัน ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะ ในครั้งนี้โนแลนได้ทำการจบไตรภาคนี้ด้วยการตั้งคำถามหลายคำถามดังนี้
 
             1. มนุษย์ทุกผู้มีความชั่วร้ายอยู่ในสันดาน
 
 
โนแลนได้ตอกย้ำให้เรารับรู้ถึงข้อนี้มาถึงสามครั้งแล้วในหนังของเขาโดยเริ่มจากความเชื่อของราส อัล กูล ที่ไม่เชื่อในมนุษย์อีกแล้วอันเนื่องจากความตายของภรรยาและลูกของเขา นั้นทำให้เกลียดชังมนุษย์ที่เป็นต้นของความเสื่อมโสมของโลก ดังนั้นการล้างบางก๊อตแทมให้สิ้นด้วยข้อความที่ว่า เมืองนี้มันเกินเยียวยาไปแล้ว หรือคำพูดของทาเลีย ราส อัล กูล ก็บอกกับเวย์นว่า สิ่งที่พ่อบอกว่า เมืองนี้มันเกินเยียวยานั้นก็เป็นสิ่งที่เหมือนตอกย้ำเรื่องนี้ แต่ที่หนักกว่านั้นคือ การปรากฏของโจ๊กเกอร์การเล่นงานแผนด้วยจิตวิทยาและคำพูดสุดแสนจะเจ็บปวดแต่ล่ะครั้ง อย่างเช่น การที่โจ๊กเกอร์มองอนาคตล่วงหน้าได้ว่า คนในเมืองนี้มันจอมปลอม ในตอนนี้มันอาจจะต้องการแบ็ทแมน แต่ต่อไปพวกเขาจะขับไล่ไสส่งเขา หรือสิ่งที่เกิดขึ้นบนเรือเฟอร์รี่ทั้งสองลำที่เป็นเหมือนโจทย์ทดสอบที่ว่า มนุษย์พร้อมจะเอาตัวรอดเสมอไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามหรือแม้กระทั่งการฆ่าคนเพื่อตัวรอดก็ตามที 
 
ยกตัวอย่างที่โจ๊กเกอร์บอกว่า ให้แบ๊ทแมนถอดหน้ากากแล้วคนอื่นจะปลอดภัย คนในก๊อตแทมก็บอกทันทีว่านี่คือ ความผิดของเขาและขับไล่ไสส่งเขาให้ไปตายโดยไม่ใยดี จนฮาร์วีย์ เดนท์ต้องถามว่า ไปยอมผู้ก่อการร้ายได้ยังไง ก่อนหน้าพวกคุณพอใจให้แบ็ทแมนปราบผู้ร้ายให้ไม่ใช่หรือไง แล้วทำไมถึงจะส่งเขาไปตาย หรือ กรณีที่น่าสนใจก็คือ การที่โจ๊กเกอร์ประกาศให้ใครที่สามารถฆ่านักบัญชีในเวลาหนึ่งชั่วโมงที่จะเปิดโปงตัวแบ๊ทแมนนั้นได้ เขาจะไม่ระเบิดโรงพยาบาลทิ้ง ส่งผลให้คนไปรอฆ่านักบัญชีคนนั้นกันเต็มไปหมด
แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ การที่คนในเรือของประชาชนผู้แสนดีกำลังเถียงกันว่าจะระเบิดเรือของนักโทษดีหรือไม่ ก่อนจะตัดสินด้วยการโหวตที่จบลงด้วย
 
การโหวตให้กดระเบิด
 
 
ในขณะที่โจรที่พวกเขาบอกเลวอย่างนู้นอย่างนี้นั้นกลับโยนปุ่มกดระเบิดทิ้งไปเสียอย่างนั้น
 
 
ซึ่งนั้นเป็นการบอกให้รับรู้ว่า มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนมีความชั่วร้ายฝังอยู่ในจิตใจกันทั้งนั้น ซึ่งนั้นพิสูจน์ได้จากการเปลี่ยนจากวีรบุรุษเป็นปีศาจของชายที่ชื่อว่า ฮาร์วีย์ เดนท์
 
2. โลกไม่มีคนชั่วหรือ ฝันกลางวันไปแล้วมั่ง
 
อัศวินรัตติกาลภาคนี้ได้ตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกใบนี้ไม่มีโจร ไม่มีอาชญากร คำตอบนั้นก็คือ กฎหมายและประชาชนจะอ่อนแอลงไปด้วยนั้นเอง แต่สิ่งที่หนังได้บอกให้เรารู้ก็คือ เป็นไปไม่ได้
 
เพราะอะไรน่ะเหรอครับ นายกเทศมนตรีเมืองก็อตแทมได้พูดเอาไว้เองเมื่อ อาชญากรถูกกวาดเข้าคุกกันไปเรียบด้วยฝีมือของฮาร์วีย์ เดนท์ กอร์ดอนและแบ๊ทแมน  ซึ่งนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่นายกเทศมนตรีควรจะดีใจ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ใบหน้ากังวลทั้งที่เขาพึ่งประกาศนโยบายต่อต้านอาชญากรรมแท้ๆ เขาบอกฮาร์วีย์ว่า พวกนักการเมือง ตำรวจ พวกแก๊งที่เสียผลประโยชน์จะพุ่งเป้ามาที่เขา ถ้าเขาหลุดมาล่ะก็ทุกอย่างก็จบ 
 
หรือพูดง่ายๆว่า เมืองนี้จำเป็นต้องมีพวกมาเฟียนั้นเอง
 
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภายหลังการตายของฮาร์วีย์ เดนท์รวมทั้งการประกาศให้เขาเป็นฮีโร่จอมปลอมตามแผนที่แบ็ทแมนให้ไว้นั้นได้ส่งผลให้เมืองก๊อตแทมไม่มีคนชั่วหรืออาชญากรเป้งๆเลยจนตำรวจต้องไปทำงานให้เมียส.ส.หรือตามจับคดีอื่นแทนที่ไม่ใช่คดีอาชญากรรม ในนัยหนึ่งบ่งบอกถึงความสงบสุขของเมืองในระยะเวลาแปดปี ทว่าในขณะเดียวกันก็ทำให้ตำรวจนั้นอ่อนแอลงไปอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาบางคนแทบจะไม่มีประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์เลยเมื่อสถานการณ์ตรงหน้าได้แต่ฟังคำสั่งเท่านั้นเอง รวมคิดทำอะไรเองแทบไม่เป็น
 
จึงไม่น่าแปลกใจที่ ตำรวจจะพลาดท่าให้เบนแบบโง่ๆ ในภาคนี้
 
3. ระบบห่วย หรือว่า คนมันห่วยกันแน่
 
 
หลายคนถามผมว่า ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในหนังนั้นเกิดขึ้นจากระบบหรือคนที่ทำให้เมืองมีสภาพเช่นนี้กันแน่  อันที่จริงแล้วมันเกิดขึ้นเพราะสองอย่างมันหนุนเสริมซึ่งกันและกันครับ ก่อนหน้านี้เมืองก๊อตแทมนั้นอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่สิ้นหวังไปแล้วหากพ่อแม่ของบรูซ เวย์นไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและการตายของพวกเขาก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเมืองนี้ ให้กับตำรวจและคนในเมืองหันมาสนใจเมืองกันมากขึ้น ซึ่งในสายตาของ บรูซ เวย์น นั้นเป็นเสมือนวัวหายแล้วล้อมคอกมากกว่า เพราะหากพ่อแม่ของเขาไม่ตายในคืนนั้นก็คงไม่มีใครสนใจจะปราบอาชญากรรมในเมืองนี้เลย แถมพวกตำรวจยังไว้ใจไม่ได้อีกต่างหาก เพราะหลายคนก็ไปเป็นลูกน้องของเจ้าพ่อมาเฟียอย่างฟาโคนี่กันหมด นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้เวย์นหมดศรัทธาในระบบและตั้งตัวเป็นสิ่งที่เรียกว่า ศาลเตี้ยแทน ด้วยเป้าหมายที่เขานั้นต้องการจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นในเมืองนี้บ้าง ซึ่งผลของการมาของเขาได้ส่งผลให้เมืองนั้นยกระดับขึ้นมาเลยทีเดียว ดังที่กอร์ดอนได้พูดว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเขามาถึง พวกตำรวจชั่วผวา ทุกคนเริ่มมีความหวัง
 
แต่ว่า
 
การยกระดับนั้นส่งผลให้ทุกอย่างรุนแรงขึ้นตามลำดับ
 
การมาของโจ๊กเกอร์พิสูจน์เรื่องนั้น
 
 
หากจะเตรียมใจที่จะทำลายอาชญากรรมด้วยความรุนแรงหรือล้ำเส้น คุณจะถูกตอบโต้ด้วยการล้ำเส้นเช่นเดียว สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเป็นเช่นนี้เกิดขึ้นจากความปรารถนาของแบ็ทแมนที่ต้องการกำจัดต้นตอของความเสื่อมทรามในเมืองได้แก่ พวกมาเฟียที่มีส่วนเกี่ยวข้องจนทำให้พ่อแม่ของเขาต้องตาย เปรียบเสมือนการเอาคืนที่เขาต้องการจะเห็น นั้นทำให้เขาต้องเดินทางออกจากเมืองไปฮ่องกงเพื่อตามจับ เหลา เศรษฐีจีนขี้โกงเพื่อให้สามารถยัดมาเฟียเข้าคุกได้ และส่งผลให้พวกมาเฟียปล่อยตัวตลกออกมาจากกล่อง
 
นั้นเพราะเขาล้ำเส้นเข้าไปก่อนนั้นเอง
 
ดังนั้นการที่โจ๊กเกอร์ตอบโต้ด้วยการทำร้ายคนบริสุทธิ์ วางแผนปั่นป่วนเมืองต่างๆนั้นมีผลมาจากการกระทำของแบ็ทแมนนั้นเอง
 
สุดท้ายแล้วแบ็ทแมนต้องยอมสละตัวเองเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเอาไว้เพราะเขาคิดว่า สุดท้ายแล้วกฏหมายต่างหากคือสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่เขา
 
เขายอมกระทั่งสร้างเรื่องโกหก สร้างวีรบุรุษจอมปลอมอย่างเดนท์ขึ้นมาเสียด้วยซ้ำไป
 
ทว่า การมาของเบนทำลายระบบนั้นจนเกลี้ยง
 
 
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งในหนังนั้นก็คือ การที่เราได้เห็นการปะทะกันระหว่างคนที่เชื่อในระบบกับคนที่ไม่เชื่อในระบบแบบชัดแจ้ง ซึ่งในภาคนี้ได้แก่ เจมส์ กอร์ดอน ผู้บัญชาการตำรวจที่ยังเชื่อมั่นในระบบอย่างจริงจัง กับ จอห์น เบลด ตำรวจหนุ่มไฟแรงที่ศรัทธาในตัวแบ็ทแมนและเริ่มไม่เชื่อมั่นในระบบ
 
ตัวละครของเบลคที่เองที่พาเราไปสำรวจแง่มุมของสังคมในโลกของแบ็ทแมนได้อย่างน่าสนใจ 
 
 
สิ่งที่เราเห็นก็คือ การเป็นอาชีพตำรวจนั้นเป็นอาชีพที่วัดความจริงกันที่ยศ อย่างสมมติว่า เอาตำรวจชั้นผู้น้อยกับผู้บัญชาการในศาลด้วยกัน ลองคิดสิว่า เราจะเชื่อใคร ระหว่างตำรวจตัวเล็กๆกับตำรวจชั้นสูงกันแน่ เพราะฉะนั้นตอนที่เบลคนั้นยังมียศน้อยๆอยู่ทำงานเป็นตำรวจตัวเล็กๆนั้น เขาต้องทนถูกโขลกสับจากคนยศสูงกว่าตลอดเวลา พวกเขาแสดงท่าทีไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาพูด แถมยังออกคำสั่งที่ไม่น่าจะออกมาจนทำให้เขาต้องทำอะไรผละการบ่อยครั้ง
 
นั้นนำมาซึ่งความไม่มั่นใจในระบบของเบลค
 
รวมทั้งฉากที่เขานำรถบัสของเด็กกำพร้าไปที่สะพานเพื่อที่จะพาหนีไปจากเมืองนี้ เขากลับต้องพบว่าตำรวจของอีกเมืองที่กั่นทางเอาไว้ไม่ยอมให้เขาเข้าไป เขาพยายามเจรจาและบอกให้พวกเขาช่วยปล่อยออกไปในขณะที่พวกนั้นตะโกนอยู่แค่คำเดียวว่า ถ้ามาเมืองจะ ถ้ามาเขาจะยิง เบลคจึงพยายามเดินไปจะเจรจากับพวกเขาทว่าพวกเขากลับยิงใส่พื้นเพื่อขู่ให้กลับไปถึงสองครั้งจนเบลคพูดย้อนไปว่า
 
ทำตามคำสั่งกันดีนักนะ
 
จนสุดท้ายพวกตำรวจเลือกจะระเบิดสะพานทิ้งลงต่อหน้าของเบลคที่ได้พบกับความบ้าบอของระบบที่ทำให้ตะโกนด่าออกมาอย่างบ้าคลั่ง
 
ซึ่งหากมุมหนึ่งพวกตำรวจเมืองนั้นอาจจะกลัวว่า ถ้าปล่อยพวกเขาไปได้ก็ทำให้เมืองระเบิดไปหมด แต่อีกทางพวกเขาเป็นเหมือนเพียงหุ่นยนต์ที่รับคำสั่งของคนเบื้องบนที่ไม่ได้สนใจใยดีอะไรคนในเมืองก๊อตแทมเลยนอกจากปล่อยให้เขาตายไปเท่านั้นเองเพื่อเอาตัวรอด ดังคำที่ว่า รัฐบาลสมยอมกับผู้ก่อการร้ายนั้นเองก่อนจะโดยย้อนว่า โดนบีบไข่จนทำอะไรไม่ได้มากกว่า
 
แต่นั้นก็เพียงพอจะทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งสิ้นหวังกับระบบนี้เหมือนที่ใครบางคนเคยเป็นมาแล้วในอดีต
 
4. คนรวย รัฐ และอนาธิปไตย
 
ถามว่า ใครที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตในเมืองก๊อตแทมมากที่สุดคำตอบก็คือ เหล่าคนรวยและรัฐนั้นเองครับ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราจะเห็นจากข้อที่แล้วมาว่า หากพ่อและแม่ของเขาไม่ตาย พวกคนก็ไม่มาสนใจปัญหา  พวกคนรวยก็ไม่รู้สึกตื่นตัวเท่าใด ภาคสองก็เช่นกันพวกเขาไม่ใช่พวกได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะเอาจริงๆแล้ว ถึงจะประกาศว่า ห้ามออกทางถนนหรือสะพานไปที่อื่น พวกเขาก็ยังมีวิธีอื่นอย่างการขึ้นเครื่องบิน คอปเตอร์และอีกหลายวิธีต่างจากคนทั่วๆไป
 
และที่สำคัญพวกเขานี่เองสนับสนุนองค์กรอาชญากรรมอื่นๆด้วย
 
ดังนั้นจึงพูดว่า พวกเขาหลายคนอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในเรื่องนี้แบบไม่ได้แก้ตัว อย่างที่เราเห็นเศรษฐีคนหนึ่งได้ชักนำเอาเบนเข้ามาในเมืองและส่งผลให้เมืองนี้พบกับความวิบัติรวมทั้งตัวของเขาเองด้วย
 
สิ่งที่น่าสนใจก็ ฉากที่เบนบุกเข้าไปในตลาดหุ้นนั้นเป็นเหมือนภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความวุ่นวายของเมืองที่เกี่ยวข้องกับเงินได้ดี ในฉากนี้ตำรวจคนหนึ่งถามว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องปิดกำลังกันแบบนี้ ที่นี่ไม่มีอะไรพวกมันเอาไป แต่สิ่งน่าตลกคือ ตำรวจอีกคนตอบว่า เงินของนายในกระเป๋าจะลดลงยังไงล่ะ ซึ่งบ่งบอกว่า อำนาจทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเงิน ดังนั้นตำรวจจึงวางกำลังมาที่นี่อย่างมากมายเพื่อปกป้องเงินของนายทุนที่อยู่เบื้องหลังและไม่เคยทุกข์ร้อนใดๆกับสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณการประท้วง  occupy wall street ที่กำลังโด่งดังในตอนนี้ที่ส่งผลให้ฉากนี้ดูทรงพลังอย่างยิ่งและสอดคล้องกับโลกแห่งความจริงที่ว่า
โลกวุ่นวายเพราะ อะไร 
 
 
เพราะคนเลวเหรอ หรือเพราะคนที่สนับสนุนพวกเลวพวกนั้นกันแน่ คนที่ขูดรีดขูดเนื้อคนตัวเล็กๆไม่มีทางสู้จนทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนชายขอบ โจร หรือ อาชญากร เนื่องจากเหล่าคนรวยพวกนี้ที่พยายามกอบโกยเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจเลยว่า คนที่ต่ำกว่าของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ซึ่งนั้นทำให้เกิดคนอย่าง จอห์น เบรค , เซลีย่า ไคล์ , เบน และเด็กกำพร้าอีกหลายคนที่ต่างเกิดขึ้นเพราะผลผลิตของการขูดรีดขูดเนื้อแบบไม่สนใจประชาชนเช่นนี้
 
ดังนั้นภาพที่พวกนักโทษ คนชนชั้นล่างทั้งหลายต่างจับคนรวยโยนออกจากบ้าน ทำลายบ้านของพวกเขา ทำลายทรัพย์สินของพวกเขาจนเกลี้ยง รวมทั้งตั้งศาล เนรเทศพวกเขาออกไปเดินบนน้ำแข็ง หากเรามองเบนคือ หัวหน้าลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาเพื่อสร้างความชอบธรรมในเมืองนี้เพื่อให้คนตัวเล็กได้ลืมตาอ้าปากกันเสียที ในขณะที่ผู้ดีต้องไปเดินตรอก ขี้ครอกทั้งหลายไปเดินถนน เบนได้ชักนำให้เมืองเข้าสู่สิ่งที่โจ๊กเกอร์วางแผนเอาไว้และต้องการจะทำนั้นก็คือ
 
สังคมแห่งอนาธิปไตย
 
 
สังคมแห่งความวุ่นวายที่ไร้กฎเกณฑ์นั้นเอง ซึ่งสิ่งที่เราได้เห็นก็พบว่า มันคืออำนาจที่มนุษย์ได้ปลดปล่อยออกมาเมื่อไร้กฎเกณฑ์ให้พึ่งพิง ทว่าสุดท้ายพวกเขาก็ต้องยึดกับระบบใดระบบหนึ่งอยู่ดีอย่าง ระบบศาลของเครนเป็นต้นที่มีการตัดสินเพียงแค่อยู่หรือตายแค่นั้นไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านี้
 
ซึ่งในอีกทางหนึ่งเป็นการบอกว่า ถึงจะบอกว่าอิสระแต่เอาจริงมนุษย์ก็ยังตัดระบบไม่ได้สมบูรณ์แบบอยู่ดี ดังนั้นพวกเขาจึงต้องยึดเหนี่ยวกับอะไรสักอย่างไว้จนได้อย่างเบนนั้นสร้างอนาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ 
ทางบรูซ เวย์นก็ได้สร้างแบ๊ทแมนขึ้นเป็น สัญลักษณ์แห่งความหวังแทนเหมือนกัน
 
5. สัญลักษณ์ ความกลัว และวีรบุรุษ
 
 
 จงใช้ความกลัวเป็นพลัง
 
นั้นคือสิ่งที่แบ็ทแมนพยายามพูดถึงอยู่ตลอดเวลาในหนังทั้งสามภาค ในหนังทั้งสามภาคนั้นโนแลนได้ใช้ความกลัวมาเป็น Theme หลักของเรื่อง ยิ่งหากมองว่า นี่คือหนังซุปเปอร์ฮีโร่ ในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ที่เกิดเหตุวินาศกรรมขึ้นในเมืองนิวยอร์ค ซึ่งเปลี่ยนผ่านอเมริกาเข้าสู่ยุคสงครามก่อการร้ายเข้าเต็มรูป ในตอนนั้นเองความกลัว ความสับสนได้เข้าครอบงำคนในประเทศอเมริกาจนหมดสิ้นแล้ว การมาของหนังของซุปเปอร์ฮีโร่นั้นก็เป็นเหมือนการปลอบใจคนดูว่า แสงสว่างยังคงมีเหลืออยู่ ดั่งเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง โนแลนได้โยกความกลัวในการก่อการร้ายขึ้นมาใช้ในภาค Begin ก่อนจะเสนอแง่มุมอันแสนวุ่นวายและสับสนในภาค The Dark Knight ทว่าในภาคนี้หนังได้เอาประเด็นทั้งสองภาคมารวมกันแล้วทำให้เห็นจริงๆว่า โลกที่แสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยการก่อการร้ายนั้นจะมีลักษณะอย่างไร 
 
และสถานการณ์ไหนที่แบ๊ทแมนควรจะกลับมา
 
สถานการณ์ที่ว่านั้นก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคสามนี้ ภาพของเมืองที่เบนและพรรคพวกครองเมือง คนรวยถูกเนรเทศให้ต้องไปเดินกลางน้ำแข็ง ถูกยึดทรัพย์สิน คนชนชั้นกลางที่ไม่เคยสนใจการเมือง การปกครองนอกจากตัวเองได้แต่สั่นระงกอยู่ในบ้านที่ล็อคแน่นหนา ผัวเมียกอดสั่นด้วยความหวาดกลัว ตำรวจไร้อำนาจเปลี่ยนสภาพกลายเป็นโจรที่ต้องการทวงสิทธิคืน(ดังนั้นฉากที่ตำรวจยกพลตีกับฝ่ายของเบนนั้น มีนัยยะแสดงถึงการทวงอำนาจที่หายไปของอำนาจเก่าที่ต้องการทวงอำนาจใหม่กลับคืน) ส่วนคนชนชั้นล่างได้ปลดปล่อยความโกรธแค้นของตัวเองออกมา บางคนเข้าร่วมกับเบนอีกต่างหาก เราเห็นได้ว่า พวกเขาพอใจกับสิ่งที่เบนทำอย่างยิ่งในแง่ของความเท่าเทียมที่ตัวเองไม่ได้รับจากอำนาจเดิม 
 
ซึ่งจำลองสังคมของอเมริกาในช่วง 11 กันยายนได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
 
นั้นจึงไม่แปลกที่แบ๊ทแมนทุกภาคของโนแลนเล่นกับความกลัวได้อย่างน่าพรั่นพรึง อาทิ การใช้สัญลักษณ์ค้างคาวที่ตัวเองกลัวมาเป็นบุคลิกใหม่ในการต่อสู้เพื่อให้โจรกลัวเขาบ้าง หรือในภาคนี้ที่บรูซ เวย์น ต้องเอาชนะความกลัวของตัวเองเพื่อปีนกำแพงหลุมขึ้นไปก็บ่งบอกถึง เขาว่า จงเตรียมใจที่จะตายเอาไว้ด้วยนั้นเอง และเมื่อความกลัวถูกปกคลุมไปทั่วเมืองเปรียบเสมือนสายฝนที่กระหน่ำนั้น ชายคนหนึ่งได้โผล่ขึ้นมาและจุดไฟในสายฝนขึ้นอีกครั้ง
 
ที่เป็นสัญลักษณ์รูปค้างคาวบนตึก
 
ในแง่เชิงสัญลักษณ์วีรบุรุษนั้นมักถูกยกขึ้นมานอกจากในแง่เชิงบุคคลแล้วยังถูกยกขึ้นในเชิงจิตใจอย่างเช่น การที่เมืองยกขึ้นชูฮาร์วีย์ เดนท์ขึ้นในแปดปีก่อนและในครั้งนี้เมืองได้ชูภาพของค้างคาวขึ้นเป็นสัญลักษณ์บนท้องฟ้าที่มืดมิด การมาของเขาได้ช่วยปลุกจิตใจของชาวเมืองที่ล่มสลายลงไปแล้วให้ยังคงมีความหวังอยู่
 
 
“ไม่สำคัญว่าตัวจริงผมเป็นใคร แบทแมนเป็นใครก็ได้ การเป็นฮีโร่ใครๆก็เป็นได้ เริ่มต้นจากการกระทำง่ายๆ เช่นการยื่นเสื้อคลุมบ่าให้เด็กชายคนหนึ่งที่กำลังเศร้า พร้อมบอกกับเขาว่าโลกใบนี้ยังไม่แตก”
 
หากวีรบุรุษของบรูซ เวย์น คือ กอร์ดอนที่เข้ามาปลอบใจเด็กชายตัวน้อยอย่าง เวย์น ในตอนที่พ่อแม่ของเขาตาย แบ๊ทแมนก็ยังวีรบุรุษของใครหลายคนรวมเด็กชายคนหนึ่งที่ตอนนี้ได้กลายเป็นตำรวจหนุ่มนามว่า จอห์น เบลค ที่ได้สืบทอดตำนานแห่งจิตวิญญาณนี้ไปแล้ว เพราะในยามที่เขาโยนตราตำรวจทิ้งลงน้ำหลังเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเสื่อมศรัทธาต่อระบบ ซึ่งนั้นไม่ต่างไปกับบรูซ เวย์นในวัยรุ่นที่ต้องพบกับระบบที่ทำให้เขาหมดศรัทธาเช่นกัน
 
 
ดังนั้น The Dark Knight Rises จึงเป็นเหมือนภาพการบอกเราว่า สุดท้ายแล้วภัยร้ายที่สุดนั้นมิใช่เบนหรือโจ๊กเกอร์ หรือตัวร้ายตัวใด แต่ภัยนั้นเกิดขึ้นจากจิตใจของคน ระบบอันเสื่อมทรามและรัฐที่แสนห่วยแตกจนไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ ดังนั้นหากมองภาพของศาลเตี้ยอย่างแบ๊ทแมนก็เป็นเสมือนกลไกอำนาจของประชาชนที่ต้องต่อกรกับรัฐอยู่ร่ำไป 
 
ดั่งคำหนึ่งที่บอกว่า 
 
“บรูซ เวย์น ตายได้ แบ็ทแมนตายไม่ได้”
 
อาจจะคำที่พูดที่บอกถึงสิ่งสุดท้ายที่บรูซ เวย์นยังไม่ได้ให้กับเมืองนี้ นั้นก็คือ การเป็นสัญลักษณ์ เพราะเขานั้นเป็นเพียงมนุษย์เดินดินที่มีวันตาย แต่ตัวแบ็ทแมนของเขานั้นไม่มีวันตาย มันสามารถสืบทอดไปได้เรื่อยๆ ประดุจดั่งความหวังของมนุษย์ที่ยังคงอยู่ในทุกผู้คนไม่สูญสลาย แม้ในยามที่บรูซ เวย์นได้สละหน้าที่นี้ไปแล้วก็จะมีแบ๊ทแมนคนใหม่เกิดขึ้นอีกตามใดที่ยังไม่หมดความหวัง
 
ประดุจจุดไฟในสายลม
 
 
แม้ว่าไฟอาจจะดับเพราะลมที่แรงดุจพายุนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ไฟจะจุดไม่ติด ประดุจความหวังของคนต่อให้เจอเรื่องเลวร้ายแถมสิ้นหวังเพียงใด เพียงมีความหวังเท่านั้นก็จะเห็นแสงสว่างทันที

เพราะคนเราล้มเพื่อลุกขึ้นมานั้นเอง
 
ป.ล.บทความนี้ยังไม่จบครับ ยังมีเจาะลึกตัวละครกันต่อ ซึ่งถ้ามีโอกาสจะเขียนถึงในโอกาสหน้าครับ
 
 

บล็อกของ Mister American

Mister American
               พึ่งผ่านเหตุการณ์สั่นสะเทือนมาไม่กี่วัน หลังการสลายตัวไปของม๊อบองค์การพิทักษ์สยามของพลเอก บุญเลิศแก้วประสิทธิ์ สังคมไทยก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังตื่นตระหนกตกใจว่า ประเทศนี้อาจจะกำลังเข้าสู่สภาวะสุญญากาศเหมือนช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็เ
Mister American
           พูดถึง James Bond แน่นอนว่า ไม่มีใครไม่รู้จักชายคนนี้แน่นอนหากคุณเป็นแฟนนิยายอมตะของเอียน เฟลมมิ่ง หรือ เป็นแฟนภาพยนตร์สายลับที่สร้างติดต่อกันมานานถึง 50 ปี เรียกได้ว่า เป็นภาพยนตร์ที่มีซีรีย์ยืนยาวมากที่สุดและยังคงความนิยมอยู่ได้ตลอดกาล และภาพยนตร์ตอนที่
Mister American
              ใครเป็นผู้สร้างมนุษย์
Mister American
          Believe none of what you hear and half of what you see : Benjamin Franklin 
Mister American
  กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งออกเดินทางไปเที่ยวกันในป่าลึก ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พวกเขาหวังว่านี่จะเป็นการไปเที่ยวที่สนุกสุดเหวี่ยงจนกระทั่งพวกเขาได้พบว่า ในป่าลึกแห่งนี้ไม่ได้มีแต่พวกเขาเพียงกลุ่มเดียว แต่มีบางอย่างอยู่ที่นั้น 
Mister American
         สวัสดีครับพบกับรายการพะโล้ทุกเรื่องกับมิสเตอร์อเมริกันอีกครั้ง ตอนนี้ผมอยู่ที่ประเทศวาดิย่า ประเทศเล็ก ๆ ทางแอฟริกาเหนือครับ ซึ่งพึ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และตอนนี้ผมกำลังนั่งอยู่กับประธานาธิบ
Mister American
  “สิ่งที่เป็นความจริง เราไม่จำเป็นต้องเอามาพูดกันก็ได้ เราเอาเรื่องดี ๆ มาพูดกันดีกว่า” (1) คำพูดจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมท่านหนึ่งที่พูดในระหว่างเหตุการณ์แบนหนังเรื่องหนึ่งในปี 2554 ที่กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อมีคนบอ