Skip to main content

ประวัติย่อว่าด้วยการศึกษา “ประวัติศาสตร์สื่อโป๊” ในโลกวิชาการสากล (2): ยุคแรกเริ่ม

เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. “pornography and obscenity.” In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.

แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography

ประวัติศาสตร์นิพนธ์และนักประวัติศาสตร์สื่อโป๊ยุคแรกเริ่ม (early histories and historians)

นักวิชาการค่อนข้างเห็นตรงกันว่ากรอบคิดสมัยใหม่ว่าด้วย “สื่อโป๊” หรือ “สื่อเชิงสังวาส” นั้นเผยตัวขึ้นในสังคมยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า นักประวัติศาสตร์ Walter Kendrick เสนอว่า สิ่งแสดงถึงความลามกอนาจาร (obscenity) นั้นมีมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของภาษาและระบบคุณค่าที่เป็นส่วนรวมของมนุษย์แล้ว (กล่าวคือ ตั้งแต่สังคมมนุษย์เริ่มก่อตัวขึ้น) ในขณะที่ กรอบคิดว่าด้วยสื่อโป๊ (pornography) นั้นก่อตัวขึ้นมาภายใต้กระบวนการวิวาทะระหว่างสำนักพิมพ์ นักเขียน บรรณารักษ์ ครูบาอาจารย์ ตำรวจ และ ศาล ในประเด็นเรื่องผลกระทบของงานเขียน สิ่งตีพิมพ์ หรือรูปภาพบางแบบ ที่จะมีต่อผู้คน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมสาธารณะ

Kendrick กล่าวว่า ตั้งแต่แรกเริ่มของการปรากฏขึ้น คำ/กรอบคิดว่าด้วย “สื่อโป๊” กลายมาเป็นจุดปะทะ (ทางความหมาย) เป็นพื้นที่ซึ่งการยืนยันความหมายไม่สามารถเป็นไปได้โดยไม่เสนอความหมายของอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกปฏิเสธไปพร้อมๆ กัน[i] ทั้งนี้ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของการโต้แย้งที่ว่าประกอบไปด้วย กระบวนการขยายตัวของ/การกลายเป็นเมือง (urbanization), การเพิ่มขึ้นของอัตราการรู้หนังสือ, นวัตกรรมของการตีพิมพ์ ตลอดจน การขยายตัวของสถาบันสาธารณะ อย่างห้องสมุดและพิพิธภัณฑสถาน ที่ทำให้สิ่งพิมพ์ทั้งที่เป็นข้อเขียนและเป็นภาพเปิดไปสู่กลุ่มผู้อ่านและผู้ดูที่กำลังขยายตัวขึ้น

ในทำนองเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ Lynda Nead เสนอในหนังสือ Victorian Babylon ไว้ว่า ความหมายแบบสมัยใหม่ของ “สิ่งลามกอนาจาร” ต้องได้รับการพิจารณาภายใต้บริบทการก่อตัวขึ้นของวัฒนธรรมมวลชน (popular culture) ที่มีรากฐานมาจากภูมิทัศน์เมืองแบบอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า Nead ยังกล่าวด้วยว่า “สื่อลามกอนาจารถือเป็นสิ่งแสดงทางวัฒนธรรมที่โจ่งแจ้งและอันตรายที่สุดที่เกิดขึ้นในเมืองสมัยใหม่”[ii] สำหรับพื้นที่แบบเมืองแล้ว วรรณกรรมแผ่นราคาถูก (ที่นำไปแปะบนกำแพงตามถนน) (street literature) หรือที่เรียกกันว่า “Boulevard Press” ทำหน้าที่สองประการควบคู่กันไป ในด้านหนึ่ง เป็นสิ่งแสดงให้เห็นอันตรายแบบใหม่ๆ ของเมือง อันเป็นการเปิดเผยพื้นที่ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคนิรนาม (anonymous consumers) สามารถพบเจอกับข้อเขียนและภาพที่ (มีแนวโน้มจะ) เป็นสิ่งลามก พร้อมกันนั้น การปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องของ “Boulevard Press” ดูจะเป็นการบ่อนเซาะคำกล่าวยืนยันของภาวะสมัยใหม่ทำนองที่ว่าเมืองเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นัยความหมายของสิ่งลามกอนาจารในยุคสมัยใหม่นั้นเกี่ยวพันอยู่กับการรู้หนังสือของมวลชน, การเป็นภาวะนิรนามของพื้นที่เมือง, และ สื่อสารมวลชน/สำนักพิมพ์สำหรับมวลชนซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์แรกๆ ของสื่อโป๊จะเริ่มมีการผลิตกันในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคแรกนี้ก็ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาด้วยน้ำมือของนักประวัติศาสตร์อาชีพ แต่ทว่ามาจากเหล่านักบรรณานุกรม (bibliographers), บรรณารักษ์, และนักสะสมหนังสือ กล่าวคือ ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปดต่อต้นศตวรรษที่สิบเก้า ช่วงเวลาอันยาวนานก่อนที่จะกลายมาเป็นเอกสารหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์เห็นว่าควรค่าแก่การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ขณะที่สำหรับนักสะสมและคนรัก-เล่นหนังสือ (bibliophiles) ความสนอกสนใจได้รับการกระตุ้นภายใต้ความท้าทายที่จะบันทึกหรือเขียนถึงงานที่มีลักษณะลามกอนาจาร ในแง่หนึ่ง ความสนใจต่องานเหล่านี้ก่อขึ้นมาเมื่อ สำนักพิมพ์หลายๆ แห่งที่พิมพ์งานที่ผิดกฎหมายเหล่านี้มักจะปิดบังต้นตอหรือที่มาที่ไปที่แท้จริง สำนักพิมพ์มีทั้งการพิมพ์ที่อยู่ที่ไม่ใช่ที่อยู่จริงๆ ของสำนักพิมพ์เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจสามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ ผู้ประพันธ์ก็มักจะใช้นามปากกาหรือนามแฝง ขณะที่ ผู้ขายหนังสือมักจะปลอมแปลงหรือปกปิดสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของตัวเองอยู่บ่อยๆ

ความท้าทายของกระบวนการสร้างความเข้าใจใหม่ในทางประวัติศาสตร์ (historical reconstruction) เร้าความสนใจผู้ซึ่งหลงใหลประวัติศาสตร์ลักษณะเชิงกายภาพของการผลิตหนังสือและงานเชิงสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ การที่ประเด็นว่าด้วยสภาวะทางวัตถุเป็นเรื่องสำคัญมากก็เพราะส่วนใหญ่แล้วมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และต้นตอหรือที่มาที่ไปของมันก็ไม่เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ทำให้วรรณกรรมบางแบบกลายมาเป็นของที่ถือว่า “อันตราย” นั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะสามารถกระทำกัน “ข้างเดียว” ได้ กล่าวคือ สำหรับผู้ประพันธ์, สำนักพิมพ์, และคนขายหนังสือเองก็ต่างสมคบคิดกันในกระบวนการนี้ แน่นอนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยทำกำไรได้จากกระบวนการที่เกี่ยวพันกับการสอบสวนและข้อห้ามเหล่านี้

ความพยายามแรกๆ อันหนึ่งที่จะเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของสื่อลามกอนาจารคืองานของ Steven Marcus ซึ่งมุ่งศึกษางานของนักเล่นหนังสือคนสำคัญในศตวรรษที่สิบเก้า Henry Spencer Ashbee ผู้ซึ่งตีพิมพ์งานในนามปากกา Pisanus Fraxi ในงานของ Ashbee เขาได้สืบเสาะร่องรอยประวัติศาสตร์การพิมพ์ของวรรณกรรมผิดกฎหมายและวรรณกรรม “แปลกๆ” ที่น่าสนใจ อาจกล่าวได้ว่า นักสะสมเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญก็เนื่องมาจากความพยายามที่จะบันทึก, จัดทำรายการ, สะสม, และเก็บรวบรวม สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้เอาไว้ให้ได้ศึกษากันในเวลาต่อมา ทั้งยังรวมถึงการพยายามสร้างนิยามความหมายของ “สื่อโป๊” ในฐานะที่เป็นประเภทงานเขียน/สิ่งตีพิมพ์ประเภทหนึ่งแยกต่างหากออกมาจากงานชนิดอื่น 

สำหรับเหล่านักสะสมหนังสือแล้วคำถามสำคัญในการศึกษานั้นเป็นเรื่องของราคา, ความหายาก, ตลอดจนสภาพทางวัตถุ กระนั้น ความสำคัญที่มีของงานของเหล่านี้ก็คือการเก็บรวบรวม โดยที่งานจำนวนมากในยุคแรกๆ ไม่ว่าจะในแง่ของกรอบทางกฎหมาย, กรณีพิพาท, และรายละเอียดของการตีพิมพ์ เป็นงานที่ทำขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์, นักบรรณานุกรม, ตลอดจนนักสะสมหรือคนเล่นหนังสือ ผู้ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือเหล่านักสะสมหนังสือคนสำคัญในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า ผู้คนซึ่งเขียนเกี่ยวกับวรรณกรรมเชิงเร้าอารมณ์หรือวรรณกรรมอีโรติค (erotic literature) ไม่ว่าจะเป็น Gustave Brunet (1807–1896) ผู้เป็นทั้งนักสะสมและนักประวัติศาสตร์; P.L. Jacob (1807–1896) ผู้ซึ่งเขียนภายใต้นามปากกา Paul Lecroix และ Piere Dufour; Frédéric Lachèvre (1855–1945); และ Louis Perceau (1883–1942) เป็นต้น ในขณะที่นักสะสมหรือคนเล่นหนังสือจำนวนไม่น้อย อย่างเช่น Hugo Hayn (1843–1923) มุ่งความสนใจไปที่สภาพเชิงกายภาพของหนังสือและราคาตลาดของหนังสือ ยังพบว่ามีนักสะสมจำนวนไม่น้อยที่มุ่งเน้นความสนใจไปยังเนื้อหาและความคิดที่ปรากฏในข้อเขียน นักสะสมคนสำคัญในแง่นี้ก็คือ องคมนตรีบาวาเรียอย่าง Franz von Krenner ดังที่พบว่าหนังสือที่เขาสะสมนั้นมีประเด็นใจกลางร่วมกันที่เรื่อง “ความรัก” ไม่ว่ามันจะเป็นข้อถกเถียงที่ปรากฏอยู่ในงานปริญญานิพนธ์, งานเขียนทางการแพทย์, หรือตำรากฎหมาย นอกเหนือไปจากงานเขียนแนวโป๊เปลือยหรือเชิงสังวาส

กล่าวได้ว่า กระบวนการทำนองเดียวกันเกิดขึ้นประวัติศาสตร์ยุคแรกของภาพยนตร์โป๊ด้วย ดังเช่นภาพยนตร์ประเภทที่เรียกว่า “stag films” ซึ่งเดิมทีการสะสมอาจเป็นไปเพื่อการสะสมตัววัตถุในตัวเอง ทว่าในท้ายที่สุดกลับกลายมาเป็นคอลเลคชั่นที่สำคัญอย่างประเมินค่าไม่ได้สำหรับนักวิชาการในเวลาต่อมา ดังเช่นคอลเลคชั่นของสถาบัน Kinsey  เป็นต้น[iii]

นับเป็นเวลานานก่อนที่นักวิชาการจะเห็นคุณค่าของงานแนวโป๊เปลือยหรือเร้าอารมณ์เชิงสังวาส หรือแม้กระทั่งจะนับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ทว่าสำหรับ นักบรรณานุกรม, นักสะสม, รวมไปถึงบรรณารักษ์จำนวนไม่น้อยแล้วถือว่าเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ประเด็นใจกลางสำคัญของงานยุคแรกๆ อยู่ตรงที่ลักษณะเชิงวัตถุ (materiality) ที่ตัวบทหรือข้อเขียนเหล่านี้ปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะหรือคุณภาพเชิงกายภาพของหนังสือ, แผ่นพับ, ภาพยนตร์, และภาพนิ่ง คำถามของนักวิชาการยุคแรกเริ่มนั้นมุ่งความสนใจในประเด็นทั้งเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เช่น ผลิตที่ไหนและโดยใคร, ทั้งว่าด้วยสถานที่สำหรับการขายหรือการจัดแสดง, ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับการสร้างสรรค์วัตถุทางวัฒนธรรมประเภทนี้

ในอีกกระแสหนึ่ง ความสนใจในสื่อโป๊เปลือยปรากฏขึ้นในช่วงสองทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบภายใต้พัฒนาการของสาขาวิชาเพศศาสตร์ (sexology) ดังสามารถพบได้จากงานเขียนของ Krafft-Ebing และ Magnus Hirschfeld เป็นต้น สำหรับนักเพศศาสตร์เยอรมันอย่าง Iwan Bloch และ Paul Englisch นั้นก็มีการศึกษาวรรณกรรมที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเพศ/การร่วมเพศอย่างเปิดเผยในฐานะที่จะช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ ช่วงทศวรรษ 1920s และ '30s Englisch ตีพิมพ์งานศึกษาประวัติศาสตร์ของงานเขียนเร้าอารมณ์ทางเพศ ซึ่งนับว่างานชิ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นความรอบรู้ในเรื่องนี้ของเขาด้วย นอกจากนี้ Englisch ยังมุ่งสนใจไปยังประวัติศาสตร์ของสื่อโป๊เปลือยด้วย แต่กระนั้นก็ยังเป็นการศึกษาโดยที่แยกขาดออกจากบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกแวดล้อม งานศึกษาของ Englisch มุ่งความสนใจประวัติศาสตร์ทางวัตถุสภาพของหนังสือและสิ่งตีพิมพ์เกี่ยวเนื่อง ทั้งในประเด็นว่าด้วยการพิมพ์ชื่อและที่อยู่ของสำนักพิมพ์, การคาดเดาเกี่ยวกับนามปากกาในการประพันธ์, รวมไปถึงเรื่องเส้นทางการขนส่ง ทั้งนี้ ในขณะที่ Englisch คาดหมายว่าการศึกษาสิ่งพิมพ์เชิงโป๊เปลือยอย่างเป็นจริงเป็นจังจะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง การทำความเข้าใจลักษณะเชิงวัตถุของเขาอยู่ภายใต้ความคาดหมายที่จะค้นพบประวัติศาสตร์ของขนบธรรมเนียมและศีลธรรม (Sittengeschichten) ที่ไม่เคยได้รับการบอกเล่ามาก่อน ประวัติศาสตร์อันมีฐานะเป็นแก่นแกนหลักที่ครอบงำในแต่ละยุคสมัย

อาจกล่าวได้ว่า แรงกระตุ้นที่จะทำความเข้าใจงานที่ถือกันว่าลามกอนาจารในฐานะที่จะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับเพศของมนุษย์จึงเป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์/ที่มีประวัติศาสตร์ในตัวเอง ความพยายามลงแรงทุ่มเทศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องราวเกี่ยวกับเพศของมนุษย์โดยนักเพศศาสตร์ริเริ่มขึ้นในช่วง 1920s และ '30s ช่วงเวลาสำคัญที่สังคมยุโรปตะวันตกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศ บางทีมันคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่สาขาวิชา “เพศศาสตร์” รวมถึงวิชาชีพใหม่ๆ ที่ก่อขึ้นมาจากศาสตร์ว่าด้วยเพศนี้ ก่อตัวขึ้นในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สถานการณ์ซึ่งส่งผลให้ผู้ชายกว่าสิบล้านคนเสียชีวิตขณะที่อีกหลายล้านคนกลับบ้านในฐานะผู้ทุพพลภาพ, ผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมใหม่ๆ มากขึ้น, อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น, ขณะเดียวกันกับที่ผู้คนก็แต่งงานกันน้อยลง ฯลฯ สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องเกี่ยวกับเพศเป็นเรื่องไม่แน่นอนและมีความเป็นประวัติศาสตร์ได้เปิดไปสู่การปรากฏขึ้นของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องเพศกลุ่มใหม่นี้

อนึ่ง ข้อควรพิจารณาในที่นี้ก็คือประวัติศาสตร์อันหลากหลายว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับเพศของมนุษย์ไม่ได้ก่อขึ้นมาจากความคิดจากความเชี่ยวชาญเฉพาะใหม่เท่านั้น แต่ทว่ายังรวมไปถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ร่วมของผู้คนภายใต้สภาวะความเป็นจริงทางสังคมแบบใหม่ๆ ด้วย

 

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์

 



[i] Walter Kendrick. 1987. The Secret Museum: Pornography in Modern Culture. New York: Viking Press, p. 31.

[ii] Lynda Nead. 2000. Victorian Babylon: People, Streets and Images in Nineteenth-Century London. New Haven: Yale University Press, p. 149.

[iii] Al Di Lauro and Gerald Rabkin. 1976. Dirty Movies: An Illustrated History of the Stag Film. New York: Chelsea House.

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).