Skip to main content

 

Dilwale Dulhania Le Jayenge/1995/Aditya Chopra/India

Dilwale Dulhania Le Jayenge เรียกย่อๆว่า DDLJ หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Brave-Hearted Will Take the Bride หรือชื่อตอนลงแผ่นลิขสิทธิ์ไทยว่า “สวรรค์เบี่ยง เปลี่ยนทางรัก” เป็นหนังที่ทุบสถิติฉายต่อเนื่องกันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์หนังภารตะ หนังออกฉายในเดือนตุลาคมปี  1995 ถ้าถึงตุลาคมปี 2013 นี้ก็จะทำสถิติฉายติดต่อกันนาน 18 ปี! เพราะปัจจุบันนี้ก็ยังมีโรงที่ฉายหนังเรื่องนี้อยู่ ทางโรงหนังเคยจะยุติการฉายหนังเรื่องนี้ แต่ก็โดนชาวเมืองต่อต้านทัดทาน บางคนบอกว่ามาดูหนังเรื่องนี้มากกว่า 50 รอบแล้ว เหตุผลของพวกเขาคือมันไม่ใช่แค่การมานั่งดูหนังเท่านั้น แต่เขามาซึมซับบรรยากาศของการดูหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะผู้ชมในโรงต่างก็มีส่วนร่วมกับการรับชม ทั้งปรบมือยินดี ส่งเสียงเชียร์ตัวละคร พูดบทสนทนาที่ประทับใจ หรือพากันร้องเพลงคลอตามไปด้วย แรงตอบรับที่ท่วมท้นเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงในดินแดนผู้ให้กำเนิดหนังเท่านั้น แต่ในระดับสากลภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับยกย่องว่ามันเป็น “a must-watch” และติดอันดับต้นๆแทบทุกโพลล์การจัดอันดับหนังบอลลีวูดที่ยอดเยี่ยมที่สุด รวมทั้งเป็นหนึ่งในสองของหนังอินเดียที่อยู่ในลิสต์ 1001 Movies You Must See Before You Die อีกด้วย (อีกเรื่องคือ Mother India) และเมื่อปี 2002 British Film Institute ได้ออกหนังสือเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ในซีรี่ยส์ “BFI Modern Classics” ที่ใช้เป็น textbook สำหรับการวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติในฐานะศิลปะและรูปแบบความบันเทิงที่สะท้อนถึงบริบทและวัฒนธรรมร่วมสมัย

DDLJ เป็นผลงานการกำกับชิ้นแรกของอะดิตยา โชปราซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้กำกับระดับเจ้าพ่อในวงการหนังแขก เป็นหนังรักปนตลกที่ดูแล้วรื่นเริงบันเทิงใจอย่างยิ่ง ว่าด้วยเรื่องของสองหนุ่มสาวที่เกิดในอังกฤษ ครอบครัวทั้งคู่เป็น NRI (Non-Resident Indian) ฝ่ายชายคือราช (ชาห์รุข ข่าน) ฝ่ายหญิงคือซิมรัน (คาโจล) ราชเป็นเด็กสปอยล์ อาศัยอยู่กับพ่อผู้เป็นม่าย (อนุพาม เคอร์) มีฐานะในระดับเศรษฐี ใช้ชีวิตแบบอิสระ ส่วนซิมรันอยู่กับพ่อที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมฮินดูอย่างเคร่งครัด (อัมริช ปูรี) และรอคอยเวลาที่จะกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนเสียที ซึ่งเวลานั้นก็มาถึงเมื่อลูกสาวคนโตเรียนจบแล้ว และเขาก็วางแผนไว้ว่าจะให้เธอกลับไปแต่งงานกับลูกชายของเพื่อนสนิทตามที่ได้สัญญิงสัญญากันไว้ เมื่อซิมรันได้ทราบถึงทางชีวิตของตนก็มิได้ขัดข้อง แม้ตนจะไม่เต็มใจก็ตาม หากเธอก็ต้องจำใจทำตามความประสงค์ด้วยถือว่าเป็นหน้าที่ของลูกสาวที่ดี ทว่า ก่อนจะต้องกลับอินเดีย ซิมรันได้ขอร้องพ่อให้อนุญาตให้ตนได้ไปเที่ยวยุโรปกับเพื่อนๆก่อน เป็นการใช้ชีวิตวัยสาวของเธอเป็นครั้งสุดท้าย เธอสัญญาว่าเธอจะไม่ขออะไรอีกเลยในชีวิตนี้ และจะยอมทำตามความปรารถนาของพ่อทุกอย่าง แต่แล้วโชคชะตากลับทำให้เธอได้มาเจอกับราชที่ไปเที่ยวทริปเดียวกัน เริ่มต้นจากคู่กัดจนทั้งคู่ตกรถไฟต้องรอนแรมเดินทางสองต่อสองไปดักขึ้นรถไฟอีกเมืองหนึ่งด้วยกัน ซึ่งทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แต่ซิมรันทำตามหัวใจตัวเองไม่ได้ด้วยให้สัญญากับพ่อไว้แล้ว จึงต้องยอมกลับปัญจาบไปแต่งงานกับชายที่เธอไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อนตลอดชีวิต เมื่อราชทราบข่าว เขาก็ตัดสินใจจะตามเธอไปเพื่อไปเอาชนะใจพ่อและครอบครัวของซิมรัน เพื่อจะได้เธอมาเป็นเจ้าสาวของเขาอย่างเต็มภาคภูมิ แต่เขาจะทำอย่างไรเมื่อซิมรันจะต้องเข้าพิธีแต่งงานภายใน 15 วัน!

เสน่ห์ที่เด่นชัดของหนังที่ทำให้ทุกคนต้องหลงรักนอกจากเนื้อเรื่องที่สนุกสนานครบรสทั้งรัก ตลก ดราม่า แล้วก็คือเคมีระหว่างชาร์รุขข่านกับคาโจล ทั้งสองคนทำให้ตัวละครราชกับซิมรันทรงพลัง เราเชื่อในความรักของคนทั้งคู่จริงๆ และทำให้เราตามเอาใจช่วยทั้งสองคนไปตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครประกอบคนอื่นๆต่างก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะพ่อของซิมรันซึ่งเป็นชนวนของเรื่องและเป็นกุญแจที่จะคลี่คลายเรื่องทั้งหมด บทเพลงและการเต้นก็เพลิดเพลินบันเทิงใจและสื่อสารอารมณ์ของหนังและตัวละครได้อย่างดี นอกจากนี้ หลายฉากในหนังก็ถือเป็นฉากที่น่าจารไว้ในความทรงจำ เป็น memorable scene ไม่ว่าจะเป็น ฉากทุ่งมัสตาร์ดที่ออกดอกเหลืองอร่าม ฉากสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามในประเทศแถบยุโรป ฉากการเตรียมงานแต่งงานแบบอินเดียอันซับซ้อนเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ที่สำคัญที่สุดคือฉากจบ ซิมรันวิ่งตามขบวนรถไฟไปบนชานชาลาพร้อมยื่นมือไปให้ราชจับเพื่อดึงเธอขึ้นรถไฟ ฉากนี้เป็นต้นแบบให้หนังอีกหลายๆเรื่องทำตาม แม้กระทั่ง Slumdog Millionaire (2008) ของผู้กำกับแดนนี่ บอยล์ก็ยังคารวะฉากนี้ด้วยการสร้างฉากตัวละครเด็กหญิงวิ่งตามรถไฟและยื่นมือออกไปหวังให้เด็กชายคว้าไว้และช่วยดึงเธอขึ้นไปบนรถไฟกับเขาด้วย (แต่ต่างกันที่เด็กชายชักมือกลับเสียก่อน เด็กหญิงเลยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง)

หากพิจารณาจากช่วงปีที่หนังออกฉายนั่นคือช่วงทศวรรษเก้าสิบ (1990s) ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียกำลังเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้รวดเร็วที่สุด บวกกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามา จึงเกิดสภาวะความหวาดกังวลว่าหนุ่มสาวอินเดียเจเนเรชั่นใหม่จะหลงลืมความเป็นอินเดียไป ดังนั้น หนังจึงสร้างตัวละครพระเอกนางเอกให้เป็นคนอินเดียที่เกิดนอกดินแดนที่เป็น “ราก” ของตนเอง และตลอดทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดมาไม่เคยไปเหยียบอินเดียเลยแม้สักครั้ง ทว่า หนังก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่ได้อยู่บนแผ่นดินแม่ แต่ความเป็นอินเดียก็ไม่ได้หดหายหรือลดน้อยถอยลง ยิ่งกว่านั้น หนังยังแสดงให้เห็นว่าความเป็นอินเดียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมตัวตนอย่างมั่นคงไม่อาจเปลี่ยนแปรได้ง่ายๆ ตัวราช แม้ตอนแรกจะดูเหมือนเด็กสปอยล์แต่ในที่สุดเขาก็พิสูจน์คุณค่าของชายอินเดียที่ดีที่จะต้องไม่ล่วงเกินหญิงที่รัก หากยังไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงให้แต่งงานกันตามประเพณีเสียก่อน ส่วนซิมรันก็ยึดถือความเป็นลูกสาวและหญิงอินเดียที่ดี ไม่เลือกชายที่จะแต่งงานด้วยตามใจตามใจตนเอง หากให้พ่อเป็นผู้จัดการให้ แม้จะเห็นหนทางได้อยู่ด้วยกันตรงหน้าแต่ก็ไม่เลือก ด้วยเหตุนี้ การเดินทางไปทั่วยุโรปและต้องจับพลัดจับผลูอยู่ด้วยกันสองต่อสองระหว่างราชกับซิมรันจึงเป็นเสมือนบททดสอบความเป็นอินเดียในตัวทั้งคู่ คือแม้จะอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่เคยมีอะไรเกินเลย ยังอยู่ในจารีตประเพณีอันดีงาม และที่น่าสนใจคือแม้จะอยู่ในอังกฤษหรือท่องเที่ยวทั่วยุโรป เราแทบจะไม่เคยเห็นคนอังกฤษหรือคนยุโรปเลย มีแต่เพียงคนอินเดีย อินเดีย และอินเดียเท่านั้น ราวกับหนังได้ทำให้ดินแดนคนขาวกลายเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกของคนอินเดีย เป็นเครื่องยืนยันว่าแม้จะไปอยู่ในดินแดนใดๆ โดยเฉพาะตะวันตกที่มีอิทธิพลทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของทั่วทั้งโลก แต่คนอินเดียก็ยังธำรงรักษาตัวตนของตัวเองเอาไว้ได้

ตัวละครพ่อของซิมรัน แม้จะย้ายมาอยู่อาศัยและสร้างเนื้อสร้างตัวในอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ถูกวัฒนธรรมตะวันตกกลืนกินไป เพราะแม้ทางกายเขาจะอยู่ในอังกฤษ แต่พื้นที่ในจิตใจของเขาคืออินเดีย ดังจะเห็นได้ว่าเขาสร้างพื้นที่“บ้านเกิดในจินตนาการ” ขึ้นมาให้ตัวเอง เช่น การไปโปรยอาหารให้นกพิราบที่จัตุรัสทราฟัลก้า ก็คือการเปลี่ยนพื้นที่อันแท้ที่จริงเป็นของอังกฤษให้กลายเป็นพื้นที่ของอินเดีย หรือเจาะจงไปเลยก็คือพื้นที่ของปัญจาบ “บ้านเกิด” ของเขา ดังจะเห็นได้จากในซีนเปิดเรื่องที่เขายืนให้อาหารนกที่จัตุรัสทราฟัลก้า แต่ภาพในหัวของเขากลับเชื่อมโยงไปหาทุ่งมัสตาร์ดในปัญจาบที่เขาก็เคยยืนให้อาหารนกเป็นกิจวัติเช่นเดียวกับตอนนี้ ณ จุดนี้เขาไม่ได้เห็นหรือยืนอยู่บนจัตุรัสทราฟัลก้า แต่เขาเห็นและยืนอยู่ในทุ่งมัสตาร์ดที่ปัญจาบ หรือแม้แต่ในพื้นที่บ้านในอังกฤษของเขาก็ยังถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ของอินเดียด้วยการตั้งรูปเคารพเทพฮินดูไว้ ซึ่งการจัดวางองค์ประกอบและการถ่ายภาพของหนังทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของอินเดีย มิใช่ของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดของความเป็นอินเดียที่หนังแสดงออกมาก็คือ ภาพความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง อินเดียคือสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงอยู่ใต้อาณัติผู้ชาย เป็นเหมือนสิ่งของที่ส่งต่อให้กัน ดังจะเห็นได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ซิมรันก็คือสิ่งของที่พ่อของเธอกับราชพยายามครอบครอง และราชต้องเอาชนะใจพ่อเพื่อให้พ่อยอมยกลูกสาวให้ หากแม้ราชทำไม่สำเร็จ พ่อของซิมรันก็จะส่งซิมรันต่อไปให้อยู่ในการครอบครองของกุลจิต (ปารมีต เสธิ) ว่าที่เจ้าบ่าวอยู่ดี

ระหว่างตัวละครราชและกุลจิต เราจะเห็นภาพแทนของสองขั้ว นั่นคือ ปิตาธิปไตยแบบดั้งเดิมและปิตาธิปไตยแบบที่ประนีประนอมกับคุณค่าตะวันตกมาแล้ว กุลจิตคือตัวแทนของแบบแรก คือ อำนาจตามอำเภอใจและความรุนแรง กุลจิตชอบล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลา และบ้าผู้หญิง (ในตอนหนึ่งเขาพูดเป็นนัยๆว่าเมื่อแต่งกับซิมรันแล้วเขาก็ยังจะมีผู้หญิงอื่นอีก) ส่วนราชนั้นแม้จะรักเดียวใจเดียว แต่ก็แสดงนัยยะของการเก็บซิมรันเอาไว้เป็นของส่วนตัว กล่าวคือ คนหนึ่งเก็บซิมรันไว้เหมือนเป็นของชิ้นหนึ่งในคอลเล็คชั่น อีกคนหนึ่งเก็บเอาไว้เสมือนของล้ำค่าหนึ่งเดียวที่ตนครอบครอง แต่จะอย่างไรก็คือผู้หญิงเป็น object เหมือนกัน หากมองในจุดนี้ จะเห็นได้ว่าตัวละครที่น่าสนใจคือ ลัจโจ แม่ของซิมรัน (ฟารีดา จาลาล) ซึ่งเป็นหญิงอินเดียเต็มตัวด้วยเกิดและเติบโตในอินเดีย เป็นตัวละครที่น่าสนใจมาก เพราะเธอน่าจะเป็นภาพแทนหญิงอินเดียที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่สุด แต่กลับเป็นคนที่พยายามจะทำลายทั้งกรอบวัฒนธรรมอินเดียและกรอบความเป็นหญิงที่ดีในวัฒนธรรมอินเดียด้วยการสนับสนุนให้ซิมรันกับราชหนีไปด้วยกัน ซิมรันที่ผ่านโลกตะวันตกมาแล้วเสียอีกที่แสดงถึงความเป็นหญิง submissive ยอมจำนนต่อการถูกจับแต่งงาน ไม่ยอมหนีตาม ซึ่งก็กลับมาย้ำประเด็นให้เห็นว่าจะอย่างไรคุณค่าของวิถีและวัฒนธรรมอันดีของอินเดียไม่อาจเปลี่ยนแปลงตามกระแสตะวันตกได้

ดังนั้น ภาพสมบูรณ์ของตอนจบก็คือราชกับซิมรันก็ได้พิสูจน์ความเป็นอินเดียในตัว นั่นคือราชไม่พาหนี พยายามเอาชนะใจพ่อของซิมรันจนได้ และได้ครองคู่กันในที่สุด แต่ถ้ามองในอีกทาง หากพ่อซิมรันไม่ยอมอนุญาต เธอก็ไม่อาจไปกับราชได้ ต้องก้มหน้าก้มตายอมแต่งงานกับกุลจิตไป ดังนั้น แม้ภาพการจับมือกันดึงขึ้นรถไฟในตอนจบจึงอาจดูโรแมนติก แต่ในอีกด้านอาจเป็นการบ่งบอกว่าความเป็นอินเดีย โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ชายหญิงก็ยังคงอยู่ ไม่โดนกลืนหรือกลายสภาพไป และจะยังคงเป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม

บล็อกของ นายล็อบสเตอร์

นายล็อบสเตอร์
***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***
นายล็อบสเตอร์
 ฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015/นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์/ไทย)
นายล็อบสเตอร์
 
นายล็อบสเตอร์
 Nymphomaniac/2013/Lars von Trier/Denmark
นายล็อบสเตอร์
 The Great Beauty (La grande bellezza)/2013/Paolo Sorrentino/Italy
นายล็อบสเตอร์
 
นายล็อบสเตอร์
 La Veuve de Saint-Pierre (The Widow of Saint-Pierre)/2000/Patrice Loconte/French 
นายล็อบสเตอร์
เพิ่งดู 12 Years a Slave มาเมื่อตอนเย็นนี้ครับ ดูจบแล้วก็มีคอมเม็นต์เล็กๆน้อยๆดังนี้ครับ
นายล็อบสเตอร์
 Gravity/2013/Alfonso Cuarón/USA***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***