Skip to main content

เกริ่นนำ - โป๊ศาสตร์

ร่างกายมนุษย์หลากเผ่าพันธุ์อันเปลือยเปล่า อวัยวะเพศหลากหลายสีและขนาด ท่วงท่าทำนองกิจกรรมทางเพศ ลีลาการเสพสังวาสของเหล่าชายหญิงได้ ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆในหลากหลายวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณกาล ภาพสลักนูนต่ำกามาสุตราของอินเดียที่คาจูราโฮ ภาพเขียนแสดงเรื่องราวการร่วมเพศบนเครื่องถ้วยชามกระเบื้องของกรีกโบราณ  ภาพศิลป์เชิงสังวาสบนฝาผนังแห่งนครปอมเปอิ ภาพพิมพ์ไม้(ภาพอูกิโยะ)แสดงกิจกรรมทางเพศของญี่ปุ่น ตลอดจนจิตรกรรมฝาผนังแสดงการร่วมประเวณีของชายหญิง หรือที่เรียกว่า “ภาพกาก” ในวัด อย่างเช่น ที่วัดบางยี่ขัน (กรุงเทพมหานคร) หรือ วัดหน้าพระธาตุ (นครราชสีมา) ของไทย จวบจนการมาถึงของแผ่นฟิลม์บันทึกภาพนิ่งแหละเคลื่อนไหว หรือภาพยนตร์ในศตวรรษที่ 19 การคิดค้นวิดีโอที่ทำให้สามารถดูภาพยนตร์ที่บ้านได้ในศตวรรษที่ 20 ตามมาด้วย การบันทึกกิจกรรมทางเพศในระบบดิจิทัล บนซีดี ดีวีดี และเป็นรูปแบบของไฟล์ที่ส่งผ่านและเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เส้นแห่งห้วงเวลาประวัติศาสตร์นี้เป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีความสนใจในเรื่องเพศ และพยายามบันทึกกิจกรรมทางเพศบนสื่อต่างๆ ที่พัฒนามาตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์ใดๆก็ตาม

เราอาจเรียกสื่อซึ่งบันทึกการเปลือยกายของร่างกาย กิจกรรมทางเพศ และการร่วมประเวณี ซึ่งสามารถกระตุ้นความกำหนัดอารมณ์ทางเพศของผู้ชมโดยรวมๆว่า “สื่อโป๊” (pornohgraphy) แต่แม้ว่ามนุษย์จะให้ความสนใจต่อ “สื่อโป๊” มากเพียงไร ในหลายๆสังคม หลายๆวัฒนธรรม หรือ หลายๆประเทศ “สื่อโป๊” ไม่ได้มีพื้นที่ให้ดำรงอยู่โดยเสรี ในเกือบทุกประเทศ“สื่อโป๊” จะถูกตีกรอบให้อยู่ในพื้นที่ ที่เข้าถึงได้เฉพาะผู้ใหญ่ (อย่างน้อยก็อายุ 18 ปีขึ้นไป) หรือ อยู่ในกรอบทางกฎหมาย ว่าจะไม่ล้ำเส้นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “สื่อลามก” (obscenity) ซึ่งบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินว่า “สื่อโป๊” ใด้เป็น “สื่อลามก” ต้องห้ามตามกฎหมายก็แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ จากประเทศที่ให้เสรีภาพในการนำเสนอค่อนข้างมากเช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ค สวีเดน สหราชอาณาจักร ที่ยอมให้มีสื่อโป๊ที่ให้เห็นอวัยวะเพศได้ หรือประเทศที่ให้มีเสรีภาพในระดับหนึ่งที่ยอมให้เห็นเห็นภาพการร่วมประเวณีแต่ห้ามเห็นภาพอวัยวะเพศ เช่น ญี่ปุ่น หรือ ประเทศที่ห้ามเห็นภาพการร่วมเพศ และอวัยวะเพศแต่ยอมให้เห็น เต้านมที่ไม่เห็นหัวนม และ ก้น อย่างประเทศไทย จนถึงประเทศบางประเทศที่ไม่มีพื้นที่ให้ “สื่อโป๊” อยู่เลย อย่าง หลายประเทศในตะวันออกกลาง หรือ เกาหลีเหนือ เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศที่ให้เสรีภาพในการนำเสนอ “สื่อโป๊” ค่อนข้างมาก จนถึงขนาดมีอุตสาหกรรมการผลิต “สื่อโป๊” เป็นเรื่องเป็นราวสร้างรายได้มหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจ เหล่านักวิชาการทั้งทางนิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสทำการศึกษา “สื่อโป๊” เชิงวิชาการอย่างจริงจัง และมีผลผลิตทางวิชาการมานานแล้ว และการศึกษาเหล่านี้ได้พยายามเสนอแนวคิดทฤษฎีเพื่อตอบข้อสงสัยหลายประการที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ สังคม และ “สื่อโป๊” เช่น คำถามที่ว่าการมีอยู่สื่อโป๊ทำให้อาชญากรรมทางเพศเพิ่มขึ้นหรือไม่? สื่อโป๊ที่เสนอเนื้อหารุนแรงจะเร่งให้ผู้ชมมีนิสัยรุนแรงทางเพศหรือไม่

ในส่วนของประเทศไทยที่ “สื่อโป๊” มีพื้นที่ในการปรากฏตัวอันน้อยนิด การศึกษาเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับ “สื่อโป๊” ก็มีเพียงน้อยนิดตามไปด้วย และการศึกษาที่มีอยู่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะทางนิติศาสตร์  และอาชญาวิทยา มักชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “สื่อโป๊” สมควรถูก “จำกัด” หรือแม้กระทั่ง “กำจัด” เพราะเป็นสิ่งผิดศีลธรรมทางเพศ[1] (ซึ่งจริงๆแล้ว “ศีลธรรม” ในเรื่องเพศนี้ก็ไม่ใช่ของวัฒนธรรมไทยโดยแท้ แต่รับมาจากตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สยามกำลังพยายามปรับตัวเองให้เป็นรัฐสมัยใหม่ตามอย่างหลายประเทศในยุโรป) ในการศึกษาบางชิ้นมักจะอิงพลังในการ “จำกัด” และ “กำจัด”  “สื่อโป๊” โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดว่า “ “สื่อโป๊” ก่อให้เกิดอาชญากรรมทางเพศ (โดยเฉพาะการข่มขืน)”[2] ซึ่งแนวคิดนี้อาจไม่ตรงไปตรงมาแบบนี้เสมอไป ในเมื่อมีปัจจัยหลายประการเข้าเกี่ยวข้อง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ โอกาสในการกระทำความผิด และความสนิทสนมกับเหยื่อ อายุของผู้กระทำความผิด เป็นต้น และจวบจนปัจจุบันในประเทศไทยเอง ยังไม่มีสถิติที่สามารถใช้ยืนยันแนวคิดดังกล่าวโดยปราศจากข้อโต้แย้งได้

ในขณะที่งานวิชาการสายนิติศาสตร์ และอาชญาวิทยา นั้นค่อนข้างจืดชืด และเน้นไปในแนวทางการจำกัดและปราบปราม งานวิชาการหรือกึ่งวิชาการสายสังคมศาสตร์ มีการนำเสนอข้อค้นพบ และองค์ความรู้ที่มีสีสันน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ได้ขังตัวเองอยู่ในกรอบแคบๆของสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรมทางเพศ” และไม่จำต้องกำหนดทิศทางหรือนโยบายเพื่อการจำกัดหรือปราบปรามอย่างในสายนิติศาสตร์ เช่น “หนังสือโป๊ตลาดล่าง : ความรู้ มายาคติ และจินตนาการในเรื่องเพศ” (2551) ซึ่งเป็นงานวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือบรรยายเรื่องทางเพศ (sex story) ของ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ (เนื่องจากยังไม่มีงานวิชาการชิ้นใดที่วิเคราะห์เนื้อหาสื่อโป๊ที่เป็นภาพยนตร์ จึงขอยกตัวอย่างงานวิชาการชิ้นนี้) หรือ งานเชิงประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าการพัฒนาเติบโตของ “สื่อโป๊” อย่าง “หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพในเสี้ยวประวัติศาสตร์” (2555)[3] ของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ หรืองานกึ่งวิชาการเชิงประวัติศาสตร์ของ “สื่อโป๊” ในประเทศไทยของ สัญฐลักษณ์ พงษ์’สุวรรณ ที่ชื่อว่า “พี่...พี่... โป๊มั๊ยพี่” (2545) หรืองานเชิงวิจารณ์ศิลป์ เช่น “เชิงสังวาส” (2541) ของ นิวัติ กองเพียร อย่างไรก็ตาม งานวิชาการ และกึ่งวิชาการในเรื่อง “สื่อโป๊” เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวอันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความรู้ที่เราต้องค้นหาต่อไปในเรื่อง “สื่อโป๊” ในสังคมไทย และสังคมโลก

ด้วยความบังเอิญกอรปกับเทคโนโลยี social networking site ได้นำเอาทั้งนักวิชาการ และผู้ที่สนใจที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในเรื่อง “สื่อโป๊” มารวมกัน ซึ่งบางคนยังไม่เคยเจอหน้าจริงๆนอก cyberspace แต่ต่างก็มีความตั้งใจ และมุ่งมั่นร่วมกันที่จะผลิตผลงานวิชาการ หรือกึ่งวิชาการเพื่อเพิ่มความรู้และพยายามตอบคำถามที่เกี่ยวกับ “สื่อโป๊” ในสังคมไทย ที่หลายคนอยากรู้แต่เขินอายเกินกว่าจะถามหรือขวนขวายหาความรู้ กลุ่ม “โป๊ศาสตร์” (porn studies) จึงได้จัดตั้งขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 จากผู้คนกลุ่มเล็กๆเหล่านี้โดยมีวัตถุประสงค์พ้องกันดังที่ได้กล่าว และเพื่อรวบรวมงานวิชาการและกึ่งวิชาการจากหลากหลายมุมมอง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท้ายสุดการผลิตและสะสมงานเขียนที่เกี่ยวกับ “สื่อโป๊” นี้จะสำเร็จและออกเป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ต่อสังคมไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง

"โป๊ศาสตร์ - พิศวาสความรู้คู่กามารมณ์"

นักโป๊ศาสตร์ท่านหนึ่ง

19 เมษายน 2557



[1] เช่น ธนะชัย มีผดุง, มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการผลิตและเผยแพร่วัตถุหรือสิ่งลามก, วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539; ศรีอรุณ ตะโคดม, ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร,วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2542; อิทธิพล ปรีติประสงค์, ความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจสื่อทางเพศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต, วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546

[2] เช่น ธนะชัย มีผดุง, สื่อลามกกับผู้กระทำความผิดทางเพศ, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (บริหารงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545; ยศเดช ศีลเตชะ, ความสัมพันธ์ของสื่อลามกกับการกระทำความผิดทางเพศของผู้กระทำผิดชายในเรือนจำกลางนครปฐม, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยมหิดล, 2551

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).