Skip to main content

20080429 
อนาโตล ฟรองซ์  เขียน
ไกรวรรณ  สีดาฟอง แปล

อนาโตล ฟรองซ์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1921 เขาเป็นชาวปารีส กำเนิดมาท่ามกลางกองหนังสือเก่าของบิดา เขากลายเป็นนักเขียนแถวหน้าด้วยผลงานเรื่อง “ซิลเวอร์แตร์ บงนาร์ด” (1881)  หลังจากนั้นก็สร้างสรรค์นวนิยายออกมาหลายชิ้นที่โด่งดังมากก็คือ “หมู่เกาะนกเพ็นกวิน” (1908) นวนิยายเชิงเสียดสีที่มีฉากหลังเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของศตวรรษ 20

ผลงานเรื่อง “หมู่เด็กแห่งทุ่งดอกไม้”  เขียนขึ้นตอนบั้นปลายของชีวิตของเขา น่าสังเกตว่าหลังจากเขียนงานวรรณกรรมประเภท “สร้างสรรค์” มามากมายแล้วเขาก็กลับไปเขียนเรื่อง “เด็ก” ที่ดูเหมือนว่าแสนจะธรรมดา

“หมู่เด็กแห่งทุ่งดอกไม้” จัดพิมพ์ในภาคภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยสำนักพิมพ์ “ทิวสน” แล้วก็ใช้เวลายาวนานกว่าสองทศวรรษจึงได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์   ”เส้นทางวรรณกรรม”  ที่อาจหาญพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2545  อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันว่าท่ามกลางธุรกิจหนังสือที่มีการแข่งขันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจอื่น ๆ ยังมีคนทำหนังสือที่มีรสนิยมอยู่บ้างแม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม

นอกจากผู้เขียนและผู้แปลแล้ว อันที่จริงควรจะให้เครดิตผู้วาดภาพประกอบด้วยเช่นเดียวกัน ภาพประกอบช่วยให้เรื่องราวในหนังสือน่าสนใจขึ้นมาก แต่ทางสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้ระบุชื่อคนวาดภาพประกอบ

“หมู่เด็กแห่งทุ่งดอกไม้” เขียนเป็นตอนๆ ที่แต่ละตอนไม่เกี่ยวเนื่องกันแต่ก็พูดถึงเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เหมือนกัน  เด็กๆ แห่งท้องทุ่งชนบทของประเทศฝรั่งเศสที่เติบโตผูกพันกับดอกไม้ สัตว์เลี้ยง การเป็นชาวนา  

หากมองดูเผิน ๆ กิจกรรมของเด็ก ๆ ที่นำมาถ่ายทอดนั้นช่างปกติธรรมดามาก ไม่มีอะไรในชีวิตประจำวันโลดโผนน่าตื่นเต้นเลยแม้แต่น้อย เช่น ความสัมพันธ์และความเห็นอกเห็นใจระหว่างเด็กหญิงกับสุนัขที่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่องแม้ไม่ต้องใช้ถ้อยคำ การแย่งคันเบ็ดตกปลาที่มีอยู่คันเดียวของสองพี่น้อง การช่วยกันเก็บใบ้ไม้แห้งของสองพี่น้องเพื่อให้แม่ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

“…เด็ก ๆ ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง เด็กชายทำงานเงียบ ๆ
เขาเป็นลูกชายชาวนา อีกไม่ช้าก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และชาวนานั้นไม่พูดมาก ผิดกับลูกสาวชาวนาตัวน้อย ๆ
ที่ส่งเสียงแจ้ว ๆ ขณะเก็บใบไม้...”


ผู้เขียนเลือกที่จะนำเอาความปกติธรรมดามาถ่ายทอด อันสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและความสัมพันธ์ที่เรียบง่ายของเด็ก ๆ กับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว แม้จะเขียนเป็นร้อยแก้ว แต่ก็เหมือนกับอ่านบทกวี ที่ต้องค่อย  ๆ อ่าน ค่อย ๆ ปล่อยให้ตัวอักษรไหลซึมเข้าเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดจนกลายเป็นภาพแห่งจินตนาการ

ตอนอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ครั้งแรก แวบแรกเกิดความรู้สึกแบบเดียวกับที่อ่าน “เจ้าชายน้อย” ครั้งแรกว่า “ไม่เห็นมีอะไร” อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปและอยู่ในภาวะจิตใจที่ปรอดโปร่งพร้อมเปิดรับอะไรที่มันละเอียดอ่อน การอ่าน “หมู่เด็กแห่งทุ่งดอกไม้”  อีกครั้งทำให้มองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นในตอนอ่านครั้งแรก

นี่จึงเป็นหนังสือสำหรับความสบายใจ ไม่ใช่สำหรับการ “อ่านเอาเรื่อง” การอ่านอย่างเร่งรีบเพื่อ “เอาความ” นั้นจะทำสูญเสียอรรถรสไปอย่างน่าเสียดาย

“หมู่เด็ก” และ” ทุ่งดอกไม้” นั้นงดงามดุจเดียวกัน เด็ก ๆ ที่จับกลุ่มเล่นหัวกันอย่างเพลิดเพลินนั้นก็เช่นเดียว “ทุ่งดอกไม้” ที่เริงรำเล่นลม ความสวยงามของดอกไม้และความมีชีวิตชีวาของเด็กคือสุนทรีย์ที่ให้แรงดลใจอย่างไม่มีอะไรเปรียบ

ในที่นี้จะขอยกตอนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงกับสุนัข แม้จะธรรมดาแต่มันก็ไม่ธรรมดาที่ทำให้เรื่องราวง่าย ๆ กลายเป็นวรรณกรรมได้

แจ๊คเกอลินกับมิโร

แจ๊คเกอลินกับมิโรเป็นเพื่อนกัน เธอเป็นเด็กน้อยส่วนมันเป็นหมาใหญ่ ทั้งคู่อาศัยอยู่ในชนบท มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง รู้จักกันมานานแค่ไหนไม่มีใครรู้ มันเกินกว่าความทรงจำของเด็กกับหมา ทั้งคู่เองก็ไม่อยากรู้ด้วยและไม่อยากรู้อะไรทั้งนั้น

พวกเขาเป็นเพื่อนกันมานานแล้ว นับตั้งแต่เริ่มมีสิ่งต่าง ๆ ทั้งคู่ไม่รู้ว่ามีจักรวาลอยู่ก่อนแล้ว ในความคิดของเด็กและหมา  โลกอ่อนเยาว์เรียบง่ายและซื่อใสเหมือนกัน

มิโรตัวโตและแข็งแรงกว่าแจ๊คเกอลินมาก เมื่อยกขาหน้าขึ้นพาดบ่าเธอ หน้าอกมันสูงกว่าเด็กหญิงเสียอีก มันสามารถกลืนกินเธอหมดในสามคำ แต่มันก็รู้ มันสัมผัสความดีงามในตัวเธอได้ แม้ยังเด็กเธอก็ยังมีคุณค่า มันชื่นชมเธอ มันเลียหน้าเธอด้วยความจงรักภักดี

แจ๊กเกอลินก็รักมิโร มันแข็งแรงและใจดี เธอนับถือสุนัข มันรู้ความลี้ลับมากมาย เธอเชื่อว่าในชาติก่อนมันเกิดเป็นมนุษย์อาศัยอยู่อีกใต้ท้องฟ้า เป็นเจ้าแห่งทุ่งหญ้าป่าเขา

แต่แล้ววันหนึ่ง แจ๊กเกอลินก็ประหลาดใจและฉงนสนเทห์ เธอเห็นมิโรเจ้าสุนัขผู้น่าเกรงขามถูกล่ามโซ่ไว้กับต้นไม้ข้างบ่อน้ำ เธอมองสุนัขด้วยความสับสน

สุนัขมองเธอด้วยสายตาซื่อสัตย์ มันใส่ปลอกคอและโซ่โดยไม่แสดงอาการขัดขืนและคับแค้นเลย แต่เด็กหญิงลังเลไม่กล้าเข้าใกล้ เธอยอมรับไม่ได้ว่าสหายผู้สง่างามและล้ำลึกกลายเป็นนักโทษ

ความเศร้าหมองครอบครองจิตใจอันอ่อนเยาว์ของเด็กหญิง.

อ่าน “วรรณกรรมเด็ก” เล่มนี้แล้วนี้บางทีอาจฉุกคิดได้ว่าความงดงามนั้นสามารถหาได้ง่าย ๆ แค่เพิ่มความสนใจต่อเรื่องราวของเด็ก ๆ มากขึ้นอีกสักเล็กน้อยเท่านั้น ?.
                            
                       

บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ