Skip to main content

เพิ่งดู 12 Years a Slave มาเมื่อตอนเย็นนี้ครับ ดูจบแล้วก็มีคอมเม็นต์เล็กๆน้อยๆดังนี้ครับ

- เป็นหนังที่ทะเยอทะยานที่สุดของสตีฟ แม็คควีนก็ว่าได้ หนังนำเสนอความทุกข์ทรมานของระบบทาส ความอยุติธรรมของคนขาวต่อคนดำ แม้หนังจะแสดงภาพความทุกข์ทรมานของคนดำซึ่งโดยส่วนใหญ่เราจะมองเรื่องราวผ่านสายตาของโซโลมอน แต่เอาเข้าจริงๆสายตาของโซโลมอนนั้นไร้เดียงสาต่อระบบทาสเอามากๆ เพราะเขาเป็นคนดำที่ born free คืออยู่ในอเมริกาทางฝั่งเหนือ ไม่เคยมีประสบการณ์หรือได้รับรู้ต่อความทุกข์ของคนดำทางฝั่งใต้เลย เขาเกิดมาพร้อมอิสระและความเป็นไทของตัวเอง ถูกทรี้ตและรู้สึกว่าเขาเป็นพลเมืองเท่าๆกับคนขาว หรือพูดให้ถึงที่สุดแล้วสายตาของโซโลมอนนั้นไม่ใช่สายตาของคนดำ แต่คือสายตาของคนขาว (โดยเฉพาะเป็นคนขาวทางอเมริกาฝั่งเหนือ) ที่มองความไม่เป็นธรรมของระบบทาสทางตอนใต้นั่นเอง

- เราจึงพูดได้ว่าหนังนำเสนอ “ความเป็นอิสระ” ในสองแบบ ซึ่งเอาจริงๆไม่อาจนำมาเทียบเทียมกันได้สนิทนัก “ความเป็นอิสระ” ของโซโลมอนคือการอยากได้ชีวิตที่เขาเคยมี เคยเป็น เคยใช้คืนมา แม้ในแง่หนึ่งการที่เขาเคยเป็น free man แล้วต้องมากลายเป็นทาสจะ emphasize หรืออาจถึงขั้น exaggerate ความโหยหาถึงชีวิตอิสระของเขาที่เขาเคยมี ถึงทางกายจะถูกตรวนไว้ด้วยความเป็นทาส แต่อย่างน้อยทางใจเขาก็มีสิทธิ์จะคิดถึงวันชื่นคืนสุขของเขา ส่วน "ความเป็นอิสระ" ของทาสผิวดำที่เกิดมาเป็นทาส คือการหลุดพ้นจากระบบทาส คือการเป็นอิสระทั้งตัวตนและทางจิตใจ แม้แต่ตายก็ยินดี พวกเขาไม่เหมือนโซโลมอน เพราะไม่มีแม้แต่ความทรงจำแห่งการไม่ถูกจองจำด้วยคำว่าทาสให้หวนนึกถึง เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว ความทุกข์ของโซโลมอนจึงอาจเทียบไม่ได้แม้เท่ากระผีกหนึ่งของความทรมานของคนดำผู้เกิดมาเป็นทาสแต่กำเนิดอย่างที่เขาพบเจอเมื่อถูกจับมาเสียด้วยซ้ำ

- ดังนั้น การเผชิญชะตากรรมถูกจับมาเป็นทาสของโซโลมอนในลักษณ์หนึ่งคือการที่โซโลมอนจะต้องมาผ่านการ “เรียนรู้” ถึง “ความเป็นคนดำ” ทั้งในฐานะที่เขาเป็น “คนดำ” ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นคนดำนั้นผูกติดอยู่กับความเป็นทาสอยู่แล้ว คือต้องมาสัมผัส มา experience ความทุกข์เพื่อจะ identify ตัวเองกับคนชาติพันธุ์เดียวกันกับตน และในฐานะ “คนขาว” ซึ่งไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนต่อความไม่เป็นธรรมที่ตนสร้างไว้กับคนดำได้ แม้แต่การเพิกเฉยหรือไม่รับรู้ต่อระบบทาสอันร้ายกาจก็อาจถือว่าเท่ากับการช่วยให้ระบบทาสคงอยู่ต่อไปได้ คือถ้าตัวโซโลมอนจะถือว่าตนเท่าเทียมกับคนขาว (ซึ่งนั่นยิ่งทำให้การมาเป็นทาสของเขาดูชอบธรรมยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ) ถ้าจะก้าวให้พ้นความเป็นคนขาว (ที่มีค่าเท่ากับอิสระเสรีภาพในตัวเขา) ของตน เขาก็จะต้องไม่ละเลยหรือมองข้ามประวัติศาสตร์ความเป็นทาสของคนดำไปได้

- ถ้ามองตามประเด็นนี้ การต้องกลายเป็นทาสของเขาคือการ descent into hell คือการต้องผ่านกระบวนการ reinternalization ต้องเห็น ต้องเรียนรู้และเข้าใจความเลวร้ายของระบบทาสและความทุกข์ทนของทาสเพื่อที่เขาจะได้กลายเป็นคนใหม่ที่ตระหนักรู้ถึงตัวเองมากขึ้น เรียกได้ว่านี่คือ rite of passage ของเขานั่นเอง

 - หนังจะมีพลังมากกว่านี้อีกนิด ถ้าโซโลมอนยอมทำตามที่แพ็ตซี่ขอ นั่นคือให้ฆ่าตนเสียเพื่อหนีจากความเป็นทาส เพราะนั่นจะแสดงว่าเขาเรียนรู้และเข้าใจความเลวร้ายของระบบทาสอย่างเข้ากระดูกดำ แต่โซโลมอนเลือกที่จะไม่ทำ ซึ่งนั่นเท่ากับย้ำว่าเขายังมองความเป็นทาสจากสายตาของคนดำที่มีอิสระ หรือถึงที่สุดก็คือสายตาที่สวมทับด้วยกรอบความคิดของคนขาวที่ต่อต้านความเป็นทาส ซึ่งมองว่าเราต้องทน เราต้องไม่ทำลายชีวิต เพื่อรอวันหน้าฟ้าใหม่ที่โอกาสแห่งความเป็นไทจะมาถึง เอาจริงๆคนที่คิดอย่างนี้ก็คือคนที่ไม่เคยลิ้มรส ไม่เคยประสบ ไม่เคยต้องมีชีวิตอยู่อย่างคนที่เป็นทาสจริงๆ เหมือนเวลาที่เราปลอบใจคนมีปัญหาคนมีความทุกข์ด้วยถ้อยคำสวยหรูให้กำลังใจต่างๆนานา แต่สุดท้ายคำพูดเหล่านั้นก็ว่างเปล่าไม่ได้ช่วยให้อีกฝ่ายพ้นทุกข์หรือมีชีวิตดีขึ้นแต่อย่างใด (จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขาถึงทำได้แค่กอดปลอบใจแพ็ตซี่ในตอนจบ)...สำหรับโซโลมอน การเป็นทาสจึงเป็นสิ่งที่เขาทนได้ ทนเพื่อรอการช่วยเหลือสักวันหนึ่ง (ซึ่งก็ย้อนแย้ง เพราะความช่วยเหลือนั้นก็ต้องรอจากคนขาวอีกนั่นแหละ แถมความช่วยเหลือยังมาแบบ Deus ex machina หรือ God from the machine อีกต่างหาก **เป็นศัพท์ทางวรรณกรรม หมายถึงทางออกของเรื่องที่มาอย่างไม่คาดฝันจนดูง่ายดายเกินไป ดูไม่สมกับปมปัญหาที่ได้ปูความร้ายแรงหรือซับซ้อนเอาไว้มาตั้งแต่แรก มาจากละครสมัยกรีกที่มักจะมีการใช้กลไกของเวทีให้นักแสดงที่เล่นเป็นเทพเจ้าปรากฏตัวออกมาตัดสินปัญหาในเรื่องให้**) ในขณะที่คนเกิดมาเป็นทาสไม่มีคำว่ารอ และไม่อาจทนมีชีวิตต่อไปได้แม้แค่วันเดียว พวกเขาไม่มีแม้แต่ความคิด I want to live อย่างโซโลมอนด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาไม่เคยได้รู้สึกหรือสัมผัสกับประโยคนั้นแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต

- พิจารณาจากชื่อของเขา โซโลมอน นอร์ทธัพ (Solomon Northup) โซโลมอนอ้างอิงถึงกษัตริย์โซโลมอนในพระคัมภีร์อัลกุรอานและ Books of Kings ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านสติปัญญาว่าเฉลียวฉลาดมาก แต่ในทีสุดก็ได้กระทำในสิ่งต้องห้ามและถือเป็นบาปร้ายแรง นั่นคือ การเคารพรูปบูชาและหันเหศรัทธาออกจากพระผูู้เป็นเจ้าของตน เทียบกับตัวละครโซโลมอนในหนังก็คือการหันไปเข้าหาคุณค่าของคนขาว ถือตนเสมือนเป็นคนขาวคนหนึ่ง และหลงลืมรากตัวตนคนดำในตัวเองไป ส่วนนอร์ทธัพ แยกคำก็คือ North-Up การขึ้นเหนือยิ่งๆขึ้นไป เท่ากับการผลักดันตัวเองขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เพื่อหนีให้พ้นให้ห่างไกลจากความเป็นคนดำที่ยึดโยงกับทางใต้ของอเมริกา ฉะนั้นเขาจึงต้อง "ไถ่บาป" ให้แก่ตัวเองด้วยการผ่านประสบการณ์แห่งการเป็นทาส ซึ่งตรงนี้จะบิลด์ไปสู่ฉากทำลายไวโอลินในท้าย เพราะไวโอลิน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือดนตรีคลาสสิค คือวัฒนธรรมของคนขาว เมื่อเขาได้ตระหนักได้เข้าใจและยอมรับคุณค่าความเป็นคนดำในตัวเอง (ดังจะเห็นได้จากการที่เขาอินกับบทเพลงของคนดำที่ร้องส่งวิญญาณของคนที่ตายในไร่ฝ้าย จนเปล่งเสียงร้องตามออกมาอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ซาบซึ้งในที่สุด) เขาจึงพังไวโอลินทิ้ง ทำลายความเป็นคนขาวที่เขายึดถือให้หมดไป เพื่อเขาจะได้เป็นคนดำอย่างเต็มภาคภูมิ (ซึ่งเราจะรู้ในตอนจบว่า หลังจากพ้นการเป็นทาสแล้ว เขาก็กลายเป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์ผลักดันการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ) และถ้าดูไปอีกถึงว่าไวโอลินนั้นสลักชื่อลูกเมียเอาไว้ และถ้าหากนั่นหมายถึงความเป็นครอบครัวเดี่ยวที่เป็นผลพวงจากคุณค่าในแบบฉบับคนขาว สิ่งที่เขาทำลายไปพร้อมไวโอลินนอกจากจะคือความถือตนว่ามีฐานะเสมือนคนขาว ก็คือทัศนคติเกี่ยวกับครอบครัวแบบคนขาวด้วย เพราะที่ผ่านมาเขาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันเป็น community ของคนดำ ทุกคนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ที่ทุกคนคือญาติพี่น้อง ซึ่งในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะความเป็นทาสคือเงื่อนไขที่พวกเขาต้องรวมหมู่กันก็เป็นได้

- หนังนำเสนอ/ตีแผ่ความอุบาทว์ชาติชั่วของระบบทาส แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็ romanticize ระบบทาสนั้ให้กลายเป็นสิ่งที่ sentimental ปลุกเร้าความสะเทือนใจ เรียกน้ำตาให้ไหลพรากๆไปด้วย (เอาจริงๆ ถ้าฉากแพ็ตซี่โดนเฆี่ยน แล้วโซโลมอนเอาตัวเองเข้ารับแทน จะฟินมาก melodrama สุดๆ แต่เท่านี้ก็ทำเอาต่อมน้ำตาแตกไปหลายช็อตละ) แต่สุดท้ายเมื่อเราไม่เข้าใจเนื้อแท้ของความโหดร้ายนั้น เราก็จะปล่อยผ่านและลืมเลือนไปในที่สุด

- หนังยังแสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนดำที่ born free อย่างโซโลมอนก็ถูก exploit โดยคนขาวอยู่ตลอด โดนคนขายกระเป๋าขูดเงิน โดนหลอกเอาไปขายเป็นทาส แถมไม่เรียนรู้อีกต่างหาก ไปขอร้องให้เขาส่งจดหมายให้จนตัวเองเกือบซวย

- หนังไม่ได้เสนอภาพขาว/ดำในแบบคนขาวชั่วแสนชั่วและคนดำแสนดีน่าสงสารและถูกกระทำย่ำยี แต่เปิดโปงว่าคนขาวดีก็มี แม้ความดีนั้นจะไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้การที่เขาไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ของคนดำก็ตาม ส่วนคนดำเองก็ไม่ได้ดูเป็นผู้ถูกกระทำที่น่าสงสารเสมอไป แม้ว่าจะสาปแช่งนายทาสและเคียดแค้นต่อการโดนกระทำย่ำยีหยามเหยียดความเป็นมนุษย์ แต่ก็มีความทะยานอยากในการพยายามผลักดันเพื่อให้ตัวเองอยู่ดีมีสุขที่สุดเท่าที่ความเป็นทาสจะมีโอกาสอำนวยให้ได้ อย่างเช่น มิสเทร็สชอว์ หญิงคนดำที่แพ็ตซี่ไปดื่มน้ำชาด้วย ที่ใช้เสน่ห์ทางเพศของเธอให้ได้เป็นภรรยาของนายทาสและทำให้เขาหลงใหล ทำให้เธอไม่ต้องทำงานหนัก แถมยังได้เด็กสาวคนดำอีกคนมาคอยเป็นข้าช่วงใช้ให้เธออีกด้วย!

- ชอบการร้องเพลงของคนดำมากๆ ดูจากหนังแล้วเป็นไปได้ว่า การร้องเพลงนั้นเป็นการกระทำที่คนดำใช้ท้าทายต่ออำนาจคนขาวซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการใช้อำนาจผ่านคำสั่งหรือบทสวดทางศาสนาที่มีลักษณะบังคับขู่เข็ญและเป็นทางการมากๆ เพลงจึงเป็นขั้วตรงข้าม เป็นท่วงทำนอง เป็นจังหวะจะโคน เป็นธรรมชาติ และยังใช้เพื่อสร้าง harmony สร้างความเป็นกลุ่มก้อนและสามัคคีระหว่างกันด้วย ไม่แข็งทื่อ ไม่เยาะเย้ย หรือโดนตีกรอบด้วยขนบธรรมเนียมเหมือนการใช้คำของคนขาว และเป็นสิ่งเดียวที่คนดำทำแล้ว คนขาวไม่อาจห้ามปรามได้ ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อเพลงที่ร้องออกมาก็เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดของตนเอง เป็นการใช้ลักษณะของมุขปาฐะในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเพลงส่งทอดไปปากต่อปาก เพื่อต้านทานขัดขืนต่ออำนาจการเขียนประวัติศาสตร์ของพวกเขาโดยถ้อยคำของคนขาวซึ่งบิดเบือนความทุกข์ทรมานที่พวกเขาได้รับให้กลายเป็นสิ่งที่เหมาะควรในสายตาคนขาว เพราะจากมุมคนขาวมองว่าคนดำไม่ใช่มนุษย์ แต่คือสัตว์ร้ายที่ป่าเถื่อนร้ายกาจ จะแว้งกัดเมื่อไรไม่มีใครรู้ การกำราบควบคุมเอาไว้ใต้อาณัติคนขาวจึงถือเป็นความชอบธรรม จึงไม่ต้องพูดถึงความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ให้ป่วยการ แต่บทเพลงที่เปล่งร้องออกมาจากปากคนดำคือถ้อยความที่บ่งบอกว่าพวกเขาคือมนุษย์ มีความรู้สึกรู้สม หิวได้ เจ็บปวดเป็น เช่นเดียวกับมนุษย์ผิวสีอื่นนั่นเอง  

- ชอบการใช้กล้องในเรื่องมาก ไม่มีอะไรหวือหวา แต่ความเรียบเรื่อยของมันนี่แหละทรงพลังสุดๆ โดยเฉพาะการแช่กล้องในช็อตที่ทาสโดนทรมานนี่ ทำเอาเราต้องหรี่ตาดู เชื่อว่าหลายคนถึงกับเบือนหน้าหนี เพราะมัน intense มากๆแบบไม่อาจทนดูได้เลยทีเดียว การถ่ายใกล้ (close up) ก็ทำให้เรารับรู้ความรู้สึกของตัวละครได้ดีมากๆ บวกกับนักแสดงเล่นถึงด้วยแล้ว เราคนดูนี่ตายไปเลย

- ชอบตัวละครเอ็ดวิน เอ็พส์ที่พี่ฟาสเบนเดอร์เล่นมาก คือตัวละครของแกโหดร้ายป่าเถื่อนก็จริง แต่มันมาพร้อมความเป็น loser ร้ายแบบ loser ซึ่งถ้าดูกันจริงๆแล้ว ถ้าไม่มองว่าการทรมานทาสของแกคือชัยชนะ แกก็ไม่เคยชนะทาสของแกได้เลยนะ ไม่ว่าจะวัดกันด้วยพละกำลังหรือเชาวน์ปัญญาก็ตาม

- ชอบประเด็นความเป็นมนุษย์กับความเป็นสิ่งของหรือทรัพย์สินของนายทาสมากๆ ยิ่งฉากซื้อขายทาสนั้นยิ่งกระแทกใจสุดๆ ยังกะซื้อวัวซื้อควาย แม้แต่ฟอร์ดที่ดูจะเป็นนายทาสที่มีคุณธรรมก็ยังต่อรองได้แบบถึงกึ๋น คือเราอาจจะมองว่าที่เขาเจรจาขอลูกสาวเอไลซ่าไปด้วยจะแสดงว่าเขามีความเห็นใจในสายสัมพันธ์แม่-ลูก แต่อีกทางเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเขาต่อรองเพื่อผลประโยชน์เขาเองด้วย นั่นคือได้แรงงานไปอีกหนึ่งคนฟรีๆไม่ต้องเสียสตางค์เพิ่ม

บล็อกของ นายล็อบสเตอร์

นายล็อบสเตอร์
***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***
นายล็อบสเตอร์
 ฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015/นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์/ไทย)
นายล็อบสเตอร์
 
นายล็อบสเตอร์
 Nymphomaniac/2013/Lars von Trier/Denmark
นายล็อบสเตอร์
 The Great Beauty (La grande bellezza)/2013/Paolo Sorrentino/Italy
นายล็อบสเตอร์
 
นายล็อบสเตอร์
 La Veuve de Saint-Pierre (The Widow of Saint-Pierre)/2000/Patrice Loconte/French 
นายล็อบสเตอร์
เพิ่งดู 12 Years a Slave มาเมื่อตอนเย็นนี้ครับ ดูจบแล้วก็มีคอมเม็นต์เล็กๆน้อยๆดังนี้ครับ
นายล็อบสเตอร์
 Gravity/2013/Alfonso Cuarón/USA***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***