Skip to main content
แพรจารุ
 
 
 
 
ภาคใต้กำลังผจญกับปัญหาหมอกควัน เพราะประเทศเพื่อนบ้านเกิดไฟไหม้ป่า นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาหมอกควันมีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่แค่เมืองเชียงใหม่ ดังนั้นนอกจากเราจะพยายามกำจัดหมอกควันแล้วเราคงต้องคิดถึงการอยู่ร่วมกับหมอกควันด้วย ที่กล่าวเช่นนี้ไมได้หมายความว่า เราจะเฉยเมยและไม่คิดจะแก้ไขหรือทำอะไรให้ดีขึ้นนะ
 
ปัญหาหมอกควันมีอยู่ทั่วไปประเทศมหาอำนาจก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้ และมีการใช้สารเคมีมาจัดการแล้วแต่ก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้หันกลับมาใช้วิธีเดิม ๆ คือการ"ชิงเผา" หรือใช้วิธีเอาไฟจัดการกับไฟถือเป็นวิธีดั้งเดิมที่ถูกใช้มานาน
 
มาถึงเมืองไทยที่เชียงใหม่ หลังจากมีหมอกควันหนัก ๆ มาสองปี การแก้ปัญหามุ่งไปที่"วิธีไม่เผาไม่จุด" และการชิงเผา ทั้งสองวิธี  วิธีไม่เผาไม่จุดถูกใจผู้คนมาก และเป็นการรณรงค์ของรัฐด้วยมีงบประมาณติดป้ายทั้งเมือง (หมดไปเท่าไหร่ไม่รู้) ส่วนวิธีการชิงเผาไม่ค่อยได้รับการขานรับเพราะวิธีนี้ยุ่งยากและต้องเรียนรู้  เพราะจะต้องมีคำว่า เผาอย่างถูกวิธี และเหมาะสมกับวันเวลาและดินฟ้าอากาศ  และต้องรู้ว่าพื้นที่ไหนเผาได้ พื้นที่ไหนไม่ควรเผา
 
ในเมืองเชียงใหม่นั้นยังแบ่งออกเป็น ทำโดยคนของรัฐ หมายถึงว่า หน่วยดับไฟป่า และชาวบ้านซึ่งเขาต้องดูแลป่าคือดูแลบ้านตัวเองโดยมีเงินสนับสนุนจากรัฐอยู่บ้าง เช่นค่ากับข้าว (ข้าวเอาไปเองเพราะชาวบ้านชาวเขาปลูกข้าวอยู่แล้ว)
 
ต้นเดือนมิถุนายน 2555 หลังจากผ่านช่วงหมอกควันไปแล้วเข้าสู่หน้าฝน  มีน้อง ๆ ที่ทำงาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) และคณะทำงานเชียงใหม่จัดการตัวเอง ชวนขึ้นดอยเดินป่าไปดูชาวดอยจัดการไฟป่าเพื่อเตรียมการในปีต่อไป
 
เราไปที่หมู่บ้านในเขตป่า อยู่ในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านนี้อยู่ในอุทยานออบหลวง ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ 2534  หน้าแล้งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ไปจนถึง พฤษภาคม จะเกิดไฟป่าเสมอ  จนเจ้าหน้าที่อุทยานหรือเจ้าหน้าที่ดับไฟทำงานไม่ไหว
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านก็ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หากพื้นที่ไหนเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านเข้ากันได้ดีการทำงานก็ดีขึ้นนี่ก็แป็นเรื่องธรรมดา
 
ไปหยุดที่บ้านขุนแตะ บ้านห้วยขนุน บ้านห้วยส้มป่อย บ้านห้วยมะนาว ซึ่งอยู่ในตำบลดอยแก้วอำเภอจอมทอง สามหมูบ้านที่เราไป มีผู้ใหญ่บ้านหรือในพื้นถิ่นเรียกว่าพ่อหลวงมาพูดคุย และมี สท.หมู่บ้านขุนแตะอีกหนึ่งคน
 
พื้นที่ตรงนี้เรียกว่าเขตป่าดิบ จึงใช้วิธีทำแนวกันไฟเพื่อไม่ไห้ไฟไหม้ป่า ตั้งหน่วยลาดตะเวณคอยดับไฟถ้ามีไฟลามเข้ามา และมีพิธีสาปแช่งคนทำไฟไหม้ป่าด้วย
 
มีเสียงบ่นอย่างเหนื่อยอ่อน เพราะนอกจากทำงานอย่างเหนื่อยหนักแล้ว ยังถูกกล่าวหาว่าชาวเขาเผาป่าทั้งๆที่จริงแล้วพวกเขาดูแลป่า
 
ในเขตป่าดิบพื้นที่สี่หมู่บ้านที่เราไปดูมานี้ใช้วิธีจัดการด้วยตัวเอง คือการทำแนวกันไฟ และจัดทีมลาดตะเวณของลูกบ้าน แต่พื้นล่างลงไปที่เป็นป่าเต็ง-รัง พวกเขาใช้วิธีชิงเผา เราไปดูพื้นที่ที่ใช้วิธีชิงเผากันต่อไป
 
 
พ่อหลวงบ้านแม่เตี๊ยะ ตำบลสบเตี๊ยะ ใช้วิธีชิงเผาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ่อหลวงอธิบายว่า พวกเขามีวิธีการเผาอย่างเป็นระบบ  มีความชำนาญ มีทีมชาวบ้านช่วยกัน เผาก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อน
 
                 “ถ้าไม่เผาใครจะมาช่วยดับเวลาไฟติดขึ้นมา” พ่อหลวงถามอย่างจริงจัง

งานนี้มีนักวิชาการ นักวิจัยร่วมเดินทางไปด้วย อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ ได้เข้าไปทำงานวิจัยในพื้นที่ และเห็นด้วยกับการจัดการโดยวิธีนี้ ในเขตพื้นที่ป่าเต็งรัง เพราะในเขตพื้นที่นี้มีการย่อยสลายช้ากว่าป่าดิบ ซึ่งถ้าไม่เผานาน ๆ จะไม่สามารถรับคามร้อนจากเชื้อเพลิงที่ทับถมกันหลายปีไม่ไหว  และการชิงเผายังช่วยในการเติบโตของต้นไม้บางอย่างและช่วยป้องกันจุลินทรีย์ในดินที่อาจถูกทำลายไปหมดสิ้นหากไฟป่าเข้ามาเนื่องจากไฟป่าลุกไหม้นานกว่าวิธีการชิงเผา
 
การชิงเผาสามารถป้องกันไฟป่าได้อย่างดี  แต่ต้องไม่เผาพร้อมกัน และเผาอย่างเป็นระบบ และรู้จักช่วงเวลาด้วย  เพื่อลดความเข้มข้นของมลภาวะในอากาศ ”
 
ไฟและควันมาจากไหน  แน่นอนว่าไม่ใช่มาจากการเผาหรือไฟไหม้ป่าเท่านั้น จากสาเหตุอื่น เช่นโรงงานอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวด้วย การจราจรที่แน่นหนาอยู่บนถนน อีกทั้งเชียงใหม่เป็นเมืองแอ่งกระทะ ที่มีคนมาอยู่กันมากเกินที่เมืองจะรับได้ ควันจึงอบอวลอยู่ในแอ่งยาวนาน
 
แล้วหมอกควันในหน้าร้อนจะหายไปง่าย ๆ ไหม? เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) คนหนึ่งบอกว่า "มันไม่หายไปง่าย ๆ  แต่เราสามารถทำให้มันลดลงได้ เช่นลดค่าความเข้มข้นของมันลง  หากหมู่บ้านในเขตชนบทของเชียงใหม่พันห้าร้อยหมู่บ้านได้จัดการตัวเอง ด้วยการสร้างแผนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกหมู่บ้าน มีความรู้ ความเข้าใจ  มีข้อมูล  มีแผน และมีกลไกจัดการ คือต้องมาจากชาวบ้านวางแผนจากข้างล่างสู่ข้างบน ซึ่งมันก็คือการกระจายอำนาจนั่นเอง
 
นี่จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะนโยบายที่มาจากส่วนกลาง อาจจะไม่มีความสอดคล้อง และการวิเคราะห์ปัญหาไม่ควรมองไปที่ปัญหาหนึ่งปัญหาใด แต่ต้องดูรอบด้านว่าสาเหตุของปัญหามาจากอะไรบ้าง และที่สำคัญก็คือควรมีความจริงใจในการแก้ปัญหาจริง ๆ ด้วย

 ----------------------------------  

บล็อกของ แพร จารุ