Skip to main content

              เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา คนทั่วโลกต้องได้รับข่าวเศร้าเมื่ออดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนแดล่า แห่งแอฟริกาใต้ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 95 ปี การเสียชีวิตของเนลสัน แมนเดล่าได้สร้างความเสียใจให้กับคนแอฟริกาและคนทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะของประธานาธิบดีผู้ต่อสู้กับความแตกต่างด้านผิวสีและความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ในประเทศแห่งนี้ด้วยสันติวิธี แม้ว่าจะต้องถูกจับขังจองจำในคุกกว่า 27 ปีก็ตาม กระทั่งถูกปล่อยตัวและเอาชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก่อนจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตกระแสความขัดแย้งในประเทศที่เกิดจากเรื่องผิวสีและสถานะทางสังคมที่คนผิวขาวมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนผิวสีจนส่งผลให้เกิดการประท้วง ปราบปราม หลายครั้งส่งผลให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนสองผิวที่แมนเดลล่าจะต้องหาทางสมานฉันท์ปรองดองระหว่างคนสองกลุ่มนี้ให้จงได้

                และวิธีการที่แมนเดล่าเลือกที่จะใช้การสมานฉันท์ปรองดองขจัดความขัดแย้งของคนในชาติก็คือ การใช้กีฬาเป็นสื่อในการสร้างความปรองดองนั้นเป็นช่วงประจวบเหมาะเหลือเกินที่แอฟริกาใต้กำลังจะได้เป็นเจ้าภาพรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 1998 นั้นเองที่แมนเดล่าได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจว่า กีฬานี่ล่ะที่จะช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้กับคนในชาติได้

                และแผนการของแมนเดล่าในการสร้างความปรองดองด้วยกีฬารักบี้นี้ก็ถูกถ่ายทอดเรื่องราวลงบนแผ่นฟิล์มโดยผู้กำกับมากฝีมืออย่าง คลินต์ อีสต์วู้ด ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อ  Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game that Made a Nation ของ จอห์น คาร์ลิน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงสองสาขา แม้จะไม่ได้รับรางวัลใด ๆ เลย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์อย่างมาก หลายคนบอกว่านี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในการกำกับของคลินต์ อีสต์วู้ด เช่นเดียวกับมอร์แกน ฟรีแมนที่รับบทเป็นแมนเดล่าเองก็ได้รับยกย่องว่านี่คือ ผลงานการแสดงชั้นเยี่ยมของเขาเหมือนกัน

                และเพื่อชี้ให้เห็นถึงแผนการปรองดองสมานฉันท์อันยอดเยี่ยมของแมนเดล่า ผมจะพาไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้การกระทำครั้งนี้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้อย่างไร นี่คือกรณีที่น่าศึกษาสำหรับใครหลายคนที่กำลังมองหาทางออกจากสถานการณ์การเมืองแบบนี้ครับว่า ประเทศอย่างแอฟริกาใต้นั้นหลุดพ้นความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร

                หนังเปิดฉากในปี 1933 ในวันที่เนลสัน แมนเดล่าได้ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำหลังถูกคุมขังมากว่า 27 ปี ภาพแสดงให้เห็นภาพของกีฬาสองประเภทที่อยู่ตรงกันข้ามนั่นคือ รักบี้ ที่เล่นโดยคนผิวขาวมีอันจะกินในสนามหญ้าสีสวยสด และตรงกันข้ามของถนนนั้นคือ ภาพของเด็กผิวสีกำลังเล่นฟุตบอลกันในสนามที่มีแต่ฝุ่นและดินแห้ง ๆ อันบ่งบอกถึงสถานะของคนสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างดี

                เมื่อแมนเดล่าถูกปล่อยตัวออกมาฝ่ายเด็กผิวสีต่างวิ่งไปตะโกนใกล้กับรั้วเรียกชื่อของเขาอย่างดีใจ ขณะที่ฝ่ายของคนผิวขาวที่รักบี้อยู่กลับมองด้วยสายตาไร้อารมณ์ มีเด็กคนหนึ่งถามโค้ชว่า มันเกิดอะไรขึ้น โค้ชก็ตอบกลับมาด้วยคำพูดเหยียด ๆ ว่า

                “ผู้ก่อการร้ายแมนเดล่าถูกปล่อยตัวแล้ว”

                ฉากสั้น ๆ นี้เป็นฉากเปิดที่ยอดเยี่ยมและกระจ่างแจ้งยิ่งในการบอกเล่าถึงความขัดแย้งของคนสองผิวสีในแอฟริกาใต้แห่งนี้ ด้วยการแสดงและการแบ่งฟากทางความคิดอย่างชัดเจนของคนสองผิวสีที่ต่างเกลียดชังกันและกัน เนื่องจากสาเหตุก็คือ การมองคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน

               แน่นอนว่า หลังจากแมนเดล่าได้ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายหลังการต่อสู้กับกฎหมายจำนวนมากเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้สิทธิคนผิวสีเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญตัวนี้ต้องใช้เวลาหลายปี) และผลก็คือ คนแอฟริกาใต้ผิวสีจำนวนมากมายมหาศาลได้ไปลงคะแนนให้กับเขาจนสามารถเอาชนะเลือกตั้งได้ถล่มทลายชนะพรรครัฐบาลของคนผิวขาวได้สำเร็จ ท่ามกลางความไม่พอใจของคนผิวขาวจำนวนมากที่แสดงความไม่พอใจขึ้นมาทันทีที่เขาชนะบ้างก็เกิดความกลัวขึ้นมาในใจอย่างเช่นที่บ้านของฟรังซัว ปินาร์ กัปตันทีมรักบี้สปริงบ๊อค ทีมประจำชาติของแอฟริกาใต้ที่พ่อของเขานั้นแสดงความไม่พอใจขึ้นมาทันทีที่แมนเดล่าได้ชนะและพูดจาหยามเหยียดคนผิวสีอย่างดูแคลนว่า

                “พวกนี้จะมาแย่งงานของเรา จะไล่ออกจากประเทศ”

                แม้ว่าหนังจะไม่ได้ฉายความเห็นของครอบครัวอื่น ๆ แต่แค่คำพูดของพ่อฟรังซัวแล้วเราสามารถอนุมานได้ว่า ตอนนี้กำลังเกิดความกลัวขึ้นในใจของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้เสียแล้ว

                พวกเขากลัวการแก้แค้นจากคนผิวสี หลังจากที่กดขี่พวกเขามาตลอดหลายสิบปีนับจากได้เอกราชจากอังกฤษมา คนผิวขาวก็ปกครองประเทศมาโดยตลอด และนี่เป็นครั้งแรกที่คนผิวสีที่พวกเขาเคยมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คนทำลายชาติ พวกทำลายความสงบ และ พวกไม่สำนึกบุญคุณ มาปกครองประเทศ

                แน่ล่ะว่า แมนเดล่ารับรู้เรื่องนั้นได้อย่างดี วันแรกที่เขาเข้าทำงานในทำเนียบประธานาธิบดี ภาพที่เขาเห็นคือ ภาพของคนขาวที่เคยทำงานในนี้มาก่อนต่างเก็บข้าวเก็บของเตรียมลาออกเป็นทิวแถวด้วยเหตุผลว่า พวกเขากลัวที่จะต้องทำงานกับคนผิวสีที่พวกเขาเคยเหยียดหยามมาก่อน

และกลัวว่า พวกเขาจะมาเอาคืน

                ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า แมนเดล่าเจองานใหญ่เข้าตั้งแต่ไม่ทันทำงานเลยนั้นคือ การหาทางลดความกลัวระหว่างคนสองผิวในประเทศนี้ให้มากที่สุด เพราะเอาจริงแล้วภาวะที่ตอนนี้ก็เรียกว่า ภาวะสงครามเย็นที่หากเขาทำพลาดไปสักครั้งล่ะก็ สวิตซ์ของความขัดแย้งก็จะถูกเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

                ด้วยเหตุนี้เองแมนเดล่าจึงเข้าไปพูดกับพนักงานผิวขาวทุกคนที่คิดจะลาออกว่า เขาไม่ได้ต้องการไล่พวกเขาออก และต้องการพวกเขาให้มาทำงานช่วยเหลือประเทศชาติด้วยกัน คำปราศรัยอย่างเช้าของแมนเดล่าได้หยุดยั้งการลาออกทั้งทำเนียบได้สำเร็จ

               จุดที่น่าสนใจของแมนเดล่าก็คือ การถอยและการรู้จักประเมินสถานการณ์ว่า จะทำอะไรบ้างตลอดเวลา นั้นทำให้เขารู้ว่า ควรจะใช้วิธีไหนในการสร้างความปรองดองระหว่างประเทศ

นั้นก็คือ กีฬานั้นเอง

                แถมยังเป็นกีฬาอย่าง รักบี้เสียด้วย

               แน่นอนว่าตั้งแต่เริ่มต้นฉากแล้วหนังได้อธิบายให้เราเห็นว่า กีฬาอย่างฟุตบอลหรือรักบี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างกันได้อย่างน่าสนใจ

                ดั่งที่บอดี้การ์ดผิวขาวของแมนเดล่าคนหนึ่งได้พูดว่า ฟุตบอลคือกีฬาสุภาพบุรุษที่เล่นโดยนักเลง ส่วนรักบี้คือ กีฬานักเลงที่เล่นโดยสุภาพบุรุษตรงนี้เองที่หนังได้แสดงให้เห็นกีฬาทั้งสองประเภทถูกขีดเส้นไปแล้วว่า เป็นกีฬาของคนชนชั้นใด ซึ่งวาจาเหยียดหยามพวกนั้นเกิดขึ้นในช่วงเอาไม่เท่าเทียมของคนในประเทศนั่นน่ะเอง

                แมนเดล่าได้ใช้การศึกษาที่เขาใช้มาตั้งแต่เมื่อตอนถูกคุมขัง ศึกษาทั้งภาษาและความรู้ ความชื่นชอบของพวกเขา ประดุจคำว่า ต้องรู้จักศัตรูให้เหมือนกับรู้จักตัวเองนั้นเอง แมนเดล่ารู้ว่า กีฬารักบี้เป็นกีฬาที่คนผิวขาวชื่นชอบมากและสัญลักษณ์ของทีมก็เป็นความภูมิใจของพวกเขา

                นั้นเองที่ทำให้แมนเดล่าระงับการยุบทีมสปริงบ๊อคจากมติพรรคของตัวเองด้วยเหตุผลที่ว่า หากยุบทีมหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทีมล่ะก็สถานะของรัฐบาลก็ไม่มั่นคง หากเราไปแก้แค้นพวกเขาแบบนี้ (ซึ่งเอาจริง ชุดของทีมสปริงบ๊อคนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวในช่วงที่มีการต่อสู้เรียกประชาธิปไตย) ทำให้คนผิวสีโกรธแค้นและตั้งใจจะกำจัดทีมสปริงบ๊อคที่เหยียดผิวพวกเขามานานให้ได้ แน่นอนว่าแมนเดล่าคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักและใช้สิทธิการเป็นประธานาธิบดีระงับโหวตครั้งนี้ไว้ (คือขอร้องให้ตัดสินใจใหม่) แม้ว่าจะมีคนเห็นด้วยเพียง 14 เสียงเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดีในแผนการของแมนเดล่า

                ดั่งวาทะของแมนเดล่าที่ว่า

               “  If you want to make peace with your enemy, you have to work with your enemy. Then he becomes your partner.”

                “ถ้าเราอยากจะสร้างสันติกับศัตรู เราจะต้องจับมือกับศัตรู แล้วศัตรูก็จะกลายเป็นหุ้นส่วนของเรา”

              แมนเดล่าได้เชิญให้กัปตันทีมสปริงบ๊อคอย่าง ฟรังซัวให้เดินทางมาร่วมพูดคุยกันที่ทำเนียบ แน่ล่ะว่า ฟรังซัวเองก็ไม่ได้ต่างไปจากคนผิวขาวอื่น ๆ ในประเทศนี้ที่มีความรู้สึกกลัว และไม่เข้าใจตัวของแมนเดล่านักว่า เรียกเขาไปพบทำไม ในเมื่อเขาไม่ได้ลงคะแนนให้ชายคนนี้ และเมื่อได้เผชิญหน้ากัน ฟรังซัวได้เรียนรู้เกี่ยวกับชายคนนี้ผ่านคนรอบข้างของประธานาธิบดีผิวสีคนนี้ทั้งบอดี้การ์ดผิวขาวที่ยิ้มอย่างดีใจเมื่อพูดถึงประธานาธิบดีคนนี้ที่ใส่ใจกับทุกคนราวกับเป็นครอบครัวของเขา ทั้งเลขาและรวมทั้งแม่บ้านของฟรังซัวเองก็บอกเล่าเรื่องราวของชายคนนี้ในมุมมองที่ต่างออกไปจากที่เขาได้ยินมาตลอด

             และการเผชิญหน้าของเขาและแมนเดล่าได้เกิดขึ้น

              ครับ การเผชิญหน้านี้คือ ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเมื่อฟรังซัวได้พูดคุยกับแมนเดล่าในหลายเรื่องทั้งเรื่องรักบี้ การปลุกใจลูกทีม และประสบการณ์ของทั้งคู่จนฟรังซัวมีมุมมองบางอย่างเปลี่ยนไป

              แน่นอนว่าเขาเห็นด้วยเรื่องการสมานฉันท์ด้วยกีฬาครั้งนี้ ส่งผลให้เขาพยายามจะศึกษาว่า แมนเดล่านั้นเป็นคนแบบใดกันแน่

              กระนั้นหนังได้ฉายให้เห็นว่า ความคิดของแมนเดล่านั้นทำให้คนรอบข้างของเขาไม่พอใจเท่าไหร่นัก ตั้งแต่ลูกสาวที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อตัวเองจะต้องไปญาติดีจับมือกับพวกผิวขาวที่เคยไล่พวกเขาออกจากบ้านไม่มีที่นอนมาแล้วแบบนั้น แม้ว่าแมนเดล่าจะพยายามอธิบายให้ฟัง แต่ลูกสาวของเขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี นอกจากนี้เลขาของเขากับบอดี้การ์ดคนสนิทต่างไม่เข้าใจการกระทำของเขาว่า

              รักบี้จะแก้ปัญหาคนในชาติได้อย่างไร

              คำถามนี้แมนเดล่าได้ตอบคนสนิทของเขาว่า

             “ประเทศนี้กำลังกระหายความยิ่งใหญ่”

              แมนเดล่ามองขาดว่า ประเทศที่พึ่งผ่านความวุ่นวายด้านความคิดและผิวสีมานานจำเป็นต้องมีความยิ่งใหญ่ให้ภาคภูมิใจกันบ้างและชัยชนะที่มาจากการได้แชมป์ในการแข่งขันรักบี้โลกที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพนั้นคือ เป้าหมายที่เขาจะต้องทำให้ได้

              ฟรังซัวเข้าใจเจตนาของแมนเดล่าในการสมานฉันท์นี้ เขาพยายามเสนอทางให้ลูกทีมของเขาที่ล้วนแล้วเป็นคนผิวขาวที่เกลียดชังคนผิวสีอยู่ก่อนแล้วให้ยอมรับความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แม้ว่าครั้งแรกจะไม่ได้รับการตอบรับก็ตาม การปรากฏของแมนเดล่าที่สนามซ้อมในวันสุดท้าย และทักทายลูกทีมทุกคนในทีมได้อย่างแม่นยำและเป็นมิตรส่งผลให้ทัศนคติของลูกทีมเปลี่ยนไป

              รวมทั้งการสวมหมวกสีเขียวเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์ของทีมที่คนผิวสีเดียวกับแมนเดล่ามองว่า มันคือการเหยียดผิวมาโดยตลอดอย่างเต็มใจนั้นทำให้แมนเดล่าชนะใจคนในทีมที่ไม่ชอบขี้หน้าเขานัก นอกจากนั้นเขายังให้ทีมสปริงบ็อคออกเดินสายประชาสัมพันธ์กับคนผิวสีทั้งเด็ก ๆ และคนอื่น ๆ จนเป็นภาพของทีมของแอฟริกาที่ทุกคนต้องเชียร์กระทั่งวันที่แข่งกับออสเตรเลีย แมนเดล่าได้ไปเป็นประธานในการเปิดสนามครั้งนี้ท่ามกลางเสียงกึกก้องต่างจากครั้งแรกที่เขาเป็นประธานาธิบดีที่ถูกโห่ฮ่าและปาขวดน้ำใส่ด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้ไม่ เขาได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวแอฟริกาใต้อย่างดีและทีมสปริงบ๊อคก็ผ่านรอบต่าง ๆ ไปจนถึงรอบสุดท้ายและต้องเผชิญหน้ากับทีมสุดแกร่งอย่างนิวซีแลนด์

               แน่นอนว่านัดชิงแชมป์ในวันนี้ได้สร้างปรากฏการณ์มืดฟ้ามัวดินทุกคนไม่ว่าจะผิวสีอะไร ชาติใด ชนชั้นใด และคนทั่วโลกต่างจับตามองการแข่งขันครั้งนี้อย่างใกล้ชิดว่า ทีมแอฟริกาใต้ที่หักปากกาเซียนทั้งหลายจนมาถึงรอบชนะเลิศได้นั้นจะเอาชนะตัวเต็งอย่างนิวซีแลนด์ได้หรือไม่

               เราได้เห็นภาพของคนจำนวนมากต่างจับจ้องมองการแข่งขันนี้กันอย่างบ้าคลั่ง

               แน่นอนว่า หนังจบลงด้วยชัยชนะของทีมสปริงบ๊อคในช่วงต่อเวลาไป

                ท่ามกลางเสียงร้องโห่ดีใจของชนชาวแอฟริกาใต้ทุกผิวสี ทุกชนชั้นที่ต่างดีใจและเฉลิมฉลองชัยชนะนี้กันอย่างบ้าคลั่ง ทุกคนออกมาร้องรำตามถนน คนผิวขาวกอดกับคนผิวสีร้องเพลงชาติใหม่ที่แต่งขึ้นอย่างภาคภูมิใจ ไม่มีวคามเกลียดชังหลงเหลืออีกแล้ว

                มีแต่ความน่ายินดีและสามัคคีกลมเกลียวของคนในชาติอย่างที่หลงลืมผิวสี หลงลืมความขัดแย้งไปในที่สุด

               เพราะที่สุดแล้วพวกเขาก็เป็นคนชาติเดียวกัน

                เป็นมนุษย์เหมือนกันนั้นเอง

                อันที่จริงแล้วฟรังซัวและลูกทีมของเขาอาจจะไม่สามารถฮึดสู้กับความแข็งแกร่งของทีมนิวซีแลนด์ได้ หากพวกเขาไม่ได้ไปเยี่ยมชมสถานกักขังหรือคุกที่เรียกว่า เกาะร๊อบเบน พวกเขาได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชายคนนี้ ชายที่พวกเขาเกลียดชังมาตลอดว่า เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนผิวสีต่างกัน และต้องใช้ชีวิตในห้องแคบนี้เป็นเวลานานเกือบสามสิบปี

                  ฟรังซัวถามภรรยาของเขาว่า เขาไม่เข้าใจชายคนนี้ เขาถูกจับขังไปเกือบ 30 ปี แต่เขาไม่แก้แค้นไม่ทำอะไรพวกเขาเลยทำไมกัน

                  บางทีคำถามของฟรังซัวนั้นแมนเดล่าได้ตอบกลับมาในวาทะที่โด่งดังที่สุดของเขาว่า

                  “No one is born hating another person because of the color of his skin, or his background, or his religion. People must learn to hate, and if they can learn to hate, they can be taught to love, for love comes more naturally to the human heart than its opposite.”

                 “ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเกลียดชังบุคคลอื่นเพียงเพราะสีผิว ภูมิหลัง หรือศาสนา แต่คนเราเรียนรู้ที่จะเกลียด และหากพวกเขาเรียนรู้ที่จะเกลียด พวกเขาก็สามารถเรียนรู้ที่จะรักได้ เพราะรักเกิดตามธรรมชาติของจิตใจมนุษย์มากกว่าความเกลียดชัง”

                   กระนั้นเองฟรังซัวก็ได้กระดาษใบหนึ่งของแมนเดล่าที่ส่งให้เขาด้านในเขียนถึงบทกวี บทกวีนั้นเป็นกวีที่มีชื่อว่า Invictus ของกวีชาวอังกฤษนาม วิลเลียม เออร์เนส เฮนเล่ย์  ที่เขาใช้มันปลอบประโลมตัวเองให้มีกำลังใจสู้ต่อไปในคุกที่แสนทรมานนี้ถึง 27 ปี

                 และบทกวีนี้เองที่ทำให้ฟรังซัวและลูกทีมของเขามีกำลังใจและฮึดสู้จนเอาชนะทีมนิวซีแลนด์ได้สำเร็จ มันคือบทกวีที่มีพลังและทำให้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาใด ๆ

                 แม้ว่าจะต้องตายก็ตามที

                 และนี่คือบทกลอนแห่งความไร้เทียมทาไร้พ่ายที่ช่วยให้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นสู้ในความมืดมิดมาได้เกือบสามสิบปี ชายที่เปลี่ยนแปลงประเทศแอฟริกาใต้ไปตลอดกาล

                  บทความนี้ขอไว้อาลัยแด่ชายผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ด้วยบทกวีนี้ครับ

 

Invictus : ไร้พ่าย , ไร้เทียมทาน

Out of the night that covers me, ท่ามกลางคืนที่มืดมิดที่ปกคลุมร่างข้า

Black as the pit from pole to pole, มืดมิดกว่าหลุมพราง

I thank whatever gods may be ข้าสรรเสริญพระเจ้าทุกครั้ง

For my unconquerable soul. ที่มอบจิตวิญญาณไม่เคยหวั่นเกรง

 

In the fell clutch of circumstance ต่อให้ตกอยู่ในภาวะแบบใด

I have not winced nor cried aloud. ข้าจะไม่คร่ำครวญหรือร่ำไห้

Under the bludgeonings of chance แม้ถูกกระหน่ำรุมตีจนเอียงเอน

My head is bloody, but unbowed. ศีรษะแช่เลือดย้อมแต่ข้าก็จะไม่ยอมก้มหัว

 

Beyond this place of wrath and tears ให้กับความโกรธ และน้ำตา

Looms but the Horror of the shade, ที่มีแต่เงาดำแห่งความกลัวเป็นแน่

And yet the menace of the years ทรมานนานปีกี่ลูกกรง

Finds and shall find me unafraid. ค้นหาตน ค้นหากัน ข้าไม่เกรง

 

It matters not how strait the gate, แม้ประตูสู่เส้นทางจะตีบตัน นั้นไม่สำคัญ

How charged with punishments the scroll. แม้ถูกเพิ่มโทษทัณฑ์ข่มเหง

I am the master of my fate: ข้าคือนายแห่งโชคชะตา

I am the captain of my soul. และข้าคือกัปตันแห่งจิตวิญญาณของข้าเอง

.....

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ
Mister American
               “จูออน คือ คำสาปของผู้ที่ตายด้วยความเคียดแค้น ณ สถานที่ที่ตาย ผู้ที่เผชิญหน้ากับมันจะต้องตาย และ คำสาปแช่งใหม่จะถือกำเนิด”
Mister American
“เสียงปืนที่ดังขึ้นภายในงานเลี้ยงของกำนันผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเชียงรายดังขึ้น ร่างของกำนันคนดังล้มลงกองกับพื้น หลังจากพึ่งรับตำแหน่งได้ไม่นาน เสียงหวีดร้องของผู้คนในงาน เสียงร่ำไห้ และ ความตื่นตะลึงเกิดขึ้น มือปืนยืนนิ่งอยู่ตรงหน้าของศพที่แน่นิ่งจมกองเลือดอย่างไร้ซึ่งอารมณ์ ข