Nymphomaniac: เรื่องเล่าของหญิงร่าน

 

Nymphomaniac/2013/Lars von Trier/Denmark

ความแรงของหนังลาร์ส ฟอน เทรียร์ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าเรื่องไหนเรื่องนั้นเขาพร้อมจะประเคนความระยำบัดซบของชะตากรรมให้กับชีวิตของตัวละครในหนังเขาอย่างไม่บันยะบันยังหรือประนีประนอมใดๆทั้งสิ้น ราวกับว่าเขาสนุกสนานกับการทำลายความหวังทุกๆอย่างของตัวละครและของคนดูเสียเหลือเกิน แต่ก็น่าประหลาด แม้ว่าจะทรมานทรกรรมหัวจิตหัวใจของคนดูแค่ไหน แต่หนังของเขาก็มักมีวิธีการเล่าเรื่องที่ดึงดูดเราให้ติดตรึงติดตามเรื่องราวไปจนตลอดรอดฝั่งอยู่เสมอ ทั้งๆที่ก็รู้ว่ายิ่งหนังดำเนินเรื่องต่อไปชีวิตตัวละครก็ยิ่งดิ่งเหวลึกลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อยที่ควรจะมีความสุขในชีวิตแต่งงานแต่ทุกอย่างต้องสิ้นสุดเมื่อสามีได้รับอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตใน Breaking the Waves (1996) สาวโรงงานตาใกล้บอดที่โดนขโมยเงินที่เก็บหอมรอมริบไว้เพื่อรักษาตาลูกชาย มิหนำซ้ำยังกลายเป็นฆาตกรโดนโทษประหารใน Dancer in the Dark (2000) หรือหญิงสาวที่หนีการตามล่ามาหลบซ่อนตัวในเมืองเล็กๆแต่ต้องจ่ายค่าความช่วยเหลือให้แก่ชาวเมืองด้วยราคาแพงเหลือประมาณได้ใน Dogville (2004)

ใน Nymphomaniac หนังเรื่องล่าสุดของเขา เราได้ตามติดแต่ละช่วงเวลาของชีวิตของ “หญิงร่าน” ผู้หนึ่งนามว่าโจ (รับบทโดยชาร์ล็อตต์ แก็งสบูร์ก และในวัยสาวรับบทโดยสเตซี่ย์ มาร์ติน) โดยผ่านการบอกเล่าจากปากของเธอให้อีกบุคคลหนึ่งฟัง นั่นคือ เซลิกมัน (รับบทโดยสเตลลาน สคาร์สการ์ด) ชายสูงวัยผู้ไปพบเธอนอนสลบไสลจากการถูกซ้อมจนอ่วมไปทั้งตัวอยู่ในตรอกข้างทางระหว่างที่เขาเดินออกไปซื้อของเล็กๆน้อยๆที่ร้านค้าแถวบ้าน และนำเธอมาพักที่บ้านของเขา เรื่องราวที่เธอเล่านั้นเริ่มต้นตั้งแต่โมงยามแห่งวัยเด็กของเธอครอบคลุมมาจวบจนถึงปัจจุบันซึ่งก็จะย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของหนังนั่นเอง

จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังคือวิธีการแสดงภาพของ “หญิงร่าน” ผ่านตัวละครโจ โดยหนังเลือกที่จะเล่าเรื่องด้วยบุคคลที่ 1 ในทางหนึ่งการใช้เสียงเล่าลักษณะนี้อาจจะเป็นเพราะต้องการตัดทอนและหลีกเลี่ยงน้ำเสียงหรือท่าทีที่ตัดสินคุณค่าของการกระทำของโจ มิให้ดูเหมือนว่าตัวฟอน เทรียร์ ที่เป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทได้ปักธงตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่าตัวละครโจจะถูกนำเสนอออกมาอย่างไร และปล่อยให้คนดูเป็นผู้ตัดสินเอาเองว่าจะมองเธอแบบไหน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์และชุดความคิดที่คนดูแต่ละคนยึดถือ) และเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ซึ่งหลายคนอาจจะตั้งความหวังไว้ว่ามันจะต้องสยิววาบหวามไม่มากก็น้อย แต่จริงๆแล้วหนังกลับนำเสนอภาพของเพศสัมพันธ์ที่ประดักประเดิด น่าพิพักพิพ่วน ไปจนถึงดูแล้วเจ็บปวดชวนให้ยอกแสยงใจและอาจถึงขั้นต้องเบือนหน้าหนี ไม่ได้ดูน่าพิสมัยหรืออภิรมย์เลยจนนิดเดียว แต่ไฉนเลยที่โจจะเลือกไม่กระทำได้ในเมื่อร่างกายของเธอเรียกร้อง ต่างจากการนำเสนอภาพหญิงร่านในหนังสือ ละคร หรือภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่มักจะบ่งบอกน้ำเสียงและท่าทีที่ตัดสินตัวละครนั้นๆไปแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาลงไปแล้วก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสายตาและกรอบเกณฑ์บางอย่างของสังคมนั้นๆใช้มองและตัดสินหญิงผู้นั้นไปแล้วนั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆก็ดูภาพลักษณ์ของหญิงร่านในสังคมไทยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นลำยองจากทองเนื้อเก้า อีพริ้งจากคนเริงเมือง หรือทองประกายจากทองประกายแสด ภาพแทนที่แสดงออกมามักมีลักษณะที่พิพากษาไปแล้วว่าความ “ดอกทอง” หรือความมากชู้หลายผัวของเธอเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเพศสัมพันธ์สำหรับเธอเหล่านั้นก็มักจะเป็นไปด้วยความพึงพอใจและความกระสันต์อยากของพวกเธอเอง หรือไม่เพศสัมพันธ์นั้นก็เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความร่ำรวยหรือความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ซึ่งมิใช่แค่เพียงว่าพวกเธอมิได้เป็นผู้หญิงดีงามตามขนบธรรมเนียมสังคม แต่ยิ่งไปกว่านั้น ในมิติทางศีลธรรม พวกเธอสมควรที่จะได้รับการลงโทษอย่างมิอาจให้อภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความตายหรือการขับไล่ไสเสือกออกไปจากสังคม ถึงกระนั้น การใช้วิธีบอกเล่าผ่านมุมมองบุรุษที่ 1 นั้นก็อาจจะน่าคลางแคลงใจในกรณีที่มันเปิดโอกาสให้ผู้เล่าปกปิดและ/หรือบิดเบือน ไปจนถึงสร้างเรื่องราวของตัวเองขึ้นมาใหม่ก็ได้ ซึ่งก็อาจต่อยอดให้ถกเถียงกันต่อได้ไม่รู้จบ

สิ่งที่เราเห็นในหนังคือการปล่อยให้ภาพชีวิตของโจไหลไปเรื่อยๆพร้อมกับกระแสคำบอกเล่าที่โจพูดถึงตนเองโดยแบ่งเป็นบทย่อยๆออกมาทั้งหมด 8 บท ที่เมื่อแรกแต่ละส่วนอาจจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของชีวิตเธอ แต่การนำเสนอเศษเสี้ยวเหล่านี้อาจจะเป็นวิธีให้เธอเข้าใจตัวตนของเธอเองได้ โจเล่าแต่ละบทแต่ละตอนของความเป็น “หญิงร่าน” ของเธอให้เซลิกมันฟังราวกับกำลังสารภาพบาปกับบาทหลวงคนหนึ่ง ซึ่งเซลิกมันก็ค่อนข้างจะเล่นบทบาทนี้ได้ดีเนื่องด้วยเป็นผู้รอบรู้ในหลายแขนง โดยเฉพาะคริสตศาสนา และตัวเขาเองก็ถือครองพรหมจรรย์ ไม่เคยข้องแวะกับเรื่องทางเพศ (นอกจากในหนังสือวรรณกรรม) และยังให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น “asexual” อีกด้วย ซึ่งการกำหนดให้ประเด็นเรื่องเพศกับศาสนาแล่นควบคู่กันไปนั้นทำให้เราเห็นทั้งความยอกย้อนของความเห็นที่ว่าการยึดถือศีลธรรมเป็นสิ่งดีงาม แต่นั่นก็เท่ากับว่าจะต้องเหยียดและเหยียบให้คนที่อยู่อีกด้านต้องเป็นคนใจบาปหยาบช้าและเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งก็กลายมาเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ยักษ์ต่อประเด็นว่าเราจะกีดกันคนที่มิได้ปฏิบัติตัวตามครรลองของสังคมให้ออกไปพ้นๆ ไม่ให้พวกเขาเหยียบยืนร่วมกับคนที่คิดว่าตนดีแล้วถูกแล้วงั้นหรือ คนเหล่านั้นคือคนที่มีจิตใจพิกลพิการ เหมือนดังเช่นโจที่ถูกมองและตัดสินจากคนอื่นๆว่าเป็นคนเลวร้ายเพียงเพราะเธอมีอาการเสพติดเซ็กซ์เท่านั้น (ซึ่งจริงๆแล้วเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ถูกกดเอาไว้ด้วยการต้องปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ทางสังคมและศีลธรรมเท่านั้น)

ไม่เพียงแต่ศาสนาที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ แต่สถาบันที่ได้รับการสถาปนาว่าเป็นเครื่องกำหนดบทบาทของมนุษย์ในสังคมก็มีส่วนในการควบคุมกำกับร่างกาย การกระทำ และจิตใจของมนุษย์เช่นเดียวกัน อย่างเช่น สถาบันครอบครัว ที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดวาทกรรมที่ว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำหน้าที่แม่ได้ ซึ่งโจก็ไม่ประสบความสำเร็จที่จะทำตามความคาดหวังทางสังคมเช่นนี้ได้อีก นับตั้งแต่เธอให้กำเนิดลูก เธอก็เห็นภาพว่าลูกเป็นสิ่งกีดขวางความต้องการของเธอ มิหนำซ้ำยังหัวเราะเยาะและจ้องมองเธออย่างเยาะหยันอีกด้วย เมื่อถึงที่สุดหลังจากได้พยายามประคับประคองบทบาทการเป็นแม่อย่างทุลักทุเลมาได้สักระยะ แต่พอถึงจุดแตกหักเธอก็เลือกที่จะปล่อยตัวเองให้โลดแล่นไปตามแรงปรารถนาทางเพศของเธอ และหันหลังให้กับคำว่าครอบครัวอย่างสิ้นเชิง หรือในตอนหนึ่งเมื่ออาการเสพติดเซ็กซ์ของเธอถูกมองว่าเป็นอาการทางจิต เป็นสิ่งที่คนอื่นๆในสังคมไม่ยอมรับ จนถึงขั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้ โจกลายเป็นคนป่วยที่ต้องได้รับการเยียวยา ดังนั้นเธอจึงถูกบังคับให้ไปเข้าร่วมกลุ่มบำบัดเพื่อรักษาอาการที่สังคมมองว่าเป็นความป่วยไข้ให้หายขาดและกลับมาอยู่ในร่องในรอยที่สังคมขีดไว้ มิเช่นนั้นเธอจะถูกไล่ออกจากงาน แต่เธอก็เอาคืนได้เจ็บแสบ เมื่อเธอพลิกสิ่งที่ใครๆเห็นว่าเป็นโรคร้ายต้องกำจัดให้กลายมาเป็นอำนาจที่เธอใช้ควบคุมผู้อื่นบ้าง แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม หรือแม้แต่มายาคติเกี่ยวกับความรักที่ใครต่อใครเชื่อว่าจะเอาชนะทุกสิ่งได้ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าในหนังเรื่องนี้

ในสายตาคนทั่วไป สิ่งที่โจเป็นคือ ผู้หญิงร่าน คือตัวแทนของความไร้ยางอาย ไร้ศีลธรรม ไร้ความรู้สึกและสำนึกผิดชอบชั่วดี ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว หนังกำลังนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อเช่นนี้ ใช่หรือไม่ที่โจมีความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และมีอารมณ์อ่อนไหวรู้สึกรู้สมกับความเป็นไปของเพื่อนมนุษย์มากกว่าคนอื่นๆ เพียงแต่เธอสื่อสารและแสดงออกตามแบบที่สังคมคาดหวังไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะยึดโยงเธอกับความรู้สึกเช่นนั้นได้คือเซ็กซ์คือเพศสัมพันธ์ ดังเช่น ขณะที่อาการป่วยของพ่อเธอทรุดหนักจนอาจจะจากเธอไปได้ในนาทีใดนาทีหนึ่ง เธอก็ไม่อาจแสดงออกต่อหน้าใครๆว่าเธอทุกข์โศกมากมายขนาดไหน สิ่งที่เธอทำเพื่อปลดปล่อยความทุกข์ความเศร้าในใจเธอออกมาคือการไปมีเพศสัมพันธ์กับพนักงานในโรงพยาบาลนั้น และนำมาซึ่งฉากการระเบิดเสียงร่ำไห้ออกมาในระหว่างกิจกรรมทางเพศ ที่ดูแล้วทั้งขนลุกทั้งกระอักกระอ่วนด้วยปะปนกันระหว่างความน่าสงสารและความน่าสมเพชในตัวเธอ ความเศร้าที่อัดอั้นในใจเธออาจระบายออกมาได้ด้วยวิธีนี้เท่านั้น แต่ก็อย่างว่า มันยังความอึดอัดมาให้คนดูด้วยเหตุว่าสิ่งที่เป็นไปนั้นมันยากที่จะระบุได้ว่าเป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่สมควร หรืออย่างในตอนหลังที่เธอแสดงความรู้สึกผูกพันกับเด็กสาวผู้เป็นคนที่สังคมทอดทิ้งและกีดกันเช่นเธอ ซึ่งความเห็นอกเห็นใจในกันและกันของคนทั้งคู่ก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านท่วงท่าและลีลาของเพศสัมพันธ์เช่นกัน ทั้งโจและเธอคนนั้นต่างไม่ต้องพูดหรือระบายความในใจอะไรต่อกันเลย (ซึ่งก็อาจเป็นเพราะทำไม่ได้) เพียงแค่สัมผัส โอบกอด ลูบไล้ซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างก็เข้าใจกันทันที (ถึงแม้ในที่สุดแล้วเธอจะถูกหักหลังเอาอย่างเจ็บแสบก็ตาม)

ที่น่ากังขาอีกประการก็คือภาพของผู้ชายและผู้หญิงที่ถูกแสดงออกมา ว่ากันตามจริงแล้วผู้ชายแต่ละคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของโจต่างก็หิวกระหายเซ็กซ์กันทั้งนั้น แต่ควรแล้วหรือที่สังคมจะตราหน้ารุมประณามผู้หญิงแต่ฝ่ายเดียวว่าเหล่าเธอไม่ควรประพฤติตนเช่นนี้ นี่ก็อาจจะเป็นอีกประเด็นที่ฟอน เทรียร์ทิ้งเป็นคำถามปลายเปิดเอาไว้ให้คนดูได้ขบคิดต่อก็เป็นได้

และสุดท้ายแล้วก็ต้องขอพูดว่า ฟอน เทรียร์ นี่มัน ฟอน เทรียร์ จริงๆ เขาเปิดโอกาสให้เราเห็นแสงแห่งความหวังสาดเข้ามาวูบหนึ่งเพื่อที่จะดับมันเสียสนิทเมื่อหนังจบลง โจกำลังจะอ้าแขนออกรับโอกาสแห่งชีวิตใหม่ที่กำลังมาเยือนพร้อมแสงแรกของดวงตะวันยามเช้า เหมือนต้นไม้แห่งชีวิตที่กำลังจะได้รับแสงอุ่นของฤดูร้อนหลังจากยืนต้นแห้งเหี่ยวมาตลอดช่วงฤดูหนาวอันยาวนานอย่างที่พ่อของเธอเคยจับจูงมือเธอไปดูสมัยยังเด็กและกลายเป็นความทรงจำแสนสุขเพียงอย่างเดียวของเธอ แต่แล้วการณ์กลับกลายเป็นว่าเธอต้องพบกับความโหดร้ายของโลกความจริงอีกครั้ง ซึ่งจริงๆอาจจะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหลากหลายปัญหาที่เธอเคยเผชิญมาในอดีต แต่มันก็เป็นดุจคมดาบที่ฟาดฟันทำลายห่วงโซ่ห่วงสุดท้ายที่ยึดโยงเธอไว้กับความหวังในตัวมนุษย์ด้วยกันให้ขาดสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิง หรือในที่สุดเธออาจเป็นเพียงแค่ซากต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ไม่มีวันจะกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้อีกแล้ว

Nymphomaniac ไม่ใช่หนังที่มาเรียกร้องขอความเห็นใจให้กับหญิงร่าน แต่เป็นหนังที่เปิดโอกาสให้คนดูได้ต่อยอดความคิดเห็น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและจะยังติดค้างในใจคนดูที่เป็นเสมือนตัวแทนของสังคมอย่างเราๆไปอีกนาน ก็คือคำถามที่สั่นคลอนรากฐานแห่งความเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ กรอบกติกา และศีลธรรมจริยธรรมในสังคมที่เรายึดถืออยู่ ว่าเราจะใช้มันเป็นมาตรวัดการกระทำทุกสิ่งอย่างของมนุษย์ได้ล่ะหรือ หรือบางสิ่งบางอย่างนั้นเราไม่อาจจะใช้สิ่งเหล่านี้ไปตัดสินได้เลย ในเมื่อความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนล้วนแตกต่างและซับซ้อนเกินกว่าจะจำกัดด้วยมาตรฐานหรือคุณค่าชุดใดๆทั้งนั้น