Skip to main content

เครื่องบินลดระดับลงเรื่อยๆ จนเครื่องแท็กซี่ลงจอดได้ ผมเดินทางมากรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำงานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อต่างประเทศศึกษา หรือ Tokyo University of Foreign Studies เดิมทีเรียกกันว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศ คนที่นี่เรียกอย่างย่อว่า "โตเกียว ไกได" 

ผมติดต่อสมัครทุนในตำแหน่งนักวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 แต่ยื่นใบสมัครและผ่านการพิจารณาเมื่อต้นปีระหว่างอยู่ที่บอสตันเมื่อต้นปี ใช้เวลาเจรจาประสานงาน ตกลงห้วงเวลาอยู่หลายวัน จนลงตัว

ไม่นับรวมถึงการกลับไปประเทศไทยเพื่อรายงานตัวกลับเข้ารับราชการ และขออนุมัติเพื่อมาปฏิบัติราชการต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ยังมีงานวิจัยที่ต้องทำให้เสร็จและส่งงานก่อนเดินทาง

โชคยังดีที่มีคนมาช่วยงานให้ราบรื่น (เอาไว้จะเขียนเล่าในภายหลังครับ)

ก่อนมาก็ไปลาท่านอธิการบดีเรียบร้อยและรายงานว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนราชการทุกอย่าง ท่านอธิการก็ฝากว่าหากได้มีโอกาสประสานงานด้านวิชาการในนามมหาวิทยาลัยก็ลองพิจารณาดู

นอกจากนี้ ผมได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างดีเยี่ยมจากพี่ๆ และน้องๆ เจ้าหน้าที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้จัดการให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างเรียบร้อย ตลอดจนเพื่อนอาจารย์ที่เสียสละช่วยสอนในวิชาที่ผมรับผิดชอบ ผมได้แต่บอกว่า เมื่อถึงคราวที่ท่านเหล่านั้นลา ผมก็จะดูแลให้เป็นการตอบแทน

แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะมีสิ่งที่ต้องคิดและทำอยู่ในใจตลอดเวลา

จนถึงวันเดินทางผมก็ยังต้องทำงาน เพียงแต่ผ่อนคลายลง เพราะเจ้าภาพที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศนั้น จัดการรอรับผมอย่างดีเยี่ยม ตั้งแต่จัดแจงให้มีคนประสานงานที่สนามบินจนถึงมหาวิทยาลัยที่อยู่ห่างจากนาริตะราวสองชั่วโมง

ผมมาถึงราวแปดโมงเช้า แต่ระบบตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ที่มีวีซ่าประเภท "เข้ามาทำงาน" เกินหนึ่งปี ต้องทำบัตรประจำตัวคนต่างชาติเสียก่อน ผมถูกกำหนดให้รอในแถวพิเศษ คือรอให้คนอื่นๆ ผ่านไปเสียก่อน จึงเข้าช่องวีซ่าปกติ ผมพบนักศึกษาหญิงจากคณะเกษตรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไนมาแลกเปลี่ยนสั้นๆ เช่นเดียวกัน 

กระบวนการสำคัญคือการถ่ายรูปทำบัตรประจำตัว โดยทางหน่วยตรวจคนเข้าเมืองจะเก็บใบสำคัญรับรองการทำงานที่ทางมหาวิทยาลัยส่งให้เอาไว้ และทำบัตรประจำตัวให้เราโดยอาศัยฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว จากนั้น เราต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานของเมืองภายใน 15 วัน 

แต่ในกรณีของผม เจ้าภาพ คือ อ. เรียวโกะ นิชิอิ ได้จัดการตั้งแต่แรก เมื่อรถเทียบสถานี อ. เรียวโกะมารับและพาผมไปที่อาคารหอพักนานาชาติ โดยอาจารย์ไปรับเอากุญแจและทำบัตร (ID card ที่มีรูปและรายละเอียดต่างๆ) ให้ผมไว้แล้ว จากนั้นก็พาผมไปแนะนำตัวกับผู้อำนวยการของอิลก้า หรือ ILCAA: Research Institute for Languages and Cultures of Asia and Africa ซึ่งผมเสนอโครงการวิจัยเรื่องการเมืองของสุนทรียศาสตร์ว่าด้วยภาวะสมัยใหม่ในศิลปะร่วมสมัย ทั้งนี้ โดยดูประสบการณ์จากญี่ปุ่นที่ผมได้เห็นที่ Honolulu Academy of Arts ที่ฮาวายอิ โดยแสดงให้เห็นว่ามีศิลปินญี่ปุ่นไปเรียนศิลปะในปารีสโดยตรง ขณะที่กว่าจะมี "ศิลปินไทย" ก็นับได้ราวครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น

ยังต้องรวมถึงสมัยที่ไปแวะเยี่ยมบ้านเพื่อนรักของผมนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่เมืองฟุกุโอกะ และได้ชมพิพิธภัณฑ์ของเมืองที่เก็ยเอาชุดสะสมของศิลปินญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่เอาไว้มากมาย (ในรายละเอียดจะเขียนในรายงานวิจัยที่เสนอต่อ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ ILCAA หรือถ้ามีเวลาจะเขียนเล่าในที่นี้ครับ)

เมื่อเข้าไปสำรวจห้องพัก ผมรู้มาก่อนว่าเขากำหนดให้พักห้องครอบครัว แต่เมื่อเข้ามาพบว่ามีสามห้อง เป็นห้องนั่งเล่น ห้องนอนแบบเตียงสองชั้นสำหรับเด็กๆ และห้องนอนเตียงคู่ เรียกว่าเหลือเฟือสำหรับคนโสดทีเดียว

ในวันแรกอาจารย์เรียวโกะพาผมไปสำรวจมหาวิทยาลัย และไปรายงานตัวที่ City Hall ทันที พร้อมกับหยิบเอาตราประทับที่เรียกว่า "อินกัง" ที่ทำไว้รอผม โดยอาจารย์เรียวโกะบอกว่าขอโทษด้วยที่วิสาสะ แต่ต้องทำ โดยให้ชื่อผมว่า "พันดิท" แต่สะกดว่า Panที่แปลว่าเจริญ กับคำว่า ไทเพราะฉะนั้นชื่อของผมคือ "นายไทยเจริญ" ในอักษรคันจิ ผมชอบชื่อนี้มาก เพราะชื่อประจำรุ่นในตระกูลของผมมีความหมายว่า "บุญมา" ชื่อนี้คล้องจองโดยบังเอิญจริงๆ

ในการลงทะเบียนพำนักอาศัย เจ้าหน้าที่จะบันทึกที่อยู่ของเราไว้หลังบัตรประจำตัวที่ทำจากสนามบิน ดังนั้น แต่ละขั้นตอนจะละเอียดพอสมควร

ที่ City Hall เราเสียเวลาไม่มาก แต่การเดินทางขลุกขลักนิดหน่อย ในที่สุดอาจารย์เรียวโกะก็พาผมไปจัดการเรื่องสถานภาพการพำนักสำเร็จ

อาจารย์เรียวโกะรอบคอบมาก ถึงกับเตรียมจาน ชาม ช้อนและจักรยานประจำตัวให้ผมเป็นของแถม เท่ากับว่าผมมีรถ (จักรยานสีแดง) ประจำตำแหน่งโดยทันที

หลังจากกลับมาที่ campus อาจารย์ยังกรุณาพาผมไปพบเพื่อนๆ และที่ทางในสถาบันวิจัย

วันรุ่งขึ้นเรานัดพบกันยามสายเพื่อจะไปเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเหมือนกัน เพราะต้องมีใบรับรองสถานภาพผู้พำนักที่ลงทะเบียนจาก city hall ไปแสดง 

ในตอนเช้านี้มีฝนตกหนักพอสมควร ผมผิดนัดเพราะเข้าใจว่าอาจารย์จะแวะมาที่หอพัก แต่อาจารย์รอผมที่สถาบันวิจัย เลยทำให้ช้าลงไปอีก 

อาจารย์มาหาที่หอในเวลาที่ผมกลับขึ้นมาเอาของบนห้อง จึงวุ่นวายนิดหน่อย เป็นเพราะความชะล่าใจของผมเองที่ไม่ถามให้ดีก่อน

ในที่สุดเราก็ก็เข้าเมืองไปเปิดบัญชีธนาคารที่ต้องอาศัยใบรับรองจาก City Hall และต้องมี "อินกัง" เพื่อประทับตราในเอกสารสำคัญ แม้ผมจะทำตราประทับเล่นๆ หลายอัน แต่อันนี้เป็นตราประทับที่ใช้จริง อาจารย์เรียวโกะบอกว่าทำให้ผมเป็น "ของขวัญ" ซึ่งผมซาบซึ้งใจมาก เพราะอาจารย์ต้องลำบากในการจัดการไม่น้อยเพื่อรับรองการมาทำวิจัยของผม

ยังมีวันรุ่งขึ้นที่ต้องทำสัญญาและปฐมนิเทศน์นักวิจัย ร่วมกับเพื่อนนักวิจัยจากมองโกลเลียและออสเตรเลีย

ผมแอบคิดถึงข้าวเหนียวส้มตำไก่ย่าง

ผมคิดถึงเพลง wish you were here ของ Pink Floyd ที่เป็นความรู้สึกว่าบางทีบางครั้งเดินทางไปไหนต่อไหนแล้วอยากให้ใครบางคนมาเห็น มาอยู่ข้างๆ 

คงเป็นเพียงความฝัน 

 

แม้บางทีบางครั้งจะกลายเป็นความจริงชั่วครู่ชั่วยาม แต่สายหมอกมักจะเลือนหายไป และเหลือเพียงความว่างเปล่า

 

การเดินทางไปถึงขอบฝันในหลายแห่งหลายห้วงเวลาจึงเป็นความฝันที่เป็นจริง

บอกให้รู้ว่า แม้จะฝันไปอย่างไร ความจริงก็คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเบื้องหน้า

ที่ทำได้คือก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป 

 

"....เราต่างเป็นวิญญาณหลงทางว่ายเวียนในอ่างปลาปีแล้วปีเล่า
เราพบอะไรหรือ...
ความกลัวเมื่อครั้งเก่าก่อน
อยากให้เธออยู่ที่นี่ ตรงนี้..."

 

แต่ความเหนื่อยล้าไม่อนุญาตให้เวิ่นเว้อนาน

 

ราตรีสวัสดิ์ครับ

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดต
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ช่วงที่พ่อแม่มาอยู่ด้วย ผมจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะการพาคนแก่มาอยู่เมืองที่ไม่มีเพื่อนฝูงที่สนิทกันคงไม่ใช่เรื่องสนุกอาทิตย์ก่อนก็ขับออกไปพุทธมลฑลแล้วไปพระปฐมเจดีย์ วกออกไปทางบ้านแพ้ว ออกมาพระรามสอง ก็เจอรถติดยาว ในสั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความนี้เขียนเร็วๆ จากบทสนทนาในไลน์กลุ่มที่ผู้เขียนเป็นสมาชิก เพื่อตอบคำถามสองส่วน ส่วนแรกคือเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอยู่กับความได้สัดส่วนระหว่างขีดความสามารถของรัฐกับความคาดหวังจากสังคม ส่วนที่สองคือรัฐกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญขึ้นเรื่อยๆ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเช้ายังงัวเงียอยู่ (เพราะนอนดึก) มิตรสหายในไลน์กลุ่มก็ชวนคุยว่า จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปทำไม่ ดูอย่างอเมริกาสิ ขนาดเปลี่ยนทรัมป์ออกไปเป็นโจ ไบเด็น ถึงวันนี้คนยังติดโควิดสูง แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ผมเลยชวนดีเบตว่าเอาไหม ในที่สุด บทสนทนาก็มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในวันที่ 2 มีนาคม 1757 (2300) เดเมียนส์ผู้ปลงพระชนม์ถูกตัดสินว่าให้ "กระทำการสารภาพผิด (amende honorable) หน้าประตูอาสนวิหารแห่งปารีส" เป็นที่ซึ่งเขาจะถูกเอาตัวไปและส่งไปกับล้อเลื่อน โดยสวมแต่เพียงเสื้อเชิ้ต ถือคบเพลิงที่มีขี้ผึ้งเป็นเชื้อหนังสองปอนด์ (ราว 1 กิโลกรัม) จากนั้นเขาจะถูกนำตัวไปบนล้อเ