Bombay: ก้าวข้ามเส้นแบ่งแห่งความต่างทางลัทธิศาสนา

 

Bombay/1995/Mani Ratnam/India

เช็กการ์ นารายานัน (อารวินเดอ สวามี) เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานและเรียนด้านสิ่งพิมพ์อยู่ในบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) เขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในทมิฬนาฑู วันหนึ่งเขาได้พบหญิงสาวผู้มีนามว่าไชลา บาโน (มาณิชกา โกอิราลา) โดยบังเอิญ ทั้งสองตกหลุมรักกันทันทีที่ได้พบสบตากันครั้งแรก แต่ปัญหาใหญ่สำหรับคนทั้งคู่คือเส้นแบ่งทางศาสนา เช็กการ์มาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูในขณะที่ไชลา บาโนมาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งฮินดูกับมุสลิมไม่มีวันจะให้สายเลือดบริสุทธิ์ของตนต้องเจือปนกับศาสนาอื่นเป็นอันขาด ครอบครัวของทั้งคู่ห้ามมิให้เช็กการ์และไชลา บาโนพบกันเด็ดขาด แต่ไฉนเลยที่ความรักของชายหนุ่มและหญิงสาวอันร้อนแรงจะสามารถหักห้ามลงได้ ไชลา บาโนตัดสินใจหนีตามเช็กการ์ไปอยู่ที่บอมเบย์ ทั้งคู่จดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขจนกระทั่งให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝด แต่แล้วความขัดแย้งระหว่างสองศาสนาคือฮินดูกับอิสลามที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นการจราจลในบอมเบย์ ก็ทำให้ความสุขของทั้งคู่ต้องสิ้นสุดลง และสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเมื่อลูกชายฝาแฝดของทั้งสองหายไปในระหว่างเหตุจราจลนั้น

ภาพยนตร์ภาษาทมิฬเรื่อง Bombay นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้กำกับมาณิ รัตนัมพยายามนำเสนอผลกระทบของความขัดแย้งทางศาสนาและการเมืองที่มีต่อปัจเจกชนในสังคม เช็กการ์และเชลา บาโนคือตัวแทนของสองศาสนาที่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนและกลมเกลียวได้ ในทางหนึ่งพวกเขาคือบุคคลรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นว่าขอบเขตของศาสนาจะแบ่งกั้นความเป็นมนุษย์และการดำรงอยู่ร่วมกันในฐานะมนุษย์เหมือนกันได้ ความเชื่อที่ว่าเลือดของคนต่างศาสนาไม่สามารถปะปนกันได้ถูกท้าทายด้วยความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ นำมาซึ่งฉากที่รุนแรงมากๆฉากหนึ่งในหนังนั่นคือเช็กการ์กรีดฝ่ามือตนเองกับคมมีดของพ่อไชลา บาโน และนำมีดนั้นไปกรีดแขนไชลา บาโน แล้วกำฝ่ามือที่มีเลือดไหลอาบของตนเข้ากับท่อนแขนที่เลือดกำลังหลั่งรินของเธอ ซึ่งนัยยะของการกระทำอาจมองได้ในสองทาง ทางหนึ่งคือคนทั้งคู่ได้แต่งงานร่วมหอลงโรงกันแล้วผ่านการผสมของเลือดทั้งคู่ และอีกทางหนึ่งคือแสดงให้เห็นด้วยข้อเท็จจริงว่าเลือดของคนต่างศาสนานั้นผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เป็นการทำลายอติพจน์หรือการกล่าวเกินจริงที่ว่าเลือดของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกันไม่มีทางรวมกันได้ หรือในอีกฉากที่ป้อมปราการริมทะเล ไชลา บาโนกำลังวิ่งเข้าไปหาเช็กการ์ แต่เสื้อคลุม burqa (เสื้อคลุมของหญิงมุสลิม) ไปเกี่ยวกับสมอ เธอจึงสลัดเสื้อคลุมออกไป ก็แสดงให้เห็นว่า ศาสนาเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความเป็นมนุษย์ปุถุชนของเราเอาไว้ แต่ถึงที่สุดก็มิอาจเป็นกรอบเกณฑ์กั้นขวางอารมณ์ความรู้สึกของคนในฐานะปัจเจกชนได้และยิ่งทั้งสองร่วมชีวิตกันได้ราบรื่นก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การยอมรับนับถือในความเป็นมนุษย์ หาใช่เรื่องศาสนาไม่ ตรงนี้หนังก็แสดงให้เห็นผ่านฉากที่ทั้งคู่พยายามเรียนรู้และปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในที่สุดแม้จะไม่มีใครสามารถทำตามได้ลงตัวและเต็มที่ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งสมมติเป็นเพียงระบบสัญญะที่ถูกกำหนดขึ้นมา แต่การดูแลเอาใจใส่กันในฐานะสามีภรรยาที่เป็นมนุษย์เหมือนกันนั่นสิที่ทำให้คนทั้งสองอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข

การดำเนินชีวิตครอบครัวของคนต่างศาสนาระหว่างเช็กการ์กับไชลา บาโน คือการแสดงความสมานฉันท์ระหว่างชาวฮินดูกับอิสลามอย่างหนึ่ง และการที่ทั้งสองให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดนั้นก็ยิ่งเน้นย้ำจุดนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองศาสนา เป็นผลผลิตอันแทนความบริสุทธิ์และสวยงามที่ต่างฝ่ายต่างร่วมใจกันสรรค์สร้างขึ้นมาได้ และอีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่าเมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมานั้น ทุกคนก็คือมนุษย์เท่าเทียมด้วยกันทั้งนั้น ความเชื่อ มายาคติ และปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม หรือการเมืองต่างหากที่แบ่งแยกเราออกจากกัน เช็กการ์กับไชลา บาโนตั้งชื่อลูกชายว่า กาบีร์ นารายานัน และกามาล บันเชียร์ ซึ่งทั้งสองชื่อเป็นการประสมชื่อของฮินดูกับมุสลิมเข้าด้วยกัน สะท้อนการอยู่ร่วมกันได้ของทั้งสองศาสนา

การดำรงอยู่ดีมีสุขระหว่างคนสองศาสนาของตัวละครหลักทั้งสองสวนทางกับสถานการณ์ของสังคมในอินเดียช่วงนั้นอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเช็กการ์กับไชลา บาโน (รวมทั้งบิดาของทั้งคู่ที่ในตอนแรกตั้งตนเป็นศัตรูกัน แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆพัฒนาความสัมพันธิอันดีต่อกันขึ้นเรื่อยๆ) สนิทสนมแน่นแฟ้นขึ้นทุกขณะ แต่ชาวฮินดูกับชาวมุสลิมโดยเฉพาะในบอมเบย์กลับแตกแยกกันมากขึ้นทุกที เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากการรื้อถอนมัสยิดบาบรีที่อโยธยา ชาวมุสลิมไม่พอใจมากจึงรวมตัวกันประท้วง แต่ก็ถูกตำรวจเข้าปราบปราม ซึ่งการปราบปรามนี้ถูกมองว่าเป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ชาวมุสลิมจึงยิ่งไม่พอใจเพราะมองว่ากองกำลังตำรวจส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู จึงกระทำรุนแรงกับชาวมุสลิมอย่างไม่ยี่หระ ความไม่พอใจนี้จึงปะทุขึ้นอย่างรุนแรง เกิดการเข้าห้ำหั่นกันระหว่างคนสองศาสนา มีการฆ่ากันตายรายวัน จนนำไปสู่การจราจลในที่สุด ซึ่งครอบครัวของเช็กการ์กับไชลา บาโนก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้โดยตรง รัตนัมใช้เรื่องราวของคนธรรมดาเป็นตัวนำเรื่อง และผลักเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไปไว้เป็นแบ็คกราวนด์ให้เรื่องราวของเขา ซึ่งวิธีนี้ก็มิได้ทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเพียงตัวประกอบ แต่กลับยิ่งขับเน้นความสำคัญของมัน ด้วยแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของมันที่มีต่อชีวิตคนทั่วไปนั้นรุนแรงแรงและร้ายแรงเพียงใด คนที่เดือดร้อนและสูญเสียที่สุดไม่ใช่คนที่อยู่เบื้องบนผู้คอยคุมเกม หากเป็นคนธรรมดาสามัญที่พยายามจะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์นั้นต่างหาก เส้นคู่ขนานของโลกใบเล็กกับโลกใบใหญ่นี้แล่นควบคู่กันไปเรื่อยๆ ยิ่งความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูกับอิสลามเครียดขมึงรุนแรงขึ้นมากเท่าไร ความสัมพันธ์ในครอบครัวของตัวละครหลักยิ่งแนบแน่นมากขึ้นเท่านั้น ในฉากหนึ่งพ่อของไชลา บาโนถึงขั้นเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือพ่อของเช็กการ์ที่กำลังถูกคุกคามเอาชีวิตจากชาวมุสลิมเอาไว้ด้วยการเรียกเขาว่าเป็น “พี่ชาย” (หรือน้องชาย ไม่แน่ใจ เพราะซับไตเติ้ลใช้ brother แต่ก็สื่อให้เห็นถึงการยอมรับซึ่งกันและกัน มองอีกฝ่ายเป็นเช่นพี่น้อง มิใช่ศัตรู)

โมเม็นต์ที่สะเทือนใจที่สุดของหนังคือ หลังจากฝาแฝดทั้งสองพลัดหลงกันขณะเกิดเหตุจราจลวุ่นวายกลางเมืองบอมเบย์ และคนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือโดยบัณเฑาะว์ผู้หนึ่ง เขาได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า “การเป็นฮินดูและการเป็นมุสลิมคืออะไร” บัณเฑาะว์ผู้นั้นตอบว่า “ศาสนาคือการเข้าถึงพระเจ้า การเป็นฮินดูก็เป็นทางหนึ่งการเป็นมุสลิมก็เป็นอีกทางหนึ่ง” แล้วเด็กน้อยก็ย้อนถามกลับมาว่า “แล้วทำไมทั้งสองฝ่ายถึงต้องเข่นฆ่ากัน” (ถ้าจุดประสงค์คือการเข้าถึงพระเจ้าเหมือนกันทั้งคู่) คำถามง่ายๆเช่นนี้เอง แต่กลับส่งผลให้คนดุสะท้านใจ ด้วยตระหนักว่าการยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อที่แตกต่างได้ทำให้เราละเลยสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดอย่างความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไป ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีลัทธิใดศาสนาใดที่สอนให้มนุษย์เข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง แล้วไยคนที่ยึดมั่นเชื่อถือในศาสนานั้นๆถึงได้ตัดสินว่าการทำร้ายทำลายอีกฝ่ายเป็นเรื่องชอบธรรม

ถึงแม้สุดท้ายตอนจบที่ต่างฝ่ายต่างทิ้งอาวุธแล้วหันมาจับมือกันอย่างสันติอาจจะดู idealistic ไปสักหน่อย แต่มันก็ทรงพลังมากๆ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นใน potential ของมนุษย์ที่จะหันหน้ามาดำรงอยู่ร่วมกันได้ แม้จะไม่ได้ราบรื่นไปหมดทุกอย่าง แต่ก็พร้อมที่จะเข้าใจและเห็นใจกัน ซึ่งแน่นอนว่าเรียกน้ำตาได้แม้แต่จากคนที่ใจแข็งที่สุด หนังเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหนังเข้าขั้นท็อปฟอร์มที่น่าประทับใจมากๆของของมาณิ รัตนัม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหนังมันถึงพร้อมในทุกด้านจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเนื้อหาที่แสดงความเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในมนุษย์ได้อย่างดื่มลึกเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก แม้คนดูจะไม่ใช่ชาวอินเดีย ไม่ได้นับถือศาสนาพราหมณ์ ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่หนังก็เปิดโลกทัศน์ให้เรามองเห็นคุณค่าในความแตกต่างของมนุษย์ หรือในด้านโปรดักชั่น ทั้งการกำกับที่ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ที่ลึกซึ้ง การแสดงที่เข้าถึงและน่าเชื่อถือ การถ่ายภาพที่สวยงามอลังการ ดนตรีประกอบเลิศล้ำ (ประพันธ์โดย เอ.อาร์.ราห์มัน ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบคู่ใจของรัตนัม) องค์ประกอบทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้ Bombay กลายเป็นหนังที่แม้ดูจบด้วยตาแต่ไม่มีวันจบในหัวใจคนดูอย่างแน่นอน