Skip to main content

องค์ บรรจุน

 

เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น ในเพศชายอาจใช้การกระทำคำพูดโน้มน้าว ส่วนเพศหญิงนั้นหากทำประหนึ่งว่าสนใจเพศตรงข้ามแล้วก็จะถูกมองว่า "ให้ท่า" ผิดก็ตรงที่เกิดเป็นหญิง ถูกสังคมวางบทบาทไว้ให้แล้วนั่นเอง


อย่างไรก็ดี ศิลปะต่างยุค ความงามในแต่ละบริบทสังคมย่อมแตกต่างกันต่างกันไป ขึ้นกับสายตาที่มองและตัดสินความงามนั้นด้วยใจ ดังศิลปะในยุคเรอเนซองซ์ มองว่าหญิงที่งามนั้นต้องอวบอั๋น มีน้ำมีนวลเหมือนนางเอกเรื่อง ไททานิค แต่มาในยุคปัจจุบันกลับมองว่าขนาดนั้นอ้วนไป นางแบบวันนี้ต้องหุ่นเพรียว เอวกิ่ว อกแบน เช่นเดียวกับสาวจีนในอดีตก็ต้องมัดเท้า ยิ่งเล็กยิ่งดี ดูจุ๋มจิ๋มน่ารัก แสดงถึงความเป็นผู้ดี ถูกใจชายหนุ่ม หากเท้าโตจะหาสามียาก ส่วนสาวชาวเมี่ยน (เย้า) ทุกคนต้องถอนขนคิ้วออกเหลือเพียงบางๆ จึงจะได้ชื่อว่างาม ไม่ต่างจากสาวเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว (ปาดอง) หากมีรอบห่วงที่พันคอมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มมากเท่านั้น


แต่ละกลุ่มชนมีสายตาที่มองความงามของผู้หญิงแตกต่างกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นความงามที่บุรุษเรียกร้องต้องการเห็น หรือเป็นจินตนาการของสตรีที่เชื่อว่าบุรุษจะเห็นว่าตนนั้นงาม แต่ดั้งเดิมวัฒนธรรมมอญนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตน มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันบ้างแต่ยังคงอัตลักษณ์ของตน ดังปรากฏในจารึกภาพคนต่างภาษา วัดพระเชตุพนฯ ดังนี้

นุ่งผ้าตารางริ้วเช่น ชาวอัง วะแฮ

พันโพกเกล้าแต่งกาย ใส่เสื้อ

มอญมักสักไหล่หลัง ลงเลข ยันต์นา

พลอยทับทิมน้ำเนื้อ นับถือ

 

เมื่อมอญเสียเอกราชแก่พม่า พม่ารับเอาศิลปวัฒนธรรมของมอญไปใช้ นิยมว่าสูงส่งแม้แต่ลายผ้าและการแต่งกาย ทุกวันนี้เมื่อพบเห็นศิลปวัฒนธรรมมอญ คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าเป็นพม่า การที่คนมอญไม่มีประเทศเอกราช ศิลปวัฒนธรรมที่นำติดตัวมาด้วยในเมืองไทยจึงเกิดการแลกเปลี่ยนเอาอย่างซึ่งกันและกัน จนวัฒนธรรมมอญนั้นกลืนกลายไปกับวัฒนธรรมไทยในที่สุด เมื่ออยู่เมืองไทยนานเข้า ผู้หญิงมอญก็รับเอาอิทธิพลการแต่งตัวของผู้หญิงไทยเข้าไป หันมาแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างไทย ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ใน นิราศภูเขาทอง

ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า

ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา

เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา

ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย

 

ดังจะเห็นว่าศิลปะในการเสริมแต่งห่อหุ้มร่างกายให้งดงามนั้น มีการเปลี่ยนแปลง แลกเปลี่ยนกันและกันเสมอ โดยเฉพาะในเพศหญิงนั้นมีการประกวดประชันกันมาก อุปกรณ์แต่งองค์ทรงเครื่องและรูปแบบการแต่งกายจึงเป็นวัฒนธรรมที่ผ่านการคิดและถ่ายทอดแก่กันจากรุ่นสู่รุ่นเป็นวัฒนธรรมประจำชนเผ่านั้นๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มตนเป็นที่รับรู้และยอมรับในที่สุด ดังจะเห็นได้ว่า เครื่องพันห่อหุ้มร่างกายนั้นมีประโยชน์มากกว่าห่อหุ้มป้องกันความร้อนความหนาว ป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย และป้องกันให้พ้นอาย แต่ยังเสริมเสน่ห์ และเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งอีกด้วย


เคยรู้กันหรือไหมว่า สาวมอญในอุดมคตินั้นต้องงามอย่างไร แบบไหนกันที่ว่างาม กว่าจะงามได้ หญิงมอญเหล่านั้นต้องอดทนขนาดไหน จึงจะเป็นที่ต้องตาต้องใจชายหนุ่ม


เด็กผู้หญิงมอญเกิดมาได้ไม่นาน ก่อนหัวกะโหลกจะเริ่มแข็งก็ต้องเจ็บตัวกันแล้ว เจ็บตัวครั้งแรกเพื่อความสวย โดยแม่ของเด็กจะเอาข้าวสารใส่ถุงผ้าหนักพอประมาณ วางทับตรงหน้าผาก กดย้ำ ทุกวันๆ เพื่อให้หน้าผากแบน แป้น เวลาเกล้าผมมวยจะได้สวยแบบมอญ ผู้เขียนมีพี่สาวกับเขาคนหนึ่ง ซึ่งพี่สาวก็โดนกับเขาเหมือนกัน ทุกวันนี้พี่สาวก็หน้าแป้นมาแต่ไกล แต่พี่สาวไม่ได้ทำกับลูกสาวของตัว เพราะหมดความนิยมแล้ว ต่อมาเมื่อเด็กอายุได้สัก ๓-๔ ขวบก็ต้องเจ็บตัวอีกครั้ง ด้วยการเจาะหู สำหรับใส่ต่างหู ต้องนุ่งผ้าถุงและไว้ผมยาว ผูกมัดรวบง่ายๆ ต่อเมื่อเริ่มสาว จะออกงานกันทีต้องเสียเวลากันไรผมนานครึ่งค่อนวัน ลูกสาวกับแม่จะผลัดกันใช้มีดโกนกันไรผมให้กัน เพื่อให้ไรผมบางๆ เรียงตัวเสมอบนหน้าผากโค้งรับไปกับรูปหน้า


สาวมอญทุกคนจะไว้ผมยาว บรรจงหวีสาง ชะโลมน้ำมันมะพร้าวเป็นมันวาว ทำให้เส้นผมเกาะกลุ่มไม่แตกกระเซิง เกล้ามวยแบบมอญ ผมมวยของสาวมอญจะค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง โดยมีเครื่องประดับ ๒ ชิ้น บังคับไม่ให้ผมมวยหลุด คือ อะน่ดโซ่ก เป็นโลหะรูปตัวยู U คว่ำแคบๆ และฮะเหลี่ยงโซ่ก โลหะรูปปีกกา } ตามแนวนอน จากนั้นประดับด้วย แหมะเกวี่ยปาวซ่ก เป็นเครื่องประดับผมสีสันสวยงามรอบมวยผม นอกจากนี้ยังอาจเสริมด้วยดอกไม้สดอีกด้วย


ส่วนการกินหมากนั้น สาวมอญกินกันมานานหนักหนา ทุกวันนี้สาวมอญเมืองไทยรุ่นใหม่เลิกกินกันแล้ว ในรุ่น ๖๐ ปีขึ้นไปยังพบได้ประปราย ส่วนในเมืองมอญ ประเทศพม่านั้นยังกินหมากกันทั่วไปซึ่งต่างก็มีความเชื่อเหมือนกันคือกินเพื่อให้ปากและฟันมีสีสัน ไม่จืดขาว ส่วนผลพลอยได้ก็คือ ยางหมากจะช่วยรักษาฟัน ป้องกันฟันผุ แมงกินไรฟัน


เครื่องแต่งกายที่สำคัญของสาวมอญชิ้นหนึ่ง คือ ผ้าสไบ (หยาดฮะหริ่มโต่ะ) ผ้าสไบนี้จะขาดเสียมิได้ แหม่งเจ้น (คำทำนาย) โบราณอายุหลายร้อยปีของมอญได้ทำนายข้อบ่งชี้ที่โลกจะถึงแก่กาลวิบัติเอาไว้หลายสิบประการ ข้อหนึ่งในนั้นคือ สาวมอญจะละทิ้งสไบ นั่นแสดงให้เห็นว่า สไบนั้นมีความสำคัญมาก สไบต้องคู่กายสาวมอญเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าวัดเข้าวา หรือออกงาน สไบเป็นผ้าสำหรับห่มไหล่ พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้าย หากไปงานรื่นเริง เที่ยวเล่น ก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรงๆ บนไหล่ซ้าย ผู้ใช้ผ้าสไบจะต้องตัดและปักลายด้วยตนเอง เป็นการอวดฝีมือ สาวคนใดปักไม่เป็นปักไม่สวยจะเป็นที่อับอายแชาวบ้านอย่างยิ่ง

 

สาวมอญสวมผ้าถุง (หนิ่นฮ์) คล้ายโสร่ง (เกลิจก์) ของผู้ชาย แต่ลายผ้าของผู้หญิงละเอียด สวยงามกว่า มักเป็นผ้าสีพื้น หากมีลายก็ลายเหมือนกันทั้งผืน ไม่มีเชิง และวิธีการนุ่งต่างกัน ของผู้ชายนั้นผูกให้มุมสองข้างมาพบกันตรงกลาง ผู้สวมจึงเดินได้คล่อง ก้าวเท้าได้ยาว แต่ผ้านุ่งของผู้หญิงจะนุ่งป้ายไปทางซ้าย ทำให้ก้าวเท้าได้แคบ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้การเดินของผู้หญิงดูนุ่มนวล ส่วนเสื้อนั้นมี ๒ ตัว ตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้นแค่เอว เล็กพอดีตัว สีสด สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้หรือผ้าเนื้อบาง สีอ่อน มองเห็นเสื้อตัวใน ถ้ายังสาวอยู่แขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้ว จะเป็นแขนสามส่วน เอวเสื้อเสมอเข็มขัด หากมีความจำเป็นต้องยกแขนสูง ก็จะเผยให้เห็นสะดือและผิวเนื้อขาวแวบวับ เป็นสิ่งที่ชายหนุ่มลอบมองมา

 

สาวมอญในเมืองพม่าทุกวันนี้ส่วนใหญ่ปักใจเชื่อว่าชุดมอญนั้นต้องสวมผ้าถุงพื้นแดงเชิงลายดอกพิกุล เสื้อขาวหรือชมพูอ่อนยืนพื้น ชายเสื้ออยู่เสมอสะโพก เพื่อให้ต่างจากเสื้อมอญในอดีตที่พม่าเอาไปใช้จนกลายเป็นของพม่าไปแล้ว หากต่างไปจากนี้ถือว่าเป็นชุดพม่า และทุกครั้งที่มีโอกาสไม่ว่าเป็นวาระหรือกิจกรรมใดที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นมอญได้ โดยเฉพาะในงานสำคัญอย่างวันรำลึกชนชาติมอญ จะมีการรณรงค์และปลุกใจให้สวมใส่ชุดมอญดังกล่าว


เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้อง ด้วยมอญนั้นเสียเอกราชแก่พม่ามานาน กระทั่งพม่ารวมทั้งมอญ ไทใหญ่ อาระกัน ที่อยู่ในอำนาจพม่า ก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอีกทอด เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ จากการที่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ เข้าร่วมกับพม่าเรียกร้องเอกราชสำเร็จ ชนกลุ่มน้อยจึงพยายามขอสิทธิในการปกครองตนเองจากพม่า แต่สำหรับมอญแล้วทุกครั้งที่มีการประชุมระหว่างชนกลุ่มน้อย หรือแม้แต่การแสดงทางวัฒนธรรมไม่ว่าที่ใดก็ตามในประเทศพม่า มอญจะเป็นกลุ่มที่มีคนสนใจและพูดถึงน้อยที่สุด เพราะมีการแสดงและการแต่งกายที่คล้ายคลึงกับพม่า ยิ่งเป็นการตอกย้ำความพยายามของพม่าที่ต้องการกลืนชาติมอญ ด้วยการกล่าวว่า "มอญกับพม่าเป็นชนชาติเดียวกัน" ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๕๑๓ กลุ่มนักศึกษามอญในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นำโดยนายแพทย์อองมาน ในขณะนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ค้นหาเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายมอญขึ้นใหม่ พากันสำรวจลวดลายผ้ามอญเก่าแก่ ลายที่เลิกทอกันไปแล้ว รวมทั้งผ้าในหีบผ้าผี ซึ่งสืบทอดความเชื่อต่อกันมาไม่เปลี่ยนแปลง จากนั้นนักศึกษากลุ่มนี้ได้เอาลายและสีของผ้าที่ใช้กันมากนำมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เป็นชุดประจำชาติมอญดังกล่าวข้างต้น


ทุกวันนี้ทั่วทั้งประเทศพม่า และในบรรดาคนมอญเมืองไทยต่างรู้กันดีว่าหากพบเห็นผ้าถุงแดงลายดอกพิกุลแล้ว ผู้สวมใส่จะต้องเป็นคนมอญอย่างไม่ต้องสงสัย เรื่องนี้สำหรับมอญเมืองไทยไม่สำคัญอะไรนัก จะแต่งตัวอย่างไรก็ตามลงบอกว่ามอญ ก็คือมอญ หากแต่ในพม่าทุกคนสวมผ้าถุงและมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มขึ้นมาจึงมีความสำคัญ เป็นเครื่องหมายรู้กันภายในกลุ่ม ที่คอยกระตุ้นเตือนความเป็นมอญ และสื่อความหมายไปยังคนต่างกลุ่มอีกด้วย


ที่มาของผ้าถุงแดงไม่ยาวนานนัก แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ฝังรากลึก หลายคนซึ่งมีทั้งมอญเมืองไทยและมอญเมืองพม่าที่ไม่รู้ที่มา เชื่อว่าผ้าถุงมอญต้องแดงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพบกันในงานสำคัญของชาวมอญเห็นใครแต่งผิดสีก็ว่ากล่าวแก่กัน นับว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากชนชาติมอญที่มีอารยะธรรมสืบเนื่องมายาวนานหลายพันปี เหลือเพียงโสร่งและผ้าถุงอย่างละผืนเท่านั้นที่สามารถแสดงความเป็นมอญได้ มันจะน่าเศร้าสักเพียงใด ทั้งที่ตามความเชื่อของมอญในเมืองไทยแล้ว ข้าวของผ้าผ่อนทุกชนิดที่เป็น "สีแดง" นั้นห้ามนุ่งห่มและแจกจ่ายแก่ผู้ใดโดยเด็ดขาด เพราะเป็นสีที่ผีปู่ย่าตายายสวมใส่และหวงแหน หากไม่เชื่อถือดื้อรั้น ผู้สวมใส่และแจกจ่ายผีอาจลงโทษได้


สาวมอญนั้นนุ่งห่มสมตัว อันเป็นธรรมดาของหญิงสาวที่รักสวยรักงาม และรู้จักสร้างเสน่ห์ให้ตนเอง ในอดีตสาวมอญนุ่งผ้าที่ไม่ได้เย็บชายติดกัน เรียกว่าผ้าแหวก หรือ ผ้าป้าย ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ครั้งใด บ้างก็ว่าเพิ่งมีมาเมื่อมอญเสียเมืองแก่พม่าแล้ว พม่าต้องการกลืนชาติมอญให้สิ้นซาก จึงบังคับให้สาวมอญนุ่งผ้าแหวก เพื่อให้ทหารพม่าเห็นแล้วน้ำลายหก หากจับคู่ได้มีลูกออกมาจะได้เป็นพม่าไปและจะได้ไม่คิดกอบกู้ชาติอีก ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เพราะผู้เขียนเองก็รู้สึกเหมือนเคยได้ยินว่าเวียดนามเองก็เคยใช้วิธีนี้ในการกลืนชาติลาว แบบที่เรียกว่า "นอนสามัคคี"


ผ้าแหวกนี้หากใครนึกไม่ออก ลองไปดูที่หน้าประตูพระบรมมหาราชวัง สำนักพระราชวังมีให้แหม่มและหมวยสวมทับก่อนที่จะเข้าไปภายในวัง ในยุคหลังได้นำชายผ้ามาเย็บติดกันแบบโสร่ง การนุ่งห่มผ้าซึ่งแหวกให้เห็นขาขาวๆ นั้นเป็นการบริหารเสน่ห์ให้ชายหนุ่มหลงใหล ยอมศิโรราบมานานหนักหนาแล้ว ดังในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ว่า

 

พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก

ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง

ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง

เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง

ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น

เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง

เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง

ใครยลนางก็เห็นน่าจะปรานี

 

ด้วยชนชาติมอญนั้นอาภัพ สั่งสมอารยธรรมไว้มากมายแต่ไม่มีบ้านเมืองเก็บรักษา นุ่งผ้าถุงแหวกผ่าหน้ามาก็หลายร้อยปี แม้ยังไม่โดนกลืนชาติจนวัฒนธรรมสูญสิ้น และก็ยังกู้ชาติไม่สำเร็จ ทุกวันนี้ผู้เขียนพบเห็นสาวมอญหลายคนเย็บผ้านุ่งเป็นผ้าถุงสำเร็จรูปคล้ายกระโปรง มีทั้งผ่าหน้าและผ่าหลัง ก็นับว่าเป็นพัฒนาการการแต่งกายของสาวมอญอย่างหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าไม่เลวนัก หากสาวมอญจะนุ่งผ้าถุงผ่าหลังจะเป็นไรไป เผื่อจะกู้ชาติสำเร็จบ้าง

 

จิตรกรรมฝาผนังภาพสาวมอญนุ่งผ้าแหวก เผยให้เห็นโคนขา วาดในราวสมัยรัชกาลที่ ๓
วัดบางน้ำผึ้งนอก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ



จิตรกรรมฝาผนังภาพสาวมอญนุ่งผ้าแหวกเดินผ่านกลุ่มชายหนุ่ม วาดในราวสมัยรัชกาลที่ ๒
วัดบางแคใหญ่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม



การเกล้าผมมวยของผู้หญิงมอญในปัจจุบัน ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ บ้านบางกระดี่ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ



สาวมอญในอดีต (คนกลาง) นิยมกันไรผมบนหน้าผาก ถ่ายเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐
วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร


  
ภาพผมมวยของสาวมอญ แสดงให้เห็นอุปกรณ์โลหะ ๒ ชิ้น สำหรับกันไม่ให้ผมมวยหลุดร่วง



แฟชั่นผมมวยของสาวมอญ ถ่ายเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร



ลักษณะการแต่งกายของมอญ หนุ่มสาวด้านซ้ายแต่งกายแบบมอญเมืองไทย
ส่วนสองคนด้านขวาแต่งกายแบบมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า)

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์